‘Godzilla x Kong’ ทำไมเรายังชอบดูฉากต่อสู้ของสัตว์ประหลาดยักษ์สองตัว

‘Godzilla x Kong’ ทำไมเรายังชอบดูฉากต่อสู้ของสัตว์ประหลาดยักษ์สองตัว

Godzilla x Kong ว่าด้วยความเป็นมาของหนัง ‘สัตว์ประหลาด’ และ ‘มอนสเตอร์เวิร์ส’ ทำไมเรายังชอบดูฉากต่อสู้ของสัตว์ประหลาดยักษ์สองตัว

KEY

POINTS

  • หากนับความเก่าแก่ในโลกภาพยนตร์คงต้องบอกว่า ‘คอง’ เป็นผู้คว้าชัยชนะเหนือ ‘ก็อดซิลลา’ เมื่อเรื่องราวของเจ้าลิงกอริล่ายักษ์ที่หลงรักสาวงาม ถือกำเนิดมาตั้งแต่ 1933 ซึ่งมาก่อนก็อดซิลลาจากญี่ปุ่นมากกว่า 20 ปี และก่อนที่จะมอนสเตอร์ทั้งสองจะมีจักรวาลเป็นของตัวเอง ไททั่นทั้งสองเคยเจอกันแล้วใน King Kong vs. Godzilla เมื่อปี 1962 ผลงานของโทโฮสตูดิโอผู้ปลุกปั้นก็อดซิลลาที่ได้กลายเป็นผลงานคัลท์ขึ้นหิ้งไปเป็นที่เรียบร้อย
  • สำหรับเรื่องราวในภาคล่าสุด Godzilla x Kong : The New Empire (2024) จะเล่าเรื่องราวการ ‘ร่วมมือ’ ของคองและก็อดซิลลา โดยมีไฮไลต์อยู่ที่การอัพเกรดตัวละครเพื่อให้พร้อมเผชิญด้วยศัตรูหน้าใหม่ ควบคู่กับการนำเสนองานในโทนสีฉูดฉาด และฉากการต่อสู้ที่บ้าบออันเป็นการคารวะหนังยุคเก่า

***Spoiled Alert อาจมีข้อความเผยแพร่บางส่วนของภาพยนตร์

นอกจากเหล่าฮีโร่กู้โลกที่โลดแล่นบนแผ่นฟิล์มแล้ว เชื่อว่าหลายคนน่าจะมีพื้นที่ให้ ‘สัตว์ประหลาด’ ตัวใหญ่ยักษ์ อิงแอบอยู่ในหัวใจบ้างไม่มากก็น้อย เมื่อฉากของมอนสเตอร์ตัวยักษ์ที่ต่อสู้กันและล้างผลาญบ้านเมืองจนพังพินาศนั้น คือหนึ่งในความทรงจำอันแสนสนุกที่ครองใจเด็ก ๆ ทั้ง Gen X, Gen Y, Gen Z มาเกือบศตวรรษ และ 2 ไอคอนโด่งดังแห่งยุคคงไม่พ้น ‘ก็อดซิลลา’ (Godzilla) ตัวแทนมอนสเตอร์ฝั่งจากญี่ปุ่น และ ‘คิงคอง’ (King Kong) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ‘คอง’ (Kong) เป็นตัวแทนมอนสเตอร์จากฝั่งอเมริกา

ตั้งแต่ปี 2014 เจ้าตัวยักษ์ทั้งสองและเหล่าผองเพื่อนมอนสเตอร์จากโทโฮ (Toho) สตูดิโอผู้สร้างก็อดซิลลา มีจักรวาลแยกเป็นของตัวเองในชื่อ ‘มอนสเตอร์เวิร์ส’ (Monsterverse) โดยมีสตูดิโอเลเจนดารี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (Legendary Entertainment) ได้ลิขสิทธิ์ในการปัดฝุ่นเล่าเรื่องราวของเหล่ามอนสเตอร์เสียใหม่ในรูปแบบของภาพยนตร์และซีรีส์ 

