08 มี.ค. 2567 | 16:13 น.
KEY
POINTS
ไว้อาลัยแด่อาจารย์โทริยะมะ อะกิระ
ข่าวการจากไปของอาจารย์โทริยะมะ อะกิระ (เรียงลำดับนามสกุลขึ้นก่อนแบบญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค. ศ. 2024 ด้วยภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชนิดเฉียบพลัน (急性硬膜下血腫: Acute Subdural Hematoma) เป็นข่าวที่ช็อกวงการ Pop Culture ทั่วโลกอย่างมาก
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับเรื่อง ‘Dragon Ball’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเขียนคอลัมน์มากมายเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้ จึงอยากจะรวบรวมเศษเสี้ยวบางส่วนของชีวิตและความคิดของอาจารย์โทริยะมะไว้ในคอลัมน์นี้ เพื่อเป็นที่ระลึกแด่อนุชนรุ่นหลัง
‘โทริยะมะ อะกิระ’ พื้นเพเป็นคนเมืองนะโงะยะ จังหวัดไอจิ เกิดเมื่อ 5 เมษายน ค. ศ. 1955 มีชีวิตวัยเด็กที่ยากจน ทีมบรรณาธิการยุคแรก ๆ ของอาจารย์เคยเล่าว่า วัยเด็ก ๆ ของอาจารย์ ครอบครัวเคยยากจนถึงขั้นไม่มีอะไรจะกิน พ่อกับแม่ของอาจารย์ได้แต่เต้นรำในบ้านเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจให้กันและกัน ส่วนตัวอาจารย์โทริยะมะเองก็เคยต้องอดข้าวทีละหลาย ๆ มื้อ และหนีจากโลกแห่งความจริงอันโหดร้ายด้วยการวาดการ์ตูนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ลืมความหิว
อาจารย์ไม่เคยมีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัย เรียนจบเพียงสาขาออกแบบจากวิทยาลัยวิชาชีพในจังหวัดไอจิ แล้วก็เข้าทำงานในบริษัทออกแบบ แต่ทำได้เพียงไม่กี่ปีก็ต้องลาออกไปเป็นฟรีแลนซ์ ยังคงมีชีวิตยากจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แม้จะชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กแต่ก็ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักวาดการ์ตูนมาตั้งแต่ต้น มาภายหลังมีโอกาสเข้าประกวดนักวาดการ์ตูนหน้าใหม่กับ Weekly Shonen Jump แต่ก็พลาดไปไม่ได้รับรางวัลใด ๆ มีเพียงคำชมเชยว่า “ตอนนี้ยังไม่เก่ง แต่พยายามไปเรื่อย ๆ จะประสบความสำเร็จแน่นอน” จากทีมงานบรรณาธิการเท่านั้น
หลังจากนั้นอาจารย์โทริยะมะพยายามส่งต้นฉบับครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็โดนตำหนิ โดนด่า มาตลอดอีกหลายปี จนอาจารย์ตัดสินใจไม่ต้องมีนามปากกาเพราะคิดว่าถึงอย่างไรเสียก็คงไม่มีทางโด่งดังจากการเป็นนักวาดการ์ตูนได้ จึงไม่จำเป็นต้องมีนามปากกาและใช้ชื่อจริงนามสกุลจริงในการสร้างผลงานมาตลอด
ความพยายามเริ่มเห็นผล เมื่อ Weekly Shonen Jump ให้โอกาสได้เปิดตัวผลงานคือ ‘Wonder Island’ จากนั้นจึงพัฒนาพล็อตเรื่อง ‘Dr. Slump’ และ ‘หนูน้อยอาราเล่’ แล้วนำไปสู่ตำนานอย่าง ‘Dragon Ball’ และรับงานออกแบบตัวละครให้ ‘Dragon Quest’ และ ‘Chrono Trigger’ และอีกหลายผลงานตามที่หาอ่านได้ทั่วไปใน Internet
เท่าที่ผู้เขียนคอลัมน์นี้ตีความจากวิจารณญาณส่วนตัว (หลังจากอ่าน Dragon Ball ทั้งเวอร์ชันภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น มานับครั้งไม่ถ้วน ตอนทำวิทยานิพนธ์) พบว่าเห็นชีวิตและความคิดของอาจารย์ได้ชัดมากที่สุดในเรื่อง Dragon Ball ดังประเด็นเหล่านี้คือ
เนื่องจากชีวิตของอาจารย์เป็นชีวิตแห่งความทุกข์ยาก อดอยาก โหดร้าย แต่ทั้งครอบครัวและตัวของอาจารย์เป็นคนมองโลกในแง่ดีมาก ไม่เคยยอมแพ้กับชีวิต ผลงานของอาจารย์จึงมีลักษณะที่ เวลาขำก็ตลกไม่สุด เวลาเครียดก็เครียดไม่สุด เป็นแนวแก๊กตลกแต่ตลกเสียดสีแบบขำไม่ออก หรือประชดประชันบางอย่างอยู่เป็นประจำ แต่เวลาเครียดก็เครียดไม่สุดเพราะจะมีแก๊กตลกบางอย่างในบรรยากาศที่เครียดจะแย่แต่จู่ ๆ ก็ปล่อยมุกที่ขำไม่ออกเอาไว้
