01 ก.พ. 2567 | 13:09 น.
- เจมส์ ไอวอรี ผู้กำกับภาพยนตร์จาก เมอร์แชนท์ ไอวอรี โปรดักชัน ค่ายดังในตำนานของสหรัฐฯ
- แต่แล้วเวลาก็พรากชีวิตของแต่ละคนไป จนเหลือหุ้นส่วนเพียงคนเดียวอย่าง เจมส์ ไอวอรี นักเขียนและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง Call Me by Your Name
ก่อนจะก้าวสู่ความสำเร็จ หลายคนต้องเผชิญกับเส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามมาก่อน เช่นเดียวกับ ‘เจมส์ ไอวอรี’ (James Ivory) ผู้ก่อตั้งและผู้กำกับภาพยนตร์จาก ‘เมอร์แชนท์ ไอวอรี โปรดักชัน’
เขาตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตในวงการจอเงิน เพื่อเดินหน้าทำตามความฝันแม้ต้องเจอกับอุปสรรคและผิดหวังหลายต่อหลายครั้ง แต่เขาก็ยังยืนยันในสิ่งที่ชอบจนสามารถเป็นผู้ชนะรางวัลออสการ์จากการเขียนบทเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Call Me by Your Name ในวัย 89 ปี
‘ริชาร์ด เจโรม ฮาเซน’ (Richard Jerome Hazen) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘เจมส์ ไอวอรี’ (James Ivory) เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 1928 ในเมืองเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะย้ายตามครอบครัวไปที่ออริกอน
ในช่วงวัยเด็กเขาใช้ชีวิตเหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ กระทั่งตอนอายุ 5 ขวบ เจมส์ถูกถามว่าต้องการอะไรในวันคริสต์มาส เขาตอบว่า ‘บ้านตุ๊กตา’ ซึ่งมันทำให้เขาถูกเพื่อนร่วมชั้นหัวเราะเยาะอย่างไร้ความปรานี เนื่องจากเด็กผู้ชายมักถูกคาดหวังให้ชอบของเล่นที่มาดแมน
และจากวันนั้นเป็นต้นมา เขาจึงเริ่มมองว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น ๆ
อีกหนึ่งสิ่งที่เจมส์ชื่นชอบมาตั้งแต่วัยเยาว์คือการชมภาพยนตร์ แม้เขาจะจำภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ ที่ชมไม่ได้ แต่สิ่งที่จำได้ดีคือ เขาหลงใหลในภาพยนตร์ และมักจะให้ความสนใจกับสถาปัตยกรรม อาคาร การตกแต่งภายใน โดยมักจะจินตนาการว่า เมื่อเติบโตขึ้นเขาอยากเป็นนักออกแบบฉาก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแรกของเจมส์ที่คิดเกี่ยวกับการทำงานในวงการจอเงิน
กระทั่งอายุได้ 15 - 16 ปี มีสถาปนิกคนหนึ่งชื่อ ‘เชลดอน บรูมบาห์’ (Sheldon Brumbaugh) มาทำงานปรับปรุงบ้านของเจมส์ เขาจึงไม่รอช้าที่จะถามสถาปนิกคนนั้นถึงเรื่องที่เขาคิดมาตลอดเกี่ยวกับการทำงานเป็นนักออกแบบฉากในหนังว่า วิธีที่ดีที่สุดในการเตรียมตัวสำหรับสิ่งนี้คืออะไร
สถาปนิกคนดังกล่าวตอบกลับมาว่า “ต้องไปเรียนเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม” เมื่อได้ยินดังนั้น เจมส์จึงเข้าเรียนด้านสถาปัตยกรรมและวิจิตรศิลป์ที่มหาวิทยาลัยออริกอน เพื่อเริ่มต้นไล่ตามความฝันของตัวเอง
จากนั้นเจมส์ได้ย้ายกลับมายังแคลิฟอร์เนียอีกครั้ง เพื่อเข้าศึกษาเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และเจมส์ได้สร้างผลงานเรื่องแรกของตัวเอง นั่นคือ Venice: Theme and Variations (1957) ที่สร้างขึ้นเพื่องานวิทยานิพนธ์สำหรับปริญญาโท โดยเป็นสารคดีที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะ, เมืองในชีวิตประจำวัน และยุคสมัย โดยเล่าผ่านผลงานของศิลปินเช่น นักบุญ ‘มาร์ค’ ‘เจนตีเล เบลลีนี’ (Gentile Bellini) และ ‘ซาอูล สไตน์เบิร์ก’ (Saul Steinberg)
เหตุผลที่ผลงานชิ้นแรกของเจมส์ถูกนำเสนอด้วยเรื่องราวดังกล่าว นั่นเพราะว่าเขาชื่นชอบศิลปะมาตั้งแต่สมัยเรียนที่ออริกอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาได้เห็นคอลเลกชันภาพวาดจุลศิลป์อินเดียที่แกลเลอรีในซานฟรานซิสโก เจมส์รู้สึกทึ่งกับรูปลักษณ์ และหลงเสน่ห์ของภาพวาดนี้มาก แม้ว่าเขาจะไม่มีความรู้ใดเกี่ยวกับภาพวาดอินเดียเลย จนนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Sword and the Flute (1959)
ผลงานทั้งสองเรื่องนี้ของเจมส์ได้รับการตอบรับที่ดี ส่งผลให้ในปี 1959 เขาได้รับมอบหมายให้ทำงานสารคดีเกี่ยวกับ Asia Society of New York และทำให้พบกับที่ปรึกษาอย่าง ‘สัตยชิต ราย’ (Satyajit Ray) ผู้กำกับชาวอินเดียที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อภาพยนตร์เรื่องต่อ ๆ ไปของเจมส์
ปีเดียวกันนี้เองเขาได้พบกับโปรดิวเซอร์ชาวอินเดียอย่าง ‘อิสมาอิล เมอร์แชนท์’ (Ismail Merchant) ชายหนุ่มผู้หลงใหลในภาพยนตร์และหวังจะเป็นนักแสดง แต่ครอบครัวของอิสมาอิลแนะนำให้เขาเรียนด้านรัฐศาสตร์และวรรณคดี ถึงกระนั้นเขาก็มักจะใช้เวลาไปกับการทำละคร และเริ่มเก็บหอมรอมริบเพื่อย้ายมาเรียนปริญญาโทหลักสูตรบริหารธุรกิจที่นิวยอร์ก
เส้นทางของผู้เริ่มต้นค่ายหนังแห่งยุค
และแล้วโชคชะตาก็นำพาชายทั้งสองที่หลงใหลในภาพยนตร์มาพบกันในระหว่างที่มีการฉาย The Sword and the Flute (1959) ที่สถานกงสุลอินเดียในนิวยอร์ก ซึ่งทั้งสองพูดคุยทำความรู้จักกัน และหลังจากนั้นเจมส์ติดตามอิสมาอิลกลับไปที่อินเดีย พร้อมทั้งติดต่อกับนักเขียนชาวอินเดียอย่าง ‘รูธ ปราเวอร์ จับมาลา’ (Ruth Prawer Jhabvala) แต่ช่วงแรกรูธปฏิเสธอย่างถ่อมตัวว่าเธอไม่เคยเขียนบทภาพยนตร์มาก่อนเลย
แต่อิสมาอิลตอบกลับว่า “เราไม่เคยผลิตและกำกับภาพยนตร์มาก่อนเช่นกัน แต่เรามาทำมันด้วยกันเถอะ”
คำพูดของอิสมาอิลสะกิดใจรูธเข้าอย่างจัง จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของทั้ง 3 คน และเป็นที่มาของ เมอร์แชนท์ ไอวอรี โปรดักชัน ที่ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1961 โดยหนังเรื่องแรกของพวกเขาที่ทำให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวาง คือ Heat and Dust (1983) ตามมาด้วยการหยิบยกวรรณกรรมของ ‘อี.เอ็ม. ฟอร์สเตอร์’ (E.M. Forster) นักเขียนชาวอังกฤษ มาดัดแปลงอย่าง A Room with a View (1985) ภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนังโรแมนติกที่เต็มไปด้วยศิลปะอันงดงามและบทเพลงไพเราะแห่งยุค 80s ที่ทำเงินอย่างไม่คาดคิด และแจ้งเกิดให้นักแสดงสาวหน้าหวานอย่าง ‘เฮเลนา บอแนม คาร์เตอร์’ (Helena Bonham Carter)
หนังเรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 8 รางวัล และชนะรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์และการออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
หลังจากนั้น เมอร์แชนท์ ไอวอรี โปรดักชัน ก็ได้มีหนังออกมาอีกหลายเรื่อง เช่น Howards End (1992) The Remains of the Day (1993) ฯลฯ รวมถึงยังสร้างภาพยนตร์หลายเรื่องในอินเดียและเกี่ยวกับอินเดีย อย่างภาพยนตร์ที่แสดงความตึงเครียดระหว่างชาวต่างชาติอย่างชาวอังกฤษและพลเมืองอินเดียที่ไม่ค่อยเห็นนำเสนอมากนักในยุคนั้น อย่างเรื่อง Shakespeare Wallah (1965) และ The Courtesans of Bombay (1983)
นอกจากนี้ เมอร์แชนท์ ไอวอรี โปรดักชัน ยังนำเอาวรรณกรรม Maurice (1987) ของ อี.เอ็ม. ฟอร์สเตอร์ มาดัดแปลง โดยนักเขียนคนนี้ต้องปิดบังตนเองว่าเป็นเกย์เพราะสภาพสังคมในยุคสมัยนั้นยังไม่ยอมรับ และภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉายในช่วงวิกฤตโรคเอดส์ ที่กลุ่มชาว LGBTQ+ ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่ง Maurice มีการนำเสนอเรื่องราวต่างจากหนัง LGBTQ+ ในยุคนั้นที่มักจะนำเสนอตัวละครให้จบลงด้วยความทุกข์ยากหรือป่วยตาย ขณะที่ ตอนจบของ Maurice ตัวละคร LGBTQ+ มีความสุขในอ้อมแขนคนรัก
แม้ว่าทั้งสองคนจะเลือกหยิบยกหนังเกย์ขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองและท้าทายสังคมให้เห็นถึงความรักที่นอกเหนือจากชายหญิง แต่พวกเขากลับต้องปิดบังความรักของตนไว้ แม้ว่ากลุ่มผู้ชมจำนวนหนึ่งจะรู้อยู่แล้วก็ตามว่าทั้งสองเป็นคู่รักกัน เจมส์มักจะไม่เล่าเรื่องราวความรักระหว่างเขากับอิสมาอิล แต่เจมส์ก็เอ่ยถึงอิสมาอิลไว้ว่า
“ความสัมพันธ์ของพวกเราเป็นธรรมชาติมาก เราทั้งคู่ต้องการสิ่งเดียวกัน คือการสร้างภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม อิสมาอิลเคารพการตัดสินใจของฉันเสมอ เขาไม่เคยพูดว่า ฉันไม่ต้องการทำอย่างนั้น แต่บางครั้งอิสมาอิลก็มีความเป็นผู้นํา”
จนกระทั่งอิสมาอิลเสียชีวิตลงในปี 2005 ระหว่างการผ่าตัดแผลในช่องท้องที่โรงพยาบาล เจมส์เปิดเผยเหตุผลที่เก็บความสัมพันธ์ของพวกเขาไว้เป็นความลับก็เพื่อปกป้องคนรักอย่างอิสมาอิล เจมส์เล่าว่า
“มันเป็นเรื่องโง่เง่าที่จะเปิดเผยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรา เพราะนี่ไม่ใช่สิ่งที่ควรพูดในที่สาธารณะหรือสื่อสิ่งพิมพ์ อย่าลืมว่าเขาเป็นพลเมืองอินเดียที่อาศัยอยู่ในเมืองบอมเบย์ มีครอบครัวหัวอนุรักษนิยมอยู่ที่นั่น ฉันไม่อยากบ่อนทำลายความสัมพันธ์ของเขากับครอบครัวรวมไปถึงคนรอบข้างที่อาจจะหัวเราะเยาะเขา”
เดินต่อเพียงลำพัง
หลังจากอิสมาอิลจากไป ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับตัวเจมส์และเมอร์แชนท์ ไอวอรี โปรดักชัน ซึ่งหนังของพวกเขาที่ส่วนใหญ่นำเสนอเรื่องราวของความรักย้อนยุคสไตล์อังกฤษ ที่มักจะหยิบนวนิยายรักของ อี.เอ็ม. ฟอร์สเตอร์ มาสร้าง แต่พอเปลี่ยนแนวเป็นภาพยนตร์ดราม่าชีวประวัติอย่าง Surviving Picasso (1996) และ The Golden Bowl (2000) กลับไม่ได้รับการตอบรับจากคนดูหรือนักวิจารณ์เท่าใดนัก
เจมส์เล่าว่า ค่ายหนังของพวกเขาได้รับความนิยมลดลงตั้งแต่ 10 ปีก่อนที่อิสมาอิลจะเสียชีวิต แต่เขาก็ไม่เคยหยุดสร้างหนังใหม่ ๆ ออกมา เนื่องจากเขาชื่นชอบการทำหนังและหวังว่ามันจะโด่งดัง
“ฉันผ่านมันมาครั้งแล้วครั้งเล่า เรามีขึ้น ๆ ลง ๆ เรายังคงมีพวกเขาอยู่ คนที่ชื่นชอบภาพยนตร์ของเรา เริ่มต้นด้วย A Room with A View และปิดท้ายด้วย The Remains of the Day แต่หลังจากนั้น ภาพยนตร์ที่เราสร้างก็แตกต่างกันมาก ซึ่งมันไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก
และหนังที่ถือว่าเป็นเรื่องสุดท้ายระหว่างเจมส์และอิสมาอิลคือ City of Your Final Destination (2009) เนื่องจากอิสมาอิลช่วยเจมส์หาสถานที่หลักสองแห่งสำหรับการถ่ายทำ พร้อมทั้งอวยพรให้กับหนังเรื่องนี้ เห็นได้ชัดว่าพวกเขาเป็นหุ้นส่วนในจอและนอกจอที่เข้าขากันได้ดี
กระทั่งในปี 2013 เจมส์สูญเสียคู่หูคนสุดท้ายอย่างรูธไปด้วยโรคมะเร็งปอด โดยเขาพูดถึงหุ้นส่วนทั้งสองคนไว้ว่า
“การสร้างภาพยนตร์คงไม่สนุกเท่านี้ถ้าไม่มีอิสมาอิลและรูธ การทำงานร่วมกันกลายเป็นวิถีชีวิตสำหรับเรา ไม่ใช่แค่วิธีการทำงาน”
หลังจากหายไปจากวงการจอเงินหลายปี เจมส์ได้หวนคืนสู่วงการภาพยนตร์อีกครั้งในปี 2017 กับผลงาน Call Me by Your Name ภาพยนตร์ที่เริ่มมาจากการที่เขาได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้ครั้งแรกแล้วประทับใจมาก ซึ่งโอกาสก็มาถึงเมื่อมีทีมงานต้องการสร้างหนังเรื่องนี้ และมาชักชวนให้เจมส์ร่วมงานด้วย เขาจึงตอบตกลงโดยไม่ลังเล แม้ว่าตอนแรกจะมีการพูดคุยกันว่าเจมส์จะร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่สุดท้ายเขาเพียงแต่เขียนบทภาพยนตร์ และคนที่นั่งแท่นผู้กำกับคือ ‘ลูกา กวาดาญีโน’ (Luca Guadagnino)
Call Me by Your Name เป็นหนังรัก coming of age ที่เล่าเรื่องราวความรักของเด็กหนุ่มวัย 17 ปี ที่ตกหลุมรักชายรุ่นพี่อายุ 25 ปี ซึ่งเจมส์เล่าถึงหนังเรื่องนี้ว่า
“พวกเราส่วนใหญ่ไม่ว่าจะชายหญิง เกย์หรือเพศไหนก็ตาม เราทุกคนล้วนผ่านรักแรกมาหมดแล้ว”
ความกลมกล่อมแต่ลุ่มลึกไปด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น บท นักแสดง ดนตรีประกอบ สถานที่ถ่ายทำ ทำให้ Call Me by Your Name กลายเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 4 สาขา ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, เพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม
สุดท้ายเจมส์ในวัย 89 ปี ได้คว้ารางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง และกลายเป็นผู้ชนะรางวัลออสการ์ที่มีอายุมากที่สุด ทำให้หุ้นของเมอร์แชนท์ ไอวอรีเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
เจมส์กล่าวถึงการคว้ารางวัลนี้ว่า “ฉันจะไม่ยืนอยู่ที่นี่หากปราศจากความช่วยเหลือที่ได้รับการดลใจจากคู่หูผู้ล่วงลับอย่างรูธและอิสมาอิล การทำงานกับพวกเขามาเกือบ 50 ปีที่เมอร์แชนท์ ไอวอรี ทำให้ฉันได้รับรางวัลนี้”
แม้เจมส์จะขาดคู่หูทั้งสองคน แต่เขาก็ยังไม่หยุดสร้างภาพยนตร์ โดยในปี 2022 เจมส์ได้ทำเรื่อง A Cooler Climate ภาพยนตร์ที่เขาถ่ายทำระหว่างการเดินทางไปยังอัฟกานิสถานในปี 1960 เล่าถึงชีวิตของเขาในฐานะนักเดินทางและศิลปิน รวมไปถึงเรื่องราวส่วนตัวที่เติบโตขึ้นมาในออริกอน อัตลักษณ์ทางเพศ และจุดเริ่มต้นอาชีพภาพยนตร์ ซึ่ง Cooler Climate กำกับโดย ‘ไจล์ส การ์ดเนอร์’ (Giles Gardner) หนึ่งในคนที่ร่วมงานกับเมอร์แชนท์ ไอวอรีมาอย่างยาวนาน
แม้ภาพยนตร์ของเจมส์จะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จบ้าง เขาก็ยืนยันว่าชอบภาพยนตร์ทุกเรื่องของตนเอง และหวังว่าจะมีคนให้ความสนใจมากขึ้นกับงานที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และ ณ ตอนนี้เจมส์ในวัย 94 ปี ก็ยังคงใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข และง่วนอยู่กับการเขียนบทภาพยนตร์ใหม่ ๆ ขึ้นมา
.
ภาพ : Getty Images