“มหาราช” (Maharaj) กับการอิงประวัติศาสตร์ของอินเดียในอีกแง่มุม

“มหาราช” (Maharaj) กับการอิงประวัติศาสตร์ของอินเดียในอีกแง่มุม

ดูหนัง “มหาราช” (Maharaj) แล้ว (อย่าลืม) ย้อนดู “ประวัติศาสตร์” เมื่อนักเขียนคนหนึ่งลุกขึ้นต่อต้านอำนาจเทพเจ้า & การปฏิรูปจากเบื้องล่าง จุดกำเนิดของสันติวิธี และสังคมอินเดียก่อนเป็นอาณานิคมอังกฤษ

KEY

POINTS

  • มหาราช (Maharaj) ภาพยนตร์จากบอลลีวูด ที่ตีแผ่อีกมุมหนึ่งของประวัติศาสตร์อินเดีย
  • ยุคก่อนการล่าอาณานิคมอังกฤษในอินเดีย 'ศาสนา' มีส่วนอย่างมากที่ทำให้การปรองดองในประเทศนั้นแตกสลาย

“มหาราช” (Maharaj) ภาพยนตร์กึ่งสารคดีฉายทางช่อง Netflix สร้างจากเค้าเรื่องจริงในประวัติศาสตร์อินเดีย กำกับการแสดงโดย สิทธารถ มัลโหตรา (Sidharth Malhotra) เนื่องจากหนังมีเนื้อหาพาดพิงถึงอดีตผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนาฮินดู จึงถูกแบนในอินเดีย เพราะหาว่าแต่งเติมเสริมเรื่องเกินจริง แต่กระแสแบนไม่เป็นผล หนังเรื่องนี้กลับขึ้นท็อปติดอันดับ 1 มียอดคนดูสูงสุดต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มฉาย

โดยรวมแม้จะเป็นภาพยนตร์กึ่งสารคดีแต่ก็ดำเนินเรื่องได้สนุก มีฉากเต้นรำวิ่งรอบเพียงฉากเดียวในช่วงเริ่มเรื่องเท่านั้น ส่วนเหตุผลที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมในอินเดียแบนหนังเรื่องนี้ ตามเหตุผลของพวกเขาพูดไว้ว่า

เรื่องราวเนื้อหาในยุคสมัยที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมในอินเดียเชื่อตามข้อมูลของนักประวัติศาสตร์ชาตินิยมในอดีต ที่มักเสนอภาพสังคมอินเดียก่อนยุค “บริติชราช” (British Raj) เป็นสังคมสวยหรู ทำนองว่า “เราอยู่ของเรามาดี ๆ เขาก็มายึดเอาไปเป็นเมืองขึ้น” ซึ่งก็เป็นเนื้อหาปกติที่งานประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Plot in historiography) ตามแนวชาตินิยมหลายประเทศนำเสนอกันแบบนั้น ในการต่อต้านลัทธิอาณานิคม พวกเขามักจะตัดเรื่องราวปัญหาภายในก่อนการเข้ามายึดครองของเจ้าอาณานิคมออกไป

โดยเฉพาะอินเดีย ความเน่าเฟะของระบบวรรณะ การแบ่งชนชั้น เจ้าขุนมูลนาย ความเหลื่อมล้ำ ระบบยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ชนชั้นนำที่หมกมุ่นแต่กับการแสวงหาอำนาจและความสุขส่วนตัว ความลำบากยากจนของคนส่วนใหญ่ ฯลฯ ล้วนแต่ถูกละเลย และนั่นก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนชาวอินเดียจำนวนมากหันไปสนับสนุนการเข้ามาของอังกฤษ ทำให้อังกฤษมีความชอบธรรมและมั่นใจในการปฏิรูปสังคมอินเดียสู่สมัยใหม่

“มหาราช” เป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาโต้แย้งกับมุมมองประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมของอินเดียโดยตรง โดยการหยิบยกเอาสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ชาตินิยมในอดีตละเลยหรือจงใจตัดออกไป มานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ถึงแม้ว่าจะไม่มีการระบุที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้างหนังเรื่องนี้ออกมาก็ตาม

