07 ก.ค. 2563 | 14:24 น.
มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของสัตว์ได้ลึกซึ้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำได้เพียงสังเกตอารมณ์ความรู้สึกผ่านท่าทางและการตอบสนอง เราอาจรับรู้เวลาพวกเขาโกรธ กลัว หรือดีใจจนแทบคลั่ง ซึ่งการรับรู้เหล่านั้นเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของความรู้สึกที่สัตว์แสดงออกมา เหมือนกับลิงในศูนย์ทดลองที่ต้องทนกับการบาดเจ็บซ้ำ ๆ ทั้งกายและจิตใจ เกิดคำถามกันมานานหลายสิบหลายร้อยปี จะเป็นอย่างไรหากสัตว์สามารถคิดหรือพูดเหมือนคน ยกตัวอย่างได้จากผลงานวรรณกรรมของนักเขียนชาวฝรั่งเศส ปิแอร์ บูเลอ (Pierre Boulle) เรื่อง La Planete des Singes เล่าถึงนักบินอวกาศเกิดหลงไปอยู่ในเมืองที่ลิงทำทุกสิ่งเหมือนมนุษย์ งานเขียนของเขาเปรียบเสมือนจุดกำเนิดของจักรวาลพิภพวานร แสดงมุมมองของคนผ่านสัตว์ที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับมนุษย์ วรรณกรรมพิภพวานรถูกดัดแปลงกลายเป็นภาพยนตร์ชุดชื่อดัง Planet of the Apes ตั้งแต่ปี 1968-1973 กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เงียบหายไปนานจนกระทั่งปี 2011 มีการนำพิภพวานรกลับมารีบูทใหม่อีกครั้ง พร้อมสอดแทรกประเด็นศีลธรรมกับการเมืองที่ใกล้ตัวขึ้นกว่าเก่า เป็นปกติที่สัตว์หลายชนิดถูกนำมาเพื่อทดลองบางสิ่ง การนำกระต่ายมาทดลองกับเครื่องสำอางเพื่อดูว่าส่วนประกอบต่าง ๆ ปลอดภัยสำหรับมนุษย์หรือไม่ หรือการนำสัตว์เล็กขาประจำของแล็บอย่างหนูมาศึกษาพันธุกรรม วัคซีน และไวรัส ลิงที่มีหลายอย่างใกล้เคียงกับมนุษย์ถือเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่อยู่คู่กับนักวิทยาศาสตร์ โดยการทดลองส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นเพื่อความปลอดภัยของมนุษย์ แต่บางครั้งคนคงหลงลืมหรือคาดไม่ถึงว่าสัตว์ทดลองจะย้อนกลับมาสร้างผลกระทบใหญ่ภายหลัง โลกของพิภพวานรเวอร์ชัน 2001-2017 เล่าถึงบริษัทยาแห่งหนึ่งในซานฟรานซิสโกที่นำชิมแปนซีมาทดลอง เพื่อคิดค้นวัคซีนช่วยเหลือมนุษย์จากโรคความจำเสื่อม ตอนแรกการทดลองดำเนินไปด้วยดี ลิงตัวเมียที่ถูกฉีดยาตัวใหม่มีพัฒนาการก้าวกระโดด ฉลาด สื่อสารรู้เรื่อง แต่วันหนึ่งอยู่ ๆ เธอคลุ้มคลั่ง จนทำให้ทีมวิจัยต้องฆ่าทิ้ง ซึ่งหนึ่งในทีมพบกับความจริงว่าเธออาละวาดเพียงเพราะห่วงว่ามนุษย์จะทำร้ายลูกที่เพิ่งคลอด