‘จินเชาฉวิน’ ผู้รับบท ‘เปาบุ้นจิ้น’ ฉบับฮิต จากสายตัวร้าย มารับบทที่เปลี่ยนชีวิตตลอดกาล

‘จินเชาฉวิน’ ผู้รับบท ‘เปาบุ้นจิ้น’ ฉบับฮิต จากสายตัวร้าย มารับบทที่เปลี่ยนชีวิตตลอดกาล

‘จินเชาฉวิน’ ผู้รับบท ‘เปาบุ้นจิ้น’ ฉบับฮิต จากนักแสดงบทตัวร้าย เคยแพ้เลือกตั้ง เกือบหันมาทำธุรกิจเต็มตัว เลือกรับบทท่านเปาจนชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล

“ลูกหลานเราคนใดเป็นข้าราชการแล้วกินสินบาทคาดสินบน ห้ามกลับคืนมายังบ้านเรา และห้ามเผาผีร่วมสกุลกันอีก ใครไม่นับถือคุณงามความดีอย่างเรา เราไม่นับเป็นลูกเป็นหลาน”

เปา เจิ่ง ได้สั่งเสียไว้ก่อนเสียชีวิต

 

เปาบุ้นจิ้น

เปา เจิ่ง หรือ เปาจิ้น ในภาษาจีนฮกเกี้ยน วรรณกรรมเรียก เปา เหวินเจิ่ง ในภาษาจีนกลาง หรือ เปาบุ้นจิ้น ในภาษาจีนฮกเกี้ยน (包文拯) เป็นข้าราชการชาวจีนในรัชสมัยจักรพรรดิเหรินจง แห่งราชวงศ์ซ่งของจักรวรรดิจีน 

ตลอดเวลา 25 ปีที่รับราชการนั้น เปา เจิ่ง แสดงออกซึ่งความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นกลางอย่างเสมอภาค ในระหว่าง ค.ศ. 1057 - 1058 เขาได้เป็นผู้ว่าการนครไคเฟิง (ไคฟง) เมืองหลวงของราชวงศ์ซ่ง และได้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงหลายประการในระบบราชการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ปวงชนผู้เดือดร้อน ทำให้เขาได้รับยกย่องจนกลายเป็นตำนาน

ในช่วงชีวิตราชการของเขา เขายังได้รับฉายาว่า เปาชิงเทียน (包青天; ‘เปาผู้ทำให้ฟ้ากระจ่าง’) เพราะได้ช่วยเหลือคนธรรมดาสามัญให้รอดพ้นจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง

ปัจจุบัน เปา เจิ่ง ได้รับการสดุดีในจีนแผ่นดินใหญ่ให้เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของความยุติธรรม เรื่องราวชีวิตของเขาได้รับการดัดแปลงเป็นวรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวนและกำลังภายในมาแต่โบราณ ซึ่งได้รับความนิยมมาตราบทุกวันนี้ 

เรื่องราวของเปาบุ้นจิ้น ทำเป็นละครบ่อยครั้ง ที่โด่งดังที่สุดคือ เวอร์ชันไต้หวัน ปี ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) จำนวน 236 ตอน ฉายช่องทีวีหัวซื่อของไต้หวัน ซึ่งมี จินเชาฉวิน (Jin Chao Qun) รับบทเป็น เปาบุ้นจิ้น, ฟ่านหงซวน (Fan Hong Xuan) รับบทเป็น กงซุนเช่อ และ เหอเจียจิ้ง (Kenny Ho) รับบทเป็น จั่นเจา โดยมี เจ้าต้าเซิน เป็นโปรดิวเซอร์ ความนิยมของละครชุดนี้สร้างกระแสทั่วเอเชีย ทั้งไต้หวันและฮ่องกง

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ‘เหอเจียจิ้ง’ เจ้าของบท ‘จั่นเจา’ ขวัญใจผู้ชมตลอดกาล อดีตเด็กขนศพเพื่อหาเงินไปเรียน

“ตอนแรกที่วางแผนสร้างเปาบุ้นจิ้น หลายคนในช่องไม่ค่อยเห็นดีด้วย บ้างว่าเรื่องเก่าแก่เกินไป ไม่เข้ากับยุคสมัย แต่ผมยังยืนกรานที่จะสร้างสรรค์ใหม่ เปาบุ้นจิ้นเวอร์ชันนี้ต้องทำใหม่หมด ทั้งเรื่องเสื้อผ้า ฉาก รูปแบบการถ่ายทำ ต้องเน้นความประณีตสูงสุด” เจ้าต้าเซินกล่าว

เมื่อโปรเจกต์ผ่าน ขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนคือการหาตัว ‘เปาบุ้นจิ้น’ เจ้าต้าเซิน เลือกเพื่อนสมัยมัธยมของเขา ‘จินเชาฉวิน’

ในปี 1988 ทั้งจินเชาฉวิน และ เหอเจียจิ้ง เคยแสดงด้วยกันในละครชุด 八千里路雲和月 Eight Thousand Li of Cloud and Moon ที่เล่าเรื่องของวีรบุรุษงักฮุย ซึ่งเรื่องนี้ เหอเจียจิ้งแสดงเป็นงักฮุย ส่วนจินเชาฉวินแสดงเป็นฉินไคว่ มหาเสนาบดีที่ใส่ร้ายงักฮุยจนเสียชีวิต ซึ่งในการแสดงบทบาทฉินไคว่ของจินเชาฉวิน นับได้ว่าตีบทแตกจนคนไต้หวันเกลียดเกือบทั้งบ้านทั้งเมือง

และนอกจากเป็นผลงานการแสดงร่วมกันของเหอเจียจิ้งกับจินเชาฉวินแล้ว ฟ่านหงซวน (ผู้รับบทกงซุนเช่อ) ยังรับบทเป็นจักรพรรดิซ่งเกาจง ผู้หูเบา ฟังคำใส่ร้ายงักฮุยของฉินไคว่ ในละครเรื่องนี้อีกด้วย

การมารับบทเปาบุ้นจิ้นของจินเชาฉวิน นับว่าถูกต่อต้านเป็นอย่างมาก ในสายตาผู้บริหารบางคนมองว่า เปาบุ้นจิ้นเวอร์ชันนี้คืออีกหนึ่งความหายนะที่เกิดขึ้น

 

จินเชาฉวิน

สำหรับ จินเชาฉวิน เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 1951 เขาเข้าวงการแสดงตั้งแต่อายุ 18 ปี ด้วยการเป็นนักแสดงละครเวที รวมถึงงานเบื้องหลังจนได้เป็นผู้กำกับละครเวที ต่อมาเขาทำงานวงการภาพยนตร์ด้วยตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ จนกระทั่งในปี 1977 เขาเซ็นสัญญากับ Chunghwa TV (CTS) ในฐานะนักแสดงและพิธีกร

บทบาทที่จินเชาฉวินแสดงส่วนใหญ่จะเป็นบทตัวร้าย และบทที่สร้างชื่อให้เขาที่สุดคือ ‘ฉินไคว่’

จนกระทั่งในปี 1992 จินเชาฉวินถูกชักชวนจากจินเชาเหว่ย น้องชายซึ่งเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมืองให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ แต่เขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนั้น เขากะว่าจะหาธุรกิจเพื่อลงทุน เผอิญ เจ้าต้าเซิน โปรดิวเซอร์ละครโทรทัศน์ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยมัธยมของเขามาชักชวนให้แสดงเป็นเปาบุ้นจิ้น

ในตอนแรกนั้น จินเชาฉวินกะว่าจะแสดงละครเรื่องนี้สัก 15 ตอน และนำเงินค่าตัวที่ได้ไปลงทุนกับธุรกิจใหม่ของเขา แต่เกินความคาดหมาย เพราะบทเปาบุ้นจิ้นนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปตลอดกาล

เปาบุ้นจิ้น (包青天/ Justice Pao) ออกอากาศทางสถานีหัวซื่อ เวลา 20.00 น. ครั้งแรกในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1993 ช่วงเวลานี้ แม้จะเป็นช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของช่อง แต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด สะท้อนถึงความไม่มั่นใจของผู้บริหารในความสำเร็จของละครชุดนี้

ในตอนแรกที่มีการสร้างคือผลิตเพียงแค่ 15 ตอน 3 คดีเท่านั้น หาได้คาดว่า ละครชุดเปาบุ้นจิ้น จะได้รับความนิยมจนสร้างปรากฏการณ์ เหมือนเมื่อครั้ง 18 ปีก่อนที่มีการสร้างถึง 350 ตอน (เวอร์ชันไต้หวันปี 1974 ที่นำมาฉายที่เมืองไทยจนกระทั่งมีผงซักฟอกยี่ห้อเปา และมีรูปนักแสดง อี้หมิง เป็นพรีเซนเตอร์)

 

ประหารราชบุตรเขย คดีแรกของเปาบุ้นจิ้น

เปาบุ้นจิ้นเวอร์ชันปี 1993 มีคดีแรกคือ คดีประหารราชบุตรเขย (ราชบุตรเขยจอมโหด The Case of Executing Chen Shimei/鍘美案) เมื่อออกอากาศก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เพราะได้ดาราที่โด่งดังทั้งเอเชียตอนนั้นอย่าง หลิวเซียะหัว ดาราสาวผู้มากความสามารถมาถ่ายทอดบทบาทฉินเซียงเหลียน ภรรยาของราชบุตรเขยเฉินซื่อเหม่ย ประกอบกับเนื้อหาอันเข้มข้น ส่งผลให้เปาบุ้นจิ้นเวอร์ชันนี้โด่งดังทำเรตติ้งให้กับสถานีโทรทัศน์หัวซื่อจนแทบไม่ต้องรอฉายครบอีก 2 คดีที่เหลือ ผู้บริหารของสถานีก็รีบสั่งให้มีการผลิตเพิ่มทันทีเป็น 41 คดี 236 ตอน

สำหรับคดีประหารราชบุตรเขยนั้น เล่าถึงเฉินซื่อเหม่ย บัณฑิตยากไร้ที่เดินทางเข้าสอบรับราชการในเมืองหลวง และสอบได้เป็นจฺวั้ง-ยฺเหวียน (จอหงวน) เมื่อเข้าพบองค์ฮ่องเต้ก็เป็นที่ถูกพระทัยและต้องตาต้องใจองค์หญิงอย่างยิ่ง พระราชทานให้เฉินซื่อเหม่ยเป็นราชบุตรเขย

จนเวลาล่วงผ่านไปสามปี ฉินเซียงเหลียน ภรรยาของเฉินซื่อเหม่ย ที่คอยดูแลปรนนิบัติแม่สามีและเรือกสวนไร่นา ระหว่างที่เฉินซื่อเหม่ยเดินทางไปสอบรับราชการที่เมืองหลวง ช่วงเวลานั้นเกิดภัยแล้ง ฉินเซียงเหลียนถึงกับยอมกรีดเนื้อตนเองให้แม่สามีรับประทานประทังหิว ด้วยความห่วงใยในตัวสามีคิดว่าอาจจะเดินทางแล้วเงินค่าใช้จ่ายหมดจึงกลับบ้านมาไม่ได้

ฉินเซียงเหลียนจึงตัดสินใจฝากแม่สามีให้เพื่อนบ้านดูแล ตัวเองและลูกพากันเดินทางเข้าเมืองไคฟง เมื่อมาถึงเมืองไคฟงก็รู้ว่าเฉินซื่อเหม่ยสอบได้จฺวั้ง-ยฺเหวียน (จอหงวน) เป็นบัณฑิตอันดับหนึ่งของแผ่นดิน (คำว่า ‘จฺวั้ง’ หมายถึง ผลสอบ ส่วน ‘ยฺเหวียน’ แปลว่า ที่หนึ่ง ฉะนั้น ‘จฺวั้ง-ยฺเหวียน’ จึงแปลตรงตัวว่า ผลสอบเป็นที่หนึ่ง) 

ฉินเซียงเหลียนดีใจอย่างยิ่งจึงรีบเดินทางมาที่จวน แต่เฉินซื่อเหม่ยทำปฏิเสธไม่รู้จัก ด้วยความกลัวอดีต จึงจ้างวานมือสังหารไปลอบฆ่าฉินเซียงเหลียนและลูกน้อย

มือสังหารเมื่อมาพบฉินเซียงเหลียนก็ได้รู้ความจริงทั้งหมดของเฉินซื่อเหม่ย มือสังหารจึงบอกให้ฉินเซียงเหลียนไปตีกลองร้องเรียนท่านเปาที่ศาลไคฟง ส่วนตนเองยอมฆ่าตัวตาย เพราะปฏิบัติการไม่สำเร็จ

 

ในศาลไคฟงทุกผู้คนล้วนเท่าเทียมกัน

ฉินเซียงเหลียนตีกลองร้องทุกข์ เปาบุ้นจิ้นสืบจนพบความจริง จึงเรียกเฉินซื่อเหม่ยมารับผิด เฉินซื่อเหม่ยรู้ว่าตัวเองเป็นจอหงวนและราชบุตรเขย จึงไม่เกรงกลัวกฎหมาย พยายามหาช่องทางแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความผิดที่ตนก่อไว้อย่างไร้ซึ่งความละอาย ซ้ำยังยกตำแหน่งราชบุตรเขยมาข่มขู่ เปาบุ้นจิ้นไม่เกรงกลัวสั่งถอดยศพร้อมสั่งประหารเฉินซื่อเหม่ย

เรื่องถึงขนาดไทเฮาและองค์หญิงเข้าห้ามปรามและข่มขู่ แต่เปาบุ้นจิ้นไม่เกรงกลัว ยินดีเอายศตัวเองและอัญเชิญกระบี่อาญาสิทธิ์เพื่อคืนความยุติธรรมให้ฉินเซียงเหลียนและลูก ยืนยันประหารเฉินซื่อเหม่ย

คดีประหารราชบุตรเขยนี้ นับเป็นคดีที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอย่างเด่นชัด แม้เฉินซื่อเหม่ยจะกระทำผิดอย่างจะแจ้งเป็นที่ประจักษ์ แต่ยังพยายามใช้อำนาจวาสนาที่ตนได้รับบิดเบือนระบบยุติธรรมอย่างไร้ยางอาย โดยพยายามแทรกแซงระบบการตัดสินด้วยวิธีและอำนาจในทุกวิถีทาง 

คดีประหารราชบุตรเขยนี้ เป็นหนึ่งในบทอุปรากรจีน (งิ้ว) ที่โด่งดังตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง เนื้อหาการตัดสินคดีที่ปราศจากความเท่าเทียมนั้นล้วนถูกใจผู้ชมมาเนิ่นนานจนถึงปัจจุบัน ผ่านไปหลายร้อยปี คดีประหารราชบุตรเขยก็ยังเป็นที่นิยมจนดันเรตติ้งละครชุดเปาบุ้นจิ้น เวอร์ชันปี 1993

สิ่งนั้นสะท้อนว่า ความไม่เป็นธรรมในสังคมยังคงเป็นเรื่องที่ประชาชนคนทั่วไปให้ความรู้สึกเป็นพิเศษ โดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมในระบบยุติธรรมที่มีการใช้อำนาจในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแทรกแซง

เมื่อเรตติ้งขึ้นสูงเป็นอันดับหนึ่ง จึงมีคำสั่งให้สร้างเพิ่มเป็น 236 ตอน 41 คดี ทางทีวีบี ฮ่องกงก็ซื้อสิทธิ์เพื่อออกอากาศทันที ในเดือนสิงหาคม 1993 เมื่อออกอากาศในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ ก็โด่งดังเป็นประวัติการณ์ ไม่เคยมีละครชุดจากต่างประเทศเรื่องไหนที่ทำเรตติ้งสูงเท่านี้มาก่อน จนทางทีวีบีต้องจัดทีมพากย์ 2 ทีม คือทีมพากย์กวางตุ้ง และทีมพากย์จีนกลาง แมนดาริน 

กระแสความโด่งดังจากฮ่องกงเริ่มแพร่ไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศไทย ทางช่อง 3 นำมาฉายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) ละครชุดเปาบุ้นจิ้นก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก เรียกว่าโทรทัศน์ของเกือบทุกบ้านต้องเปิดชมละครเรื่องนี้ ทำให้จากตอนแรกออกอากาศเวลา 18.00 - 19.00 น. นับว่าเป็นเวลาของละครเย็น ภายหลังทางช่อง 3 จึงปรับเวลามาออกฉายในช่วงเวลา 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของช่อง และยังเชิญ เหอเจียจิ้ง ที่รับบท จั่นเจา มาสัมภาษณ์ออกรายการทไวไลต์โชว์ ซึ่งเป็นรายการที่มีเรตติ้งอันดับหนึ่งของช่อง 3 ในยุคนั้น

ในฮ่องกง กระแสเปาบุ้นจิ้นโด่งดังมากจนมี 2 ช่องโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ของฮ่องกงสร้างเปาบุ้นจิ้นมาฉายชนกัน แต่ครั้งนี้กลับเป็นทีวีบีที่พลาดพลั้ง ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ในวงการโทรทัศน์ของฮ่องกง เมื่อเอทีวีกลับเป็นเสือปืนไวที่สามารถดึงตัวทั้งเปาบุ้นจิ้น (จินเชาฉวิน) และกงซุนเช่อ (ฟ่านหงซวน) นักแสดงคนเดิมในเวอร์ชันไต้หวันมาแสดงในฉบับของตนได้ แต่เปลี่ยนตัวจั่นเจาเป็น หลี่เหลียงเหว่ย แทน ทำให้เรตติ้งแรก ๆ ในฮ่องกงสูงไม่แพ้ฉบับไต้หวัน นอกจากนี้ยังนำตัวนักแสดงดัง ๆ จากไต้หวัน อาทิ หม่าจิ้งเทา และ หวีลี่ มาร่วมแสดง

ส่วนทางทีวีบี ได้ยอดนักแสดงชอว์ บราเดอร์ส อย่าง ตี้หลุง มารับบทเปาบุ้นจิ้น เลี่ยวฉีจื้อ มารับบทกงซุนเช่อ และ หวงเย่อหัว มารับบทจั่นเจา ผลิตออกมาทั้งหมด 16 คดี ออกฉายรวม 80 ตอน แต่เรตติ้งกลับไม่สามารถสู้เอทีวีได้เลย เนื่องเพราะผู้ชมยังติดภาพจำจินเชาฉวินผู้รับบทเปาบุ้นจิ้น

ในช่วงระยะไม่กี่ปี มีการสร้างเปาบุ้นจิ้นหลายเวอร์ชัน นักแสดงที่รับบทจั่นเจา มีทั้ง หลี่เหลียงเหว่ย หวงเย่อหัว เจินจื้อเฉียง เจียวเอินจุ้น ทั้งหมดทั้งหล่อเหลา คมคายมากด้วยฝีมือ แต่หากกล่าวถึงจั่นเจา ก็ยังไม่มีใครจะเทียบได้กับ เหอเจียจิ้ง ที่เหมือนเกิดมาเพื่อแสดงบทนี้จริง ๆ

สำหรับตัวของจินเชาฉวิน หนึ่งปีก่อนจะรับบทเปาบุ้นจิ้น เขาได้ออกจากวงการบันเทิงเพื่อลงสมัครเป็นนักการเมืองแต่สอบตก จึงเบนเข็มมาทำธุรกิจแทน กระทั่งเจ้าต้าเซิน เพื่อนเก่ามาชวนเล่นเป็นเปาบุ้นจิ้น

ในตอนแรก จินเชาฉวินกะว่าจะเล่นสัก 15 ตอน เพื่อนำเงินที่ได้ก้อนนี้ไปลงทุนธุรกิจเพิ่มเติม หาได้คาดว่าเมื่อออกฉายความสำเร็จถล่มทลาย ตั้งแต่ปี 1993 จนถึงปี 2016 จินเชาฉวินรับบทเป็นเปาบุ้นจิ้นมาแล้วกว่า 730 ตอน จากการสร้างในหลาย ๆ ครั้ง รวมระยะเวลากว่า 23 ปี และในระยะหลัง นอกจากบทบาทการเป็นนักแสดงแล้ว ยังเป็นผู้อำนวยการสร้างเองอีกด้วย

สำหรับเปาบุ้นจิ้น หรือ เปา เจิ่ง ในประวัติศาสตร์นั้น ถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองไคเฟิง (ไคฟง) เมื่อ ค.ศ. 1062 จักรพรรดิเหรินจงทรงรับศพเขาไว้ในพระราชานุเคราะห์ และประทานสมัญญาแก่เขาว่า ‘เซี่ยวซู่’ (孝肅) แปลว่า กตัญญูปูชนีย์ 

ละครชุด เปาบุ้นจิ้น เวอร์ชัน ปี 1993 นับว่าเป็นเวอร์ชันที่ประสบความสำเร็จสูงสุด แต่ที่ยอดเยี่ยมกว่าความสำเร็จ คือละครชุดเรื่องนี้ปลูกฝังคุณธรรมด้านต่าง ๆ ให้แก่เยาวชนและผู้ชมในยุคสมัยนั้น ให้รู้ว่าความยุติธรรมคือบรรทัดฐานทางศีลธรรมของผู้คนในสังคม 

การกินสินบาทคาดสินบนในตำแหน่งหน้าที่ หรือการกระทำความผิดใดก็ตาม แม้ยามมีชีวิตนับว่าสงบสุข แต่ยามสิ้นชีพหากนับตามตำนานแล้ว เปาเจิ่ง หรือ เปาบุ้นจิ้น ก็ยังคงรอตัดสินคดีท่านในอเวจี ตาข่ายฟ้ามิมีร่องรอยให้เล็ดลอดได้

 

เรื่อง: เพจ เก้ากระบี่เดียวดาย

ภาพ: โปสเตอร์เรื่องเปาบุ้นจิ้น จาก imdb และภาพถ่ายจินเชาฉวิน ไฟล์จากเว็บ Luju Bar