แมนสรวง : ดูการเมืองไทยในอดีต สู่หนังพีเรียดที่เสียดสีปัจจุบันแบบร่วมสมัย

แมนสรวง : ดูการเมืองไทยในอดีต  สู่หนังพีเรียดที่เสียดสีปัจจุบันแบบร่วมสมัย

ท่ามกลางกระแสการดัน Soft Power ไทยสู่เวทีโลก ‘แมนสรวง’ คือ ภาพยนตร์ที่ถูกจับตามองในเวลานี้ ด้วยโปรดักชันส์สุดอลังการและกองทัพแสดงมากฝีมือนำโดย ‘มาย-อาโป’ นักแสดงนำจาก ‘คินน์ พอร์ช เดอะ ซีรีส์’ (KinnPorsche The Series) ดูการเมืองไทยในอดีตที่ทำให้เรานึกถึงปัจจุบัน

  • แมนสรวง คือ ภาพยนตร์เสียดสีสังคมผ่านชีวิตของไพร่ในปลายสมัยรัชกาลที่ 3
  • รวมถึงยังมีเรื่องราวน่าติดตามผ่านภารกิจลับในแมนสรวง สถานเริงรมย์สุดลึกลับและหรูหราที่สุดในพระนคร
  • นำแสดงโดย ‘มาย-อาโป’ นักแสดงนำจาก ‘คินน์ พอร์ช เดอะ ซีรีส์’ (KinnPorsche The Series)  ที่โด่งดังจนมีแฟนคลับทั่วโลก   

/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องแมนสรวง (2023) /

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามจะทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงบ้านเรากลายเป็น Soft Power ในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นกระแสศิลปิน T-POP, ภาพยนตร์ที่ผู้กำกับหลายคนเดินสายรับรางวัลจากเวทีโลก รวมถึงซีรีส์วายที่มีฐานแฟนมากมาย

ขณะเดียวกัน ‘แมนสรวง’ คือ ภาพยนตร์ไทยที่เปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลหนังเมืองคานส์ 2023 และยังเป็นหนังที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อผลักดันเป็นภาพยนตร์ Soft Power ของไทย

และยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของค่าย ‘บี ออน คลาวด์’ (Be On Cloud) ที่เคยฝากผลงานไว้ใน ‘คินน์ พอร์ช เดอะ ซีรีส์’ (KinnPorsche The Series) ซีรีส์วายที่ดัดแปลงมาจากนิยายออนไลน์ชื่อเดียวกันจนกลายเป็นซีรีส์วายที่โด่งดังไปทั่วโลกจนต้องเปิดคอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์ 

แมนสรวง คือ ภาพยนตร์ไทยพีเรียดที่พาเราย้อนกลับไปในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ผ่านเรื่องราวการตามหาเอกสารลับทางราชการในแมนสรวง สถานเริงรมย์อันหรูหราและลึกลับที่สุดในพระนคร เพื่อป้องกันการก่อกบฏในช่วงเปลี่ยนแผ่นดิน นำแสดงโดย ‘มาย’ ภาคภูมิ ร่มไทรทอง ที่มารับบท ‘ฉัตร’ นักตะโพนในโรงละครแมนสรวง และ ‘อาโป’ ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์  ในบท ‘เขม’ เด็กแปดริ้วที่หลงรักการรำ แต่ต้องมาสืบราชการลับในแมนสรวง แมนสรวง : ดูการเมืองไทยในอดีต  สู่หนังพีเรียดที่เสียดสีปัจจุบันแบบร่วมสมัย

สิ่งที่น่าสนใจของแมนสรวง คือ การพูดประวัติศาสตร์ไทยผ่านภาพที่สวยงามและเสียดสีสังคมปัจจุบันได้ดี แถมยังมีความร่วมสมัยผ่านความนิยมของนักแสดงนำที่โด่งดังมาจากซีรีส์วาย ซึ่งถือว่าถ่ายทอดอารมณ์และบทบาทของตัวเองได้ดีทีเดียว

ส่วนเรื่องเนื้อหาของภาพยนตร์ ไม่ใช่แค่การชวนให้ผู้ชมลุ้นไปกับภารกิจลับเพื่อป้องกันกบฎ แต่หนังกลับทำให้เราอยากกลับไปทบทวนตำราประวัติศาสตร์ที่เป็นฉากหลังสังคมวัฒนธรรมของเรื่อง

บทความนี้ The People ชวนทุกคนมาสำรวจเรื่องราวของชีวิตอันหลากหลายของผู้คนในช่วงเปลี่ยนแผ่นดินเมื่อ 173 ปีก่อน ที่ดูจบแล้วทำให้เรานึกถึงสังคมไทยปัจจุบัน

 

ไพร่ นายรำ และ อิเหนา

จริงๆ แล้ว เส้นเรื่องของแมนสรวง คือ การเล่าชีวิตธรรมดา ๆ ของ ‘ไพร่’ 

แต่ชีวิต ‘เขม’ เขาเป็นไพร่อิสระ ไม่ได้ขึ้นตรงกับเจ้านายคนไหน เติบโตมาด้วยตัวเองและคำสั่งสอนของหลวงพ่อหลังจากพ่อแม่จากไป สิ่งเดียวที่เขมรักและหลงใหล คือ การรำ 

ชีวิตที่ดูเหมือนสวยงาม เพราะเขมมักได้รับบทนำเป็นตัวพระตลอด แต่ฉากหลัง คือ การเอาตัวเข้าแลกกับการปรนนิบัติเจ้าขุนมูลนายหลายต่อหลายคน 

แล้วอาโปก็ทำให้เห็นถึงความเจ็บปวดที่เขมแบกรับไว้ได้ดี โดยเฉพาะฉากเช็ดเครื่องสำอางหน้ากระจกที่แฟลชแบ็คให้เห็นภาพการปรนนิบัติเจ้านายของเขม เพื่อความก้าวหน้าในเส้นทางนายรำของตัวเอง

การที่ภาพยนตร์นำเรื่องศิลปะการรำมาเล่าอาจทำให้เราเข้าใจว่า สมัยรัชกาลที่ 3 งานนาฏกรรมคงเจริญรุ่งเรืองประมาณหนึ่ง แต่ถ้าดูพื้นหลังสังคมวัฒนธรรมในรัชกาลที่ 3 อ้างอิงจากเอกสารเรื่อง ‘นาฏศิลป์และละครไทย’  โดยม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชระบุไว้ว่า 

“ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดการมหรสพต่างๆ ทรงเห็นว่าเป็นการบำรุงบำเรอที่ไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและผิดหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นการบำรุงบำเรอตนเองเกินกว่าเหตุ โขนหลวงจึงร่วงโรยไปพักหนึ่งตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ลงมา…”

รวมถึงข้อมูลจากวิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย ภาควิชานาฏยศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อ ‘รูปแบบนาฏกรรม’ โดยธรรมจักร พรหมพ้วยก็เขียนถึงลักษณะที่แตกต่างของงานนาฏกรรมว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 ค่อนข้างแตกต่างจากปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ว่า

“จำนวนชนิดของนาฏกรรมลดลงจากเดิม ไม่พบการแสดง เช่น ถิปลำ ม้าล่อช้าง ชวารำหน้า ปรบไก่ หุ้นลาว งิ้วญวน จีนเงาะ คงเหลือเพียงการแสดงที่ต้องมีตามจารีต เช่น ใช้เป็นมหรสพในการพระราชพิธีและพระราชประเพณีของหลวง หรือได้รับความนิยมจึงทำให้อยู่รอดและคงสืบมา”

อีกทั้งสมัยนั้น สถานที่ยอดฮิตในการแสดงละครมักจะอยู่ในวัดและ ‘โรงบ่อนและโรงหวย’ ของชาวจีน เพราะพวกเขามักใช้เวลาหลังเลิกงานด้วยการเล่นพนัน และทรงมีพระราชดำริเห็นว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้เข้าท้องพระคลัง จึงทรงโปรดให้หัวหน้าชาวจีนรับทำสัมปทานทำบ่อนออกหวยและเปิดโอกาสให้คนไทยเข้ามาเล่นได้

แมนสรวง : ดูการเมืองไทยในอดีต  สู่หนังพีเรียดที่เสียดสีปัจจุบันแบบร่วมสมัย

การแสดงรำในสถานเริงรมย์อย่าง ‘แมนสรวง’ ที่มีเจ้าของเป็นชาวจีนจึงดูเป็นเรื่องปกติของคนยุคนั้น เพราะในประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า นาฏกรรมเหล่านี้ทำให้โรงบ่อนมีความคล่องตัวทางการเงินและจ้างคณะนักแสดงเข้าไปแสดงอยู่บ้าง

นอกจากนี้ด้วยหน้าตาของอาโปที่ดูคมเข้ม ผิวแทนและสัดส่วนร่างกายที่ดูเป็นชายไทยจนเป็นเขมอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้ในภาพยนตร์จึงมีคำชมจากป้าแม่ครัวว่า เขมหน้าตาเหมือนอิเหนา ตัวละครที่ขึ้นชื่อเรื่องความหน้าตาดี

“พ่อเขมของข้า หน้าตาหล่อเหมือนอิเหนาเลย” คือคำทักทายแรกของป้าแม่ครัวกับเขม

แล้วความเป็นไพร่และความรักในศาสตร์นาฏกรรมของเขมนี่แหละคือจุดเริ่มต้นของภารกิจตามหาเอกสารลับของคนก่อกบฏในแมนสรวง

 

ตั้วเหี่ย ตัวร้ายในหนังและชาวจีนที่มีอยู่จริง

หลังจากถูกหาว่าเป็นคนร้ายฆ่าลูกชายของพระยาบดิศร เขมกับเพื่อนสนิทชื่อ ‘ว่าน’ ก็ต้องย้ายจากบ้านเกิดที่แปดริ้วมาเป็นนายรำอยู่ในแมนสรวง

แมนสรวง คือ สถานเริงรมย์ที่มีไว้เพื่อความบันเทิง เจรจาลับทางธุรกิจและความลับทางราชการ ตั้งอยู่ในย่าน ‘สำเพ็ง’ ที่เป็นตลาดการค้า มีสถานเริงรมย์ ซ่อง และโรงน้ำชา 

แมนสรวง มี ‘เจ้าสัวเฉิง’ หัวหน้าชาวจีนเป็นเจ้าของ และยังมีห้องประชุมลับของชาว ‘ตั้วเหี่ย’ (แปลว่า พี่ชายใหญ่) กลุ่มสมาคมลับชาวจีนที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจ 

อาจเป็นเพราะช่วงรัชกาลที่ 3 ตอนใต้ของจีนเกิดความวุ่นวายทางการเมืองและขาดแคลนอาหาร ชาวจีนจึงอพยพนอกประเทศมากขึ้น บางกลุ่มเข้ามาค้าขาย บางกลุ่มเข้ามาเป็นกรรมกร หรือเป็นเจ้าของโรงงาน ส่งผลให้ในรัชสมัยนี้มีคนจีนเข้ามาในไทยมากกว่า 250,000 คน

ในเชิงความมั่นคงของรัฐ ตั้วเหี่ย คือ ตัวร้าย เพราะพวกเขาขายฝิ่นปิดกฎหมาย ทั้งยังเคยก่อการร้ายบุกปล้นโรงงานน้ำตาล สร้างความหวาดกลัวให้กับคนไทย

บางคนหนีเข้าป่า และคนจีนบางส่วนก็เลือกปลิดชีวิตตัวเองทิ้ง

คิดว่าเรื่องราวนี้คงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ภาพยนตร์พูดถึงความแค้นฝังใจของตั้วเหี่ยที่ทำร้ายครอบครัวและคนรักของ ‘ว่าน’ จนเกิดเป็นบาดแผลในใจและต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว

แมนสรวง : ดูการเมืองไทยในอดีต  สู่หนังพีเรียดที่เสียดสีปัจจุบันแบบร่วมสมัย

มุมมองของผู้เขียนคิดว่า ‘บาส’ อัศวภัทร์ ผลพิบูลย์ที่มารับบทว่านก็ถ่ายทอดความเป็นเด็กหนุ่มไร้เดียงสา สลัดคราบหนุ่มบอดี้การ์ดจากซีรีส์เรื่องก่อนหน้าได้ดี ทั้งยังแสดงผ่านแววตาที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ความแค้นที่ซ่อนอยู่ในตัวละครได้อย่างไม่รู้สึกติดขัด

แต่ก็อย่างที่เขมบอก ตั้วเหี่ยก็ถือเป็นประชากรในแผ่นดินสยาม และแต่ไม่ใช่ตั้วเหี่ยทุกคนจะรุนแรงเหมือนกันไปเสียหมด 

เพราะไม่ควรมีใครถูกตัดสิน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ความจริงและไม่รู้จักกัน

 

แมนสรวง พื้นที่แห่งความหลากหลายในช่วงเปลี่ยนแผ่นดิน

ฉากหลังของการสืบหาเอกสารลับค้าอาวุธผิดกฎหมายของเขม คือ ช่วงเวลาการเปลี่ยนแผ่นดินในปลายรัชกาลที่ 3

ซึ่งหากมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ณ ตอนนั้น ดูจากบันทึกของดร.มัลคอล์ม สมิธ แพทย์ชาวอังกฤษผู้ถวายการดูแลรักษาพระพลานามัยของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะเห็นว่า รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชประสงค์ให้เจ้าฟ้ามงกุฏ ผู้เป็นอนุชาขึ้นครองราชย์ 

ส่วนพระราชพงศาวดารก็บันทึกไว้ว่า ก่อนสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตรัสมอบอำนาจในการเลือกกษัตริย์ให้แก่คณะเสนาบดี และทรงมีพระราชวิจารณ์คุณสมบัติของเจ้านายหลายพระองค์ซึ่งเป็นตัวเต็งในการสืบราชสมบัติ

รอยต่อในช่วงเวลานั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์สยามสมัยรัตนโกสินทร์ กษัตริย์องค์ใหม่จึงต้องทรงเป็นผู้นำพาสยามเผชิญหน้ากับการแผ่ขยายอำนาจของชาติตะวันตก

