คิบุทสึจิ มุซัน : ผู้ตกนรกชั้นอเวจี & แดร็กคูลาในคราบไมเคิลแจ็กสัน

คิบุทสึจิ มุซัน : ผู้ตกนรกชั้นอเวจี & แดร็กคูลาในคราบไมเคิลแจ็กสัน

คิบุทสึจิ มุซัน (鬼舞辻無惨) แดร็กคูลาในคราบไมเคิลแจ็กสัน วายร้ายตัวฉกาจจาก Demon Slayer - ดาบพิฆาตอสูร กับการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกและนิยามของ ‘นรก’ ที่แฝงอยู่เบื้องหลังชื่อของเขา

KEY

POINTS

  • คิบุทสึจิ มุซัน (鬼舞辻無惨) วายร้ายตัวฉกาจจาก Demon Slayer ที่มาจากส่วนผสมของวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก
  • เอกลักษณ์สำคัญที่ทำให้ผู้ชมหวนนึกถึง Dracula และ ไมเคิล แจ็กสัน
  • แกะความหมายของ ‘นรก’ ที่แฝงอยู่ในชื่อของ คิบุทสึจิ มุซัน

เคยพูดถึง คะมะโดะ ทันจิโร่ ตัวเอกของเรื่อง Demon Slayer ไปแบบละเอียดและพูดถึง คิบุทสึจิ มุซัน ที่เป็นลาสต์บอสไปแล้วเล็กน้อยในบทความ ‘ดาบพิฆาตอสูร:ครอบครัวสองนิยามในแบบของคะมะโดะ ทันจิโร่ และคิบุทสึจิ มุซัน’ วันนี้จะขยายความเรื่องของคิบุทสึจิ มุซัน ให้มากขึ้นบ้าง

นักวิจัยด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่าง Roland (2006) เคยอธิบายสังคมญี่ปุ่นยุคใหม่ไว้ว่าเป็นสังคมแห่งทางสองแพร่ง (Dilemma) ระหว่างความเป็นจีนและความเป็นอเมริกัน คือรับอารยธรรมชาวฮั่นมาจากจีนโบราณ แต่ก็มีการรับอารยธรรมตะวันตก 2 ระลอกใหญ่คือระลอกแรกในยุคเมจิ และระลอกสองในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ญี่ปุ่นมีความผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตกทั้งในโลกแห่งความจริง และในโลกแห่งสื่อบันเทิงของญี่ปุ่นอยู่ตลอดเวลา

คิบุทสึจิ มุซัน (鬼舞辻無惨) ก็ไม่ได้ต่างกัน คือมีความเป็นตะวันออกและตะวันตกผสมผสานกันอยู่ โดย อักษร คิ (鬼) หมายถึง อสูร / บุ (舞) หมายถึง ร่ายรำ / ทสึจิ (辻) หมายถึงทางสี่แพร่งหรือสี่แยก / มุซัน (無惨) หมายถึง โหดเหี้ยม ไร้ปรานี 
ดังนั้น ชื่อตัวละครตัวนี้จึงหมายถึง ผู้ที่คอยชักใยจากทั้งสี่ทิศให้อสูรร่ายรำไปตามที่ตัวเองคิด และเป็นไปอย่างโหดเหี้ยมไร้ปรานี ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นถ้าดูจากเนื้อเรื่อง โดยคิบุทสึจิ มุซัน จึงเป็นมนุษย์ในสมัยเฮอัน (平安 : คือระหว่าง ค.ศ. 794 - 1185) เพราะเป็นยุคแรกที่ญี่ปุ่นเริ่มรับแนวคิด โอะนิ (鬼) หรืออสูรจากจีนมาผสมกับแนวคิดพื้นบ้านเรื่องผีสางสิ่งลึกลับของญี่ปุ่นเอง

แต่ในขณะเดียวกัน คิบุทสึจิ มุซัน ก็มีความตะวันตกอยู่มากเช่นกันคือ มีลักษณะของแวมไพร์แบบตะวันตกอยู่อย่างชัดเจน คือมีการขยายพันธุ์โดยการมอบเลือดให้มนุษย์ เพื่อแพร่พันธุ์อสูรของตนเอง ซึ่งคล้ายกับพล็อตของเรื่อง Dracula ในเวอร์ชันต้นฉบับของ ‘แบรม สโตกเกอร์’ (Bram Stoker) มาก ๆ (ต้นฉบับไม่มีการอธิบายไว้ชัดเจนว่าขยายพันธุ์แวมไพร์โดยการรับเลือดจากแดร็กคูลา หรือโดยการถูกแดร็กคูลากัดกันแน่ แต่มีฉากบรรยายที่ตัวละครเอกอย่าง ‘มินา ฮาร์เกอร์’ (Mina Harker) รับเลือดจากแดร็กคูลาและกลายเป็นแวมไพร์โดยไม่โดนกัด อนุมานได้ว่าต้นฉบับอาจไม่ได้มีพล็อตว่าต้องโดนกัดเท่านั้น) 

