06 เม.ย. 2566 | 17:30 น.
ถือเป็นภาพยนตร์สยองขวัญแนวอสังการิมทรัพย์อีกหนึ่งเรื่องที่สร้างความแตกต่างแต่ก็ยังคงดีเอ็นเอเฉพาะตัวของผู้กำกับภาพยนตร์ ‘จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์’ เจ้าของฉายา ‘เจ้าพ่อหนังผีสายอสังหาริมทรัพย์’ แห่ง GDH จากผลงานก่อน ๆ ที่ถูกยกไว้ขึ้นหิ้งอย่าง ‘ลัดดาแลนด์’ ได้อย่างน่าสนใจกับภาพยนตร์เรื่องใหม่ล่าสุดนามว่า ‘บ้านเช่า บูชายัญ’
บ้านเช่า บูชายัญ คือภาพยนตร์สยองขวัญที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ครอบครัวหนึ่ง ที่ประกอบไปด้วย ‘กวิน’ นำแสดงโดย เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ, ‘หนิง’ นำแสดงโดย มิว-นิษฐา คูหาเปรมกิจ และลูกสาวนามว่า ‘อิง’ กับเหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้น เมื่อจำต้องปล่อยบ้านของตนเองให้ผู้เช่าท่าทางแปลก ๆ ครอบครัวหนึ่งเช่า ก่อนจะค้นพบในภายหลังว่าพวกเขาเหล่านั้นคือ ‘ลัทธิประหลาด’ ที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขาทั้งหมดเปลี่ยนไปตลอดกาล
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปสำรวจผลงานชิ้นนี้ของ จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ว่ามีความน่าสนใจมาก-น้อยเพียงไหน, การนำเอาวัตถุดิบที่ชวนค้นหาอย่างลัทธิประหลาดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่องได้ผลเป็นอย่างไร, รวมถึงพาไปสำรวจข้อเท็จจริงของกลวิธีที่เหล่า ‘ลัทธิ’ จากกรณีจริง ๆ บนโลกใบนี้ ใช้ในการล้างสมองผู้ติดตามจนก่อเกิดเป็นกลุ่มก้อนที่มีความเชื่อประหลาดจนคนภายนอกก็ยากที่จะจินตนาการถึง
/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง บ้านเช่า บูชายัญ /
ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้นว่า ภาพยนตร์เรื่อง ‘บ้านเช่า บูชายัญ’ แม้จะลองไปจับต้องอะไรที่แปลกใหม่ อย่าง ‘ลัทธิ’ แทนที่จะเป็นผีเพียว ๆ เหมือนเรื่องก่อน ๆ แต่เอกลักษณ์เฉพาะตัวของ โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ก็ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนไป
เราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์อย่าง ‘ลัดดาแลนด์’ หรือ ‘เพื่อน… ที่ระลึก’ สิ่งหนึ่งที่น่ากลัวกว่าเหล่าผีปีศาจที่มุ่งอาฆาตคนเป็นคือ ‘ชีวิตจริง’ ที่มักเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ใครหลายคนน่าจะเข้าใจความน่ากลัวของมันได้ไม่ยาก ในลัดดาแลนด์เราก็สามารถเห็นได้ชัดว่าการที่จะต้องหาเงินมาผ่อนบ้านในคราวที่ชีวิตพลิกผันอาจทำให้ครอบครัวพังทลายไปได้ขนาดไหน หรือแม้แต่ เรื่องราวบรรยากาศในยุควิกฤติต้มยำกุ้งของ เพื่อน… ที่ระลึก ที่ถ่ายทอดออกมาอย่างน่าหดหู่ใจ
เฉกเช่นเดียวกับในเรื่อง บ้านเช่า บูชายัญ ภายพนตร์เปิดเรื่องมาด้วยเรื่องราวของหนิงที่ขึ้นไปดูห้องคอนโดที่ปล่อยเช่าของตนที่สภาพพังทลายเละเทะ จากฝีมือของผู้เช่าคนล่าสุดที่ได้สร้างปัญหาและหายตัวไปไร้การติดต่อ แน่นอนว่าสิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือการหาผู้มารับผิดชอบให้ได้
แต่ภาพยนตร์ก็ชี้ให้เห็นว่า บางทีโลกแห่งความจริงก็โหดร้ายกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น บางทีชีวิตในโลกแห่งความจริงก็เหมือนถูกกลั่นแกล้งให้ตกลงไปในหลุมแห่งวิกฤตทั้ง ๆ ที่ตัวเราเองไม่ใช่ผู้ก่อเหตุกระทำผิด จะจ้างทนายเพื่อตามไล่ฟ้องบุคคลที่สร้างปัญหานี้ก็ต้องเสียเงินในปริมาณที่ไม่ต่างกับการซ่อมเองใหม่ทั้งหมด เผลอ ๆ อาจจะแพงกว่า
หากเราเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงิน แน่นอนว่าการจ้างทนายเพื่อฟ้องไล่บี้ผู้สร้างปัญหาย่อมเป็นทางที่ดีที่สุด เพราะใครคนนั้นจะได้ถูกลงโทษตามไปด้วย แต่เมื่อมีข้อจำกัดด้านการเงินเข้ามาในสมการ สถานการณ์จึงต่างออกไป ผลลัพธ์ในเชิงผลประโยชน์จึงเข้ามาอยู่ในการคำนึงด้วย ท้ายที่สุด หนิงก็จำต้องถูกตัดทางเลือกให้เหลือแค่การลงมือซ่อมมันด้วยตัวเอง
ไม่เพียงที่จะต้องเสียเงินจำนวนมากในการซ่อม แต่เธอยังขาดรายได้ที่จะเอามาโปะค่าผ่อนคอนโดอีกต่างหาก นี่ยิ่งลากปัญหายาวไปถึงเรื่องการที่ต้องปล่อยเช่าบ้านที่ตนเองอยู่เพื่อมาอาศัยอยู่ที่คอนโดแทน เราจะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและการเงิน แม้จะอยู่ในภาพที่เล็กอย่างระดับรายบุคคลหรือครอบครัว แต่ผลกระทบแบบลูกโซ่ของมันก็ร้ายแรงอยู่ไม่น้อย
ในโลกทุนนิยมเสรีที่เสมือนว่าผู้คนมีตัวเลือก แต่เหตุการณ์นี้ชี้ให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แท้จริงแล้ว ผู้คนที่อยู่ใต้ระบบทุนนิยมหาได้มีอิสรภาพโดยสมบูรณ์ไม่ แต่พวกเขากลับถูกถ่วงและล่ามโดยโซ่ตรวนที่สลักชื่อว่า ‘เงิน’ แม้จะดูเหมือนว่ามีทาเลือกให้เลือก แต่สิ่งที่หนิงเลือกได้ โดยยึดหลักเหตุผลความคุ้มค่าและคำนึงถึงข้อจำกัดทางการเงิน เธอเลือกอะไรไม่ได้เลย นอกจากที่จะต้องจำยอมปล่อยเช่าบ้านอันเป็นที่รักของตนให้ผู้อื่นมาอาศัยอยู่
ต้องยอมรับว่าการเปิดเรื่องเช่นนี้สามารถสร้างข้อจำกัดและสถานการณ์ให้กับตัวละครได้อย่างสมจริงและน่าสนใจ แถมยังดึงเรื่องราวให้มาเข้าใกล้กับประสบการณ์จริงมากไปกว่าเดิมอีกด้วย เพราะแน่นอนทุกคนย่อมมีภาระหน้าที่ ทุกคนย่อมมีบ้าน คอนโด หรือรถที่ต้องผ่อน ทุกคนย่อมีข้อจำกัดทางการเงิน และหลายคนย่อมต้องเคยประสบกับทางเลือกที่ถูกจำกัดโดยจำนวนเงินที่มีอยู่…
