‘โซเฟีย คอปโปลา’ สตรีที่ค้นหาตัวตนใต้เงาพ่อ สู่ผู้กำกับรางวัลออสการ์คนโปรดโลกแฟชั่น

‘โซเฟีย คอปโปลา’ สตรีที่ค้นหาตัวตนใต้เงาพ่อ สู่ผู้กำกับรางวัลออสการ์คนโปรดโลกแฟชั่น

ชีวิตของ ‘โซเฟีย คอปโปลา’ จากลูกสาวของผู้กำกับคนดัง ‘ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา’ เธอค้นหาตัวเองจนสามารถหลุดพ้นจากเงาของพ่อ กลายมาเป็นผู้กำกับหญิงมือรางวัลออสการ์ ที่มีรสนิยมดีทั้งในการกำกับและแฟชั่น

  • ‘โซเฟีย คอปโปลา’ มีสายเลือดฮอลลีวูดเต็มตัว เธอเป็นลูกสาวของหนึ่งในผู้กำกับหนังที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด ‘ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา’ ซึ่งทำให้เธอได้เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ยังแบเบาะ
  • เป็นเวลาหลายสิบปีที่เธอใช้ชีวิตและทำงานอยู่ใต้เงาของพ่อ กระทั่งปี 2004 เธอสามารถสร้างชื่อด้วยตัวเอง จากการเป็นหญิงอเมริกันคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ จากภาพยนตร์เรื่อง Lost in Translation (2003)
  • 'โซเฟีย คอปโปลา' เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้รับทั้งรางวัล Razzie และ ออสการ์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ‘ยูนิโคล่’ (Uniqlo) เปิดตัวคอลเลกชั่นเสื้อยืด ‘CELEBRATING SOFIA COPPOLA UT’ เพื่อเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ ‘โซเฟีย คอปโปลา’ (Sofia Coppola) ที่เดินทางบนเส้นทางผู้กำกับภาพยนตร์มานาน 25 ปี และเติบโตสู่การเป็นหนึ่งในผู้กำกับร่วมสมัยระดับแนวหน้าของฮอลลีวูด

เสื้อยืดคอลเลกชั่นนี้จะนำเสนอฉากที่น่าจดจำและประโยคจากภาพยนตร์ 4 เรื่องที่โดดเด่นที่สุดของเธอ ได้แก่ Lost in Translation, Marie Antoinette, Somewhere และ The Bling Ring จำหน่ายที่ร้านยูนิโคล่ทุกสาขาทั่วประเทศและออนไลน์สโตร์ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 6 มีนาคมเป็นต้นไป

The People ใช้โอกาสนี้พาไปผู้อ่านไปทำความรู้จัก ‘โซเฟีย คอปโปลา’ ผู้กำกับหญิงที่สามารถถ่ายทอดความละเอียดอ่อนของชีวิตมนุษย์ผ่านภาพยนตร์ได้อย่างน่าประทับใจ ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จ เธอต้องผ่านการค้นหาและพิสูจน์ตัวเองท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าได้เข้าวงการเพราะเป็นลูกสาวผู้กำกับดัง 

เด็กสาวที่เติบโตมาในครอบครัวฮอลลีวูด

‘โซเฟีย คอปโปลา’ เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 1971 ในมหานครนิวยอร์ก ในระหว่างที่มีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Godfather เธอเป็นลูกคนเล็กสุดและเป็นลูกสาวเพียงคนเดียวของผู้กำกับหนัง โปรดิวเซอร์ และนักเขียนบท ‘ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา’ และ ‘เอเลนอร์ คอปโปลา’ ซึ่งเป็นดีไซน์เนอร์ ศิลปิน และผู้ผลิตหนังสารคดี 

โซเฟียและพี่ชายอีกสองคน ‘โรมัน’ และ ‘เกียน คาร์โล’ เติบโตมากับฉากภาพยนตร์ของพ่อ โดยมีแม่คอยดูแลอยู่ใกล้ ๆ แต่แม่ก็มักจะง่วนอยู่กับการทำสารคดี 

