30 เม.ย. 2566 | 10:02 น.
- ผู้หญิงไม่เพียงแต่ปรากฏในสื่อบันเทิงเกาหลีมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังถูกนำเสนอในบทบาทที่ทรงอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ ‘ภาพจำทางเพศ’ (gender tropes) ที่ครั้งหนึ่งเคยครอบงำสื่อบันเทิงค่อย ๆ เลือนหายไป
- เมื่อการแต่งงานไม่ใช่สิ่งสลักสำคัญสำหรับตอนจบที่แสนสุขของซีรีส์ ตัวละครหญิงจึงสามารถพัฒนาเรื่องราวของตนเองได้มากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการเอาชนะความพิการทางสมอง การต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง หรือการแก้แค้นเจ้านายเก่า เห็นได้ชัดว่าตัวละครหญิงในซีรีส์เกาหลีกำลังก้าวไปข้างหน้า พร้อมกับสลัดทิ้งภาพจำหญิงสาวยากจนข้นแค้นผู้ใช้ความดีงามและใสซื่อบริสุทธิ์เอาชนะใจพระเอกที่เป็นทายาทมหาเศรษฐี
ในซีรีส์เรื่องล่าสุด ไม่ว่าจะเป็น Queenmaker, The Glory, Extraordinary Attorney Woo, Under the Queen’s Umbrella, Little Women และ Twenty-Five, Twenty-One ไม่เพียงแต่ตีแผ่ปัญหาสังคมในเกาหลี ทว่ายังฉายภาพตัวละครหญิงที่มีความแข็งแกร่ง ดุดัน และลุ่มลึก
ในจำนวนซีรีส์ที่กล่าวมาทั้งหมด มี 3 เรื่องที่ติด Top 10 ซีรีส์ยอดนิยมของเน็ตฟลิกซ์ ประจำปี 2022 โดยเฉพาะซีรีส์แนวล้างแค้นอย่าง The Glory ที่ไต่ขึ้นสู่อันดับ 1 ของเน็ตฟลิกซ์หลายประเทศ หลังออกอากาศพาร์ต 2 เพียงไม่กี่วัน
ส่วน Extraordinary Attorney Woo ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของทนายสาวที่เป็นออทิสติกชื่อ 'อูยองอู' นอกจากจะได้รับคำชื่นชมและประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในเน็ตฟลิกซ์ ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Critics’ Choice Award ประจำปี 2023 อีกด้วย และล่าสุด 'พัคอึนบิน' ดาราสาวที่รับบทอูยองอู ยังได้รับรางวัลแดซัง ซึ่งเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนเวทีประกาศรางวัล Baeksang Arts Awards อีกต่างหาก
ตัวอย่างความสำเร็จที่ยกมาทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าตัวละครหญิงในซีรีส์เกาหลีนั้นมาไกลแค่ไหน
ข้อมูลจากสถานีโทรทัศน์ KBS ของเกาหลีใต้ชี้ว่า ในปี 2021 ตัวละครนำของซีรีส์ที่ออกอากาศในช่อง KBS กว่า 53% เป็นผู้หญิง เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งอยู่ที่ 49.8% ส่วนช่องอื่น ๆ ในเกาหลีใต้ จำนวนตัวละครนำที่เป็นผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 40% ในช่วงระหว่างปี 2017 - 2020
'แจคเลน คิม' ผู้จัดการฝ่ายการตลาดช่องเคเบิล ENA ที่ออกอากาศ Extraordinary Attorney Woo มองว่า ผู้หญิงไม่เพียงแต่ปรากฏในสื่อบันเทิงเกาหลีมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังถูกนำเสนอในบทบาทที่ทรงอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ 'ภาพจำทางเพศ' (gender tropes) ที่ครั้งหนึ่งเคยครอบงำสื่อบันเทิงค่อย ๆ เลือนหายไป
เฉพาะปี 2022 เพียงปีเดียว ตัวละครผู้หญิงถูกสร้างให้มีบทบาทที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึง ราชินีผู้ฉลาดปราดเปรื่อง (Under the Queen’s Umbrella) ไปจนถึงนักข่าวหัวดื้อ (Little Women) หรือซีรีส์เรื่อง 'Our Blues' ที่นำเสนอตัวละครหญิงแกร่งหลายคน ทั้งหัวหน้าชาวประมงผู้มั่งคั่งและนักดำน้ำหญิง รวมถึงหญิงสูงอายุที่ประกอบอาชีพเก็บหอยและสัตว์ทะเลอื่น ๆ ในจังหวัดเชจู
นอกจากนี้ยังมีตัวละครนักเรียนหญิงมัธยมปลายหัวกะทิที่เกิดตั้งท้องและขัดคำสั่งพ่อเพื่อเก็บลูกของตัวเองไว้ เธอตัดสินใจเรียนต่อพร้อมช่วยกันกับแฟนหนุ่มเลี้ยงลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเห็นในซีรีส์เกาหลีสักเท่าไร
ในชีวิตจริง ผู้หญิงเกาหลีเจอบททดสอบที่หนักหน่วงไม่แพ้ในซีรีส์ ทั้งปัญหาเรื่องความเท่าเทียม, การล่วงละเมิดทางเพศ, ภาพเหมารวมทางเพศที่ล้าสมัย (gender stereotype) และการเลือกปฏิบัติที่ปรากฏในรูปแบบต่าง ๆ ในสถานที่ทำงานที่มีผู้ชายเป็นใหญ่
เกาหลีใต้รั้งอันดับที่ 99 จาก 146 ประเทศในรายงานดัชนีช่องว่างระหว่างชายและหญิง (Global Gender Gap Index) ปี 2022 ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ขณะที่ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ชี้ว่าผู้หญิงเกาหลีใต้มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าผู้ชาย 31.1% ซึ่งเป็นช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศที่เลวร้ายที่สุดของประเทศในกลุ่ม OECD
ในสภาวการณ์เช่นนี้จึงไม่แปลกที่แนวคิด 'สตรีนิยม' (feminist) จะเป็นประเด็นที่พูดทีไรก็สร้างความแตกแยกทุกที
การนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นในซีรีส์เกาหลีจึงอาจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกาหลีใต้ ความคาดหวังของผู้ชมทั่วโลก หรือเพียงแค่ความพยายามของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่ต้องการเอาใจผู้ชมสาว ๆ
นางเอกที่ไม่นั่งรอพระเอกรวย ๆ
'พัคซองอึน' ผู้อำนวยการสร้างของ Studio LuluLala เผยว่า ตลอดช่วงทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 การเหยียดเพศเกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้ง ฉากรุนแรงในครอบครัวก็มีเป็นปกติในโทรทัศน์เกาหลีใต้ แม้แต่ในซีรีส์เรื่องยาวสุดในประเทศอย่าง 'Country Diaries' ซึ่งออนแอร์ระหว่างปี 1980 -2002 ก็มีฉากที่ตัวละครหญิงถูกสามีทุบตี
เธอยังยกตัวอย่างซีรีส์ดังยุค 2000 อย่าง 'Autumn in My Heart' ซึ่งเป็นซีรีส์นำร่องเรื่องแรก ๆ ที่ทำให้ต่างประเทศรู้จักซีรีส์เกาหลี ยังมีฉากที่ตัวละครหลักยันคนที่เขารักซะจนตัวติดกำแพง แม้คนดูอาจจะยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปกับฉากนี้ แต่ความจริงแล้วมันอาจตีความว่าเป็นการล่วงละเมิดก็ได้
ในช่วงครึ่งหลังยุค 2000 เมื่อวงการบันเทิงถูกครอบงำด้วยเนื้อเรื่องแนวโรแมนติกคอมเมดี้ การสร้างตัวละครพระเอกนางเอกที่เราเห็นกันจนเกร่อคือนางเอกที่ยากจนแสนเข็ญกับพระเอกที่รวยแบบคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด เช่น My Lovely Sam Soon (2005), Coffee Prince (2007) และ Boys Over Flowers (2009)
ในเวลานั้น ตัวละครเหล่านี้ได้รับเสียงชื่นชมจากการท้าทายความคาดหวังทางเพศว่า ผู้หญิงควรจะแต่งตัวหรือปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งแม้แต่ซีรีส์ดัง ๆ ยังพาคนดูล่องลอยไปกับความคิดที่ว่าการได้พบกับผู้ชายรวย ๆ คือหนทางสู่ความสุข อย่างในตอนสุดท้ายของ Coffee Prince 'อึนชัน' นางเอกของเรื่องที่แต่งตัวเป็นทอมบอยมาตลอด ยังเริ่มแต่งตัวเป็นผู้หญิงเพื่อพระเอก 'ฮันคยูล' ซึ่งเป็นทายาทเศรษฐี แถมยังพูดเล่นกับเขาว่า สิ่งที่เธอต้องการคือการได้กินข้าววันละ 4 มื้อ ซึ่งจะว่าไปแล้วพล็อตเรื่องแทบไม่ต่างจากซินเดอเรลล่าเลย
