03 ม.ค. 2564 | 16:38 น.
มาถึงจุดนี้ คงไม่ต้องสาธยายถึงความโด่งดังกันแล้ว สำหรับ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ (鬼滅の刃) ซึ่งตีพิมพ์รายสัปดาห์ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Weekly Jump (週刊少年ジャンプ) ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016-2020 และมีการพิมพ์รวมเล่มเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด 23 เล่มด้วยกัน และมีซีรีส์อนิเมะจบภาคแรกไปแล้ว รวมทั้งอนิเมะในโรงภาพยนตร์ที่กวาดรายได้ไปอย่างมหาศาล หากมองเรื่องนี้ในองค์รวมแล้ว จะว่าเป็นการปะทะกันของความเป็นตะวันออกและความเป็นตะวันตก รวมทั้งเป็นการปะทะกันของนิยามความเป็นครอบครัวของตัวเอกทั้ง 2 ตัวคือ คะมะโดะ ทันจิโร่ และ คิบุทสึจิ มุซัน ก็ว่าได้ มาเจาะลึกถึงชื่อของตัวเอกกันก่อน คะมะโดะ ทันจิโร่ (竈門炭治郎) อักษร คะมะโดะ (竈門) หมายถึง เตาหินที่ใช้ทำอาหาร / ทัน (炭) หมายถึง ถ่าน / จิ (治) หมายถึง จัดการหรือควบคุม / โร่ (郎) หมายถึง ผู้ชาย ดังนั้น ชื่อตัวเอกเรื่องนี้จึงบอกไว้ชัดเจนว่า คือชายซึ่งจัดการกับถ่าน และเกิดในตระกูลที่เกี่ยวกับเตาหินทำอาหาร ซึ่งบ่งบอกพื้นเพของทันจิโร่ พระเอกของเรื่องอย่างมาก อีกฝ่ายหนึ่งคือ คิบุทสึจิ มุซัน (鬼舞辻?無惨) อักษร คิ (鬼) หมายถึง อสูร / บุ (舞) หมายถึง ร่ายรำ / ทสึจิ (辻) หมายถึงทางสี่แพร่งหรือสี่แยก / มุซัน (無惨) หมายถึง โหดเหี้ยม ไร้ปรานี ดังนั้น ชื่อตัวละครตัวนี้จึงหมายถึง ผู้ที่คอยชักใยจากทั้งสี่ทิศให้อสูรร่ายรำไปตามที่ตัวเองคิด และเป็นไปอย่างโหดเหี้ยมไร้ปรานี ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นถ้าดูจากเนื้อเรื่อง คำว่าอสูรในเรื่องนี้เกิดจากการผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตก ในโลกแห่งความเป็นจริง ญี่ปุ่นสมัยโบราณจะเรียกสิ่งลึกลับที่มองไม่เห็นว่า โอะนุ (隠) ต่อมามีการเพี้ยนเสียงเป็น โอะนิ ประกอบกับรับอักษรจีนและแนวคิดทางศาสนาจากจีนเข้ามาในช่วงใกล้กันในสมัยเฮอัน (平安: คือระหว่าง ค.ศ. 794-1185) ในจีนมีอักษรคำว่า วิญญาณ (魂) ซึ่งชาวจีนยุคนั้นเชื่อว่าวิญญาณผู้ตายบางคนจะกลายเป็นอสูรร้าย จึงดึงเสี้ยวหนึ่งของอักษรคำว่าวิญญาณ (魂) มาใช้เรียก อสูร (鬼) แนวคิดนี้ของจีนเข้ากันได้กับแนวคิด โอะนิ ของญี่ปุ่นในสมัยเฮอันพอดี ชาวญี่ปุ่นจึงเรียกอสูรร้ายหรือสิ่งลึกลับในความมืดว่า โอะนิ และยืมอักษร 鬼 มาใช้เรียก โอะนิ ตั้งแต่สมัยเฮอันเป็นต้นมา ดังนั้นพื้นเพของ คิบุทสึจิ มุซัน ในเรื่องดาบพิฆาตอสูรจึงต้องเกิดเป็นมนุษย์ในสมัยเฮอัน เพราะอิงตามประวัติศาสตร์จริงการเกิดตำนานโอะนิ (鬼) ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นนั่นเอง แต่ถ้าเพียงแค่นั้นก็ไม่สนุกพอ ผู้แต่งจึงดึงแนวคิดของ แวมไพร์ ตามแบบตะวันตกเข้ามาผสมด้วยเสียเลย คิบุทสึจิ มุซัน จึงต้องมีการขยายพันธุ์โดยการมอบเลือดให้มนุษย์ เพื่อแพร่พันธุ์อสูรของตนเอง ซึ่งตรงกับพล็อตของเรื่อง Dracula ในเวอร์ชันต้นฉบับของ Bram Stoker มาก ๆ โดยต้นฉบับ Dracula นี้จะแย้งกับความเข้าใจที่เรา ๆ ท่าน ๆ เคยรับรู้ผ่านหนังแวมไพร์ของฮอลลีวูด ที่เวลาโดนแวมไพร์กัดแล้วจะกลายเป็นแวมไพร์ แต่จริง ๆ ต้นฉบับแวมไพร์เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่จะต้องเป็นการที่ Dracula ซึ่งเป็นแวมไพร์ตนแรกในโลก มอบเลือดให้มนุษย์คนอื่นกิน มนุษย์จึงจะกลายเป็นแวมไพร์ได้ พล็อตของการขยายพันธุ์อสูรในเรื่องดาบพิฆาตอสูรจึงมีความเคารพต่อต้นฉบับแวมไพร์อย่างเรื่อง Dracula มาก ๆ เหตุการณ์ในเรื่องจึงต้องเกิดในยุคไทโช (大正: คือระหว่าง ค.ศ. 1912-1926) เพราะนวนิยายเรื่อง Dracula ตีพิมพ์ในอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1897 และเผยแพร่เข้าสู่ญี่ปุ่นหลังจากนั้นไม่กี่ปี ในสมัยไทโชจึงเป็นสมัยเดียวกับที่เกิดนวนิยายเรื่อง Dracula เลย เรียกว่าผู้แต่งดาบพิฆาตอสูรสร้าง Dracula เวอร์ชันญี่ปุ่นขึ้นมาในยุคเดียวกันนั้นเลยก็ว่าได้ สำหรับทันจิโร่นั้น ‘ครอบครัว’ คือสิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเขาไว้ ตั้งแต่แรกที่พบกับความ ‘แหลกสลายทางจิตใจ’ ที่พบว่าครอบครัวตัวเองถูกฆ่าตายทั้งหมด เหลือน้องสาวเพียงคนเดียวก็ยังกลายเป็นอสูรไปเสียอีก สิ่งเดียวที่ทำให้เขาฟันฝ่าความเจ็บปวดและความยากลำบากตลอดเรื่องมาได้ก็เพราะความทรงจำเกี่ยวกับครอบครัว และความต้องการปกป้องน้องสาวซึ่งเป็นสมาชิกครอบครัวเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ แต่ครอบครัวสำหรับทันจิโร่นั้นไม่ได้หยุดอยู่เพียงความหมายของครอบครัวที่สืบสายเลือด (Immediate Family) กันมาเท่านั้น ทันจิโร่ยังขยายขอบเขตครอบครัวไปกว้างกว่านั้นด้วย ในภาษาญี่ปุ่นมีอักษรคำว่า อุจิ (内) ซึ่งแต่เดิมมีความหมายว่า บ้าน แต่ภายหลังคำว่า อุจิ นี้ขยายความหมายไปเป็นขอบเขตที่สบายใจ, อาณาบริเวณของคนในครอบครัว, พื้นที่ทางจิตใจแห่งความสนิทสนม คำว่าครอบครัวสำหรับทันจิโร่จึงมีความหมายคือการขยายขอบเขตของคำว่า อุจิ ไปสู่มิตรสหายนักล่าอสูรด้วยกัน และรุ่นพี่เสาหลักนักล่าอสูรทุกคน ที่กลายเป็นเสมือนดั่งครอบครัวของทันจิโร่ไปแล้ว แนวคิดแบบ อุจิ นี้จะเห็นได้ชัดเช่นกันในเรื่อง Dragon Ball ซึ่งเป็นเสมือนไบเบิลของการ์ตูนสายโชเน็น ที่มีการเปลี่ยนจากศัตรูเป็นมิตร เปลี่ยนจาก โซะโตะ (外) ที่หมายถึงคนวงนอก, คนไม่สนิท ให้มาเป็นคนวงในอุจิได้ ลักษณะนี้ยังตรงกับที่มานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วรรณนาอธิบายไว้ว่า สังคมเอเชียหลายประเทศมีลักษณะของการนับเครือญาติแบบ ครอบครัวขยาย (Extended Family) คือไม่ได้สืบสายเลือดอะไรกันมา แต่ก็นับว่าเป็นญาติกันได้ (เช่นประเทศไทย ก็นับคนแปลกหน้าเป็นญาติ พี่ น้อง ลุง ป้า เป็นปกติ) ไม่เพียงเท่านั้น ขอบเขตของ อุจิ สำหรับทันจิโร่ยังขยายไปถึงพวกอสูรด้วยซ้ำ ดังจะเห็นได้ว่าอสูรหลายตนที่ถูกทันจิโร่ฆ่านั้น เป็นการ ‘ปลดปล่อยไปสู่สุคติ’ มากกว่าเป็นการฆ่าอย่างทารุณ เพราะทันจิโร่ไม่ได้ฆ่าด้วยจิตสังหารปองร้าย แต่เป็นการปลดปล่อยจากพันธนาการทางจิตใจจากคิบุทสึจิ มุซันต่างหาก อสูรหลายตนจึงเกิดภาวะ ‘สู่สุคติ’ ด้วยดาบของทันจิโร่ ขอบเขตของ อุจิ สำหรับทันจิโร่ จึงหมายถึง ความปรารถนาดีต่อมวลมนุษย์ทั้งปวงก็ได้ ในทางตรงกันข้าม ทางฝั่งอสูรเอง กลับจะขยายครอบครัวกันแบบสืบสายเลือด (Immediate Family) เท่านั้น คือต้องได้รับเลือดจาก คิบุทสึจิ มุซัน เสียก่อน จึงจะกลายเป็นครอบครัวเดียวกันกับเหล่าอสูรได้ แต่เรื่องนี้บอกใบ้ให้ผู้อ่านแต่ต้นแล้วว่า คำว่าครอบครัวนั้น สิ่งสำคัญคือความเข้าใจ และความปรารถนาดีต่อกันต่างหาก มิใช่การสืบสายเลือด ดังจะเห็นได้ชัดมากจากกรณีของ รุย-อสูรข้างแรม ที่พยายามขยายครอบครัวของตัวเองโดยการแบ่งเลือดให้พวกพ้อง แต่นิยามของคำว่าครอบครัวก็ล่มสลายอยู่ดีแม้จะมีการ ‘ร่วมสายเลือด’ กันก็ตาม ร่วมสายเลือดแต่ขาดความปรารถนาดี ครอบครัวของรุยจึงล่มสลายลงไป อีกพล็อตหนึ่งที่ชาญฉลาดมาก คือการที่เหล่าอสูรเกลียดและกลัวดอกฟุจิ ก็เป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นตะวันออกและตะวันตกเช่นกัน ในญี่ปุ่นจะมีเทศกาล ‘ปาถั่ว’ (節分) คือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี คือนำถั่วมาปาเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป เวลาปาจะมีคำกล่าวว่า ‘อสูร (สิ่งชั่วร้าย) จงออกไปโซะโตะ สิ่งดีงามจงเข้ามาในอุจิ (鬼は外、福は内)’ แสดงให้เห็นว่าชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าถั่วคือสิ่งที่ขับไล่สิ่งชั่วร้ายอย่างอสูรไปให้พ้นจากวงโคจรของชีวิต และนำสิ่งดีงามเข้าสู่ในอุจิของตัวเอง ดอกฟุจิ (藤) หรือในชื่อทางการคือ Japanese Wisteria นั้น จัดเป็น ‘พืชตระกูลถั่ว’ และดอกฟุจิยังชอบแสงแดดมาก ๆ ต้องการรับแสงแดดในปริมาณมากเพื่อการเติบโต นอกจากนี้ ดอกฟุจิยังมีสภาวะเป็นพิษอ่อน ๆ ถ้าบริโภคมากเกินไปจะทำให้คลื่นไส้ได้ การสร้างพล็อตว่าเหล่าอสูรเกลียดกลัวดอกฟุจิ และนำดอกฟุจิมาสกัดเป็นอาวุธ จึงเป็นพล็อตที่ชาญฉลาดมาก นำวัฒนธรรมญี่ปุ่นแต่เดิมมาผสมกับวิทยาศาสตร์แบบตะวันตกได้อย่างลงตัวมาก เสน่ห์ของเรื่องนี้ยังมีอีกมากมาย ทั้งคิวบู๊แบบญี่ปุ่นโบราณซึ่งหายากมาก เพราะการ์ตูนตระกูลโชเน็นมักมีคิวบู๊ออกแนวแฟนตาซีเสียมากกว่า การ์ตูนโชเน็นที่มีฉากต่อสู้แบบญี่ปุ่นเต็มขั้นนั้นดูเหมือนเราจะไม่ได้เห็นมานานมากแล้วนับตั้งแต่เรื่องซามูไรพเนจรกระมัง นอกจากนี้ยังมีอนิเมะที่สวยงาม ภาพและเสียงจัดเต็ม (เรื่องนี้ตอนเป็นหนังสือการ์ตูนคือแค่โด่งดังในระดับธรรมดา แต่พอเป็นอนิเมะแล้วถึงกลายเป็นดังเวอร์มากแบบปัจจุบัน ต้องขอบคุณผู้สร้างอนิเมะด้วย ที่ทำออกมาได้ประทับใจมาก) แล้วยังมีพล็อตของความรักที่ยิ่งใหญ่เกินไปกว่ารักของชายหญิง คือรักครอบครัว รักมนุษย์ รักอสูร เป็นความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ข้ามพ้นสายพันธุ์ ข้ามพ้นความเป็นและความตาย แม้จะมีฉากต่อสู้ที่โหดร้ายรุนแรง แต่เนื้อหาแฝงและสิ่งที่เรียนรู้จริง ๆ กลับงดงามมาก จึงอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงมากในขณะนี้