16 ก.พ. 2567 | 14:30 น.
ในบรรดาการ์ตูนญี่ปุ่นที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน เชื่อว่ามีอยู่ 2 เรื่องที่อยู่ในใจของนักอ่านชาวไทยทุกคนเป็นแน่ คือ โดราเอมอน และ ชินจังจอมแก่น วันนี้จะชวนทุกท่านมาพิจารณาถึงครอบครัวโนบิ และ ครอบครัวโนะฮะระ ว่าสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของญี่ปุ่นมากน้อยเพียงใด
ประเด็นแรกคือเรื่องของนักอ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดราเอมอนนั้น เริ่มตีพิมพ์ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1969 และตีพิมพ์ในกลุ่มนิตยสารรายชั้นปีสำหรับเด็กที่เรียกว่า GAKUNENSHI คือไม่ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อใดชื่อหนึ่งเพียงชื่อเดียว แต่ตีพิมพ์ในนิตยสารหลายชื่อในกลุ่มของสำนักพิมพ์เดียวกัน (รายละเอียดอ่านได้ที่ https://www.thepeople.co/read/culture/15802) โดราเอมอนจึงเป็นการ์ตูนสำหรับเด็กมาตั้งแต่ต้น เพราะกลุ่มนิตยสาร GAKUNENSHI เป็นนิตยสารที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กประถม 1 - 6 เป็นหลักรวมทั้งเด็กอนุบาลบางส่วน
ในขณะที่ชินจังนั้นเริ่มตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1990 ในนิตยสาร MANGA Action ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับผู้ใหญ่เพศชาย กล่าวคือ ที่จริงแล้วนั้น ชินจังเป็นการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่เพศชาย!! ไม่ใช่การ์ตูนเด็กแต่อย่างใด จึงไม่น่าแปลกใจว่ามุกใต้สะดือต่าง ๆ ของชินจังจะโหดกว่ามุกในเรื่องโดราเอมอนอยู่หลายขุมนัก เพราะโดราเอมอนมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กประถม ในขณะที่ชินจังมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ใหญ่เพศชายนั่นเอง
ประเด็นต่อมาคือยุคสมัยที่แตกต่างกัน ตามที่หลายท่านทราบว่าญี่ปุ่นมีการแบ่งศักราชต่าง ๆ ตามรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิ โดย (ลักษณะเด่นของแต่ละยุค อ่านได้ที่ https://www.marumura.com/showa-as-japan-golden-age/
1) ยุคโชวะ คือรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ คือ ค.ศ. 1926 - 1989 (ปีโชวะที่ 1 - 64)
2) ยุคเฮเซ คือรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ คือ ค.ศ. 1989 - 2019 (ปีเฮเซที่ 1 - 31)
3) ยุคเรวะ คือรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดินะรุฮิโตะ คือ ค.ศ. 2019 - ปัจจุบัน (ปีเรวะที่ 1 - ปัจจุบัน)
โดราเอมอนนั้นเป็นการ์ตูนของชาวโชวะ โดยชาวโชวะ และเพื่อชาวโชวะ โดยแท้ เพราะเขียนในปี 1969 โดยนักเขียน 2 ท่านที่เกิดในปี ค.ศ. 1933 และ 1934 คือมีอายุห่างกันเพียงปีเดียว ( https://www.thepeople.co/read/culture/45554) นักเขียนทั้ง 2 เกิดก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และมีชีวิตหลังสงครามสงบ (สงครามโลกครั้งที่ 2 คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 - 1945) จะสังเกตได้ว่าโดราเอมอนมีการกล่าวถึงญี่ปุ่นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่เป็นระยะ ตัวละครพ่อของโนบิตะเกิดในปี 1940 จึงจำภาพของสงครามได้ดี
ในขณะที่ชินจังนั้น แม้ว่าผู้เขียนจะเกิดในปี ค.ศ. 1958 คือยังอยู่ในยุคโชวะ และพ่อของชินจังเกิดในปี 1955 (ไม่มีการประกาศว่าพ่อของชินจังเกิดปีอะไร แต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1990 และบอกว่าอายุ 35 ปี จึงอนุมานได้ว่าน่าจะเกิดในปี 1955) แต่เนื้อเรื่องของชินจังนั้นแค่เริ่มเรื่องก็ปี 1990 ไปแล้ว จึงจัดเป็นการ์ตูนแห่งยุคเฮเซได้เลยโดยไม่ลังเล
ความแตกต่างของการเป็นการ์ตูนโชวะ และการ์ตูนเฮเซ นำไปสู่ประเด็นสุดท้ายในวันนี้คือเรื่องโครงสร้างครอบครัว สังคม และบุคลิกของตัวละคร โดยในเรื่องโดราเอมอนนั้น บ้านของโนบิตะเป็นเพียงบ้านเช่าเท่านั้น คือครอบครัวโนบิยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ต้องจ่ายค่าเช่ารายเดือนไปเรื่อย ๆ อย่างที่มีหลายตอนที่แม่ของโนบิตะบ่นเรื่องค่าเช่าบ้านเป็นประจำ อีกทั้งพ่อของโนบิตะก็มีบุคลิกแบบผู้ชายโชวะโบราณคือบ้างานและไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว นี่ยังจัดว่าดีกว่าผู้ชายโชวะทั่วไปมากแล้วที่ปากหนัก วัน ๆ แทบไม่พูดอะไรและโดนเสียดสีว่าผู้ชายยุคโชวะจะเอ่ยปากพูดออกมาเพียง 3 คำคือ “จะกินข้าว, จะอาบน้ำ, จะนอน (めし、風呂、寝る)” พ่อของโนบิตะยังมีอดีตอันขมขื่นมาก คือมีชีวิตในญี่ปุ่นยุคเก่า, สงคราม, ความอดอยากและยากจน, การไร้ทางเลือกใด ๆ ในชีวิตจนต้องยอมทิ้งความฝันและพรสวรรค์เพื่อทำงานเลี้ยงครอบครัว และแทบไม่มีเวลาดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของภรรยาและลูก รวมทั้งน่าจะไม่มีฐานะมากพอจะมีลูกอีกคนได้ หรือแม้แต่จะเลี้ยงสัตว์ก็ยังลำบาก (อ่านชีวิตของพ่อโนบิตะได้ที่ https://www.thepeople.co/read/culture/41905) โดราเอมอนเป็นภาพสะท้อนของญี่ปุ่นยุคที่กำลังฟื้นฟูตัวเองจากความบอบช้ำแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังฟื้นฟูได้ไม่เต็มที่นั่นเอง
ในขณะที่บ้านของชินจังนั้นเป็นบ้านซื้อขาด แม้จะต้องกู้ด้วยสัญญากู้ 35 ปี แต่ก็นับว่าเป็นบ้านของตัวเอง ไม่ใช่บ้านเช่าแบบบ้านโนบิตะ ระบบเศรษฐกิจในยุคเฮเซที่เริ่มเรื่องชินจังในปี 1990 นั้น แม้จะเกิดภาวะฟองสบู่แตกในญี่ปุ่น แต่ก็นับว่าฟื้นฟูตัวเองได้สมบูรณ์แบบจากภาวะสงคราม และญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เป็นเจ้าแห่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ของโลก และเป็นเจ้าเศรษฐกิจใหญ่รองจากสหรัฐอเมริกา รวมทั้งมีการขยายกิจการไปสู่นานาประเทศอย่างมาก ครอบครัวของชินจังจึงมีฐานะดีกว่าครอบครัวของโนบิตะมาก คือพ่อของชินจังสามารถแสดงออกถึงความห่วงใยที่มีต่อภรรยาและลูกได้บ่อยครั้งกว่า สามารถมีลูกคนที่ 2 ได้ และแม้แต่เลี้ยงหมาก็สามารถทำได้ ในขณะที่ครอบครัวของโนบิตะนั้นเรียกได้ว่าทำได้เพียงทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่ได้มีฐานะมากพอจะหาความสุขอื่น ๆ นอกเหนือจากสิ่งที่จำเป็นขั้นพื้นฐานของชนชั้นกลาง (อ่านชีวิตของพ่อชินจังได้ที่ https://www.thepeople.co/read/culture/41909)
กล่าวโดยสรุปคือ ทั้ง 2 เรื่องนั้นมีกลุ่มนักอ่านที่เป็นเป้าหมายต่างกัน โดราเอมอนเน้นผู้อ่านเด็กประถม ในขณะที่ชินจังเน้นผู้อ่านผู้ใหญ่เพศชาย, โดราเอมอนเขียนในยุคโชวะ ในขณะที่ชินจังเขียนในยุคเฮเซ และสุดท้ายคือโดราเอมอนยังมีภาพของญี่ปุ่นที่แร้นแค้นขมขื่น ในขณะที่ชินจังแทบไม่มีภาพนั้นให้เห็นในเรื่องแล้วเพราะเป็นญี่ปุ่นยุครุ่งเรือง
อย่างไรก็ตามไม่ได้แปลว่าพ่อของชินจังจะเป็นพ่อที่ดีกว่าพ่อของโนบิตะแต่อย่างใด แต่รายละเอียดเกี่ยวกับครอบครัวและสังคมในเรื่องนั้นเกิดจากภาพที่ฝังใจของนักเขียนทั้ง 2 เรื่อง จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่สิ่งใด ๆ ในประสบการณ์ส่วนตัวของเหล่านักเขียนย่อมจะสะท้อนอะไรบางอย่างออกมาให้พวกเราได้เห็น
แม้ว่านักเขียนทั้ง 3 ท่านจะอำลาจากโลกไปกันหมดแล้ว แต่ยังมีลูกศิษย์ลูกหาและทีมงานยังคงรังสรรค์ผลงานทั้งโดราเอมอนและชินจังออกมาสู่ชาวญี่ปุ่นและชาวโลกอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ เป็นที่น่าจับตามองว่า หากมีการ์ตูนแนวครอบครัวแบบนี้อีกแต่เขียนในยุคหลังปี 2000 หรือเขียนในยุคเรวะ คือหลังจากที่ญี่ปุ่นเริ่มถูกท้าชิงตำแหน่งมหาอำนาจของโลกโดยจีน, เกาหลี, สิงคโปร์, ไต้หวัน แล้วการ์ตูนแนวครอบครัวของญี่ปุ่นที่เขียนขึ้นมาใหม่จะสะท้อนภาพของญี่ปุ่นในเรื่องไปในทางใด
เรื่อง : วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล