24 มี.ค. 2567 | 14:30 น.
KEY
POINTS
ทราบกันดีว่า จีนกับโลกตะวันตกซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ในสถานการณ์โลกปัจจุบันนี้กำลังขัดแย้งและแย่งชิงความเป็นผู้นำด้านต่าง ๆ อยู่ เป็น ‘สงครามการค้า’ (Trade war) ที่ถือกำเนิดในฐานะการปะทะระหว่างอารยธรรมสองฟากฝั่งของโลกคือตะวันตกกับตะวันออก
‘สงครามการค้า’ ที่ว่านี้ ถือกำเนิดมาแทนที่การปะทะกันระหว่างอารยธรรมระลอกล่าสุด นับแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น และสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่มีกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง (Fundamentalism) เป็นเป้าหมาย ยุติลงเป็นต้นมา
ฝั่งจีนที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ขณะที่สหรัฐฯ และโลกตะวันตกอยู่ในภาวะชะลอตัวและเสื่อมถอย ก็มีความเคลื่อนไหวตลอดมา สื่อสาธารณะของจีนยังคงโหมกระหน่ำโฆษณาชวนเชื่อเรื่องภัยคุกคามจากตะวันตกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ
แต่ละปีมีชาวจีนเดินทางย้ายถิ่นฐานไปอยู่สหรัฐอเมริกาก็มาก ชาวจีนอพยพรุ่นนี้ไม่เหมือนจีนในอดีตที่ไปเป็นผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก ปัจจุบันพวกเขาอพยพไปพร้อมกับเงินทุนและศักยภาพด้านต่าง ๆ พวกเขาแตกต่างจากผู้อพยพชาวเม็กซิโกและชนชาติอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สหรัฐอเมริกาจะไม่ไว้ใจบทบาทของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในระยะหลังมานี้ และเริ่มเบนเข็มความสนใจจากคู่แข่งเดิมที่เป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในตะวันออกกลางมาสู่ผู้อพยพชาวผิวเหลืองจากเอเชีย
ความพยายามที่จะเรียนรู้อารยธรรมจีนได้เกิดเป็นกระแสขึ้นในสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เป็นการเรียนรู้เพื่อได้รู้จักคู่แข่งใหม่ ทำนอง ‘รู้เขา รู้เรา’ และในท่ามกลางกระแสดังกล่าวนี้ ค่ายหนัง ‘Dream Works Animation’ ก็ได้สร้างภาพยนตร์ชุด ‘Kung Fu Panda’ (กังฟูแพนด้า) ขึ้น ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวความเป็นจีนผ่านตัวการ์ตูนหมีแพนด้าอ้วนปุกปุยน่ารัก
หมีแพนด้าเป็นสัตว์ที่รัฐบาลจีนใช้เชื่อมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศในรอบหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเองก็เคยนำเข้าหมีแพนด้าจากประเทศจีนเช่นกัน ยังจำกันได้ใช่ไหม ก็ ‘ช่วงช่วง’ กับ ‘หลินฮุ่ย’ ไงเล่า ที่เคยเป็นขวัญใจเหล่าเด็กเยาวชน ถึงกับเคยเป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งของการเดินทางไปสวนสัตว์เชียงใหม่ของคนไทยจำนวนมาก
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ (เพราะเคยเป็นกันมาแล้ว) ก็คือการที่สื่อเคยนำเสนออย่างลุ้นจับจ้องว่า เมื่อไหร่หมีแพนด้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่นั้นจะ “ป๊าบ ป๊าบ ป๊าบ” กัน (ผู้อ่านที่อายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ โปรดใช้จักรยานในการอ่านตรงนี้หรือข้ามผ่านก็ได้) เพื่อได้เกิดลูกแพนด้าตัวน้อย ถึงขั้นเอาหนังโป๊ ที่มนุษย์ถูกเซ็นเซอร์ไม่ให้ดูกันไปให้หมีแพนด้ามันดู (555)
การใช้หมีแพนด้ามาเล่าเรื่องความเป็นจีน ที่จริงแล้วไม่ใช่อะไรที่ตัดขาดจากบริบทการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับนานาประเทศ โดยที่ในอดีตถ้าจะว่ากันด้วยเรื่องความเป็นจีนแล้ว สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ย่อมหลีกไม่พ้นมังกร แต่ปัญหาของมังกรคือมีอยู่จริงก็แต่ในเทพนิยาย
แต่ทั้งนี้ก็น่าสังเกตด้วยว่า ‘เสี่ยวโป’ หรือ ‘โป’ (ตัวเอกที่เป็นหมีแพนด้าในเรื่อง) เมื่อเข้าสู่โลกของจอมยุทธ์กังฟูนั้น เขาเป็นในสิ่งที่ตำนานเรียกว่า ‘นักรบมังกร’ เรื่องมันเลยดูย้อนแย้งพิลึกกึกกือว่า หมีแพนด้าจะเป็นนักรบมังกรได้อย่างไร ในทางกลับกัน มังกรระดับเทพเจ้าในตำนานเก่าแก่ของจีนนั้นจะมาปรากฏในฐานะสัตว์เผ่าพันธุ์เดียวกับ ‘ช่วงช่วง’ และ ‘หลินฮุ่ย’ ได้อย่างไร???