แมนสรวง : ดูการเมืองไทยในอดีต  สู่หนังพีเรียดที่เสียดสีปัจจุบันแบบร่วมสมัย

ทั้งยังเป็นภาพสะท้อนความหลากหลายของชนชาติในแผ่นดินสยามอีกด้วยที่ไม่ได้มีแค่คนไทย แต่ยังมีทั้งชาวตะวันตกและชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย

ซึ่งแมนสรวงก็ทำได้ดีผ่านภาพและมุมกล้องที่ไร้ที่ติตลอดทั้งเรื่องที่ทำให้เราเชื่อจริง ๆ ว่า แมนสรวงคือพื้นที่หรูหราและลึกลับตามที่โฆษณาไว้

รวมถึงการแสดงหลากเชื้อชาติที่อธิบายสังคมวัฒนธรรมของช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการแสดงงิ้ว โชว์อินเดีย ตัวละครฝรั่งที่เข้ามาในแมนสรวง หรือแม้แต่ นักแสดงสมทบในครัวที่นุ่งผ้าเกาะอกและมัดจุกแบบจีน

ซึ่งเป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นจริงใช่วงเวลาหนึ่ง เพียงแต่อาจจะไม่ได้ถูกบันมึกไว้ในตำราประวัติศาสตร์เล่มไหน

 

หนังพีเรียดภาพสวยที่เสียดสีการเมืองปัจจุบัน

นอกจากความสวยงามของภาพ ความอลังการของโพรดักชันส์ และพลังของ Soft Power ที่อยากจะพาผู้ชมแบบเราไปรู้จักประวัติศาสตร์ไทยอีกครั้ง ในอีกแง่หนึ่ง บทภาพยนตร์บางช่วงก็ทำให้เรานึกถึงบริบทการเมืองไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงท้าย

หลังจากภารกิจลับจบลง พระยาบดีศร ผู้มอบหมายภารกิจลับให้เขมก็กลับไปจับมือกับ ‘พระยาวิเชียรเดช’ ผู้อยู่เบื้องหลังการลักลอบนำอาวุธเข้ามาในแมนสรวง ทั้ง ๆ ที่ตอนแรกเกลียดจนแทบไม่มองหน้ากัน

“การเมือง ไม่มีเขามีเรา แต่เราทำเพื่อแผ่นดินสยาม” พระยาวิเชียรเดชบอกกับพระยาบดีศรพร้อมชนแก้ว

อีกหนึ่งสิ่ง คือ การพูดถึงคนธรรมดาที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม

เพราะทำภารกิจสำเร็จ เขมจึงได้รับข้อเสนอให้เข้ารับราชการ แต่สุดท้ายเจ้าตัวก็ปฏิเสธไป เพราะเขมรู้แล้วว่า ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจล้นฟ้า แต่ประชาชนตัวเล็ก ๆ ก็สามารถลุกขึ้นมาทำบางอย่างเพื่อแผ่นดินเกิดได้

“ตอนนี้ข้ารู้แล้วว่า ไพร่แบบข้าก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้”  เขมบอกกับฉัตร เพื่อนร่วมภารกิจและมือตะโพนของคณะละครในแมนสรวง

สิ่งนี้อาจบอกเราได้ว่า ต่อให้เวลาผ่านไปนานแค่ไหน การเมืองก็คือการเมือง พยายามทำทุกสิ่งเพื่อแลกกับอำนาจที่ตัวเองต้องการ โดยอ้างว่าทำเพื่อแผ่นดิน

และไม่ว่าจะยุคสมัยรัชกาลที่ 3 ยุคปู่ยาตายาย รุ่นพ่อแม่ หรือแม้แต่รุ่นเรา เสียงของคนธรรมดาและเสียงของประชาชนก็สามารถเปลี่ยนสังคมได้เสมอ

ถึงบางครั้ง เสียงของพวกเขาเหล่านั้นจะถูกเมินเฉย จนไม่มีใครได้ยินก็ตาม 

หากมองโดยรวมแล้ว ทั้งนักแสดง บทภาพยนตร์ และโปรดัคชันส์ แมนสรวง คือ ภาพยนตร์ที่อาจเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ผลักอุตสาหกรรมบันเทิงไทยเป็น  Soft Power ได้สำเร็จและอาจเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่จะทำให้ทีมงานและนักแสดงภูมิใจไปอีกนาน

 

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ภาพ : โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องแมนสรวง

 

อ้างอิง :

ธรรมจักร พรหมห้วย. (2562). “สถานภาพของงานนาฏกรรมในรัชกาลที่ 3”. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 15 (1). หน้า 138, 144  

silpa mag

ศิลปวัฒนธรรม