ฟื้นชีวิต ‘เมืองแห่งโรงภาพยนตร์’ ‘มาแต่ตรัง...’ ฉายภาพพลังสร้างสรรค์แห่งหัวเมืองอันดามัน

ฟื้นชีวิต ‘เมืองแห่งโรงภาพยนตร์’ ‘มาแต่ตรัง...’ ฉายภาพพลังสร้างสรรค์แห่งหัวเมืองอันดามัน

ในอดีตเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ตรัง เป็นเมืองจุดรวมหรือชุมทางของโรงภาพยนตร์ในอดีต และเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคจังหวัดชายทะเลอันดามัน และวันนี้ภาพดังกล่าวได้ถูกกลับนำมาอีกครั้ง ผ่านกิจกรรม ‘มาแต่ตรัง...’ ซึ่งเป็นการฟื้นชีวิต ‘เมืองสร้างสรรค์แห่งโรงภาพยนตร์’ ในมุมของเมืองเก่า

  • เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ตรัง เคยเป็นชุมทางของโรงภาพยนตร์ และเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคจังหวัดชายทะเลอันดามัน
  • ภาพนี้ถูกนำกลับมาอีกครั้ง ผ่าน ‘มาแต่ตรัง…’ เทศกาลท่องเที่ยวสร้างสรรค์ในย่านเมืองเก่าของตรัง เพื่อยกระดับและพัฒนา Premium Tourism Andaman

จังหวัดทางภาคใต้ในแถบชายฝั่งทะเลอันดามันมีความเป็นพหุวัฒนธรรมสูงทั้งทางสังคม วิถีชีวิต ศิลปะและศาสนาต่าง ๆ ชุมชนเกิดจากการหล่อหลอมจากสังคมเชื้อชาติไทย จีน มลายู อาหรับ และอินโดนีเซีย มีความหลากหลายทางศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม และฮินดู สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดผ่านการตั้งถิ่นฐานอาคารบ้านเรือน อาหาร ที่สืบทอดผ่องถ่ายจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน

ว่าไปแล้ว ชายฝั่งทะเลอันดามันด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย ยาวลงมาตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เป็นคาบสมุทรที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ติดกับทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย พื้นที่เหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินเรือเลียบชายฝั่งและข้ามมหาสมุทรเพื่อทำการเชิงพาณิชย์นาวีและเผยแผ่ศาสนาจากอินเดียและซีกโลกตะวันตกมาเป็นเวลานับหลายพันปี

เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่งอันดามันจึงเป็นเมืองท่าหรือสถานีการค้าทางทะเลที่สำคัญมาก่อน และเจริญเติบโตขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมจนกลายมาเป็นบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรือง

ทับเที่ยง ตรัง

การได้เดินทางกลับไปภูมิลำเนาเกิด หรือบ้านเกิดที่เมืองตรัง เพื่อร่วมงานเทศกาลท่องเที่ยวสร้างสรรค์ (Creative Tourism Festival) ณ คลองห้วยยาง เมืองเก่าทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้เกิดตะกอนความคิดถึงทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นในเชิงสร้างสรรค์ของจังหวัดตรัง โดยเฉพาะโอกาสที่ศิลปินนักสร้างสรรค์ในทุกแขนงและผู้ประกอบการเชิงวัฒนธรรมและศิลปะได้มาสร้างสรรค์นำเสนอผลงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

ในอดีตเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ตรัง เป็นเมืองจุดรวมหรือชุมทางของโรงภาพยนตร์ในอดีต และเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคจังหวัดชายทะเลอันดามัน

ภาพนี้ถูกฉายขึ้นมาให้อดีตที่รุ่งเรืองกลับมาเมลืองมลังอีกครั้ง ผ่านเทศกาลท่องเที่ยวสร้างสรรค์ในย่านเมืองเก่าของตรัง กับ ‘ทับเที่ยง’ สถานที่ (Renown Place) นิทรรศการภาพถ่ายโรงหนังและศิลปะจัดวางที่โรงหนังเก่าแก่ ‘เพชรรามา’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการยกระดับและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวคุณภาพสูงฝั่งอันดามัน (Premium Tourism Andaman)