‘กังฟูแพนด้า’ เป็นภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องแรกจากค่าย Dream Works Animation ซึ่งเป็นค่ายหนังในสหรัฐอเมริกา กำกับการแสดงโดย ‘จอห์น สตีเฟนสัน’ (John Stevenson) และ ‘มาร์ก ออสบอร์น’ (Mark Osborne) ทำดนตรีคลาสสิกประกอบโดย ‘ฮันส์ ซิมเมอร์’ (Hans Zimmer) ร่วมกับ ‘จอห์น โพเวล’ (John Powell) ว่ากันว่าทั้งสองต้องเดินทางไปจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อศึกษาวัฒนธรรมจีนและพบปะกับวงออร์เคสตราของจีน ก่อนเริ่มทำงานนี้อย่างจริงจัง
ในส่วนของเสียงพากย์ ได้นักแสดงแถวหน้าของฮอลลีวูดมาร่วมงานอย่างคับคั่ง อาทิ ‘แจ็ค แบล็ก’ ให้เสียงพากย์โป ตามมาด้วย ดัสติน ฮอฟฟ์แมน, แอนเจลีนา โจลี, ลูซี ลิว, แจ็กกี้ ชาน, เซท โรแกน, เดวิด ครอส และเอียน แม็คเชน ซึ่งต่างก็เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง เสียงพากย์ที่มาจากนักแสดงเหล่านี้เป็นส่วนที่ทำให้หนังเรื่องนี้ยังคงมีอะไรเชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ ที่ผู้ชมคุ้นหูมาก่อนเป็นอย่างดี
กังฟูแพนด้าเริ่มเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ก่อนจะแพร่หลายไปฉายยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ความตั้งใจเดิมนั้นก็เพื่อฉายในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก รวมความแล้วก็คือเป็นแอนิเมชันจีนที่สร้างโดยอเมริกา เพื่อฉายให้ชาวอเมริกันได้ชมเป็นหลัก แต่เรื่องมันก็เกิดฮิตในประเทศอื่น (รวมทั้งในประเทศไทย) ไปด้วย
กังฟูแพนด้าปัจจุบันมี 4 ภาค ได้แก่ กังฟูแพนด้า 1 (2551), กังฟูแพนด้า 2 (2554), กังฟูแพนด้า 3 (2559), กังฟูแพนด้า 4 (2567) มีภาพยนตร์สั้นแยกอีก 3 ภาค ได้แก่ ความลับของ 5 ผู้พิทักษ์ (2551), กังฟูแพนด้าภาคพิเศษวันหยุด (2553) และกังฟูแพนด้า : ความลับของปรมาจารย์กงเหมิน (2557) และซีรีส์โทรทัศน์ ได้แก่ กังฟูแพนด้า ตำนานสะท้านโลกันตร์ (2554 - ปัจจุบัน) ทั้งนี้ดรีมเวิร์กสแอนิเมชัน ได้เคยประกาศไว้ว่า มีแผนงานจะสร้างกังฟูแพนด้าถึง 6 ภาคด้วยกัน ปัจจุบันทำมาแล้ว 4 ภาค ยังเหลืออีก 2 ภาค ให้ติดตามกันต่อไป
กังฟูแพนด้าเลือกที่จะนำเสนอแก่นแท้ของปรัชญาจีนด้วยลัทธิเต๋า (Taoism) ทั้งนี้สัญลักษณ์เต๋าก็ดูจะเข้ากันแบบลงตัวกับหมีแพนด้าที่มีสีขนแบบดำกับขาว ในภาค 2 ก็จะเห็นการขับเน้นประเด็นนี้ เพราะตามเนื้อเรื่องสิ่งมีชีวิตในตำนานที่จะมาโค่นล้มกษัตริย์ทรราชจะมีทั้งสีดำกับขาวอยู่ในตัว
