20 ส.ค. 2567 | 17:30 น.
KEY
POINTS
“ถ้ากฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านก่อนหน้านี้
หนังเรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้น”
‘อิงฟ้า วราหะ’ บอกกับเราก่อนที่ภาพยนตร์ ‘วิมานหนาม’ (The Paradise of Thorns) จะฉาย ครั้งนี้เธอไม่ได้มาในฐานะนักร้องหรือนางงาม แต่เธอมาในฐานะ ‘โหม๋’ นักแสดงนำ ผู้ที่จะตีแผ่ความอับจนข้นแค้นของชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งให้สังคมรับรู้ว่า หากใครจะบอกว่าคู่รักเพศสภาพเดียวกันไม่มีสิทธิตามกฎหมายนั้นน่าเจ็บปวดใจแล้ว ชีวิตของเธอก็น่าสังเวชไม่ต่างกัน
วิมานหนาม คือภาพยนตร์ตีแผ่ความอิหลักอิเหลื่อของกฎหมาย ในวันที่โลกเดินไปข้างหน้าเร็วเสียจนตำรากฎหมายปรับตัวไม่ทัน จนทำให้เกิดกรณีน่าเศร้าให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในหนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นผ่านคู่รัก ‘ทองคำ’ (เจฟ ซาเตอร์) และ ‘เสก’ (เต้ย พงศกร) หลังจากทั้งสองร่วมลงทุนลงแรงปลูกทุเรียนจนเต็มสวน แต่เมื่อเสกจากไปเพราะอุบัติเหตุ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดกลับไปตกอยู่กับ ‘แม่แสง’ (สีดา พัวพิมล) มารดาโดยสายเลือด โดยมี ‘โหม๋’ (อิงฟ้า วราหะ) ลูกสาวที่แม่ของเสกเก็บมาเลี้ยง เข้ามายืนยันในสิทธิตามกฎหมายของตน แทนที่จะเป็นทองคำ ชายหนุ่มผู้ทำทุกอย่างเพื่อให้ต้นทุเรียนผลิดอกออกผล
เมื่อความเป็นจริงขัดกับหลักกฎหมาย เรื่องราวความคับแค้นใจจึงเปิดฉากขึ้น เพื่อทวงคืนทุกอย่างที่(เคย)เป็นของตน
/ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนจากภาพยนตร์ วิมานหนาม (2024) /
หนังเปิดฉากมาด้วยภาพความรักอันหวานชื่นของเสกกับทองคำ ทั้งสองยิ้มให้กับอย่างภูมิใจหลังจากสวนทุเรียนที่ตนฟูมฟักมาตลอด 5 ปีเริ่มมีดอกงอกขึ้นมาให้เห็นอยู่รำไร ทุกคืนเวลาราว 19:00-21:00 น. เสกกับทองคำมักเดินออกมาดูสวน และใช้ดอกหญ้าคอยปัดให้เกสรของดอกทุเรียนลอยฟุ้งไปทั่วทั้งสวน เทคนิคการเพิ่มผลผลิตที่จะทำให้ต้นทุเรียนติดผลดีขึ้น แต่โชคร้ายที่เสกกลับเกิดอุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิต
ก่อนเสกจะจากไปทั้งหมอพยาบาลต่างบอกให้ทองคำใจเย็น และรอให้ญาติที่ถูกต้องตามกฎหมายมาเซ็นต์อนุญาตให้ผ่าตัด เนื่องจากทองคำไม่ได้มีสถานะข้องเกี่ยวกันตามกฎหมาย เขาจึงทำได้แต่ร้องไห้ออกมาด้วยความสังเวช การแสดงของเจฟทำให้เห็นถึงความทรมานของการรอคอย เขาก้มลงกราบขอร้องหมอว่าเขานี่แหละ คือ สามี คนใกล้ชิดที่ดูแลชายหนุ่มตรงหน้ามาโดยตลอด แต่กฎหมายกลับบอกว่าเขาเป็นแค่เพื่อน
ฉากตัดสลับไปที่โหม๋และแม่แสง เมื่อทั้งคู่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น โหม๋รีบพาแม่ของเสกที่พิการเดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็นมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ออกเดินทางแต่เช้าตรู่เพื่อไปหาลูกชายเพียงคนเดียวให้ทันเวลา
การอาศัยอยู่บนภูเขาสูง ห่างไกลเส้นทางคมนาคมหลัก ทำให้โหม๋ต้องพาแม่มายังตีนเขาด้วยความทุลักทุเล สุดท้ายทั้งคู่ก็ไปไม่ทันการ เสกจากไปอย่างน่าเศร้า โดยมีเพียงทองคำเฝ้ามองการจากไปของชายคนรักด้วยความสะเทือนใจ
หนังทำออกมาได้ดีเรื่องการเป็นกระจกสะท้อนภาพของกฎหมายที่ไปไม่ทันโลก อีกทั้งยังมีการสอดแทรกเกร็ดความรู้ทางกฎหมายออกมาเป็นระยะ เช่น ฉากที่ทองคำไปปรึกษาทนาย เพื่อถามว่าตนยังมีสิทธิจะได้ที่ดินอยู่บ้างไหม
คำตอบที่ได้คือ ทองคำไม่ได้มีสถานะอะไร แต่งงานไม่ได้ เพราะมีเพศสภาพเดียวกัน ไม่ว่าจะมองมุมใด ทองคำเป็นเพียงคนนอก
และยังบอกอีกว่า หากเสกตายไป ที่ดินจะต้องตกเป็นของแม่โดยทันที แต่ถ้าหากแต่งแล้วจะตกเป็นของคู่สมรส ซึ่งในกรณีนี้ เสกเหลือเพียงแต่แม่ และหากแม่จากไป ที่ดินจะตกเป็นของรัฐเป็นลำดับต่อไป
นอกจากมุมเรื่องกฎหมาย วิมานหนามภายใต้การกำกับของ ‘บอส - นฤเบศ กูโน’ ยังทำให้เห็นว่าชีวิตของผู้คนบนภูเขาสูง มีคุณภาพชีวิตย่ำแย่เพียงใด โหม๋กับแม่แสงอาศัยอยู่ในบ้านที่มีสภาพไม่ต่างจากเพิงถูกสุมขึ้นมาใช้กั้นความหนาวเหน็บยามค่ำคืนเท่านั้น ส่วนอาชีพก็มีเพียงไม่กี่อย่าง นั่นคือ การเก็บกะหล่ำปลีเลี้ยงชีพไปวัน ๆ ความลำบากที่ถ่ายทอดออกมา ทำให้อดรู้สึกเศร้าใจในโชคชะตาของครอบครัวเสกไม่น้อย
แรกเริ่มความสัมพันธ์ของตัวละครทั้ง 3 ระหว่างทองคำ โหม๋ และแม่แสง ดูเหมือนจะเข้าอกเข้าใจกัน ทองคำพยายามทำตัวเป็นลูกเขยที่น่ารัก (แม้จะแต่งงานไม่ได้ก็ตาม) ถอนเงินเก็บของเสกมาให้แม่ทุกบาททุกสตางค์ หลังจากแม่รับเงินมา เธอกลับมองด้วยสายตาเคลือบแคลงใจ ก่อนจะถามอย่างตรงไปตรงมาว่า เงินเก็บตลอดชีวิตของเสก เหลือเพียงหลักหมื่นเท่านั้นหรือ?