ฟื้นชีวิต ‘เมืองแห่งโรงภาพยนตร์’ ‘มาแต่ตรัง...’ ฉายภาพพลังสร้างสรรค์แห่งหัวเมืองอันดามัน

หาก ชาร์ลส์ แลนดรีย์ (Charles Landry) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการประยุกต์ใช้วัฒนธรรมเพื่อการฟื้นฟูเมืองและผู้เขียนหนังสือ ‘The Creative City’ ได้กล่าวไว้ว่า

“...คนและวัฒนธรรมท้องถิ่นมีส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองเป็นพื้นที่ของความคิดสร้างสรรค์และทำให้เกิดพลวัตขึ้นในสังคมเมือง

"ดังนั้นความเป็นท้องถิ่นที่สื่อสารออกมาทางศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมซึ่งถือเป็นทรัพยากรสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ความเป็นเมืองสร้างสรรค์ของแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป…”

เมืองสร้างสรรค์ จึงไม่ใช่เรื่องของการปรับปรุงภูมิทัศน์หรือการพัฒนาเมืองในเชิงท่องเที่ยวเพียงด้านเดียว แต่เป็นเมืองที่มีพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากความคิดสร้างสรรค์ เป็นแหล่งรวมนักคิดและผู้ประกอบการสร้างสรรค์จากทั้งในและต่างประเทศที่มาประกอบกิจการและก่อให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจของเมืองและประเทศ

เพราะองค์ประกอบหลักของเมืองสร้างสรรค์คือ เหล่าผู้ประกอบการสร้างสรรค์หรือนักคิดที่เปรียบเหมือนสินทรัพย์สำคัญของเมืองที่สามารถเคลื่อนที่ไปได้ทั่วโลกที่แสวงหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยและประกอบธุรกิจสร้างสรรค์ 

ซอฟต์พาวเวอร์ของภาพยนตร์

บทบาทภาพยนตร์อาจเป็นเครื่องมือของรัฐในการทำหน้าที่ในแง่ของซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่รัฐพยายามพัฒนาภาพลักษณ์ของชาติ แต่ผลลัพธ์จากการที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกพยายามทุ่มเทกับการใช้ทรัพยากรดังกล่าว แต่บางทีก็ไม่สามารถทำให้ประเทศในเวทีระหว่างประเทศคล้อยตามได้เสมอไป เพราะภาพยนตร์เป็นเครื่องมือที่น่าเชื่อถือในการส่งเสริมภาพลักษณ์หรือเอกลักษณ์ของประเทศให้ดีขึ้น เพื่อจุดประสงค์การเพิ่มซอฟต์พาวเวอร์

ดังนั้นการผลิตหรือส่งออกภาพยนตร์ที่มากขึ้นไม่ได้หมายถึงการเพิ่มซอฟต์พาวเวอร์เสมอไป ซึ่งในทศวรรษ 2540 ภาพยนต์ไทยได้แสดงให้เห็นว่าบทบาทของภาพยนตร์เป็นได้มากกว่าแค่เครื่องมือของรัฐเพื่อการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและการสร้างอำนาจให้กับรัฐ  

การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีอุตสาหกรรมบันเทิงที่น่าดึงดูด อาจสวนทางกับภาพลักษณ์ที่ดีที่รัฐพยายามส่งเสริม หรือสิ่งที่น่าดึงดูดกลับกลายมาจากภาพยนตร์ไม่ใช่เพราะแรงดึงดูดจากประเทศนั้น

นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยชื่อดัง ซึ่งมีผลงานเรื่องล่าลุดทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ‘มนต์รักนักพากย์’ ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ได้พูดถึงภาพยนตร์ในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) บนเวทีเสวนา ‘มนต์รักนักพากย์ มนต์เสน่ห์ยุคทองของหนังไทย’ ซึ่งจัดขึ้นที่ซากร้างโรงหนังเพชรรามา ที่อำเภอเมืองตรังในอีเวนต์ ‘มาแต่ตรัง...’ (Trang Renown) ซึ่งอยู่ในเทศกาลท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เมืองเก่าทับเที่ยง จังหวัดตรัง ไว้อย่างคมลึกและชัดเจน