เรื่องก็ดำเนินไปแบบนวนิยายจีนกำลังภายใน + การเมืองแบบจีนโบราณ เมื่อมีคำทำนายออกมาดังนั้น กษัตริย์ราชวงศ์นกยูงที่ปรารถนาอำนาจครองโลกจึงต้องส่งกองทัพหมาป่าออกไปตามล่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หมีแพนด้าให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดิน แต่ยังเหลืออีกตัวหนึ่งที่พลัดพรากจากพ่อแม่ไป แล้วได้เป็ดนำไปเลี้ยงเป็นลูก โดยหลอกว่า ‘อาเตี่ย’ (เป็ด) ฟัก ‘อาโป’ ออกมาเป็นไข่ และโปก็เชื่ออยู่นานจนเติบใหญ่ จึงรู้ว่าเป็ดจะออกลูกเป็นหมีแพนด้าไม่ได้ ตอนที่คนดูบ่นอุปส์ว่า ไม่รู้จะเศร้าหรือขำดี ก็ตอนที่โปรู้ว่าเตี่ยไม่ใช่พ่อแท้ ๆ ของตน
ถึงแม้ว่าลัทธิเต๋าจะมีหลากหลายแขนงความเชื่อ แต่มีหลักการใหญ่เดียวกันคือ ‘อู๋เว่ย’ หรือ ความไร้เจตนา ความเป็นธรรมชาติ และ ความเรียบง่าย กับคุณสมบัติทั้ง 3 ประการ ได้แก่ 慈 (ความเมตตา), 儉 (ความมัธยัสถ์) และ 不敢為天下先 (ความอ่อนน้อมถ่อมตน)
ลัทธิเต๋ารับอิทธิพลแนวคิดทางจักรวาลวิทยา (Cosmology) จากสำนักหยินหยาง และหลักแนวปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับวัฏจักรของธรรมชาติตามคัมภีร์อี้จิง ต่อมาใช้เต้าเต๋อจิงของเล่าจื๊อและคัมภีร์จวงจื่อเป็นคัมภีร์หลักประจำศาสนา
ในเรื่องเราจะเห็นโป ประพฤติตัวสอดคล้องตามหลักการของเต๋าข้างต้น เช่น ‘ความไร้เจตนา’ ที่ได้เป็นนักรบมังกร ก็ดูจะเป็นเหตุบังเอิญ แค่จะเข้าไปชมพิธีการคัดเลือกนักรบมังกร แต่เผลอกระโดดเข้าไปอยู่ต่อหน้าผู้คัดเลือกคือปรมาจารย์อูเกวย ผู้ซึ่งไม่เชื่อเรื่องเหตุบังเอิญ
‘ความเป็นธรรมชาติ’ ก็เห็นได้ตลอดเรื่อง ซึ่งถูกให้ภาพเรื่องความใสซื่อและซุกซนตามแบบหมีแพนด้า ‘ความเรียบง่าย’ และ ‘อ่อนน้อมถ่อมตน’ ก็ถูกนำเสนอให้เห็นภาพได้ตลอด โปยังคงสำนึกอยู่ตลอดว่าตนเป็นเพียงบุตรชายของคนขายก๋วยเตี๋ยว ไม่ได้มีสถานะสูงส่ง แม้เป็นจอมยุทธ์นักรบมังกร ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่โปนำไปโอ้อวด
ปกติฝีมือเทียบกันแล้ว โปถือว่าตนยังด้อยกว่าเพื่อน ๆ ที่เป็น 5 ผู้พิทักษ์ ได้แก่ นางพยัคฆ์, อสรพิษ, วานร, ตั๊กแตน และกระเรียน ซึ่งล้วนแต่เป็นศิษย์เอกของอาจารย์ชิฟู โดยเฉพาะนางพยัคฆ์ซึ่งถือว่าเป็นหัวหน้ากลุ่ม 5 ผู้พิทักษ์ ที่แต่เดิมถูกหมายมั่นจะให้เป็นนักรบมังกร แต่เมื่อพลาดไม่ได้เป็นนักรบมังกร เป็นโปที่ฝีมือห่วย ไม่เคยฝึกวรยุทธ์ แต่ภายหลังชิฟูและ 5 พยัคฆ์ต่างก็ยอมรับโป เมื่อโปสามารถเอาชนะศัตรูที่เก่งกาจอย่างไต้ลุง (เสือดาวหิมะ)
ที่สำคัญคือไอเดียเรื่อง ‘สูงสุดสู่สามัญ’ สุดท้ายแล้วโปก็เลือกจะกลับไปช่วยเตี่ยทำก๋วยเตี๋ยว เลิกสนใจชาติกำเนิดที่แท้จริงของตนเอง เขาค้นพบว่าการทำก๋วยเตี๋ยวไม่ใช่อะไรที่ขัดแย้งกันชนิดต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งกับการเป็นจอมยุทธ์นักรบมังกร เมื่อเตี่ยเป็นคนเฉลยให้แง่คิดแก่โปได้เข้าถึงเคล็ดวิชาที่ยากจะฝึกฝนได้บางอย่าง เช่นที่เตี่ยบอกว่า ในการทำก๋วยเตี๋ยวเลิศรสขายดิบขายดีนั้น แท้ที่จริงแล้ว อาเตี่ยไม่ได้มีสูตรลับพิเศษอะไรเลย อยู่ที่ตัวเราจะปรุงขึ้นมาตามประสบการณ์ทั้งนั้น
เมื่อได้ยินดังนั้น โปจึงเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า ที่คัมภีร์ยุทธที่ชาวยุทธ์ต่างแย่งชิงเพื่อได้มานั้น แต่เมื่อตนเห็นแล้วกลับเป็นเพียงกระดาษเปล่า ไม่มีตัวอักษรอะไรนั้นก็เพราะเหตุผลเดียวกัน คือปรมาจารย์ในอดีตไม่ได้กำหนดไว้ อยู่ที่ตัวเราจะปรับปรุงกันขึ้นมาเอง
โปจึงเอาชนะศัตรูอย่างไต้ลุงหรืออย่างไคได้ เพราะทั้งสองยังยึดติดกับเคล็ดวิชาที่ปรมาจารย์สร้างขึ้น และทั้งสองยังเชื่อว่ามีเคล็ดลับวิชาสุดยอดไปกว่าที่ตนได้ฝึกฝนมาทั้งชีวิต ไต้ลุงกับไคจึงเหมือนตัวละครจอมยุทธ์ในหนังจีนทั้งหลายที่ต่อสู้แย่งชิงคัมภีร์เพื่อจะได้เป็นเจ้ายุทธจักร ท้ายที่สุดถ้าไม่ถูกศัตรูตามมาล้างแค้น ก็ต้องธาตุไฟเข้าแทรกจนเสียสติเป็นบ้าไปเหมือนอย่าง ‘อาวเอี๊ยงฮง’ ใน ‘มังกรหยก’ หรืออย่าง ‘งักปักคุ้ง’ ใน ‘เดชคัมภีร์เทวดา’
แต่โปดูจะเป็นส่วนผสมกันระหว่าง ‘ก๊วยเจ๋ง’ (พระเอกเรื่องมังกรหยก) กับ ‘เล้งฮู้ชง’ (พระเอกเรื่องเดชคัมภีร์เทวดา) คือมีทั้งความใสซื่อบริสุทธิ์ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง มีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ปกป้องคนอ่อนแอจากการถูกรังแกโดยผู้เข้มแข็งกว่า ที่สำคัญคือมีอารมณ์ขัน ความตลกขบขันคือตัวแปรในการทำลายอำนาจของวิชา เพราะวิชาเหล่านี้มาพร้อมความเคร่งขรึมและศักดิ์สิทธิ์สูงส่งอยู่โดยนัย แต่เมื่อสูงสุดสู่สามัญแล้วทุกอย่างก็ทำเป็นเรื่องขำขันได้หมด จึงนับเป็นยอดจอมยุทธ์ที่แท้ทรู
นอกจากนี้การที่ตัวเอกสามารถปรับปรุงกระบวนท่าได้เอง ไม่ต้องขึ้นกับเคล็ดวิชาลับของปรมาจารย์ ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ นอกจากเป็นข้อแตกต่างระหว่างโปกับคนอื่น ๆ ในเรื่อง (แม้แต่กับชิฟู) ยังสะท้อนเงื่อนไขความเป็นจีนแบบใหม่
เมื่อจะเป็นจอมยุทธ์และขายก๋วยเตี๋ยวไปด้วย ลำพังเป็นจอมยุทธ์นักรบมังกรมันไม่มีจะกิน ก็ต้องมีฐานเศรษฐกิจของ ‘ที่บ้าน’ ซับพอร์ตเป็นธรรมดา ตรงนี้ก็นับเป็นข้อแตกต่างเมื่อเทียบกับเหล่าบรรดาจอมยุทธ์ในภาพยนตร์จีน ซึ่งล้วนแต่ไม่รู้ว่าทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างไร เห็นแต่แต่งตัวสวย ๆ หล่อ ๆ เป็นคุณหนู คุณชาย ลูกผู้ดีมีตระกูล ออกมาวาดลวดลายกัน มีเพียงจอมยุทธ์สำนักคุ้มภัยที่มีหน้าที่คุ้มกันกองคาราวานสินค้าเท่านั้นที่แสดงให้เห็นระบบเศรษฐกิจเบื้องหลังจอมยุทธ์
