Mr.Queen: ซีรีส์แซ่บแคปให้ด้วย การเมือง เพศสภาพบนจานอาหารเกาหลียุคโชซอน

Mr.Queen: ซีรีส์แซ่บแคปให้ด้วย การเมือง เพศสภาพบนจานอาหารเกาหลียุคโชซอน

ซีรีส์แซ่บแคปให้ด้วย การเมือง เพศสภาพบนจานอาหารเกาหลียุคโชซอน

***เปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง ความน่าสนใจของ Mr.Queen (2020) ซีรีส์แฟนตาซี-คอมาดีอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงแฟนตาซีข้ามภพข้ามชาติย้อนเวลาตามสไตล์ที่หลายคนคุ้นเคยเท่านั้น หากยังให้ตัวละครสลับเพศตามชื่อเรื่องอีกต่างหาก Mr.Queen เล่าเรื่องของ ‘บงฮวาน’ หนุ่มเพลย์บอยผู้ประสบความสำเร็จในฐานะเชฟคนดังที่ทำอาหารให้กับประธานาธิบดีและบุคคลสำคัญ แต่ในขณะที่เส้นทางอาชีพกำลังรุ่งโรจน์ก็เกิดเหตุการณ์เข้าใจผิด บงฮวานหนีตายจนตกสระว่ายน้ำ ก่อนที่เขาจะฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในยุคโชซอน แถมวิญญาณยังดันไปติดอยู่ในร่างของ ‘คิมโซยง’ มเหสีของพระราชาชอลจง กษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งโชซอนเสียได้ จากความซวยซับซ้อนทำให้บงฮวานพยายามหาทางกลับโลกปัจจุบันอย่างสุดชีวิต แต่เรื่องกลับไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะขึ้นชื่อว่าวังหลวงแล้ว หากใครได้เข้ามาก็ยากที่จะออกไปได้   ซีรีส์ทางเคเบิลที่มีเรตติ้งสูงติดอันดับท็อปเท็นตลอดกาล จากเนื้อเรื่องที่น่าสนใจระดับบิ๊กไอเดีย ทั้งยังสนุกมาก ๆ Mr.Queen จึงสามารถครองเรตติ้งสูงสุดตั้งแต่เปิดตัว แต่ทว่าหนทางก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลังจากการฉายซีรีส์เรื่องนี้กลับต้องเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เมื่อผู้ชมพบว่าเนื้อเรื่องดันมีความละม้ายคล้ายคลึงกับเว็บดรามา (ละครที่ฉายในเว็บ) ของจีนเรื่อง Go Princess Go (2015) ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของเซียน เฉิน (Xian Chen) ซึ่งประเด็นก็มีอยู่ว่า เซียน เฉิน คนนี้เคยแสดงความคิดเห็นในแง่ลบเกี่ยวกับเกาหลี ทำให้ผู้ชมต่างแสดงความไม่พอใจ จนทีมงานต้องออกมาขอโทษว่าไม่เคยทราบเรื่องความขัดแย้งของนักเขียนชาวจีนที่เกิดขึ้น อีกทั้งลิขสิทธิ์ที่ซื้อมาเป็นการรีเมกตัวเว็บดรามา ไม่ได้รีเมกจากนวนิยาย  แต่ใช่ว่าเรื่องจะจบ เพราะการที่ซีรีส์ได้เปลี่ยนชื่อและบริบทบางอย่างในประวัติศาสตร์ก็ทำให้ผู้ชมยังคงไม่พอใจ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตกันอย่างต่อเนื่อง จนทำให้คาดว่าซีรีส์เรื่องนี้น่าจะตกม้าตายเอาเสียก่อน แต่พอถึงเวลาจริง กลายเป็นว่าซีรีส์เรื่องนี้กลับมีเรตติ้งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนั่นก็ล้วนเป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ว่า Mr.Queen ได้กลายเป็นหนึ่งในซีรีส์เกาหลีที่คนเกาหลีรักมากที่สุด ความสำเร็จของ Mr.Queen การันตีด้วยเรตติ้งเปิดตัวถึง 8.03% หรือคิดเป็นจำนวนผู้ชมประมาณ 2.3 ล้านคน ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เรื่องนี้ขึ้นแท่นเป็นซีรีส์เกาหลีที่มีผู้ชมสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของช่อง tvN เลยทีเดียว โดยเป็นรองเพียงแค่ Mr. Sunshine (2018) จากช่องเดียวกัน ตั้งแต่นั้นเรตติ้งในแต่ละตอนก็ดูเหมือนว่าจะทุบสถิติของตัวเองไปเรื่อย ๆ จนมาในตอนสุดท้ายถึงเรื่องนี้ก็ขึ้นแท่นเป็นซีรีส์ดรามาทางช่องเคเบิลที่มีเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลของเกาหลีในอันดับที่ 7 ด้วยเรตติ้งที่สูงถึง 17.37% เคียงคู่กับซีรีส์เรื่องฮิตร่วมช่องอย่าง Crash Landing On You (2019) ที่ครองอันดับ 3 ด้วยเรตติ้ง 21.7% Guardian: The Lonely and Great God (2016) ในอันดับ 4 ที่ 20.5% Reply 1988 (2015) ในอันดับ 5 ที่ 18.8% และ Mr.Sunshine (2018) อันดับ 6 ที่ 18.1% (โดยอันดับ 1 และ 2 นั้น เป็นของเรื่อง The World of the Married (2020) และ Sky Castle (2018-2019) รวมทั้งยังโกยเรตติ้งผู้ชมชนะซีรีส์เรื่องดังจากช่องเคเบิลที่ฉายในปีเดียวกันอย่าง Uncanny Counter (2020) และ Start-Up (2020) จากช่อง OCN และ Hospital Playlist (2020) จากช่องเดียวกัน พร้อมกับขึ้นไปอยู่ในอันดับท็อปเท็นซีรีส์ที่มีเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลอีกด้วย    การตีความประวัติศาสตร์ใหม่ แม้ว่าจะได้เค้าโครงเรื่องมาจากเว็บดรามาของจีน แต่ Mr.Queen กลับสื่อสารความเป็นตัวเองได้ดีแตกต่างจากต้นฉบับที่ดูเหมือนจะเน้นฉากเซอร์วิสวาบหวามเสียมากกว่า ซึ่งนั่นคงต้องยกเครดิตให้กับคนเขียนบทที่นำเสนอความสับสนอลหม่านของตัวละครให้ร้อยเรียงลงในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแนบเนียน จนซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้มีดีแค่การสร้างเสียงหัวเราะ สำหรับการตีความใหม่นั้น คนเขียนบทเริ่มด้วยการเปลี่ยนชื่อบุคคลในประวัติศาสตร์บางส่วนเพื่อให้สามารถเล่าเรื่องราวได้อย่างมีอรรถรสมากขึ้น เพราะภาพจำของพระเจ้าชอลจงที่คนเกาหลีรู้จักกันดีนั้นเป็นเพียงกษัตริย์หุ่นเชิดที่อยู่ภายใต้อำนาจของพระพันปี ที่วัน ๆ เอาแต่ดื่มเหล้า ไม่มีความรู้ด้านการปกครองหรือแม้กระทั่งตัวหนังสือ! แต่ในซีรีส์เรากลับได้เห็นกษัตริย์ที่แอบซ่อนพระปรีชาสามารถเอาไว้ ด้วยความหวังว่าตัวเองจะสามารถปกครองแผ่นดินโดยธรรม และนั่นก็ทำให้เราคิดถึง Marie Antoinette (2006) หนังของผู้กำกับหญิงคนเก่งโซเฟีย คอปโปลา (Sofia Coppola) ที่ออกมาเล่าเรื่องราวของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ในมุมมองใหม่ที่ไม่ใช่จำเลยสังคม ถ้าย้อนดูตามประวัติศาสตร์เกาหลี พระเจ้าชอลจงนับเป็นกษัตริย์ที่มีชีวิตน่าสงสารอยู่ไม่น้อย เพราะชาติกำเนิดของพระองค์เป็นเชื้อพระวงศ์ที่ถูกลืม เคยทั้งถูกเนรเทศและถูกปราบปรามจนบ้านแตกสาแหรกขาด ก่อนที่ลี วอนบอม (Lee Won-beom) หรือพระเจ้าชอลจงจะถูกพระพันปีหลวง (คนเดียวกันกับในซีรีส์) รับเป็นบุตรบุญธรรมและแต่งตั้งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์โชซอน ก่อนที่พระองค์จะอภิเษกสมรสกับคิมซอริน (Kim Cheo-rin) ลูกสาวของเสนาบดีคิม และมีพระโอรสด้วยกัน 1 องค์ แต่น่าเสียดายที่องค์ชายลืมตาดูโลกได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น เช่นเดียวกับพระเจ้าชอลจงที่ครองราชย์ได้ราว ๆ 13 ปี ก่อนจะสวรรคตอย่างมีเงื่อนงำเมื่อมีพระชนมายุเพียง 32 พรรษาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ในซีรีส์ เราจึงได้เห็นการตีความของคนเขียนบทที่มีต่อกษัตริย์พระองค์นี้ในหลากหลายแง่มุม อย่างเช่น การที่พระองค์ทรงฝันร้ายตลอดเวลาเนื่องจากเหตุการณ์ในวัยเด็ก หรือว่าจะเป็นการที่พระองค์ทรงอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หรือสำมะเลเทเมาตามที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ก่อนหน้า แท้จริงก็อาจเป็นเพียงการล่อหลอกให้เหล่าขุนนางและพระพันปีตายใจ อันเป็นวิธีการเอาตัวรอดในช่วงเวลานั้น เรื่อยไปจนถึงการที่พระองค์ทรงไม่มีผลงานปรากฏเด่นชัด ก็อาจจะไม่ใช่เพราะไม่ได้ทำ หากแต่ทำไม่สำเร็จก็เป็นได้ เหมือนอย่างที่บงฮวานในร่างมเหสีมักพูดอยู่เสมอ ๆ ว่าไม่อยากเดิมพันกับข้างที่ไม่อาจชนะ   พาเหรดอาหารเลิศรส นับเป็นความฉลาดของซีรีส์เกาหลีแทบทุกเรื่องเลยก็ว่าได้ที่มักจะสอดแทรกวัฒนธรรมอาหารลงไป และ Mr.Queen ก็มีฉากอาหารให้เลือกจนเต็มอิ่ม จนเรียกได้ว่านี่คือ ‘หมัดฮุก’ ที่ทำเอาผู้ชมแพ้น็อกไปตาม ๆ กัน นี่คงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ว่าทำไมตัวละครที่เดินทางข้ามเวลาถึงต้องเป็น ‘เชฟ’ เพราะ ‘อาหาร’ คือตัวตนที่แท้จริงของบงฮวานในโลกอดีตและเป็นสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุด ขณะเดียวกันอาหารในเรื่องก็ทำหน้าที่เป็น ‘หมาก’ ชั้นดีในเกมการเมือง เมื่อนี่คือกลยุทธ์ที่ทำให้บงฮวานสามารถรักษาสถานะความเป็นมเหสีเอาไว้ได้ด้วยการทำอาหารเอาใจพระพันปีหลวงผู้มีอำนาจสูงสุดในวังหลวง เราจึงเห็นเมนูมากมายผ่านสายตาที่เกิดจากเชฟมืออาชีพที่รู้จักและเอาใจใส่คนกิน เราจึงได้เห็นตั้งแต่ปลากงฟีที่ทาน้ำมันแล้วเข้าเตาอบให้สุกอย่างช้า ๆ การทำ ‘ญอกกี’ และ ‘โครเกตต์’ จากมันฝรั่ง เรื่อยไปจนถึงซอสนมสไตล์ฝรั่งเศส หรือจะเป็นฉากงานเลี้ยงของพระราชาที่ได้กลายเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่อง ก็ได้ทำให้เรารู้จักกับอาหารสตรีทฟู้ดสุดฮิตของเกาหลีอย่าง ‘มันฝรั่งทอร์นาโด’ (Tornado Potatoes) มันฝรั่งเกลียวทอดกรอบที่ชาวเกาหลีเรียกกันว่า เฮโอริ คัมจา (Hoeori Gamja) หรือจะเป็นเบอร์เกอร์แพลนต์เบสมีท (Plant Based Meat) ที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ขณะที่เมนูอื่น ๆ ก็ล้วนมีเรื่องราว ซึ่งเราขอให้คะแนนแบบเต็มสิบไม่หัก แต่เมนูที่เรารักมากที่สุดก็คงไม่พ้น ‘ซัมยังรามยอน’ (Samyang Ramen) ที่เราเพิ่งได้รู้จากเรื่องนี้เองว่า ที่รามยอนยี่ห้อนี้มีชื่อนี้ก็เพราะกลิ่นของส่วนผสม 3 อย่างอันลงตัว  (ที่มาของคำว่า ซัม แปลว่า สาม) ซึ่งก็คือ เห็ดหอม ต้นหอม และเนื้อ นั่นเอง   คาแรกเตอร์ตัวละครที่แสนโดนใจ หากจะบอกว่า ‘พล็อตเรื่องดี มีชัยไปกว่าครึ่ง’ ก็ไม่น่าผิด แม้โครงเรื่องย้อนเวลาก็ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้ก็มีซีรีส์เรื่อง Moon Lovers: Scarlet Heart Ryeo (2016) ที่ตัวละครเอกย้อนเวลามาในสมัยโครยอและรีเมกมาจากซีรีส์จีนเช่นเดียวกัน แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่ทำให้ Mr.Queen ดูมีภาษีกว่าคงต้องยกให้กับการตีความและมองอดีตผ่านสายตาคนยุคใหม่ได้อย่างตรงไปตรงมาแบบไม่มีอะไรกั้น ยิ่งได้บริบทของ ‘กายเป็นหญิง ใจเป็นชาย’ ของตัวเอกด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เรื่องนี้มีความน่าสนุก  ตัวนักแสดงอย่าง ‘ชินฮเยซอน’ (Shin Hye-sun) ที่เคยโด่งดังจากซีรีส์เรื่อง Thirty But Seventeen (2018) และ My Golden Life (2017-2018) ซีรีส์ขวัญใจแม่บ้าน ก็ถ่ายทอดบทบาทชายในร่างหญิงได้อย่างกลมกล่อม เรียกว่ามาครบทั้งความห้าว (หาญ) ปากเสีย และเจ้าชู้ จนหลายคนเชื่อจริง ๆ ว่าเธอนี่แหละคือผู้ชายในร่างผู้หญิง ด้วยคาแรกเตอร์ลักษณะนี้ น่าจะเป็นอะไรที่โดนใจชาวเกาหลีเข้าอย่างจัง เพราะถ้าสังเกตให้ดี ตัวละครนี้กลับทำให้นึกถึงเจ้า ‘เพงซู’ (Pengsoo) มาสคอตเพนกวินยักษ์หน้านิ่งที่ครองใจชาวเกาหลีในยุคนี้ ด้วยยอดแฟนคลับติดตามในยูทูบมากกว่า 2 ล้านคน ภายในเวลาไม่ถึงปี หลังจากเปิดตัวไปเมื่อเมษายน 2019 โดยรหัสความสำเร็จของคาแรกเตอร์นี้มีผู้สันทัดกรณีเล่าให้ฟังว่าเป็นเพราะเพงซูสามารถแสดงความคิดความอ่านที่ผู้คนไม่กล้าแสดงออกในชีวิตจริงได้อย่างลื่นไหล ภายใต้เงื่อนไขในสังคมเกาหลีที่ยังคงยึดลำดับทางสังคมอย่างเหนียวแน่น ที่สำคัญเจ้าเพนกวินเองก็ไม่เคยระบุเพศอย่างชัดเจนว่าเป็นเพศใด ซึ่งนั่นก็ไม่ต่างจากตัวละครของเชฟหนุ่มในคราบมเหสีที่ดูอยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นหญิงและชาย แถมยังมีความกล้าบ้าบิ่นก่นด่าความโสมมในสังคมราวกับเป็นตัวแทนของทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกชายหญิง   ประโยคแซ่บแคปให้ด้วย  ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่ซีรีส์เรื่องนี้จะเต็มไปด้วย ‘ประโยคแซ่บแคปให้ด้วย’ ซึ่งหลาย ๆ ประโยคดูเหมือนว่าไม่ใช่จะโดนใจชาวเกาหลีแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังรวมคนไทยตาดำ ๆ อย่างเราในเฉพาะเรื่องของการเมืองที่แสดงความคิดเห็นที่ ‘เสียดสีการเมือง’ อย่างแสนสัน และความเจ๋งก็อยู่ตรงที่ความคิดเห็นเหล่านั้นล้วนแสดงความเป็นปัจเจกชนเอามาก ๆ  เราเลยเจอประโยคกร่าง ๆ ตั้งแต่ “ครอบครัวฉันรวยมาก จะไม่มีมารยาทก็ไม่มีใครว่า” ตามด้วยประโยคแสดงความเห็นใจอย่าง “รู้ไหมว่าประชาชนเขาลำบากแค่ไหน” หรือจะเป็น “โครงสร้างทางสังคมที่แบ่งแยกชนชั้นต่างหากที่ผิด” เรื่อยไปจนถึงการจวกตัวละครเหล่าขุนนางว่าเป็น “ความเลวของสังคม” หรือในฉากที่มเหสีเล่าเรื่องราวในอนาคตให้พระเจ้าชอลจงฟังว่า มีกษัตริย์ของประเทศหนึ่งทรงอยู่ภายใต้กฎหมาย ก่อนทีชอลจงจะทำหน้าแปลกใจว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดจริง ๆ เหรอ? (ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามนี้อยู่ในใจเหมือนกัน)   กลิ่นอายของLGBTQ+ จากกระแสสังคมในเกาหลีที่ค่อนปิดกั้นเรื่อง LGBTQ+ (ในเกาหลีก็เพิ่งจะเริ่มทำซีรีส์วายเรื่องแรกเมื่อไม่นานมานี้เอง) คงต้องบอกว่าเรื่องนี้กล้าหาญและเก่งมากที่ทำเรื่องราวในลักษณะนี้ให้ดูย่อยง่ายและชวนลุ้นกันไปในแต่ละตอนว่าสถานะของความรักระหว่างมเหสีที่มีผู้ชายทั้งคนอยู่ในนั้นและพระราชาจะเป็นเช่นไร ในแง่ของการเล่าเรื่องเชื่อว่าตัวบทเองก็พยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างถึงที่สุด จากเพลย์บอยมาอยู่ในร่างผู้หญิงก็ทำให้กลายเป็นผู้หญิงที่ชอบหลีหญิง ก่อนที่เหตุการณ์ต่าง ๆ จะค่อย ๆ นำพาบงฮวานในร่างมเหสีค่อย ๆ เปลี่ยนความคิดและความรู้สึก แม้กระทั่งเสียงในหัวที่เริ่มกลายเป็นผู้หญิงควบคู่ไปจนดูเหมือนว่าความรักนั้นกำลังก่อตัวขึ้นมาช้า ๆ หรือเอาเข้าจริงนั่นจะเป็นเพียงมิตรภาพลูกผู้ชาย ก็ล้วนเป็นเรื่องที่ผู้ชมทุกคนกำลังลุ้นกันตัวโก่ง นอกจากคำถามข้างต้น ยังมีหลายคนบอกว่าซีรีส์เรื่องนี้น่าจะสื่อสารสิทธิสตรีอย่างชัดเจน แต่ด้วยตัวละครมีความเป็นชายกายเป็นหญิง จึงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า Mr.Queen สามารถเชิดชูความเป็นเฟมินิสต์ส่งต่อความเป็นเพื่อนหญิงพลังหญิงได้อย่างชัดเจน แต่อย่างน้อยในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ในวัฒนธรรมเอเชีย การบอกเล่าเรื่องราวความลำบากของผู้หญิงผ่านความนึกคิดของตัวละครผู้ชายก็เป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนถูกใจอยู่ไม่น้อย เมื่อการเป็นหญิงไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นการมีประจำเดือน เรื่อยไปจนถึงการต้องรับหน้าที่ตั้งครรภ์ที่คนในสมัยนั้นต่างมองว่านี่เป็นหน้าที่เพียงหนึ่งเดียวของผู้หญิง อย่างไรก็ดี หากมองตามประวัติศาสตร์โชซอนในช่วงเวลานั้น คงต้องบอกเลยว่าผู้หญิงนับว่ามีอำนาจมากเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ เหตุการณ์ในตอนจบอาจจะไม่โดนใจใครหลายคน เพราะอารมณ์ที่เหมือนจะแทงกั๊กอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ แต่ก็ถือว่า Mr. Queen หาทางลงได้อย่างชาญฉลาด แต่ก็มีหลายเสียงแซวว่าดูๆ แล้วก็แอบละม้ายคล้ายกับเรื่อง Moon Lovers: Scarlet Heart Ryeo (2016) อยู่เล็กน้อย จากฉากจบตัวละครเอกกลับมาดูภาพวาดในพิพิธภัณฑ์เพื่อซึบซับอดีต แต่ในเรื่องนี้ บงฮวาน รีบตรงไปที่ร้านหนังสือเพื่อหาหนังสือประวัติศาสตร์ ก่อนจะพบว่ากษัตริย์ที่เขาพบเจอนั้น ได้เปลี่ยนชื่อจาก “ชอลจง” เป็น “ชอลโจ” แล้วเรียบร้อย ซึ่งนั่นก็มากพอที่ทำให้รู้ว่า เรื่องราวที่ตัวละครทุกตัวประสบพบเจอนั้นล้วน “ไม่เสียเปล่า”  เมื่อคำว่า “โจ” หมายถึง กษัตริย์ที่สร้างคุณงามความดีไว้นั่นเอง  หมายเหตุ : ถ้าใครอยากรู้เรื่องราวในตอนจบเพิ่มเติม อย่าลืมไปดูตอนพิเศษกันต่อ   ที่มา: https://www.creatrip.com/en/blog/9539 https://www.koreatimes.co.kr/www/art/2021/02/398_303581.html https://www.scmp.com/lifestyle/k-pop/k-drama/article/3119445/k-drama-midseason-recap-mr-queen-period-comedy-slips-subtle https://bitchesoverdramas.com/2021/01/17/mr-queen-the-queens-cuisine-review/   เรื่อง: รตินันท์ สินธวะรัตน์