บอกตามตรงว่าฉากนี้เล่นเอาผู้เขียนรู้สึกสะอึกไม่น้อย แม่เพิ่งเสียลูกชายแต่กลับถามถึงแต่เพียงสมบัติที่เหลืออยู่ ซึ่งเข้าใจได้เพราะนี่คือชีวิตของคนเป็น คนตายไม่สามารถเอาทุกอย่างไปได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าทักษะการแสดงของสีดาทำให้คนดูรู้สึกกระอักกระอ่วนได้ไม่ยาก ‘เธอเพิ่งเสียลูกไป’ แต่กลับอยากได้ของทุกอย่างที่ลูกกับทองคำสร้างขึ้นมา
ทองคำได้แต่ยิ้มแก้เก้อ พลางบอกว่าตั้งแต่ทำสวนทุเรียนด้วยกันมา ยังไม่ได้กำไรสักบาท แต่หลังจากนี้อีก 4 เดือน ทุเรียนหลายพันลูกจะได้รับการเก็บเกี่ยว และเมื่อเวลานั้นมาถึง จะมีเงินส่งให้แม่ไม่ต่ำกว่าสองล้านบาทเลยทีเดียว
และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความกระหาย การสูญเสียลูกชายไปถึงจะน่าเศร้า แต่มรดกที่ลูกชายหลงเหลือไว้นั้นช่างหอมหวานเสียจนแม่และโหม๋อยากครอบครอง เริ่มจากการขอมานอนค้างคืนที่ ‘วิมาน’ บ้านของเสกและทองคำ ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา ด้านล่างมีแต่ต้นทุเรียนทอดยาวสุดลูกหูลูกตา
“แม่จะนอนคืนเดียวใช่มั้ย”
ทองคำถามอย่างตรงไปตรงมา แต่แม่แสงกลับถามกลับถึงเรื่องโฉนดที่ดินและบ้านที่เธอกำลังนอนอยู่ว่าเป็นชื่อของลูกชายเธอทั้งหมดมั้ย และนี่เป็นอีกครั้งที่เธอถาม ทองคำจึงเริ่มรู้แล้วว่า ที่ดินและบ้านหลังนี้กำลังจะถูกแม่สามีกับพี่สาวต่างสายเลือดยึดไปอย่างแน่นอน
และพวกเขาก็ทำจริง ไม่กลับบ้านบนเขาอีกเลย แถมยังยึดห้องนอนของทองคำมาเป็นที่นอนของตน แต่ใช่ว่าโหม๋จะได้นอนบนเตียงอุ่น ๆ เหมือนแม่ เธอถูกแม่ไล่ตะเพิดให้ไปนอนอีกห้องหนึ่ง ไม่มีฟูก มีเพียงผ้าปูนอนบนพื้นแข็ง ๆ
โหม๋ถูกเรียกใช้ตั้งแต่เช้าตรู่ยันแม่เข้านอน ต้องคอยเช็ดทำความสะอาดร่างกายแม่แสงอยู่บ่อยครั้ง เธอไม่มีเวลาส่วนตัวมากนัก การดูแลแม่ที่พิการทำให้วัยสาวของเธอร่วงโรย ผมเผ้ายุ่งเหยิง หน้าตาไร้เครื่องสำอางแต่งแต้ม แถมเสื้อผ้ายังขาดรุ่ย มีเพียงไม่กี่ชุดเท่านั้นที่ดูดีจนสามารถออกงานได้ไม่อายใคร
โหม๋ใช้ชีวิตเยี่ยงสาวใช้ที่น่าสงสาร แต่บทดูจะปูทางไปยังความทรมานของการเป็นคู่รัก LGBTQ มากกว่า ชั่วโมงแรกของหนังฉายภาพให้เห็นแต่ความพยายามของทองคำที่จะกลับมาทวงคืนวิมานของตน แต่กลับฉายความชอกช้ำของโหม๋ออกมาเพียงน้อยนิด
กระทั่ง ‘จิ่งนะ’ รับบทโดย ‘เก่ง - หฤษฎ์ บัวย้อย’ น้องชายของโหม๋ย้ายเข้ามา เพื่อช่วยดูแลสวนทุเรียน โดยไม่ถามความสมัครใจของเจ้าของเดิมอย่างทองคำแม้แต่คำเดียว การปะทะอารมณ์ระหว่างจิ่งนะและทองคำเปิดฉากขึ้นอยู่บ่อย ๆ ด้วยความเป็นน้องชาย เขาจึงเข้าใจพี่สาวดีกว่าใคร จนยอมทำทุกอย่างที่พี่สาวหวังจะเห็น
“พี่ไม่สงสารมันเหรอ” จิ่งนะถามโหม๋อีกครั้ง หลังฟังสิ่งที่พี่ขอร้องให้ทำ