สำหรับปีนี้ เรียกได้ว่าครบรอบ 10 ปีของมอนสเตอร์เวิร์สแบบพอดิบพอดี ซึ่งมาพร้อมกับการกลับมาของภาพยนตร์เรื่อง ‘Godzilla x Kong: The New Empire (2024)’ ซึ่งนับเป็นการเจอกันครั้งที่ 2 หลังจาก ‘Godzilla vs. Kong’ ในปี 2021 โดยก่อนหน้านี้ทั้งก็อดซิลล่า และคองก็มีภาคแยกที่บอกเล่าความเป็นมาของตัวเองใน Godzilla (2014), Kong: Skull Island (2017) และ Godzilla: King of the Monsters (2019) ตามลำดับ

ต้นกำเนิดสัตว์ประหลาดตัวยักษ์ในโลกภาพยนตร์

หากนับความเก่าแก่ในโลกภาพยนตร์คงต้องบอกว่า คองเป็นผู้คว้าชัยชนะเหนือก็อดซิลลา แถมยังถูกยกย่องว่าเป็นราชาแห่งสัตว์ประหลาดทั้งปวง (King of Beast) มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก จากหนังเรื่อง ‘King Kong (1933)’ ภาพยนตร์มอนสเตอร์เรื่องแรกของโลก ด้วยการเล่าเรื่องของเจ้าลิงกอริลลายักษ์ที่ถูกมนุษย์ลักพาตัวจากเกาะกะโหลก (skull island) เพื่อนำมาจัดแสดงที่แมนฮัตตันในฐานะสิ่งมหัศจรรย์ลำดับที่ 8 ของโลก ก่อนที่คองจะฟื้นตื่นขึ้นมาจากการหลับใหล แล้วหนีการโจมตีของมนุษย์ด้วยการปีนขึ้นไปบนตึกเอ็มไพร์สเตท แต่จนแล้วจนรอดมันดันพ่ายแพ้ให้กับหญิงสาวคนงามและจบชีวิตลงในที่สุด ซึ่งตำนานความรักอันแสนบริสุทธิ์นี้ก็มาก่อนก็อดซิลลาจากญี่ปุ่นถึง 20 ปี

ด้วยเหตุนี้ คิงคองในเวอร์ชั่นแรกจึงได้ถูกลงทะเบียนให้เป็นสมบัติของชาติ จากสำนักทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติ (National Film Registry) ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ และกลายเป็นต้นแบบของการสร้างหนังในยุคหลัง ๆ โดยเฉพาะเทคนิคสต็อปโมชั่น (stop-motion) ที่เนรมิตคองออกมาได้อย่างน่าประทับใจ จากความสำเร็จที่ได้รับทำให้ภาคต่อของเรื่องนี้อย่าง ‘Son of Kong (1933)’ ถูกเข็นออกมาภายในไม่กี่เดือน แต่ทว่าหนังเรื่องนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จแม้แต่น้อย จากเนื้อเรื่องที่อ่อนแอและเทคนิคที่ไม่สมจริงตามที่คาดหวัง

จากนั้นอีก 20 ปีให้หลังก็มี ‘The Beast From 20,000 Fathoms (1953)’ ภาพยนตร์ที่เรียกว่าได้กลายเป็นหนึ่งในมุกต้นแบบของหนังมอนสเตอร์ โดยเล่าเรื่องของไดโนเสาร์ยักษ์ที่ถูกปลุกขึ้นมาจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งหนังเรื่องนี้เรียกว่าทำรายได้อย่างมหาศาล ก่อนที่ญี่ปุ่นจะมีมอนสเตอร์ของตัวเองและใช้เค้าโครงเรื่องที่ไม่ต่างกันมากนัก และออกฉายในเวลาไล่เลี่ยกันในชื่อ ‘Godzilla (1954)’ สัตว์ทะเลกลายพันธุ์ที่ตื่นขึ้นจากการทดลองระเบิดไฮโดรเจน ก่อนที่มันจะทำลายเมืองทั้งเมืองเพื่อเตือนว่าอย่ารบกวนเวลานอนของมันอีก

