‘ชิมอึนซอก’ ผู้พิพากษาปากร้ายจาก Juvenile Justice “เด็กควรได้บทเรียนจะได้ไม่ทำผิด”

‘ชิมอึนซอก’ ผู้พิพากษาปากร้ายจาก Juvenile Justice “เด็กควรได้บทเรียนจะได้ไม่ทำผิด”

Juvenile Justice ซีรีส์เกาหลีที่เล่าการทำงานของผู้พิพากษาศาลเยาวชนเกาหลีใต้ หนึ่งในตัวละครหลัก คือ ‘ชิมอึนซอก’ ผู้พิพากษาที่เกลียดเยาวชนผู้กระทำผิดและต้องการให้ทุกคำพิพากษาเป็นบทเรียนไม่ให้เด็กเหล่านั้นทำผิดซ้ำ

  • Juvenile Justice คือ ซีรีส์เกาหลีใต้ที่พาเราไปสำรวจเบื้องหลังและแนวคิดของเด็กผู้กระทำผิด
  • ในเกาหลีใต้ หากผู้กระทำผิดอายุ 14 ปีขึ้นไป พวกเขาอาจได้รับโทษจำคุก ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความผิดนั้น
  • แต่ทุกการกระทำของชิมอึนซอกใน Juvenile Justice บอกเราว่าเมื่อทำผิด เด็กควรได้บทเรียนจะได้ไม่ทำซ้ำอีก

‘Juvenile Justice’ เป็นซีรีส์เกาหลีใต้ที่ว่าด้วยเรื่องการทำงานของผู้พิพากษาในศาลเยาวชนเกาหลีใต้

ซีรีส์เรื่องนี้พาเราไปรู้จักและแนวคิดเบื้องหลังของ ‘อาชญากรเด็ก’ ทั้งคดีลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ค้าประเวณี หลอกขายบริการ กระทำชำเรา ความรุนแรงในครอบครัว การบูลลี่ที่นำไปสู่การพรากลูกชายออกจากอกคนเป็นแม่

หนึ่งในตัวละครหลักของ Juvenile Justice คือ ‘ชิมอึนซอก’ 

สำหรับ ‘ชิมอึนซอก’ หน้าที่ของผู้พิพากษาในแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว คือ การป้องกันให้เด็กที่มายืนต่อหน้าศาลไม่ทำผิดซ้ำอีก 

ในสายตาคนนอก ชิมอึนซอกอาจดูเป็นผู้พิพากษาที่ใจร้าย มุทะลุ ไม่สนใจใคร แล้วก็ดูเป็นผู้ใหญ่สายโหดในสายตาของเด็กๆ 

เหตุผลที่ทำให้ชิมอึนซอกเป็นแบบนั้น ส่วนหนึ่งมาจากปมการเสียชีวิตของลูกชายที่ถูกแก๊งวัยรุ่นโยนอิฐใส่จนต้องจากไปตั้งแต่อายุยังน้อย นั่นจึงทำให้เป้าหมายในการพิจารณาคดีของชิมอึนซอกแต่ละครั้ง เธอต้องการจะประกาศให้ผู้ปกครอง กฎหมาย และเด็กที่กระทำผิดได้รับบทเรียนอย่างเหมาะสม

แม้ซีรีส์จะเป็นภาพสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่โลกซีรีส์กับชีวิตจริงก็มีจุดที่แตกต่างกันภายใต้บริบทของสังคมเกาหลีที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เส้นสายอำนาจ และทุนนิยมที่กดทับชีวิตของผู้คนอยู่

ถึงจะเป็นเด็กก็ต้องได้บทเรียนจะได้ไม่ทำผิดซ้ำอีก

ข้อมูลในปี 2022 ระบุว่า เด็กเกาหลีใต้อายุต่ำกว่า 14 ปี จำนวน 35,390 คน ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมรุนแรงระหว่างปี 2017 - 2021 อีกทั้งรายงานจากกระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ในปี 2021 พบว่า 12% ของผู้กระทำผิดที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกลายเป็นอาชญากรซ้ำ ขณะที่ผู้ใหญ่กระทำผิดซ้ำเพียง 4.5% 

นอกจากนี้ก็ยังมีรายงานข่าวการกระทำผิดของเยาวชนชาวเกาหลีออกมาเป็นระยะ ๆ 

ทั้งการเผยแพร่คลิปกล้องวงจรปิดที่เด็กหญิงวัย 14 ปีถูกทำร้ายและถูกทิ้งไว้ข้างทางในปี 2017 และมีการรวบรวมรายชื่อกว่า 250,000 รายชื่อเพื่อขอให้ยกเลิกกฎหมายคุ้มครองผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี แล้วเสียงเหล่านี้ก็ดังพอที่จะทำให้ทีมบริหารประเทศรับเรื่องไปพิจารณาในสภา 

รวมถึงคดีที่วัยรุ่นอายุ 16 ปี ในเมืองอินชอนลวงเด็กหญิง 8 ขวบ ไปฆาตกรรมหั่นศพ และคดีที่เด็กชายอายุเพียง 13 ปีจำนวน 2 คนข่มขืนเด็กหญิงมัธยมต้นจนเธอฆ่าตัวตาย ทำให้เกิดการล่ารายชื่อกว่า 230,000 รายชื่อเรียกร้องให้เพิ่มการลงโทษผู้เยาว์ทางอาญาของเกาหลี

และอาจมีคดีอาชญากรรมอื่น ๆ ที่มีผู้กระทำความผิดเป็นเด็ก แต่ไม่ได้ปรากฏในหน้าข่าวอีกหลากหลายกรณี

ทางฝั่งรัฐบาลเกาหลีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะในปี 2018 สำนักข่าว Yonhap รายงานว่า รัฐบาลตัดสินใจลดอายุขั้นต่ำที่ต้องรับผิดทางกฎหมายเมื่อก่ออาชญากรรมลง 1 ปี จากอายุ 14 ปี เป็น 13 ปี ถ้าอายุมากกว่านั้นแม้จะเป็นเด็กก็ต้องรับโทษจำคุกเช่นกัน

ข้อมูลจากสำนักข่าว Yonhap ในเดือนสิงหาคม 2023 ระบุว่า ร้อยละ 3 ของเยาวชนอายุ 14 - 18 ปีเท่านั้นที่ถูกลงโทษทางอาญาหลังจากก่ออาชญากรรมร้ายแรง เช่น การฆาตกรรมและการข่มขืน มากที่สุดจำคุก 2 ปีในสถานพินิจด้วยการทำงานบริการชุมชน และยังไม่ถูกระบุความผิดไว้ในประวัติอาชญากรรม ส่วนคดีอื่น ๆ เยาวชนก็จะถูกส่งตัวไปยังสถานพินิจเช่นกัน

ขณะที่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาอาจถูกจำคุกสูงสุด 20 ปี …

 

ผู้พิพากษาปากร้ายที่อยากให้อาชญากรเด็กได้รับบทเรียน

อย่างที่ชิมอึนซอกบอก เลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน ดังนั้นปัญหาอาชญากรรมที่มีผู้กระทำเป็นเด็ก ไม่ใช่แค่เด็กที่ผิด แต่เป็นปัญหาทั้งสังคมที่ต้องช่วยกัน ให้เด็กที่ทำผิดได้รู้ความผิดของตัวเองได้จริง

“ว่ากันว่าถ้าจะเลี้ยงเด็กสักคน ทั้งหมู่บ้านต้องช่วยกัน พูดอีกอย่างก็คือ ถ้าหมู่บ้านไม่เอาใจใส่ก็อาจทำลายชีวิตเด็กคนหนึ่งได้” ชิมอึนซอกตอบคำถามชาแทจู ผู้พิพากษารุ่นน้องไว้หลังผ่านการพิจารณาคดีอันหลากหลายมา

ในโลกของเด็กคนหนึ่ง ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการที่เขามีตัวตน ได้รับการยอมรับ และเรียนรู้ว่าพวกเขาผิดพลาด

แต่เด็กบางคน พวกเขาไม่มีคนคอยบอก คอยเตือน และอยู่เคียงข้างเพื่อรับฟังปัญหาในใจ 

“นายคิดว่าคนที่ทำผิดมีแค่เด็กพวกนั้นไหม ไม่มีใครมีสิทธิ์มาวิจารณ์หรอก ทุกคนคือผู้กระทำผิด”

หน้าที่ของผู้พิพากษาแบบชิมอึนซอกก็ยังคงเป็นการทำให้เด็กได้รับบทเรียน ไม่มีการปรานี แต่ต้องทำให้เด็ก ๆ ที่ทำผิดได้รับโทษที่เหมาะสม เข้าใจว่ากฎหมายไม่ได้กระจอก แต่เป็นสิ่งย้ำเตือนไม่ให้เราทำผิดซ้ำอีก

“กระดุมเม็ดแรกถูกติดไปแบบผิด ๆ ตอนที่เด็กมาขึ้นศาลครั้งแรกเพื่อมารับคำพิพากษาหลังจากคร่าชีวิตคนคนหนึ่งไป คิดว่าเด็ก ๆ เรียนรู้อะไรเหรอคะ ขึ้นชื่อว่ากฎหมายก็ไม่ได้แปลว่าจะปกป้องเหยื่อทุกคน อ๋อ กฎหมายกระจอกชะมัด แค่สามนาที… การพิจารณาคดีก็จบแล้ว”

ในการตัดสินลงโทษอาจจะไม่ได้มีสูตรตายตัวสำหรับผู้พิพากษาว่าจะต้องเป็นแบบตัวละครนี้ หรือแบบใด เพราะแต่ละประเทศ แต่ละสังคม มีสภาพแวดล้อมทางสังคม กฎเกณฑ์ และเงื่อนไขทางกฎหมายที่แตกต่างกัน จึงไม่อาจตัดสินได้ว่า วิธีแบบชิมอึนซอกหรือวิธีของกฎหมาย แบบใดแบบหนึ่งจะช่วยให้เด็กเข้าใจความผิดพลาดที่เขาทำลงไป ได้รับบทเรียนที่เหมาะสม และไม่ทำผิดซ้ำอีกได้แบบครอบคลุมทุกบริบทในทุกประเทศ

แต่สิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อจากนี้ คือ กระบวนการแบบใดที่จะให้บทเรียนกับเยาวชนที่กระทำผิดให้เหมาะสมกับความผิดที่ก่อ ป้องปรามการกระทำผิดซ้ำ และเป็นตัวอย่างให้กับเยาวชนคนอื่นในสังคมว่าคนกระทำผิดต้องได้รับผลลัพธ์ตามมา ขณะเดียวกันก็ช่วยฟื้นฟูให้เด็กที่กระทำผิดเรียนรู้จากความผิดพลาด แก้ไข ปรับปรุงพฤติกรรม เมื่อเขากลับมาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เติบโตและใช้ชีวิตต่อไปในสังคม

 

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ภาพ : Netflix

 

อ้างอิง :

Yonhap (1)

Yonhap (2)

yonsei

koreaherald

post today