“มหาราช” (Maharaj) กับการอิงประวัติศาสตร์ของอินเดียในอีกแง่มุม

โดยไม่มีการอ้างอิงผลงานประวัติศาสตร์นิพนธ์สำนักใด ทว่าก็สามารถอนุมานได้อย่างกว้าง ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ให้แรงบันดาลใจแก่การสร้างหนังเรื่องนี้เป็น “ประวัติศาสตร์นอกกระแส” ซึ่งมีอยู่หลายท่าน สืบเนื่องจากอินเดียเป็นสังคมประเทศที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองในอดีตกาล จึงทำให้สร้างนักคิดนักประวัติศาสตร์ขึ้นมามากมายตั้งแต่ยุคก่อน 

/บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง ‘มหาราช’ (Maharaj) 2024/

เมื่อ “มหาราช” เจอกับ “นักปฏิรูปสังคม”

ที่หนังเรื่องนี้ถูกหาว่าไม่เป็นเรื่องจริงตามประวัติศาสตร์นั้น อาจเป็นเพราะแค่ไม่ตรงตามประวัติศาสตร์ฉบับที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมในอินเดียเชื่อ โดยส่วนที่เสริมเติมเข้าไปนั่นเพียงเพิ่มอรรถรสความบันเทิงตามแบบฉบับของภาพยนตร์ที่ต้องมีบ้างเป็นธรรมดา แต่ไม่ได้ผิดไปจากโครงเรื่องของประวัติศาสตร์นิพนธ์ ที่มีการกลั่นกรองจากอีกฉบับหนึ่ง

ในซีนหนึ่งของภาพยนตร์ได้หยิบจับเอาคดีความสำคัญเมื่อ ค.ศ.1850 ซึ่งเป็นคดีพิพาทกันระหว่างผู้นำทางศาสนากับนักเขียนคนหนึ่ง (บางท่านบอก “นักหนังสือพิมพ์”) เมื่อ “มหาราช” ได้ดำเนินการฟ้องร้องนักเขียนเจ้าของบทความที่เปิดโปงว่า เขาประพฤติผิดโดยใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างในการล่วงละเมิดทางเพศเด็กสาวหลายคน อีกทั้งยังให้ผู้ศรัทธาสามารถจ่ายเงินเพื่อได้สิทธิรับชมพิธีดังกล่าวนี้ด้วย ขณะที่ตัวเด็กสาวและครอบครัวของนางต่างก็ยินยอม เพราะเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

ภาพยนตร์ได้เริ่มต้นขึ้นโดยเล่าเรื่องแบบนับย้อนกลับไปใน ค.ศ.1832 ปีที่นักเขียนคนที่ถูกฟ้องร้องได้เกิดลืมตาดูโลกครั้งแรกที่เมืองคุตราช เมื่อมารดาเขาเสียชีวิตก็ได้ย้ายมาอยู่กับป้าและลุงที่เมืองบอมเบย์ เขาถือว่าเป็นเด็กหนุ่มที่มีอุปนิสัยชอบตั้งคำถามสอดคล้องกับเข้ารับเรียนการศึกษาแบบตะวันตก เขามักจะตั้งคำถาม เช่น “ทำไมต้องนำสิ่งของไปเผาไฟ แสดงว่าไฟรู้ว่าสวรรค์อยู่ที่ไหนใช่ไหม?” “ทำไมเราต้องไปวัดและสวดมนต์กันเป็นประจำ?” “ทำไมป้าและน้าถึงต้องคลุมหน้า?” ฯลฯ

จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้ถูกครอบครัวจับหมั้นหมายกับเด็กสาวคนหนึ่งชื่อว่า “คิโชรี” เนื้อเรื่องดำเนินมาอย่างราบเรียบไม่มีอะไร จนวันหนึ่งในเทศกาลสาดสี (ตรงกับช่วงสงกรานต์ของไทย) “คิโชรี” คนรักของเขาได้ถูกเลือกจาก “มหาราช” ให้เข้าพิธีศักดิ์สิทธิ์ และเขาพยายามเข้าไปขัดขวางพิธีกรรมนั้น แต่แล้วคู่หมั้นกลับไล่เขาให้ออกไป สิ่งนั้นทำให้เขารู้สึกว่ารับไม่ได้กับเรื่องที่เกิดขึ้นจึงตัดสินใจถอนหมั้นเธอ

แต่สาเหตุที่ทำให้ชายหนุ่มนักเขียนคนนั้นโกรธแค้นต่อผู้นำศาสนาและเกลียดชังประเพณีความเชื่อของอินเดียเวลานั้น เกิดขึ้นหลังจากที่เขาตระหนักได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเธอ เป็นเพราะประเพณีความเชื่อต่างหากที่ผิด เขาจึงคิดคืนดีและขอให้เธออภัย แต่ก็สายไปแล้ว เพราะคิโชรี ได้ตัดสินใจกระโดดน้ำลงบ่อฆ่าตัวตาย

