อิซาโอะ ทาคาฮาตะ (ค.ศ. 1936-2018) เป็นชื่อที่คอหนังแอนิเมชันรู้จักกันดี เพราะนอกเหนือจากการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “สตูดิโอจิบลิ” (Studio Ghibli) ซึ่งสร้างหนังแอนิเมชันที่น่าจดจำมากมายแล้ว อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการเป็นผู้กำกับแอนิเมชันฝีมือเยี่ยม ทาคาฮาตะมีผลงานกำกับไม่มาก โดยตลอดช่วงเวลา 33 ปีที่เขาทำงานที่จิบลิ เขากำกับหนังจิบลิไปแค่ 5 เรื่อง ได้แก่ Grave of the Fireflies (1988), Only Yesterday (1991), Pom Poko (1994), My Neighbors the Yamadas (1999), The Tale of the Princess Kaguya (2013) แต่หนังเหล่านี้ทุกเรื่องล้วนได้รับเสียงชื่นชมและกลายเป็นหนังคลาสสิกจนถึงตอนนี้ผลงานของเขาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการแอนิเมชันอย่างมาก จากเดิมที่แอนิเมชันถูกมองว่าเป็นเรื่องของเด็ก ๆ เบาสมอง แต่ผลงานของเขาแสดงให้เห็นว่าแอนิเมชันสามารถไปได้ไกลกว่านั้น ด้วยเทคนิคในหนังแอนิเมชันที่ก้าวหน้า ประเด็นที่ลึกซึ้งซีเรียสเป็นผู้ใหญ่ มีความซับซ้อนทางอารมณ์ เน้นไปที่ตัวละครมากกว่าความตื่นเต้น หรือผจญภัย เล่าเรื่องแบบเรียบนิ่ง (จนหลายคนมองว่าไม่สนุก) The People จะพาไปทำความรู้จักกับเขา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้กำกับแอนิเมชันที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล จากนักศึกษาวรรณกรรมสู่คนทำแอนิเมชันอิซาโอะ ทาคาฮาตะ (Isao Takahata) เกิดในปี 1935 เขาเติบโตขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ได้เห็นบ้านเมืองที่ถูกทำลายจากเครื่องบินทิ้งระเบิดและได้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามตั้งแต่ตอนนั้นเขาเรียนจบสาขาวรรณกรรมฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยโตเกียว แต่ด้วยความชื่นชอบในหนังแอนิเมชันอย่าง The King and the Mockingbird (1952) ของผู้กำกับพอล กริมอลท์ ทำให้เขาเบนความสนใจไปสู่การทำแอนิเมชัน นอกจากนั้นเขายังชื่นชอบหนังของกลุ่ม French New Wave, หนัง Italian Neorealism และบทกวีของฌาคส์ เพรแวรต์ ซึ่งส่งอิทธิพลต่อหนังของเขาเช่นกันต่อมา เขาสมัครเข้าทำงานที่สตูดิโอ “โตเอะแอนิเมชัน” ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ ทำให้ทาคาฮาตะได้ร่วมงานกับแอนิเมเตอร์เก่ง ๆ หลายคน รวมถึง ฮายาโอะ มิยาซากิ (ซึ่งต่อมาได้ร่วมก่อตั้งจิบลิกับเขา และได้กำกับหนังอย่าง Spirited Away) ผลงานกำกับหนังแอนิเมชันเรื่องแรกของเขาคือ Horus, Prince of the Sun (1968) ซึ่งสร้างจากตำนานของชาวไอนุ หนังประสบปัญหาตอนสร้างโดยใช้งบประมาณและเวลาสร้างเกินกำหนด จนหนังต้องออกฉายทั้งที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่โดยรวมแล้วหนังยังคงได้รับเสียงชื่นชมทั้งในเรื่องเนื้อหาที่เคร่งขรึมจริงจัง บวกกับคุณภาพของงานแอนิเมชันที่ดูไหลลื่นและพัฒนาขึ้นกว่ายุคก่อน ๆ แต่หนังกลับล้มเหลวด้านรายได้จนเขาถูกปรับลดตำแหน่ง ทาคาฮาตะลาออกจากโตเอะแอนิเมชันในปี 1971 และได้กำกับแอนิเมชันให้กับสตูดิโอต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์ที่นำวรรณกรรมตะวันตกมาดัดแปลงเป็นญี่ปุ่น ได้แก่ Lupin the Third (1971-1972), Panda! Go Panda! (1972), Heidi: Girl of the Alps (1974), 3000 Leagues in Search of Mother (1976), Anne of Green Gables (1979) เป็นต้น ผลงานเหล่านี้ได้รับเสียงชื่นชมว่าแปลกใหม่และมีคุณภาพเหนือกว่าแอนิเมชันทั่วไป แต่ด้วยความที่มีงบประมาณให้น้อย บวกกับนายทุนเข้ามาควบคุมการผลิตอย่างเข้มงวด ทำให้เขาคิดถึงการกลับไปทำหนังแอนิเมชันฉายโรงซึ่งทุนมากกว่า และมีโอกาสทำอะไรที่เปิดกว้างท้าทายมากกว่าหลังจากนั้น เขาได้กำกับแอนิเมชันเรื่องยาว 2 เรื่องอย่าง Jarinko Chie (1981) และ Gauche the Cellist (1982) ก่อนที่ฮายาโอะ มิยาซากิ จะชวนเขาไปโปรดิวซ์หนัง Nausicaa of the Valley of the Wind (1984) ที่มิยาซากิกำกับ ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี และนำไปสู่การก่อตั้งสตูดิโอจิบลิในปี 1985“สุสานหิ่งห้อย” แรงบันดาลใจจากประสบการณ์วัยเยาว์หนังเรื่องแรกที่ทาคาฮาตะกำกับให้จิบลิคือ Grave of the Fireflies (1988) หรือสุสานหิ่งห้อย หนังเล่าเรื่องราวของพี่ชายวัย 13 ปี “เซตะ” กับน้องสาววัย 4 ปี “เซ็ตสึโกะ” พวกเขาพบกับความลำบากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อของพวกเขาออกไปรบ แม่ก็เสียชีวิตจากความเจ็บป่วย พวกเขาทะเลาะกับป้าจนหนีออกจากบ้าน พวกเขาใช้ชีวิตโดยแทบไม่มีเงินกับอาหารและไม่มีผู้ใหญ่ดูแล ในขณะที่ร่างกายก็เริ่มอ่อนแอลงทุกทีหนังดัดแปลงจากเรื่องสั้นเชิงอัตชีวิตประวัติของโนซากะ อาคิยูกิ (โดยมีการใส่แง่มุมชีวิตจริงของทาคาฮาตะลงไปด้วย โดยเขากล่าวว่า “หนังสงครามส่วนใหญ่ใส่เสียงบรรยากาศรวมถึงเสียงระเบิดไม่ถูกต้อง ซึ่งผมพยายามแก้ไขตรงจุดนี้ให้มันเป็นไปตามแบบที่ผมจำได้”) แม้จะเป็นแอนิเมชันที่ตัวเอกเป็นเด็กหน้าตาน่ารัก แต่หนังกลับมีเนื้อหาจริงจังและหดหู่ ส่วนภาพในหนังก็เต็มไปด้วยความโหดร้าย เป็นการลบมุมมองที่ว่า “แอนิเมชันเป็นเรื่องของเด็กและเน้นบันเทิงไม่ซีเรียส” อย่างราบคาบ มีผู้ชมหลายคนเสียน้ำตาให้กับหนัง และไม่กล้าดูเรื่องนี้เป็นรอบที่สอง หนังได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก ในแง่ของการถ่ายทอดความเลวร้ายของสงครามได้อย่างทรงพลัง โดยนักวิจารณ์ชื่อดังอย่างโรเจอร์ อีเบิร์ต เคยกล่าวว่า “ Grave of the Fireflies ถือเป็นหนึ่งในหนังสงครามที่ดีที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา” แต่เอาเข้าจริงหนังไม่ได้เน้นที่สงครามมากเท่ากับการสำรวจถึงชะตากรรมอันโหดร้ายของตัวละครหลัก รวมถึงสำรวจด้านมืดของมนุษย์ในหลายระดับ ทั้งป้าของตัวเอกที่แล้งน้ำใจและเอาเปรียบเด็ก ๆ รวมถึงตัวเซตะที่ยึดมั่นในทิฐิ จนนำพาตัวเองและน้องสาวไปสู่ความลำบากหนังช็อคคนดูตั้งแต่ฉากแรก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตายของสองตัวละครหลัก ซึ่งทาคาฮาตะกล่าวว่า “มันเป็นเรื่องเจ็บปวดสำหรับผู้ชมในการเฝ้ามองคนที่มีความสุขสองคนที่ชีวิตพังทลายลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งตายอย่างน่าเศร้าในภายหลัง ซึ่งหากผู้ชมรู้ตั้งแต่แรกว่าตัวละครหลักทั้งคู่จะตาย มันจะทำให้ผู้ชมเตรียมตัวเตรียมใจได้ตั้งแต่แรก ผมพยายามทำให้ผู้ชมเจ็บปวดน้อยลงด้วยการเปิดเผยทุกอย่างในตอนแรก”แม้ปัจจุบันหนังจะโด่งดังและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แต่เริ่มแรกนั้นมันเป็นหนังที่ไม่มีใครเชื่อมั่น จนต้องฉายควบกับแอนิเมชันจิบลิอีกเรื่องอย่าง My Neighbor Totoro เนื่องจากต้องการดึงดูดผู้ชมให้ซื้อตั๋ว ซึ่งหนังทั้งคู่ทำรายได้ไปไม่มากเท่าไร แต่ต่อมาทั้งสองเรื่องนี้กลับได้รับความนิยมมากขึ้นจนสร้างชื่อเสียงให้จิบลิเป็นที่รู้จักทั่วโลก และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของหนังแอนิเมชันยุคใหม่ แอนิเมชันที่พาผู้ชมหวนคืนสู่ธรรมชาติและชีวิตชนบทช่วงก่อตั้งจิบลิใหม่ ๆ ทาคาฮาตะได้เดินทางไปที่ยานากาวะเพื่อหาแรงบันดาลใจในการทำแอนิเมชันเรื่องใหม่ มันเป็นเมืองเล็ก ๆ บนเกาะคิวชูที่มีแม่น้ำไหลผ่าน เขาประทับใจในความสวยงามของธรรมชาติ ประเพณี และน้ำใจของผู้คนในเมืองจนเขาตัดสินใจกำกับหนังสารคดีความยาวสามชั่วโมงซึ่งพูดถึงความสวยงามของเมืองนี้เรื่อง The Story of Yanagawa's Canals (1987) ซึ่งเป็นผลงานกำกับเรื่องเดียวของเขาที่ไม่ใช่หนังแอนิเมชันขณะเดียวกันเขาก็ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเมืองอย่างธรรมชาติและแม่น้ำที่ค่อย ๆ เสื่อมลงเนื่องจากการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว ประเด็นนี้ตกค้างในใจเขาและส่งผลให้หนังของเขามักพูดถึงความสำคัญของธรรมชาติซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในหนังส่วนใหญ่ของจิบลิ และพูดถึงความสวยงามของชีวิตชนบทและความหลังที่สวยงาม เห็นได้ชัดจากหนัง 2 เรื่องต่อมาของเขาอย่าง Only Yesterday (1991) และ Pom Poko (1994) Only Yesterday ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนขายดีของโฮตารุ โอกาโมโตะ และ ยูโกะ โทเนะ เรื่องราวของ “ทาเอโกะ” สาวโตเกียวทำงานออฟฟิศวัย 27 ปีที่เดินทางไปพักร้อนที่ยามากาตะ เมืองชนบทอันเงียบสงบ เธอได้ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติกับเกษตรกรรม และได้พบกับผู้คนที่น่ารักเป็นมิตร การพักร้อนครั้งนี้ทำให้ความทรงจำที่เต็มไปด้วยความสุขของเธอย้อนกลับมา และทำให้เธอกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าเธออยากอยู่ที่ไหนมากกว่ากัน โดยหนังได้ตัดสลับระหว่างชีวิตในชนบทกับความทรงจำในวัย 10 ขวบของเธอ“เมื่อผมได้อ่านเรื่องราวของ Only Yesterday ผมรู้โดยสัญชาตญาณว่าทาคาฮาตะเป็นผู้กำกับคนเดียวที่สามารถดัดแปลงมันให้เป็นหนังได้” มิยาซากิกล่าวมันเป็นหนังดราม่าเน้น nostalgia ที่ราบเรียบ สมจริง เนิบช้า เป็น slice of life ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชีวิตประจำวันธรรมดาของตัวละคร ต่างจากแอนิเมชันส่วนใหญ่ในยุคนั้นที่มักเป็นแนวแฟนตาซีหรือไซไฟ แต่ด้วยคุณภาพ, ความลึกซึ้งกินใจ, ความมีเสน่ห์ของตัวหนัง ทำให้หนังประสบความสำเร็จเกินคาด จนกลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดของญี่ปุ่นในปีนั้น Pom Poko เป็นแอนิเมชันเรื่องเดียวของทาคาฮาตะที่สร้างจากเนื้อเรื่องที่เขียนขึ้นใหม่ หนังเล่าเรื่องราวของทานูกิ (สิ่งมีชีวิตรูปแบบเหมือนแรคคูน รักสนุก แปลงร่างได้) กลุ่มสุดท้ายที่อาศัยอยู่บนภูเขาทามะในชานเมืองโตเกียว เมื่อมนุษย์ได้สร้างเมืองแห่งใหม่บนภูเขาแห่งนี้ ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกมันถูกคุกคาม ที่อยู่อาศัยกับอาหารของพวกมันก็หดหาย พวกมันได้ร่วมใจกันปกป้องที่อยู่ด้วยการแปลงร่างเป็นภูติผีปีศาจเพื่อขับไล่พวกมนุษย์ที่บุกเข้ามาในป่า แต่แผนการกลับล้มเหลวและการสร้างเมืองยังคงเดินหน้าต่อไป จนทานูกิต้องพยายามปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้หลังจากสร้างหนังที่เน้นความสมจริงไป 2 เรื่องอย่าง Grave of the Fireflies และ Only Yesterday คราวนี้ทาคาฮาตะได้เปลี่ยนมาสร้างหนังแนวแฟนตาซีซึ่งมีตัวละครหลักเป็นสัตว์พูดได้ ทำให้หลายคนคิดว่ามันจะออกมาสนุกเฮฮา แต่กลับกลายเป็นว่าหนังมีความซีเรียสและมีฉากสะเทือนใจหลายฉาก หนังพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจอย่างการอนุรักษ์ธรรมชาติ, วิพากษ์ทุนนิยม, ความเจริญและความเป็นสมัยใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิม, การหาทางอยู่ร่วมกันระหว่างเผ่าพันธุ์ที่แตกต่าง หนังทำรายได้สูงสุดในปีนั้น และเป็นตัวแทนญี่ปุ่นเข้าชิงออสการ์หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ลายเส้นแบบภาพสเก็ตช์สีน้ำ สูงสุดคืนสู่สามัญ ความเปลี่ยนแปลงในผลงานของเขาหลังจากนั้นที่เห็นได้ชัดคือ ลายเส้นแบบภาพสเก็ตช์ที่เหมือนวาดไม่เสร็จ บวกกับการลงสีแบบสีน้ำ ซึ่งได้แก่ My Neighbors the Yamadas (1999) และ The Tale of the Princess Kaguya (2013)My Neighbors the Yamadas ดัดแปลงจาก “Nono-chan” การ์ตูนแก๊ก 4 ช่องจบ ผลงานของฮิซาอิชิ อิชิอิ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุน ตั้งแต่ปี 1991 หนังเล่าเรื่องราวของครอบครัวชนชั้นกลางในโตเกียว ซึ่งมีสมาชิกอย่างพ่อ แม่ ยาย ลูกชายวัยรุ่น ลูกสาววัย 5 ปี และสุนัข 1 ตัว หนังมีลายเส้นแบบสเก็ตช์คล้ายภาพการ์ตูนในหนังสือพิมพ์และระบายสีด้วยสีน้ำ ซึ่งภาพในหนังสร้างขึ้นโดยใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหมด แทนที่จะเป็นการวาดด้วยมือแบบหนังเรื่องก่อน ๆ ของจิบลิ ด้วยความที่ดัดแปลงจากการ์ตูนแก๊ก ทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนังจิบลิเรื่องอื่นของจิบลิ ตรงที่มันไม่มีเส้นเรื่องหลัก แต่ประกอบไปด้วยเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของครอบครัวแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ ประมาณ 20 ตอนมาเรียงร้อยต่อกัน ซึ่งแต่ละตอนจะมีบทกวีไฮกุมาปิดท้าย หนังเล่าในเชิงตลกเสียดสีและแฝงด้วยประเด็นที่ลึกซึ้งอย่างชีวิตในสังคมยุคใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากวิถีดั้งเดิม นอกจากนั้น ยังพูดถึงเรื่องครอบครัว ความสัมพันธ์ ช่องว่างระหว่างวัย ความอาวุโส วิถีชีวิตแบบญี่ปุ่น ฯลฯ ทำให้หนังได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก แต่หนังกลับล้มเหลวด้านรายได้อย่างสิ้นเชิง (สวนทางกับหนังจิบลิในช่วงเวลาใกล้เคียงกันอย่าง Princess Mononoke และ Spirited Away ที่ทำเงินถล่มทลาย) โดยทุกวันนี้หนังถูกมองว่ามีความเป็นจิบลิน้อยที่สุดด้วยความล้มเหลวดังกล่าว ทำให้เขาเว้นว่างจากการกำกับหนังแอนิเมชันเรื่องยาวไปถึง 14 ปี ก่อนจะกลับมาพร้อมกับหนังที่หลายคนมองว่าน่าจะเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของเขาอย่าง The Tale of the Princess Kaguya หนังแฟนตาซีที่ดัดแปลงจาก “เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่” ตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่นอายุมากกว่า 1,000 ปี ซึ่งเคยถูกดัดแปลงเป็นหนังและสื่อต่าง ๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน หนังเล่าเรื่องราวของสองตายายที่พบกับมนุษย์ตัวจิ๋วเพศหญิงในกระบอกไม้ไผ่และได้นำเธอไปเลี้ยง เธอเติบโตอย่างรวดเร็วและถูกขุนนางนำไปเลี้ยงดูดุจเจ้าหญิงที่เมืองหลวงอย่างเกียวโต ด้วยความงามทำให้เธอเป็นที่หมายปองจากเหล่าชายสูงศักดิ์รวมถึงจักรพรรดิ แม้จะมีชีวิตหรูหรา แต่เธอกลับรู้สึกอึดอัดและคิดถึงชีวิตเรียบง่ายในชนบท นอกจากนั้น เธอยังรู้ชะตากรรมว่าในไม่ช้าเธอจะต้องกลับไปสู่ถิ่นกำเนิดของเธออย่างดวงจันทร์ภาพในหนังมีลายเส้นแบบพู่กัน ระบายสีด้วยสีน้ำ มีการทิ้งช่องว่างในเฟรมเยอะ ซึ่งเป็นสไตล์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะญี่ปุ่นโบราณอย่างภาพวาดในม้วนกระดาษ ซึ่งสอดคล้องกับการที่หนังดัดแปลงมาจากตำนานพื้นบ้าน โดยภาพมีความเป็น Expressionism ที่เน้นการแสดงอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าความสมจริง แม้หนังจะเป็นแนวแฟนตาซี แต่กลับดำเนินเรื่องแบบเรียบง่าย ไม่หวือหวา แทบไม่มีจุดไคลแม็กซ์ หนังมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น สิ่งที่มีค่าในชีวิตคืออะไร, ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติรวมถึงสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ, จารีตประเพณีที่กลายเป็นเหมือนกรงขัง, การเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง, การที่ผู้หญิงถูกกดทับโดยสังคม (ประเด็นเรื่องธรรมชาติและเฟมินิสต์เป็นประเด็นที่พบได้บ่อยในหนังจิบลิ) ด้วยความที่ทาคาฮาตะเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์บวกกับทำงานช้า ทำให้หนังใช้เวลาสร้างนานถึง 8 ปี และใช้ทุนสร้างสูงกว่ากำหนด หนังประสบความสำเร็จด้านเสียงวิจารณ์โดยได้เข้าชิงออสการ์สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยม แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ ซึ่งความล้มเหลวของหนังเรื่องนี้และหนังจิบลิยุคหลัง ๆ ส่งผลให้จิบลิประกาศปิดตัวชั่วคราวในปี 2014จากคนที่วาดภาพไม่เป็นสู่ผู้กำกับแอนิเมชันระดับตำนานบทบาทในหนังเรื่องสุดท้ายของเขาคือการเป็น artistic producer ให้กับหนัง The Red Turtle (2016) ซึ่งได้ชิงออสการ์แอนิเมชันยอดเยี่ยม เขาเสียชีวิตในวันที่ 5 เมษายน 2018 จากโรคมะเร็งปอด ท่ามกลางความเสียใจของแฟนหนังมากมายจุดเด่นในหนังของเขาอยู่ที่บรรยากาศ, เซ็ตติง, สถานการณ์, อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครที่มีความสมจริง เต็มไปด้วยรายละเอียด และเป็นธรรมชาติ บวกกับตัวละครที่มีความเป็นมนุษย์สูง ถึงแม้ฉากหลังจะมีความเป็นแฟนตาซีแค่ไหนก็ตาม แต่ตัวละครในหนังของเขาก็มีความเป็นมนุษย์อยู่สูง และยืนพื้นอยู่กับความสมจริง หนังของเขามักพูดถึงการหาความสุขในชีวิตประจำวัน, การรับมือกับความสูญเสียในอดีต, ความทรงจำ, ความสุขในวัยเด็ก, ชีวิตที่เรียบง่าย, สิ่งแวดล้อม, สังคมที่เปลี่ยนไป ฯลฯสิ่งที่ทาคาฮาตะแตกต่างจากผู้กำกับแอนิเมชันคนอื่นคือ เขาเป็นคนที่ไม่วาดรูป อีกทั้งไม่เคยทำงานเป็นแอนิเมเตอร์มาก่อนเลย ต่างจากผู้กำกับอย่างมิยาซากิ หรือมาโกโตะ ชินไค (Your Name) ที่วาดรูปหลัก ๆ เอง วิธีทำงานของเขาคือการเขียนบทหนังขึ้นมา แล้วอธิบายถึงตัวละคร ฉากหลัง แอ็กชันในแต่ละซีน จากนั้นจึงให้แอนิเมเตอร์เป็นคนวาดแล้วเขาดูแลภาพรวมทาคาฮาตะและมิยาซากิเป็นเพื่อนที่ร่วมงานกันมานาน ซึ่งการทำงานของทั้งคู่แตกต่างกันคนละขั้ว มิยาซากิเป็นคนทำงานเร็วและพลังงานสูง ส่วนทาคาฮาตะเป็นคนทำงานช้า โปรดิวเซอร์ของจิบลิอย่างโทชิโอะ ซูสุกิ กล่าวว่า “ทุกครั้งที่เขาทำงาน เขาไม่เคยทำตามเดดไลน์หรือเงินทุนตามที่กำหนดไว้ได้เลย แต่ผลงานของเขาก็ออกมายอดเยี่ยมเสมอ” ซึ่งสาเหตุของความล่าช้ามาจากการเป็นคนทำงานละเอียด ค้นหาข้อมูลเป็นจำนวนมาก และไม่ยอมหยุดแก้ไขงานจนกว่าจะพอใจแม้ทาคาฮาตะจะไม่โด่งดังเท่ามิยาซากิที่มีความเป็นหน้าตาของจิบลิมากกว่า เนื่องจากทาคาฮาตะออกสื่อน้อยกว่า, กำกับหนังน้อยกว่า, หนังประสบความสำเร็จน้อยกว่า แต่บทบาทของเขาในจิบลิก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยนิชิมูระ โยชิอากิ โปรดิวเซอร์หนังของเขา ได้กล่าวว่า “จิบลิไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีทาคาฮาตะ” นอกจากนั้น แอนิเมเตอร์ที่เคยเป็น mentor ให้ทั้งทาคาฮาตะและมิยาซากิ ก็เคยบอกว่า "การที่มิยาซากิสนใจแง่มุมเกี่ยวกับสังคม ปรัชญา วรรณกรรมที่ลึกซึ้งนั้น เป็นผลมาจากอิทธิพลของทาคาฮะตะ"ที่มา
บทความ Worldly Wise. Isao Takahata leaves behind a quietly bold legacy of emotional maturity to the sometimes infantilized realm of animation โดย Violet Lucca นิตยสาร Film Comment ฉบับเดือนกรกฎาคม 2018