04 ก.พ. 2566 | 19:50 น.
- สื่อบันเทิง-วัฒนธรรมร่วมสมัยในเอเชียหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผลงานที่โดดเด่นมักมาจากฝั่งญี่ปุ่น (J-Pop) ขณะที่ช่วงหลังฝั่งเกาหลี (K-pop) เริ่มสร้างผลงานโดดเด่นไม่แพ้กัน
- การแข่งขันทางวัฒนธรรมและสื่อบันเทิงรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างสองยักษ์ใหญ่ทำให้เกิดคำถามว่าผลจะออกมาแบบใด
จั่วหัวไว้แบบนี้ แต่จริง ๆ แล้วผู้เขียนเองเป็นแฟนคลับของทั้ง J-Pop และ K-Pop มานานมากแล้ว เพราะเริ่มติดตามสื่อ ‘J-Pop’ มาตั้งแต่ช่วงกลาง ๆ ทศวรรษที่ 90s (ช่วงที่ X-Japan โด่งดังสุดขีดทั่วเอเชีย) และเริ่มสัมผัสกับ K-Pop ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 90s (ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่อง il mare จะเข้าไทยอยู่เล็กน้อย) ตั้งแต่ยังไม่เกิดคำว่า ‘K-Pop’ ขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ
แต่ในฐานะชาวไทยผู้บริโภคสื่อของทั้ง 2 วัฒนธรรม ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจติดตามว่าทั้ง J-Pop และ K-Pop มีจุดเหมือน-จุดต่างอย่างไร และแต่ละฝ่ายจะแก้เกมของอีกฝ่ายอย่างไรบ้าง
แต่เดิม J-Pop นั้นรับอิทธิพลจากดนตรีแนว Pop และ Rock จากตะวันตก และเริ่มใช้คำนี้ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 80s โดยจะใช้เรียกเฉพาะดนตรีแนวตะวันตกในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ต่อมาพอเข้าช่วงทศวรรษที่ 90s ก็เริ่มมีการใช้คำว่า J-Pop ในความหมายแบบในปัจจุบัน คือใช้เรียกเพลงญี่ปุ่นที่มีกลิ่นอายตะวันตกด้วย แต่มักจะไม่เรียกเพลงญี่ปุ่นแนวเอ็งกะ (演歌:ENKA หรือเพลงพื้นบ้านญี่ปุ่น) ว่า J-Pop เพราะเพลงเอ็งกะออกจะมีกลิ่นอายญี่ปุ่นดั้งเดิมมากกว่า J-Pop แนวอื่น ๆ
ต่อมา คำว่า J-Pop มีการขยายขอบเขตความหมายกว้างขึ้นไปสู่ซีรีส์ญี่ปุ่น, ภาพยนตร์ญี่ปุ่น, มังงะและอนิเมะญี่ปุ่น ด้วยเช่นกัน เรียกว่าอะไรที่เป็นญี่ปุ่นยุคใหม่ก็คือเรียกว่า J-Pop ได้หมด (ใครเกิดทัน ให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘อดีตฝันวันวาน’, ‘เคนโด้’, ‘สื่อรักออนไลน์’, ภาพยนตร์หลายเรื่องของคิมุระ ทะคุยะ, นึกถึงสมัยเพลงของ X-Japan โด่งดังมาก ๆ และ Utada Hikaru โด่งดังสุด ๆ ในประเทศไทย)
สาเหตุหลัก ๆ ที่ J-Pop โด่งดังไปทั่วเอเชียมี 2 ประการ
ประการแรกคือ นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่นมีการปรับตัวจาก ‘ยุทธศาสตร์โยชิดะ (Yoshida Doctrine)’ ที่ใช้ตั้งแต่หลังสงครามจนถึงกลางทศวรรษที่ 60s เพื่อเน้นฟื้นฟูประเทศญี่ปุ่นจากหายนะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไปเป็น ‘ยุทธศาสตร์ฟุคุดะ (Fukuda Doctrine)’ ที่ใช้ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 70s ถึงทศวรรษที่ 80s โดยเน้นไปที่การเผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่นไปสู่นานาชาติ, การเป็นมิตรกับนานาประเทศในระดับโลก, และการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ กับหลายประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นในยุคนั้นจึงสนับสนุน International Cultural Exchange
ส่วนสาเหตุอีกประการที่ J-Pop ประสบความสำเร็จทั่วเอเชียคือ บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากมีการขยายฐานการผลิตออกนอกประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 80s จึงทำให้เกิดความต้องการผู้รู้ภาษาญี่ปุ่นในเอเชียหลายประเทศ มีผลให้เกิดกระแสการตื่นตัวเรียนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นขึ้นมา
เรียกว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนั้นทำงานสอดคล้องกันดีพอสมควร ถูกจังหวะมาก จึงทำให้ J-Pop บูมมากทั่วเอเชียในช่วงนั้น
ในเมืองไทยเอง นอกจากจะมีช่อง 9 เป็นหัวเรือหลักในการเผยแพร่การ์ตูนญี่ปุ่น ก็ยังมีช่องไอทีวีเป็นเจ้าแห่งซีรีส์ญี่ปุ่นในยุคนั้นเลย
ส่วน K-Pop นั้นเกิดทีหลังและได้รับอิทธิพลจาก J-Pop โดยตรง โดยเริ่มมีการใช้คำว่า K-Pop ในปลายทศวรรษที่ 90s เพื่อแยกเรียกดนตรีแนวใหม่ที่ต่างจาก J-Pop ออกไป
คือ J-Pop นั้นรับแนวดนตรีตะวันตกมผสมกับแนวญี่ปุ่น แล้ว K-Pop ก็เอา J-Pop มาผสมกับอเมริกันแล้วผสมกับเกาหลีอีกชั้นหนึ่ง จนออกมาเป็น K-Pop
ดังนั้น K-Pop ที่ค้นพบแนวทางของตัวเองจึงต่างจาก J-Pop คือ K-Pop จะมีแนวโน้มมีสเต็ปการเต้นที่ดุดันกว่า และมีกลิ่นอายของแนวเพลงที่ผสมจากทางแอฟริกันอยู่บ้างอีกต่างหาก
ส่วนในด้านซีรีส์และภาพยนตร์นั้น K-Pop ในยุคแรกยังคงพายเรือวนในอ่างคล้ายละครไทยยุคเก่า ๆ เช่น พระเอกหรือนางเอกเป็นมะเร็ง, พระเอกนางเอกค้นพบความจริงว่าเป็นพี่น้องกัน, พระเอกนางเอกความจำเสื่อม อะไรแบบนี้ จนกระทั่งช่วงกลาง ๆ ทศวรรษที่ 2010s ที่จับแนวทางของตัวเองได้ชัดขึ้นและเริ่มตีตลาดระดับโลกได้ทัดเทียมกับ J-Pop และใช้เวลาประมาณ 1 ทศวรรษก็แซง J-Pop ในตลาดโลกได้สำเร็จ
โดย K-Pop นั้นเติบโตไปพร้อม ๆ กับการฟื้นฟูของเศรษฐกิจเกาหลีจากวิกฤติทางการเงินในปี ค.ศ.1997 (พร้อม ๆ กับ ‘ต้มยำกุ้ง’ ของไทยในปีเดียวกัน แต่เกาหลีอาการสาหัสกว่ามาก) และเติบโตกลายเป็นมหาอำนาจทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีของโลกได้สำเร็จในที่สุด (ลองไปหาดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง Reborn Rich ดูได้ มีกล่าวถึงประวัติศาสตร์เกาหลีในโลกแห่งความจริงคร่าว ๆ เอาไว้ด้วย)
อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้คำว่า ‘ทัดเทียม’ แต่มูลค่าตลาดบันเทิงโดยรวมของเกาหลีใต้ก็ยังน้อยกว่าของญี่ปุ่นอยู่มาก เพราะผู้บริโภคสื่อบันเทิงของญี่ปุ่นนั้นมี Brand Loyalty สูงมาก โดยในปี ค.ศ. 2022 นั้นมูลค่าตลาดสูงสุดของโลก 3 อันดับแรกยังคงเป็นจีน, สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น อยู่วันยังค่ำ
อันดับ 1 คือจีน คือประมาณ 1 หมื่น 3 พันล้านดอลลาร์, อันดับ 2 คือสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 7.4 พันล้านดอลลาร์, อันดับ 3 คือญี่ปุ่น อยู่ที่ 2.6 พันล้านดอลลาร์ ส่วนเกาหลียังตามหลังอยู่อีกมากคือยังมีมูลค่าตลาดทั่วโลกอยู่เพียง 7 ร้อยกว่าล้านดอลลาร์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เสียงส่วนใหญ่ของผู้ชมทั่วโลก ค่อนข้างจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ในด้านของละคร, ภาพยนตร์, และเพลงนั้น ทาง K-Pop มีภาษีเหนือกว่า J-Pop ไปเรียบร้อยแล้วในปัจจุบัน
คือมูลค่าตลาดญี่ปุ่นนั้นสูงเพราะผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่หากเทียบระดับทั่วโลกก็ดูเหมือนว่าเกาหลีจะชนะขาดลอยไปแล้ว (คนทั่วโลกรู้จัก BTS หรือ Blackpink มากกว่าศิลปินญี่ปุ่นแน่ ๆ) เพียงแต่พอดูมูลค่าเงินจะทำให้ดูเหมือนญี่ปุ่นยังชนะเกาหลีอยู่นั่นเอง
ส่วนถ้าเป็นเรื่องของมังงะและอนิเมะแล้วล่ะก็ ทาง J-Pop ยังคงเป็นมหาอำนาจอยู่ในแง่นี้
ในประเด็นหลักที่เราสงสัยคือ ‘J-Pop จะแก้เกม K-Pop ได้หรือไม่’ ณ ตอนนี้ต้องขอตอบโดยอาศัยประสบการณ์และความคิดเห็นส่วนตัวว่า ‘ค่อนข้างยากแล้ว’ ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้
ประการแรก คือเศรษฐกิจญี่ปุ่นประสบภาวะอิ่มตัวติดกันมาหลายทศวรรษ ในขณะที่เศรษฐกิจของเกาหลีเติบโตอย่างรวดเร็ว, สินค้าเทคโนโลยีของเกาหลีก็กินส่วนแบ่งสินค้าญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ความเป็นเกาหลีเป็นตัวแทนของความใหม่, ความเท่, เทคโนโลยีล้ำยุค ในขณะที่ภาพจำของเครื่องไฟฟ้าและรถยนต์ญี่ปุ่นเริ่มเลือนรางและกลายเป็นตำนานไปทีละน้อย ๆ ก็ต้องยอมรับกันว่าภาวะเศรษฐกิจที่เข้มแข็งนั้นมีผลโดยตรงต่ออำนาจทางวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ แน่นอน
ประการต่อมา ในแง่ของละคร, ภาพยนตร์, และเพลงนั้น K-Pop ปรับตัวให้เข้ากับบริบทโลกได้มากกว่า มีแนวคิดที่ชาวโลกเข้าใจง่าย คือ K-Pop พยายามปรับพล็อตหรือบทละครเข้าหาชาวโลก ในขณะที่ละคร, ภาพยนตร์, และเพลงของ J-Pop ยังทำออกมาแบบไม่แคร์ชาวโลกชาติอื่นเท่าใดนัก เพราะทำออกมาได้ญี่ปุ่นสุดขั้วเหมือนเดิม เนื่องจากผู้บริโภคญี่ปุ่นยังคงมีกำลังซื้ออยู่มาก ทำให้การรับชมและทำความเข้าใจสื่อ J-Pop นั้นเข้าถึงยากกว่า K-Pop
อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงในแง่ของมังงะและอนิเมะนั้น J-Pop ก็ยังครองตลาดหลักอยู่ แม้ว่า มันฮวา (만화) ของเกาหลีจะพยายามสู้ยิบตา แต่ก็ยังกินส่วนแบ่งของมังงะและอนิเมะญี่ปุ่นได้ยากนัก
ประการสุดท้าย K-Pop นั้นปรับตัวได้เร็วกับธุรกิจ Digital มีการเล่นกับกระแสออนไลน์ได้ดี ลง YouTube ได้และไม่โดนตามลบเพราะลิขสิทธิ์เหมือน J-Pop อีกทั้ง K-Pop ยังปูพรมสื่ออย่างพวก Netflix อีกด้วย
ในขณะที่ละครหรือภาพยนตร์ญี่ปุ่นยังไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะพาตัวเองไปลง Netflix หรือ YouTube (ยังคงโดนเจ้าของลิขสิทธิ์ตะบี้ตะบันตามลบคลิปใน YouTube) แม้แต่ละครซีรีส์ที่เรตติ้งสูงระดับตำนานอย่างเรื่อง ‘เฉือนคมนายธนาคาร (Hanzawa Naoki)’ ที่มีเรตติ้งตอนอวสานสูงถึง 42.2% ชนิดว่าเป็นละครที่เรตติ้งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุค Heisei ของญี่ปุ่น กลับไม่มีบน Netflix ให้แฟนคลับชาติอื่นได้ดูเลย หากต้องการดูมีแค่เฝ้าดูแบบผิดกฎหมายหรือสั่งเพื่อนที่อยู่ในญี่ปุ่นให้ซื้อมาให้และไม่มีซับไตเติ้ลอีกต่างหาก!!
ด้วยสาเหตุหลายประการที่ว่า รวมทั้งบริบททางเศรษฐกิจ และบริบทของวงการบันเทิงญี่ปุ่นและเกาหลีที่แตกต่างกัน ณ ปัจจุบัน ผู้เขียนคิดว่า มังงะและอนิเมะญี่ปุ่นยังคงเติบโตต่อได้ไม่หนักหนานัก แต่ J-Pop อื่นอย่างซีรีส์, ภาพยนตร์ และเพลงญี่ปุ่น น่าจะเจองานหินมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าตัวเองจะยังมีมูลค่าตลาดชนะเกาหลีอยู่ แต่ก็ถูกตีตื้นขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะ K-Pop บุกตลาดโลกอย่างไม่เหลือพื้นที่ให้ J-Pop ได้แทรกตัวเข้าไปได้เลย ในขณะที่ผู้ผลิตละคร, ภาพยนตร์, และเพลงของญี่ปุ่นยังคงผลิตออกมาแบบไม่แคร์เวิลด์เพราะสนใจแต่คนญี่ปุ่นอยู่
ก็ได้แต่จับตามองว่าทางญี่ปุ่นจะมีปรากฏการณ์ใหญ่ ๆ อะไรมารื้อถอนชุดความคิดและบริบทแบบเก่า ๆ นี้แบบล้างบาง แล้วพลิกเกมกลับมาแข่งขันกับ K-Pop ได้สูสีมากขึ้นกว่านี้หรือไม่ในระดับโลก
เรื่อง: วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล