11 เม.ย. 2566 | 17:00 น.
นอกจาก ‘บง จุน-โฮ’ (Bong Joon-ho) หรือ ‘นา ฮง-จิน’ (Na Hong-jin) หากจะให้กล่าวถึงผู้กำกับภาพยนตร์แห่งแดนกิมจิอีกสักคน ‘ปาร์ค ชาน-วุค’ (Park Chan-wook) คือคนสำคัญที่ไม่พูดถึงคง ‘ไม่ได้’ งานของชาน-วุคคืองานที่สะท้อนมุมมืดของความเป็นมนุษย์ได้อย่างตรงไปตรงมา แถมยังดังไกลไปทั่วโลก
และในครั้งนี้ นับเป็นการกลับมาอีกครั้งอย่างน่าจับตามองของ ปาร์ค ชาน-วุค กับผลงานชิ้นล่าสุดอย่าง Decision to Leave (2022) ที่นักสืบผู้รับผิดชอบคดีฆาตกรรมดันไปหลงรักกับภรรยาของผู้เสียชีวิตในคดี แต่เธอกลับเป็นผู้ต้องสงสัยเบอร์หนึ่งในคดีนี้
โดยผลงานที่สร้างชื่อเสียงและกลายเป็นภาพยนตร์ขึ้นหิ้งก็ต้องยกให้ ‘The Vengeance Trilogy’ ที่ประกอบไปด้วยภาพยนตร์สามเรื่องที่มีแก่นกลางเดียวกันอย่าง ‘การล้างแค้น’ โดยในบทความนี้ เราจะพาไปรู้จักผลงานชิ้นนี้ว่า ชาน-วุค ได้ตีแผ่ประเด็นความแค้นออกมาได้แยบยลเพียงใด
The Vengeance Trilogy - ไตรภาคแห่งการล้างแค้น
ถ้าจะให้กล่าวถึงผลงานชิ้นเอกที่กลายเป็นภาพจำของ ปาร์ค ชาน-วุค และถือเป็นเหล่าภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็ต้องเป็นเรื่องใดไปไม่ได้ นอกเสียจากภาพยนตร์สามเกลอที่ถูกมัดรวมกันแล้วแปะชื่อว่า ‘The Vengeance Trilogy’ หรือ ‘ไตรภาคแห่งการล้างแค้น’ ที่ประกอบไปด้วยภาพยนตร์สามเรื่องได้แก่ Sympathy for Mr.Vengeance (2002), Oldboy (2003), และ Lady Vengeance (2005)
แม้จะถูกควบรวมไว้อยู่ในไตรภาคเดียวกัน แต่ภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องก็หาได้มีเรื่องราวที่เกี่ยวโยงกันไม่ แต่สิ่งที่เสมือนเชือกที่มัดภาพยนตร์ทั้งสามให้มาอยู่รวมกันเป็นไตรภาคได้ก็คือ ‘ธีม’ ของเรื่องที่ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับ ‘การแก้แค้น’ เป็นหลัก
แรกเริ่มเดิมที ผู้กำกับเจ้าของผลงานอย่างชาน-วุคไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะสร้างภาพยนตร์เหล่านี้ออกมาเป็นไตรภาคเลยแม้แต่น้อย แต่พอได้เริ่มจากเรื่องราวสุดหดหู่อย่าง Sympathy for Mr.Vengeance และต่อด้วยภาพยนตร์สุดช็อกในปีต่อมาอย่าง Oldboy ชาน-วุคก็ได้เห็นว่าภาพยนตร์ทั้งสองมีแก่นกลางที่เชื่อมต่อกัน จึงได้สร้าง Lady Vengeance เป็นผลงานลำดับที่สาม และสรุปจบไตรภาคด้วยสารสุดแสนทรงพลังดังที่เราจะกล่าวถึงภายในบทความนี้
Sympathy for Mr.Vengeance (2022) คือจุดเริ่มต้นของไตรภาคที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวังวนความแค้นของตัวละครหลักทั้งสอง คนแรกคือ ‘ริว’ (Ryu) ชายหูหนวก อดีตพนักงานโรงงานที่ตกงานและต้องหาเงินไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลในการเปลี่ยนไตให้พี่สาว จนต้องไปลักพาตัวลูกสาวของอดีตเจ้านายเพื่อเรียกค่าไถ่ และคนที่สองคือ ‘ดงจิน’ (Dong-jin) ประธานบริษัทสุดมั่งคั่งที่ลูกสาวสุดที่รักเพียงคนเดียวถูกลักพาตัวไป
Oldboy (2003) เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคุณพ่อนามว่า ‘โอ แด-ซู’ (Oh Dae-su) ที่อยู่ดี ๆ ก็ถูกลักพาตัวไปขังลืมในห้องปิดตาย พรากจากลูกไปกว่า 15 ปี โดยไม่บอกสาเหตุเลยแม้แต่คำเดียว ก่อนที่จะถูกปล่อยออกมาเพื่อตามหาความจริงภายในเวลา 5 วัน]
Lady Vengeance (2005) ภาพยนตร์ลำดับสามที่สรุปจบไตรภาคแถมยังขยี้แก่นเกี่ยวกับ ‘ความแค้น’ ได้อย่างลึกซึ้ง โดยเรื่องราวจะเกี่ยวกับแผนการล้างแค้นสุดโหดของ ‘ลี กึม-จา’ (Lee Geum-ja) หญิงสาวที่ต้องรับโทษในเรือนจำกว่า 13 ปีจากคดีฆาตกรรมและลักพาตัวเด็ก ซึ่งเป็นคดีที่เธอไม่ได้ก่อ และหลังจากที่ได้รับอิสรภาพกลับคืน แผนล้างแค้นสุดโหดจึงได้เริ่มขึ้น
ปาร์ค ชาน-วุค นับว่าเป็นผู้กำกับที่พาผู้ชมไปสำรวจความดำมืดในจิตใจมนุษย์อย่างไม่เขินอายเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของความแค้น ความรู้สึกผิด สัญชาตญาณดิบ ความรุนแรง หรือแม้แต่ราคะ เขาก็กล้าที่จะจับต้องมันอย่างตรงไปตรงมา แถมยังกลั่นบทสรุปสอนใจที่อาจทำให้ผู้ชมมีวันที่หมองหม่นไปหลายวัน
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะส่วนหนึ่งอาจจะเพราะความโหดร้ายและความรุนแรงที่ถูกตีแผ่ออกมาผ่านหน้าจอเหล่านั้น แต่อีกเหตุผลก็เพราะสารเหล่านั้นมันเป็นความจริงเสียยิ่งกว่าจริงที่เราชาวมนุษย์อยากจะซุกมันเอาไว้ที่ใต้พรม เป็นความจริงที่ยากจะปฏิเสธว่ามันคือความดำมืดภายในจิตใจของเรานี้เอง
/ เนื้อหาต่อไปนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ทั้งสามจาก The Vengeance Trilogy /
ดาบสองคมของวังวนความแค้น
แม้จะเป็นเรื่องราวที่มีแกนกลางเกี่ยวกับการล้างแค้น แต่ภาพยนตร์ของ ปาร์ค ชาน-วุค ก็ไม่ได้เหมือนกับผลงานของ เควนติน ทารันติโน (Quentin Tarantino) อย่าง Inglorious Basterds (2009) หรือ Django Unchained (2012) ที่พาคนดูไปสะใจกับการล้างแค้นเหล่าตัวร้ายอย่างสาสม ชาน-วุคใส่ ‘การล้างแค้น’ ไปในภาพยนตร์ที่ฟังก์ชันแตกต่างออกไป เขาใส่มันในแบบที่จริงแท้และมีความเป็นมนุษย์มากที่สุด เพื่อพยายามเตือนกับเราว่าอย่าตกไปเป็นทาสของมัน
ความแค้นนั้นมีสองคม แน่นอนว่าเราในฐานะมนุษย์ย่อมเคยเคียดแค้นกับอะไรสักอย่างหรือใครสักคน จนบางทีก็มากจนเป็นแรงปรารถนาหลัก และจนบางที - ดังที่เราเห็นจากตัวละครในภาพยนตร์ของชาน-วุค - ก็มากจนมันได้กลืนกินเขาคนนั้นไปทั้งตัว
คำถามสำคัญก็คือว่าการแก้แค้นจะพาผู้มุ่งหวังที่จะได้ล้างมันไปจบที่ไหน หากผู้อ่านท่านใดเป็นชาวพุทธ วลีคำสอนหนึ่งที่ได้ยินจนชินหูก็คงต้องเป็น ‘เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร’ แม้จะไม่ได้มีแก่นกลางเป็นคำสอนสายพุทธ แต่ในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องของชาน-วุค คอนเซ็ปต์เหล่านี้ก็ได้ถูกนำเสนออย่างน่าสนใจ
ยกตัวอย่างเช่นในภาพยนตร์เรื่อง Sympathy for Mr.Vengeance เราจะได้เห็น ‘ดงจิน’ ประธานบริษัทผู้ที่ลูกสาวถูกลักพาตัวเรียกค่าไถ่และเสียชีวิตจากการจมน้ำในเวลาต่อมา แม้เงินนับล้านจะกองอยู่ที่บ้าน แต่ใจของเขากลับว่างเปล่า มีเพียงแรงปรารถนาในการแก้แค้นที่ก่อตัวขึ้นทุกวินาทีที่เคลื่อนผ่านไป
ท้ายที่สุดเขาก็ตามล่าผู้ก่อเหตุจนพบ เริ่มต้นจากแฟนสาวของริวที่เขาทรมานเธอด้วยการช็อตไฟฟ้าเพื่อเค้นข้อมูลจนเสียชีวิต แต่ก่อนตายเธอก็ได้เตือนกับดงจินแล้วว่า หากเธอเป็นอะไรไป สมาชิกกลุ่มอนาธิปไตยหัวรุนแรงจะไม่ปล่อยเขาไว้อย่างแน่นอน หลังจากนั้นดงจินก็ได้หลอกล่อริวจนจับตัวเอาไว้ได้ และก็ได้ทำการปลิดชีพเขาด้วยการเฉือนส้นเท้าในบ่อน้ำจนต้องจมน้ำตายเหมือนลูกของเธอ
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ดงจิน คุณพ่อผู้เศร้าโศกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความแค้นก็ถูกสมาชิกอนาธิปไตยมาเอาคืนจากการที่เขาได้ไปทรมานและฆาตกรรมแฟนสาวของริว Sympathy for Mr.Vengeance ให้ข้อสรุปเราอย่างน่าหดหู่ แทบไม่มีสิ่งใดเลยที่ผู้ชมจะสมหวัง ริว - ผู้เผชิญกับมรสุมชีวิตจนตัดสินใจเลือกทางที่ผิดก็ต้องรับผลกรรมอย่างน่าสลดใจ และ ดงจิน - คุณพ่อผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ต้องมาติดร่างแหแห่งการสูญเสียจนชีวิตถูกครอบงำด้วยความแค้น ก็ต้องพบจุดจบในวังวนของความแค้น เมื่ออีกด้านคมของความแค้น แทงเข้าหาตัว
ยื่นยาพิษให้ตัวเราเอง
ความปรารถนาจะแก้แค้นก็เปรียบเสมือนการยื่นยาพิษให้แก่ตัวเอง และคาดหวังให้ผลลัพธ์ไปตกกับคนที่เราอาฆาต
เรามักได้ยินถ้อยคำทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง หรือจะให้กล่าวนิยามของมันก็คือ ความเคียดแค้นและการล้างแค้นก็เปรียบเสมือนหนทางสู่ ‘การทำลายตัวเอง’ (Self-Destruction) และภาพยนตร์ลำดับที่สองในไตรภาคแห่งการล้างแค้นนามว่า Oldboy ก็ถือเป็นเรื่องราวที่ตีแผ่คอนเซ็ปต์ดังกล่าวออกมาได้อย่างน่าสนใจ ผ่านทั้งพระเอกอย่าง ‘โอ แด-ซู’ และตัวร้ายนามว่า ‘ลี วู-จิน’ (Lee Woo-jin) - จะนิยามว่าตัวร้ายก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพียงแค่หนังไม่ได้เล่าตัวละครดังกล่าวใน ‘ตัวนำเรื่อง’ หรือ ‘Protagonist’ เฉย ๆ แต่เราจะกล่าวถึงประเด็นนี้ในหัวข้อถัดไป
หากได้ชมภาพยนตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็น่าจะทราบกันดีว่าเกิดอะไรขึ้น พระเอกของเราอย่างแดซู ในอดีตเคยไปแอบดูวูจินมีอะไรกับพี่สาวแท้ ๆ ของตัวเอง และแพร่กระจายข่าวนี้ไปทั่ว จน (ตามที่วูจินกล่าวอ้าง) เธอคิดไปเองว่าเธอท้อง และตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในที่สุด จนกระทั่งหลายปีต่อมาที่วูจินตัดสินใจแก้แค้นโดยการจับแดซูไปขัง 15 ปี เพื่อให้ออกมาหลงรักและมีอะไรกับลูกสาวของตัวเอง… เพื่อให้รู้สึกถึงความเจ็บปวดเหมือนที่เขาเคยรู้สึก
ในฝั่งของแดซู เราจะได้เห็นว่าแรงขับเคลื่อนหลักของเขาตลอดเรื่องคือการตามล่าหาคำตอบและ ‘ล้างแค้น’ คนที่เอาตัวเขามาขังกว่า 15 ปี โดยไม่อธิบายอะไรเลยแม้แต่คำเดียว เขาไล่ล่าฝ่าฟันด้วยเชื้อเพลิงแห่งความแค้นก่อนจะค้นพบในภายหลังว่า นี่ไม่ใช่เกมในการล้างแค้นของเขาเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นบ่วงกับดักของวูจินที่เขาเดินเข้าไปติดต่างหาก
ภายหลังจากเรื่องราวการสูญเสียในอดีตเกิดขึ้น ชีวิตของวูจินก็มีแรงปรารถนาหลักคือการล้างแค้นแทบจะไม่ต่างกับแดซู แต่นานและหนักกว่าเสียด้วยซ้ำ กลายเป็นว่าทั้งชีวิตของเขา พร้อมจะอุทิศให้กับการล้างแค้นให้พี่สาวจนมันกลืนตัวเขาทั้งตัวไป ผ่านการวางแผนการแก้แค้นที่เตรียมการมาอย่างแยบยล และแน่นอนว่าแผนดังกล่าวสำเร็จลุล่วง แดซูได้รู้สึกเจ็บปวดในแบบที่เขาเคยรู้สึกเมื่อหลายปีก่อนไม่มีผิด
แต่คำถามคือ - “แล้วยังไงต่อ?”