“สงสารเหรอ? ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นชีวิตใครน่าสงสารเท่ากูอีกแล้ว จะให้สงสารใครได้อีก”
โหม๋ร้องไห้สะอื้น และหนังก็เฉลยออกมาทีหลังว่าเธอต้องผ่านความชอกช้ำมามากเพียงใด กว่าจะมาถึงวันนี้ ราวกับชีวิตเธอถูกก่อขึ้นจากซากปรักหักพัง โดยมีความรัก(?)ปักอยู่ใจกลางความฟอนเฟะ
ถึงจิ่งนะจะทำตามที่พี่สาวขอร้อง แต่ก็เป็นจิ่งนะอีกที่คอยเป็นตัวกลางประสานรอยร้าว ทั้งขอพรว่าขอให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จนทำให้ทองคำใจอ่อน อยากจะยุติความขัดแย้งกับโหม๋ลงเสียที แต่สุดท้ายจิ่งนะกลับมีชะตากรรมอันน่าเศร้า และนั่นทำให้ทั้งเรื่องดูหม่นไปเยอะเลยทีเดียว
“คิดว่าจนแล้วจะเอาทุกอย่างไปได้เหรอ”
อีกหนึ่งประโยคที่เอามาใช้บรรยายสถานการณ์ของเรื่องวิมานหนามได้เป็นอย่างดี เพราะทั้งโหม๋และแม่แสง ต่างอาศัย ‘ความจน’ เข้ามาสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง จนทำให้ทองคำได้แต่เจ็บช้ำอยู่ในใจ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้เขามีสิทธิในที่ดินผืนนี้เลยด้วยซ้ำ
แต่หากจะให้ยกจุดที่ทำให้ใจสลายจริง ๆ คงเป็นฉากที่โหม๋ขอร้องอ้อนวอนให้แม่ มองเห็นเธอเป็นคนในครอบครัวคนหนึ่ง เธออยากจะเป็นลูกแท้ ๆ อยากอยู่ในสายตาแม่บ้าง แต่แม่กลับตอบกลับอย่างเย็นชาว่า เธอจะไม่มีทางยอมรับในตัวโหม๋อย่างเด็ดขาด
นั่นทำให้เห็นว่า 20 ปีที่โหม๋สูญเสียไป เธอเองก็มีสถานะเพียงคนนอกไม่ต่างกัน คนนอกที่ทำทุกอย่างราวกับคนในครอบครัว คอยดูแลประคบประหงมผู้เป็นแม่ไม่ห่างกาย พาไปหาหมอ เดินห้างเล็ก ๆ ในตัวเมือง และยังซื้อของที่แม่ไม่เคยลองให้กิน ทั้ง ๆ ที่เธอมีเงินเก็บเพียงไม่กี่บาท ทั้งกระเป๋ามีแต่เศษเหรียญเต็มไปหมด แต่เธออยากให้แม่ได้ลองกินของดี ๆ สักครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามความพยายามทั้งหมดของโหม๋ก็ไม่ได้รับการยอมรับอยู่ดี
เธอคือคนนอก
คนนอกที่จะไม่มีวันได้มีทรัพย์สมบัติใดมาครอบครอง หากแม่ยังไม่ยอมรับในตัวเธออยู่อย่างนี้
ช่วงท้ายของหนัง นับเป็นพาร์ทที่ตราตรึงที่สุดเลยก็ว่าได้ การฟาดฟันระหว่างอิงฟ้าและเจฟทำให้ผู้เขียนถึงกับต้องเอามือมาปิดตา โดยเฉพาะฉากปาทุเรียน บอกตามตรงว่าเหนือความคาดหมายมาก ๆ ตัวอย่างที่ปล่อยออกมาให้เห็นเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยไปเลยเมื่อมาดูจริง
สุดท้ายวิมานแห่งนี้จะสุขสมดั่งใจใครบ้าง ทรัพย์สมบัติทั้งหมดจะตกเป็นของใคร รับชม ‘วิมานหนาม’ (The Paradise of Thorns) ได้พร้อมกันในวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ทุกโรงภาพยนตร์
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ : GDH