และแน่นอน แฟน ๆ นักอ่านทุกคนเห็นพ้องว่ารูปลักษณ์รวมทั้งการแต่งกายของ คิบุทสึจิ มุซัน นั้นมาจาก ‘ไมเคิล แจ็กสัน’ (Michael Jackson) ราชาเพลงป็อปผู้ล่วงลับนั่นเอง เท่าที่ผู้เขียนค้น ยังไม่พบแหล่งข้อมูลยืนยันว่าสาเหตุใดจึงตัดสินใจวาดตัวร้ายโดยให้รูปลักษณ์เป็นไมเคิล แจ็กสันเช่นนี้  ท่านผู้อ่านท่านใดทราบช่วยบอกด้วย

การใช้ฉากหลังของเรื่อง Demon Slayer เป็นยุคไทโช (大正 : คือระหว่าง ค.ศ. 1912 - 1926) จึงมีความหมายแฝงให้ตีความได้หลากหลาย ผู้เขียนเองตีความได้ตามนี้

ประการแรกคือ นวนิยายเรื่อง Dracula ตีพิมพ์ในอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1897 และเผยแพร่เข้าสู่ญี่ปุ่นหลังจากนั้นไม่กี่ปี ในสมัยไทโชจึงเป็นสมัยใกล้เคียงกับที่นวนิยายเรื่อง Dracula เผยแพร่เข้าไปในญี่ปุ่น เรียกว่าผู้แต่งดาบพิฆาตอสูรสร้าง Dracula เวอร์ชันญี่ปุ่นขึ้นมาในยุคเดียวกันนั้นเลยก็ว่าได้

ประการต่อมา สมัยไทโชยังเป็นสมัยที่เปิดรับอารยธรรมตะวันตกอย่างเต็มที่มากขึ้นกว่ายุคเมจิอีก (ยุคเมจิคือ ค.ศ. 1868 - 1912 แล้วต่อด้วยยุคไทโชคือ ค.ศ. 1912 - 1926) ผู้คนเริ่มเปลี่ยนจากการสร้างบ้านด้วยไม้มาใช้อิฐและปูนแบบตะวันตก, เริ่มแต่งตัวแบบตะวันตกมากขึ้น, เริ่มใช้ชีวิตตอนกลางคืนมากขึ้นเพราะมีไฟฟ้า, มีถนน รถราง รถไฟ แบบตะวันตก ฯลฯ

ประการสุดท้ายคือการที่ยุคไทโชเป็นช่วงรอยต่อที่พัฒนาจากญี่ปุ่นยุคเก่าไปสู่สังคมอุตสาหกรรมด้วย Know-how ของตะวันตก จนทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจของเอเชียได้ (ซึ่งญี่ปุ่นได้แสดงแสนยานุภาพไปก่อนหน้านี้แล้วในสงครามจีน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 ใน ค.ศ. 1894 - 1895 และสงครามญี่ปุ่น - รัสเซีย ครั้งที่ 1 ใน ค.ศ. 1904 - 1905 และญี่ปุ่นชนะทั้ง 2 ศึก) จึงเป็นยุคที่ผสมผสานความตะวันตกและตะวันออกอย่างลงตัวและนำญี่ปุ่นไปสู่ความรุ่งโรจน์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะผสมตะวันตกและตะวันออก วาระสุดท้ายของคิบุทสึจิ มุซัน ก็ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนว่าหลังจากตายแล้ว ‘ตกนรกอเวจี’ หรือ ‘อวิจีนรก’ ซึ่งเป็นนรกตามคติพุทธแบบมหายานของญี่ปุ่น ความชั่วร้ายนานัปการของคิบุทสึจิ มุซันนั้น ถึงกับมีคนเอาไปเปรียบกับ ‘ฟรีเซอร์’ แห่ง Dragon Ball ว่าไปเป็นลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานของฟรีเซอร์ยังดีกว่าเป็นลูกน้องของคิบุทสึจิ มุซัน มากนัก 

อนึ่ง คำว่านรกในภาษาญี่ปุ่นมี 2 คำ ถ้าเป็นคำทางพุทธหนัก ๆ จะทับเสียงภาษาสันสกฤตเลยว่า นะ-ระ-กุ (奈落) แต่ชาวญี่ปุ่นมีหลายศาสนาหลายความเชื่อ จึงนิยมใช้คำว่านรกที่ไม่ได้บ่งศาสนาใดเป็นพิเศษ คือคำว่า จิ-โงะ-กุ (地獄) มากกว่า   โดยนรกตามความเชื่อของพุทธแบบมหายานนั้นแบ่งเป็น 8 นรกขุมใหญ่ (八大地獄) และ 16 นรกขุมบริวาร (十六小地獄) แต่ในคอลัมน์นี้จะกล่าวถึงเพียง 8 นรกขุมใหญ่เท่านั้น เพราะนรกอเวจีคือ 1 ใน 8 ขุมนี้ (8 นรกขุมใหญ่ยังสามารถเรียกอีกอย่างว่า 8 ขุมนรกร้อน : 八熱地獄 ได้ด้วย เพราะมีโลกันตนรกที่เป็นนรกเย็น แต่จะไม่พูดถึงนรกเย็นในคอลัมน์นี้) โดยนรกร้อนทั้ง 8 ขุมพร้อมทั้งฐานความผิดที่ต้องตกนรกขุมนั้น ๆ ตามความเชื่อพุทธมหายานแบบญี่ปุ่น มีดังนี้

  1. สัญชีวนรก (等活地獄) คือนรกสำหรับผู้ผิดศีลข้อ 1 ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
  2. กาฬสุตตนรก (黒縄地獄) สำหรับผู้ที่ผิดศีลข้อ 1 และศีลข้อ 2 ลักทรัพย์
  3. สังฆาฏนรก (衆合地獄) สำหรับผู้ที่ผิดศีลข้อ 1 และศีลข้อ 2 และศีลข้อ 3 ประพฤติผิดในกาม
  4. รรุวนรก (叫喚地獄) สำหรับผู้ที่ผิดศีลข้อ 1 และศีลข้อ 2 และศีลข้อ 3 และศีลข้อ 5 ดื่มของมึนเมา
  5. มหาโรรุวนรก (大叫喚地獄) สำหรับผู้ผิดศีล 5 แบบผิดครบหมดทั้ง 5 ข้อ
  6. ตาปนรก (焦熱地獄) สำหรับผู้ผิดศีลครบ 5 ข้อ และยังเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ
  7. มหาตาปนรก (大炎熱地獄) สำหรับผู้ผิดศีลครบ 5 ข้อ และยังเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แล้วยังทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องแปดเปื้อน เช่นข่มขืนภิกษุหรือภิกษุณีหรือข่มขืนเด็ก หรือผู้ที่สังหารคนหรือสัตว์ตายเป็นเบือ
  8. อเวจีนรก (阿鼻地獄) สำหรับผู้ทำครบแบบในนรกขุม 7 แล้วเพิ่มทบยอดด้วยกรรมมหันต์ เช่น ฆ่าพ่อแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า ยุยงให้สงฆ์แตกแยก

มีการกล่าวชัดเจนมากว่า คิบุทสึจิ มุซัน หลังจากตายแล้วนั้น ‘ตกนรกอเวจี’ หรือ ‘อวิจีนรก’ คือใช้คำว่า 阿鼻地獄 (อะ-บิ-จิ-โงะ-กุ) โดยอธิบายไปแล้วว่า จิ-โงะ-กุ แปลว่านรก ส่วน อะ-บิ เป็นการถอดเสียงจากภาษาบาลีและสันสกฤตโดยตรงของคำว่า avīci (อวิจี)

แม้ว่าจะผสมผสานระหว่างความตะวันตก - ตะวันออกมาตลอดทั้งเรื่อง ทั้งพูดถึงสภาพสังคมญี่ปุ่นในยุคนั้น แต่มาฉากวาระสุดท้ายของลาสต์บอสจริง ๆ คือบรรยายความเลวทรามของคิบุทสึจิ มุซัน ให้เห็นชัดเจนแบบพุทธสุดขีดไปเลยคือ ตกอเวจีไปเลย ซึ่งมีการ์ตูนญี่ปุ่นไม่มากนักที่ระบุขุมนรกไว้ชัดเจนว่า ‘ชั้นอเวจี’ ไว้ชัดเจนแบบนี้ (ถ้าไม่นับการ์ตูนศาสนาโดยตรง เพราะ Demon Slayer เป็นการ์ตูนโชเน็น)

เรียกว่าเมื่ออ่านหรือรับชม Demon Slayer จนจบเรื่อง ก็แอบหลอน กลัวการทำบาปไปเลยก็ได้ พวกเราก็ได้แต่ตั้งตารอเสพ Anime หลังจากที่ได้อ่านมังงะจนจบกันไปเรียบร้อยแล้ว

หนังสืออ้างอิง
Roland, K. (2006). Japanamerica: How Japanese Pop Culture Has Invaded the U. S. Palgrave Macmillan.