พัคซึ่งเริ่มต้นอาชีพที่สถานีโทรทัศน์ MBC ของเกาหลีใต้เมื่อปี 1999 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงถูกคาดหวังให้แต่งงานในช่วงอายุ 20 ต้น ๆ ยกตัวอย่างอีกว่า ตัวละครหลักในเรื่อง 'One of a Pair' อายุ 26 ปี รวมถึงตัวละครหลักในเรื่อง 'My Lovely Sam Soon' ซึ่งมีอายุ 29 ปี ตกเป็นเป้าให้ตัวละครอื่น ๆ โจมตีเรื่องอายุ
แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เราได้เห็นผู้หญิงเกาหลีแต่งงานและมีลูกน้อยลง จนรัฐบาลเกาหลีใต้ต้องวุ่นหาวิธีเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ที่นับวันเริ่มถดถอย หลังจากเริ่มเห็นเค้าลางของวิกฤตด้านประชากรศาสตร์
ปัจจุบัน นอกจากผู้หญิงจะแต่งงานช้าลงแล้ว ยังเกิดคำว่า ‘บิฮอน’ (bihon) ซึ่งหมายถึงผู้หญิงที่เต็มใจจะไม่แต่งงาน เพราะผู้คนจำนวนมากเข้าใจว่าการแต่งงานเป็นทางเลือกของแต่ละคน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราจึงไม่ค่อยเห็นตัวละครหญิงที่สนใจเรื่องการแต่งงานสักเท่าไร
เมื่อการแต่งงานไม่ใช่สิ่งสลักสำคัญสำหรับตอนจบที่แสนสุขของซีรีส์ ตัวละครหญิงจึงสามารถพัฒนาเรื่องราวของตนเองได้มากขึ้น
'มิเชล โช' ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยโทรอนโต กล่าวว่า ความโรแมนติกในซีรีส์เกาหลีจึงหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเองและมิตรภาพมากขึ้น
"ในอดีต ตัวละครจะมีลักษณะค่อนข้างตายตัว เช่น นางเอกเป็นชนชั้นแรงงานที่กล้าหาญได้พบกับพระเอกที่เป็นคนรวย แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับตอนนี้ เช่น ซีรีส์เรื่อง Crash Landing on You ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกและทำลายสถิติตัวเลขการรับชมในเกาหลีใต้ นางเอกของเรื่องเป็นซีอีโอของบริษัทที่ประสบความสำเร็จ และเธอยังคงทำงานต่อไปแม้จะสมหวังเรื่องความรักแล้วก็ตาม"
เพราะอะไร? ซีรีส์เกาหลีถึงหันมาพัฒนาตัวละครผู้หญิง
แม้จะมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าซีรีส์เกาหลีนั้นเปลี่ยนไปแล้ว แต่สาเหตุว่าเปลี่ยนไป 'เพราะอะไร' ยังมีความเห็นที่หลากหลาย
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเรื่องนี้มาจากปัจจัยหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการที่ผู้หญิงเข้าไปเป็นผู้บริหารบริษัทผลิตซีรีส์มากขึ้น ประกอบกับมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งและช่องทีวีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงการที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในภาคแรงงานเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครอบครัว อิทธิพลของสื่อต่างประเทศที่มีต่อนักเขียน และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สะดวกขึ้น ซึ่งทำให้ผู้หญิงสามารถให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับซีรีส์ได้ง่ายขึ้น
ในบรรดานักสตรีนิยม เช่น 'ฮวางจินมี' นักวิจารณ์วัฒนธรรมสมัยนิยม (pop culture) และ 'คิมฮโยมิน' นักเขียน มองว่าเป็นเพราะกระแสสตรีนิยมระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นในประเทศ
ในปี 2016 การฆาตกรรมหญิงคนหนึ่งอย่างโหดเหี้ยมที่ห้องน้ำในย่านกังนัมของกรุงโซลได้จุดชนวนการเคลื่อนไหวที่ได้รับการอธิบายว่าเป็น 'การปลุกกระแสสตรีนิยมขึ้นอีกครั้ง' (feminism reboot) บวกกับแรงผลักดันจากการเคลื่อนไหว #MeToo ซึ่งนำไปสู่การประท้วงรุนแรงหลายพันครั้ง ความแตกแยกทางการเมือง และการต่อต้านจากกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้ชายที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน
ฮวางมองว่า ซีรีส์เกาหลีมีนักเขียนและผู้ชมเป็นผู้หญิง (ปี 2018 สหภาพ Broadcast Writers ของเกาหลีใต้ ประมาณการว่า 94.6% ของนักเขียนบทโทรทัศน์เป็นผู้หญิง) แต่ผลจาก feminist reboot ทำให้ผู้หญิงรู้สึกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น และให้อำนาจ (empower) กันและกันมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ประเด็นแนวสตรีนิยมโดนใจเหล่าผู้ชม โดยเฉพาะผู้หญิง
หนึ่งปีหลังเหตุฆาตกรรมในกังนัม ผู้หญิงรีบแย่งกันซื้อหนังสือชื่อ 'Kim Ji-young, Born 1982' ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับแม่บ้านธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่กำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้า การเลือกปฏิบัติทางเพศ และความไม่เท่าเทียม
นวนิยายแนวสตรีนิยมเล่มนี้กลายเป็นหนังสือขายดีระดับโลก และถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี 2019 ความสำเร็จของหนังสือและภาพยนตร์ได้สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของผู้หญิงอีกด้วย
หนึ่งในนักเขียนบทอย่าง 'คิมฮโยมิน' กล่าวถึงหนังสือ Kim Ji-young, Born 1982 ว่า "ผู้หญิงทุกวันนี้ไม่เพียงแต่ต้องการเห็นผู้หญิงด้วยกันมีภาพลักษณ์ที่ดี แต่พวกเธอยังต้องการเห็นผู้หญิงที่สามารถทำได้ทุกอย่าง แม้ว่านั่นจะเป็นการโกหก โกง และต่อสู้เพื่ออำนาจ"
ฮวางซึ่งเป็นนักวิจารณ์ซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลี กล่าวว่า คำถามที่ว่าซีรีส์แต่ละเรื่องจะถือว่าเป็นสื่อแนวสตรีนิยมได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าตัวละครหญิงสามารถควบคุมชีวิตของตัวเองได้หรือไม่ และพวกเธอถูกนำเสนออย่างไร รวมถึงยังต้องผ่านบททดสอบ 'Bechdel Test' ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าสื่อต่าง ๆ ตอกย้ำภาพเหมารวมต่อผู้หญิงอย่างไร
โดยบททดสอบนี้จะมีคำถามที่ว่า ตัวละครหญิงมีบทสนทนาเกี่ยวกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ผู้ชายหรือไม่
แต่เธอเชื่อว่าช่องทีวีไม่ค่อยพอใจกับภาพลักษณ์สตรีนิยมสักเท่าไร
คนวงในของอุตสาหกรรมบันเทิงที่ทำงานให้กับหนึ่งในสตูดิโอชั้นนำในเกาหลีเผยว่า เป็นเรื่องยากสำหรับใครก็ตามในวงการนี้ที่จะออกมาป่าวประกาศว่าผลงานของพวกเขาเป็นแนวสตรีนิยม
"ตัวอย่างเช่น หากคุณใช้รูปภาพที่ตีความได้ว่าเป็นแนวสตรีนิยม มันจะกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างมาก และถ้าคุณขอโทษที่โพสต์ภาพสตรีนิยม อีกฝ่ายก็จะโกรธมากและสร้างปัญหามากมาย"
โช จากมหาวิทยาลัยโทรอนโต กล่าวว่า บริษัทโปรดักชั่นในเกาหลีก็ไม่แตกต่างจากธุรกิจประเภทอื่น ๆ ที่พยายามเข้าถึงผู้ชมในวงกว้าง จึงมักจะหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยมซึ่งเป็นประเด็นที่มีการแบ่งขั้วชัดเจน แตกต่างจากในอเมริกาเหนือ ซึ่งคำว่าสตรีนิยมมักถูกมองในแง่บวก แต่คำเดียวกันนี้กลับถูกใช้ในเชิงดูถูกเพื่อสื่อถึงการเหยียดหยามในเกาหลีใต้
แต่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมบางคนแย้งว่า ซีรีส์เกาหลีกำลังพัฒนาตัวละครผู้หญิง เพียงเพราะการทำเช่นนี้จะดึงดูดผู้ชมได้มากขึ้น
ซีรีส์แนวสตรีนิยมคือความแปลกใหม่?
คิม ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ EMA แย้งว่า Extraordinary Attorney Woo ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยหลักแล้วซีรีส์เรื่องนี้เป็นเรื่องชัยชนะของผู้ที่เสียเปรียบทางสังคม แต่ตัวละครหลักดันเป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่ในเกาหลีใต้
"ในเกาหลี มีซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับทนายความชายมากมาย ฉันจึงไม่คิดว่าเรื่องอื่นจะสดใหม่ขนาดนี้"
"ในอดีต ตัวละครชายมีหลากหลายตั้งแต่นักสืบ นักเลง แต่ซีรีส์แนวสตรีนิยมจะไม่มีพล็อตที่เกี่ยวกับผู้ชาย เนื้อเรื่องจึงมีความสดใหม่ด้วยการแทนที่เรื่องราวของผู้ชายด้วยเรื่องราวของผู้หญิง"
ฮวางเชื่อด้วยว่าตอนนี้สตูดิโอต่าง ๆ มีตัวละครผู้หญิงมากขึ้นเพื่อเพิ่มเรตติ้ง แทนที่จะเป็นเพราะการเมืองก้าวหน้าขึ้น แต่นั่นอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ในทางกลับกัน ตัวละครหญิงจะนำประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงมาพูดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
สำหรับฮวาง ก้าวต่อไปคือการนำเสนอคุณลักษณะทางกายภาพที่หลากหลายมากขึ้น
"สุนทรียศาสตร์ฉบับเกาหลีไม่มีพื้นที่ให้คนที่หน้าตาไม่สวยตามพิมพ์นิยมปรากฏทางโทรทัศน์ แต่นั่นจะเปลี่ยนไปเช่นกัน"
ค่านิยมนี้ได้ถูกบีบให้เปลี่ยนแปลง เมื่อพรมแดนของซีรีส์เกาหลีขยายไปยังต่างประเทศ
ในอินเดีย ซึ่งหันมาเสพความบันเทิงจากเกาหลีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ชมต่างสนใจในความแข็งแกร่งของนางเอกเกาหลี คอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์รายวันในอินเดียอย่าง The Hindu บรรยายถึงพวกเธอว่า
"ในสังคมที่เต็มไปด้วยข้อห้ามทางสังคมเช่นเดียวกับสังคมของเรา หญิงสาวที่มีดวงตาใสซื่อสามารถออกเดตและแต่งงานกับผู้ชายที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วยได้"
ส่วนนิตยสาร Tatler มีการเขียนถึงซีรีส์เกาหลีว่า "ในโลกของละครเกาหลี สิ่งหนึ่งที่เราวางใจได้คือการได้เห็นผู้หญิง ‘ครองโลก’ ไม่ว่าจะเป็นการยืนหยัดต่อสู้กับผู้มีอำนาจหรือการทำลายความคาดหวังของสังคมว่าผู้หญิงควรเป็นอย่างไร"
อย่างไรก็ตาม สำหรับบางคน ซีรีส์เหล่านี้ช่วยขับเน้นให้เห็นความแตกต่างระหว่างชีวิตของผู้หญิงในละครกับโลกแห่งความจริงในปัจจุบัน ดังเช่นที่นักเขียนชื่อ 'แทมมี คิม' กล่าวในพอดแคสต์ Time to Say Goodbye ว่า Extraordinary Lawyer Woo สร้างความคาดหวังที่ไม่สมจริงในแวดวงอาชีพที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ
"หากมีทนายความหญิงคนไหนที่คิดว่า ฉันต้องไปที่เกาหลีใต้ถึงจะได้เป็นหุ้นส่วนบริษัท ฉันบอกเลยว่า อย่าไป"
ภาพ: Netflix, tvn_drama/Instagram
อ้างอิง: