30 ส.ค. 2566 | 19:01 น.
- TV THUNDER ผู้ผลิตคอนเทนต์ที่คร่ำหวอดในวงการมายาวนาน ทดลองมาทำซีรีส์สไตล์ Feel Good หยิบปัญหา Burnout และ Generation Gap ที่คนยุคปัจจุบันพบเจอมานำเสนอ
- ซีรีส์ ‘เพื่อนผมมีมรดกเป็นโฮมสเตย์ครับ’ มีนักแสดงวัยรุ่นที่น่าจับตาอย่าง พร้อม - ราชภัทร วรสาร มาร่วมแสดง เขาเป็นอีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองต่อปัญหา Burnout และ Generation Gap ที่น่าสนใจ
ขึ้นชื่อว่า TV THUNDER ผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน ผลิตคอนเทนต์ตามยุคสมัยมากมาย พาผลงานก้าวไปสู่ระดับสากล โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่มาแรงอย่างสายวายซึ่งกลายเป็นผลงานหัวหอกด้าน Soft Power อีกชนิดของไทย ในยุคนี้ TV THUNDER ผลิตคอนเทนต์หลากหลาย และก้าวมาเป็นพาร์ทเนอร์กับ iQIYI (อ้ายฉีอี้) แพลตฟอร์มสตรีมมิงระดับโลกเป็นครั้งแรก คอนเทนต์ TV THUNDER ORIGINAL ที่นำมาป้อนให้ในครั้งนี้ มาในแนวซีรีส์ที่สะท้อนมุมมองทางสังคมบ้างแล้ว
ประสบการณ์ในวงการบันเทิงร่วม 30 ปีของ TV THUNDER นำมาสู่การผลิตซีรีส์ ‘เพื่อนผมมีมรดกเป็นโฮมสเตย์ครับ’ ผลงานชิ้นล่าสุดที่รวบรวมนักแสดงรุ่นใหม่ มาทำงานกับบุคลากรในวงการบันเทิงมากประสบการณ์ นักแสดงที่โดดเด่นในซีรีส์ นำมาโดย พร้อม - ราชภัทร วรสาร, แปลน - รัฐวิทย์ กิจวรลักษณ์, มาร์ค - ศิวัช จำลองกุล, ฟ้อนด์ - ณัฐทิชา จันทรวารีเลขา (ฟ้อนด์ BNK48) ร่วมกับนักแสดงมากประสบการณ์อย่าง ต๊งเหน่ง - รัดเกล้า อามระดิษ, หนุ่ม - สันติสุข พรหมศิริ, ติ๊ก - เจษฎาภรณ์ ผลดี และบอนซ์ - ณดล ล้ำประเสริฐ
สำหรับเนื้อหาของซีรีส์ ในมิติหนึ่ง พูดถึงปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัย หรือ Generation Gap ขณะที่เนื้อหาอีกส่วนพยายามสะท้อนถึงอาการ Burnout ซึ่งคนในสมัยนี้ประสบกันบ่อยครั้ง
การนำเสนอมุมมองเหล่านี้ นำเสนอผ่านเรื่องราวของวัยรุ่น 3 คนชื่อ ฟิล์ม, ท็อป และกันต์ ซึ่งมีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่กับ ‘ยายทับ’ ความสัมพันธ์ระหว่างคนที่อายุห่างกันหลายปีพยายามสะท้อนแนวคิดที่เบื้องหลังของจุดกำเนิดซีรีส์ชุดนี้ที่อยากลดช่องว่างระหว่างคนแต่ละยุค
“เราพยายามนำเสนอจุดของการลดช่องว่างระหว่างคน 2 Gen ลดอคติในใจแล้วหาจุดตรงกลางที่จะอยู่ร่วมกัน”
นี่คือคำอธิบายถึงแนวคิดส่วนหนึ่งของการผลิตซีรีส์จากคุณจารุพร กำธรนพคุณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการผลิตของ TV THUNDER
จากประสบการณ์ที่สัมผัส กลายเป็นเนื้อหาซีรีส์
คุณจารุพร กำธรนพคุณ ยังเล่าถึงความเป็นมาของการสร้างซีรีส์ ‘เพื่อนผมมีมรดกเป็นโฮมสเตย์ครับ’ ว่า บริษัทมีแนวคิดในการผลิตโดยเริ่มจากคำถามพื้นฐานว่า คนดูอยากดูอะไร สำหรับซีรีส์ ‘เพื่อนผมมีมรดกเป็นโฮมสเตย์ครับ’ เริ่มต้นมาจากประสบการณ์ที่สัมผัสกับเด็กวัยนี้เยอะ ๆ ผ่านงานที่ทำร่วมกัน
“อย่างพร้อม เนี่ย ทำงานกันตอนทำเรื่อง หน่าฮ่าน เขาเป็นช่วงเปลี่ยนแปลง เรียนวิศวะที่ มข. แต่ว่าตัวเองก็เริ่มทำงานในวงการ คือคุยกับเขาแล้วถึงได้รู้จักชีวิตเขา เขาเรียนวิศวะที่ มข. ก็โด่งดังมีงาน แล้วก็เป็นจังหวะชีวิต เขาต้องมาตัดสินใจว่า ถ้าเขาอยู่ที่ขอนแก่น เขาจะตามฝันในสิ่งที่เขาทำได้ยังไง การตัดสินใจทิ้งคณะวิศวะ มข. เนี่ย...พี่ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วก็มาเรียนที่นิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ
ตอนแรกก็คิดแบบผู้ใหญ่ที่มองเด็ก อ๋อ อยากดังก็เลยไม่เรียนแล้ว วิศวะยาก มาเรียนนิเทศ ม.กรุงเทพดีกว่า จะได้ดังด้วย แล้วก็เรียนให้มันจบ ๆ ไป นี่คิดแบบผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เข้าใจเขา แล้วเอาบรรทัดฐานของเราไปมองเขา
แต่ปรากฏว่าเขาเรียนน่ะ เจอหน้ากันทุกครั้ง เขาบอกว่าตอนนี้เขายังเกียรตินิยมอยู่นะ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดเขาเกียรตินิยม เราก็ไปอยู่ด้วยกันที่อีสาน ทำงานที่อีสานอยู่กันเป็นเดือน เขาเอาคอมพิวเตอร์ไปด้วย เอา iMac ไปด้วย ยกไปเลย ฝากเราใส่รถทีมงานไป แล้วก็ตัวเองบินไป แล้วว่างก็นั่งทำงาน ทำงานกลุ่ม ทำ presentation
อยู่กับเด็ก gen นี้มาก ๆ เราถึงได้ไอเดียอย่างหนึ่งว่า เด็กเขาคิดอะไร อย่าเพิ่งไปตัดสิน อย่าเพิ่งไปชี้นำเขา ทำไมอย่างนี้ ทำไมไม่เรียนวิศวะ ทำไมไม่ทำทั้ง 2 อย่าง ทำไมไม่แบ่งเวลา เรียนวิศวะดีกว่า อย่าเพิ่งไปตัดสิน อ๋อ เรียนนิเทศจะจบง่ายใช่ไหม อ๋อ อยากดัง อย่าเพิ่ง เพราะจนวันนี้ สิ่งที่เห็นมาตลอดก็เออ โชคดีเราไม่ได้ไปตัดสินเขา ก็เป็นที่มาที่อยากทำซีรีส์ที่พูดถึงเด็กเหล่านี้”
สารหลักชิ้นหนึ่งของซีรีส์เรื่องนี้คือเรื่อง Burnout คุณจารุพร มองว่า ใจความหลักที่อยากสื่อสารจากตัวซีรีส์คือแนวคิดว่า “เหนื่อยก็พัก ไม่สำเร็จก็ได้”
“รู้สึกว่าเราเป็นตัวอย่างของคนแบบคนกลาง ๆ ไง...เราอยู่กับคนที่สำเร็จหมดเลย แล้วเราไม่รู้ว่า เราเป็นคนกลาง ๆ ได้ไหม หนังสือก็มีแต่ how to ที่บอกให้สำเร็จ ทำยังไงให้สำเร็จ ทำยังไงให้ productivity timeboxing นู่นนี่นั่นโน่น มันมีแต่ how to ให้สำเร็จ แต่ how to ให้มีความสุข แต่ไม่ต้องสำเร็จมากได้ไหม how to เป็นคนกลาง ๆ...
