‘เว็บตูน’ (Webtoon) เบื้องหลังซีรีส์เรื่องดัง กับแผนส่งออก Soft Power เกาหลีสู่ระดับโลก

‘เว็บตูน’ (Webtoon) เบื้องหลังซีรีส์เรื่องดัง กับแผนส่งออก Soft Power เกาหลีสู่ระดับโลก

‘เว็บตูน’ (Webtoon) รูปแบบใหม่ของการอ่านการ์ตูน เบื้องหลังของซีรีส์เกาหลีเรื่องดัง และแผนการส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีสู่ระดับโลก

KEY

POINTS

  • ‘เว็บตูน’ ของเกาหลีกำลังเป็น ‘คลื่นลูกใหม่’ อันทรงอานุภาพ ทำหน้าที่ส่งออกวัฒนธรรม และเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเองผ่านภาพยนตร์และซีรีส์เรื่องดัง โดยมีรัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง และถูกบรรจุไว้ในแผนการสร้าง ‘Soft Power’ ในหัวข้อ K-Content
  • ในปี 2023 มีผู้อ่านเว็บตูนทั่วโลกรวมกันกว่า 85.6 ล้านคน ในขณะที่มูลค่าการตลาดในเกาหลีใต้สูงถึง 1.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดการณ์กันว่าในอีกไม่ถึง 10 ข้างหน้า มูลค่าตลาดเว็บตูนจะพุ่งสูงถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
  • เหตุผลที่ทำให้เว็บตูนถูกนำไปดัดแปลงเป็นซีรีส์และภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง มาจากเนื้อเรื่องในเว็บตูนที่ค่อนข้างมีความเป็นสากล และมีความหลากหลายของเรื่องราวให้เลือก อีกทั้งความรู้สึกนึกคิดของตัวละครก็มีความเป็นปัจจุบัน ซึ่งเชื่อว่ามาจากการสื่อสารสองทางระหว่างนักวาดกับผู้อ่านแบบเรียลไทม์ 
     

หากให้ลองนึกถึง ‘ซีรีส์’ และ ‘ภาพยนตร์’ เกาหลีเรื่องโปรดที่ชอบในช่วง 4 - 5 ปีให้หลังก็คงหนีไม่พ้น What’s Wrong With Secretary Kim? (2018), Itaewon Class (2020) ที่ช่วยผลักให้ ‘พัคซอจุน’ เป็นพระเอกระดับท็อป หรือจะเป็นซีรีส์โรแมนติกที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานความงามใน My ID is Gangnam Beauty (2018) และ True Beauty (2020) ตามด้วยซีรีส์แนวสัตว์ประหลาดชื่อดังที่เพิ่งจะออกซีซั่น 2 ไปหมาด ๆ อย่าง Sweet Home (2020) และซีรีส์ซอมบี้มัธยมที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดอย่าง All of Us Are Dead (2022) 

นอกจากนี้ ยังมีซีรีส์ที่สะท้อนด้านมืดของสังคมอย่าง Hell is other People (2019), Taxi Driver (2021) และ Mask Girl (2023) ร่วมด้วยซีรีส์พล็อตล้ำ ๆ ที่เล่าเรื่องราวของกลุ่มคนที่มีพลังพิเศษใน Moving (2023) และล่าสุดที่เพิ่งปิดฉากลงไปแบบเข้มข้นก็ขอยกให้ Marry My Husband (2024) 