ต่อมาเขาจึงอุทิศตนเป็นนักปฏิรูปสังคมอินเดีย ผ่านการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อไม่มีหนังสือที่ไหนตีพิมพ์บทความให้ เขาจึงเปิดสำนักพิมพ์และออกหนังสือของตนเอง กระทั่งเป็นชนวนนำไปสู่คดีความ ผลการต่อสู้ในชั้นศาลและการพิจารณาคดี เขาเป็นฝ่ายชนะ มหาราชเป็นฝ่ายแพ้ คดีนี้ได้สร้างผลสะเทือนจนเกิดบรรทัดฐานใหม่ทำให้ “มหาราช” ต้องอยู่ใต้กฎหมายบ้านเมือง ความประพฤติของ “มหาราช” ก่อนหน้านั้นที่เคยเชื่อกันว่า “มหาราช” ทำอะไรก็ไม่ผิด กลับเป็นเรื่องที่ทำให้ทุกคนต้องฉุดคิดใหม่ และประชาชนอาจจะฟ้องร้องเอาผิดกับ “มหาราช” ได้ทุกเมื่อ

ทั้งนี้ “มหาราช” ตัวจริงที่ถูกพาดพิงถึงในเรื่องตามประวัติศาสตร์ก็คือ K.M. Munshi หรือชื่อในเรื่องคือ “ยาฑุนาถมหาราช” (เจเจ) (Jadunath Maharaj) ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวไวษณพนิกาย เมืองบอมเบย์ เจ้าอาราม (ฮาเวลี) ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองบอมเบย์ ส่วนพระเอกก็คือ “คาร์ซานดาส มัลใจ” (Karsandas Mulji) ปัญญาชนนักปฏิรูปสังคมคนสำคัญของอินเดียในช่วงหัวเลี้ยวก่อนและหลังยุคอาณานิคมอังกฤษ (บริติชราช) 

“มหาราช” (Maharaj) กับการอิงประวัติศาสตร์ของอินเดียในอีกแง่มุม

“มหาราช” ไม่ได้สูงส่งอย่างที่ไทยเข้าใจ ความเห็นจากรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้ง 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์

ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า คำว่า “มหาราช” ในภาพยนตร์เรื่องนี้ มีความหมายแตกต่างจากคำเดียวกันที่ใช้ในสังคมไทย “มหาราช” เพิ่งมีการใช้เป็นสร้อยพระนามพระมหากษัตริย์ไทยบางพระองค์ที่มีเกียรติประวัติโดดเด่นกว่ารัชกาลอื่น

คำว่า “มหาราช” เมื่อปีที่ไทยจัดงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้เสนอการคัดเลือกพระมหากษัตริย์ไทยบางพระองค์ยกย่องขึ้นเป็น “มหาราช” เมื่อพ.ศ.2525 (ไทยเพิ่งจะมี “มหาราช” พ่วงท้ายเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์บางพระองค์ เช่น “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”, “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช”, “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และ “พระปิยมหาราช”

ในครั้งนั้น รัฐบุรุษอาวุโส ‘ปรีดี พนมยงค์’ ในบั้นปลายขณะลี้ภัยการเมืองไปพำนักอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้แสดงความไม่เห็นด้วย จึงเขียนบทความเรื่อง “มหาราชและรัตนโกสินทร์” มาเผยแพร่ เนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์นักวิชาการอนุรักษ์นิยมสมัยนั้นอย่างรุนแรงว่า กำลังนำเอาคำที่ไม่เป็นเกียรติยศในต่างประเทศ มาเฉลิมพระนามให้พระมหากษัตริย์ไทย เพราะคำว่า “มหาราช” (สำหรับอินเดีย) หรือ “The great” (ในยุโรป) ไม่ใช่คำยกย่องเป็น “วีรบุรุษแห่งชาติ” หากแต่แค่เป็นคำบ่งชี้ถึงอำนาจที่มากล้นเกินปกติของกษัตริย์บางองค์เท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนั้นกษัตริย์อินเดียและยุโรปที่มีชื่อ “มหาราช” หรือ “The great” จึงล้วนแล้วแต่มีเรื่องการประพฤติผิดไม่เหมาะสมต่าง ๆ นานา เพราะใช้อำนาจเกินขอบเขต ผู้นำอินเดียในยุคก่อนอาณานิคมเป็นทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้นำทางโลก ซึ่งดูเหมือนว่าความเห็นของปรีดี พนมยงค์ จะสอดคล้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความหมายของคำว่า “มหาราช” ในสังคมไทยกับในอินเดียและยุโรป แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยหลังจากพ.ศ. 2525 บางกรณีได้มีผู้รู้ทางอักษรศาสตร์เสนอให้ใช้คำเรียกผู้นำทางจิตวิญญาณของพราหมณ์อินเดียว่า “มหาราชา” แต่ความหมายก็ไม่ได้ต่างกัน และคำว่า “มหาราช” ในภาพยนตร์เรื่องนี้ภาพลักษณ์และบทบาทจะเน้นไปในทางผู้นำทางจิตวิญญาณเป็นหลัก            

 

คาร์ซานดาส กับ ขบวนการปฏิรูปสังคมจากเบื้องล่าง

ในช่วงทศวรรษ 1830-1850 อันเป็นฉากท้องเรื่อง เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์หัวเลี้ยวหัวต่อของอินเดีย เพราะเป็น 20 ปีก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคม คนอินเดียรุ่นนี้จึงเป็นจำเลยของประวัติศาสตร์สังคมอินเดีย ว่าเพราะเหตุใด? พวกเขาจึงพากันแปรพักตร์ย้ายข้างจากผู้นำพื้นถิ่นของตนไปเข้ากับเจ้าอาณานิคมที่เป็นฝรั่งต่างด้าวท้าวต่างแดน

โดยเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อังกฤษกำลังรุกรานอินเดียอย่างหนัก แต่ก็ดำเนินไปอย่างเงียบ ๆ กระทั่งใน ค.ศ.1858 “ฮินดูสถาน” (อันครอบคลุมตั้งแต่ประเทศอินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ) ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อินเดียเดิมแตกแยกแบ่งกันเป็นแว่นแคว้น ส่วนมหาราชต่าง ๆ ก็แข่งขันบารมีกัน บ้างก็ถึงขั้นทำสงครามแย่งชิงดินแดนกันเอง เป็นเหตุให้อังกฤษแทรกแซงได้โดยเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก่อนจะกินรวบทั้งสองฝ่ายในภายหลัง

ทั้งนี้ ในค.ศ. 1600 อังกฤษได้ก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออก (The British East India Company: EIC) และในปีเดียวกันนั้นอินเดียก็ได้มีสถานีการค้าอยู่ที่เมืองท่าเจนไน แคว้นมัทราส หรือรัฐทมิฬนาฑุ ในอินเดียใต้แล้ว เจ้าอาณานิคมอื่น เช่น ฝรั่งเศส ดัตช์ สเปน โปรตุเกส ต่างก็เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในอินเดียและก็มีสถานีการค้าของตนเองในอินเดียเช่นกัน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าอังกฤษ ที่ดูจะเป็นมิตรและได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้นำพื้นเมืองมากกว่าเจ้าอาณานิคมอื่น

“คุชราต” (Gujaraj) อันเป็นถิ่นเกิดของคาร์ซานดาสนั้น เป็นดินแดนชาวอินเดียใต้ที่เคยเดินทางค้าขายไปทั่วโลก และแน่นอนว่ากรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ ของสยาม ก็อยู่ในลิสต์รายนามบ้านเมืองคู่ค้าเก่าแก่ของคุชราตด้วย พ่อค้าจากคุชราตยังเคยมีชุมชนอยู่ในอยุธยาบริเวณตลาดแขกพราหมณ์ คาร์ซานดาสจึงเป็นเด็กหนุ่มที่มีรากกำเนิดจากชุมชนการค้าที่เห็นโลกมามาก

ในขณะที่บอมเบย์ (Bombay) สมัยนั้นเป็นเมืองท่าตอนใน อยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำพื้นถิ่นที่ค่อนข้างเคร่งศาสนา EIC ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาตั้งสถานีการค้า แต่ยังไม่ได้เข้าควบคุมเบ็ดเสร็จ อันที่จริงการเข้ามาของอังกฤษในบอมเบย์เวลานั้นสำหรับชนชั้นนำ อินเดียอาจดูไม่ต่างจากที่พวกเขาคุ้นเคยในอดีต  เพราะอย่างที่กล่าวไว้แล้วว่าอังกฤษมาอินเดียและมีสถานีการค้าแห่งแรกที่เมืองท่าเจนไนตั้งแต่ค.ศ.1600 แล้ว และอังกฤษก็ค่อย ๆ ยึดทีละเมือง ไม่ได้บุกรุกทีเดียวจนได้ดินแดนอินเดียทั้งหมดมาครอง

สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้บอกแบบตรง ๆ ก็คือ ‘บอมเบย์’ ในเวลานั้นได้เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่อังกฤษไปแล้วบางส่วน ดังนั้น คดีความสำคัญ ๆ จึงอยู่ภายใต้อำนาจการพิจารณาของศาลอังกฤษที่ตั้งอยู่ในเมือง ทว่าในการต่อสู้คดีความจะพบว่าฝ่ายมหาราช ได้พยายามใช้อิทธิพลทำลายหลักฐานและข่มขู่พยาน อีกทั้งยังมีทนายความชาวอังกฤษคอยช่วยเหลือด้วย เช่นเดียวกับที่ฝ่ายพระเอกก็มีทนายความชาวอังกฤษ

ด้วยความที่ชาวอังกฤษบางส่วนได้รับราชการอยู่กับชนชั้นนำพื้นถิ่นอยู่ก่อนแล้ว อย่างของสยามก็มีเหมือนกันในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการเปิดเผยว่า มีการว่าจ้างชาวต่างชาติมาช่วยงานราชการสำคัญ โดยเฉพาะงานที่ราชการที่คนพื้นเมืองไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพราะเป็นงานใหม่ที่พวกเขาไม่เคยทำกันมาก่อน นั่นคือการปฏิรูปเพื่อความทันสมัย ซึ่งเคยเกิดขึ้นในสยามเช่นกัน เพียงแต่ในอินเดียมีการดำเนินการแบบ “ล่างสู่บน” แตกต่างจากไทย    

 

ยุทธวิธีการล่าอาณานิคมของอังกฤษในอินเดีย

อังกฤษเข้าใจดีว่าอินเดียในหลายเมืองเวลานั้นกำลังเกิดกระแสการปฏิรูปสังคมจากเบื้องล่าง คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก เริ่มตั้งคำถามกับระบบโครงสร้าง วัฒนธรรมความเชื่อ และประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่อ้างความเก่าแก่ยาวนานของอินเดีย และเมื่อถึงจุดหนึ่งคำถามเหล่านั้นก็จะพุ่งเป้าไปที่ชนชั้นนำอินเดียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากช่วงเวลา ค.ศ.1600-1858 อังกฤษได้ใช้เวลายาวนานกว่า 258 ปี เพื่อยึดครองอินเดียทั้งหมด และกว่าจะมี “ฉันทามติ” (consensus) ว่าต้องยึดอินเดียเบ็ดเสร็จสถาปนาระบอบอาณานิคมขึ้นอย่างจริงจัง ก็ต้องใช้เวลากว่า 200 ปีแล้ว นับตั้งแต่การเข้ามาตั้งสถานีการค้าที่เจนไน คือล่วงเลยมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อังกฤษถึงคิดยึดอินเดียเบ็ดเสร็จ และทำได้ภายในแค่ไม่กี่สิบปีหลังจากมีฉันทามติดังกล่าวนี้

เดิมก่อนหน้านั้น ทำไมอินเดียไม่คิดยึดครอง? อยู่มาตั้ง 200 ปี ก็เพราะว่าอังกฤษเกิดมีความจำเป็นให้ต้องทำอย่างนั้น เนื่องจากเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นที่อังกฤษ จึงต้องการวัตถุจำนวนมหาศาลเพื่อป้อนระบบโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และในการจะได้มาซึ่งวัตถุดิบเพื่อรองรับการผลิตขนาดใหญ่แบบนั้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีเมืองขึ้นที่พร้อมเอาทรัพยากรมาให้แก่เจ้าอาณานิคม

แต่ทางด้านอินเดียเองเมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ต่อเนื่องถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชนชั้นนำพื้นถิ่นของอินเดียไม่สามารถปรับตัวเข้ากับกระแสโลกยุคนั้นที่กำลังมุ่งสู่ความทันสมัย (Modernization)  พวกเขาเป็นที่สูญสิ้นศรัทธาและความจงรักภักดีจากประชาชนพื้นถิ่นไปเป็นอันมากแล้ว การเปลี่ยนตัวผู้ปกครองจากผู้นำท้องถิ่นไปเป็นฝรั่งตาน้ำข้าว อาจเป็นคำตอบของยุคสมัยในเวลานั้น เพราะพวกเขาไม่อาจทนการกดขี่ของผู้ปกครองท้องถิ่นได้อีกต่อไป