หลังจากที่เซ็ทอัพด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินดังที่เราได้เห็นในหลาย ๆ งานของโสภณ หนังก็ได้พาเราเข้าสู่การมาถึงของลัทธิประหลาดที่ค่อย ๆ นำพาปัญหามาสู่เขาทั้งคู่
หากเรานึกถึงภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับลัทธิ จะมีเรื่องใดบ้าง สำหรับผู้เขียน ผมนึกถึงภาพยนตร์อย่าง ‘Eyes Wide Shut’, ‘Midsommar’, หรือ ‘Incantation’ ที่นำเสนอปริศนาสุดวิปลาสของเหล่าลัทธินี้ออกมาได้อย่าเสียวสันหลังจนจำไม่ลืม
ส่วนตัวผู้เขียนเอง ผมคิดว่าเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์เด่นของภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับ ‘ลัทธิประหลาด’ คือปริศนาที่กระตุ้นให้ผู้ชมอยากหาคำตอบ และคำตอบนั้นก็มักเป็นอะไรที่ผู้ชมต่างพาผู้ชมกันอ้าปากค้างเสมอ ๆ ความน่ากลัวของลัทธิเหล่านี้หาใช่ผีสางหรือไสยศาสตร์ที่เหนือธรรมชาติ แต่กลับเป็นความประหลาดเกินคาดคิดของมนุษย์ ที่ทำให้ใครหลายคนรู้สึกว่า
“คนเรามันทำอะไรที่ประหลาดได้ถึงขั้นนี้เชียวหรือ?”
แต่กับบ้านเช่า บูชายัญนี้ต่างออกไป แม้ว่าเรื่องราวหลักจะเกี่ยวกับลัทธิ แต่ลัทธิในภาพยนตร์เรื่องนี้กลับมีฟังก์ชั่นในแบบที่ต่างออกไปกับสิ่งที่ผมกล่าวถึงไปก่อนหน้า เราจะไม่ได้เห็นพิธีกรรมประหลาดที่ทำให้เราตั้งคำถามกับความเป็นคนของพวกเขา แต่เราจะได้เห็นพิธีกรรมไสยศาสตร์ที่ทำงานแบบ ‘เหนือธรรมชาติ’
ความรู้สึกของผู้เขียนเมื่อได้เห็นเจ้าลัทธิมีหลังวิเศษสามารถสะกดจิตคนเป็นซอมบี้ แทนที่จะใช้วาทศิลป์ในการล้างสมอง หรือเห็นพิธีกรรมเรียกผี แทนที่จะเป็นพิธีกรรมประหลาด ๆ ที่ไม่มีอะไรเหนือธรรมชาติ จึงทำให้ความน่ากลัวของเรื่องนี้ — จากมุมมองของผู้เขียน — ลดทอนลงไป
ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการย้ายมิติ รอยสักที่ผุดขึ้นดั่งปาฏิหารย์ หรือพิธีกรรมย้ายร่างที่มีผีจริง ๆ มันจึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้แทนที่จะเป็นภาพยนตร์สยองขวัญเกี่ยวกับลัทธิประหลาด มีสัดส่วนความเป็น ‘แฟนตาซี’ เพิ่มเข้ามา เพราะกลายเป็นว่าตัวชูโรงของลัทธินี้หาใช่ ‘ความประหลาด’ แต่เป็น ‘เวทมนตร์’ เสียมากกว่า
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ บ้านเช่า บูชายัญ ยังคงมีแกนหลักเป็นหนังผีมากกว่าที่จะเป็นหนังลัทธิประหลาดที่ตีแผ่ความวิปลาสของมนุษย์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังรักษาความน่ากลัวรูปแบบของหนังผีได้อยู่แบบเดิม
ภาพ: ภาพยนตร์เรื่อง บ้านเช่า บูชายัญ