‘หน่วยรบพิเศษกินิว’ ความพยายามที่จะเสียดสีขบวนการมนุษย์ 5 สี ใน ‘Dragon Ball’

‘หน่วยรบพิเศษกินิว’ ความพยายามที่จะเสียดสีขบวนการมนุษย์ 5 สี ใน ‘Dragon Ball’

‘หน่วยรบพิเศษกินิว’ เหล่ามนุษย์กลายพันธุ์ชื่อเหมือนผลิตภัณฑ์จากนม แห่ง ‘Dragon Ball’ ความพยายามที่จะล้อเลียนขบวนการมนุษย์ 5 สี ของอาจารย์โทริยะมะ

แฟน ๆ ‘Dragon Ball’ ทั่วโลกต่างก็เห็นพ้องกันเป็นจำนวนมากว่า พล็อตเรื่อง รวมทั้งการสร้างคาแรคเตอร์ของตัวละครในช่วงตั้งแต่เปิดตัวจอมปีศาจพิคโกโล่ จนกระทั่งจบศึกฟรีเซอร์ที่ดาวนาเม็ก เขียนไว้ดีมาก ๆ เป็นการเปลี่ยนสเกลความเป็นการ์ตูนแก๊กกึ่งแอคชั่นไปเป็นการ์ตูนอลังการระดับตำนานไปเลย 

แต่อาจารย์โทริยะมะก็คืออาจารย์โทริยะมะ ไม่ทิ้งลายเซ็นในพล็อตของตัวเองในประเด็น “ภาวะหัวเราะไม่ออก ร้องไห้ไม่ได้” คือผลงานของอาจารย์จะมีลักษณะที่ เวลาขำก็ตลกไม่สุด เวลาเครียดก็เครียดไม่สุด ในช่วงศึกฟรีเซอร์ที่อะไร ๆ ค่อนข้างเครียดมาก จะพบตัวละครอยู่ 5 ตัวที่หนักไปทางฮามากกว่าเครียด นั่นก็คือ ‘หน่วยรบพิเศษกินิว’ ซึ่งผู้อ่านและผู้ชมต่างประทับใจในความเก่ง และความบ๊องบวมสติแตก โดยเฉพาะเวลาทั้ง 5 คนรวมตัวแอ็คท่า (ที่คิดว่า) แสนเท่นั้น ก็ทำให้ผู้อ่านและผู้ขำต่างก็รู้สึกขำขันแกมสมเพช นับว่าเป็นคาแรคเตอร์ดีไซน์ที่ลืมไม่ลงจริง ๆ

สรุปสไตล์การตั้งชื่อของอาจารย์โทริยะมะดังนี้ ตัวละครบนโลกที่มีวิทยายุทธ จะเป็นชื่ออาหาร โดยส่วนใหญ่เป็นอาหารจีน เช่น หยำฉา (ติ่มซำ), อูลอน (ชาอูหลง), ปูอัล (ชาผู่เอ๋อร์), เท็นชินฮัง (ข้าวไข่เจียวปู), เจาซือ (เกี๊ยวซ่า), รันจิ (Lunch), พิลาฟ (ข้าวอบพิลาฟ), ชูและไม (ชูไม คือขนมจีบ), โกฮัง (ข้าว)

ส่วนตัวละครที่มีความรู้ของวิทยาการตะวันตก จะเป็นชื่อภาษาอังกฤษเช่น Bulma, ตัวละครในกองทัพโบว์แดงจะเป็นชื่อสีที่เป็นภาษาอังกฤษคือ Silver, Black, White, Blue, Red (ในภาค Dragon Ball Super: Super Hero แม้แต่ลูกของ Red ก็ยังชื่อ Magenta)
 

ตัวละครชาวนาเม็กบนโลก (กองทัพของจอมปีศาจพิคโกโล่) จะมีชื่อเป็นเครื่องดนตรี เช่น Piccolo, Cymbal, Drum, Piano, Tambourine ส่วนตัวละครชาวนาเม็กบนดาวนาเม็กจะเป็นชื่อหอยทาก คือ เนล (Snail), เด็นเด้ (Denden-Mushi หอยทากประเภทหนึ่งของญี่ปุ่น)