จริง ๆ แล้ว ก็อดซิลลาที่เราเรียกกันจนชินนั้น คือชื่อที่เพี้ยนมาจาก ‘โกจิรา’ (Gojira) ซึ่งเกิดจากการผสมของคำว่า ‘กอริลลา’ (Gorilla) และ ‘วาฬ’ (Kujira) ในภาษาญี่ปุ่น ทำให้เราตั้งข้อสังเกตได้ว่าก็อดซิลลาเองก็ได้รับแรงบันดาลใจของคองอยู่มากเลยทีเดียว ในขณะที่วาฬก็เป็นสัตว์น้ำที่ทรงพลัง อันเป็นลักษณะเด่นของก็อดซิลลาที่สามารถอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก สำหรับก็อดซิลลาในยุคแรกนั้น จะเหมือนกับเอาไดโนเสาร์พันธุ์สเตโกซอรัส (Stegosaurus) ผสมกับทีเร็กซ์ มีนิสัยดุร้ายและเกรี้ยวกราด พร้อมพลังทำลายล้างมหาศาล แถมยังพ่นไฟได้ 

ต้นกำเนิดของก็อดซิลลานั้น เรียกว่ามีความแตกต่างกันไปในแต่ละเวอร์ชั่น ในฉบับมอสเตอร์เวิร์สตั้งแต่ Godzilla (2014) ถึง Godzilla vs. Kong (2021) จะมีจุดกำเนิดมาจากสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ที่จำศีลอยู่ใต้ดิน แล้วถูกปลุกขึ้นมาหลังจากเกิดการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในฮิโรชิมาและนางาซากิในปี 1945 ในขณะที่ Godzilla (1998) เวอร์ชั่นรีเมคครั้งแรกของฝั่งฮอลลีวูดกลับให้ก็อดซิลลามีต้นกำเนิดมาจากอิกัวน่าที่โดนระเบิดนิวเคลียร์แล้วกลายพันธุ์ แต่สำหรับญี่ปุ่น ก็อดซิลลาก็มีหนังของตัวเองมากกว่า 30 ภาค พร้อมกับคู่ปรับที่เปรับเปลี่ยนหน้ากันแบบไม่ซ้ำ เช่นเดียวกับต้นกำเนิดที่บางภาคบอกว่าก็อดซิลลาเกิดมาจากฝุ่นผงสีแดง 

ในขณะที่คอง ผู้สร้างอย่าง ‘เมอเรียน ซี คูเปอร์’ (Merian C. Cooper) ก็ได้แรงบันดาลใจจากลิงกอริลลาในหนังสือสัตว์โลกทวีปแอฟริกาที่คุณลุงของเขาให้มาเมื่อตอนเด็ก ๆ เพราะเขาชื่นชอบในหน้าตาและบุคลิกของกอริลลาที่มีความคล้ายคลึงมนุษย์ ส่วนที่มาของชื่อ คูเปอร์ก็เลือกตัว ‘K’ มานำเสนอถึงความยิ่งใหญ่ เพราะเป็นอักษรตัวแรกของคำว่า King หรือราชา อีกทั้งตัวเคยังหมายถึงสถานที่เร้นลับที่เขาชอบอย่าง เกาะโคโมโด (Komodo) ที่อยู่ของของกิ้งก่ายักษ์โคโมโดในอินโดนิเซีย 

จากสองเหตุผลนี้ คูเปอร์จึงอยากออกแบบให้คองมีความเป็นมนุษย์มากกว่าอสูร และอยากให้ตัวละครนี้ได้รับความเห็นใจจากผู้คน แม้ตอนที่หนังฉายรูปลักษณ์ของคองอาจจะดูตรงข้ามจากความคิดของคูเปอร์อยู่สักหน่อย แต่ด้วยเรื่องราวความรักของมันที่มีต่อหญิงสาว ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผู้ชมหลงรักตัวละครนี้ จนกลายเป็นภาพจำในที่สุด

เช่นเดียวกับสตูดิโอโทโฮผู้ให้กำเนิดก็อดซิลลาก็เลือกที่จะนำคิงคอง มาเป็น ‘คู่ปรับ’ กับก็อดซิลลาครั้งแรกชื่อ ‘King Kong vs. Godzilla (1962)’ หรือ ‘Kingu Kongu tai Gojira’ ในปี 1962 หนังขึ้นหิ้งในแง่ของความคัลท์แต่ทว่าคลาสสิก ว่าด้วยเรื่องของการเจอกันในญี่ปุ่นของสัตว์ประหลาดทั้งสอง ก่อนจะลงมือสู้กันอย่างสุดตัว (แต่คองยังถือหญิงสาวอยู่ในมืออีกด้วยนะ) แม้หลายฉากจะเต็มไปด้วยความขบขันหากมองผ่านเลนส์ของคนยุคนี้ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นยุค 60's การได้เห็นสัตว์ประหลาดตัวยักษ์ถล่มเมืองตัวเป็น ๆ ก็เป็นอะไรที่คุ้มค่าการรอคอยที่สุด

ถัดจากนั้นอีก 5 ปี ให้หลัง สตูดิโอโทโฮก็นำตัวละครคองออกมาใช้อีกครั้งใน ‘King Kong Escapes (1967)’ ส่วนทางฝั่งฮอลลีวูดก็มีการสร้างคิงคองในเวอร์ชั่นรีเมคอย่าง ‘King Kong (1976)’ และ ‘King Kong (2005)’ เวอร์ชั่นของ ‘ปีเตอร์ แจ็คสัน’ (Peter Jackson) ผู้กำกับภาพยนตร์ไตรภาค ‘The Lord of the Rings’ ที่ได้รับการยกย่องว่านำเวอร์ชั่นแรกออกมาสื่อสารได้ดีที่สุด ร่วมด้วย ‘Kong: Skull Island (2017)’ ที่เป็นภาพยนตร์เปิดตัวคองในจักรวาลมอนสเตอร์

ต้อนรับสู่ “จักรวาลมอนสเตอร์” 

เรียกได้ว่าการถือกำเนิดของจักรวาลมอนสเตอร์ได้ทำให้โลกของ ‘มอนสเตอร์’ ฝั่งตะวันตกของอเมริกา และ ‘ไคจู’ (Kaiju) ของญี่ปุ่นตัวแทนของฝั่งตะวันออกได้มาบรรจบพบกันอย่างแท้จริง ก่อนจะผสมผสานกับการตีความใหม่ เมื่อพวกมันไม่ใช่แค่สิ่งแปลกปลอมตัวใหญ่ยักษ์เท่านั้น หากแต่เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เรียกกันว่า ‘ไททั่น’ (Titan) ตามตำนานกรีกโบราณ และมาก่อนมนุษย์มากกว่าพันล้านปี

ในจักรวาลมอนสเตอร์ เหล่าไททั่นไม่ได้มีวิวัฒนาการหรือกลายพันธุ์แต่อย่างใด หากแต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ใน ‘ฮอลโลว์ เอิร์ธ’ (Hollow Earth) ดินแดนลับแลใต้พิภพที่เต็มเปี่ยมไปด้วยปริมาณกัมมันตภาพรังสีและอุโมงค์ที่เชื่อมต่อถึงกัน โดยเหล่าสัตว์ดึกดำบรรพ์ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการดูดซับพลังงานที่มีอยู่มหาศาล จนตัวใหญ่ไซส์จัมโบ้ แต่ทว่าพลังงานดังกล่าวค่อย ๆ สูญสลายตามกาลเวลา ทำให้พวกมันจึงต้องเปลี่ยนตัวเอง ด้วยการจำศีลระยะยาวเพื่อประหยัดพลังงานให้ได้มากที่สุด หรือไม่ก็มุดลงใต้ดินลึก ๆ ดูดกลืนกัมมันตภาพรังสีจากจุดใกล้แกนโลก 