“ถามว่าเข้าใจซอฟต์พาวเวอร์ไหม? เข้าใจ... แต่ที่เขาพูดกันอยู่ทุกวันนี้ผมไม่เข้าใจ” นนทรีย์เกริ่นถึงความรู้สึกของเขาต่อซอฟต์พาวเวอร์มาเนีย ที่กำลังเห่ออยู่ในเมืองไทย โดยมองผ่านมุมภาพยนตร์ที่เขาอยู่มายาวถึงเกือบ 3 ทศวรรษเข้าไปแล้ว

“จริง ๆ ในวงการภาพยนตร์เราทำอย่างนี้มานานแล้ว ซอฟต์พาวเวอร์ก็คือเราพยายามทำหนังให้ดีที่สุด แล้วก็พยายามส่งออกไปต่างประเทศ เราทำอย่างนั้นตั้งแต่หนัง ‘2499 อันธพาลครองเมือง’, ‘นางนาก’, ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’, ‘องค์บาก’, ‘บางกอกแดนเจอรัส’, ‘สตรีเหล็ก’ สารพัดเรื่อง ในยุคนั้นเป็นยุคที่เฟื่องฟูมาก ๆ แล้วหนังไทยไปฉายอยู่ในต่างประเทศ ไปเทศกาลหนังต่าง ๆ ไปขายอยู่ในต่างประเทศ เงินเข้าประเทศอย่างมหาศาลเป็นหมื่นล้านเลยครับ นั่นคือยุคที่เขาทำกันมาแล้ว”

ความเข้าใจในซอฟต์พาวเวอร์ที่พยายามพูดกันอยู่ทุกวันนี้ นนทรีย์มองว่ามันเป็นความเข้าใจผิด

“ผมว่าทำงานให้ดีทำหนังให้ดีเถอะ แล้วมันก็ขาย การสนับสนุนที่ดีก็คือ รัฐบาลต้องช่วยสนับสนุนในการทำหนังจะด้วยวิธีการอะไรก็แล้วแต่ ลดภาษี หรืออะไรสักอย่างที่ทำให้มันเกิดขึ้นได้ หรือภาครัฐเองก็ทำหนังแล้วเปิดกว้างให้คนที่เขาเก่ง ๆ เข้ามาเสนอหนังแล้วทำออกมาให้ดี ๆ

“นี่ประชุมกันมาเดือนหนึ่งก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น มันเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ถ้าถามว่าอยากเห็นอะไร ก็อยากเห็นที่มันชัดเจน เมื่อก่อนหนังไทยเราไปประกวดในเทศกาลหนังต่างประเทศ ไม่มีเงินทำซับไตเติลส่งไปประกวด แค่ 30,000 บาทไม่มีเงินทำ เราต้องควักเงินส่วนตัวไปทำซับไตเติลเพื่อไปฉายในเทศกาลหนัง น่าอาย ทุเรศมาก ไปขอหน่วยงานราชการก็ไม่มีใครให้”

นนทรีย์มองว่าตอนนี้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกำลังจะกลับมาบูม เขาดีใจมากๆ

“ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา หนังไทยเข้าฉายหลายเรื่อง เกือบทุกเรื่องประสบความสำเร็จ แล้วเรียกได้ว่าเป็นหนังที่มีคุณภาพ คนกลับเข้ามาดูในโรงหนังกัน อย่าง ‘สัปเหร่อ’, ‘ธี่หยด’, ‘เรดไลฟ์’ คือความเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์มันต้องมีความหลากหลาย ตอนนี้กำลังกลับไปเป็นอย่างนั้นอีกครั้ง เหมือนย้อนกลับไปยุคปี 2540 เป็นต้นมา ตอนนี้หนังไทยกำลังมาถูกทางมาก ก็พยายามเอาใจช่วย ผมโพสต์เฟซบุ๊กเชียร์เขาทุกเรื่องเลย เพราะว่าเห็นถึงการกลับมาของภาพยนตร์ไทยที่ดีขึ้น”

จากสถานการณ์ของหนังไทยในปี 2533 นนทรีย์วิเคราะห์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมีผู้เล่นที่ไม่ใช่ผู้เล่นเดิม

