‘ลิซ่า ดาร์มูร์’ นักจิตวิทยาเบื้องหลัง Inside Out 2 กับเหตุผลสร้าง 4 ตัวละครใหม่

‘ลิซ่า ดาร์มูร์’ นักจิตวิทยาเบื้องหลัง Inside Out 2 กับเหตุผลสร้าง 4 ตัวละครใหม่

รู้จัก ‘ลิซ่า ดาร์มูร์’ นักจิตวิทยาเบื้องหลัง ‘Inside Out 2’ พร้อมไขข้อข้องใจ มนุษย์เรามีอารมณ์มากมาย ทำไม Inside Out 2 จึงเลือก 4 อารมณ์นี้มาเป็นตัวละครหลัก ?

KEY

POINTS

  • ‘ลิซ่า ดามูร์’ นักจิตวิทยาคลินิกชาวอเมริกัน จากผู้ชมสู่ทีมผู้สร้าง
  • ทำไม Inside Out 2 จึงเลือก 4 อารมณ์ ได้แก่ ว้าวุ่น อิจฉา เขิ้นเขินอ๊ายอาย และอองวี มาเป็นตัวละครหลัก ?

**มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง Inside Out 2**

ในปี 2015 ‘Inside Out’ ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ด้วยแอนิเมชันที่บอกเล่าเรื่องราวอารมณ์ของมนุษย์ออกมาได้อย่างงดงามและกินใจ โดยมีตัวละครหลักคือ ลั้ลลา เศร้าซึม ฉุนเฉียว กลั๊วกลัว และหยะแหยง 

ไม่นานมานี้ ‘Inside Out 2’ ได้คืนจออีกครั้งพร้อมแก๊งตัวละครใหม่ที่เพิ่มเข้ามาอย่าง ว้าวุ่น อิจฉา เขิ้นเขินอ๊ายอาย และอองวี (เฉยชิล) 

แม้อารมณ์เหล่านี้จะเป็นอารมณ์ทางลบที่หลายคนอยากจะหลีกหนี แต่ Inside Out 2 กลับถ่ายทอดออกมาได้อย่างละมุนใจและมีมิติ ซึ่งแน่นอนว่าเบื้องหลังเรื่องราวที่เข้าอกเข้าใจมนุษย์เป็นอย่างดี ต้องมีทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ หนึ่งในนั้นคือ ‘ลิซ่า ดามูร์’ (Lisa Damour) นักจิตวิทยาคลินิกชาวอเมริกันที่เป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น เป็นแฟนคลับของ Inside Out ตั้งแต่ภาคแรก และเป็นคุณแม่ที่มองดูลูกสาวเติบโตไปพร้อมกับแอนิเมชันเรื่องนี้

จากผู้ชมสู่ทีมผู้สร้าง

ดามูร์เรียกว่าเป็นหนึ่งในตัวท็อปของรุ่นมาตั้งแต่สมัยเรียน เธอคว้าเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัย Yale แล้วทำงานที่ Yale Child Study Center ก่อนที่จะได้รับปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาคลินิกที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน 

นอกจากบทบาทนักจิตวิทยาแล้ว เธอยังเป็นนักสื่อสารตัวยงที่มีผลงานตั้งแต่การร่วมจัดพอดแคสต์ Ask Lisa: The Psychology of Parenting ไปจนถึงผลงานการเขียนบทความวิชาการและหนังสือขายดีของ New York Times เรื่อง ‘Untangled: Guiding Teenage Girls Through the Seven Transitions Into Adulthood’ และเรื่อง ‘Under Pressure: Confronting the Epidemic of Stress and Anxiety in Girls’ 
 

นอกเวลางาน เธอเป็นคุณแม่ของลูกสาวที่น่ารักทั้งสองคน ซึ่งช่วงปี 2015 ที่ Inside Out ภาคแรกเข้าฉาย ลูกสาวคนโตของเธออายุ 11 ขวบ อายุเท่ากับไรลีย์ในเรื่องนี้พอดี เธอจึงไม่พลาดที่จะจูงมือลูก ๆ ไปดู Inside Out ด้วยกัน 

แต่ใครจะรู้ว่าไม่กี่ปีต่อมา ดามูร์จะได้เปลี่ยนบทบาทจากผู้ชมมาเป็นหนึ่งในทีมผู้สร้าง

ในปี 2020 เธอได้รับการติดต่อจากทีมงาน Inside Out 2 ให้มาร่วมเป็นหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำปรึกษาระหว่างการสร้างภาพยนตร์ ซึ่งผู้กำกับ ‘เคลซีย์ แมนน์’ (Kelsey Mann) และนักเขียนบท ‘เม็ก เลอโฟฟว์’ (Meg LeFauve) บอกกับเธอว่า เนื้อหาที่เธอเขียนในหนังสือเกี่ยวกับอารมณ์และความวิตกกังวลของวัยรุ่น คือสิ่งที่พวกเขากำลังตามหา เพราะตัวละครไรลีย์ใน Inside Out 2 กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งอยู่บนรอยต่อระหว่างความเป็นเด็ก และการต่อสู้กับอารมณ์ที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น 

“ฉันได้ดูโครงเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ พร้อมกับ ‘แดเชอร์ เคลต์เนอร์’ (Dacher Keltner) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอารมณ์ของมนุษย์ และเราได้ให้คำแนะนำเรื่องการสร้างตัวละครให้สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งพวกเขาทำออกมาได้ดีเสียด้วย” ลิซ่าให้สัมภาษณ์กับ vox.com 

แต่มนุษย์เรามีอารมณ์มากมาย ทำไม Inside Out 2 จึงเลือก 4 อารมณ์นี้มาเป็นตัวละครหลัก ?

เบื้องหลัง 4 ตัวละครใหม่

ดามูร์เล่าว่าในช่วงที่คนเราเข้าสู่วัยรุ่น สมองของเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงพร้อมกันทีเดียว แต่บางส่วนค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน ขณะที่บางส่วนยังคงเหมือนเดิม จึงเกิดอาการ ‘รวน’ ขึ้นได้บ้าง เช่นเดียวกับฉากที่ไรลีย์ตื่นมาด้วยความโกรธเกรี้ยวปะปนกับความโศกเศร้าอย่างไม่อาจอธิบาย แถม ‘เศร้าซึม’ และ ‘ฉุนเฉียว’ ยังไม่ทันได้แตะแผงควบคุมเลยด้วยซ้ำ

“ฉันดีใจมากที่เรื่องนี้ได้ฉายบนจอใหญ่ เพราะทำให้ทุกคนไม่ต้องกังวลว่า จะมีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นกับพวกเขา” ดามูร์กล่าว พร้อมอธิบายว่า ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในช่วงวัยรุ่น  

“ก่อนอายุ 13 ปี เด็กจะมีความคิดที่เป็นรูปธรรม พวกเขายังไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองอื่นได้มากนัก จากนั้น เมื่ออายุประมาณ 13 - 14 ปี ความสามารถในการ ‘นึกภาพตัวเองจากมุมของคนอื่น’ จะเพิ่มมากขึ้น เพื่อจินตนาการถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะตามมา สิ่งเหล่านี้เกิดจากการพัฒนาสมอง”

เมื่อเราเริ่มนึกถึงมุมมองของ ‘คนอื่น’ ข้อดีคือ เราเริ่มคิดอะไรซับซ้อนและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ตามมาด้วยความรู้สึกเขินอาย วิตกกังวล อิจฉา และเบื่อหน่าย ยิ่งช่วงวัยรุ่นที่เริ่มต้องการการยอมรับจากผู้คน อารมณ์เหล่านี้ยิ่งเข้มข้นและรุนแรง จนกลายเป็นที่มาของ 4 ตัวละครใหม่ใน Inside Out 2 นั่นเอง

Perfectionism กับความวิตกกังวลในวัยรุ่น

ก่อนจะออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ ประเด็นที่ดามูร์พูดคุยกับทีม Pixar อยู่บ่อยครั้งคือเรื่องการรักความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionism ในวัยรุ่น เพราะช่วงวัยนี้เป็นวัยที่โหยหาที่ทางและการยอมรับจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง ครอบครัว และสังคม สิ่งที่ตามมาคือความรู้สึก ‘กลัวความผิดพลาด’ เช่นเดียวกับไรลีย์ที่เริ่มตีความว่า เธอจะได้รับการยอมรับ ตราบใดที่ไม่ล้มเหลว จนผูกคุณค่าของตัวเองไว้กับความสำเร็จ เธอจึงเฝ้าคิดถึงสิ่งที่ ‘อาจจะพลาด’ ไว้ให้มากที่สุด แล้วทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันเหตุการณ์เหล่านั้น

“แน่นอนว่า ความวิตกกังวล เป็นส่วนสำคัญในหนังเรื่องนี้ เพราะความวิตกกังวลอาศัยจินตนาการและการคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ต่างจาก ‘ความกลัว’ ที่เป็นการตอบสนองต่อภัยคุกคามที่อยู่ตรงหน้า” ดามูร์อธิบายเหตุผลที่เส้นเรื่องหลักให้น้ำหนักกับตัวละคร ‘ว้าวุ่น’ เป็นพิเศษ

ถ่ายทอดคุณค่าของทุกอารมณ์

แม้ความรู้สึกวิตกกังวลอย่างเข้มข้นจะส่งผลเสียต่อตัวเรา แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้ถ่ายทอดตัวละคร ‘ว้าวุ่น’ ออกมาในฐานะตัวร้าย เพราะอีกด้านหนึ่ง ความวิตกกังวลก็ช่วยให้เราคาดการณ์และวางแผนได้ดี ช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ ดังนั้น ‘ว้าวุ่น’ จึงถูกนำเสนอในฐานะ ‘อารมณ์ที่ไม่สบายใจ แต่มีคุณค่า’

“เธอเป็นคู่หูที่มีค่าของไรลีย์และอารมณ์อื่น ๆ ตราบใดที่เธออยู่ในขอบเขต” ดามูร์เล่า พร้อมกับบอกว่า Inside out 2 เป็นภาพยนตร์ที่สามารถสื่อสารสิ่งที่ดามูร์และผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนต้องการจะบอกเสมอมา  

“เป้าหมายของเราในฐานะนักจิตวิทยา ไม่ใช่การกำจัดความวิตกกังวลออกไปอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นการช่วยให้ผู้คนจัดการกับความวิตกกังวลได้ เมื่ออารมณ์นี้อยู่ในระดับที่ไม่สมดุล” ซึ่งท้ายที่สุด การจัดการกับความรู้สึกว้าวุ่นได้อย่างยั่งยืน คือการยอมรับตัวตนของเราอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับไรลีย์ที่ก้าวผ่านความสับสน จนสามารถโอบกอดตัวตนของตัวเองที่มีทั้งด้านดีและแย่หลอมรวมกัน

แอนิเมชันเรื่องนี้จึงไม่ได้ถ่ายทอดเพียงเรื่องราวสุดป่วนของเด็กสาวอายุ 13 ปีเท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดธรรมชาติของมนุษย์ออกมาด้วยความเข้าใจ และไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไรก็สามารถอินได้ในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง

สำหรับดามูร์เอง นอกจากเธอจะเป็นหนึ่งในเบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว เธอยังเป็นคุณแม่ที่กำลังรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของลูกสาวทั้งสองคน (เช่นเดียวกับคุณแม่ของไรลีย์) และตอนที่ Inside Out 2 เข้าฉาย ตัวละครไรลีย์ก็มีอายุ 13 ปี เท่ากับลูกสาวคนเล็กของเธออีกด้วย 

ดังนั้น Inside Out จึงมีความหมายกับดามูร์ มากกว่าหน้าที่การงาน แต่ยังเป็นเหมือนบันทึกความทรงจำระหว่างเธอกับลูกสาวทั้งสองในเวลาเดียวกัน  

 

เรื่อง : ธัญญารัตน์ โคตรวันทา

อ้างอิง :

Lisa Advises on the Making of ‘Inside Out 2’

Lisa Damour Senior Advisor, Clinical Instructor in the Department of Psychological Sciences

How Inside Out 2 tackles the science of teenage emotions

What 'Inside Out 2' got right about anxiety, per a psychologist