ชื่อฟรีเซอร์ ได้แรงบันดาลใจจาก Freezer ที่แปลว่าตู้แช่ หรือ ตู้เย็น เพื่อแสดงความเลือดเย็นโหดเหี้ยม ดังนั้นสมุนของฟรีเซอร์ทุกตัวจึงต้องเป็นชื่อของที่อยู่ในตู้เย็น 

ไซย่า เล่นคำกับคำว่า ยะไซ (แปลว่า ผัก) ตัวละครชาวไซย่าจึงล้อเสียงกับคำศัพท์ที่แปลว่าผักในหลายคำ Kakarot (Carrot), Vegeta (Vegetable), Nappa (Napa Cabbage), Raditz (Radish)

ลูกน้องคนอื่นในกองทัพฟรีเซอร์จะชื่อเป็นผลไม้ มีทั้ง Kiwi, Apple, Dodoria (ล้อคำว่า Dorian ที่เป็นการสะกดคำว่าทุเรียนในภาษาญี่ปุ่น), Zarbon (ล้อคำว่า Zabon ที่แปลว่าส้มโอในภาษาญี่ปุ่น) 

ดังนั้น หน่วยรบกินิว จึงมีชื่อเกี่ยวกับนม ทั้ง 5 คน โดยที่

1) แม่ทัพกินิว (Ginyu) เป็นการล้อเลียนภาษาญี่ปุ่นคำว่า กิวนิว (Gyū-nyū) แปลว่า นม
2) รีคูม (Recoome) เป็นการล้อเลียนภาษาอังกฤษคำว่าครีม ที่ออกเสียงแบบญี่ปุ่นว่า คุ-รี-มุ โดยสลับเป็น ริ-คู-มุ 
3) บาต้า (Burter) เป็นการล้อเลียนภาษาอังกฤษคำว่าเนย ที่ออกเสียงแบบญี่ปุ่นว่า บะต้า (Butter)
4) จีส (Jeice) เป็นการล้อเลียนภาษาอังกฤษคำว่าชีส
5) กุลโด้ (Guldo) เป็นการล้อเลียนภาษาอังกฤษคำว่าโยเกิร์ต ที่ออกเสียงแบบญี่ปุ่นว่า โย-กุ-รุ-โตะ


 

ว่ากันว่าหน่วยรบกินิว เป็นความพยายามของอาจารย์โทริยะมะที่จะล้อเลียนขบวนการมนุษย์ 5 สีที่ฮิต ๆ กันมากในยุคโน้น และทั้ง 5 ตัวในขบวนการ 5 สีก็จะต้องมีการแอคท่าเท่ ๆ ทุกเรื่อง ความโทริยะมะจึงใส่ท่าแอคชั่นที่ (พยายามจะ) เท่ลงไปด้วย เพื่อความฮาแบบฝืด ๆ มาผ่อนคลายบรรยากาศความตึงเครียดในเรื่อง แม้แต่ฟรีเซอร์ก็ยังมีฉากที่ขำไม่ออก แต่เห็นแล้วฮา เวลาที่หน่วยรบกินิวเต๊ะท่าแบบนี้ทุกฉาก แม้แต่โกฮังที่ไปดาวนาเม็กตอนอายุ 5 ขวบย่าง 6 ขวบ ก็คงรู้สึกถึงความเท่ เพราะเป็นช่วงวัยของเด็กที่เป็น Critical Period ที่มนุษย์จะใช้ในการพัฒนาตัวตนของบุคลิกภาพ พอโกฮังอายุ 16 - 17 เข้าสู่วัยรุ่นและอยากเท่ จึงขุดเอาความทรงจำเก่าก่อนของหน่วยรบกินิวอันแสนจะเท่ในความทรงจำของตัวเอง มาแปลงร่างเป็นเกรทไซย่าแมนและโพสต์ท่าราวกับตัวเองเป็น 1 ในสมาชิกของหน่วยรบกินิวกันเลยทีเดียว!

ที่จริงแล้วในเรื่องนี้ หน่วยรบกินิวมีหน้าที่สำคัญนอกเหนือจากความตลกเสียดสี นั่นคือมีไว้เพื่อแสดง Benchmark ของระดับพลังของสิ่งมีชีวิตในเรื่อง จริง ๆ แล้วในจักรวาล Dragon Ball นั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า “เผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งที่สุดในจักรวาลคือชาวไซย่า” นั้นถูกต้องแล้ว อาจารย์โทะริยะมะไม่ได้มั่ว แต่นั่นหมายถึง “การกำเนิดและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ” เท่านั้น ที่จะนับว่าชาวไซย่าคือสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งที่สุดในจักรวาล

ในศึกที่ดาวนาเม็กนั้น เราจะเห็นว่ามีตัวละครที่แข็งแกร่งกว่าชาวไซย่าอีกมากมาย เช่น ฟรีเซอร์, หน่วยรบกินิวทั้ง 5 คน, โดโดเรียและซาร์บอน กลุ่มผู้ที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าชาวไซย่าเหล่านี้ จริง ๆ มีเฉลยไว้ในเรื่องอยู่แล้วว่า “เกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์” โดยในต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น กินิวอธิบายความเชื่อของตัวเองให้จีสฟังว่าทำไมโกคูถึงแข็งแกร่ง ด้วยภาษาญี่ปุ่นว่า 「われわれとおなじく突然変異で生まれた超天才戦士なんだろう・・・」 ซึ่งในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษก็แปลแบบเก็บใจความของภาษาญี่ปุ่นได้ครบถ้วนว่า “He must be a mutation like us…born as a gifted fighter” (Toriyama, 2018 ฉบับตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา) 

กินิวเชื่อว่าโกคูก็คือสิ่งมีชีวิตที่มีการผ่าเหล่าคือกลายพันธุ์จนเข้มแข็งขึ้นผิดกระบวนการธรรมชาติเหมือนกับ ‘พวกเรา’ ซึ่ง ‘พวกเรา’ ในที่นี้หมายความถึงฟรีเซอร์, หน่วยรบกินิวทั้ง 5 คน, โดโดเรียและซาร์บอน นั่นเอง คือสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์เดียวกันเองกับพวกนี้ก็ไม่ได้แข็งแกร่งเท่าพวกนี้ เพราะพวกนี้คือสิ่งมีชีวิตพิเศษที่มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น มีนักเขียนชาวตะวันตกก็ค้นคว้าและยืนยันเรื่องนี้คือ Karbank (2018) ยืนยันว่า “Freezer is a mutant” น่าเสียดายที่เวอร์ชันภาษาไทยไม่มีการแปลเนื้อหาสำคัญตรงนี้ไป ทำให้ขาดคีย์เวิร์ดสำคัญในการจะทำความเข้าใจเรื่องลำดับชั้นของพลังในเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้มีการแสดงให้เห็นถึง Dilemma (การปะทะกันของความคิดความเชื่อ 2 ขั้ว) ระหว่าง ‘พันธุกรรม’ และ ‘ความพยายาม’ อยู่ตลอดทั้งเรื่อง

เมื่อกินิวเชื่อว่าความแข็งแกร่งของพลังเป็นสิ่งที่อยู่ในพันธุกรรม จึงไม่เข้าใจแนวคิดของความพยายามหรือการฝึกฝน เลยตัดสินใจสลับร่างกับโกคูเพราะเชื่อว่าความแข็งแกร่งเกิดจากพันธุกรรมเท่านั้น ก่อนที่จะโดนโกคูสอนมวยให้รู้ว่า ความแข็งแกร่งที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากพันธุกรรมของกายหยาบ แต่เกิดจากการฝึกฝนประสานกายและจิตเป็นหนึ่ง กินิวจึงใช้ร่างโกคูได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้พ่ายแพ้ไป

ดังนั้น หน่วยรบกินิว จึงทำหน้าที่ 3 อย่างคือ เพื่อความฮาแบบขำขันแกมสมเพช, เพื่อเสียดสีการแอคท่าของซีรีส์ขบวนการ 5 สี, และเพื่อเป็น Benchmark อธิบายสเกลพลังในเรื่องว่าความพยายามเท่านั้นจะทำให้เก่งขึ้นมากกว่าพันธุกรรมที่ได้มาแต่กำเนิด นั่นเอง 

 

เรื่อง: วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล
ภาพ: เว็บไซต์ Dragon Ball Wiki

หนังสืออ้างอิง
1) Karbank, O. (2018, January 31). Dragon Ball: 15 Crazy Things About Frieza Even Diehard Fans Don’t Know. CBR. https://www.cbr.com/frieza-facts
2) Toriyama, A. (2018). Dragon Ball (3-in-1 Edition Vol. 1-42). VIZ Media.