“ผู้เล่นก็คือนักลงทุนที่มองเห็นว่าเขาอยากลงทุน เขาอยากทำหนัง แล้วก็ทำในหนังที่เขาอยากเห็น มันก็เลยเกิดภาพยนตร์ที่ดี ตอนนี้กลายเป็นว่ากระแสภาพยนตร์ไทยก็ค่อย ๆ เกิดขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับผมถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เท่ากับว่าสตรีมมิงก็เป็นหนึ่งในนั้น เป็นเรื่องที่น่าดีใจ”

เมื่อย้อนอดีตเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ตอนที่ยังไม่มีคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ นนทรีย์บอกว่า หนังไทยอยู่ในแผนที่โลกของหนังอย่างเต็มภาคภูมิ

“หนังไทยเมื่อก่อนเป็นแพ็กเกจ 10 เรื่องเวลาออกไปในเทศกาลหนัง ก็น่าตื่นตาตื่นใจ ฝรั่งตื่นเต้นว่าทำไมมันเก่งกันอย่างนี้วะ ทำหนังออกมาไม่ซ้ำกันเลย มีสไตล์แต่ละคนที่ชัดเจน ถ้าตอนนี้กลับไปเป็นอย่างนั้นได้ เราจะรู้สึกดีใจมาก ตอนนี้สิ่งที่ถูกดิสรัปคือทีวี งบประมาณการทำละครทีวีถูกลดลงมาก และทุกช่องจะเอาละครมารีรันหมดเลย เพราะฉะนั้นถ้าไม่เปลี่ยนแปลงปรับปรุงวิธีการคิดวิธีการทำงานต้องถึงจุดที่ล่มสลายแน่นอน”

นั่นคือภาพปัจจุบันของหนังไทยในฐานะซอฟต์พาวเวอร์

อดีตชุมทางจุดรวม (Hub) ภาพยนตร์ที่เมืองตรัง

เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ในปี 2559 มีนิทรรศการภาพถ่าย ‘Future’s Ruins’ มาจัดแสดงที่กรุงเทพฯ จากเพจเฟซบุ๊ก The Southeast Asia Movie Theater Project ซึ่งรวบรวมภาพถ่ายโรงภาพยนตร์โรงเดี่ยวขนาดใหญ่ (stand alone) เก่าแก่ตามเมืองต่าง ๆ หลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกือบ 300 แห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีไฟล์ภาพโรงภาพยนตร์หลายหมื่นภาพ

เจ้าของโปรเจกต์นี้คือ ฟิลิป แจบลอน (Philip Jablon) ช่างภาพอเมริกันที่เข้ามาทำงานในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อปลุกกระตุ้นเรื่องการอนุรักษ์โรงภาพยนตร์เก่า  โดยเขาได้ตระเวนบันทึกภาพและเรื่องราวของโรงภาพยนตร์แบบ stand alone ภูมิภาคนี้มาตั้งแต่ปี 2552 โรงภาพยนตร์หลายแห่งที่เขาบันทึกไว้เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นที่ถูกสร้างขึ้นช่วงต้นและกลางศตวรรษที่ 20 และแน่นอนว่าจะไม่มีการสร้างสถาปัตยกรรมแบบนี้อีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน

ภาพฉายที่สะท้อนออกมาอย่างเจ็บปวดก็คือ ประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโรงภาพยนตร์ที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามมากมาย แต่ระบบทุนนิยมและค่านิยมที่มีต่อกำไรสูงสุดได้ทำให้เหล่านายทุนค่อย ๆ ทยอยรื้อถอนทำลายโรงภาพยนตร์โรงเดี่ยวขนาดใหญ่เก่าแก่เพื่อนำที่ดินไปพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสร้างธุรกิจที่มีผลกำไรเป็นกอบเป็นกำมากกว่า

กลับสู่ยุคเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว เมืองตรังมีโรงภาพยนตร์โรงเดี่ยวขนาดใหญ่อยู่ 4 - 5 โรง ในตัวเมืองทับเที่ยง ไม่นับตามหัวอำเภอและตำบลต่าง ๆ ในระดับท้องถิ่นเล็ก ๆ ที่มีอย่างมากมาย

ความรุ่งเรืองของโรงภาพยนตร์ในตรังและเป็นจุดรวมแรกของภาพยนตร์ที่เข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์ของจังหวัดในภูมิภาคชายฝั่งทะเลอันดามันนั้น มาจากการคมนาคมที่พุ่งตรงออกมาจากรุงเทพฯ ภายในคืนเดียว การสร้างทางรถไฟสายใต้ที่เริ่มเมื่อปี 2454 จากเพชรบุรีมาถึงทุ่งสง แล้วแยกไปอำเภอหาดใหญ่ต่อไปยังมลายูสายหนึ่ง และมาสุดที่ท่าเรือกันตังอีกสายหนึ่ง

อีก 2 ปีต่อมา ในปี 2456 กรมรถไฟได้ทำทางรถไฟเข้าเมืองตรังได้สำเร็จ และรถไฟเปิดเดินถึงท่าเรือกันตังได้เป็นครั้งแรก เส้นทางรถไฟสายใต้ช่วงอำเภอทุ่งสงจะมีทางแยกออกมาฝั่งอันดามัน สถานีแรกคือ สถานีห้วยยอด ต่อด้วยสถานีรถไฟตรังและสถานีรถไฟกันตัง ตามลำดับ

ฟิล์มภาพยนตร์และข่าวคราวความบันเทิงระดับมหาชนอันดับแรกในยุคนั้นคือ ภาพยนตร์เดินทางมาสู่เมืองตรังอย่างรวดเร็วกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในชายทะเลฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรภาคใต้ของไทย

รวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ในยุคที่มีการทำเหมืองแร่อย่างเฟื่องฟูในอำเภอห้วยยอด รวมถึงการก่อเกิดอุตสาหกรรมยางพารา ตลอดจนการพัฒนาการคมนาคม โดยเฉพาะสายรถไฟเชื่อมชายฝั่งตะวันตกที่สุดสายปลายทางที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ได้นำความทันสมัยและพัฒนาการด้านเศรษฐกิจจากทั้งทางนครปีนัง มาเลเซีย และกรุงเทพมหานครของไทยมาบรรจบพบกันที่ตรังอีกด้วย

เมืองต้นทางรถไฟสายอันดามัน การสร้างทางรถไฟเชื่อมโยงระหว่างชายฝั่งตะวันตกซีกทะเลอันดามันกับทางรถสายใต้ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช มาสู่สุดขอบเมืองท่ากันตัง จังหวัดตรัง ได้นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ดินแดนแถบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับท่าเรือกันตังที่ได้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งสินค้าที่รุ่งเรืองและเติบโตต่อเนื่องอย่างยาวนาน 

รวมถึงได้ขยายความเจริญมาถึงเมืองทับเที่ยง ศูนย์กลางของจังหวัดในปัจจุบัน ทำให้ชาวตรังส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่สัมพันธ์กับการเป็นศูนย์กลางการค้านี้ รวมถึงการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมพาณิชย์ส่งตลาดโลกอย่างการทำสวนยางพาราเพื่อทำการส่งออก

โรงภาพยนตร์ในเมืองตรังจึงมีหลายโรง เพียบพร้อมความสะดวกสบาย ทันสมัย และใหญ่โตโอฬาร รวมถึงมีโปรแกรมภาพยนตร์ที่ไม่ห่างเวลาจากกรุงเทพฯ มากนัก เนื่องด้วยรถไฟพุ่งตรงมาจากกรุงเทพฯ ถึงเมืองตรังทุกวัน และเป็นจังหวัดเดียวของอันดามันที่มีเส้นทางคมนาคมรถไฟ

ฟื้นชีวิต ‘เมืองสร้างสรรค์แห่งโรงภาพยนตร์’ ในมุมของเมืองเก่า

ทับเที่ยง เมืองเก่าอายุ 100 กว่าปีของจังหวัดตรัง เป็นเมืองที่มีความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ ‘เมืองสร้างสรรค์’ (Creative City) ตามนิยามที่อังค์ถัด หรือการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและพัฒนา (UNCTAD - United Nations Conference on Trade and Development) ให้ไว้ใน Creative Economy Report (2008) หมายถึง เมืองที่มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจและสังคมของเมืองนั้น ๆ และต้องประกอบไปด้วยรากฐานที่มั่นคงทางสังคมและวัฒนธรรม มีการรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่นของคนทำงานสร้างสรรค์ และมีสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดการลงทุน เพราะความยั่งยืนของสถานที่ในเชิงวัฒนธรรม และเป็นเมืองที่เอื้อต่อการทำงานในเชิงสร้างสรรค์ การมีปฏิสัมพันธ์และการจัดหาพื้นที่เพื่อการแสดงออกของกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์

ฟื้นชีวิต ‘เมืองแห่งโรงภาพยนตร์’ ‘มาแต่ตรัง...’ ฉายภาพพลังสร้างสรรค์แห่งหัวเมืองอันดามัน

เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network หรือ UCCN) ซึ่งเป็นการร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ผ่านนโยบายระดับท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก เกิดเป็นเครือข่ายที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งเมืองสมาชิกจะต้องตรวจสอบความก้าวหน้าและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามเกณฑ์ของโครงการทุก 4 ปี ประกอบด้วยสมาชิก 295 เมือง ในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

ตามนิยามของยูเนสโก เมืองสร้างสรรค์ หมายถึง เมืองที่มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองนั้น ๆ โดยมีการรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่นของคนที่ทำงานสร้างสรรค์ ที่ทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่ของการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ ปัจจุบันเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกแบ่งออกเป็น 7 สาขา ได้แก่

1. เมืองแห่งวรรณกรรม (City of Literature)

2. เมืองแห่งภาพยนตร์ (City of Film)

3. เมืองแห่งดนตรี (City of Music) 

4. เมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts & Folk Arts)

5. เมืองแห่งการออกแบบ (City of Design)

6. เมืองแห่งศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์ (City of Media Art)

7. เมืองแห่งวิทยาการอาหาร (City of Gastronomy)

เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในประเทศไทย มีจำนวน 5 จังหวัด ได้แก่

+ ภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (2558/2015)

+ เชียงใหม่ เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (2560/2017)

+ กรุงเทพมหานคร เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (2562/2019)

+ สุโขทัย เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (2562/2019)

+ เพชรบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (2564/2021)

เมืองสร้างสรรค์จึงไม่ใช่เรื่องของการปรับปรุงภูมิทัศน์หรือพัฒนาเมืองเพื่อให้น่าเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับความน่าอยู่ด้วย ซึ่งหมายถึงผู้คนอยู่ดี กินดีและมีความสุข ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ส่งเสริมการแสดงออกทางความคิดที่หลากหลาย ดึงดูดให้เกิดการรวมกลุ่มกันของคน ซึ่งถือเป็นทุนสำคัญที่สุดของทุกเมือง ผู้สามารถหยิบจับของดีที่มีอยู่มาทำให้พื้นที่มีศักยภาพสำหรับการอยู่อาศัยและเติบโต ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในเมืองต่อไป

โครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรม 

โครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี รวมถึงพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ โรงละคร สถานที่แสดงดนตรี ศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ และพื้นที่สาธารณะที่สนับสนุนกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม โครงสร้างพื้นฐานนี้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับการทำงานร่วมกัน นิทรรศการ การแสดง และกิจกรรมทางวัฒนธรรม

กลุ่มครีเอทีฟ 

การก่อตัวของคลัสเตอร์ครีเอทีฟหรือเขตที่ผู้เชี่ยวชาญด้านครีเอทีฟและองค์กรอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกัน คลัสเตอร์เหล่านี้สร้างความร่วมมือและส่งเสริมนวัตกรรมผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดและความเชี่ยวชาญ

การศึกษาและการวิจัย 

การมีสถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัยที่มุ่งเน้นไปที่สาขาวิชาที่สร้างสรรค์ จัดหาแรงงานที่มีทักษะและอำนวยความสะดวกในการสร้างความรู้

ความหลากหลายทางวัฒนธรรม 

การให้คุณค่าและส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตระหนักถึงความสำคัญของการแสดงออกทางวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน สิ่งนี้สามารถนำไปสู่การบูรณาการของมุมมองที่หลากหลาย ส่งเสริมความสามัคคีทางสังคม และเพิ่มคุณค่าโครงสร้างของเมือง

การฟื้นฟูเมือง 

การฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนพื้นที่ในเมืองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เช่น โกดังกลายเป็นสตูดิโอศิลปะ หรือพื้นที่อุตสาหกรรมที่กลายเป็นศูนย์วัฒนธรรม สิ่งนี้สามารถนำไปสู่การฟื้นฟูเมืองและการพัฒนาชุมชน

การทำงานร่วมกันและเครือข่าย 

ส่งเสริมความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายระหว่างบุคคล องค์กร และธุรกิจที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนความคิด ความร่วมมือ และนวัตกรรม

คุณภาพชีวิต 

ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย เมืองแห่งความคิดสร้างสรรค์นำเสนอประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย โอกาสในการพักผ่อนหย่อนใจ และสภาพแวดล้อมที่กระตุ้น

แนวคิดของเมืองสร้างสรรค์ยอมรับพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของพวกเขาในการสร้างเอกลักษณ์ของเมือง ส่งเสริมนวัตกรรม และขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

โครงการยกระดับและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวคุณภาพสูงฝั่งอันดามัน (Premium Tourism Andaman) การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ในฐานะเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ยั่งยืนและมั่นคง ภายใต้เครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network:TCDN)

พัฒนาและต่อยอดสินทรัพย์ในท้องถิ่น ปลุกเมืองให้ก้าวสู่การเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมผลักดันสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ในระดับโลกต่อไปในอนาคต เพราะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่

ริชาร์ด ฟลอริดา (Richard L. Florida) นักทฤษฎีการศึกษาในเมืองชาวอเมริกันที่มุ่งเน้นไปที่ทฤษฎีทางสังคมและเศรษฐกิจ เขาเป็นศาสตราจารย์ที่ Rotman School of Management ที่มหาวิทยาลัยโทรอนโต แคนาดา ผู้ให้นิยามกลุ่มมวลชนสร้างสรรค์ (Creative Class) เคยกล่าวว่า

“ ...กลุ่มมวลชนสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังกล่าว ‘เมือง’ ต่าง ๆ จึงต้องแข่งขันกันเพื่อดึงดูด รักษา และสร้างกลุ่มมวลชนสร้างสรรค์ด้วยการพัฒนาสภาพแวดล้อมเมือง

“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกลไกทางธุรกิจที่เอื้อต่อการลงทุนและพัฒนา ธุรกิจสร้างสรรค์ และให้ความสำคัญกับส่วนที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นและวางแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้เมืองมีความพร้อมในเชิงเอกลักษณ์และบรรยากาศทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายควบคู่ไป กับการพัฒนาเมืองด้านกายภาพ...”       

พื้นที่สร้างสรรค์โดดเด่นในมุมใหม่ (Renowned Place) ของทับเที่ยง เมืองตรัง ในฐานะเมืองโรงภาพยนตร์ของชายฝั่งทะเลอันดามันในอดีต เหลือเพียงโรงภาพยนตร์ ‘เพชรรามา’ ในทับเที่ยง ตัวจังหวัดของเมืองตรัง เป็นซากร้างของโรงหนังโรงเดี่ยวขนาดใหญ่โรงสุดท้ายที่ยังยืนตระหง่านท้าทายกาลเวลาอยู่ เพื่อรอถูกทุบทิ้งภายใต้การดูแลของบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM - Bangkok Commercial Asset Management Public Company Limited) ซึ่งตีมูลค่าสินทรัพย์ไว้ที่ 20 ล้านบาท

เมืองสร้างสรรค์ จะมีความหมายอะไร เมื่ออดีตถูกทุบทำลายไม่เหลือแม้ซากปรักหักพังในความทรงจำของผู้คนในเมืองนั้น มีแต่อากาศธาตุ ความว่างเปล่าที่กลวงโหวงของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

.

ภาพ : เพจ TRANG ที่นี่จังหวัดตรัง, เพจ มาแต่ตรัง