08 ก.ค. 2564 | 23:38 น.
เคยเขียนถึงพิคโกโล่ตัวปัจจุบันในฐานะที่เป็นมนุษย์พ่อไปแล้ว ใน https://thepeople.co/piccolo-dragon-ball/?fbclid=IwAR2u_OlKhM7A3asfdhH1HRHrvFRwyPA67NKSRqTpy31BAjg2t2cpm_-OFUg แต่วันนี้จะพูดถึงจอมปีศาจพิคโกโล่ตัวต้นฉบับ รวมทั้งพระเจ้าของโลก ในฐานะเป็นตัวแทนแห่งความเชื่อเรื่องพหุศาสนาใน Dragon Ball ที่มาของจอมปีศาจพิคโกโล่นั้นก็ตามที่ผู้อ่านทราบกันดี คือเด็กชาวนาเม็กผู้หนึ่งที่ลี้ภัยออกมาจากดาวของตัวเองมาอาศัยอยู่บนโลกมนุษย์ และสูญเสียความทรงจำไปหมด จำเรื่องอะไรเกี่ยวกับตัวเองได้น้อยมาก ยกเว้นจำวิธีสร้างดรากอนบอลได้แบบเลือนราง หลังจากใช้ชีวิตในสังคมมนุษย์ไปหลายปี ชาวนาเม็กผู้นั้นทราบว่า “พระเจ้า” ของโลกกำลังจะหมดอายุขัย จึงปีนหอคอยคารินขึ้นไปวังของพระเจ้า เพื่อขอเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งพระเจ้าคนต่อไป แต่ถูกปฏิเสธเพราะยังมีจิตที่ชั่วร้ายผสมอยู่ในใจ ชาวนาเม็กผู้นั้นจึงฝึกฝนจิตใจตัวเองจนแยก “ความดี” และ “ความเลว” ออกจากกันเป็น 2 ร่างได้ ร่างดีมีแต่ความดีและสติปัญญาจึงสืบทอดเป็นพระเจ้าผู้ดูแลโลกต่อไป และสร้างดรากอนบอลของโลก ส่วนร่างเลวสืบทอดพลังต่อสู้และจิตใจที่เลวบริสุทธิ์ หนีลงมาโลกมนุษย์ กลายเป็นจอมปีศาจพิคโกโล่ สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ไม่น่าเชื่อว่าเนื้อเรื่องแค่ช่วงจอมปีศาจพิคโกโล่ไปจนถึงช่วงที่เบจิต้าบุกโลก ผู้เขียน-โทะริยะมะ อะกิระ จะสอดแทรกแนวคิดทางศาสนาเอาไว้ได้มากมายขนาดนี้ เริ่มตั้งแต่ท่าไม้ตาย “คลื่นสะกดมาร (魔封波)” ซึ่งเป็นแนวทางการจับวิญญาณร้ายไปขังหรือไล่ผี (Exorcism) ที่เห็นได้ในหลากหลายศาสนาและความเชื่อ (ของไทยก็มีจับวิญญาณไปถ่วงน้ำ เป็นต้น) แล้วก็การที่พระเจ้าและจอมปีศาจเคยเป็นตัวตนเดียวกันมาก่อนก็เป็นแนวคิดหยินหยาง (陰陽) ของลัทธิเต๋า (道教) ที่ว่าทุกสรรพสิ่งล้วนมี 2 ด้าน เช่น ขาว-ดำ / สว่าง-มืด / ดี-เลว ถ้าสังเกตเครื่องแต่งตัวของพระเจ้าและจอมปีศาจพิคโกโล่ในเวอร์ชันมังงะขาวดำต้นฉบับจะเห็นว่าแต่งตัวคล้ายกันมาก โดยพระเจ้าใส่ชุดยาวสีขาวและมีผ้าคลุมสีดำรวมทั้งมีอักษรที่หน้าอกเขียนว่า “เทพ (神)” ในขณะที่จอมปีศาจพิคโกโล่ใส่ชุดยาวสีดำและมีผ้าคลุมสีขาวรวมทั้งมีอักษรที่หน้าอกเขียนว่า “มาร (魔)” แต่พอเป็นเวอร์ชันอนิเมะทำให้การเล่นสีต่างขั้วแบบลัทธิเต๋าเพี้ยนไป กลายเป็นพระเจ้าใส่ชุดยาวสีขาวและมีผ้าคลุมสีน้ำเงินส่วนจอมปีศาจพิคโกโล่ใส่ชุดยาวสีน้ำเงินและมีผ้าคลุมสีแดงไปซะงั้น เราจะได้เห็นอีกหลายครั้งว่าชาวนาเม็กนั้นมีลักษณะนี้ชัดมากคือ หนึ่งตัวตนแยกเป็นหลายตัวตนได้ และหลายตัวตนก็กลับมารวมเป็นหนึ่งตัวตนได้เช่นกัน อาจมีผู้อ่านเริ่มเอะใจว่าทำไม “พระเจ้า” ของโลกจึงไม่เขียนหน้าอกว่า “พระเจ้า” แต่เขียนว่า “เทพ” แทน? ตรงนี้สามารถอธิบายได้ด้วยความเชื่อเรื่องพหุเทวนิยมของญี่ปุ่น (พหุเทวนิยมจะเชื่อว่ามีเทพเจ้าหลายองค์ ต่างจากเอกเทวนิยมที่เชื่อว่ามีพระเจ้าแค่องค์เดียว เช่นศาสนาคริสต์, ศาสนายูดาห์, และศาสนาอิสลาม) แต่เดิมญี่ปุ่นนั้นนับถือวิญญาณของผู้ล่วงลับรวมทั้งนับถือวิญญาณที่สิงสู่อยู่ในสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่เรียกว่า “คะมิ (神)” ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่ามีคะมิอยู่ในทั้งป่าเขาลำเนาไพร ทะเล แม่น้ำ ลำธาร สายลม บ้านเรือน เรือกสวนไร่นา จนมีคำกล่าวว่า “คะมิแปดล้านองค์ (八百万の神)” คือเชื่อว่ามีคะมิอยู่นับไม่ถ้วนโดยประมาณว่าน่าจะมีสักแปดล้านองค์นั่นเอง แต่ภายหลังจากที่ได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนา, ลัทธิขงจื๊อ, และลัทธิเต๋า ทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาแนวคิดเรื่องคะมิขึ้นจนกลายเป็นระบบศาสนาได้สำเร็จ จึงกลายเป็น ลัทธิชินโต (神道) ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ นั่นเอง โดยที่แต่เดิมญี่ปุ่นยังไม่มีตัวอักษรเป็นของตัวเองจึงขอยืมอักษรตัว เฉิน (Shén: 神) ในภาษาจีนที่แปลว่าเทพเจ้า มาใช้เรียกคะมิของตัวเอง อักษรจีนที่ญี่ปุ่นเรียกว่าอักษรคันจิ (漢字) นั้นมีความต่างจากภาษาจีนที่ชัดเจนที่สุดคือ อักษรจีนในภาษาจีนแมนดารินในปัจจุบันมักอ่านได้เพียง 1 เสียงต่อ 1 ตัวอักษร (มีอักษรไม่มากนักที่อ่านได้เกิน 1 เสียง) ในขณะที่อักษรคันจิของญี่ปุ่นนั้นแบ่งเป็นเสียงญี่ปุ่น และ เสียงจีนโบราณ (จีนโบราณที่คนญี่ปุ่นได้ยิน ก็จะเป็นคนละเสียงกับเสียงจีนแมนดารินในปัจจุบัน) ดังนั้นอักษร 神 เวลาที่ใช้ระบุเทพของญี่ปุ่นที่อยู่ในธรรมชาติ จะออกเสียงว่า คะมิ (神) ในขณะที่ถ้าใช้ระบุลัทธิชินโตจะออกเสียงว่า ชิน (神) แต่ที่จริงหมายถึงสิ่งเดียวกันแค่ออกเสียงไม่เหมือนกันเท่านั้น แต่ความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นไปอีกเมื่อญี่ปุ่นรับคริสตศาสนาเข้ามาในอารยธรรมของตัวเอง ซึ่งตามที่กล่าวตอนต้นว่าศาสนาคริสต์นั้นเป็นเอกเทวนิยมคือเชื่อว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียวคือ God เท่านั้น ชาวญี่ปุ่นจึงกลายเป็นชาติที่มีความประนีประนอมในความเชื่อศาสนาอย่างมาก คือเชื่อทั้งพหุเทวนิยมว่าโลกนี้มีเทพจำนวนมากมาย เช่นมีคะมิทั้งหมดแปดล้านองค์ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเชื่อเอกเทวนิยมด้วยว่าโลกนี้มีพระเจ้าเพียงองค์เดียว จึงเกิดการแยกกันใช้ระหว่างคำว่า “เทพ” และ “พระเจ้า” โดย ถ้าเป็นคะมิในลัทธิชินโตจะเรียกเพียง “คะมิ (神)” เวลาแปลจะแปลว่า “เทพ” ในขณะที่ถ้าเป็น God ของศาสนาคริสต์ก็จะเรียกโดยมีคำปัจจัย (Suffix) ที่แสดงการยกย่อง เรียกรวมกันว่า “คะมิซะมะ (神様)” เวลาแปลจะแปลว่า “พระเจ้า” นั่นเอง ตัวตนของพระเจ้าและจอมปีศาจพิคโกโล่ใน Dragon Ball จึงแสดงให้เห็นความเชื่อทางพหุศาสนาตามที่ได้กล่าวไปแล้วทั้งเต๋า, ชินโต, และศาสนาคริสต์ หน้าอกของพระเจ้าจึงเขียนเพียง คะมิ ก็สามารถตีความได้ทั้งเป็นเทพคะมิของชินโต หรือเป็นพระเจ้าของศาสนาคริสต์ก็ได้ เพราะอักษร 神 แปลได้ทั้ง 2 แบบอยู่แล้ว เท่านั้นยังไม่พอ เทพเจ้ามังกรในเรื่อง โทะริยะมะก็ดันไปเอาความเชื่อของจีนมา จึงจงใจไม่ออกเสียงตามเสียงญี่ปุ่น แต่เรียกเทพเจ้ามังกรในเรื่องตามเสียงจีนแมนดารินมันดื้อ ๆ ว่า “เฉินหลง (神龍)” ไปอีก เรียกว่าเอาตำนานเทพจีน มาผสมกับชินโตและเต๋า แล้วก็มาผสมกับคริสตศาสนาอีกต่างหาก นอกจากนี้ ยังมีการแอบเนียนเอามายำรวมกับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูอีกเล็กน้อยด้วยการเปิดตัว “ท่านเอ็นมะ (閻魔)” เจ้ายมโลกอีก (หลังภาคพิคโกโล่ ก่อนสู้กับเบจิต้าบุกโลก) ซึ่ง “เอ็นมะ” ในที่นี้มาจากภาษาสันสกฤตว่า “ยะ-มะ” หรือ ยม ในคำว่า ยมบาล นั่นเอง และมีการกล่าวถึงการเวียนว่ายตายเกิดด้วย ซึ่งเป็นลักษณะเด่นมากของพุทธและฮินดูที่มีร่วมกันในจุดนี้ เรียกว่านอกจากบันเทิงแล้ว ก็สามารถอ่านความเชื่อเชิงศาสนาของสังคมญี่ปุ่นผ่านงานเขียนเรื่อง Dragon Ball ได้ด้วย ทำให้ได้อรรถรสเพิ่มเติมไปกว่าเสพความสนุกอย่างเดียว ทำให้อ่านได้หลายครั้งไม่เบื่อ เพราะได้รสชาติใหม่ ๆ ทุกครั้งที่ได้อ่าน เรื่อง: วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล