04 มิ.ย. 2567 | 17:13 น.
เพื่อให้ได้คำตอบเหล่านี้ ช่วงบ่ายวันนึง The People ได้ไปเยี่ยมเยือนออฟฟิศของ GDH ในซอยสุขุมวิท 31 เพื่อพูดคุยกับ ‘จินา โอสถศิลป์’ ซีอีโอหญิงคนเก่ง และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งของค่ายหนังแห่งนี้
บริษัทแห่งความสุขที่อยากทำหนังไทย ‘เป็นอาชีพ’
“พวกเราเป็นคนใช้ความสนุกสนานขับเคลื่อนชีวิต โดยเฉพาะพี่เก้ง(จิระ มะลิกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง GDH) เรามีความสุขกับการอยู่กันแบบพี่น้อง มีความเท่าเทียม หมายความว่า ถ้าเราทำงานด้วยกัน มันไม่ใช่คนใดคนนึงทำแล้วสำเร็จ มันคือทีม แล้วในทีม ถ้าทำเสร็จ เราทานข้าวหม้อเดียวกัน เราอยู่ด้วยกัน เรานั่งรถคันเดียวกัน เราไปไหนด้วยกัน
“และทุกคนในทีมเรามี Trust ความไว้เนื้อเชื่อใจให้กันและกันว่า แต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองดีที่สุด เมื่อทุกคนเชื่อแบบนี้ งานที่ทำก็จะออกมาดีที่สุด พวกพี่ถูกสอนมาแบบนั้น และอยากส่งต่อให้กับทุกคนที่ GDH”
เป็นคำตอบของซีอีโอ แห่ง GDH เกี่ยวกับคำถามที่ว่า ทำไมค่ายหนังแห่งนี้เป็นค่ายหนังไทยที่สามารถผลิตผลงานได้อย่า่งมีความโดดเด่นและไปได้ไกลถึงต่างประเทศ
ย้อนกลับไปในวันเริ่มต้นแรงของทำค่ายหนัง ทั้งเธอและเก้ง-จิระ มีแรงบันดาจใจว่า อยากทำหนังไทยให้เป็น ‘อาชีพ’ ซึ่งการจะเป็นแบบนั้นได้ หมายความว่า เมื่อลงทุนทำแล้วต้องก่อให้เกิดรายได้ และเดินหน้าต่อไปได้ในระยะยาว
ดังนั้น ผลงานทุกเรื่องตั้งแต่ยุคที่เป็น GTH มาถึง GDH ในปัจจุบันจะเป็น ‘พาณิชย์ศิลป์’ หรืองานที่ต้องได้ทั้งเงินและกล่อง โดยไอเดียหลัก ก็คือ ‘หนังต้องดี’ เพื่อให้คนออกมาดูทันทีเมื่อผลงานออกฉาย ทนรอดูจากช่องทางอื่นได้
ไม่ว่าจะเป็น ‘แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว’ กำกับโดย ‘บรรจง ปิสัญธนะกูล’, ‘ฉลาดเกมส์โกง’ กำกับโดย ‘นัฐวุฒิ พูนพิริยะ’, ‘ร่างทรง’ หนังร่วมทุนกับค่าย Showbox โดยโปรดิวเซอร์ ได้แก่ ‘นา ฮง-จิน’ จากประเทศเกาหลีใต้ และ ‘บรรจง ปิสัญธนะกูล’ รับหน้าที่เป็นผู้กำกับ และ ‘หลานม่า’ หนังทำเงินเรื่องล่าสุดของ GDH กำกับโดย ‘พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์’ ฯลฯ
การทำหนังไม่มีสูตรสำเร็จ
“ทุกคนชอบถามพี่ว่า หนังที่ดีคืออะไร” เป็นสิ่งที่จินาเล่าให้เราฟัง
และคำตอบของเธอก็คือ หนังที่ตั้งใจทำตั้งแต่คิดเรื่อง ทำบท ทำโปรโมต สรุปง่าย ๆ ต้องทำทุกสิ่งอย่างให้ดีในทุกอณูที่สามารถทำได้ ที่สำคัญ เมื่อคนดูแล้วต้องมีความสุข เพราะหน้าที่ของหนังต้องให้ความบันเทิงกับคนดู นั่นแหละคือหนังที่ดี หากถูกใจตลาดแบบวงกว้างด้วยยิ่งดี ยกอย่าง ‘พี่มากพระโขนง’ ที่ทำรายได้ไปพันกว่าล้านบาท
“ใช่ว่า เราจะประสบความสำเร็จทุกเรื่องนะ ไม่เวิร์คก็มี เพราะการทำหนังไม่มีสูตรสำเร็จ อย่างสัปเหร่อประสบความสำเร็จ ไม่มีใครบอกได้ว่า ทำแบบนี้สิ 1 2 3 4 แล้วจะเปรี้ยงเหมือนกัน ไม่มีหรอก สิ่งที่เราต้องตั้งใจทำหนังให้ดีที่สุดในทุกอณูที่จะทำได้ ขึ้นอยู่กับผู้กำกับแต่ละคนจะหาเจอจุดหรือไม่”
“เพราะอะไรถึงบอกว่า หนังไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะการทำหนังเรื่องนึงเป็นการถ่ายทอดสิ่งที่คนทำ โปรดิวเซอร ์ผู้กำกับคิด หรือมีประสบการณ์ออกมาเป็นหนัง ซึ่งคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน อีกอย่างการทำอะไรเหมือนเดิม ไม่ใช่สิ่งที่ GDH ต้องการ เราอยากทำงานให้ดีที่สุด มีการเดินหน้าไปเรื่อย ๆ”
แล้วอะไรจะทำให้ตัดสินหรือคาดการณ์ได้ว่า ผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาจะโดน หรือไม่โดน จะทำเงิน หรือไม่ทำเงิน?
จินาตอบว่า เชื่อมั่นในความจริงใจของเราที่มีต่องานและต้องเชื่อร่วมกันเลยเรื่องนี้ดี เราทำให้ดีแล้ว ต้องมีคนมาดู ซึ่งกลับไปเรื่องของ Trust
“วันที่หนังฉาย นั่นแหละเป็นวันชี้ชะตาว่า เราจะอกหักหรือสมหวัง พอทำงานไปเรื่อย ๆ ประสบการณ์จะสอนเราหลายอย่าง เช่น หลานม่า อาจบทแล้วพี่รู้เลยหนังร้อยล้าน แต่หลายคนบอกว่า เธอบ้ารึเปล่า หนังดราม่าแบบนี้ แต่พอทำโฟกัส กรุ๊ปให้คนมาดูทำให้เรามั่นใจ คนมาดูแน่
“เมื่อก่อนออฟฟิศนี้ใช้ gut feeling อย่างเดียว แต่หลัง ๆ พี่บอกโฟกัส กรุ๊ป ใช้ข้อมูลมาพินิจพิเคราะห์ แล้วใช้ตัวเราเองกับประสบการณ์มาช่วยตัดสินใจ หากใช้ feeling อย่างเดียว มันแปลว่า เรากำลังเอาตัวเองตัดสินใจ ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ เราทำหนังไทยจะทำยังไงให้คนมาดู trust ในหนังไทยเหมือนเราว่าหนังไทยมันมีคุณภาพ การไปดูหนังเสียเวลา เสียเงินนะ แถมสมัยนี้มีสตรีมมิ่งเสิร์ฟถึงบ้าน คุณจะเอาชนะยังไง ก็ต้องชนะอย่างเดียวด้วยตัวงาน คุณจะทำยังไงให้เขาอดทนรอไปอีก 3-4 เดือนไม่ได้”
แหล่งรวมของคนรักหนังไทยที่อยากเก่งขึ้น
“พี่ว่าเราไม่ได้เป็นแหล่งรวมคนเก่งนะ แต่เป็นแหล่งรวมของคนที่อยากทำหนังไทยให้ดี แล้วเราอยากเก่งขึ้น เพราะเราไม่ได้เป็นคนเก่งตั้งแต่ใน day 1 ยกเว้นโต้ง-บรรจง นะอันนั้นเก่งมาตั้งแต่ฟีโนมีนา”