พล็อตแรกเริ่มเป็นเพียงแค่วาดเรื่อง ‘Journey to the West’ (ไซอิ๋ว) แบบหลวม ๆ เท่านั้น จากนั้นอาจารย์ด้นสด คิดไป แถไป รายสัปดาห์ไปเรื่อย ๆ ให้ผู้อ่านติดหนึบถอนตัวไม่ขึ้น เฉกเช่นเดียวกับชีวิตอาจารย์ที่ไม่น่าจะเคยวางแผนระยะยาวใด ๆ เพราะแผนการส่วนใหญ่ที่วางไว้มักจะพังไม่เป็นท่า จึงมีลักษณะปรับตัวตามโจทย์ที่ชีวิตประเคนเข้ามาให้ในแต่ละช่วงชีวิต เพื่อหล่อเลี้ยงตัวเองให้รอดไปเรื่อย ๆ
ชีวิตอาจารย์ล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งพื้นฐานครอบครัว, ประวัติการศึกษา, ประวัติการทำงาน, ผลงานวาดการ์ตูนก็โดนด่าโดนตำหนิครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ได้ประสบความสำเร็จสร้างชื่อได้เร็วตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรก ๆ เหมือนอย่างใครอีกหลายคน ทำได้เพียงทุ่มเทสุดชีวิต ถวายชีวิต จนกว่าจะสำเร็จเท่านั้น
ซุนโกคู แพ้บ่อยมาก ในการต่อสู้ที่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน, ในการประลองศึกชิงเจ้ายุทธจักรก็แพ้มากกว่าชนะ, แม้แต่โดนฆ่าก็เคยมาแล้ว ตัวละครอื่นในเรื่องก็แพ้และโดนฆ่ากันหลายครั้ง เรียกว่าแพ้ศึกในแต่ละศึกอย่างราบคาบ แต่เมื่อเป็นสงครามใหญ่ที่มีคุณค่าบางอย่างที่ยิ่งใหญ่เป็นเดิมพัน จะต้องไม่แพ้! สิ่งนี้เห็นชัดมากเมื่อพิจารณาสารในเรื่อง Dragon Ball ไม่ว่าอาจารย์จะตั้งใจสื่อออกมาหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
สะท้อนออกมาชัดในบุคลิกของฟรีเซอร์ อาจารย์เกลียดพวกปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์แล้วปล้นบ้านคนอื่นไปปล่อยให้เศรษฐี จึงแต่งเรื่องให้คนที่มีอาชีพแนวนี้เป็นอสูรร้ายที่ชั่วที่สุดในจักรวาล (ณ เวลานั้น)
อาจารย์ค่อนข้างเป็นคนเรียบง่ายและขี้รำคาญ การออกแบบตัวละครจะเน้นความเรียบง่ายลายเส้นไม่โอเวอร์รุงรัง, อาจารย์เกลียดการวาดฉากหลังเยอะ ๆ คือจริงเท็จเพียงใดไม่แน่ใจ แต่อาจารย์มักจะให้สัมภาษณ์ทีเล่นทีจริงว่าขี้เกียจวาดฉากหลัง เวลามีฉากในเมืองที่ซับซ้อนวาดยากก็เลยให้โดนระเบิดราบไปเลย แล้วย้ายไปสู้กันในที่ที่ไม่มีคนจะได้วาดง่าย หรือเวลาที่เกิดร่างซูเปอร์ไซย่าเพราะขี้เกียจถมสีดำที่ผมของตัวละครเท่านั้น เป็นต้น
อาจารย์สนใจทั้งนิยาย, ละคร, ภาพยนตร์ โดยเฉพาะแนว Sci-Fi จาก Hollywood จึงพบเห็นเรื่องต่าง ๆ แบบ Hollywood ได้มากมายในพล็อตของเรื่อง Dragon Ball
อาจารย์กล่าวถึงความเชื่อหลากหลายศาสนามาก ทั้งพุทธ, คริสต์, ชินโต, เต๋า, ฮินดู, รวมทั้งความเชื่อผีสางหรือดวงวิญญาณต่าง ๆ อันหลากหลาย ที่กล่าวถึงในเนื้อเรื่อง
หลงใหลในเครื่องจักรกล, หลงใหลในการดีไซน์หรือออกแบบ, รักสัตว์มาก, เกลียดเนื้อเรื่องแนวเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ, สิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนออกมาในผลงานได้ค่อนข้างชัด
แม้ว่าอาจารย์จะไม่ได้ขอพรจากเทพเจ้ามังกรให้มีชีวิตอมตะ แต่ผลงานของอาจารย์ก็จะเป็นอมตะไปอีกหลายทศวรรษหรืออาจเป็นศตวรรษ เป็นความอมตะอีกรูปแบบหนึ่ง
แม้ว่าอาจารย์จะไม่ได้ขอพรจากเทพเจ้ามังกรเพื่อให้อาจารย์ครองโลก แต่ก็คงกล่าวได้ว่าผลงานเรื่อง Dragon Ball ได้ครองใจแฟน ๆ จำนวนมหาศาลทั่วโลกมานานหลายทศวรรษแล้ว ยากจะปฏิเสธ เป็นการครองโลกอีกรูปแบบหนึ่ง
ไม่ว่าเวลานี้ดวงวิญญาณของอาจารย์จะไปอยู่กับพระเจ้า, ท่านจอมเทพ, ท่านไคโอชิน, หรือเทพทำลายล้าง ก็ขอให้ดวงวิญญาณของอาจารย์สู่สุคติ
เรื่อง : วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล