‘ฮัน’ เบื้องหลังความหม่นเศร้ากับอารมณ์สีเทาในภาพยนตร์เกาหลี

‘ฮัน’ เบื้องหลังความหม่นเศร้ากับอารมณ์สีเทาในภาพยนตร์เกาหลี

ทำความรู้จัก ‘ฮัน’ (한 : 恨 : Han) สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความหม่นเศร้ากับอารมณ์สีเทาในภาพยนตร์เกาหลี

KEY

POINTS

  • ชาวเกาหลีเชื่อกันว่าพวกเขาทุกคนล้วนมี ‘ฮัน’ อันหมายถึง ‘ความโศกเศร้า’ หรือ ‘ความเคียดแค้น’ อยู่ในสายเลือด ผลมาจากความอยุติธรรมตั้งแต่สมัยอาณานิคมญี่ปุ่น
  • ต่อมา ‘ฮัน’ ได้ถูกนำมาถ่ายทอดในงานศิลปะ และการแสดงพื้นบ้าน ที่มักมาพร้อมเนื้อเพลงที่สื่อถึงความเดือดดาล ผสานความหม่นเศร้า รวมทั้งเพลง ‘อารีรัง’ (Arirang) เพลงประจำชาติเกาหลีที่มีเนื้อหากล่าวถึงการพลัดพรากจากลา
  • หลังทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา ‘ฮัน’ ได้ถูกตีความใหม่ในโลกของภาพยนตร์ ด้วยการผสมผสานความเป็น ‘ตะวันออก’ และ ‘ตะวันตก’ เอาไว้ด้วยกัน 
     

เคยรู้สึกไหม? เวลาดูหนังเกาหลีจบสักเรื่อง เรามักจะพบกับ ‘ความรู้สึกบางอย่าง’ ซุกซ่อนอยู่ในใจเสมอ…

แม้ฉากหน้าจะดูสมบูรณ์แบบตามแบบฉบับ Happy Ending แต่กลับไม่ทำให้เรารู้สึก ‘สุขล้น’ ถึงขนาดนั้น หรือในบางเรื่องที่เคยตีแสกหน้าเราด้วยความ ‘โหดร้าย’ แต่สุดท้ายเรากลับรู้สึก ‘สาแก่ใจ’ ก่อนจะผสมปนเปไปกับกลิ่นอายของ ‘ความหม่นเศร้า’ เป็นอารมณ์สีเทา ๆ ที่เราไม่สามารถอธิบายได้

ความรู้สึกที่เราสัมผัสได้ แต่ไม่มีทางเข้าใจนี้ มีชื่อเรียกว่า ‘ฮัน’ (한 : 恨 : Han) อันเป็นแนวคิด และจิตวิญญาณของชาวเกาหลี หากให้ลองเทียบเคียงก็คงไม่ต่างจากคำว่า ‘อะโลฮ่า’ (Aloha) ที่ใช้นิยามชาวฮาวาย แต่ทว่าฮันกลับเป็นอะไรที่พิเศษและคลุมเครือกว่านั้น อย่างที่ ‘อิมควอนแท็ค’ (Im Kwon-taek) ผู้กำกับชื่อดังระดับตำนานชาวเกาหลีเคยกล่าวว่า “คนเกาหลีต่างตีความหมายของ ‘ฮัน’ ไว้แตกต่างกัน”

โดยทั่วไปแล้ว ฮัน จะหมายถึง ‘ความโศกเศร้า’ (sorrow) หรือบางครั้งบางคราวก็แปลได้ว่า ‘ความเคียดแค้น’ (rancor) กล่าวกันว่าฮันเกิดมาจากความอยุติธรรมที่ชาวเกาหลีต้องพบเจออย่างต่อเนื่อง อันมาจากความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่สมมาตร และไม่สามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม หรือจะพูดง่าย ๆ ว่าเป็น ‘ความโกรธ’ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็ไม่น่าจะผิดนัก

ด้วยเหตุนี้ ชาวเกาหลีส่วนใหญ่จึงเชื่อว่า ฮัน จะวนเวียนอยู่ใน ‘สายเลือด’ ของชาวเกาหลีทุกคน และความโศกเศร้าของชาวเกาหลีนั้น แตกต่างจากสิ่งที่ชาวตะวันตกเคยประสบหรือสามารถเข้าใจได้

ความงามแห่งความโศกเศร้า 

แม้คำว่า ฮัน จะหมายถึง ความเศร้าโศกและความทนทุกข์ที่ต้องเผชิญมานานแสนนาน แต่คำนี้กลับไม่ใช่คำโบราณ หากแต่เป็นคำใหม่ที่เพิ่งถูกหยิบยกมาใช้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นี้เอง

แรกเริ่มเดิมทีในวรรณกรรมเกาหลีคลาสสิกมักจะดำเนินเรื่องราวด้วยความสนุกสนาน การล้อเลียน และอารมณ์ขันเสียส่วนใหญ่ โดยจะพบเรื่องราวน่าเศร้าเกี่ยวกับฮันผสมมาเพียงเล็กน้อย ส่วนต้นกำเนิดของฮันนั้นว่ากันว่ามาจากทฤษฎี ‘ความงดงามในความโศกเศร้า’ (Beauty of Sorrow) ของ ‘ยานางิ โซเอตสึ’ (Yanagi Sōetsu) นักวิจารณ์ศิลปะชาวญี่ปุ่นคนดังที่เขียนบทความเรื่องนี้ในปี ค.ศ. 1919 - 1920 อันมีใจความว่า

“ทุก ๆ ความเจ็บปวดของชาวเกาหลีล้วนถูกสะท้อนผ่านงานศิลปะ ผลงานของพวกเขามักจะซุกซ่อนความเหงาและความเศร้าที่ชวนน้ำตาไหลอยู่เสมอ”
 

มุมมองเช่นนี้ของชาวญี่ปุ่น นับไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะตั้งแต่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลี ก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสิ้นสุดสงคราม (ค.ศ. 1910 - 1945) ชาวญี่ปุ่นก็มีมุมมองคล้าย ๆ กันว่า ชาวเกาหลี ‘ไร้อารยธรรม’ และ ‘ด้อยกว่า’ พวกเขาในทุก ๆ ด้าน โดยเชื่อกันว่าความเศร้าของชาวเกาหลี เกิดจากประวัติศาสตร์การเมืองที่ไม่มั่นคง อีกทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับการถูกรุกรานอยู่บ่อยครั้ง และถูกข่มเหงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งงานเขียนของยานางิก็ช่วยตอกย้ำให้ความเชื่อนี้หนักแน่นยิ่งขึ้นอีกเท่าตัว

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ชาวเกาหลีเชื่อในแนวคิด ‘ฮัน’ อย่างเข้มข้น มาจากเหตุการณ์สวรรคตในปี 1926 ของ ‘พระเจ้าซุนจง’ (Emperor Sunjong ค.ศ. 1874 - 1926) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของเกาหลี ที่อยู่ภายใต้การครอบงำ (หุ่นเชิด) ของญี่ปุ่น ซึ่งบทความหนึ่งใน ‘ดงอา อิลโบ’ (Dong-A Ilbo) หนังสือพิมพ์เก่าแก่ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเมืองเกาหลีในยุคอาณานิคม กล่าวว่า ชีวิตของกษัตริย์ (Life of Han) จบลงไปแล้วด้วยความโศกเศร้า

“ความโกรธ ความขมขื่น และความโศกเศร้า ที่สั่งสมปนเปอยู่ในตัวเรานั้นได้สร้างเราขึ้นมาใหม่ อาจกล่าวได้ว่าการสวรรคตของพระเจ้าซุนจงได้เข้าถึงหัวจิตหัวใจของชาวโชซอนทุกคน และปลดแอกพวกเราให้หลุดพ้นจากพันธนาการแห่งความโศกเศร้า”

หลังจากนั้น ฮันได้กลายเป็นหนึ่งในแนวคิดทางการเมือง เนื่องจากการสวรรคตของพระเจ้าซุนจง นับเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ ก่อนที่เกาหลีจะค่อย ๆ เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว

ชาวเกาหลีทุกคนล้วนมี ‘เรื่องเศร้า’ เป็นของตัวเอง

“Where I’m from, ‘Han’ is the name we gave to struggle and pain” (ที่ที่ผมเกิดมามีชื่อว่า ‘ฮัน’ เป็นชื่อที่เราตั้งให้กับการต่อสู้และความเจ็บปวด)

“Han is spoken yet unspoken We could be broke but never broken” (ฮันคือสิ่งที่เอ่ยออกมาได้ แต่พูดถึงไม่ได้ พวกเราอาจจะล้ม แต่ก็ไม่เคยแตกสลาย)

เนื้อเพลง ‘Hood’ (2015) ของ ‘ทาโบล’ (Tablo) แรปเปอร์ นักแต่งเพลง และนักเขียนชาวเกาหลี นับเป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนอิทธิพลของแนวคิดฮันว่าเกี่ยวพันกับชีวิตของชาวเกาหลีทุกคน 

ชาวเกาหลีเองเริ่มรู้จักและเรียนรู้ความหมายที่แท้จริงของคำคำนี้ ในช่วงทศวรรษ 1970 เมื่อฮันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้าง ‘ชาติ’ ตามหลักการของ ‘ลัทธิชาตินิยม’ ด้วยการนำ ‘ความงดงามในความโศกเศร้า’ ของยานางิมายกระดับใหม่ จากความเจ็บแค้นเศร้าโศกที่เคยเป็นเรื่อง ‘ส่วนตัว’ ให้กลายเป็นเรื่อง ‘ระดับชาติ’ และเป็น DNA ติดตัวของชาวเกาหลี อย่างที่นักกวี ‘โกอึน’ (Ko Un) กล่าวว่า

“We Koreans were born from the womb of Han and brought up in the womb of Han”

(พวกเราชาวเกาหลีถือกำเนิดจากครรภ์ของฮัน และเติบโตขึ้นในครรภ์ของฮัน)

ในช่วงแรก ๆ ฮันถูกใช้ทางการเมืองเพื่อส่งเสริม ‘เอกลักษณ์ของเกาหลี’ และ ‘ความสามัคคี’ ทางชาติพันธุ์ ผ่านความรู้สึกของ ‘ความทุกข์ร่วมกัน’ แต่พอเวลาผันผ่านเกาหลีเข้าสู่ยุคเผด็จการ ฮันก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการปลูกฝังให้ชนชั้นแรงงานพร้อม ‘ยอมรับต่อความยากลำบาก’ เพื่อเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาอุตสาหกรรม และกัดฟันสู้ทนต่อความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ชาวเกาหลีไม่มีทางที่จะหลีกหนีกับความโศกเศร้านั้นได้เลย  

นักวิชาการชาวเกาหลีหลายคนบอกตรงกันว่า แนวคิดเรื่องฮันได้ถูกสอนให้กับเด็ก ๆ เกาหลี ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดระดับลงในช่วงทศวรรษ 1990

แนวคิด ‘ฮัน’ ในวัฒนธรรมเกาหลี

แม้จะเป็นเพียงแนวคิดใหม่ที่เพิ่งถือกำเนิดในร้อยปีหลัง แต่ฮันก็สามารถยืนหยัดอยู่ในวัฒนธรรมเกาหลีได้อย่างกลมกลืน โดยเฉพาะการแสดงพื้นบ้าน ‘พันซอรี’ (Pansori) 

พันซอรีในฉบับดั้งเดิมมักเป็นเรื่องราวและบทเพลงที่จบลงด้วยความสุขสนุกสนาน แต่ทว่าพันซอรีในยุคหลังกลับจะมุ่งเน้นไปที่ความยากลำบากของตัวละครและบทเพลงที่ร้องด้วยความเดือดดาล โกรธขึ้ง และเศร้าสร้อย ด้วยการตัดตอนเอาเนื้อหาช่วงที่ยากลำบากที่สุดในนิทานที่มีอยู่เดิม มาปรับโฉมใหม่ให้ดรามาเรียกน้ำตานอง

นอกจากนี้ ยังมี ‘อารีรัง’ (Arirang) บทเพลงโด่งดังประจำชาติเกาหลี โดยใจความของบทเพลงนี้ พูดถึงคนรักที่ต้องพลักพรากจากกัน ก่อนชื่อเพลงจะถูกนำมาตั้งเป็นชื่อภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 1926 เล่าเรื่องของนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น ซึ่งมาพร้อมกับบรรยากาศโศกเศร้า คละเคล้ากับความรักที่มีต่อประเทศชาติ พร้อมกับความหวังที่จะได้เสรีภาพกลับคืนมา

ทำให้มีหลายคนมองว่า ฮัน อาจจะมีความหมายแฝงอย่าง ‘ความหวัง’ ซุกซ่อนไว้อยู่ก็เป็นได้

‘ฮัน’ ในโลกภาพยนตร์

คงต้องบอกว่า ‘Arirang’ (1926) นับเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ยุคบุกเบิกของเกาหลี ก่อนที่วงการจะเข้าสู่ยุคมืด เมื่อหนังทุกเรื่องจะถูกภาครัฐเซนเซอร์เนื้อหาและกำหนดจำนวนผลิตต่อปี แต่ภายหลังจาก ค.ศ. 1987 เป็นต้นมา หนังเกาหลีก็เริ่มเข้าที่เข้าทางและค้นพบแนวทางของตัวเอง ด้วยการดึง ‘ฮัน’ ที่ชาวญี่ปุ่นเคย ‘ตราหน้า’ เอาไว้ มาใช้เสียเลย

ผู้กำกับที่ปูทางให้กับหนังแนวฮันก็คงไม่พ้น ‘ปาร์ค ชาน-วุค’ (Park Chan-Wook) ผู้ให้กำเนิดไตรภาคแห่งการแก้แค้น (Vengeance Trilogy) จนเรียกได้ว่าเป็น Kill Bill ของฝั่งตะวันออก ประกอบไปด้วยภาพยนตร์ 3 เรื่อง ได้แก่ Sympathy for Mr. Vengeance (2002), Oldboy (2003) และ Lady Vengeance (2005) แม้ตอนแรกกระแสตอบรับอาจไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็นับเป็นการรันวงการ โดยเฉพาะเรื่องที่ 2 ที่ทำผลงานได้ดี จนฮอลลีวูดนำไปรีเมค ด้วยเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่โดนลักพาตัว และจับขังอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ จนนำมาสู่โศกนาฏกรรมชวนช็อก และการแก้แค้นเอาคืนอย่างสาสม 

แต่ทว่าภายหลังจากนั้น ก็ยังไม่มีภาพยนตร์แนวฮันที่เข้าตา จนกระทั่งฮันได้ถูกตีความใหม่อีกครั้ง ด้วยการผสานความเป็น ‘ตะวันออก’ และ ‘ตะวันตก’ และเน้นย้ำประเด็นที่เป็นสากลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรักต้องห้าม สัตว์ประหลาด ซอมบี้ เรื่อยไปจนถึงการวิพากษ์ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม พร้อมวิธีเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ ยกตัวอย่างเช่น Parasite (2019) และ Squid Game (2021) ที่โดดเด่นในเรื่องของความขัดแย้งและการเอาคืนทางชนชั้น ทำนองเดียวกันกับ The Host (2006) และ Train to Busan (2016) ที่นำเอาสัตว์ประหลาดและซอมบี้จากฮอลลีวูดมาอยู่ในฉากหนังเกาหลี ซึ่งตอบโจทย์ผู้ชมทั่วโลกที่กำลังเบื่อหน่ายกับภาพยนตร์แบบเดิม ๆ ได้อย่างพอดิบพอดี

‘ฮัน’ เบื้องหลังความหม่นเศร้ากับอารมณ์สีเทาในภาพยนตร์เกาหลี

เรื่องราวการเอาชีวิตรอดจากซอมบี้ใน Train to Busan นั้น ได้ชี้ให้เห็นถึงมุมมองผลประโยชน์ ‘ส่วนตน’ และ ‘ส่วนรวม’ ซึ่งการที่ตัวละครรวมตัวกันต่อกรกับซอมบี้ มากกว่ามี ‘ผู้รอด’ เพียงหนึ่งเดียว ก็เป็นสิ่งที่หาได้ยากในหนังฮอลลีวูด ภาพดังกล่าวจึงนับเป็นสุนทรียะของชาวตะวันออกอย่างแท้จริง ซึ่งแน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ลืมที่จะทิ้งอารมณ์โศกโศกาไว้ในตอนท้ายตามสไตล์ฮัน 

‘ฮัน’ และความทุกข์ของผู้หญิงที่ถูกกดทับ

นอกจากการตีความใหม่ ความหมายของฮันยังถูกขยายความเพิ่มออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการนำเอามาเทียบกับความโศกเศร้าที่ไม่มีวันเลือนหายของ ‘ผู้หญิง’

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็มีเรื่อง The Handmaiden (2016) ของปาร์ค ชาน-วุค (เจ้าเก่า) ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายขายดี เรื่อง Fingersmith (2002) ของ Sarah L. Waters โดยเปลี่ยนฉากหลังจากยุควิกตอเรียมาเป็นยุคที่เกาหลีอยู่ภายใต้อาณานิคมญี่ปุ่น ด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างนายหญิงและสาวใช้ที่ดำเนินเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ พร้อมกับทำให้เห็นว่า ต่อให้ผู้หญิงมีสถานะสูงส่งเพียงใดก็ไม่พ้นจากการถูกกดทับจากเพศชายที่มีทั้งฐานะและอำนาจมากกว่า พร้อมกับตะโกนกู่ก้องว่า แม้ ‘ไม่มีผู้ชาย’ ผู้หญิงก็สามารถ ‘ดูแลกันเอง’ ได้ จากการเอาคืนอย่างแสบสัน

แต่ภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องฮิตและมีเนื้อหาตรงประเด็นมากที่สุดคงต้องยกให้ Kim Ji-young: Born 1982 (2019) ที่เล่าความทุกข์ทนของผู้หญิงเกาหลีในทุกช่วงวัยได้อย่างมีชั้นเชิง จนผู้ชายเกาหลีต่างกระสับกระส่ายจนนั่งไม่ติดเก้าอี้

อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการฝั่งตะวันตกหลายคนให้ความเห็นว่าการตีความหมายของฮัน อาจจะดูเกินจริงไปสักหน่อย เพราะหากไล่ย้อนดูประวัติศาสตร์จริง ๆ จะพบว่าเกาหลีเองก็ไม่ได้ถูกต่างชาติรุกรานบ่อยครั้งถึงขนาดนั้น แถมยังเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพทางการเมือง และสงบสุขมาอย่างยาวนาน แม้จะอยู่ภายใต้การดูแลของจีนก็ตาม และยิ่งถ้าเทียบกับช่วงเวลาอยู่ภายใต้อาณานิคมญี่ปุ่นก็ถือเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็กินระยะเวลาถึง 35 ปี

ในทางกลับกัน ชาวเกาหลีส่วนใหญ่ยังมองว่า การตีความเช่นนั้นก็ดูใจร้ายเกินไป แม้นิยามความหมายของฮันจะเพิ่งถูกสร้างขึ้นมาก็จริง แต่ ‘ความเจ็บปวด’ ที่ชาวเกาหลีได้รับ ก็ยังคงเหลืออยู่ไม่เสื่อมคลาย บางส่วนต้องพลัดถิ่นระหกระเหินไปอาศัยอยู่ต่างบ้านต่างเมือง อย่างที่เราเห็นกันในเรื่อง Exhuma (2024) ภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องผีได้อย่างมีจังหวะจะโคน ก่อนจะตะโกนดัง ๆ ว่า ผีที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ‘ญี่ปุ่น’ นั่นเอง

ที่สำคัญที่สุด การที่เกาหลีนำเอาความโกรธแค้นและความเศร้าโศกมาขับเคลื่อนวัฒนธรรม จนฮิตติดตลาดไปทั่วโลกได้นั้น ก็เป็นการ ‘เอาคืน’ ได้อย่างแยบยลที่สุด

 

เรื่อง : รตินันท์ สินธวะรัตน์

อ้างอิง :

Arirang

Bjorn Boman. From Oldboy to Burning: Han in South Korean Film.

Han (cultural)

Iris Spoorman. Sorrowful Beauty : Cinema and Korean Han.

Jon Huer. Psychology of Korean Han. 

Koohan Paik-Mander. How the Korean Concept of ‘Han’ Teaches Solidarity.

Minsoo Kang. The problem with ‘han’ 한 恨

Sandra So Hee Chi Kim. Korean Han and the Postcolonial Afterlives of ‘The Beauty of Sorrow’