ในขณะที่ความอาฆาตแค้นครอบงำคนคนหนึ่ง แน่นอนว่าความปรารถนาเดียวคือการบรรลุเป้าหมายแห่งการล้างแค้น บางทีเราก็ได้ทุ่มทุกอย่างที่เรามี ยอมจ่ายราคาเท่าไรก็ได้ เพื่อที่จะสนองความแค้นภายในจิตใจ จนบางทีมันกลับกลายเป็นเป้าหมายหลักหรือเป้าหมายเดียวในชีวิต
แต่เมื่อถึงคราวที่แค้นทั้งหมดได้ชำระจริง ๆ ความว่างเปล่ากลับเป็นสิ่งเดียวที่เขาเหล่านั้นได้ค้นพบ แค้นที่ถูกชำระได้มอบความสุขกลับคืนมาหาเราจริงหรือเปล่า? คงตอบยาก แต่สำหรับแดซู คงไม่ใช่ เขาได้พบความจริงและผลกรรมที่เคยก่อไว้ในอดีต เฉกเช่นเดียวกับวูจิน ที่ต้องเผชิญกับความว่างเปล่า พี่สาวคนเดิมไม่ได้กลับมา แผลเป็นภายในใจก็ไม่ได้จางหายไป และเมื่อได้หันย้อนมองไปกับชีวิตที่ผ่านมา เขาก็ได้จ่ายมันเพื่อการล้างแค้นครั้งนี้…
เขาจ่ายมันด้วยตัวตน ความฝัน และชีวิตทั้งหมด ก่อนจะพบว่าที่ปลายทางมันไม่มีอะไรเลยนอกจากความว่างเปล่า…
เข้าใจอธรรม - เห็นใจธรรมะ
อีกความน่าสนใจในงานของ ปาร์ค ชาน-วุค ที่เราสามารถเห็นได้ในภาพยนตร์ของเขาโดยเฉพาะใน Sympathy for Mr.Vengeance และ Oldboy ก็คือความเทาของตัวละครทั้งสองฝั่ง ไม่ว่าจะเป็น Protagonist (พระเอก) หรือ Antagonist (ตัวร้าย) ก็คือความเทาของทั้งสองตัวละครจนบางทีเราก็เริ่มจะแยกไม่ออกว่าใครชั่วร้ายกว่ากันกันแน่
ใน Sympathy for Mr.Vengeance ชาน-วุคก็ใช้เวลาเกือบครึ่งเรื่องเล่าถึงเรื่องราวของริว ว่าเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้างจนผู้ชม ‘มอง’ และ ‘รู้สึก’ ว่าเขาเป็นเหยื่อของเรื่องนี้ ก่อนจะเปลี่ยนไปเล่าเรื่องราวของดงจินในฐานะเหยื่อ ด้วยเหตุนี้เราก็จะเข้าใจทั้งมุมของริวและดงจิน เข้าใจต้นตอที่มาของการกระทำที่ย้อนไป-มาก็เกี่ยวกันเป็นโยงใยจนไม่รู้จะโกรธใครดี และท้ายที่สุดก็เห็นทั้งคู่พบโศกนาฏกรรมด้วยกันทั้งหมด
ในกรณีของ Oldboy ก็ยิ่งชัดเจนเข้าไปใหญ่ ชัดจนทำให้บางคนเกลียดแดซูเลยเสียด้วยซ้ำ เมื่อความจริงได้เปิดเผยว่าเขาเคยไปก่ออะไรไว้ในอดีตจนทำให้วูจินต้องมาทำการแก้แค้นในวันนี้
ชาน-วุคใส่ความเป็น ‘คน’ ลงไปในตัวละครของเขาอย่างละเอียด เขาใส่ความเป็นมนุษย์ให้ตัวร้าย ใส่ความสีเทาให้ตัวเอก ทำให้เราทั้งเข้าใจตัวร้ายและเห็นใจตัวเอก ทำให้เราไม่ยึดติดอยู่กับมุมมองว่าใครคือพระเอกหรือตัวร้ายเสียด้วยซ้ำ ทำให้เรามองภาพยนตร์ทั้งหมดเป็นเพียงแค่เรื่องราวโศกนาฏกรรมแห่งการแก้แค้นที่ใครเผลอไปข้องเกี่ยวอาจพบกับจุดจบแบบนี้ได้
