17 ธ.ค. 2567 | 13:03 น.
KEY
POINTS
‘มงมาร์ต’ ในยามค่ำคืน เป็นเหมือนเวทีแสดงความคิดที่ไม่มีจุดจบ เสียงเพลงและการเต้นรำสร้างแรงกระตุ้นให้ศิลปินตั้งคำถามถึงความหมายของศิลปะ...
‘ซู โร’ (Sue Roe) เจ้าของงานเขียนเรื่อง ‘In Montmartre: Picasso, Matisse and the Birth of Modern Art’ ฉายภาพรวม ๆ ของย่านมงมาร์ต ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ไว้เช่นนั้น
เมื่อ ‘ปาโบล ปิกัสโซ’ (Pablo Picasso) เดินทางมาถึงนครปารีสในเดือนตุลาคม 1900 เขาอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น แต่มาพร้อมความฝันและความมุ่งมั่นของคนหนุ่มที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะที่แตกต่าง ปิกัสโซ เลือกย่านมงมาร์ต (Montmartre) เพื่อปักหลักใช้ชีวิตและทำงาน ที่นี่เป็นทั้งสนามทดลองชีวิตและแหล่งบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ เขาได้ค้นพบแรงบันดาลใจจากสภาพแวดล้อมและผู้คนที่พบเจอ เป็นจุดเปลี่ยนที่นำพาสู่ความเป็นศิลปินระดับโลกในเวลาต่อมา
ปิกัสโซ เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1881 ในเมืองมาลากา ประเทศสเปน เขาแสดงพรสวรรค์ในการวาดภาพตั้งแต่อายุยังน้อย โดยได้รับการสนับสนุนจากบิดา ‘โฮเซ่ รุยซ์ บลาสโก’ ซึ่งเป็นทั้งครูศิลปะและภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น บิดาเป็นผู้สอนปิกัสโซให้เข้าใจพื้นฐานของศิลปะ เช่น การวาดภาพเหมือนและการใช้แสงเงา
หลังจากย้ายไปบาร์เซโลนาในปี 1895 เขาเข้าศึกษาที่ ‘La Llotja School of Fine Arts’ ซึ่งช่วยให้ได้เรียนรู้พื้นฐานศิลปะคลาสสิก โดยเฉพาะการวาดภาพเหมือน (Portrait) และการใช้แสงเงาที่ซับซ้อน ผลงาน ‘Portrait of Aunt Pepa’ ที่สร้างสรรค์ขึ้นในช่วงนี้ได้รับคำชมจากครูผู้สอนว่า เป็นการสะท้อนถึงอารมณ์ของ ‘แบบ’ ได้อย่างลึกซึ้งกว่าวัยของเขา
ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ปิกัสโซ เริ่มใช้ชีวิตในบาร์เซโลนาอย่างอิสระมากขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้า ซึ่งรวมตัวกันที่ ‘Els Quatre Gats’ คาเฟ่อันเป็นพื้นที่ที่ศิลปินทดลองผลงานและแลกเปลี่ยนแนวคิดกัน ในบรรยากาศที่ได้รับอิทธิพลจากขบวนการ ‘Modernisme’ (ขบวนการศิลปะและวัฒนธรรมในคาตาลัน ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งได้รับอิทธิพลจาก ‘Art Nouveau’ และขบวนการอื่น ๆ ในยุโรป) ปิกัสโซเริ่มสนใจศิลปะที่สะท้อนถึงความงามที่ซ่อนอยู่ในความเรียบง่ายและความเป็นจริงของชีวิต เช่น ‘สัญลักษณ์นิยม’ (Symbolism) ที่เน้นความหมายแฝงและอารมณ์ในงานศิลปะ
ปิกัสโซ ยังได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปินชื่อดัง เช่น ‘เอล เกรโก’ (El Greco) ที่มีอิทธิพลต่อแนวทางการยืดและบิดเบือนรูปทรงในผลงานของเขาในเวลาต่อมา ความสำเร็จในช่วงแรก เช่น การได้รับรางวัลจากการประกวดระดับประเทศ และการจัดนิทรรศการครั้งแรกของเขาในบาร์เซโลนา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีในระดับท้องถิ่น ทำให้เขามั่นใจที่จะก้าวสู่เวทีระดับโลก
ก่อนเดินทางมาปารีส ปิกัสโซ เริ่มทดลองใช้สีสันและการจัดองค์ประกอบที่สะท้อนถึงความเป็น ‘ปัจเจก’ (Individuality) เช่น งานในแนว ‘Neo-Impressionism’ และ ‘Modernisme’ ซึ่งเขาเริ่มเบี่ยงเบนจากศิลปะแบบคลาสสิกที่ La Llotja ถ่ายทอดวิทยายุทธไว้
ในปี 1900 ปิกัสโซ เดินทางมายังปารีส พร้อมกับเพื่อนสนิท ‘คาร์ลอส คาซาเกมัส’ (Carlos Casagemas) ด้วยความหวังที่จะเปิดตัวในโลกศิลปะระดับนานาชาติ ที่ปารีส เขาได้จัดแสดงผลงานที่งาน ‘World Fair’ (Exposition Universelle) ในชื่อ ‘Last Moments’ แม้ผลงานนี้จะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่คาดหวัง แต่ก็เปิดโอกาสให้เขาได้สัมผัสบรรยากาศของศิลปะในเวทีสากล และได้สำรวจแนวทางใหม่ ๆ ที่เขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน
ในนครปารีส ปิกัสโซ ดื่มด่ำประทับใจกับผลงานของศิลปินฝรั่งเศส อย่าง ‘เดอลาครัวส์’ (Delacroix) และ ‘มอเนต์’ (Monet) ที่ได้ชมในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์และพิพิธภัณฑ์ลักเซมเบิร์ก เขาได้รับแรงกระตุ้นทั้งจากศิลปะแบบดั้งเดิมและศิลปะสมัยใหม่ รู้สึกทึ่งกับความงดงามของภาพเขียนแนวอิมเพรสชันนิสต์ ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อนในสเปน
ฃถึงแม้ปารีสจะเปิดโอกาสมากมาย แต่ชีวิตในมงมาร์ตกลับไม่ได้ง่ายดายนัก ปิกัสโซ ต้องเผชิญกับความยากจนและความท้าทายในย่านที่เต็มไปด้วยศิลปินผู้ดิ้นรนชีวิต ผู้คนในมงมาร์ตที่อาศัยอยู่ในสตูดิโออย่างแออัด บางคนแทบไม่มีเงินซื้ออาหาร แต่กลับเต็มไปด้วยความหวังและความฝันที่จะสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่
มงมาร์ต เคยเป็นหมู่บ้านชนบทที่มีชื่อเสียงเรื่องโรงโม่แป้งและไร่องุ่นมาตั้งแต่ยุคกลาง เนินเขาสูงของพื้นที่ เหมาะแก่การตั้งโรงโม่เพื่อใช้พลังงานลม โรงโม่แป้ง อย่าง ‘Moulin de la Galette’ เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของย่านนี้
เมื่อมาถึงในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 พื้นที่ของมงมาร์ต ยังมีกลิ่นอายชนบท ทั้งโรงสีและถนนสายเล็ก ๆ แม้จะอยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางแห่งความเจริญของปารีส แต่ด้วยความที่ตั้งอยู่บนเนินสูงและแยกออกจากใจกลางเมือง ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของมงมาร์ต ก้าวไม่ทันกับเขตอื่น ๆ ของปารีส สภาพชีวิตส่วนใหญ่จึงเป็นไปอย่างเรียบง่าย ผู้คนหลากหลายชนชั้น ทั้งศิลปิน นักแสดง นักดนตรี และคนชายขอบที่พึ่งพารายได้จากงานที่ไม่มั่นคง
ในบรรยากาศเช่นนี้ คาเฟ่เล็ก ๆ และโรงละครราคาถูก กลายเป็นที่พบปะของศิลปินและนักคิด บางคนมองว่ามงมาร์ตคือ ‘ดินแดนแห่งเสรีภาพที่ปราศจากกฎเกณฑ์’ และที่นี่เอง ที่ ปิกัสโซ ได้เริ่มค้นพบเสียงของตัวเองผ่านงานศิลปะ
ไม่ผิดนักหากจะมอบว่า สมัยนั้นมงมาร์ตเป็นที่อยู่อาศัยของคนยากจน แรงงานผู้ย้ายถิ่น และศิลปินที่ไม่มีรายได้แน่นอน เนื่องจากค่าเช่าที่ดินในมงมาร์ตถูกกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของปารีส นอกจากนี้ การยกเว้นภาษีไวน์ในพื้นที่เขตนี้ ในช่วงศตวรรษที่ 19 ทำให้บาร์และคาเฟ่ในย่านนี้ขายเครื่องดื่มได้ในราคาที่ต่ำกว่าย่านอื่น ๆ ของปารีส ซึ่งเป็นแรงดึงดูดผู้คนจากชนชั้นล่างและกลุ่มโบฮีเมียนที่นิยมวิถีชีวิตเรียบง่าย
ชีวิตในมงมาร์ตเป็นเหมือนผืนผ้าใบที่เปิดโอกาสให้ศิลปินได้จินตนาการถึงความงามที่ซ่อนเร้นอยู่ในความยากลำบากแร้นแค้น ที่นี่เต็มไปด้วยสีสันของผู้คนหลากหลาย ภาพของโสเภณีที่เดินไปมาบนท้องถนน คนงานที่ออกไปขายแรงงานในเมือง และนักแสดงเร่ร่อนที่จัดการแสดงริมถนน เสียงเพลงจากคาเฟ่ การเต้นรำในโรงละครราคาถูก และชีวิตที่ปะปนกันอย่างไร้ขอบเขตของชนชั้น
ปิกัสโซพักอาศัยที่ ‘บาตู-ลาวัวร์’ (Bateau-Lavoir แปลว่า เรือซักผ้า เพราะมีลักษณะคล้ายเรือซักผ้า หรือ laundry boat ที่พบได้ตามแม่น้ำในปารีสสมัยนั้น) ซึ่งเป็นอาคารเก่าในมงมาร์ต ที่แบ่งเป็นห้องเช่าเล็ก ๆ ที่นี่ไม่มีน้ำประปาและความสะดวกสบายใด ๆ แต่กลับเป็นที่พักของศิลปินหนุ่มหลายคน ซึ่งมีชื่อเสียงในเวลาต่อมา
ในแต่ละวัน ปิกัสโซ มักจะเดินลงจากเนินเขามาพบปะกับเพื่อนศิลปินที่คาเฟ่เล็ก ๆ เช่น ‘Lapin Agile’ และ ‘Au Soleil d’Or’ ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของทั้งจิตรกร กวี และนักดนตรี นอกจากนี้ เขายังใช้เวลาสำรวจถนนและชีวิตของผู้คนในมงมาร์ต เช่น โสเภณี คนขายของ และคนงาน ซึ่งปรากฏชัดในผลงานยุคต้นของเขาที่สะท้อนถึงความจริงของชีวิตในย่านนี้
นอกจากปิกัสโซแล้ว ศิลปินคนอื่น ๆ ที่ย้ายมาพำนักอยู่ในมงมาร์ต ยังประกอบด้วย ‘อองรี มาติสส์’ (Henri Matisse) และ ‘อเมดีโอ โมดิเกลียนี’ (Amedeo Modigliani) ด้วยความใกล้ชิดระหว่างศิลปินได้เป็นแรงผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เช่น การกำเนิดของลัทธิคิวบิสม์ (Cubism) และการทดลองแนวทางศิลปะใหม่ที่ท้าทายขนบธรรมเนียมเก่า
สำหรับ อองรี มาติสส์ ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของ ปิกัสโซ ด้วยพวกเขาต่างมีแนวทางที่แตกต่างกัน โดยเนื้อแท้ มาติสส์ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ ปิกัสโซ กล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ ๆ พวกเขาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับศิลปะอย่างตรงไปตรงมา มาติสส์ ยังแนะนำให้ ปิกัสโซ สนใจศิลปะแอฟริกัน โดยเฉพาะประติมากรรมหน้ากาก ซึ่งกลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของผลงาน ‘Les Demoiselles d’Avignon’
ส่วน ‘กิโยม อาโปลิแนร์’ (Guillaume Apollinaire) นักกวีผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น มีบทบาทสำคัญ ทั้งในฐานะเพื่อนและที่ปรึกษาของปิกัสโซ ทั้งสองมักพบปะกันเพื่อสนทนาเกี่ยวกับศิลปะและบทกวี ทั้งนี้ อาโปลิแนร์ “หลงใหลในผลงานของปิกัสโซและกลายเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญ” เขายังได้เขียนบทกวีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานของปิกัสโซ ในยุคสีฟ้า (Blue Period)
นอกจากนี้ ยังมี ‘เกอร์ทรูด สไตน์’ (Gertrude Stein) นักสะสมและนักเขียนชาวอเมริกัน เป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดและมีอิทธิพลต่อความคิดสร้างสรรค์ สไตน์ เธอนั่งเป็นแบบให้ปิกัสโซวาดภาพเหมือน ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญในยุคนั้น แม้ใช้เวลาหลายเดือนกว่าภาพจะเสร็จสมบูรณ์ แต่สไตน์กลับมองว่าภาพนี้ “สะท้อนถึงตัวตนที่แท้จริงของเธออย่างลึกซึ้ง” และ “ปิกัสโซได้สะท้อนยุคสมัยของเขา ผ่านสีและรูปทรงที่เราทุกคนยังเข้าไม่ถึงในตอนนั้น” นอกจากนี้ เธอยังเคยจัดนิทรรศการให้กับปิกัสโซในเครือข่ายนักสะสมชาวอเมริกันในปารีสอีกด้วย
ขณะที่ ‘จอร์จ บราค’ (Georges Braque) เป็นศิลปินที่ร่วมพัฒนาลัทธิคิวบิสม์ (Cubism) ซึ่งเริ่มจากการแลกเปลี่ยนแนวคิดและทดลองเทคนิคใหม่ ๆ ในงานศิลปะ เช่น การทดลองใช้รูปทรงเรขาคณิตและการมองวัตถุในหลายมุมพร้อมกัน ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ “เป็นเหมือนการแข่งขันที่เต็มไปด้วยความร่วมมือ” ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติในวงการศิลปะ
เริ่มจาก ‘Les Demoiselles d’Avignon’ ผลงานนี้แสดงภาพหญิงสาวในลักษณะบิดเบือนรูปทรงและจัดองค์ประกอบที่ขัดแย้งกับกรอบความงามแบบดั้งเดิม ด้วยการใช้เส้นเรขาคณิตและมุมมองหลายด้านในภาพเดียว เป็นผลงานที่แสดงถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ปิกัสโซ เปิดตัวผลงานนี้ในสตูดิโอของเขา ให้เพื่อนศิลปินและผู้สนับสนุน อย่าง จอร์จ บราค และ เกอร์ทรูด สไตน์ ได้ชม แม้ปฏิกิริยาของผู้ชมในยุคนั้นจะหลากหลาย แต่ความกล้าที่จะบิดเบือนรูปทรงและสร้างสรรค์ในลักษณะใหม่ ทำให้ผลงานนี้กลายเป็นต้นกำเนิดของลัทธิคิวบิสม์
ความแปลกใหม่ของภาพ นำมาซึ่งปฏิกิริยาที่ตื่นตะลึงของผู้ชม โดย จอร์จ บราค บรรยายว่า “มันเหมือนกับการที่คุณอยากให้เรากินป่านหรือน้ำมันก๊าด” นอกจากนี้ อองรี มาติสส์ เห็นว่าผลงานชิ้นนี้ของ ปิกัสโซ เป็นเหมือนการล้อเลียนสิ่งที่เขาพยายามสร้างสรรค์ ในขณะที่ เกอร์ทรูด สไตน์ ระบุว่า มันเป็นผลงานที่ “ท้าทายสมมติฐานดั้งเดิมของการมองเห็น”
“ศิลปะไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนพอใจ แต่เพื่อให้ผู้ชมตั้งคำถาม” นั่นอาจจะสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเขากับการสร้างผลงานที่เปลี่ยนแปลงโลก
ยุคสีฟ้า (Blue Period 1901-1904) ของ ปิกัสโซ มีมูลเหตุมาจากการสูญเสียเพื่อนสนิท อย่าง ‘คาร์ลอส คาซาเกมัส’ ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อปิกัสโซ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ปิกัสโซ ค้นหาความลึกซึ้งในความรู้สึกเศร้า และนี่คือจุดเริ่มต้นของยุคสีฟ้า ด้วยผลงาน อย่าง ‘The Old Guitarist’ และ ‘La Vie’ ที่สะท้อนถึงความเปราะบางของมนุษย์ การเน้นโทนสีฟ้าที่ครอบคลุมทั่วทั้งภาพ เพื่อสะท้อนถึงความเหงาและโดดเดี่ยว
แม้ผลงานยุคสีฟ้ายังไม่ทำให้ปิกัสโซโด่งดังในทันที แต่สร้างความประทับใจในหมู่ศิลปินและนักสะสมที่มองเห็นความลึกซึ้งของอารมณ์ในงานของเขา เช่น จาก เกอร์ทรูด สไตน์ และ แอมบรัวส์ โวลลาร์ด (Ambroise Vollard) ซึ่งช่วยผลักดันให้เขากลายเป็นศิลปินระดับโลกในเวลาต่อมา
นอกจากเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ มงมาร์ต ยังเป็นสถานที่ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบตัวตนและศิลปะของ ปาโบล ปิกัสโซ สภาพแวดล้อมที่หลอมรวมความยากจน เสรีภาพ และวัฒนธรรมที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้เขาได้ทดลอง สร้างสรรค์ และทำลายขนบเดิม ๆ เพื่อสร้างบางสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
ในมงมาร์ต ปิกัสโซ ได้เรียนรู้ทั้งด้านความเป็นมนุษย์และความเป็นศิลปิน ความสัมพันธ์ของเขากับศิลปินและนักคิด เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่ช่วยขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ หารปะทะสังสรรค์เหล่านี้ทำให้เขาแข็งแกร่งขึ้น ทั้งในด้านเทคนิคและความคิด
บนเนินเขาที่เต็มไปด้วยโรงโม่และถนนสายเล็ก ๆ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผลงานอันล้ำลึกของเขา แม้ว่า ปิกัสโซ จะย้ายออกจากมงมาร์ตในเวลาต่อมา แต่หัวใจของเขายังคงเชื่อมโยงกับความทรงจำและประสบการณ์ในย่านนี้
จิตวิญญาณแห่งการค้นหาที่ ปิกัสโซ เริ่มต้นขึ้นในมงมาร์ตยังคงสะท้อนอยู่ในทุกชิ้นงานของเขา
เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ที่มา:
Roe, Sue. In Montmartre: Picasso, Matisse and the Birth of Modern Art. Penguin Press. New York. 2015.