ด้วยความที่โซเฟียต้องเดินทางไปถ่ายภาพยนตร์กับพ่อแม่ เธอจึงหลงรักการเดินทางไปโดยปริยาย ตอนเด็ก ๆ เธอเคยเดินทางไปกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ระหว่างที่พ่อของเธอกำกับภาพยนตร์เรื่อง Apocalypse Now (1979) ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม 

เวลานั้นเด็กหญิงโซเฟียวัย 7 ขวบ เพลิดเพลินกับการวาดรูปต้นปาล์มกับเฮลิคอปเตอร์นานหลายชั่วโมง

ในช่วงที่ไม่ต้องไปถ่ายทำภาพยนตร์ ครอบครัวของเธออาศัยอยู่ที่เมืองเล็ก ๆ ในนาปาแวลลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ถึงแม้จะอยู่ที่บ้าน ชีวิตครอบครัวคอปโปลาก็ห่างไกลจากความปกติธรรมดา 

ครอบครัวคอปโปลามีค่ายสร้างสรรค์ฤดูร้อน ซึ่งเด็ก ๆ จะได้รับการส่งเสริมด้านการเขียนและแสดง รวมถึงการออกแบบและทดลอง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพ่อกับแม่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเธอ แต่เอเลนอร์บอกว่า ลูกสาวของเธอนั้นเป็นเด็กช่างจินตนาการ ส่วนฟรานซิสกล่าวอย่างภูมิใจว่าลูกสาวของเขาถูกกำหนดชะตามาให้เป็นผู้กำกับตั้งแต่เธออายุแค่ 3 ขวบ 

“ตอนนั้นผมกับภรรยากำลังขับรถ เราเถียงกันไปมาและไม่ได้สนใจโซเฟียที่นั่งอยู่เบาะหลัง เธอคงเบื่อที่พ่อแม่ทะเลาะกัน จู่ ๆ เธอก็ตะโกนออกมาว่า คัท!”

 

ผลงานการแสดงของเด็กหญิงโซเฟีย

โซเฟียไม่เพียงแต่เดินทางไปถ่ายทำภาพยนตร์กับพ่อ เธอยังได้รับบทเล็ก ๆ ในภาพยนตร์ของเขาด้วย เช่น Rumblefish (1983) และ The Outsiders (1983) ทั้งสองเรื่องเป็นหนังที่สร้างจากนวนิยายของนักเขียนดัง ‘เอส.อี.ฮินตัน’ ที่เขียนหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน 

โซเฟียยังร่วมแสดงใน The Cotton Club (1984) และ Peggy Sue Got Married (1986) ด้วย ในเวลานั้นเธอใช้ชื่อในการแสดงว่า ‘โดมิโน่ คอปโปลา’ เพราะคิดว่ามันเป็นชื่อที่มีเสน่ห์ดี

แต่การรับบทครั้งใหญ่ที่สุดของเธอเกิดขึ้นเมื่อปี 1990 เมื่อพ่อของเธอจับเธอมาเล่นเป็น ‘แมรี คอร์เลโอเน’ ในภาพยนตร์ ‘The Godfather Part III’

เมื่อภาพยนตร์ออกฉาย ปรากฏว่านักวิจารณ์ออกมาถล่มฟรานซิสจนเละ พวกเขาหาว่าฟรานซิสลำเอียงที่ดันลูกสาวตัวเองมารับบทสำคัญ ทั้งที่ความจริงแล้วโซเฟียไม่ใช่ตัวเลือกแรกของเขา แต่เป็น ‘วิโนนา ไรเดอร์’ ต่างหาก เพียงแต่ตอนนั้นวิโนนาขอถอนตัวในนาทีสุดท้ายเนื่องจากไม่สบาย โซเฟียจึงรับเล่นบทนี้เพราะต้องการช่วยพ่อของเธอ 

