19 ก.พ. 2564 | 20:51 น.
“โจรมุมตึก” อาจเป็นเรื่องน่ากลัวพอๆ กับเรื่อง “คนติดเกาะ” ที่ฟังแล้วชวนน่าเศร้า แต่ถ้ามันอยู่ในแก๊กการ์ตูนขายหัวเราะ จากเรื่องเศร้าก็จะกลับตรงกันข้าม ทั้งยังเป็นความทรงจำที่เราคุ้นเคย เช่นเดียวกับแก๊กการ์ตูนแอบในตู้เสื้อผ้า, กางปลาแขวนบนโต๊ะอาหาร, คุณผู้ชายกับคนใช้สาวในยามวิกาล ต่อให้สื่อเปลี่ยนผ่านไปกี่ยุคสมัย ช่องทางการเสพข้อมูลเปลี่ยนหน้าตาไปหลายแพลตฟอร์ม แต่การ์ตูนก็ยังคงเป็นการ์ตูนอยู่ดี มันยังทำหน้าที่สื่อสารได้ทรงพลัง ด้วยคุณลักษณะพิเศษที่ง่าย สนุกสนาน และเข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย ถึงเช่นนั้นกว่าจะมาเป็นแก๊กการ์ตูนล้วนมีที่มาที่ไป ไอเดียความตลกมาจากการใช้ชีวิต การพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า นักเขียนการ์ตูนจึงไม่ต่างอะไรกับนักสังเกตการณ์ทางสังคม เพียงแต่ถ้อยคำที่สื่อสารออกไป หวังเพียงเพื่อรอยยิ้ม- เสียงหัวเราะ มากกว่าจะเสียดสีใครให้เจ็บช้ำ “มันเป็นการอธิบายสิ่งที่เป็นกระแสในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งเราเองก็ต้องศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำด้วย ทั้งดูข่าว ฟังเพลง ดูหนัง อย่างเวลาดูหนัง เราก็เอาสมุดเข้าไปจด ดูโฆษณาก็อัดวีดีโอไว้ นั่งอยู่ป้ายรถเมล์ก็สังเกตพฤติกรรมผู้คน เห็นอะไรน่าสนใจก็จดไว้ก่อน แล้วเอามาคิดจนเป็นแก๊กการ์ตูน ร่าง วาด ตัดเส้น แล้วค่อยลงสี” กลุ่มนักเขียนการ์ตูนสรุปที่มาของการผลิตผลงาน นั่นคือเรื่องราวปกติธรรมดาๆ สำหรับงานสร้างสรรค์ และนิยามของนักเขียนการ์ตูนอารมณ์ดี ที่น่าจะจบลงแค่เพียงเท่านี้ จนกระทั่งไม่กี่เดือนก่อนที่พวกเขาได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าร่วมการรณรงค์เสริมสร้างสุขอนามัยของคนไทย ในโครงการ “วิถีใหม่ ไกลโรค” ผ่านรูปแบบการ์ตูนที่พวกเขาถนัด เพื่อสื่อสารการปฏิบัติตนในชีวิตวิถีใหม่ (New normal) ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019