แต่โปชัดเจนว่าเขาเป็นลูกชายบุญธรรมของอาเตี่ย เจ้าของกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวดังในเมือง เมื่อมองจากลัทธิเต๋าและทุนนิยมสมัยใหม่แล้ว ก็ไม่เป็นปัญหาที่จอมยุทธ์นักรบมังกรจะเป็นคนขายก๋วยเตี๋ยวด้วยไม่ได้ เมื่อไม่มีงานฝึกวิทยายุทธ์หรือว่างเว้นจากการกำราบเหล่าวายร้ายปกป้องหุบเขาสันติภาพและเมืองจีนแล้ว นักรบมังกรก็มาช่วยเตี่ยเสิร์ฟก๋วยเตี๋ยว แถมขายดีกว่าเดิม เพราะมีแบรนด์นักรบมังกรอีกต่างหาก
เรื่องนี้ก็สะท้อนการปรับตัวของชาวจีนในโลกยุคทุนนิยมโลกาภิวัฒน์อีกเช่นกัน ทั้งนี้ก็เป็นเงื่อนไขปัจจัยมาจากความเชื่อในลัทธิเต๋า แม้จะมีอิทธิพลอยู่จริงอย่างเบาบางก็ตาม จริง ๆ ส่วนนี้ก็นับว่าทีมผู้สร้างกังฟูแพนด้า ตีโจทย์ได้ถูกจุดอยู่เหมือนกัน
ในสังคมจีนมีความพยายามที่จะยกย่องให้เป็น ‘ศาสนาประจำชาติของจีน’ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ รัฐบาลจีนเห็นประโยชน์จากการมีหลากหลายศาสนาดำรงอยู่อย่างเท่าเทียมกัน มากกว่าจะมีศาสนาใดเป็นศาสนาหลักเพียงหนึ่งเดียว ถึงจะไม่ใช่ยุคที่ผู้นำจีนเห็น ‘ศาสนาเป็นยาฝิ่น’ ไปแล้วก็ตาม แต่อย่างไรเสีย ศาสนาเต๋าก็ถือได้ว่าเป็นศาสนาที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ เพราะหลักคำสอนเข้ากันได้กับแนวคิดลัทธิสังคมนิยมแบบจีนที่มีต้นธารอ้างอิงคือประธานเหมา เจ๋อตุง
แต่ภาพลักษณ์จีนที่ยึดมั่นในลัทธิเต๋าแบบถึงแก่นถึงจิตวิญญาณก็เป็นภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นในโลกตะวันตก เพราะจีนนอกจากลัทธิเต๋า ยังมีขงจื๊อ มีเซน มีพุทธ คริสต์ อิสลาม มีอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะมากมาย และท้ายที่สุดชาวจีนก็ไม่ได้เคร่งศาสนาเหมือนอย่างที่ตะวันตกเข้าใจหรือสร้างภาพประทับเอาไว้แบบนั้น พวกเขามีการปรับเปลี่ยนตนเองให้เข้ากับโลกยุคใหม่อยู่ตลอด
‘เอ็ดเวิร์ด ซาอิด’ (Edward W. Said) ในเล่มเรื่อง ‘Orientalism: Western Concepts of the Orient’ ได้เริ่มเรื่องโดยการหยิบยกกรณีซีรีส์ดังเรื่อง ‘Stargate-SG1’ ที่นำเสนออารยธรรมอียิปต์มีต้นกำเนิดมาจากมนุษย์ต่างดาว ตามมุมมองความเชื่อที่แพร่หลายในโลกตะวันตกที่ว่าพีระมิดใหญ่โตในแถบอียิปต์และอเมริกาใต้นั้น เป็นผลงานของมนุษย์ต่างดาว เพราะไม่เชื่อว่าชาวพื้นเมืองที่พวกเขาเห็นเป็นพวกด้อยอารยธรรมยังล้าหลังป่าเถื่อนกันอยู่นั้นจะสามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกได้ ก็เลยยกให้ชาวพื้นเมืองในอดีตผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกนั้นเป็นมนุษย์ต่างดาวไป
