11 ก.พ. 2564 | 12:35 น.
ถ้าถามแฟน ๆ Dragon Ball ว่าชอบพล็อตช่วงไหนที่สุด คนจำนวนมากมักจะตอบว่าช่วงที่ไปดาวนาเม็กจนไปสู้กับฟรีเซอร์คือช่วงที่สนุกที่สุด แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามว่า พล็อตช่วงไหนที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่สุด ทุกคนคงยอมรับตรงกันว่าช่วงศึกมนุษย์จักรกลไปจนจบภาคเซลล์ คือมีความไซ-ไฟและลึกล้ำมากที่สุดของเรื่อง ความซับซ้อนของโทะริยะมะ อะกิระ คือการเอาพล็อตของเรื่องคนเหล็ก (The Terminator) ทั้ง 2 ภาคมาแทรกลงไปในเนื้อเรื่องของ Dragon Ball ได้อย่างแนบเนียน แต่ที่โหดไปกว่านั้นคือเล่นกับพล็อตโลกคู่ขนานหลายไทม์ไลน์ได้ซับซ้อนมากยิ่งกว่าเรื่องคนเหล็กต้นฉบับเสียอีก ซึ่งนี่คือยุค 90s ที่หนังย้อนเวลาเรื่องอื่น ๆ ยังเล่นกันแค่เส้นเวลาเดียวอยู่เลย มีน้อยเรื่องที่เล่นเรื่องโลกคู่ขนานควบคู่ไปกับการย้อนเวลาไปด้วย (คนเหล็กภาค 2 ยังมีแค่ไทม์ไลน์เดียวอยู่เลย) ทรังคซ์ ก็คือ จอห์น คอนเนอร์ นั่นเอง (พระเอกในคนเหล็กภาค 2 ที่จะเป็นผู้นำมนุษยชาติต่อสู้กับจักรกล) แม้แต่ทรงผมยังคล้ายกับทรงผมของ เอ็ดเวิร์ด เฟอร์ลอง ตอนที่แสดงเป็นจอห์น คอนเนอร์ ในคนเหล็กภาค 2 ด้วยซ้ำ โทะริยะมะเคยให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจาก Dragon Ball มีแฟน ๆ นักอ่านเป็นผู้ชายเยอะ เลยอยากดีไซน์คาแรกเตอร์ให้สาว ๆ ชอบบ้าง และก็ทำสำเร็จ ทรังคซ์เป็นตัวละครที่มีแฟนคลับผู้หญิงชื่นชอบเยอะมาก เพียงแต่นี่คือเรื่อง Dragon Ball ไม่ใช่เรื่องคนเหล็ก โทะริยะมะจึงไม่ได้สร้างตัวละครที่คล้ายกับไคล์ รีส (พระเอกในคนเหล็กภาค 1 ที่ย้อนเวลากลับมาบอกนางเอกว่า นางเอกจะให้กำเนิดจอห์น คอนเนอร์ ผู้กู้โลก และปรากฏว่าไคล์ รีสนี่เองคือพ่อของจอห์น คอนเนอร์) เพราะใช้เบจิต้าเป็นพ่อของทรังคซ์ไปแล้ว ดังนั้น นอกจากทรังคซ์จะเป็นความหวังเดียวที่เหลืออยู่ของมนุษยชาติเหมือนจอห์น คอนเนอร์แล้ว ทรังคซ์จึงยังต้องเป็นผู้นำสารจากอนาคตมาบอกให้คนในยุคปัจจุบันรู้ด้วย ซึ่งก็เป็นหน้าที่เดียวกับไคล์ รีสในจุดนี้ เนื่องจากโทะริยะมะมักเขียนเรื่องไปพลาง ปรึกษากับทีมงานไปพลาง และสำรวจเรตติ้งแฟนคลับไปพลาง แรกสุดต้องการให้เป็นพล็อตสงครามระหว่างมนุษย์และจักรกลให้เหมือนคนเหล็ก แต่พอปรากฏว่าศัตรูคือหมายเลข 19 และ 20 กลับเป็นตาอ้วนและชายแก่ โทะริยะมะถูกทีมงานวิจารณ์อย่างหนักว่าบอสตัวที่แล้วคือฟรีเซอร์สุดเท่ ทำไมบอสรอบนี้เป็นตาอ้วนและชายแก่ หาความเท่มิได้ โทะริยะมะจึงต้องคิดพล็อตซ้อนอีกพล็อตคือสร้างหมายเลข 17 และ 18 ขึ้นมาอีก รวมทั้งมีหมายเลข 16 (ที่ละม้ายคล้ายหุ่นอาร์โนลด์ในคนเหล็กทั้ง 2 ภาคอีกนั่นแหละ) และเปิดตัวตัวร้ายตัวใหม่ นั่นคือ เซลล์ แต่สรุปว่าก็ถูกวิจารณ์สับเละว่าไม่เท่พอเมื่อเทียบกับฟรีเซอร์เช่นกัน ดังนั้นจึงเกิดการ ‘แถและแถ’เป็นเซลล์ร่างแรก, ร่างสอง ก็ยังเท่ไม่พออีก, จนมาลงตัวที่ร่างสาม ที่ทีมงานและผู้อ่านยอมรับว่า ‘เออ...เท่สูสีกับท่านฟรีเซอร์ละ’ เลยทำให้พล็อต ‘สงครามระหว่างมนุษย์และจักรกล’ กลายเป็น ‘สงครามระหว่างสิ่งมีชีวิตที่เกิดตามธรรมชาติสู้กับสิ่งมีชีวิตที่ผิดธรรมชาติ’ ไปแทน แต่ก็ยังคงรักษาความ ‘ฆ่าไม่ตาย หลอมเหลว’ ให้เหมือน T-1000 ในคนเหล็กภาค 2 ไว้ได้ดี ไทม์ไลน์ของเรื่องนี้ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ามีแค่ 2 ช่วง คือปัจจุบัน และอนาคตเท่านั้น แต่จริง ๆ โทะริยะมะลึกล้ำกว่านั้นคือ มีปัจจุบัน, มีอนาคต แล้วยังมีอนาคตของอนาคตอีกที ซึ่งอนาคตของอนาคตในที่นี้ก็คือไทม์ไลน์ต้นกำเนิดของเซลล์ ตัวที่ย้อนเวลากลับมาฆ่าทรังคซ์ในอนาคตเพื่อแย่งไทม์แมชชีนกลับมายุคปัจจุบันเพื่อดูดกลืนหมายเลข 17 และ 18 นั่นเอง (เพราะในไทม์ไลน์อนาคตของอนาคตนั้น แม้ว่าทรังคซ์จะเก่งไม่เท่า 17 และ 18 แต่ทรังคซ์มีวิธีบางอย่างที่กำจัด 2 ตัวนั้นได้ ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีเฉลยในเนื้อเรื่องว่าทรังคซ์ในไทม์ไลน์นั้นใช้วิธีอะไร) ทรังคซ์ในอนาคตจึงมีชีวิตที่หดหู่มาก จากที่เห็นได้ในภาค 『TRUNKS THE STORY -たったひとりの戦士-』(แปลว่า TRUNKS THE STORY - นักสู้ผู้เดียวดาย) ว่าตัวละครหลักทั้งหมดถูกฆ่าตายเกือบหมด เหลือแค่บุลม่าและโกฮังที่แขนขาดไปข้างหนึ่งเพราะไม่มีถั่ววิเศษเหลือบนโลกอีกแล้ว ทรังคซ์ยังต้องเป็นพยานในวาระสุดท้ายของโกฮังอีกด้วย ทำให้ทรังคซ์เต็มไปด้วยความเคียดแค้นมนุษย์จักรกล เวลาจะลงมือกับศัตรูจึงลงมืออย่างโหดเหี้ยมอย่างเช่นตอนฆ่าฟรีเซอร์และพ่อ (ทรังคซ์น่าจะได้รับถ่ายทอดความเหี้ยมมาจากเบจิต้าก็เป็นได้) หรือรีบจบเกมตอนฆ่าเซลล์ในโลกอนาคต แม้ว่าบุลม่าในอนาคตจะตระหนักดีว่า ถึงจะกำจัดหมายเลข 17 และ 18 ได้ ก็ไม่ได้ทำให้อะไรในไทม์ไลน์ของตัวเองดีขึ้น แต่อย่างน้อยก็มีสักไทม์ไลน์หนึ่งที่โลกสามารถสงบสุขได้ บุลม่าจึงตัดสินใจเดิมพันนั้น