‘ซาโตชิ ทาจิริ’ ชายผู้ชื่นชอบการจับแมลงและหลงใหลการเล่นเกม ผู้ให้กำเนิด Pokémon

‘ซาโตชิ ทาจิริ’ ชายผู้ชื่นชอบการจับแมลงและหลงใหลการเล่นเกม ผู้ให้กำเนิด Pokémon

โปเกมอน (Pokémon) เป็นป็อบคัลเจอร์ที่โด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งผู้ให้กำเนิดก็คือ ‘ซาโตชิ ทาจิริ’ ชายผู้ชื่นชอบการจับแมลงมาตั้งแต่ยังเด็ก และมีความฝันว่า อยากจับแมลงทุกตัวบนโลกให้ได้ แต่กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างที่เห็น เขาก็ผ่านปัญหามามากมาย

  • จุดเริ่มต้นของโปเกมอนมาจากวีดีโอเกม โดยมี ‘ซาโตชิ ทาจิริ’ เป็นผู้ให้กำเนิด
  • ซาโตชิ ชื่นชอบการจับแมลงและฝันอยากจับแมลงทุกตัวบนโลกให้ได้ ซึ่งนั่นเป็นแรงบันดาลใจให้เขาพัฒนาโปเกมอนขึ้นมา

.

“Pikachu, I Choose You!”

เวอโรนิก้า เทย์เลอร์ (Veronica Taylor) ตะโกนประโยคสั้น ๆ นี้ในงาน Nom Com เมื่อปี 2011 แล้วคนทั้งฮอลล์ก็ปรบมือส่งเสียงเฮชอบใจดังสนั่น เธอเป็นผู้พากย์เสียงตัวละคร ‘Ash Ketchum’ หรือ ซาโตชิ (ภาคภาษาญี่ปุ่น) ในแอนิเมชันเรื่องโปเกมอน (Pokémon) ที่สร้างมาจากวิดีโอเกมจากประเทศญี่ปุ่น

เสียงปรบมือในงานวันนั้นเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่าความนิยมของมันขยายขอบเขตออกไปไกลมากกว่าแค่กลุ่มผู้ชื่นชอบวิดีโอเกมแล้ว มันคือป๊อปคัลเจอร์แห่งยุคสมัย เป็นแฟรนไชส์ที่สร้างรายได้สูงกว่า 1 แสนล้านเหรียญให้บริษัท Nintendo มากกว่า Star Wars, Mickey Mouse หรือ Marvels เลยทีเดียว

และผู้ให้กำเนิดโปเกมอน ก็คือ ‘ซาโตชิ ทาจิริ’ (Satoshi Tajiri) ชายผู้เติบโตมากับธรรมชาติ ชื่นชอบการจับแมลงมาตั้งแต่ยังเด็ก และมีความฝันว่าอยากจับแมลงทุกตัวบนโลกให้ได้ ซึ่งนั่นกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเกมโปเกมอนเมื่อเขาโตขึ้น

แต่กว่าโปเกมอนจะกลายมาเป็นเกมที่มีชื่อเสียงอย่างทุกวันนี้ก็ต้องเผชิญปัญหามากมายเช่นเดียวกัน

.

เจ้าของฉายา Dr.Bugs

ซาโตชิถือกำเนิดในปี 1965 ที่เมืองมาจิดะ (Machida) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของโตเกียว ซึ่งถือเป็นชานเมืองห่างไกลตัวเมืองพอสมควร เขาเติบโตมาในครอบครัวฐานะปานกลางของญี่ปุ่น พ่อเป็นเซลส์ขายรถยนต์นิสสัน ส่วนแม่เป็นแม่บ้านเต็มตัว

สมัยเด็กเขาจะใช้เวลานอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ มีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือ ‘การเก็บสะสมแมลงให้ได้ทุกชนิด’ จนเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนของเขาตั้งชื่อเล่นให้เขาว่า Dr.Bugs ซึ่งเขารู้สึกภูมิใจกับชื่อนี้เพราะอยากมีอาชีพเป็นนักกีฏวิทยา (Entomologist) ผู้เชี่ยวชาญศึกษาเกี่ยวกับแมลงอยู่แล้ว

แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เมืองมาจิดะเริ่มมีสภาพเปลี่ยนไปจากการขยายเมือง จำนวนแมลงจึงลดลงเรื่อย ๆ ทำให้ซาโตชิไม่สามารถจับแมลงได้อย่างที่ต้องการอีกต่อไป ความสนใจของเขาจึงหันเหไปสู่ ‘การเล่นเกมตู้’ โดยใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันกับการเล่นตู้เกมจนเกือบเรียนไม่จบมัธยมปลาย และเลือกไปเรียนทางด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ Tokyo National College of Technology แทนสอบเข้ามหาวิทยาลัย

.

หลงใหลการเล่นเกม

ด้วยความชื่นชอบในการเล่นเกม วันหนึ่งเขาตัดสินใจทำนิตยสารเกี่ยวกับเกมแบบทำมือ ชื่อ Game Freak ซึ่งได้รับความนิยม จนบางเล่มขายได้ถึง 10,000 เล่มก็มี (ต้องไปจ้างโรงพิมพ์เลย)

นิตยสารทำมือเล่มนี้กลายเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างเขากับ 'เคน ซูกิโมริ' (Ken Sugimori) นักวาดคาแรกเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโปเกมอนอีกคน เคนรู้สึกสนใจนิตยสารเหล่านั้นแล้วเริ่มเข้ามาร่วมวาดตัวคาแรกเตอร์ในเล่มให้ด้วย มิตรภาพก่อตัวขึ้นและทั้งคู่เริ่มทำงานด้วยกันอย่างจริงจัง จนกระทั่ง 4 ปีให้หลัง (1986) ก็ตัดสินใจปิดตัว Game Freak ลง ไม่ใช่เพราะหมดไฟ แต่ทั้งคู่อยากทำเกมของตัวเองบ้างต่างหาก

3 ปีต่อมาหลังจากเรียนรู้การเขียนโค้ดและสร้างเกม Game Freak ก็กลับมาอีกครั้งในฐานะผู้สร้างเกม ไม่ใช่แมกกาซีนเย็บเล่มอีกต่อไป

‘Quinty’ เกมแนวไขปริศนา (Puzzle) เกมแรกของ Game Freak สร้างเสร็จในปี 1990 แต่กว่าจะหาบริษัทที่รับทำตลาดให้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ชื่อเสียงไม่มี เป็นเด็กหนุ่มแค่สองคน บริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Nintendo, Capcom, Sega, Konami ฯลฯ ต่างปฏิเสธพวกเขามาทั้งสิ้น จนกระทั่งเจอ Namco ที่สนใจในเกมแต่มีเงื่อนไขว่า จะทำงานกับบริษัทเท่านั้น 

ซาโตชิและเคนเลยตัดสินใจก่อตั้ง Game Freak Inc. ขึ้นมา และเกมแรกของพวกเขาก็ถูกปล่อยลงเครื่อง Nintendo Famicom (เครื่องสีแดง-ขาว) เป็นครั้งแรก

หลังจากเกมแรกได้รับเสียงตอบรับที่ดี Game Freak Inc. ก็เริ่มได้รับโอกาสได้ทำงานกับบริษัทที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ สองปีต่อมาก็ออกเกมใหม่ชื่อ 'Smart Ball' ภายใต้บริษัท Sony ให้กับเครื่อง Super Nintendo ภายในปีเดียวกันก็ได้โอกาสทำงานกับ Nintendo โดยตรง สร้างเกม ‘Yoshi’ สำหรับเครื่อง Game Boy หลังจากนั้นก็ผลิตเกมออกมาอีกมากมาย ยกตัวอย่างดัง ๆ ก็มี  Mario & Wario (Super Nintendo) และ Pulseman (Sega)

การได้ทำงานกับ Nintendo โดยตรงและประสบการณ์สร้างเกมที่ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด กลายเป็นประตูสำหรับซาโตชิและเคนได้ไปพบเจอคนที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมเกมมากขึ้นไปด้วย ทั้งคู่ได้รู้จักกับ ‘ชิเกรุ มิยาโมโต’ (Shigeru Miyamoto) ผู้สร้างมาริโอ และ ‘กุนเป โยโคอิ’ (Gunpei Yokoi) ผู้คิดค้นเครื่อง Game Boy

หลังจากที่ Quinty ออกสู่ตลาดได้หนึ่งปี ซาโตชิสังเกตเห็นเครื่องเกมบอยสองเครื่องที่สามารถเชื่อมต่อกันด้วยสายเคเบิล (Game Boy มีฟีเจอร์ที่เล่นด้วยกันสองคนได้ถ้าเชื่อมสายเข้าด้วยกัน) จังหวะนั้นก็มีภาพแมลงที่ไต่ไปตามสายเคเบิลผุดเข้ามาในหัว 

ความทรงจำในวัยเด็กของ Dr.Bugs ที่วิ่งจับแมลงตามที่ต่าง ๆ หวนกลับมาอีกครั้ง กลายเป็นไอเดียเกมที่ผู้เล่นสามารถที่จะเดินสำรวจและสะสมสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ คล้ายกับการหยอดลูกกาชาปอง หลังจากนั้นก็สามารถแลกเปลี่ยนกับผู้เล่นคนอื่นได้

เขาเก็บไอเดียนี้ไว้จนกระทั่งวันหนึ่งโอกาสที่ได้ทำงานกับ Nintendo มาถึงและความสัมพันธ์ของทั้งสองบริษัทอยู่ในจุดที่แข็งแรง จึงตัดสินใจนำเสนอไอเดียนี้กับผู้บริหารของ Nintendo สักที

.

กำเนิด Pokémon

การนำเสนอไอเดียให้กับบอร์ดบริหารของ Nintendo เป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับซาโตชิ เพราะเขาทราบดีว่าถ้าบอร์ดไม่สนใจก็จะตัดบทและปฏิเสธตรงนั้นเลยทันที

ตอนที่ซาโตชินำเสนอไอเดีย บอร์ดบริหารบางส่วนไม่มั่นใจกับไอเดียนี้เลย แต่สุดท้ายด้วยการสนับสนุนของชิเกรุ (ผู้สร้างมาริโอ) พวกเขาก็ได้โอกาสสร้างเกมที่ซาโตชิอยากทำมาหลายปี นอกจากจะสนับสนุนไอเดียแล้ว ชิเกรุยังช่วยแนะนำและชี้แนวทำงานให้กับทีมของ Game Freak Inc. ด้วย

ขั้นตอนการสร้างเกมโปเกมอนนั้นเกือบทำให้ Game Freak Inc. ล้มละลายเลยทีเดียว กระบวนการที่ยุ่งยากและการเขียนโค้ดที่ซับซ้อน ทำให้โปรเจกต์ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ระหว่างนั้นก็เผาเงินสำรองของบริษัทไปเรื่อย ๆ ภายหลังต้องรับเอางานของบริษัทอื่น ๆ มาทำเพื่อจะหารายได้มาจ่ายให้กับพนักงาน

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้เขียนโค้ดของเกมเป็นระบบ Unix ที่มักล่มอยู่บ่อย ๆ แต่ก็ไม่มีเงินมาอัปเกรดเครื่องคอมพิวเตอร์ในบริษัทเลย หลังจากประคับประคองมา 4 ปีระหว่างพัฒนาเกม วันหนึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ดับสนิทบูสต์ไม่ขึ้น

ข่าวร้ายคือคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นเก็บโค้ดเกมทั้งหมดเอาไว้ด้วย ซึ่งถ้ากู้คืนไม่ได้ งานที่ทำมาทั้งหมดหลายปีก็คือสูญเปล่า

โชคดีที่หลังจากกลับไปค้นคู่มือภาษาอังกฤษของระบบปฏิบัติการและคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ พวกเขาก็กู้เครื่องและข้อมูลกลับมาได้สำเร็จ แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะตอนนี้เงินก็หมดไปด้วย พนักงานเริ่มทยอยออกไปเรื่อย ๆ จนคนที่เหลืออยู่ต้องทำงานแบบไม่รับเงินเดือนไปก่อนโดยหวังแค่เพียงว่าสุดท้ายแล้วเกมจะขายได้เท่านั้น

.

6 ปีต่อมากับตัวละครลับ

หลังจากเริ่มโปรเจกต์โปเกมอนมานานถึง 6 ปี ความนิยมของเครื่อง Game Boy ในตลาดก็เริ่มซาลงไป ซึ่งนั่นก็นำมาซึ่งปัญหาเพราะว่าโปเกมอนเกมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเครื่องเกมรุ่นนี้โดยเฉพาะ จึงกลายเป็นข้อกังขาว่าจะขายได้จริงหรือเปล่า

แต่เมื่อใกล้ถึงวันที่ต้องปล่อยตัวจริง ๆ ระหว่างที่ทีม Game Freak Inc. ทำการตรวจสอบข้อมูลของเกมเป็นรอบสุดท้ายเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีข้อผิดพลาดตรงไหน กลายเป็นว่าเกมยังเหลือพื้นที่ว่างอีก 300 Bytes ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ คือตลับเกมบอยมีพื้นที่จำกัด ใส่ข้อมูลได้ตามที่กำหนดไว้เท่านั้น ถ้าข้อมูลของเกมเยอะเกินก็จะไม่สามารถใส่ตลับได้ แต่ทีมของ Game Freak Inc. ยังเหลือพื้นที่อีกนิดหน่อย ซึ่งเพียงพอสำหรับตัวโปเกมอนตัวที่ 151 อีกตัวหนึ่งเท่านั้น

ทีมตัดสินใจในโค้งสุดท้ายแล้วเพิ่มโปเกมอนลับชื่อว่า ‘มิว’ (Mew) เข้าไปเป็น Easter Egg (หรือตัวละครลับที่หายากมาก ๆ) ซึ่งตอนแรกความตั้งใจของทีมคือจะให้นักพัฒนาเกมเท่านั้นที่จะใช้ได้ แต่กลายเป็นว่าผู้เล่นก็เจอมิวบ้างในบางสถานการณ์

หลังจากเปิดตัวเกมไปสองเวอร์ชัน Pokémon Red / Pokémon Green (ที่ออกสองเวอร์ชันก็มาจากคอนเซ็ปต์ที่ว่าถ้าเล่นคนเดียวจะไม่สามารถจับโปเกมอนได้ทั้งหมด จึงต้องเอามาแลกกันกับเพื่อน) ในปี 1996 กระแสตอบรับก็เป็นไปในทิศทางที่ ‘ดี’ แต่มาดังเปรี้ยงก็ตอนที่ข่าวลือเกี่ยวกับตัวโปเกมอนลับชื่อมิวในเกมที่มีแต่คนตามหากันนั่นเอง

.

กระแสความนิยมและการต่อต้าน Pokémon

ภายในปีเดียวกันนั้นโปเกมอนก็เริ่มกลายเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากที่การ์ดเกมที่ออกมาให้ผู้เล่นได้เก็บสะสมทั้งแบบตัวมาตรฐานและเป็นแบบการ์ดฟอยล์ที่หายาก ทำให้ขยายกลุ่มฐานผู้เล่นไปยังคนที่ไม่มีเครื่องเกมบอยขณะนั้นด้วย คนที่สะสมการ์ดโปเกมอนก็สามารถมีส่วนร่วม เล่นสนุก และแข่งขันกับคนอื่น ๆ ได้ด้วย

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากในญี่ปุ่น โปเกมอนก็เริ่มขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยปล่อยเวอร์ชัน Pokémon Red / Pokémon Blue ในอเมริกาเมื่อปี 1998 แล้วก็ได้รับความนิยมแทบจะทันที ไม่กี่เดือนต่อจากปล่อยตัวเกม การ์ดโปเกมอนเวอร์ชันภาษาอังกฤษก็ขยับตามมาด้วยเช่นกัน

ตอนนี้ Pokémon ไม่ใช่เพียงแค่เกมหรือการ์ดเกมเท่านั้น มันได้กลายเป็นกระแสป๊อปคัลเจอร์โด่งดัง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างชื่นชอบในตัวเกม คาแรกเตอร์ และการสะสมการ์ดก็กลายเป็นงานอดิเรกที่หลายคนหลงใหล พิคาชูกลายเป็นโปเกมอนที่ได้รับความชื่นชอบไปทั่วโลก ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย ของเล่น ตุ๊กตา เสื้อผ้า ฯลฯ ด้วยความน่ารักของมันและไม่เจาะจงเพศ จึงเหมาะกับทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงเลยด้วย

แต่ความนิยมที่พุ่งสูงสุดขีดนี้ก็นำมาซึ่งกระแสต่อต้านเช่นเดียวกัน

การ์ดโปเกมอนกลายเป็นสิ่งที่เด็ก (และผู้ใหญ่) หลายคนโหยหาและหลงใหล บางคนถึงขั้นอดข้าวอดอาหาร เก็บเงินที่ได้รับจากผู้ปกครองไปโรงเรียนเพื่อไปซื้อการ์ดโปเกมอนแทน เว็บไซต์ ‘New York Post’ รายงานไว้ในปี 1999 ว่าเด็ก ๆ หลายคนโดดเรียนเพื่อไปดูภาพยนตร์โปเกมอนในโรงหนัง ตั้งชื่อเหตุการณ์ระบาดของความนิยมโปเกมอนนี้ว่า ‘Pokémon Flu’ ตอนนี้พ่อแม่เริ่มกังวลกันแล้ว

ภาพของเด็ก ๆ ที่ถือการ์ดโปเกมอนเต็มมือไปโรงเรียนเพื่อแลกกับเพื่อน เล่นกันระหว่างพักเรียน หรือแม้แต่นำไปขาย กลายเป็นสิ่งที่เห็นได้อยู่เป็นประจำ นำมาซึ่งคำถามว่าการ์ดเกมและเกมโปเกมอนนั้นส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็ก ๆ มากแค่ไหน นอกจากนั้นแล้วยังมีเรื่องปัญหาของความรู้สึกแปลกแยกของเด็กฐานะยากจนที่ไม่สามารถซื้อการ์ดโปเกมอนได้ แถมยังมีเรื่องทะเลาะ ชกต่อยกันเพราะการ์ดเหล่านี้อีกด้วย สุดท้ายกลายเป็นว่าหลายโรงเรียนออกกฎห้ามไม่ให้เด็ก ๆ เอาการ์ดโปเกมอนไปโรงเรียนเลย

ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าเกมการ์ดโปเกมอนนั้นสนับสนุนพฤติกรรมที่ไม่ดีให้กับเด็ก ๆ ส่งเสริมการพนัน ความรุนแรง และการทำร้ายสัตว์ ซึ่งก็แล้วแต่มุมมองอีกว่าใครมองการ์ดเกมแบบนี้ว่าเป็นแบบไหน ในปี 1999 กลุ่มของพ่อแม่ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ถึงขั้นฟ้องบริษัท Nintendo เลยด้วยซ้ำ

ไม่ใช่แค่การ์ดเกมเท่านั้นที่โดนเพ่งเล็ง ถ้ายังจำกันได้ช่วงปี 1997 ที่โปเกมอนแอนิเมชันต้องหยุดฉายไปกว่า 4 เดือนเนื่องจากเกิดเหตุการโรคลมชักแสงกับเด็กกว่า 685 คนที่ดูฉากพิคาชูโจมตีด้วยสายฟ้าทำให้เกิดการระเบิดใหญ่เป็นแสงกะพริบสีแดงและสีนำ้เงินรัว ๆ ในตอนที่ 38 ซีซั่น 1 บางส่วนชักหมดสติ บางส่วนถูกนำส่งโรงพยาบาล กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ทางทีวีโตเกียวต้องออกมาขอโทษและระงับการฉายโปเกมอนชั่วคราวเพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้น

นอกจากกระแสต่อต้านของสังคมที่มีมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีการต่อต้านทางศาสนาอีกด้วย โปเกมอนถูกมองว่าเป็นการขับเคลื่อนของซาตานที่พยายามจะครอบงำจิตใจของมนุษย์ คริสเตียนกลุ่มคลั่งศาสนา (Fundamentalist Christians) ที่มักออกมาต่อต้านป๊อปคัลเจอร์ที่โด่งดัง (อย่างเพลงร็อกเมทัลหนัก ๆ หรือวิดีโอเกม) ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นว่านี่เป็นฝีมือของซาตานที่ทำให้เด็ก ๆ หลงทาง เป็นหนทางไปสู่ประตูนรกแบบนั้นเลย คนบางกลุ่มก็เชื่อไปด้วยจริง ๆ

แต่ไม่ว่าอย่างไร ความนิยมของโปเกมอน ทั้งตัวการ์ดเกม วิดีโอเกม แอนิเมชันทั้งสั้นและยาว ก็ยังคงเติบโตมาได้เรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง มีเกมออกมาอีกหลายแนวหลายเวอร์ชันบนเครื่องคอนโซลที่พัฒนามาเรื่อย ๆ แฟนคลับของโปเกมอนจึงมีอะไรใหม่ ๆ ให้เล่นอยู่เสมอ

.

เส้นทางเติบโตพร้อม ๆ กับเทคโนโลยี

2016 เราเห็นก้าวใหม่ของเกมโปเกมอนกับ Pokémon Go ที่ใช้เทคโนโลยี AR เพื่อให้ผู้เล่นสามารถเดินไปจับโปเกมอนรอบ ๆ ตัวได้ผ่านสมาร์ตโฟนในมือ มันสร้างเสียงฮือฮาและได้รับความนิยมเกือบจะทันที สร้างรายได้เดือนแรกกว่า 207 ล้านเหรียญและมีผู้สมัครเข้ามาใช้งานกว่า 200 ล้านคนในเวลาสองสามเดือน สร้างกระแสครั้งใหม่ให้กับโปเกมอนได้อีกครั้ง

แม้ว่าหลังจากนั้นจำนวนผู้ใช้งานจะลดลงเพราะฟีเจอร์ในเกมยังไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไร ภายในสิ้นปีเหลือเพียงแค่ประมาณ 50 ล้านคนเท่านั้น แต่ผู้สร้างเกมก็ค่อย ๆ แก้ไขและดึงคนกลับมาเล่นใหม่เรื่อย ๆ ซึ่งช่วงที่โควิด-19 ระบาดก็เห็นฐานผู้ใช้งานเริ่มเติบโตกลับมาบ้างเช่นเดียวกัน และ 4 ปีหลังจากที่เปิดตัว Pokémon Go ก็สามารถสร้างรายได้หลัก 1 พันล้านเหรียญได้สำเร็จ

ตอนนี้การ์ดโปเกมอนก็เริ่มกลายเป็นของสะสมที่สร้างมูลค่าได้ด้วยเช่นกัน บางใบหายาก ขายกันหลายล้านบาทก็เกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งก็ยิ่งทำให้ความนิยมของมันยังคงมีในตลาดอย่างต่อเนื่อง

ถึงตอนนี้ความฝันของซาโตชิที่อยากสร้างเกมเพื่อให้คนได้ออกไปจับแมลงเหมือนอย่างที่เขาได้ทำตอนเป็นเด็กไม่เพียงแต่เป็นความจริงแล้วเท่านั้น มันกลายเป็นวิถีชีวิต (บางคนก็ซื้อขายการ์ดโปเกมอนเป็นอาชีพ) กลายเป็นวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์โด่งดังทั่วโลก มีแฟนคลับมากมาย กลายเป็นความผูกพันและความทรงจำของคนที่เติบโตมากับมัน และแน่นอนว่ามันจะยังเติบโตและเปลี่ยนแปลงต่อไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ (คิดว่าถ้าเมตาเวิร์สมีมาตรฐานที่ดีคงได้จับโปเกมอนในนั้นแน่นอน)

สำหรับคนที่ไม่เคยเล่นเกมหรือการ์ดเกมโปเกมอน อยากให้ลองสักครั้งครับ ไม่นานเชื่อว่าคุณก็อาจตะโกน “Pikachu, I Choose You!” ด้วยเช่นเดียวกัน

.

เรื่อง : The People

ภาพ : Pokémon 

.

อ้างอิง

.

youtube

gamerant

content.time

fictionhorizon

nypost

nytimes

filmschoolrejects