ในขณะที่มนุษย์อย่างเรา ๆ ก็อาศัยอยู่โลกข้างบนอย่างไม่ทุกข์ร้อน โดยไม่เคยเห็นว่ามีมอนสเตอร์เพ่นพ่านอยู่ จากประโยชน์ของการเหลื่อมเวลาในฮอลโลว์ เอิร์ธที่จะหมุนช้ากว่าเวลาบนโลก ได้ช่วยสนับสนุนแนวคิดที่ว่า เพราะเหตุใดสัตว์ดึกดำพรรพ์เหล่านี้ถึงอยู่ได้นานนัก ซึ่งความเชื่อเรื่องโลกใต้พิภพนี้ ใช่ว่าจะไม่มีน้ำหนักเสียทีเดียว เพราะนี่นับเป็นหนึ่งในทฤษฏีที่นักวิทยาศาสตร์เคยให้ความนิยมกันอยู่ช่วงหนึ่ง อย่างที่ปรากฏในงานเขียนและหนังเรื่อง ‘Journey to the Center of the Earth (2008)’ นั่นเอง

สำหรับหน้าตาของฮอลโลว์ เอิร์ธ นั้น ได้ถูกเผยโฉมกันไปแล้วใน ‘Godzilla vs. Kong (2021)’ ที่เราจะได้เห็นวัฒนธรรมของบรรพบุรุษคองที่อยู่เบื้องล่าง ไม่ว่าจะเป็น ภาพแกะสลัก บัลลังก์ และอาวุธคู่กายของอย่าง ‘ขวาน’ (battle axe) ที่ทำมาจาก ‘เกล็ดก็อดซิลลา’ ซึ่งเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่บอกว่าเผ่าพันธุ์ทั้งสองมีความเกี่ยวพันกันมาก่อนอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกันในเนื้อเรื่องก็ให้ก็อดซิลลาสามารถรับรู้การมีอยู่ของคองโดยสัญชาตญาณเสียด้วย ทำให้การต่อสู้กันของทั้งคู่จึงไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้

หากพิจารณาจากเนื้อเรื่องใน ‘Godzilla: King of the Monsters (2019)’ หรือแม้กระทั่งในเวอร์ชั่นญี่ปุ่นก็แสดงให้เห็นว่า ก็อดซิลลาคือ ‘ราชาของเหล่ามอนสเตอร์ทั้งปวง’ และเป็นผู้รักษาสมดุลโลกใบนี้ การมีอยู่ของคองจึงเสมือนเป็นเสี้ยนหนามที่ขวางทางอยู่ การต่อสู้อันดุเดือดจึงต้องตามมา แต่ทว่าตอนสุดท้าย ทั้งสองก็เลือกที่จะยอมสงบศึกเพื่อร่วมมือกันต่อสู้กับ ‘เมกะก็อดซิลลา’ (Mechagodzilla) สัตว์ประหลาดจักรกลสังหารที่มีเศษเสี้ยวของ ‘คิงกิโดราห์’ (King Ghidorah) มังกรสามหัวจากต่างดาวที่เป็นศัตรูคู่ปรับตลอดกาลของก็อดซิลลาเชื่อมต่อเอาไว้อยู่ ซึ่งถูกพัฒนาโดยเอเพ็กซ์ ไซเบอร์เนติก (Apex Cybernatics) บริษัทที่ทำอุปกรณ์ชิ้นส่วนจักรกลส่งให้โมนาร์ค (Monarch) องค์กรลับที่อยู่เบื้องหลังมอนสเตอร์แทบทั้งหมด (มีซีรีส์แยกเป็นของตัวเองใน Monarch: Legacy of Monsters (2023)) เพียงเพราะต้องการสร้างจอมพลังที่สามารถควบคุมเหล่าไททั่นให้อยู่ภายใต้อำนาจของมนุษย์

หลังจากจบสงคราม ก็อดซิลลาและคองไม่ได้สงบศึกกันอย่างสิ้นเชิง แต่ทั้งสองต่างแยกย้ายกันอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ โดยคองย้ายกลับไป ณ ฮอลโลว์ เอิร์ธ ส่วนก็อดซิลลาก็ดูแลโลกเบื้องบน ด้วยการซุกซ่อนตัวอยู่ในมหาสมุทร ส่วนเรื่องราวในภาคล่าสุด ‘Godzilla x Kong: The New Empire (2024)’ ก็เรียกว่าสร้างกระแสออกมาได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการเปลี่ยนคำว่า VS มาเป็น X เพื่อการันตีว่าคราวนี้จะเป็นการ ‘ร่วมทีม’ กันจริง ๆ หาใช่ ‘คู่ปรับ’ อย่างที่แล้วมา สำหรับไฮไลต์ในภาคนี้ต้องยกให้กับการสำรวจโลกใต้ภิภพอย่างเจาะลึกยิ่งขึ้น ตามด้วยศัตรูหน้าใหม่ที่ทำให้ทั้งสองต้องจับมือกันแนบแน่น และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของหนังมอนสเตอร์ยุคเก่าที่ผสมผสานใส่ลงมาได้อย่างเหมาะเจาะ

นอกจากนี้ยังได้ ‘อดัม วินการ์ด’ (Adam Wingard) ผู้กำกับในภาคที่แล้วมาสานงานต่อ หลังจากที่จักรวาลมอนสเตอร์เปลี่ยนผู้กำกับเป็นว่าเล่น ซึ่งวินการ์ดก็เลือกที่จะให้ภาคใหม่นี้มีความ ‘ฉูดฉาด’ และความ ‘บ้าบอ’ ของหนังยุคก่อนมาปรับให้ดูสมจริงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ควบคูกับการโฟกัสที่เรื่องราวของเหล่ามอนสเตอร์ให้มากยิ่งขึ้น ตัดตัวละครที่ไม่จำเป็นทิ้ง พร้อมกับเปิดตัวมอนสเตอร์คู่ปรับใหม่ของสองไททั่น อาทิ ‘สการ์คิง’ (Scar King) วานรสีเพลิงเจ้าของกองทัพสุดเกรียงไกร ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของบัลลังก์ที่แท้จริงของที่คองเคยพบเมื่อภาคที่แล้วก็เป็นได้ หรือจะเป็น ‘ชิโม’ (Shimo) อสูรกายพลังเยือกแข็งสมุนคนสำคัญของสการ์คิง และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดก็มี ‘ซูโก’ (Suko) น้องมินิคองสุดน่ารักที่วินการ์ดหยิบยกมาเพื่อเป็นการคาราวะหนังเก่าอย่าง ‘Son of Kong (1933)’ อีกด้วย

ที่สำคัญ เรายังจะได้เห็นก็อดซิลลาที่มีพลังสีชมพู และแขนเหล็ก (BEAST Glove) ใหม่ของคองที่คาดกันว่าน่าจะเป็นอาวุธที่เคยปรากฏในภาพยนตร์เมื่อปี 1962    

ทำไมเราถึงชอบดูสัตว์ประหลาดตัวยักษ์ต่อสู้กัน

“การทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้” คงเป็นคำนิยามสั้น ๆ เมื่อเราพูดถึงมอนสเตอร์ และด้วยเหตุเดียวกันนี้ เหล่าสัตว์ประหลาดทั้งปวงจึงกลายเป็นขวัญใจของเด็กรุ่นเยาว์ที่ชอบต่อเนื่องมาจนโต ไม่แพ้ภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ ทั้งในแง่ความนิยมและรายได้

สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของภาพยนตร์มอนสเตอร์ได้ดี คงไม่พ้นจำนวนภาพยนตร์ของสัตว์ประหลาดตัวยักษ์ที่มีมากมายจนนับไม่ถ้วน แม้พล็อตเรื่องจะวน ๆ ซ้ำ ๆ อยู่ที่การ ‘กลายพันธุ์’ หรือ ‘สารกัมมันตรังสี’ แต่นี่คือสิ่งที่ถูกผลิตซ้ำและขายได้ตลอดมา อันเป็นการสะท้อนความหวาดกลัวต่อสงครามและอาวุธนิวเคลียร์ หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1950 - 1970 

นอกจากภาพยนตร์หลากหลายเรื่องที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ยังมี The Giant Behemoth (1959), The Giant Gila Monster (1959), Gorgo (1961) เรื่อยไปจนถึง The Host (2006) ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีของ ‘บงจุนโฮ’ (Bong Joon-ho) ผู้กำกับชื่อดังเจ้าของผลงานเรื่อง ‘Parasite (2019)’ ที่บอกเล่าเรื่องราวของสัตว์ประหลาดกลายพันธุ์จากสารพิษที่ถูกถ่ายเทลงในแม่น้ำ ก็สามารถเล่าเรื่องราวความดราม่า ความน่ากลัวของสัตว์ประหลาด และวิพากย์การเมืองได้อย่างมีชั้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่รักหนังสัตว์ประหลาดมากที่สุด คงต้องยกให้กับ ‘ญี่ปุ่น’ อย่างไม่ต้องสงสัย แม้จะเป็นความจริงที่ก็อดซิลล่ามีที่มาจากหนังอเมริกา แต่ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาหนังไคจูให้เป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุดเช่นกัน ซึ่งถ้าพิจารณาตามบริบทโดยรวม เราคงต้องบอกว่าบรรดาหนังไคจูของญี่ปุ่นถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางศาสนา ความหวาดกลัวในสงครามและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และการพัฒนารูปแบบไคจูทั้งในรูปแบบของ ‘วายร้ายตัวฉกาจ’ และ ‘ซุปเปอร์ฮีโร่ตัวยักษ์’ หรือที่เรียกว่า ‘โทคุซัทสึ’ (Tokusatsu) อย่างเช่นอุลตร้าแมนที่สามารถขยายตัวให้ใหญ่ได้ รวมทั้งเหล่าขบวนการ 5 สีที่สามารถต่อตัวกันเป็นหุ่นยนต์ตัวยักษ์อีกที

เหล่าไคจูเลิฟเวอร์ ล้วนบอกตรงกันว่าสัตว์ประหลาดของญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะถูกร้อยเรียงร่วมกับความเชื่อของ ‘ศาสนาชินโต’ อันเป็นศาสนาที่ชาวญี่ปุ่นนับถือกันมากที่สุด และเป็นศาสนาที่นับถือเทพเจ้าหลายองค์ โดยแต่ละเทพเจ้าจะเป็นตัวแทนของพลังขนาดใหญ่ที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ เฉกเช่นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่แสนโหดร้ายอย่างแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ หรือจะเป็นน้ำท่วม ซึ่งการทำลายล้างของสัตว์ประหลาดเหล่านี้ก็ราวกับเป็นการตอกย้ำในสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นเจออยู่ทุกวัน และทำให้ ‘อิน’ ตามได้อย่างไม่ยากเย็น

เหตุผลอันดับต่อมาก็ไม่ต่างจากทางฟากฝั่งอเมริกา แต่ต่างกันตรงที่ว่าญี่ปุ่นได้รับผลกระทบสงครามจริง ๆ เมื่อคนทั้งประเทศต้องตกตะลึงกับภาพการถูกโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ สิ่งที่ผู้กำกับก็อดซิลลาพยายามสื่อสารตลอดโดยตลอดก็คือ การดึงเอาความรู้สึกร่วมของสาธารณชน และแสดงถึงภยันตรายของสงครามนิวเคลียร์ ดังนั้นในขณะที่คนทั้งโลกมองว่าเหล่าสัตว์ประหลาดนั้นคือ ‘คนสวมชุดยาง’ ต่อสู้กัน แต่ชาวญี่ปุ่นกลับมองเห็นภาพของสงครามนิวเคลียร์ พร้อม ๆ กับการระลึกถึงผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตจากสงคราม ก็อดซิลลาจึงกลายเป็นก้าวสำคัญของภาพยนตร์ไคจูทุกรูปแบบ 

แม้เทรนด์หนังมอนสเตอร์กระแสหลัก เจ้าตัวยักษ์จะต้องต่อสู้กับกองทัพที่เต็มไปด้วยอาวุธสงครามสุดทันสมัย แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่าชาวญี่ปุ่นได้ผูกโยงเหล่าสัตว์ประหลาดเข้ากับความเชื่อในเทพเจ้า มนุษย์ไม่สามารถต่อสู้กับการทำลายล้างของเหล่าสัตว์ประหลาดได้เอง ด้วยเหตุนี้ สิ่งเดียวที่สามารถ “หยุดยั้งไคจูได้” ก็คือ “ไคจูอีกตัวหนึ่ง” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของภาพยนตร์แนวสัตว์ประหลาดญี่ปุ่นไปโดยปริยาย ซึ่งจะแยกออกเป็นไคจูฝ่ายธรรมะ หรือโทคุซัทสึ และไคจูฝ่ายอธรรม อันเป็นการปลุกฝังความเชื่อในเทพเจ้าและคุณงามความดี ๆ ไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่สนใจว่าจะต้องเป็นเด็กเท่านั้นที่ดูได้ 

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ภาพยนตร์ไคจูของญี่ปุ่นหลายเรื่องไม่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั่วโลกอย่างเช่นก็อดซิลลา ก็เนื่องมาจากหนังเหล่านั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยคำนึงถึงผู้ชมต่างประเทศ หากแต่สร้างเพื่อให้คนในประเทศได้เห็นภาพกับตำนานยุคใหม่ที่พวกเขาสามารถดื่มด่ำและเพลิดเพลินไปกับผลงานสุดแปลกตา ซึ่งสะท้อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ผ่านกระบวนการลองผิดลองถูก จนมีสไตล์เป็นของตัวเอง และเป็นหนึ่งใน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (soft power) โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยความแข็งแกร่งทางทหารอีกต่อไป

สำหรับคนนอกประเทศอย่างเรา ๆ หนังสัตว์ประหลาดก็ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ที่ผ่อนคลาย บรรเทาความตึงเครียดและการเผชิญหน้ากับปัญหา อีกทั้งยังเข้าตำราที่ว่า “สองหัวดีกว่าหัวเดียว” เพราะถ้าให้ลองคิดเล่น ๆ ถ้าสัตว์ประหลาดมีตัวเดียวจะให้ความรู้สึกน่ากลัว เป็นอสูรกายร้ายที่ต้องหนี และให้อารมณ์เดียวกับภาพยนตร์แนวสยองขวัญอย่าง ‘Coverfield (2008)’ แต่พอมีเพื่อนมอนสเตอร์ ‘คู่ปรับ’ ภาพที่อยู่ตรงหน้าก็กลับกลายเป็นเรื่องราวสุดเข้มข้นที่ให้เราลุ้นจนนั่งไม่ติดเก้าอี้ ไม่ต่างจากที่เราให้ซุปเปอร์ฮีโร่เป็นตัวแทนในการต่อสู้ 

หรืออย่างใน ‘Godzilla: King of the Monsters (2019)’ ที่ได้รับคำวิจารณ์ว่าเรื่องราวการต่อสู้ของ ‘สัตว์ประหลาด’ ยังเข้มข้นกว่าพาร์ทดราม่าของ ‘มนุษย์’ เสียอีก

 

เรื่อง : รตินันท์ สินธวะรัตน์

ภาพ : IMDB

อ้างอิง :

Jase Short. The Theory and Appeal of Giant Monsters.

Michael Fitzpatrick. Godzilla: Why Japan Loves Monster Movies.

Nic. Kaiju in Culture – Japan

Phil Wheat. A Brief History of Giant Monster Movies

Rob Bricken. Why We Love to Watch Monsters Fight.

Ryan Lambie. The evolution of the giant monster movie.

Spencer Connolly. Godzilla's Name for King Kong Explains Why Their Battle Was Inevitable

Godzilla (1954) Trailer