เราไม่ใช่คนเก่ง เราก็รู้สึกว่าคนที่มันไม่เก่ง มันจะอยู่กันยังไงวะ มันก็ควรมีอะไรที่บอกว่า เราไม่ได้โลกสวยนะ แต่เรารู้สึกว่า เออ ทำมาบอกเขาว่า เหนื่อย หยุดได้ แต่ดูดี ๆ นะว่า เหนื่อยหรือขี้เกียจ ท้อหรือมักง่าย อยากใช้ชีวิตแบบ simple หรือมักง่าย เพราะฉะนั้น ซีรีส์เรื่องนี้จะบอกว่า คิดดี ๆ ว่าเป็นแบบไหน”
Burnout และประสบการณ์ ‘แตกสลาย’ ของคนรุ่นใหม่ ฉบับ พร้อม - ราชภัทร
ในมุมมองของ พร้อม - ราชภัทร นักแสดงวัยรุ่นที่มีบทบาทสำคัญอีกครั้งในซีรีส์ของ TV THUNDER เขาให้ความคิดเห็นว่า การ Burnout ส่วนใหญ่ของวัยรุ่น ไม่ได้มาจากสิ่งรอบข้างเลย ไม่ได้มาจากคนรอบข้าง ไม่ได้มาจากครอบครัว แต่มาจากตัวเองล้วน ๆ
“วัยรุ่นสมัยนี้ ด้วยความที่ว่า เรามี mindset เป็นของตัวเองเยอะในระดับหนึ่ง เพราะว่าเติบโตมาด้วยความกดดัน แล้วเราต้องถือ mindset ของตัวเองไว้ตลอดเวลา พอถือไว้ปั๊บ เราก็จะเริ่มรู้สึกว่า สมมติว่าผมเห็นพี่เป็นคนที่รุ่นเดียวกันกับผมและประสบความสำเร็จ ผมก็เห็นเพื่อนแล้ว เฮ้ย ทำไมมันทำได้วะ ทำไมมึงประสบความสำเร็จได้ยังไง เราก็จะมองว่า แล้วทำไมเราทำไม่ได้ หรือทำไมเราไปไม่ถึงจุดที่เพื่อนถึงในแบบรุ่นเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่รุ่นเดียวกันแต่ทำไมเราไม่ทำ
มันเลยกลายเป็นว่า มาแล้ว ความกดดัน มาแล้ว เป้าหมาย มาแล้ว สิ่งที่เราต้องทำให้ได้ พอมันมาเยอะ แต่เราส่วนมาก วัยรุ่นนะครับ ส่วนมาก เขาจะชอบคิดถึงเป้าหมาย แต่ไม่ดูวิธีการ หรือว่าวิธีที่จะไปถึงตรงนั้น ส่วนใหญ่จะไม่สนใจ เพราะเราเลือกที่จะทำ กลายเป็นว่าฉิบหายแล้ว วิธีทำมันมีเยอะเกิน แล้วเราเริ่มมาแล้วด้วย เราจะถอยกลับก็ไม่ได้ เราก็ต้องดันตัวเองไปต่อ พอดันตัวเองไปต่อ ถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองรับไม่ไหว มันก็เลยเกิดการ Burnout”
ไม่เพียงแค่เนื้อหาในซีรีส์ พร้อม – ราชภัทร เล่าประสบการณ์ Burnout ครั้งแรกในชีวิตให้เราฟังด้วย
“ถ้าครั้งแรกในชีวิต เมื่อตอนช่วงที่ผมพลิกชีวิต เดือนแรกเลย จากที่ผมไม่เคยทำงานอะไรสักอย่างเลย คือเราก็แค่ทำงานในมหา’ลัย เพิ่งเคยทำงานกับสังคมผู้ใหญ่มาแค่ตอนที่เป็นประธานนักเรียนตอนมัธยมแค่นั้นเอง ไม่มีอะไรเลย
แล้วพอพลิกมา 1 เดือน ผมมีงานแบบทุกวัน บางวันผมวิ่ง 2-3 งาน โห ผมต้องรับมือยังไง ผมต้องทำยังไง ผมต้องเก็บแรงขนาดไหน หรือว่าผมต้องพูดคุยยังไง ทำยังไงให้มันรู้สึกว่ามันไม่เหนื่อย พอมันทำไม่ได้ มันก็เลยกลายเป็น burnout ไปเลย”
สิ่งที่พร้อม เล่าข้างต้น ย้อนไปถึงช่วงเวลาที่เขาแจ้งเกิดจากผลงานซีรีส์เรื่องแรก ๆ ที่เริ่มต้นเล่นเลย ยอดผู้ติดตามในสื่อสังคมออนไลน์ของนักแสดงหนุ่มรายนี้เพิ่มไปแตะหลักล้านในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงเดือนเดียว
วิธีการรับมือสิ่งที่เกิดขึ้นนำมาสู่เรื่องเล่าส่วนตัวของพร้อม ที่น่าสนใจทีเดียว
“ส่วนมาก ผมจะทิ้งทุกอย่างเลย ผมจะไม่สน คือไม่ใช่ว่าเรารับงานมาแล้วก็ทิ้งนะ หมายถึงว่าผมจะตั้งใจที่จะไม่รับในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อที่จะออกไปเที่ยว ออกไปคุยกับเพื่อน ออกไประบาย หรือว่าออกไปตามหาความสุขของเรา เพราะรู้สึกว่าผมเป็นคนที่มองตัวเองว่า ชีวิตเราเหมือนลูกโป่ง ความคิด เป้าหมาย คนรอบข้าง หรือว่าอะไรที่ฝากฝังเราไว้เหมือนกับการสูบลมเข้า 1 ครั้ง ถ้าเราสูบเข้าเรื่อย ๆ มันจะโตขึ้น สุดท้ายมันก็จะแตก พอแตกปั๊บ อันนั้นไม่ใช่ burnout แล้ว อันนั้นคือสลายไปเลย
ผมเคยสลาย 1 ครั้งมาแล้ว มันอาจจะเป็นเรื่องกิ๊กก๊อกในแต่ละคน แต่ผมรู้สึกว่ามันใหญ่สำหรับผมนะ คือช่วงเวลาหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องความรักของผมนี่แหละ ก็เป็นความรักของผมกับเพื่อนที่เป็นเพื่อนซี้กันเลย เหมือนกับว่า เราสนิทกันมากตั้งแต่เด็กจนโต แต่สุดท้ายมีช่วงเวลาหนึ่งที่เหมือนเพื่อนผมเขาความคิดเปลี่ยนไป อะไรเปลี่ยนไป แล้วแตกหักกัน
แล้วเขาก็ไม่เข้าใจอะไรผมเลยสักอย่าง จากคนที่เป็นคู่หูเลย แล้วก็เลยทะเลาะกันรุนแรง จนเวอร์ชันที่เขาพูดมาว่า ‘หลังจากนี้อย่าได้เจอกันอีกเลย’ เหมือนประมาณกูไม่อยากเจอมึงแล้ว อะไรอย่างนี้ ผมก็เลยกลับมานั่งดูตัวเองเลยว่า เฮ้ย ทำอะไร ทำไมเพื่อนต้องพูดขนาดนั้น พอกลับมานั่งดูตัวเองจริง ๆ ตัวเองนี่แหละที่เปลี่ยนไป ทั้งด้านการพูด ทั้งด้านการให้เวลา เหมือนไม่ได้ระบายกับเขาด้วย”
หากฟังประสบการณ์ของพร้อม คำถามที่น่าจะตามมาโดยอัตโนมัติน่าจะเป็นประโยคว่า ‘ทุกอย่างโอเคแล้วใช่ไหม?’
“แก้หมดแล้วครับ เพราะว่าถ้าไม่แก้ ผู้จัดการผมด่ายับเลย (หัวเราะ)” พร้อม ตอบคำถามนี้แบบผ่อนคลาย
อีกหนึ่งสารที่ซีรีส์เรื่องใหม่ของ TV THUNDER ให้น้ำหนักในการสื่อสารคือ ปมช่องว่างระหว่างคนแต่ละวัย หรือ Generation Gap บทสนทนาที่เราพูดคุยกับ พร้อม - ราชภัทร เปิดจากเรื่องแนวคิดของคนรุ่นใหม่เมื่อต้องทำงานกับผู้ใหญ่ก่อน
“สำหรับผม ผมวางไว้ก็คือ ผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ คือผู้ใหญ่ที่ผมรู้สึกว่าเขาควรน่าเคารพจริง ๆ ไม่ใช่แค่ว่าสักแต่ว่าจะอายุเยอะ สักแต่ว่าคุณเคยผ่านประสบการณ์มา 30-50-100 ปี ผมไม่สนใจเรื่องประสบการณ์ของคุณ ผมไม่สนใจอายุของคุณด้วยซ้ำ ผมสนใจแค่ว่า คุณแสดงยังไงออกมาให้ผมรู้สึกว่าผมจะเคารพคุณ หรือว่าไม่เคารพ”
พร้อม - ราชภัทร แปรรูปประสบการณ์ที่พบเจอในชีวิตจริงมาสู่การรับบทบาทในซีรีส์นี้ด้วยในส่วนหนึ่ง นั่นจึงนำมาสู่แนวทางที่จะประสานช่องว่างระหว่างวัยที่หลายแวดวงประสบอยู่
“แค่เป็นผู้ฟังครับ ง่ายเลย แค่เป็นผู้ฟัง เพราะว่าคนส่วนมาก ผมรู้สึกว่าไม่ฟัง คนส่วนมากจะเป็นผู้พูด แต่ ความเด่นของซีรีส์เรื่องนี้ที่ผมรู้สึกว่า ... คุณก็แค่จับทุกคนที่เป็นคนนิสัยอยากฟังมาอยู่ด้วยกัน เท่านั้นก็ไม่เป็นความ hard sale แล้ว มันก็จะเหมือนดูว่า เฮ้ย คนมีแต่พูดว่ะ แต่ทำไมตัวละครนี้มันฟังอย่างเดียววะ มันเหมือนเขาเรียกว่า ตรงกับชีวิตในทางอ้อม”
“เราลองเงียบแล้วลองฟังเขาดูว่า เขาเป็นคนยังไง เขาทำอะไร ความคิดเขาเป็นแบบไหน ทุกอย่างจะง่ายเลย อย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็นคุณยายที่ถ้าเป็นคุณยายในเรื่อง อาจจะโชคดีตรงที่ว่าเขาเข้าใจวัยรุ่น แต่ถ้าเป็นคุณยายที่ไม่อยู่ในซีรีส์ คุณก็แค่ทำตามตัวละคร ลองดูสิ คุณลองฟังคุณยายคุณก่อน คุณยายคุณจะพูดอะไร ถ้าเขาขี้เกียจพูด เขาก็จะหยุดเอง เราก็ค่อยพูด หรือเรามานั่งคิดว่าเขาพูดอะไรไป ผมรู้สึกว่าไม่ว่าจะ Generation gap มันไม่ได้มีความต่างอะไรมากมายหรอก ถ้าเราฟัง”
ซีรีส์ Feel Good ที่ไม่ใช่ละครคุณธรรม?