คุณเองก็แค้นได้นะ
ในภาพยนตร์ลำดับสุดท้ายของไตรภาคอย่าง Lady Vengeance ก็ถือเป็นเรื่องที่พูดถึงความแค้นอย่างตรงไปตรงมา แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการดึงให้เราลอง ‘รู้สึกแค้น’ และได้ลอง ‘รู้สึกได้ล้างแค้น’ เสมือนตัวละครอื่น ๆ ในภาพยนตร์สองเรื่องก่อนดูบ้าง
จุดสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าเป็นการแก้แค้นที่โหดที่สุดก็ไม่ผิดเสียเท่าไรนัก เมื่อ ‘กึมจา’ สามารถจับตัวผู้ร้ายตัวจริงที่เป็นฆาตกรสังหารเด็กมากมายหลายคนและเป็นคนที่ทำให้เธอต้องรับโทษแทนและพรากกับลูกของเธอ Lady Vengeance ได้ปูถึงความชั่วร้ายของชายคนนี้จนทำให้เรา - ผู้ชม - รู้สึกแค้นไปพร้อม ๆ กับตัวละครในเรื่อง ก่อนที่สุดท้ายจะพาเราไปแก้แค้นอย่างสาสม
หลังจากที่กึมจาสามารถจับตัวฆาตกรรายนั้นมาได้แล้ว เธอก็ได้ผูกเขาไว้กับเก้าอี้ และเชิญผู้ปกครองของเด็ก ๆ ที่ตกเป็นเหยื่อทุกคนมา พร้อมอาวุธคนละชิ้นและบัตรคิวคนละใบ เธอได้เปิดวิดีโอวินาทีสุดท้ายของเด็ก ๆ ของทุกคนให้แก่ผู้ปกครองดู ก่อนที่จะให้พวกเขาเดินเข้าไปในห้องที่ฆาตกรคนนั้นถูกมัดอยู่กับเก้าอี้ ผู้ปกครองที่เข้าไปพร้อมอาวุธสามารถทำอะไรกับเขาก็ได้
ความแค้นที่สั่งสมมาตลอดเรื่องของทั้งตัวละครและผู้ชมเสมือนว่าได้ปลดปล่อย และพลุ่งพล่านในฉากนี้ เราจะได้เห็นตัวละครปลดปล่อยสัตว์ประหลาดแห่งความแค้นในตัวออกมาโลดแล่นอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่านี่คือการแก้แค้นในอุดมคติก็ไม่ผิดนัก
แต่สิ่งสำคัญที่ผมอยากชี้ให้เห็นจากจุดนี้คือ ชาน-วุคได้ดึงสัญชาตญาณแห่งความแค้นของเราออกมาด้วย เขาทำให้เรารู้สึกแค้น ทำให้เรารู้สึกได้ล้างแค้น และทำให้เราเข้าใจถึงความรู้สึกภายหลังการล้างแค้นว่ามันรู้สึกอย่างไร ทำให้เรารู้จัก เข้าใจ และได้ประสบกับความแค้นอีกระดับหนึ่ง ผ่านภาพยนตร์สามเรื่องนี้
ครั้งหนึ่ง ปาร์ค ชาน-วุค เคยให้สัมภาษณ์กับ The Shelf เอาไว้ว่า
“ผมว่ามันน่าสนใจและน่าสับสนในเวลาเดียวกัน ที่ผมได้ค้นพบว่าภายในตัวผมมันมีความปรารถนาในความอาฆาตแค้น ความอิจฉาริษยา และอีกหลาย ๆ ความคิดลบ ๆ ซ่อนอยู่ มันจึงทำให้ผมสนใจและอยากลงไปสำรวจมัน และมันเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมอยากทำหนังที่จะไปสำรวจประเด็นเหล่านี้”
เรื่อง : รัฐฐกรณ์ ศิริฤกษ์
ภาพ :
Getty Images
IMDb
อ้างอิง :