จากผลงานที่ร่ายยาวมาทั้งหมด นับเป็นเพียง ‘ตัวอย่างส่วนน้อย’ ที่สร้างและดัดแปลงมากจาก ‘เว็บตูน’ (Webtoon) หรือ ‘การ์ตูนออนไลน์’ สัญชาติเกาหลี หาใช่ดัดแปลงมาจากนวนิยายขายดีระดับเบสต์เซลเลอร์อย่างที่หลายคนเข้าใจกันแต่อย่างใด 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่ ‘วัฒนธรรมเกาหลี’ กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมกระแสหลักของโลก ซึ่งไม่ได้มีแค่ อาหารเกาหลี เพลงเคป็อบ (K-Pop) ในท่าเต้นสุดมันส์ หรือซีรีส์เกาหลีเรื่องใหม่ที่กำลังฉายในเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) แต่เกาหลียังมีเว็บตูนที่กำลังเป็น ‘คลื่นลูกใหม่’ อันทรงอานุภาพที่ไม่ได้เข้ามาตีตลาดลบเหลี่ยมการ์ตูนญี่ปุ่นเท่านั้น หากเว็บตูนยังเป็นสินค้าชั้นดีที่ทำหน้าที่ส่งออกวัฒนธรรม และเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเองผ่านภาพยนตร์และซีรีส์เรื่องดัง 

โดยมีรัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง และถูกบรรจุไว้ในแผนการสร้าง ‘Soft Power’ ในหัวข้อ K-Content ซึ่งได้แก่ งานเพลง เกม ละคร ภาพยนตร์ และเว็บตูน อีกด้วย

เว็บตูน (Webtoon) แนวทางใหม่ของโลกการ์ตูน

สิ่งที่ทำให้เว็บตูนดูน่าสนใจ คงต้องบอกว่าอยู่ที่ต้นกำเนิดที่ไม่เหมือนการ์ตูนทางฝั่งญี่ปุ่นหรืออเมริกา เพราะเว็บตูนคือ ‘นวัตกรรม’ ของหนังสือการ์ตูนที่ไม่เพียงแต่ ‘พลิกโฉม’ ความสนุกจากการอ่านบนหน้ากระดาษมาเป็นหน้าจอสมาร์ทโฟนเท่านั้น หากแต่เป็นการ ‘สถาปนา’ การ์ตูนสัญชาติเกาหลีให้กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

ถึงจะเป็นแบบนั้น ประวัติความศาสตร์ความเป็นมาของเว็บตูนก็มาจากการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่ดี ขณะที่ญี่ปุ่นพยายามรักษาขนบการอ่านบนหน้ากระดาษอย่างเหนียวแน่น และส่งต่อความชอบนี้ให้กับคนทั่วโลก ชาวเกาหลีเองก็รักและชื่นชอบการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างหมดหัวใจ แต่ทว่า ในปี ค.ศ. 1997 เกาหลีเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน หรือ IMF ทำให้ชาวเกาหลีต่างก็รัดเข็มขัดกันมากยิ่งขึ้น พวกเขาจึงไม่สามารถซื้อหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นได้เหมือนเคย อีกทั้งยังต้องมีสำนึกรักชาติด้วยการสนับสนุนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และจากจุดนี้ทำให้เกิดธุรกิจ ‘ร้านหนังสือการ์ตูนเช่า’ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนรักการ์ตูน 

ทันทีที่โลกรู้จักกับอินเตอร์เน็ต การ์ตูนญี่ปุ่นได้มาถึงทางแยกสำคัญ เมื่อกลุ่มคนรักการ์ตูนก็พยายามหาวิธีใหม่ในการแบ่งปันความสนุกด้วยการตั้งกลุ่มสแกนหนังสือการ์ตูนเพื่อแลกกันอ่าน (ซึ่งในบ้านเราก็มีกลุ่มแบ่งหนังสืออ่านแบบนี้เช่นกัน และแน่นอนว่าผิดลิขสิทธิ์!) ซึ่งข้อดีก็คือ เราสามารถอ่านการ์ตูนเหล่านี้ได้ฟรี แต่คงต้องยอมรับว่าเวลาโหลดค่อนข้างช้า เพราะไฟล์ค่อนข้างใหญ่ แล้วไหนจะขนาดรูปภาพที่ดูจะขาด ๆ เกิน ๆ ถ้าเปิดอ่านในคอมพิวเตอร์อาจจะไม่ค่อยรู้สึกมากนัก แต่ถ้าอ่านในสมาร์ทโฟนแล้วล่ะก็ แน่นอนว่าการอ่านไฟล์หนังสือการ์ตูนสแกนก็ยุ่งเหยิงอยู่ไม่น้อย และนั่นก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการสร้าง ‘เว็บตูน’ นั่นเอง

มาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะเดาทางกันถูกว่า ‘เว็บตูน’ มาจากคำว่า ‘เว็บ’ (web) และ ‘การ์ตูน’ (cartoon) มาผสมรวมกัน แต่สำหรับชาวเกาหลีจะเรียกการ์ตูนของพวกเขาว่า ‘มันฮวา’ (manhwa) แม้แรกเริ่มเดิมทีมันฮวาจะไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่า ‘มังงะ’ (Manga) แต่ก็ถือว่ามีทิศทางการเติบโตที่ดีพอสมควร แต่แล้ววงการมันฮวาก็พบกับฝันร้าย โดยเฉพาะช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างที่กล่าวไปในข้างต้น การ์ตูนเกาหลีไม่สามารถขายชาวเกาหลีด้วยกันเองได้เลย อีกทั้งเนื้อเรื่องและลายเส้นมีความเอนเอียงเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่มาก สุดท้ายคนเกาหลีก็เลยเลือกอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นหรือมังงะมากกว่าอยู่ดี

แต่ในที่สุดการ์ตูนเกาหลีก็พบลู่ทางสดใสในช่วงทศวรรษ 2000 เมื่อมันฮวาในเวอร์ชันออนไลน์เกิดขึ้นจากเว็บไซต์ชื่อดังของเกาหลีอย่าง ‘ดาอึม’ (Daum) และ ‘เนเวอร์’ (Naver) ที่ได้ออก ‘เนเวอร์ เว็บตูน’ (Naver Webtoon) ทั้งสองค่ายใหญ่ได้กลายเป็นผู้บุกเบิกวงการการ์ตูนเกาหลีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 และ 2004 ตามลำดับ ตามมาด้วย ‘กาเกา’ (Kakao) ที่ออกมาเล่นในตลาดนี้ด้วยเช่นกัน โดยขยายบริการออกเป็นเว็บตูน และ ‘เว็บโนเวล’ (Webnovel) หรือ ‘นิยายออนไลน์’ ทำให้เว็บตูนทางฝั่งกาเกานอกจากจะมีจุดแข็งตรงที่มีการ์ตูนออริจินัลแล้ว ที่นี่ยังมีการ์ตูนที่วาดตามเรื่องราวในนิยายเรื่องดังอีกด้วย 

ในยุคแรก ๆ ทั้งดาอึมและเนเวอร์ต่างก็เลือกศิลปินนักวาดที่มีผลงานและเว็บไซต์ของตัวเองอยู่ในขณะนั้น อาทิ ‘KANG FULL’ ที่เดบิวต์ด้วยผลงาน Love Story (2004) ในดาอึม โดยมียอดผู้อ่านมากกว่า 60 ล้านวิว หรือจะเป็น ‘SNOWCAT’ ที่เผยแพร่คาแรกเตอร์เจ้าแมวสีขาวสุดน่ารักในผลงาน SNOWCAT, SNOWCAT (2001) รวมทั้ง ‘JUNG CHUL HYUN’ เจ้าของผลงาน MARINE BLUES (2001) และ ‘JO SEOK’ เจ้าของผลงานชื่อดัง SOUND OF HEART (2006 - 2020) เรื่องราววุ่น ๆ ของนักเขียนการ์ตูนสุดกวนบนเนเวอร์เว็บตูน ต่อเนื่องยาวนานกว่า 14 ปี คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,000 ตอน ซึ่งจากสถิติพบว่าในแต่ละตอนมีผู้อ่านมากกว่า 5 ล้านวิว แน่นอนว่าเรื่องนี้ได้ถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์เกาหลีถึงสองครั้งสองครา (อ่านได้ที่แอพลิเคชัน Webtoon และดูเวอร์ชันซีรีส์ได้ในเน็ตฟลิกซ์)

วิวัฒนาการของเว็บตูนสามารถแบ่งได้เป็น 4 รุ่นด้วยกัน เริ่มด้วยรุ่น 0 หรือ ‘Generation Zero’ คือ ช่วงเวลาที่เว็บตูนสร้างขึ้นโดยการสแกนการ์ตูนต้นฉบับและอัพโหลดไปยังอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ต่างจากการสแกนหนังสือแบ่งกันอ่านในยุคก่อนหน้า จากนั้นไม่นานรุ่นที่ 1 ก็ถือกำเนิดขึ้น ด้วยการใช้งานเอฟเฟ็กต์ภาพเคลื่อนไหวผ่านโปรแกรมแฟลช (Flash) ต่อมาในรุ่นที่ 2 ก็เพิ่มฟีทเจอร์ ‘การโหลดล่วงหน้า’ ให้ผู้อ่านสามารถโหลดไฟล์ไว้ก่อนเพื่อการอ่านอย่างลื่นไหล และท้ายที่สุดกับรุ่นที่ 3 เมื่อความเร็วอินเตอร์เน็ตเพียงพอ เว็บตูนก็สามารถเพิ่มเอฟเฟ็กต์ใหม่ ๆ เช่นเสียงประกอบและเสียงเพลงในการเพิ่มอรรถรสในการอ่าน

แน่นอนว่าความโด่งดังของเว็บตูนได้ ‘แจ้งเกิด’ ศิลปินนักวาดชื่อดังหลายต่อหลายคน จนอาชีพนี้กลายเป็น ‘อาชีพที่ใฝ่ฝัน’ ของเด็กเกาหลีรุ่นหลัง ที่ต่างพากันมาแสดงฝีมือในแพลตฟอร์มเว็บตูน ด้วยการโหลดการ์ตูนของตัวเองลงบนแพลตฟอร์ม และเมื่อได้รับความนิยมจากผู้อ่านเพียงพอ หรือได้รับเลือกจากโปรดิวเซอร์ก็จะมีโอกาสเผยแพร่ผลงานของตัวเองลงหน้าหลัก และเป็นผลงานออริจินัลได้รับรายได้จากเว็บตูนอย่างเป็นทางการ โดยจากการสำรวจในปี 2023 พบว่ามีนักวาดเว็บตูนชาวเกาหลีที่ได้รับการรับรองกว่า 9,326 คน จากครีเอเตอร์ทั้งหมด 9 แสนคนจากทั่วโลก ซึ่งแต่ละคนมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 56.7 ล้านวอน หรือราว ๆ 1.59 ล้านบาทต่อปี

ข้อสำคัญที่โดนใจสุด ๆ สำหรับผู้อ่านยุคใหม่ก็คือ การ์ตูนเหล่านี้เป็นของ ‘ฟรี’ (ถ้าทนรอได้) แถมยังสะดวกสบายเข้าไปอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องรีบวิ่งหน้าตั้งไปหน้าแผงหนังสือเพราะกลัวจะถูกจับจองไปจนหมด ที่สำคัญการ์ตูนแบบใหม่นี้ก็เป็นมิตรกับคนอ่าน ด้วยรูปภาพแนวตั้งเหมาะกับการเลื่อนอ่านในโทรศัพท์ระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ อย่างเช่น การอ่านบนรถไฟ แถมยังมาพร้อมสีสันยังสดใสแตกต่างจากรูปภาพขาวดำในสมัยก่อน

มูลค่าการตลาดที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

‘Hong Nan-ji’ อาจารย์ประจำสาขาการ์ตูนเกาหลี (School of Manhwa Contents) แห่งวิทยาลัยชุงกัง (ChungKang College of Cultural Industries) ให้สัมภาษณ์กับเดอะโคเรียเฮรัลด์ (The Korea Herald) ในปี 2020 ไว้ว่า 

“ทศวรรษ 2000 ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมการอ่านการ์ตูนจากแผ่นกระดาษมาสู่หน้าจอออนไลน์บนสมาร์ทโฟน ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นช่วงเวลาที่น่ายกย่อง เพราะทั้งตัวแพลตฟอร์มเอง และตัวศิลปินนักวาดเว็บตูนต่างก็พยายามทดลองและท้าทายตัวเองในการปรับการ์ตูนให้เข้ากับความต้องการของผู้อ่าน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้ลงตัวมากที่สุด”

นอกจากนี้ อาจารย์ท่านนี้ยังกล่าวว่า การถือกำเนิดเว็บตูนในเว็บไซต์ของดาอึมและเนเวอร์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะในขณะนั้นทั้งสองยังเป็นบริษัทใหม่ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจของเกาหลีอย่างเช่นในตอนนี้ การเข้ามาของทั้งสองนับเป็นการแหกกฎเกณฑ์ของการ์ตูนแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังพัฒนาฟีทเจอร์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเลื่อนอ่านแนวตั้ง เพลงประกอบในเนื้อเรื่อง ไปจนถึงเอฟเฟ็กต์แอนิเมชันตอนเปิดเรื่อง หรือในระหว่างเรื่อง (โดยเฉพาะการ์ตูนหมวดสยองขวัญที่มักมาทั้งภาพและเสียง) ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นมอบประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้อ่านนั่นเอง

ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา เนเวอร์เว็บตูนเริ่มปรับกลยุทธ์ใหม่ด้วยการเปิดขายการ์ตูนออนไลน์เพื่อให้ส่วนแบ่งกับนักเขียนมากขึ้นนอกเหนือจากค่าโฆษณา พร้อม ๆ กับการประกาศว่าเนเวอร์เว็บตูนจะขยายตลาดไปยังต่างประเทศทั่วโลก ทั้งฝั่งยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทย ขณะที่ 2 ค่ายที่เหลืออย่างดาอึมและกาเกาก็รวมตัวกันในชื่อ ‘ดาอึมกาเกา’ (Daum Kakao) โดยดาอึมจะเน้นที่เว็บตูนแบบออริจินัล และกาเกาจะเน้นที่เว็บโนเวล อีกทั้งยังประกาศให้ผู้อ่านสามารถอ่านการ์ตูนกันฟรี ๆ ไปเลย แต่ต้องมีระยะเวลารอ ด้วยการทยอยปล่อยออกมาทีละตอน ๆ และทำตามแผนของเนเวอร์เว็บตูนมาแบบกระชั้นชิด

จากนั้นตลาดเว็บตูนก็มีแนวโน้มเจริญเติบโตอย่างมีนัยสำคัญภายหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 เมื่อคนทั่วโลกต้องอยู่ในสภาวะล็อคดาวน์ และออกจากบ้านพักไปไหนไม่ได้ เว็บตูนจึงกลายเป็นที่พึ่งพิงใจ อ้างอิงจากข้อมูลของเนเวอร์เว็บตูนในปี 2020 พบว่าจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนทั่วโลกเกิน 62 ล้านคนในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นจาก 60 ล้านคนในปีที่แล้ว หรือพูดให้เห็นภาพก็คือ เพียงระยะเวลาแค่ 3 เดือน เว็บตูนมีผู้อ่านหน้าใหม่เข้ามามากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งอัตรการเติบโตดังกล่าวนับว่าไม่เกินจริงแต่อย่างใด แถมยังสอดคล้องกับรายงานล่าสุดเมื่อเดือนกรกฏาคมปี 2023 พบว่าผู้ใช้ทั่วโลกของเนเวอร์เว็บตูนมียอดทะลุกว่า 85.6 ล้านคนไปแล้ว ซึ่งน่าจะกำลังขยับเข้าสู่ 100 ล้านคน เร็ว ๆ นี้ 

โดยผู้ใช้หรือผู้อ่านส่วนใหญ่ของเว็บตูนจะมีอายุประมาณ 20 - 29 ปี โดยคิดเป็น 40% ของผู้อ่านทั้งหมด ซึ่งมักจะเข้ามาอ่านเว็บตูนแบบฟรี ๆ ส่วนสายทุ่มก็จะเป็นนักอ่านวัยทำงานอายุ 30 - 39 ปี แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นมูลค่าการตลาดของเว็บตูนในเกาหลีใต้ก็สูงถึง 1.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 4 หมื่นล้านบาทในปี 2023 โดยเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 112.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่าตลาดเว็บตูนกำลังเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 15.23% และภายในปี 2033 ตลาดเว็บตูนเฉพาะที่เกาหลีใต้จะมีมูลค่าสูงถึง 4.50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

สำหรับรายได้ของเว็บตูนนั้นมาจาก การชำระเงินของผู้อ่าน การโฆษณา การขายสินค้า และการขายสิทธิ์อนุญาตสำหรับการดัดแปลงภาพยนตร์และโทรทัศน์ แต่ทว่าตลาดในประเทศไม่สามารถเติบโตได้ตลอดไป ทำให้ทั้งเนเวอร์และกาเกาจึงต่างก็ลงทุนอย่างหนักหน่วง เพื่อการเติบโตในตลาดระดับสากล 

จาก ‘จอเล็ก’ ไปสู่ ‘จอยักษ์’

ถ้ามองผ่านเลนส์ฟากฝั่งฮอลลีวูดในแง่ของการนำการ์ตูนนำไปสร้างเป็นหนังก็คงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเราได้เห็นตัวการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ทั้งจากดีซีคอมิกส์ (DC Comics) และมาร์เวล คอมิกส์ (Marvel Comics) ออกมาโลดแล่นบนแผ่นฟิลม์กันมาอย่างยาวนาน แต่การเติบโตของเว็บตูนนับเป็นอะไรที่ค่อนข้างพิเศษ และพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งเว็บตูนได้รับความสนใจจากบรรดาผู้ให้บริการสตรีมมิงอย่างเน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์พลัส (Disney+) และ AppleTV ก็ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เว็บตูนได้รับความนิยมแบบก้าวกระโดด

เว็บตูนเรื่องแรกที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ก็ไม่ใช่ของใครอื่นนอกจาก KANG FULL กับ Apartment (2006) ที่วาดขึ้นในปี 2004 ตามมาด้วยเรื่อง Moss (2010) ผลงานเรื่องดังของ ‘YOON TAE-HO’ ในปี 2007 ที่ขึ้นแท่นว่ามียอดอ่านสูงสุดถึง 3.4 ล้านวิว ณ ขณะนั้น หรือจะเป็นเว็บตูนเรื่อง Covertness (2010) ของ ‘HUN’ ที่ได้กลายเป็นภาพยนตร์ในชื่อ Secretly, Greatly (2013) ที่ช่วยแจ้งเกิดให้ ‘คิมซูฮยอน’ เป็นหนึ่งในนักแสดงที่น่าจับตามองของเกาหลี แต่เรื่องที่โด่งดังสุด ๆ ก็คงต้องยกให้กับ Along with the God (2017) ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดจนสร้างมาแล้วถึง 3 ภาค ก็ดัดแปลงมาจากผลงานเว็บตูนเรื่องดังของ ‘JOO HO-MIN’ ที่วาดในปี 2010 โดยมีผู้อ่านมากกว่า 17 ล้านวิว

สำหรับฟากฝั่งซีรีส์ เรื่องแรกที่กรุยทางให้คอละครได้รู้จักกับเว็บตูนก็คือเรื่อง Misaeng (2014) ผลงานของ ‘YOON TAE-HO’ ที่เปิดตัวในปี 2012 อีกเช่นกัน ด้วยยอดคนอ่านกว่า 1 พันล้านวิว โดยเล่าเรื่องราวชีวิตอันไม่สมบูรณ์แบบของหนุ่มออฟฟิศที่ค้นหาฝัน ซึ่งผลงานซีรีส์ก็ได้รับกระแสตอบรับเป็นปรากฏการณ์ แถมยังกวาดรางวัลต่าง ๆ มากมาย และทำให้เว็บตูนเริ่มได้รับความสนใจจากผู้สร้างซีรีส์ในประเทศ ซีรีส์ที่ดัดแปลงจากเว็บตูนเริ่มทยอยออกมาให้ชมกันเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น Cheese In The Trap (2016) หรือจะเป็น Lucky Romance (2016) ตามมาด้วยซีรีส์โรแมนติกระหว่างผู้บริหารและเลขาสาวเรื่องฮิต What’s Wrong With Secretary Kim? (2018) และ My ID is Gangnam Beauty (2018) ที่เรื่องหลังไทยได้นำมาทำเวอร์ชั่นรีเมคโดย GMMTV ไปเป็นที่เรียบร้อย

ต่อมาในปี 2019 คงต้องบอกว่าเป็น ‘ปีทองของเว็บตูน’ อย่างแท้จริง เมื่อเน็ตฟลิกซ์ได้เลือกเรื่องราวจากเว็บตูนนำมาทำซีรีส์ออริจินอลเป็นครั้งแรก โดยมีเรื่อง Love Alarm (2019) เป็นใบเบิกทาง ก่อนจะตามด้วย Kingdom (2019) ที่กลายเป็นกระแสการรอคอยมาจนถึงตอนนี้ ซึ่งเรื่องราวแปลกใหม่ของซอมบี้ในยุคโชซอนก็มาจากผลงานเว็บตูนของ ‘KIM EUN-HEE’ จากเรื่อง The Kingdom of the Gods 

จากนั้นเน็ตฟลิกซ์ก็ตอกย้ำความโด่งดังของเว็บตูนเข้าไปอีกด้วยซีรีส์เรื่องดังอีกมากมาย อาทิ Itaewon Class (2020) ที่ยังคงขึ้นแท่นซีรีส์เรตติ้งสูงสุดตลอดกาล ตามด้วย Sweet Home (2020) 2 ซีซัน, The Uncanny Counter (2020) 2 ซีซัน, Hellbound (2021), D.P. (2021) Business Proposal (2022) และ All of Us Are Dead (2022) ที่ครองอันดับต้น ๆ ของซีรีส์ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษของเน็ตฟลิกซ์ทั่วโลกนานถึง 5 สัปดาห์ ขณะที่ See You in My 19th Life (2023) และ Bloodhounds (2023) ก็สามารถติดอันดับท็อป 10 ของเน็ตฟลิกซ์ทั่วโลกได้นานถึง 2 สัปดาห์

‘Carol Choi’ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์เนื้อหาต้นฉบับประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของดิสนีย์พลัส (Disney’s head of Original Content Strategy) กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้เว็บตูนแตกต่างจากมังงะของญี่ปุ่นก็คือ การที่ครีเอเตอร์หรือผู้วาดสามารถสื่อสารกับแฟนคลับหรือนักอ่านของพวกเขาได้โดยตรงและทันที ทำให้นักวาดส่วนใหญ่เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนาเรื่องราวของเขาให้สมจริงยิ่งขึ้น และนั่นก็ทำให้เรื่องราวในเว็บตูนสามารถนำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์หรือภาพยนตร์ได้ง่ายและลื่นไหลกว่ามังงะ หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ เนื้อเรื่องในเว็บตูนค่อนข้างมีความเป็นสากล มีความหลากหลายของเรื่องราวตั้งแต่โรแมนติก คอเมดี แอคชัน สืบสวนสอบสวน ไซไฟ LGBT ไปจนถึงเรื่องราวเหนือธรรมชาติและสัตว์ประหลาด อีกทั้งความรู้สึกนึกคิดของตัวละครมีความเป็นปัจจุบัน ซึ่งเชื่อกันว่ามาจากการสื่อสารสองทางระหว่างครีเอเตอร์หรือนักวาดกับผู้อ่านที่เป็นแฟนคลับ

หากจะบอกว่าอีกหนึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้เว็บตูนถูกนำมาดัดแปลงอยู่บ่อยครั้งก็คือ การการันตีผู้ชมที่เป็นฐานแฟนคลับ ซึ่งไม่ใช่แค่ในเฉพาะเกาหลีเท่านั้น เพราะเว็บตูนได้ถูกแปลออกมาหลากหลายภาษา ดังนั้นถ้าจะบอกว่าแฟนคลับของเว็บตูนมีอยู่ทั่วโลกก็คงไม่ผิดนัก อย่างเช่นเรื่อง Moon Man (2022) ภาพยนตร์ไซไฟสัญชาติจีนที่เล่าเรื่องราวของชายที่ติดอยู่บนดวงจันทร์และพยายามหาทางกลับโลกก็มาจากเว็บตูนของศิลปิน ‘CHO SEOK’ ขณะที่ทางญี่ปุ่นก็เลือกเว็บตูนเรื่องฮิตอย่าง Tower Of God, Noblesse และ God Of High School ไปทำเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของละครเกาหลีที่ดัดแปลงมาจากเว็บตูนยอดนิยมก็ทำให้มีผู้อ่านเว็บตูนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นชัดก็เรื่อง Moving (2023) ซีรีส์จากดิสนีย์พลัส ผลงานของนักวาด ‘KANG FULL’ ที่ได้นักแสดงแนวหน้าอย่าง ‘โจอินซอง’ และ ‘ฮันฮโยจู’ มารับบทกลุ่มคนที่พลังพิเศษ กลับเป็นแรงส่งให้เว็บตูนเรื่องนี้กลับมาโด่งดังอีกครั้ง และมียอดเข้มชมในกาเกาเว็บตูนเพิ่มขึ้นถึง 22 เท่าเป็นประวัติการณ์ จนอาจจะกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาระหว่างเว็บตูนและซีรีส์น่าจะแยกกันไม่ออกเสียแล้ว

รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเว็บตูน

แน่นอนว่าปรากฏการณ์ที่เน็ตฟลิกซ์ดัดแปลงเว็บตูนจนโด่งดังทั่วโลกล้วนอยู่ในสายตาของรัฐบาลเกาหลีมาโดยตลอด และล่าสุดปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ‘ยูอินชอน’ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมตั้งเป้าที่จะเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมการ์ตูนและเว็บตูนของประเทศให้อยู่ที่ 2.9 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1 แสนล้านบาทภายในปี 2027

ทั้งนี้ รัฐมนตรียูอินชอนมองว่า ตอนนี้เว็บตูนได้กลายเป็นแหล่งกำเนิดของคอนเทนต์หลากหลายแนวทั้งซีรีส์ ภาพยนตร์​ เกม และสินค้าของที่ระลึกต่าง ๆ ทำให้รัฐบาลเกาหลีมองเห็นโอกาสที่จะส่งเสริมศักยภาพเว็บตูนให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วโลกมากยิ่งขึ้น และเตรียมความพร้อมในการจัดเทศกาลการ์ตูนและเว็บตูนระดับนานาชาติ โดยมีเป้าหมายหลักที่ตลาดญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาในปลายปีนี้ ควบคู่ไปกับยกระดับเทศกาลนี้ให้เทียบเท่ากับเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 

นอกจากนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนการสร้างโรงเรียนเฉพาะทางด้วยปแผนระยะสั้น 3 ปี โดยได้แรงบันดาลใจจากโมเดลที่ประสบความสำเร็จมาแล้วอย่างสถาบันศิลปะภาพยนตร์เกาหลี (Korean Academy of Film Arts) และสถาบันเกมเกาหลี (Korean Game Institute) ซึ่งบ่มเพาะผู้มีความสามารถเฉพาะด้านในสาขาภาพยนตร์และเกม ซึ่งความคาดหวังลำดับต่อไปของรัฐบาลเกาหลีก็คือ การผลิตบุคลากรที่มีความชำนาญด้านการ์ตูนที่จะผลิตผลงานใหม่ ๆ ออกมาในอนาคตอันใกล้นี้นั่นเอง

 

เรื่อง : รตินันท์ สินธวะรัตน์

อ้างอิง :

A brief history of webtoons

Choi Ji-won. K-webtoons become mainstream, go global

Desi Tzoneva. Korean Webtoons and Their Growing Popularity.

Gov't to foster 'Netflix of webtoons' in Korea

Liz Shackleton. After BTS & ‘Squid Game’, How Webtoons Are Becoming The Latest Korean Cultural Export To Have A Global Impact

Shawn S. Lealos and Gabriela Silva. The Best K-Dramas Based On Webtoons, Ranked

Webtoon Industry in South Korea - statistics & facts

Webtoons Market in South Korea: Expanding into Netflix series, games, and beyond