เป็นคำตอบของจินา เมื่อเราถามว่า ทำไม GDH มีแต่คนเก่ง ๆ มารวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็น เก้ง-จิระ มะลิกุล, ตัวจินาเอง, บรรจง ปิสัญธนะกูล, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์, วิทยา ทองอยู่ยง, อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ฯลฯ และการเลือกคนมาร่วมงาน ก็ไม่ได้เกิดจากการ ‘มองเกมขาด’ แต่มาจาก Trust ความไว้เนื้อเชื่อใจ และวางใจให้แต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีตั้งแต่วันแรกของการทำบริษัทมาจนถึงวันนี้
“เป็นความโชคดีที่ GDH มีคนดีที่อยากจะเก่งมารวมตัวกัน แล้วช่วยกันทำงาน เราไม่มีใครคนใดเก่งและนำใครไปได้ การจับคนเก่งในแต่ละสาขามารวมตัวกันให้ทำงานไปด้วยกันได้ มันคือเป้าหมายของบริษัท และทุกคนมีความรัก ความภูมิใจในหนังไทย แล้วก็อยากทำหนังไทยให้ดีที่สุด”
เส้นทางต่อจากนี้ของ GDH
ส่วนก้าวต่อไปของ GDH จากนี้ไปถึงสิ้นปี 2567 จะมีผลงานออกมาอีก 3 เรื่อง หนึ่งในนั้น คือ The Paradise of Thorns เป็นหนังดราม่า แสดงโดย ‘อิงฟ้า วราหะ’ กับ ‘เจฟ ซาเตอร์’ และจะมีหนังผีแนวสนุกอีกหนึ่งเรื่อง ส่วนปีหน้า จะมีหนัง 4 เรื่อง และซีรีส์หนึ่งเรื่อง
สำหรับความท้าทายของค่ายหนังในยุคที่ใคร ๆ ก็ทำได้ ประเด็นสำคัญ คือ ต้องพัฒนาต่อเนื่อง โดยเป้าหมายแรกของ GDH ต้องการทำหนังไทยให้เป็นอาชีพ ถัดมา ต้องการเป็นค่ายหนังไทยชั้นนำที่มีผลงานดี เพื่อก้าวไปเติบโตในต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้หนังของ GDH ไปฉายในแถบอาเซียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงในเกาหลีกับเรื่องร่างทรง โดยจินาบอกว่า วันนี้อยากไปให้ไกลกว่านั้น
“ตั้งแต่บ้านเช่าบูชายัน เราอยากไปไกลขึ้นคิดว่า หนังอันนี้จะไปฉายที่อเมริกาใต้ เพราะเป็นตลาดที่กำลังเติบโต แต่หนังไทยก็คือหนังไทย ฉะนั้นสิ่งเดียวที่ทำให้คนยอมรับได้ ต้องทำให้คุณภาพทัดเทียมกับของเขา ยกตัวอย่างหนัง Parasite ใครจะเชื่อว่าจะได้ออสการ์ ได้ทั้งเงินทั้งกล่อง
“อย่างของเราเองที่ทำมาทั้งหมดตั้งใจให้ยั่งยืน แปลว่าแบรนด์นี้ต้องเป็นแบรนด์ที่คนรู้สึกวางใจว่า เราจริงใจในการที่เราจะทำงานให้เขาดู ซึ่งสำหรับพี่รู้สึกว่า GDH เป็นค่ายที่ทำคอนเทนต์ที่ดีให้มันเดินต่อไป แล้วจริง ๆ เราก็ผ่านมรสุมมาเยอะมาก season change มาทุกฤดู ปิดบริษัทก็ปิดมาแล้ว ไม่มีอะไรน่ากลัว”
จินายิ้มก่อนจะจบการสนทนากับเรา....
.
ภาพ : กัลยารัตน์ วิชาชัย