ผู้ชมบางคนที่ผ่านตาหนังหรือซีรีส์ไทยมาหลายเรื่อง หลายคนน่าจะจดจำประสบการณ์ ‘ถูกสั่งสอน’ โดยเนื้อหาของสื่อบันเทิงกันมาบ้าง การสร้างซีรีส์ที่สะท้อนสังคม และมีสารบางอย่างร้อยไปกับเนื้อเรื่องเป็นแนวทางที่ท้าทายไม่เบา
คุณจารุพร กำธรนพคุณ เท้าความเกี่ยวกับการทำงานว่า
“เรื่องนี้จริง ๆ ตอนแรกก็ตีกับคนเขียนบท เพราะว่าตัวละครไม่มีตัวร้ายเลย เรารู้สึกไม่มีตัวร้าย แล้วเราก็โตมากับละครไง แล้วเราก็ตีกัน เถียงกันบ้าง แล้วก็นี่ก็เป็น gap อย่างหนึ่งของเราที่เป็นคนทำงาน แล้วเรามองว่าตัวละครซีรีส์มันต้องมี conflict แบบนี้ ๆ มันต้องมีตัวร้าย มันต้อง… ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้ว่า ตัวละครที่เราดู หรือซีรีส์เกาหลีดี ๆ ที่มันไม่มีตัวร้าย มันไม่ใช่ร้ายแบบนั้น แต่ว่าเขาเป็นแค่คนอีกแบบหนึ่ง มันก็มีเยอะแยะ
เพราะฉะนั้น ความยากมันก็คือทำยังไงให้ละครมันน่าสนใจ ทำยังไงให้มัน, เรื่องสำคัญเลยนะ, ไม่ morality hard sale ซึ่งมันจะน่าเบื่อมาก ถ้าละครคุณธรรมอย่างที่บอก มัน morality hard sale เรากังวลมาก”
กระบวนการทำงานที่ถูกนำมาแก้โจทย์นี้ คุณจารุพร กำธรนพคุณ อธิบายว่า วางคาแรกเตอร์ให้ทุกคนเป็นคนที่แพ้ตั้งแต่แรก ไม่ได้บอกว่าเมื่อตัวละครเหล่านี้เดินทางกลับไป แล้วจะทำสิ่งที่พวกเขาทำสำเร็จ แค่เล่าเรื่องราวที่พวกเขามาพักและพร้อมจะคิดต่อ
“ตัวละครทุกตัวมีตำหนิหมดเลย สิ่งสำคัญที่นั่งคุยคือ พูดถึงตำหนิแต่ละคน มันเป็นเรื่องที่ให้ตัวละครทุกตัวมีตำหนิ และพูดถึงความพ่ายแพ้ของตัวเองได้” นั่นเป็นคำตอบของคุณจารุพร ว่าด้วยการออกแบบเนื้อหาในซีรีส์
ตัวซีรีส์ไม่ได้ให้คำตอบกับคนที่พยายามค้นหาทางแก้แบบชัดเจน สิ่งที่ซีรีส์มอบให้คือการเยียวยา
ซีรีส์เรื่องนี้มันฮีล เราบอกว่า เราอยากทำซีรีส์ feel good ฮีล ในเรื่องนั้นมันเหมือนพูดให้ทุกอย่างเป็นปกติ เฟลก็หยุดพัก แต่ต้องคิดนะ เราเอาเงินที่ไหน...”
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจซึ่งคุณจารุพร เล่าถึงซีรีส์ของ TV THUNDER ที่ฉายใน iQIYI (อ้ายฉีอี้) ว่า เมื่อได้โอกาสสร้างซีรีส์ในยุคที่ใครก็พูดถึง Soft Power ผลงานเรื่องนี้ไปถ่ายทำในพื้นที่ที่สวยงาม บริบทของพื้นที่ซึ่งแฝงอยู่ในฉากหลังของเนื้อเรื่องยังช่วยให้ผู้ชมได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตต่าง ๆ ของผู้คน
นี่คือผลงานที่เรียกได้ว่าเป็นงานนำร่องอีกชิ้นของ TV THUNDER เมื่อบริษัทเคยสร้างผลงานมาแล้วหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์การแพทย์ ซีรีส์วัยรุ่นอีสาน ซีรีส์วาย ขณะที่เรื่องนี้กำลังจะเป็นซีรีส์วัยรุ่น Feel Good ซึ่งเรียกได้ว่า ท้าทายไม่เบา ทั้งแง่การผลิต การออกแบบสารในเนื้อหา ไปจนถึงแง่โมเดลธุรกิจ
แม้แต่ตัวนักแสดงเอง พร้อม - ราชภัทร มาจากซีรีส์วัยรุ่น ซีรีส์วาย ซึ่งในมุมมองผู้บริหารของ TV THUNDER คุณจารุพร ไม่ปฏิเสธว่า ถ้าจะพัฒนาไปข้างหน้า นักแสดงต้องแสดงให้เห็นว่ารับบทได้หลากหลาย เช่นเดียวกับโปรดักชั่นที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นเช่นกัน
“เราลองทำของที่อาจจะยังไม่ได้ขายได้ตูมตาม แต่ว่าลองดูสิ แล้วลองทำเรื่องอย่างนี้ แล้วก็เด็กวัยรุ่นเขาก็โตมากับซีรีส์วายทุกคน แต่ว่าเรามาทำซีรีส์เพื่อนบ้างดิ ทำซีรีส์ที่อาจจะยังไม่ได้ marketing ได้ตูมตาม แต่เราว่า มันเริ่มเปิดตลาดให้เห็นว่าซีรีส์ โeel Good เราทำสนุก จริง ๆ
เกาหลีซีรีส์ Feel Good เต็มเลย Our Home อย่างนี้ ทำตั้ง 16 ตอน 20 ตอนแบบโอ้โห แบบ Feel Good มากเลย ทำไมเราดูแล้วมันอิ่มใจวะ แต่ Feel Good บางทีมันเป็นของแสลงของคน ของสปอนเซอร์ Feel Good ขายไม่ค่อย good (หัวเราะ)”
มุมมองนี้มีบางส่วนคล้ายกับแนวคิดของ พร้อม – ราชภัทร ที่คิดเห็นสอดคล้องกับแนวทางเริ่มทดลองสิ่งใหม่ ๆ ที่ต่างจากแนวถนัดที่ทำมาก่อนหน้านี้
“ถ้าไม่มีคนทำ ก็ไม่มีใครทำ เราก็ต้องทำให้คนอื่นเห็น ให้ต่างประเทศเห็น หรือว่าให้คนที่ไม่รู้จักเราจริง ๆ เห็นว่า เราก็ทำได้นะ ซีรีส์อย่างอื่นที่ไม่ใช่ซีรีส์วาย แค่เราทำซีรีส์วายดี แค่เราทำซีรีส์วายเก่ง อย่างอื่นเราก็ต้องเก่งด้วย แต่ผมรู้สึกว่าคนส่วนมากมองว่าเราทำให้เก่ง ก็ต้องให้เก่งขึ้นไปอีก แต่ทำอยู่อย่างเดิม มันก็เห็นอยู่อย่างเดิม สุดท้ายมันก็จะล้น แล้วก็ต้องมาเริ่มใหม่ ถ้าเรามองว่าเราทำหลาย ๆ แบบ เห็นอันนี้แล้วเขาสนใจ เฮ้ย เขาก็ทำดีเหมือนกันซีรีส์ feel good ย้ายมาดีกว่า”
ซีรีส์เกี่ยวกับ Burnout ที่ทำเนื้อหามุ่งเรื่อง ‘ฮีล’ (เยียวยา) และบอกคนดูว่าพักบ้างก็ได้...คนผลิตซีรีส์มองว่า ผลงานของตัวเองชิ้นนี้ต้องสำเร็จด้วยไหม?
เราคงไม่สามารถสรุปใจความจากคำพูดของผู้บริหารได้ดีกว่าคำตอบของผู้ผลิตที่จะอธิบายแนวคิดการผลิตของตัวเอง
“จริง ๆ ไม่รู้นะ เราทำซีรีส์แต่ละอัน เราไม่เคยรู้สึกว่า เราล้มเหลวเลย...แต่ว่าตลาดซีรีส์เมืองไทยมันยังรอคอยของเหล่านี้ ที่สเต็ปนี้เป็นรากฐานให้สเต็ปต่อไป...เพราะฉะนั้น นี่พูดด้วยความสัตย์จริงนะ ตั้งแต่ทำซีรีส์มา ไม่เคยรู้สึกเลยว่าเรื่องไหนไม่สำเร็จ”
“โอเค ในแง่ business มันต้องไม่เจ๊งอยู่แล้วแหละ เพราะฉะนั้น ความเหนื่อยก็คือ ต้องดิ้นรนหาเงินมาจนได้ แต่รีเทิร์นมาก รีเทิร์นน้อย สิ่งที่รีเทิร์นที่ไม่ได้เป็น ROI มัน return on คือสิ่งอื่นที่มันไม่ใช่ ROI เป๊ะ ๆ ที่วัดผลไม่ได้เป็นตัวเลข มันก็มีอีกไง ใช่ไหม มูลค่าในตัวเขาที่เพิ่มขึ้น คนที่ชื่นชม มันมีอย่างอื่นอีก
เพราะฉะนั้น ถามว่าทางธุรกิจก็ต้องทำให้ไม่เจ๊งเนอะ เป็นผู้บริหารทำเจ๊งก็โดนด่า แต่ว่ามันอาจจะไม่ใช่กำไรถล่มทลาย หรือทำตลาดได้แบบเราทำซีรีส์วาย ปีก่อน เราทำปุ๊บ ยังไม่ถ่ายเลย ขายได้แล้ว ได้เงินมาแล้ว ยังไม่ถ่ายเลย เพราะนั่นมันเป็นตลาด เพราะฉะนั้น พอถึงวันหนึ่ง เราก็พอมีเงิน แล้วเราก็ลองมาทำอันนี้ แล้วเราลองดูซิว่า คนที่อยากสนับสนุนซีรีส์แบบนี้มีไหม”
ช่วงท้ายของการสนทนา ผู้บริหาร TV THUNDER เล่าถึงแนวคิดการใช้ชีวิตที่อาจเชื่อมโยงกับสารในซีรีส์ได้ส่วนหนึ่ง
“พอถึงวันนี้ เราก็รู้สึกว่า มันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องฟังกันจริง ๆ แล้วก็ทั้งสองฝ่ายอย่ามีใครชี้นิ้วสั่งใครว่า ต้องเข้าใจเราสิ เด็กต้องเข้าใจผู้ใหญ่สิ เราอย่าไปรู้สึกว่าเฮ้ย เป็นเด็กพูดได้ไงว่า ชื่นชมพี่นุ้ย (ชื่อเล่นของ คุณจารุพร) มีความสามารถในการเข้าถึงวัยรุ่น นี่เป็นเขา นี่เป็นเด็กใช่ไหม เราทำงานกับเด็กมาหลายปีมาก เราเห็นว่าเขาเปลี่ยนแปลงไป
เรารู้ว่าถ้าวันนั้นเราตัดสินตั้งแต่วันนั้น แล้วไม่ฟังเขา เขาไม่คุยกับเราหรอก แล้วมันจะปิดโอกาสที่เราจะสอนเขาได้ แต่ต้องทำให้เขาค่อย ๆ เชื่อ ค่อย ๆ เคารพก่อน ไม่งั้นเขาพลาดอะไรมา เขาจะได้อยากมาบอก ถ้าเขาไม่เอาเป็นพวก แล้วจะยังไง ใช่ไหม ถ้าอยากจะฝากก็คืออยากให้ 2 gap นี้ ฟังกันมากขึ้น อย่าชี้นิ้วบอกกันว่าต้องเข้าใจฉัน”
ซีรีส์ ‘เพื่อนผมมีมรดกเป็นโฮมสเตย์ครับ’ เผยแพร่ทุกวันเสาร์เวลา 22.00 น. ทางช่อง 9 กด 30 และดูออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน iQIYI (อ้ายฉีอี้) และเว็บไซต์ www.iQ.com