ทศวรรษ 1830-1850 ตรงกับสยามในช่วงสมัยปลายรัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชกาลที่ 4  สยามเพิ่งจะนำเข้าเทคโนโลยีการพิมพ์ได้ไม่นาน โดยหมอบรัดเลย์ ที่เป็นผู้นำเข้า แต่ในอินเดียสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์กำลังมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปสังคมจากเบื้องล่าง นำโดยคาร์ซานดาสและมิตรสหายของเขา

ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากที่ถ่ายทอดออกมาอย่างอลังเว่อร์ที่สุด คือตอนที่ “มหาราช” เดินทางไปศาลเพื่อฟังคำตัดสินคดีความที่เขาเป็นผู้ฟ้องร้อง “ยาฑุนาถมหาราช” ผู้ทรงอำนาจ อ้างตนเป็นทายาทสืบสายเลือดมาจากพระกฤษณะ ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนราวกับเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง เมื่อลงจากราชรถเท้าเหยียบย่างไม่ถึงพื้น มีสาวกก้มลงเอามือรองที่พื้นให้เหยียบย่างไป ทั้งยังเอามือข้างนั้นขึ้นลูบศีรษะของตนเอง ตามความเชื่อของคนวรรณะพราหมณ์ที่มีต่อพระบาท ซึ่งความเชื่อนี้ชาวพุทธเองก็มีเช่นกัน เป็นที่มาของการเคารพสักการะ “พระพุทธบาท”

เมื่อเห็นการแสดงแสนยานุภาพข่มศัตรูและศาลเช่นนั้น ผู้พิพากษากับอัยการจึงได้สนทนากันว่า “ตั้งแต่พิจารณาคดีมาไม่เคยเห็นคดีไหนที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากเท่านี้มาก่อน” ผู้พิพากษาเอ่ยขึ้นระหว่างมองดูขบวนประชาชนที่แห่กันมาฟังคำพิจารณาของศาล

อัยการกล่าวตอบว่า “มันคือศาสนา ทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน” แต่ด้านผู้พิพากษาก็ตอบกลับว่า “และมันก็ทำให้พวกเขาแตกแยกกัน เพราะงั้นเราถึงปกครองเขาได้ยังไงล่ะ”

จึงเป็นอันรู้กันว่า ศาสนาก็เป็นสาเหตุและปัจจัยสำคัญที่ทำให้อังกฤษสามารถยึดครองแหล่งกำเนิดอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้ แต่คนอินเดียสมัยนั้นน้อยคนนักที่จะรู้ แต่ “คาร์ซานดาส” และมิตรสหายนักปฏิรูปของเขารู้  เขากลายเป็น “ผู้มาก่อนกาล” ในประวัติศาสตร์อินเดีย

ถึงแม้ว่าชื่อเรื่องใช้คำว่า “มหาราช” ที่หมายถึงยาฑุนาถมหาราช  แต่เรื่องราวในนั้นกลับเป็นการบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของคาร์ซานดาส อย่างดุเดือด

“มหาราช” (Maharaj) กับการอิงประวัติศาสตร์ของอินเดียในอีกแง่มุม

 

จาก “คาร์ซานดาส” ถึง “มหาตมะ คานธี”

ระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาล คาร์ซานดาส สามารถท่องบทสวด ‘ภควัทคีตา’ (คัมภีร์ขนาดย่อมอยู่ในมหากาพย์มหาภารตะ) ได้อย่างแม่นยำไม่ตกหล่น เขาแสดงตัวเป็นชาวไวษณพนิกาย (นิกายหนึ่งในศาสนาฮินดู) เป็น “ไวษณพแท้” อย่างชัดเจน ทั้งโดยชาติกำเนิดและความรู้ความสามารถ ซึ่งเขาไม่ได้บอกว่าที่ตนเองต่อต้านอยู่นั้นคือศาสนา แต่เขาต่อต้านผู้นำของศาสนาที่กำลังประพฤติผิดอยู่ต่างหาก

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า คาร์ซานดาส เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณโดยธรรมชาติให้กับกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง จากซีนที่คาร์ซานดาส ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำสวดมนต์หน้ารูปพระศาสดาที่วางไว้ใต้ต้นโพธิ์ หลังจากที่ยาฑุนาถมหาราช สั่งปิด ‘ฮาเวลี’ (ฮินดูสถาน/วัดพราหมณ์) ก่อนหน้านั้น

โดยหลักการสำคัญที่คาร์ซานดาส ได้เสนอทั้งในการต่อต้านยาฑุนาถมหาราช และปฏิรูปศาสนาพราหมณ์ไปด้วย ก็คือหลักการที่ถือว่าทุกคนไม่ว่าใคร วรรณะใด ก็สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้ ไม่จำเป็นต้องผ่านฮาเวลี (วัด) หรือการตีความจากนักบวชคนใด เขาเชื่อว่าไม่มีใครควรมีอภิสิทธิ์อ้างเข้าถึงแก่นแท้ในคำสอนของศาสนามากกว่าผู้อื่น และไม่มีใครเป็นตัวแทนของพระเจ้าบนโลกมนุษย์ ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ ความเชื่อที่ว่า “มหาราช” เป็นตัวแทนของพระกฤษณะ ก่อให้เกิดการผูกขาดการตีความพระคัมภีร์และการเข้าถึงศาสนา จึงนำมาสู่อำนาจความมั่งคั่งและความสูงส่งของ “มหาราช” จนกระทั่งมี “มหาราช” บางองค์สามารถใช้อำนาจนี้ไปในทางฉ้อฉล แม้แต่การพรากพรหมจรรย์ของเด็กสาวในนามของพิธีกรรมและประเพณี ก็ถูกทำให้เป็นสิ่งถูกต้องและสามารถยอมรับได้

“มหาราช” (Maharaj) กับการอิงประวัติศาสตร์ของอินเดียในอีกแง่มุม

ในมุมของสังคมสยามก็เคยมีการปฏิรูปศาสนาที่ก่อกำเนิด “พุทธแท้” ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่เกิดในยุคของคาร์ซานดาส แต่การปฏิรูปคณะสงฆ์ที่ให้กำเนิดธรรมยุติกนิกายในสมัยรัชกาลที่ 3 นำโดยพระวชิรญาณภิกขุ (รัชกาลที่ 4 ในเวลาต่อมา) นั้นก็มีลักษณะตรงกันข้ามกับการปฏิรูปที่อินเดียในยุคสมัยเดียวกันอย่างสำคัญไปอีกคือ สยามมีการปฏิรูปแบบ “บนลงล่าง” การปฏิรูปเป็นเรื่องของการพระราชทานลงมาจากเบื้องบน

ขณะที่อินเดียเป็นการปฏิรูปแบบ “ล่างสู่บน” คือเป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง นำโดยประชาชนคนธรรมดาสามัญชน ในขณะที่ชนชั้นนำของอินเดียไม่สามารถปฏิรูปตนเองได้เหมือนอย่างที่เกิดในสยาม

การแสดงสปิริตแบบ “ไวษณพแท้” เป็นสิ่งที่นักล่าอาณานิคมชาวอังกฤษกระทำมาโดยตลอดเช่นกัน โดยอ้างว่าที่พวกเขาจำเป็นต้องเอาอินเดียมาเป็นเมืองขึ้น ก็เพื่อปกป้องชาวอินเดียจากผู้ปกครองพื้นถิ่นที่กดขี่ และรักษาขนบวัฒนธรรมอันดีงามของชาวอินเดียให้คงอยู่สืบไป เมื่ออังกฤษทำสิ่งนี้ได้ดีกว่าเหมาะสมกับยุคสมัยมากกว่าผู้ปกครองอินเดียเดิม อังกฤษจึงกลายเป็นคนที่เหมาะสมคู่ควรแก่การเป็นเจ้าผู้ปกครองคนใหม่ของอินเดีย

แต่นั่นก็มีลักษณะเป็น “ดาบสองคม” เพราะเมื่อมี “ไวษณพแท้” ก็ย่อมมี “อินเดียแท้” ตามมา การปฏิรูปศาสนาจึงนำมาสู่การเกิดขึ้นของขบวนการชาตินิยมเรียกร้องเอกราช ศัตรูของลัทธิอาณานิคมในแง่ตัวผู้ปกครอง แต่เป็นโครงสร้างรัฐและวัฒนธรรมซึ่งถูกประดิษฐ์สร้างใหม่ให้เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม เงื่อนไขปัจจัยต่อการเข้ามายึดครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ก็ก่อให้เกิดคลื่นลูกใหม่ที่จะกำหนดอนาคตอินเดียอยู่ภายใต้ระบอบอาณานิคมเช่นกัน

มหาตมะ คานธี กับกลุ่มแนวคิดสัตยาเคราะห์ของเขา ดูจะเข้าใจดีในจุดนี้ ถึงได้พยายามสานต่อคาร์ซานดาส ในการปฏิรูปสังคมอินเดีย ควบคู่ไปกับการเรียกร้องเอกราช เนื่องจากอินเดียถูกทำให้อ่อนแอและแตกแยกกันจากความเชื่อทางศาสนามากจนเป็นเหตุให้ตกเป็นอาณานิคม เมื่อเป็นเช่นนั้นจะโทษแต่อังกฤษซึ่งรุกรานฝ่ายเดียว สำหรับคาร์ซานดาสและคานธีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก ส่วนเจ้าอาณานิคมอินเดียอย่างอังกฤษ ก็แสดงตนเคารพและให้ความสำคัญกับกฎหมายขื่อแปของบ้านเมือง ทุกคนเสมอภาคกันเมื่ออยู่ภายใต้กฎหมาย

นอกจากอินเดีย คานธีถึงสามารถจะประกาศว่า “โลกทั้งผองพี่น้องกัน” (หมายรวมถึงอังกฤษด้วย) ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนอมุมมองประวัติศาสตร์ของคนอินเดียในช่วงหัวเลี้ยวก่อนเข้าสู่ยุคอาณานิคม ในแง่ว่าคนอินเดียที่ตกเป็นจำเลยของประวัติศาสตร์ชาตินิยมอินเดียนั้น แท้ที่จริงแล้วพวกเขาก็แค่เห็นว่าชนชั้นนำพื้นถิ่นของพวกตนก็เป็นปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ปกครองคนต่างถิ่น

ทั้งนี้ การปฏิรูปจากเบื้องล่างของอินเดียที่ประสบผลสำเร็จ ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติวิธีมีความเป็นไปได้ เป็น “สันติวิธีเชิงรุก” โดยประวัติศาสตร์อินเดียได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จในแนวทางนี้ไปแล้ว บทเรียนสำคัญหนึ่ง (ถ้าแม้นจะเรียนรู้จากประสบการณ์การต่อสู้ของชาวอินเดียบ้าง อย่างน้อยพวกเขาก็เคยเผชิญกับอำนาจเหนือมนุษย์กันมามาก) ก็คือสันติวิธีที่ได้ผลจริง ๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นและดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปสังคมจากเบื้องล่าง บริบทสังคมของอินเดีย ตลอดจนความสัมพันธ์กับเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ถือเป็นลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากไทยและบรรดาประเทศในอุษาคเนย์

 

ภาพ: Netflix/ /the better india

อ้างอิง

คานธี, โมหันทาส การามจันทร์ (มหาตมะ คานธี). โลกทั้งผองพี่น้องกัน. แปลโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2557.

แบชัม, เอ. แอล. อินเดียมหัศจรรย์ (The wonder that was India). แปลโดย กาญจนี ละอองศรี และคณะ, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560.  

ปรีดี พนมยงค์. มหาราชและรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2543. 

สาวิตรี เจริญพงศ์. ภารตารยะ: อารยธรรมอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงหลังได้รับเอกราช. กรุงเทพฯ: คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544.

Acharya, Amitav. Civilizations in Embrace: the Spread of Ideas and the Transformation of Power: India and Southeast Asia in the Classical Age. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2013.

Asif, Manan A. The Loss of Hindustan: the Invention of India. Massachusetts: Harvard University Press, 2020.

Gokhale, Balkrishna G. Ancient India: History and Culture. Bombay: B. G. Press, 1956.

Guichard, Sylvie. The Construction of History and Natinalism in India: Textbooks, Controversies and Politics.  London: Routledge, 2010.

Hunter, Robert. The History of India from the Earliest Ages to the Fall of the East India Company and the Proclamation of Queen Victoria in 1858. London: T. Nelson and Sons, 1863.

Mukhopadhyay, Subodh K. Evolution of Historiography in Modern India. Calcutta: Bagchi, 1981.

Sarkar, Sumit. Modern India. New York: St. Martin's Press, 1989.

Thapar, Romila A. Ancient Indian Social History: Some Interpretations. New Delhi: Orient Black Swan, 2010.