ซึ่งจัดเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะการย้อนเวลาของทรังคซ์นั้นส่งผลดีต่อหลาย ๆ สิ่ง ทั้งทรังคซ์ได้พัฒนาฝีมือของตัวเองไปมาก, นักสู้ Z ในยุคปัจจุบันก็สามารถพลิกกลับมาเอาชนะศัตรูทั้งหลายได้, โลกก็ยังสงบสุข ไม่ได้กลายเป็นมิคสัญญีแบบในโลกอนาคต ที่สำคัญกว่านั้นคือ การที่ทรังคซ์ได้มีโอกาสใช้เวลากับพ่อตัวเองเป็นครั้งแรก ว่ากันว่า ผู้ชายกับผู้หญิงจะมีความผูกพันกับลูกแตกต่างกัน คือผู้หญิงจะเริ่มผูกพันกับลูกทันทีที่รู้ตัวว่าตัวเองตั้งครรภ์ เพราะว่าต้องใช้ชีวิตด้วยกันตลอด ในขณะที่ผู้ชายไม่ได้เป็นฝ่ายตั้งครรภ์ ก็จะไม่ค่อยรู้สึกถึงภาระหน้าที่หรือความผูกพันใด ๆ ในฐานะพ่อ ความผูกพันระหว่างพ่อและลูกจึงจะเกิดหลังจากลูกเกิดมาสักพัก และพ่อได้เลี้ยงดูลูกไปเป็นเวลาพอสมควรแล้วเท่านั้น ดังนั้น เบจิต้าที่แปลงเป็นซูเปอร์ไซย่าได้ในช่วงแรก ๆ จึงเอ็นจอยแต่กับการฝึกวิชาและทำลายล้าง ตอนที่หมายเลข 20 ซัดพลังใส่ยานบินที่บุลม่าขับโดยมียะจิโรเบ้อุ้มทรังคซ์อยู่ จึงกลายเป็นทรังคซ์อนาคตที่เป็นคนเข้าไปช่วยแทน ทรังคซ์อนาคตยังต่อว่าเบจิต้าอีกด้วยว่า “เมื่อกี้ทำไมคุณไม่ช่วยล่ะครับ เขาเป็นลูกและภรรยาคุณนะครับ” แต่เบจิต้าตอบกลับว่า “เหลวไหล ฉันไม่สนเรื่องพรรค์นั้นหรอก” เล่นเอาทรังคซ์ช็อกไปเลย ทรังคซ์คิดไปเลยว่า “หมอนั่นไม่มีส่วนดีอะไรเลยแม้แต่เศษเสี้ยวเล็ก ๆ ขนาดช่วยยังไม่คิดจะช่วยเลย ทั้งแม่ทั้งเราที่เป็นเด็กตัวเล็ก ๆ ... หมอนั่นจิตใจต่ำช้าเลวทราม” แต่หลังจากได้เข้าไปฝึกวิชาด้วยกันเป็นปีที่ห้องกาลเวลา ความผูกพันแบบพ่อลูกก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในใจของเบจิต้า ในศึกเซลล์เกมช่วงสุดท้าย ตอนที่ทรังคซ์บาดเจ็บสาหัส กลายเป็นว่าเบจิต้าเองพุ่งเข้าชาร์จเซลล์แบบไม่กลัวตาย เพราะความผูกพันของพ่อลูกได้เกิดขึ้นแล้ว และในภาคบู ก็นำไปสู่การสละชีพเพื่อครอบครัวของอดีตนักล่าอย่างเบจิต้า “ทรังคซ์ ตั้งแต่ลูกแบเบาะ พ่อไม่เคยกอดลูกสักครั้งเลยใช่มั้ย....มาให้พ่อกอดหน่อยสิ” จากนั้นเบจิต้าก็ระเบิดพลีชีพไปพร้อมจอมมารบู เรื่อง Dragon Ball แม้จะมีเนื้อเรื่องหลักเป็นการ์ตูน Action แต่ในมุมของความเป็นมนุษย์ หรือในมุมมองของการให้คุณค่ากับชีวิต จัดว่าทำได้ไม่เลวเลย จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของความโด่งดังระดับโลกข้ามหลายทศวรรษก็เป็นได้