ท้ายที่สุดเธอไม่ได้รับรางวัลจากความกล้าหาญครั้งนี้ แต่กลับถูกวิจารณ์ยับ ถูกล้อเลียนเรื่องสำเนียง และถูกถล่มว่าเล่นแข็งเป็นหิน จนได้รับรางวัล ‘Razzie’ สาขานักแสดงประกอบหญิงยอดแย่ และสาขานักแสดงหน้าใหม่ยอดแย่ เพราะเธอยังมีอาการเขินกล้อง แม้จะผ่านภาพยนตร์มาหลายเรื่องแล้วก็ตาม 

โซเฟียเสียใจมากกับคำวิจารณ์ที่เจ็บแสบ มันกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอยอมยกธงขาวให้กับงานแสดง เธอเคยกล่าวไว้ว่า “ฉันไม่ได้อยากเป็นนักแสดงเลย มันไม่ใช่บุคลิกของฉัน” 

หลังจากนั้นเธอก็รับเล่นภาพยนตร์อีกเพียงไม่กี่เรื่อง เช่น Star Wars: Episode I The Phantom Menace (1999) และหันไปให้ไปสนใจในงานด้านอื่น ๆ แทน  

สิ่งที่สาวน้อยขี้อายให้ความสนใจ

ตอนเรียนชั้นมัธยม โซเฟียเริ่มให้ความสนใจในด้านแฟชั่นและการออกแบบ เธอเป็นนางแบบให้ดีไซน์เนอร์ดังอย่าง ‘มาร์ค จาคอปส์’ และเคยฝึกงานที่ ‘ชาแนล’ (CHANEL) แบรนด์แฟชั่นชื่อดังแห่งปารีส โดยระหว่างฝึกงาน เธอทำหน้าที่รับโทรศัพท์ ถ่ายเอกสาร และถูกใช้ให้ทำธุระเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เธอก็กล่าวว่า ประสบการณ์ที่ได้รับนั้นยอดเยี่ยมมาก และเธอยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับชาแนลจนถึงปัจจุบัน 

หลังจบมัธยมที่โรงเรียนเซนต์เฮเลนา โซเฟียเข้าเรียนวิทยาลัยในเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนจะไปสมัครเรียนที่สถาบันศิลปะแห่งแคลิฟอร์เนีย (CalArts) ในย่านวาเลนเซีย รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเธอได้เรียนวาดรูปอยู่นานหลายปี ก่อนจะดรอปเรียนไป

ในช่วงอายุ 20 ปี โซเฟียมีแนวคิดที่จะไปเรียนสถาบันสอนภาพยนตร์ในนิวยอร์ก แต่ทางสถาบันไม่คิดว่าที่นี่เหมาะกับเธอ เธอจึงเริ่มค้นหาเส้นทางอาชีพอื่น ๆ โดยหันไปทำงานเป็นช่างภาพระยะหนึ่ง ตอนนั้นเธอได้ไปถ่ายรูปให้กับนิตยสารแฟชั่นอย่าง ‘Paris Vogue’ และ ‘Allure’

จากนั้นโซเฟียก็หันไปเอาดีด้านการออกแบบแฟชั่น เธอกับเพื่อนที่คบมานานเริ่มทำแบรนด์เสื้อผ้าชื่อ ‘Milk Fed’ ซึ่งโซเฟียมุ่งไปที่การออกแบบ ส่วนเพื่อนของเธอรับผิดชอบงานด้านการผลิต ธุรกิจของทั้งคู่ค่อย ๆ เติบโต กระทั่งประสบความสำเร็จ สินค้าส่วนใหญ่เป็นเสื้อปริ้นโลโก้ที่ได้แรงบันดาลใจจากยุค 1980 

โซเฟียยังเปิดร้านเสื้อผ้าของตัวเองที่ชื่อว่า 'Heaven-27' เพื่อขายสินค้าจาก Milk Fed ด้วย ร้านเสื้อผ้าของเธอส่วนใหญ่เปิดในลอสแองเจลิสและญี่ปุ่น 

อย่างไรก็ตาม โซเฟียเริ่มกังวลว่าตัวเองกำลังหลงทาง และเธอควรทุ่มเทพลังกับงานเพียงอย่างเดียว เธอจึงไปขอคำปรึกษาจากพ่อว่าเธอควรจะเลือกทำอะไรดี ซึ่งพ่อของเธอให้คำตอบว่า “ลูกไม่จำเป็นต้องเลือกทำอะไรอย่างเดียว ลูกควรจะไล่ตามทุกอย่าง อะไรก็ได้ที่ลูกสนใจ แล้วในที่สุดพวกมันจะหลอมรวมกันอย่างลงตัว”

เมื่อทุกอย่างหลอมรวมกันอย่างลงตัว 

เมื่อได้รับคำแนะนำจากผู้เป็นพ่อ โซเฟียจึงกลับมาทำทุกอย่างที่เธอสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป ถ่ายภาพ ออกแบบแฟชั่น การแสดง หรือแม้แต่เป็นพิธีกรรายการทีวี โดยเมื่อปี 1995 เธอกับ ‘โซอี้ แคสซาเวเตส’ ลูกสาวของผู้กำกับ ‘จอห์น แคสซาเวเตส’ ได้ปรากฏในรายการ Hi-Octane ทางช่อง Comedy Central 

รายการนี้เป็นรายการสำหรับวัยรุ่น ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหนัง แฟชั่น และคนดัง แต่น่าเสียดายที่ออนแอร์เพียงไม่กี่ตอนก็หยุดไป 

ปี 1998 ทุกอย่างดูเหมือนจะเริ่มลงตัว เพราะเป็นปีที่โซเฟียทั้งเขียน กำกับ และสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกของตัวเอง เป็นภาพยนตร์สั้นแนวคอมเมดี้ที่ชื่อว่า ‘Lick the Star’ 

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแรกที่เธออยู่เบื้องหลัง ย้อนไปเมื่อปี 1989 เธอเคยช่วยพ่อของเธอเขียนสคริปต์ภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘Life without Zoe’ ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์กวีนิพนธ์เรื่อง ‘New York Stories’ ซึ่งเธอยังได้ออกแบบเสื้อผ้าในภาพยนตร์ด้วย 

หลังจากทำภาพยนตร์ Lick the Star เสร็จ เธอประกาศว่า เธอคิดออกแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่เธอต้องทำ 

ในปี 1999 หรือเพียง 1 ปีต่อมา เธอได้ปล่อยภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของตัวเอง ‘The Virgin Suicides’ ซึ่งเธอได้แสดงฝีมือในการเขียนบทด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือของ ‘เจฟฟรีย์ ยูจินนีดีส’ นักเขียนชาวอเมริกัน และผลิตโดย ‘Zoetrope’ บริษัทผลิตภาพยนตร์ของพ่อเธอ 

แน่นอนว่านักวิจารณ์จ้องถล่มเธอในฐานะลูกสาวผู้กำกับฮอลลีวูด ที่ได้รับการช่วยเหลือจากพ่อที่เป็นคนดัง แต่กลายเป็นว่าภาพยนตร์ที่พูดถึงการตัดสินใจฆ่าตัวตายของเด็กสาว 5 พี่น้อง ทำให้โซเฟียได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม ในแง่การกำกับภาพและรสนิยมด้านการออกแบบ

ความสำเร็จจากภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้โซเฟียถูกมองในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถ และหลังจากนั้นนักวิจารณ์ก็ตั้งตารอผลงานภาพยนตร์เรื่องใหม่ของเธอ แทนที่จะจับผิดเหมือนเมื่อก่อน 

โซเฟียผู้ก้าวพ้นเงาพ่อ

ความสำเร็จจากหนังเรื่อง The Virgin Suicides กระตุ้นให้โซเฟียอยากเขียนบทภาพยนตร์ของตัวเอง เธอย้อนกลับไปคิดถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นตอนที่ทำงานด้านเสื้อผ้าและถ่ายภาพให้นิตยสารในโตเกียว

ผลที่ได้ออกมาคือภาพยนตร์เรื่อง ‘Lost in Translation’ (2003) ซึ่งโซเฟียไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เขียนบทเท่านั้น เธอยังนั่งเป็นโปรดิวเซอร์และกำกับภาพยนตร์ด้วยตัวเองอีกด้วย 

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวชาวอเมริกันสองคนที่ต้องเดินทางไปโตเกียว คนแรกเป็นคนดังวัยกลางคนชื่อ ‘บ็อบ แฮร์ริส’ (แสดงโดย ‘บิลล์ เมอร์เรย์’) ซึ่งต้องเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อถ่ายทำโฆษณาวิสกี้ ส่วนอีกคนคือ ‘ชาร์ล็อต’ (แสดงโดย ‘สการ์เล็ต โจแฮนสัน’)หญิงสาวที่เพิ่งออกจากมหาวิทยาลัย เธอเดินทางมาญี่ปุ่นพร้อมกับสามีซึ่งเป็นช่างภาพ และต้องอยู่เพียงลำพังระหว่างที่สามีออกไปทำงาน 

โซเฟียเล่าเรื่องราวที่คนสองคนใช้รับมือกับวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย บ็อบและชาร์ล็อตเป็นเพียงคนสองคนที่โคจรมาพบกันในช่วงเวลาที่พวกเขาไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นใคร และพวกเขากำลังอยู่ที่ไหนในโลกใบนี้ 

โซเฟียเคยให้สัมภาษณ์ว่า นี่คือสิ่งที่เธอเคยรู้สึกเมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่น “ฉันจำได้ว่าเคยถามตัวเองว่า แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราควรจะทำอย่างไร” 

โซเฟียถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ในโตเกียวโดยใช้เวลาเพียง 27 วัน ด้วยงบเพียง 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นงบก้อนเล็กมากสำหรับการทำภาพยนตร์ และเป็นอีกครั้งที่โซเฟียได้นำความสามารถด้านการออกแบบและถ่ายภาพมาสร้างสไตล์การทำภาพยนตร์ของตัวเอง จนได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ 

‘เดวิด แอนเซน’ คอลัมน์นิสต์นิตยสาร Newsweek กล่าวว่า “โซเฟียเป็นคนอบอุ่น ช่างสังเกต เธอมีสไตล์ที่แตกต่างกับพ่อของเธอ ถ้าฟรานซิสเป็นแกรนด์โอเปร่า โซเฟียก็เป็นดนตรีเชมเบอร์” 

นักวิจารณ์พากันชื่นชม Lost in Translation โดยยกย่องว่างดงามและสละสลวย บางคนถึงกับกล่าวว่านี่คือผลงานที่ “ไร้ที่ติ” และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็สามารถกวาด 3 รางวัลจากเวทีลูกโลกทองคำไปครอง ได้แก่ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงชายยอดเยี่ยม นอกจากนี้โซเฟียยังคว้ารางวัลสูงสุดจากสถาบัน New York Film Critics Circle และจากเวที Independent Spirit Award ซึ่งมอบรางวัลแก่ภาพยนตร์ฟอร์มเล็กที่ไม่ได้สร้างโดยสตูดิโอยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวูด

ในปี 2004 ขณะอายุ 32 ปี โซเฟียได้สร้างประวัติศาสตร์ในวงการภาพยนตร์ ด้วยการเป็นผู้หญิงชาวอเมริกันคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ โดยก่อนหน้านั้นมีผู้หญิงเพียงสองคนที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนี้ ได้แก่ ผู้กำกับหญิงชาวอิตาลี ‘ลินา เวิร์ตมูลเลอร์’ จากหนังเรื่อง ‘Seven Beauties’ เมื่อปี 1976 และผู้กำกับหญิงชาวนิวซีแลนด์ ‘เจน แคมเปียน’ จากหนังเรื่อง ‘The Piano’ เมื่อปี 1993

ครั้งนั้นเธอยังเป็นผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดที่เคยมีชื่อเข้าชิงออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย 

ในปีนั้น โซเฟียชนะรางวัลออสการ์ แต่เป็นสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม โดยเธอเสียรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้กับ ‘ปีเตอร์ แจ็คสัน’ ผู้กำกับ ‘The Lord of the Rings: The Return of the King’

ถึงกระนั้น ชื่อเสียงของเธอในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น หลังผ่านช่วงเวลาหลายปีของการทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน การค้นหาตัวเอง การเฝ้าสังเกต และลองผิดลองถูก กระทั่งประสบผลสำเร็จ 

นักวิจารณ์พูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ของเธอว่า ชวนเพ้อฝัน หรือไม่ก็เหมือนฝัน และต่างพูดถึงผู้กำกับหญิงคนนี้ในทิศทางเดียวกันว่า เป็นคนขี้อายและเงียบขรึม เห็นได้ชัดจากการที่เธอดูเหมือนจะอึดอัดเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางสปอตไลท์

‘แอนโธนี เบรซนิกัน’ ซึ่งสัมภาษณ์เธอเมื่อปี 2004 กล่าวว่า เธอสุภาพ คิดมาก แต่ก็ไม่ใช่คนเรียบร้อย เช่นเดียวกับตัวละครชาร์ล็อตใน Lost in Translation 

โซเฟียยังมุ่งมั่งทำงานของเธอต่อไป และอีก 2 ปีต่อมาเธอก็มีผลงานภาพยนตร์เรื่อง ‘Marie Antoinette’ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับราชินีผู้โด่งดังแห่งฝรั่งเศส โดยเล่าเรื่องในมุมมองที่สดใหม่ เป็นส่วนตัว มากกว่าที่จะเล่าในมุมประวัติศาสตร์ทั่วไป 

ปี 2017 โซเฟียกลายเป็นผู้หญิงคนที่สองที่คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวที ‘Cannes Film Festival’ จากหนังเรื่อง ‘The Beguiled’ ซึ่งนำแสดงโดย ‘นิโคล คิดแมน’

ผู้กำกับหญิงคนโปรดโลกแฟชั่น

นอกจากรางวัลที่การันตีความสามารถด้านภาพยนตร์ ผู้กำกับหญิงซึ่งปีนี้จะมีอายุครบ 52 ปี ยังได้รับการยกย่องในเรื่องการแต่งกายด้วยสไตล์ที่เรียบง่ายแต่ดึงดูด 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเธอเคยฝึกงานกับชาแนล และเคยมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง ทั้งยังเป็นเพื่อนกับ ‘มาร์ค จาค็อบ’ ถึงขั้นที่เขาตั้งชื่อกระเป๋ารุ่นโซเฟียตามชื่อของเธอ จึงไม่น่าแปลกเลยที่ The Virgin Suicides และ Marie Antoinette จะได้รับเสียงชื่นชมจากคนในโลกแฟชั่น โดยเฉพาะ Marie Antoinette ซึ่งคว้ารางวัลออสการ์ สาขาการออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมไปได้สำเร็จ

เห็นได้ชัดว่าโซเฟียนั้นรักแฟชั่น และมีรสนิยมด้านแฟชั่นชนิดหาตัวจับยาก เมื่อรวมเข้ากับนิสัยที่สุขุม การได้ทำงานเบื้องหลัง ความร่ำรวย การได้รับการเลี้ยงดูในต่างประเทศ คุณสมบัติเหล่านี้จึงทำให้เธอกลายเป็น “สไตล์ไอคอน” 

ชุดของเธอนั้นใช้งานได้จริง เรียบง่ายและคลาสสิค แม้จะไม่ได้แสดงถึงความเย้ายวนใจและความเป็นผู้หญิงก็ตาม

ปี 2008 โซเฟียหวนคืนสู่โลกแฟชั่นด้วยการออกแบบกระเป๋าหนังให้ ‘หลุยส์ วิตตอง’ 

โซเฟียยังเป็นคนที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร และอะไรที่เหมาะกับเธอ ไม่ว่าจะเป็นส้นสูงรัดข้อเท้า ชุดเดรสกับกางเกงรัดรูป และเสื้อเชิ้ตเท่ ๆ 

ความมินิมอลของเธอยังปรากฏผ่านการแต่งหน้า ซึ่งเธอมักจะมาในลุคปัดแก้มบาง ๆ และริมฝีปากสีแดง 

ตระกูลฮอลลีวูด

นอกจากพ่อแม่ของโซเฟียแล้ว ปู่ของเธอ ‘คาร์ไมน์ คอปโปลา’ ยังเป็นนักดนตรี วาทยากร นักแต่งเพลง ที่ทำงานให้กับวงซิมโฟนีนับไม่ถ้วนในสหรัฐอเมริกา

คาร์ไมน์เริ่มมีชื่อเสียงเมื่อย้ายจากอิตาลีมายังฮอลลีวูดและแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์จำนวนมาก โดยเฉพาะหนังที่กำกับหรือสร้างโดยลูกชายของเขา ‘ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา’ 

เมื่อปี 1974 เขาชนะรางวัลออสการ์จากเพลงประกอบภาพยนตร์ The Godfather Part III ของฟรานซิส ด้วย

อาของโซเฟีย ‘ทาเลีย ไชร์’ (น้องสาวของฟรานซิส) โด่งดังจากการรับบท ‘เอเดรียน’ ใน Rocky (1976) ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยม ส่วนลูกชายของเธอ ‘เจสัน ชวาตซ์แมน’ ก็เป็นนักแสดงเช่นกัน โดยรับบทในภาพยนตร์เรื่อง Rushmore (1998)

นักแสดงที่คนไทยคุ้นชื่อเป็นอย่างดี ‘นิโคลัส เคจ’ ก็เป็นลูกพี่ลูกน้องของโซเฟียเช่นกัน เขาเป็นลูกชายของ ‘ออกัสต์ คอปโปลา’ ซึ่งเป็นพี่ชายของฟรานซิส (นิโคลัสคว้าออสการ์สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง Leaving Las Vegas)

‘โรมัน คอปโปลา’ พี่ชายของโซเฟีย ก็เป็นสมาชิกในครอบครัวอีกคนที่ปรากฏตัวในภาพยนตร์ ทั้งในเรื่อง The Virgin Suicides และ Lost in Translation ซึ่งเขาพ่วงตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับให้กับภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องด้วย 

โซเฟียเคยแต่งงานกับผู้กำกับหนัง ‘สไปค์ โจนซ์’ ทั้งคู่พบกันระหว่างเป็นนักศึกษาที่สถาบันศิลปะแห่งแคลิฟอร์เนีย บางคนมองว่าตัวละครช่างภาพที่เป็นสามีของนางเอกในเรื่อง Lost in Translation นั้น ได้แรงบันดาลใจจากสไปค์ และมองว่าโซเฟียเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะเธอกำลังมีปัญหาในชีวิตคู่ แต่โซเฟียก็ปฏิเสธข่าวลือทั้งหมด แม้เธอจะเคยยอมรับว่าบทภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของเธอนั้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัว

ทั้งโซเฟียและสไปค์ เป็นคู่แต่งงานคู่แรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่ในปี 2003 โซเฟียกับสไปค์ก็แยกทางกัน จบชีวิตสมรส 4 ปี

หลังเลิกกับสไปค์ โซเฟียคบกับ ‘เควนติน แทแรนติโน’ เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ต่อมาในปี 2011 โซเฟียแต่งงานอีกครั้งกับ ‘โทมัส มาร์ส’ ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 2 คน ได้แก่ ‘โรมี’ และ ‘โคซิมา’ 

 

อ้างอิง:

notablebiographies

fashionista

rte.ie

britannica

imdb