‘พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามฯ’ แผนที่วัฒนธรรมโลกมุสลิม บรรจุอัลกุรอาน อายุกว่า 1,000 ปี

‘พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามฯ’ แผนที่วัฒนธรรมโลกมุสลิม บรรจุอัลกุรอาน อายุกว่า 1,000 ปี

‘พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามฯ’ ศูนย์รวมคัมภีร์อัลกุรอ่านที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีอายุตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันปี เสมือนแผนที่วัฒนธรรมโลกมุสลิมในแผนที่ประเทศไทย

KEY

POINTS

  • ‘พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามฯ’ พื้นที่เรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์โลกมุสลิมในจังหวัดนราธิวาส ดินแดนใต้สุดดินแดนสยาม
  • ภายในมีทั้งคัมภีร์อัลกุรอาน เอกสารโบราณ วิชาการต่าง ๆตำราโบราณ คัมภีร์ใบลาน เอกสารปัลลวะรวมแล้วมากกว่า 300 เล่ม
  • อีกทั้งยังมีหลักฐานประวัติศาสตร์ของคัมภีร์ หลักฐานประวัติศาสตร์ของต่างประเทศด้วย

วันนี้ขอนำเสนอสถานที่ที่รวบรวมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณที่มีจำนวนมากที่สุดในอาเซียน วรรณกรรมล้ำค่า สิ่งของโบราณเก่าแก่ โบราณวัตถุร่องรอยวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ที่ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลาม และศูนย์การเรียนรู้อัล-กุรอาน จังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่ใต้สุดชายแดนสยามนี้เอง

พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามฯ แห่งนี้ แต่เดิมตั้งอยู่ในพื้นที่โรงเรียนสมานมิตรวิทยา ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เป็นแหล่งรวบรวมคัมภีร์อัลกุรอาน เอกสารโบราณ วิชาการต่าง ๆ ตำราโบราณ คัมภีร์ใบลาน เอกสารปัลลวะ รวมแล้วมากกว่า 300 เล่ม ซึ่งส่วนใหญ่รวบรวมมาจากชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยคัมภีร์อัลกุรอานที่เก่าแก่ที่สุดของโรงเรียนสมานมิตรวิทยามีอายุกว่า 1,000 ปี ซึ่งเป็นของประเทศอียิปต์ นอกจากนี้ยังมีตำรายา ตำราดาราศาสตร์ และตำราต่าง ๆ ที่มีอายุเก่าแก่บรรจุไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย ใช้เวลารวบรวมมาเกือบ 20 ปี

‘พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามฯ’ แผนที่วัฒนธรรมโลกมุสลิม บรรจุอัลกุรอาน อายุกว่า 1,000 ปี

แต่ก่อนหน้านี้ชาวบ้าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะจัดเก็บคัมภีร์อัลกุรอาน กระจายอยู่ตามบ้าน หรือสถาบันปอเนาะเก่า ๆ ซึ่งบางเล่มได้รับสืบทอดต่อกันมา มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด ต่อมา นายมาหะมะลุตฟี หะยีสาแม ผู้จัดการโรงเรียนสมานมิตรวิทยา ได้ค้นพบเมื่อลงพื้นที่พบชาวบ้าน พบบางเล่มเก็บไว้ไม่ได้ใช้ โดนน้ำบ้าง โดนแมลงกัด ขาด ชำรุด ปลวกกิน จึงขอมาเก็บไว้ที่โรงเรียน ไว้เพื่อการศึกษา อนุรักษ์ บ้างก็ตามเก็บซื้อ แล้วนำมารวบรวมไว้ที่โรงเรียนสมานมิตร เพื่อเก็บรักษาให้ดีกว่าเดิม เป็นการอนุรักษ์เบื้องต้น เมื่อมีงานสำคัญ ๆ ของโรงเรียน ก็นำมาจัดแสดงเป็นบางครั้งบางคราว 

เมื่อชาวบ้านรู้ข่าว ต่างนำมามอบให้เรื่อย ๆ จนมีจำนวนมากขึ้น ครั้งแรกจากที่มีอยู่จำนวน 18 เล่ม เนื่องจากมีชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ต่างทยอยนำมามอบให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีชาวต่างชาติในแถบประเทศอาเซียนนำมามอบให้ด้วย พร้อมเอกสารโบราณที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตมุสลิม

ต่อมาในปี 2557 คณะผู้นำองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ได้เดินทางมาเยี่ยมจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสถานการณ์ความไม่สงบ เมื่อครั้งมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนั้นเอง ได้มาพบกับทางพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนสมานมิตรวิทยา จัดแสดงที่บริเวณอาคารชั้นแรก 4 ห้อง ซึ่งขณะนั้นทางพิพิธภัณฑ์มีคัมภีร์อัลกุรอาน จำนวนมากถึง 78 เล่มที่ได้จากทั่วมุมโลก เช่น อียิปต์ อินโดนีเซีย เป็นต้น สร้างความประหลาดใจ สงสัย ให้กับผู้แทนทีม OIC ว่า ทำไมประเทศไทยถึงมีคัมภีร์อัลกุรอานมากมายขนาดนี้ จึงเสนอให้มีการส่งซ่อมแซมและดูแลรักษาให้ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญในและต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานเชี่ยวชาญมากพอ รวมทั้งคัมภีร์อัลกุรอานเป็นคัมภีร์บริสุทธิ์ที่คนต่างศาสนาไม่สามารถจับต้องได้ ต้องให้ผู้ที่เป็นมุสลิมเท่านั้น

‘พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามฯ’ แผนที่วัฒนธรรมโลกมุสลิม บรรจุอัลกุรอาน อายุกว่า 1,000 ปี

ณ เวลานั้น ได้ติดต่อให้ทาง หอสมุดสุไลมานียะห์ ประเทศตุรกีที่มีความเชี่ยวชาญ รับหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบซ่อมแซม ด้วยการเคลือบสารพิเศษบนคัมภีร์ฯ เพื่อเป็นหลักฐานโบราณคดีโลกอิสลาม อีกทั้งยังมาช่วยให้ความรู้ด้านการซ่อมบำรุงคัมภีร์โบราณ ซึ่งแต่ละเล่มมีความเก่าแก่และประเมินค่ามิได้ ส่วนเอกสารโบราณบางส่วนก็ส่งให้ทางกรมศิลปากรได้ดูแลซ่อมแซมด้วย

ปัจจุบันคัมภีร์ฯ ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมีไม่ต่ำกว่า 78 เล่ม อายุตั้งแต่ 150 - 1,000 กว่าปี มีลวดลายสวยงาม ใช้สีประดับกรอบด้วยทองคำเปลว เขียนด้วยศิลปะมลายูนูซันตารา จากประเทศจีนและอาหรับผสมผสานกัน แสดงถึงความหลากหลายในพื้นที่ที่ดูน่าแปลกตา 

คัมภีร์อัลกุรอานที่เก่าแก่ที่สุดคือ ‘คัมภีร์อัลกุรอาน ลงลวดลายอักษรในหนังแพะ’ ว่ากันว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 1,030 ปี ตั้งแต่ช่วงสมัยที่ยังไม่มีกระดาษ รองลงมาคือ คัมภีร์อัลกุรอานลงอักษรในเปลือกไม้ ซึ่งเกิดขึ้นราวศตวรรษที่ 18 มีอายุมากกว่า 300 ปี 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนแผนที่ทางวัฒนธรรมที่พาผู้ชมย้อนเวลาไปยังอาณาจักรต่าง ๆ ในโลกมุสลิม และเมื่อปี พ.ศ. 2557 คัมภีร์โบราณจากตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี อายุกว่า 300 ปี ได้รับคัดเลือกจากสถาบันหอสมุดสุไลมานียะห์ ประเทศตุรกี ให้เป็นคัมภีร์ที่มีความสวยงามที่สุดในประเทศโลกมุสลิมอีกด้วย

‘พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามฯ’ แผนที่วัฒนธรรมโลกมุสลิม บรรจุอัลกุรอาน อายุกว่า 1,000 ปี

นอกจากคัมภีร์น่าสนใจจำนวนมากที่น่าค้นหา ยังมีอัลกุรอานจากประเทศจีน ที่โดดเด่นด้วยปกหนังและผ้าไหม มีการเขียนลวดลายมลายูรูปดอกชบา หรือบุหงารายา ส่วนอัลกุรอานสมัยอาณาจักรโมกุล ในประเทศอินเดีย ที่ปกทำด้วยหนังสัตว์ กระดาษทำจากเปลือกไม้ แม้จะเป็นตัวอักษรชนิดเดียวกันคืออักษรอาหรับ แต่ก็มี ลายมือ รูปแบบการเขียน รายละเอียดที่แตกต่าง สะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละวัฒนธรรม โดยมีศาสนาอิสลามเป็นตัวเชื่อม

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารตำราโบราณต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ อาทิ เอกสารภาษาศาสตร์ เอกสารทางศาสนา วรรณคดี ศิลปะขนบธรรมเนียมประเพณี  ตำรากริช กฎหมายเวชศาสตร์ เอกสารปัลลวะ ที่ยังรอผู้มีความรู้มาถอดใจความแปลความหมายอีกหลายตำรา ปัจจุบันได้รับความสนใจจากทางสถาบันจากประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาร่วมทำวิจัยฯ กันเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ คัมภีร์อัลกุรอานจัดแสดง บรรยายเป็นชิ้นหลัก ชิ้นรอง จัดทำ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และมลายูปัตตานี 

หลังจากปี 2557 รัฐบาลได้จัดสรรสนับสนุนงบประมาณผ่านกรมศิลปากรเข้ามากำกับดูแล ได้เข้ามาทำโครงการก่อสร้าง ขยายอาคารพิพิธภัณฑ์ใหม่บนพื้นที่ด้านหน้าโรงเรียน เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รอต้อนรับอาคันตุกะระดับอาเซียนมากขึ้น รวมทั้งเข้ามาดูแลและออกแบบอาคาร ใช้งบประมาณเบื้องต้น  300 ล้านบาท เป็นรูปทรงอาคารแบบท้องถิ่นเดิม ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมอิสลาม นำอาคารโดดเด่นมาเป็นไอเดียการออกแบบ เช่น มัสยิดโบราณตะโละมาเนาะ 300 ปี จ.นราธิวาส, มัสยิดอาโห 500 ปี จ.ปัตตานี มัสยิดรายาสายบุรี, วัดชลธาราสิงเห, อาคารทรงจีน มีกลิ่นอายความเป็นไทยรวมอยู่ด้วย ตามสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นอาคารใหญ่ 2 ชั้น 2 หลัง เชื่อมกับอาคารด้านหน้า ศาลาใหญ่อีก 1 ชุด ตั้งตระหง่านอย่างสวยงามอลังการ เป็นสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น ออกแบบผสมผสานได้เข้ากันอย่างกลมกลืน

‘พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามฯ’ แผนที่วัฒนธรรมโลกมุสลิม บรรจุอัลกุรอาน อายุกว่า 1,000 ปี  ภายในอาคารประกอบไปด้วย ห้องประชุม ชมวีดิทัศน์ ห้องจัดนิทรรศการแบ่งออกเป็น 4 ห้อง

ห้องที่ 1 ห้องบรรยายเกริ่นนำ แสดงความเป็นมาของแหลมมลายู นูซันตารา หรืออุษาคเนย์

ห้องที่ 2 ความสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทย

ห้องที่ 3 เนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตวิถีมุสลิม ตามแนวทางที่ศาสนาบัญญัติไว้และแนะนำสถานที่สำคัญ ๆ 

ห้องที่ 4 เป็นเนื้อหาการเผยแผ่ศาสนาอิสลามสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย 

ส่วนโถงใหญ่ จัดเก็บรวบรวมคัมภีร์โบราณทั้งหมด และมีอาคารชุดด้านหน้า คืออาคารละหมาดด้านล่าง และห้องประชุมย่อย มีทางเดินเชื่อมต่อเป็นวงกลม โดยมีห้องทำงานอีก 4 ห้องตั้งอยู่ล้อมรอบ ตรงกลางจัดสวนและลานแสดงกิจกรรม ดำเนินการจนเสร็จสิ้นเป็นเวลาครบ 10 ปี

พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์เรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอานแห่งนี้ จึงเป็นหลักฐานสำคัญจุดหนึ่งว่าพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้  เป็นแหล่งศึกษาความรู้มาหลายร้อยปี เมื่อโลกอิสลามได้แผ่ขยาย โดยมี ‘อัลกุรอาน’ เป็นจุดศูนย์กลางทางอารยธรรม ความเป็นแผ่นดินสุวรรณภูมิอุษาคเนย์ หรือ นูซันตาราในโลกมลายู ที่เชื่อมต่อ ไปทั่วทุกมุมโลก เช่น ประเทศจีนและประเทศทางอาหรับ ตุรกี เปอร์เซีย ชวา ที่มีมาตั้งแต่โบราณนับพันปี 

ความเป็นอยู่ที่ผสมผสานได้อย่างกลมกลืน นับเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมทางศาสนาอิสลามแห่งประเทศไทย ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ที่สามารถเชื่อมโยงกับโลกอิสลามต่อไป


เรื่อง : สุกรี มะดากะกุล

ภาพ : เฟสบุ๊ก มูฮำหมัดวาฟี มะดากะกุล และเพจเฟสบุ๊ก บ้านศาลาลูกไก่ พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมและศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัลกรุอาน