03 เม.ย. 2566 | 15:05 น.
- สตูดิโอจิบลิ เป็นหนึ่งในสตูดิโอชื่อดัง ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานมากมาย อาทิ Spirited Away, My Neighbor Totoro, Nausicaä of the Valley of the Wind
- เมื่อพูดถึงสตูดิโอนี้ หลายคนจะนึกถึง ‘ฮายาโอะ มิยาซากิ’
- แต่ความจริงยังมีอีกคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของจิบลิ นั่นคือ ‘โทชิโอะ ซูซูกิ’
พิพิธภัณฑ์สตูดิโอจิบลิ (Ghibli Museum) ไม่ไกลจากกรุงโตเกียว น่าจะเป็นจุดหมายท่องเที่ยวในฝันของนักเดินทาง และหลายคนก็เป็นแฟนพันธุ์แท้ผลงานของสตูดิโอจิบลิเช่นกัน ทั้ง Spirited Away, My Neighbor Totoro หรือ Nausicaä of the Valley of the Wind
และเมื่อพูดถึง Studio Ghibli ชื่อของ ‘ฮายาโอะ มิยาซากิ’ (Hayao Miyazaki) ก็ต้องพ่วงตามมาด้วยเสมออย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือเขาไม่ได้ก่อตั้งและขับเคลื่อนจิบลิ ด้วยตัวคนเดียว แต่เขามีผู้ร่วมก่อตั้งคนหนึ่งที่ฝ่าฟันอุปสรรคและเป็นอีกหนึ่งกุญแจความสำเร็จมาตั้งแต่เริ่มต้น
เขาคนนั้นคือ ‘โทชิโอะ ซูซูกิ’ (Toshio Suzuki) ผู้ร่วมก่อตั้งจิบลิ
ความฝันในวันที่ดูเหมือนไร้อนาคต
โทชิโอะเกิดที่เมืองนาโกย่าเมื่อปี 1948 ในยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นยังคงมีร่องรอยความพังพินาศของบ้านเมืองและความยากลำบากของชีวิตผู้คน ไม่มีช่วงเวลาไหนแล้วที่ญี่ปุ่นจะไร้ซึ่งความฝันเท่ายุคนี้ นาโกย่าบ้านเกิดของเขายุคนั้นเป็นพื้นที่ที่ได้รับบาดแผลสงครามชนิดที่ต้องมีการวางแผนสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
โทชิโอะจึงเติบโตมาด้วยสายตาที่เห็น ‘สภาพความโหดร้าย’ ของชีวิตคนและของบ้านเมืองญี่ปุ่นยุคนั้นที่ไม่ได้สวยงาม ไม่ได้ศิวิไลซ์ ไม่ได้ร่ำรวย และเด็กหลายคนไม่ได้เติบโตมาโดยมีแรงบันดาลใจจากตัวการ์ตูนหรืออนิเมะคอยค้ำจุนจิตใจเหมือนสมัยนี้มากนัก
บางทีคนเราก็มีแรงกระตุ้นอยากทำบางอย่างให้สำเร็จในสิ่งที่วัยเด็กเราขาดหายไป และนี่เอง…อาจเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่เขาอยากสร้างแรงบันดาลใจผ่านตัวละครแก่เด็กญี่ปุ่นเจเนอเรชันยุคถัดจากเขา
อาจเพราะโลกความจริงข้างนอกไม่สวยงามนัก โทชิโอะจึงมักหลีกหนีสู่โลกของตัวหนังสือ เขาเริ่มบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่วัยเด็ก ชอบหมกตัวอยู่ในบ้านที่มีชั้นหนังสือขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยมังงะและหนังสือนานาชนิดซึ่งมี ‘อิทธิพลทางความคิด’ และเปิดประตูแห่งจินตนาการอันกว้างไกล
ว่ากันว่า หนังสือที่เขาอ่านเรื่อยมาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่มีมากกว่า 8,800 เล่มเลยทีเดียว
งานแรกในวงการครีเอทีฟ
แม้สภาพแวดล้อมอาจไม่เอื้ออำนวย แต่โทชิโอะก็เป็นเด็กหัวดีโดยเฉพาะด้านครีเอทีฟ ในปี 1967 เขาสามารถเข้าเรียนที่สถาบันการศึกษาขั้นนำของญี่ปุ่นอย่างมหาวิทยาลัยเคโอ (Keio University) ได้สำเร็จ และจบการศึกษาจากภาควิชาวรรณคดีในอีก 5 ปีต่อมา
เมื่อเรียนจบ เขาได้เข้าทำงานกับสำนักพิมพ์ Tokuma Shoten โดยอยู่แผนกวางแผนกลยุทธ์ให้กับนิตยสาร Asahi Geino
ปกติแล้ว ธรรมชาติของคนสายครีเอทีฟมักไม่ค่อยถนัดด้านการวางแผนคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ การที่โทชิโอะได้รับมอบหมายงานเชิงวางแผนกลยุทธ์แบบนี้ จึงเป็นเสมือนการพัฒนาทักษะตัวเองในอีกด้านหนึ่งที่อาจไม่ได้โดดเด่นเท่าครีเอทีฟ
แต่ใครจะไปรู้ งานแบบนี้เองที่ปูทางให้เขาสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารที่ต้องรู้กลยุทธ์รอบด้านในเวลาต่อมา
ระหว่างทำงานนี้เอง โทชิโอะยังได้รับผิดชอบงานหลากหลายประเภท ซึ่งนอกจากได้เรียนรู้งานเชิงกว้างแล้ว ยังได้สร้างคอนเนกชันในวงการอนิเมะและภาพยนตร์ เขาได้สมาคมกับคนมีชื่อเสียงมากมาย เช่น ผู้กำกับภาพยนตร์ นักวาดการ์ตูน นักสร้างแอนิเมชัน จนตัวเขาเองก็เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นบ้างแล้ว
ปี 1978 โทชิโอะขึ้นสู่การเป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสารใหม่ของบริษัทอย่าง Animage ในเส้นทางสายงานนี้เอง เขามีโอกาสได้พบกับ ‘ฮายาโอะ มิยาซากิ’ เป็นครั้งแรก
ใครจะไปรู้ว่า จากคนแปลกหน้าในวันนั้น จะกลายเป็นคู่หูเพื่อนร่วมงานที่สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ญี่ปุ่น
แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น ตอนแรกโทชิโอะพยายามส่งสัญญาณบวกถึงความเป็นมิตรและเสนอการเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมงานเชิงพันธมิตรต่าง ๆ แต่เขาก็ถูกปฏิเสธตลอด โทชิโอะต้องพิสูจน์ตัวเอง ทุ่มเท และตื๊ออยู่หลายครั้ง จนสุดท้ายนำไปสู่การมีส่วนร่วมเบื้องหลังการทำงานและตีพิมพ์มังงะเรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind ได้สำเร็จในปี 1984 ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีเยี่ยม
และนี่เองที่ฮายาโอะ มิยาซากิเริ่มเห็นถึงศักยภาพ ความสามารถ และแรงจูงใจของชายคนนี้ ก่อนที่ทั้งสองจะตกลงร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) ในอีก 1 ปีให้หลังในปี 1985 และให้กำเนิดผลงานเรื่องแรกในปีต่อมานั่นคือ Castle in the Sky
ผลงานมาสเตอร์พีซ
ปี 1988 โทชิโอะริเริ่มเสนอไอเดียอนิเมะที่แปลกใหม่สุดท้าทาย และปูทางมาสู่เรื่อง ‘โทโทโร่เพื่อนรัก’ (My Neighbor Totoro) ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีว่าเป็นหนึ่งในอนิเมะที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาลของญี่ปุ่น และได้ยกระดับชื่อเสียงสตูดิโอจิบลิ (และชื่อเสียงของเขา) ให้อยู่แถวหน้าสุดของประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อยในการสร้างสรรค์ผลงานมาสเตอร์พีซ อาทิเช่น
เขายังมีส่วนคิดค้นชื่อเรื่องภาพยนตร์อนิเมะเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง หนึ่งในจุดแข็งของโทชิโอะคือ การคิดค้นชื่อเรื่องภาพยนตร์ คำโปรย ประโยคเด็ดคำคม และงานที่เกี่ยวข้องกับด้าน Copywriting ทั้งหลาย
คำพูดและตัวอักษรนั้นทรงพลัง ถ้าเราฟังแล้วรู้สึกใช่เมื่อไร มันจะน่าจดจำและดังก้องกังวานในใจเราไปตลอด บางคำพูดของคาแรกเตอร์ที่กลายมาเป็น ‘ประโยคคลาสสิก’ ก็เป็นผลงานของโทชิโอะ
ในเวลาต่อมา โทชิโอะได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้อำนวยการสร้างของสตูดิโอจิบลิ ทุกเรื่อง จนสามารถขึ้นเป็นประธานบริษัทในปี 2005
ทัศนคติดูโอ
ในเมื่อต้องทำงานกับคนระดับตำนานอย่างฮายาโอะ มิยาซากิ แบบใกล้ชิด โทชิโอะจึงมีทัศนคติการทำงานที่อาจแตกต่างจากเพื่อนร่วมงานอื่น กล่าวคือ เขาจะพยายาม ‘เว้นระยะห่าง’ อยู่เสมอ
อย่างเช่น แม้จะทำงานร่วมกันมากว่า 4 ทศวรรษ แต่เขายังใช้ภาษาสุภาพเวลาคุยกันอยู่เลย (ภาษาญี่ปุ่นจะใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกันสำหรับคำสุภาพที่ใช้ในการทำงาน และคำปกติที่เราคุยกับเพื่อนสนิทในชีวิตประจำวัน)
อย่างไรก็ตาม เขาจะ ‘ให้เกียรติ’ ในความคิดของกันและกันเสมอ แต่ก็ไม่ผ่อนปรนเมื่อเห็นต่าง เป็นหยินกับหยางที่สร้างความสมดุล พร้อมเป็นคนสนับสนุนไปให้สุด ขณะเดียวกันก็พร้อมโต้แย้งคานอำนาจเต็มที่
พวกเขาทำงานร่วมกันมามากกว่า 40 ปี เทียบเท่ากับอายุชีวิตคนคนหนึ่ง เทียบเท่ากับยุคเจเนอเรชันที่เปลี่ยนผ่าน แต่พวกเขายังคงเป็นคู่หูเพื่อนร่วมงานที่สตรอง รักษาความสัมพันธ์ที่ลงตัวระหว่างงาน - ชีวิตส่วนตัว และสร้างผลงานอันยอดเยี่ยมได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ไม่ยึดติดชุดความคิดเดิม ๆ
โทชิโอะยังขึ้นชื่อเรื่องความเอาใจใส่แฟนคลับ เพราะเป็นคนกลุ่มนี้ที่คอยสนับสนุนจิบลิจนมีอย่างทุกวันนี้
เขายังคอยจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้เจอกับแฟนคลับ หรือการให้แฟนคลับได้ระลึกถึงความหลัง
ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น มีการปล่อยคลิปความยาว 1 นาที สอนวาด ‘โตโตโระ’ ตัวละครดังใน My Neighbor Totoro โดยเขาวาดแบบสด ๆ ด้วยลายเส้นเรียบง่ายเพื่อให้แฟน ๆ ได้หัดวาดและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วม
ปกติแล้วคนที่สำเร็จยิ่งใหญ่ระดับตำนาน มักมีกรอบความคิด ความคอนเซอร์เวทีฟ ความติสต์บางอย่างที่ต้องการแตกต่างหลุดกรอบจากคนอื่นในวงการ อย่างเช่น คนอื่นอาจปฏิเสธเอาผลงานจิบลิเข้าไปสตรีมมิ่งฉายใน Netflix
แต่โทชิโอะตัดสินใจเอาเข้าฉายใน Netflix เขาโอบกอดคลื่นความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มองว่ามันก็ไม่ได้แตกต่างจากยุคก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำที่เรามักเช่าวิดีโอกลับมาดูที่บ้าน ก่อนพัฒนามาเป็นซีดี ดีวีดี การสตรีมมิ่งยังมาพร้อมเทคโนโลยีการรับชมที่คมชัด ให้ภาพสีสันสวยงามละเอียดยิบในแบบที่ยุคสมัยก่อนได้แต่จินตนาการ
ในแง่ธุรกิจ นี่ยังเป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าบริการ (Channel distribution) ให้มากขึ้น และสร้างการรับรู้ใหม่ ๆ (Brand awareness) แก่ฐานผู้ชมคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ โทชิโอะยังมองในระดับอุตสาหกรรมภาพใหญ่ด้วยว่า การสตรีมมิ่งแบบนี้ยังช่วยรักษาภาพยนตร์คลาสสิกเก่า ๆ ให้ยังคงมีที่ยืนในปัจจุบัน (ไม่ได้หายไปตามยุคสมัย)
ในเส้นทางอันยิ่งใหญ่ของสตูดิโอจิบลิ สปอตไลต์ทุกดวงฉายแสงมาที่ฮายาโอะ มิยาซากิ เป็นธรรมดาที่เรามักโฟกัสแต่พระเอกฉากหน้าที่โดดเด่นจนหลงลืมไปว่าฉากหลัง (หรือคนที่อยู่ข้างกาย) ด้วยไม่น้อยที่คอยสร้างความสำเร็จร่วมกัน
ถ้าไม่มีตัวละครอย่างโทชิโอะ ซูซูกิ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอนาคตจะคลี่ออกมาเป็นแบบไหน จิบลิอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่แบบทุกวันนี้? หรืออาจไม่มีจิบลิเกิดขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ ?
.
ภาพ : Getty Images
.
อ้างอิง
.