เมื่อเป็นมนุษย์ต่างดาวก็จัดเป็นศัตรูที่น่าเกรงขามที่กองทัพสหรัฐฯ จะต่อกรด้วย เบื้องหลังภาพลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมตะวันออกที่มีชาวอียิปต์เป็นผู้นำนั้น จึงเป็นการสร้างขึ้นตามมุมมองของชาวตะวันตก และเป็นองค์ความรู้สำคัญที่ตะวันตกมีต่อโลกตะวันออกเรื่อยมา องค์ความรู้นี้แฝงอยู่ในวาทกรรมความรู้และหลักปฏิบัติต่าง ๆ มากมายที่ตะวันตกมีต่อตะวันออก ตะวันออกที่ถูกสร้างขึ้นมานี้ยังเป็น ‘มายาภาพ’ หรือสร้างความเชื่อที่ผิดเพี้ยนเกี่ยวกับชาวตะวันออก เป็นภาพชาวตะวันออกอย่างที่ชาวชาติตะวันตกอยากจะเห็นหรืออยากให้เป็น เป็นจินตนาการมากกว่าความเป็นจริง ไม่ใช่ชาวตะวันออกอย่างที่เป็นจริง ๆ
นอกจากภาพลักษณ์เอเลี่ยนที่สร้างขึ้นในกรณี Stargate-SG1 ที่ซาอิดวิพากษ์ไว้แล้วนั้น น่าสังเกตด้วยว่า ยังมีการสร้างภาพลักษณ์ชาวตะวันออกในรูปแบบที่เป็นสัตว์ ซึ่งมีด้วยกันหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์การ์ตูน ดังที่มีนักวิชาการด้านวัฒนธรรมเคยตั้งข้อสังเกตไว้มากว่า การ์ตูนอเมริกันนั้นเข้มข้นและมีนัยมากกว่าการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งเน้นมิติทางจินตนาการความเป็นบันเทิงเป็นหลัก การ์ตูนอเมริกันยังหลุดไม่พ้นการนำเสนอประเด็นที่เชื่อมโยงกับความรู้ทางประวัติศาสตร์
ตัวอย่างก็ไม่อื่นไกล อย่างในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงใหม่ ๆ หมาด ๆ สยามประเทศไทยเองก็เคยถูกนำเสนอในโลกตะวันตกผ่านแมวสยาม (Siamese cat) ในแอนิเมชันเรื่อง ‘Lady & The Tramp’ (ฉบับไทยแปลว่า ‘ทรามวัยกับไอ้ตูบ’) และมีเพลงดังของยุค 60s ที่มีชื่อว่า ‘The Siamese Cat Song’
นั่นถือเป็นจุดตกต่ำของ Siamese cat เพราะในเรื่อง Lady & The Tramp คือตัวร้าย มีนิสัยเห็นแก่ตัวและเป็นนักฉกฉวยโอกาสที่ไว้ใจไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงโดยที่สยามกลายเป็นฝ่ายชาติผู้ชนะในสงครามไปด้วย ทั้งที่รัฐบาลสมัยนั้นได้ประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะไปแล้ว แต่เพราะบทบาทของขบวนการเสรีไทยภายใต้การนำของปรีดี พนมยงค์ ทำให้ประเทศไทยหลุดรอดจากการตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามไปด้วย
ทั้งที่เรื่องนี้สำหรับสังคมไทยอาจจะสะท้อนเรื่องของความฉลาดในการประสานผลประโยชน์ แต่สำหรับในประเทศอื่น ๆ เขาไม่คิดแบบนั้น เขาคิดว่าคนไทยเป็นพวกไม่มีหลักการ พร้อมจะเอากับอำนาจหรือเข้าข้างฝ่ายชนะ เพื่อเอาตัวรอด จึงเป็นคนประเภทที่คบไม่ได้ ผลกระทบก็ตกอยู่แมว แมวสยามที่เคยโด่งดังเป็นที่นิยมในต่างประเทศ ก็ถึงจุดตกต่ำลงไปด้วย กระทั่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 9 Siamese cat ชนิดวิเชียรมาศ ที่เคยครองตำแหน่งในพิธีการอุ้มวิฬาร์ ก็ได้เปลี่ยนมาใช้แมวสีสวาดแทน
อันที่จริงการเปรียบเทียบคาแรกเตอร์ชาวสยามกับแมว ก็อาจมีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด และแมวเองก็มีคาแรกเตอร์ด้านดีอื่น ๆ ที่ไม่ถูกพูดถึง หมีแพนด้าที่ถูกนำมาใช้เป็นภาพตัวแทน (representation) ของความเป็นจีนตามมุมมองตะวันตกก็เช่นกัน ก็เป็นหมีแพนด้าที่ถูกตัดต่อคาแรกเตอร์ให้เข้ากับความเป็นจีนในแบบดังกล่าว
ในแง่หนึ่งการใช้ภาพตะวันออกเป็นเอเลี่ยน บ้างก็ใช้เป็นภาพสัตว์ สะท้อนการมองชาวตะวันออกที่ไม่เท่าเทียมกับตะวันตกที่เป็นมนุษย์สมบูรณ์พร้อมกว่า ในส่วนนี้จึงแฝงนัยแสดงความเหนือกว่าของตะวันตกที่มีต่อตะวันออกอยู่กลายๆ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นแอนิเมชันที่สร้างในโลกตะวันตก ก็ทำให้ผู้สร้างสามารถนำเสนอภาพลักษณ์ความเป็นจีนในแบบที่ถ้าเป็นจีนสร้างเองจะยากที่จะทำออกมาได้ ไม่ใช่เพราะเงินทุน แต่เพราะข้อจำกัดในระบบความคิดที่จีนยึดติดกับขนบ บางเรื่องต้องเสนอในภาพลักษณ์แบบเคร่งขรึม ไม่สามารถที่จะนำเอามาล้อเลียนให้เป็นเรื่องตลกขบขันไปได้
ปมเรื่องชาติกำเนิด การให้ความสำคัญกับการสืบทายาทผ่านทางสายเลือด ก็เป็นขนบวัฒนธรรมที่ชาวจีนยังคงยึดถือเคร่งครัด แต่กังฟูแพนด้าเสนอให้ตัวเอกของเรื่องหลุดพ้นจากเรื่องนี้เสียก่อนจึงจะเข้าถึงพลังที่ซ่อนเร้นของตน หรือเขยิบไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งได้
‘มังกร’ เป็นสัญลักษณ์โบราณของความเป็นจีน แต่โปที่ได้ชื่อเป็น ‘นักรบมังกร’ นั้น มีบอดี้เป็นหมีแพนด้าอ้วนพุ้ย โปปรากฏภาพในฐานะมังกรก็เมื่อกลายเป็นวิญญาณไปสู้กับไค (ควายไบซัน) ในปรภพ มันหมายถึงท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เหลือบ่งบอกถึงความเป็นจีนนั้นมีเพียงจิตวิญญาณ
นั่นก็หมายความว่าแท้ที่จริงแล้วไม่มีเหลือความเป็นจีนที่เห็นได้ในแบบปกติสามัญ เพราะปกติสามัญจีนเป็นตะวันตกไปด้วย แม้จะถูกสร้างเป็นคู่ตรงข้ามกับอารยธรรมตะวันตกก็ตาม แต่การปรับตัวเข้ากับกระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์ของจีนในระยะหลังมานี้ก็กล่าวได้ว่าจีนเป็นตะวันตกเสียเองไปแล้ว และเป็นตะวันตกยิ่งกว่าตะวันตกเดิมที่เขาเคยเป็นเคยทำกันมาเสียอีก
การปฏิวัติโค่นล้มกษัตริย์ทรราชในภาค 2 ที่ชวนให้นึกถึงประวัติศาสตร์การปฏิวัติ ค.ศ. 1911 เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของจีนที่กระทบโลก ซึ่งชาวตะวันตกย่อมได้เรียนรู้ เมื่อ ดร.ซุน ยัดเซน ผู้นำการปฏิวัติครั้งนั้นได้ชื่อเป็น ‘บิดาแห่งระบอบสาธารณรัฐ’ เนื่องจากเป็นการปฏิวัติที่นำจีนเข้าไปสู่สายธารเดียวกับอารยธรรมโลกตะวันตกมากยิ่งขึ้นแบบ ‘ก้าวกระโดด’ (ถ้าว่าตามขนบภาษาจีน)
จีนปัจจุบันที่เดินทางไปทั่วโลกแตกต่างจากจีน ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ ในอดีต หากแต่เป็นจีนที่มาพร้อมรถหรู เสื้อผ้าแบรนด์เนม มาพร้อมศักยภาพการลงทุนที่เหนือกว่าทุนพื้นถิ่น การยึดหัวหาดตามแหล่งท่องเที่ยวและสถานศึกษา แถมยังยึดแม้กระทั่งสวนทุเรียน มังคุด ลำไย ฯลฯ เอาไปส่งออกด้วยตนเองได้อีก ความเป็น ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ นั้น ไม่ได้เป็นที่พูดถึงแต่เฉพาะในไทย
จีนปัจจุบันก็เป็นตะวันตกยิ่งกว่าตะวันตกเองเสียอีก ไม่เว่อร์เกินจริงที่จะกล่าวเช่นนั้นเลย เพราะไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สงครามการค้าที่ทำกับสหรัฐอเมริกา การขยายตัวของการครอบงำทางเศรษฐกิจที่ในอดีตแม้แต่จักรวรรดินิยมตัวเป้งอย่างสหรัฐอเมริกาหรืออย่างญี่ปุ่น ต่างก็ไม่เคยทำได้มาก่อน
การนำเอากังฟูซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ถือเป็นอัตลักษณ์ของจีนมานำเสนอในรูปตัวการ์ตูนที่เป็นสัตว์ทั้งหมด ในเรื่องไม่มีมนุษย์แม้แต่ตัวเดียว แม้แต่ปรมาจารย์ลัทธิเต๋าในเรื่อง (อูเกวย) ก็ยังเป็นเต่า ฮ่องเต้จีนที่ทรงอำนาจและปรารถนาจะครองโลกนั้นเป็นราชวงศ์นกยูง ซึ่งมีฝูงหมาป่าไฮยีน่าเป็นลูกน้องทั้งกองทัพ ตัวชั่วร้ายที่แหกคุกหลวงออกมาอาละวาดนั้นก็เป็นเสือหิมะ เป็นสัตว์ร้ายจากเขตหนาว อีกตัวที่มาจากปรโลกก็เป็นควายไบซันจากทะเลทราย อีกกลุ่มที่เป็นหัวขโมยก็เป็นจระเข้
แต่แม้นำเสนอตัวละครในรูปสัตว์ ก็กลับสามารถฉายภาพความเป็นมนุษย์ได้ถึงแก่นยิ่งกว่า...
ลีลาการปัดกระสุนปืนใหญ่ด้วยฝ่ามือของโป ชวนให้นึกถึงการหยุดและปัดลูกกระสุนปืนของนีโอใน ‘The Matrix’ ยังไงชอบกล
ไม่ใช่จอมยุทธ์ทุกคนจะทำได้อย่างโป เพราะต้องเข้าถึงสุดยอดวิทยายุทธ์ (ที่ไม่มีเคล็ดลับอะไรทั้งสิ้น) แต่ใคร ๆ ก็สามารถใช้ปืนได้ ปืนเคยเป็นปัจจัยความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดจากในประวัติศาสตร์ของตะวันตกเองและญี่ปุ่น เมื่อชาวนาธรรมดาคนหนึ่งก็สามารถสังหารอัศวินหรือซามูไรระดับยอดฝีมือได้ด้วยเพียงเหนี่ยวไกปืน นั่นก็หมายความว่าอย่างไรเทคโนโลยีตะวันตกก็เหนือกว่าวิทยายุทธ์จีน/ตะวันออกอยู่วันยันค่ำ
กล่าวโดยสรุป กังฟูแพนด้าได้เสนอภาพความเป็นจีนในสังคมตะวันตกในแบบที่ไม่ใช่จีนแบบจารีตดั้งเดิม แฝงประวัติศาสตร์เล่าเรื่องจีนในมุมที่ตอบคำถามได้ว่า จีนปัจจุบันนี้ที่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองจนมาเป็นยอดจอมยุทธ์ในโลกปัจจุบันนี้ได้ด้วยเงื่อนไขปัจจัยอะไร เป็นจีนใหม่ที่เขยิบมาทำสิ่งที่บรรพชนไม่เคยทำในอดีตกันมาก่อน ดังที่อาจารย์ชิฟูได้บอกกับโปตอนหนึ่งว่า “ถ้าเจ้าทำแต่สิ่งที่ทำได้ เจ้าจะไม่มีวันดีกว่าตัวเจ้าตอนนี้”
ดังนั้นจึงเป็นจีนที่ไม่ควรประมาทเห็นเป็นแค่หมีแพนด้าอ้วนปุกปุยน่ารัก เขาอาจเป็นหมีแพนด้าที่ยังมีจิตวิญญาณเป็น ‘นักรบมังกร’ อยู่ก็ได้