11 พ.ย. 2567 | 17:12 น.
“คนควรจะตายตอนอายุ 50 แบบสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พอมันยืดยาวปุ๊บ ไอ้ความยืดยาวของความคิดของเค้า ก็จะยืดยาวตามไปด้วย เรายังติดอยู่ในยุคของคุณชาติชายอยู่เลย เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า คนอื่นเปลี่ยนสนามการค้าไปเป็นสนามความคิดแล้ว”
‘คุณชายอดัม’ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ให้สัมภาษณ์ใน People Topics ประเด็น ปัญหาในการขับเคลื่อน soft power รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งหัวใจสำคัญอยู่ที่ ‘การรับฟัง’
ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านภาพยนตร์ คุณชายอดัมยังเล่าถึงความพยายามในการสร้าง ‘ระบบ’ ที่รัฐจะสามารถ support คนทำหนัง ได้ดีขึ้น
ที่น่าสนใจอีกหัวข้อคือการพูดคุยถึงความน่าสนใจของงานเทศกาลภาพยนตร์ที่ ‘World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 16’ ซึ่งทำให้เราได้คำตอบว่า “ทำไมคนไทยต้องดูหนังเป็น?” และ “การเสพศิลปะเป็นเรื่องของคนมีเงินเท่านั้นหรือไม่?”
ถ้าพร้อมแล้ว เชิญติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้เลย
พาฝัน: วันนี้จริง ๆ จะชวนคุยเรื่องวงการหนัง แต่ก่อนจะคุยถึงภาพรวม ขอถามคุณชายเรื่องการตกหลุมรักหนังก่อน
คุณชายอดัม: ไม่ตก ใครตกหลุมรักหนังกัน ผมไม่ตกหลุมรักหนังครับ ไม่เคย
พาฝัน: อ่าว หักหน้ากันตั้งแต่คำถามแรกเลย
คุณชายอดัม: ไม่ได้เรียกว่ารัก เรียกว่าเราเข้าใจ และอยู่กับมันมา เห็นความลําบากของครอบครัว เห็นหลายสิ่ง ไม่ได้รัก ไม่ได้พิศวาส ไม่ได้มี passion แต่เป็นสิ่งที่เรารู้จักมัน อยู่กับมันแล้วเข้าใจมัน ผมใช้คํานี้ และรู้ว่าอํานาจของมันมีเยอะมาก อย่างที่บ้านทํา ‘โหมโรง’ ทําให้คนไปชอบดนตรีไทย ทําให้คนศึกษาประวัติศาสตร์ผ่าน ‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ ทําให้คนเลิกยาผ่าน ‘เสียดาย’ อันนี้คือสิ่งที่เราโตมากับการเห็น power ของมัน
พาฝัน: มีเป้าหมายไหมคะว่าอยากจะใช้หนังเปลี่ยนคนให้เป็นยังไง
คุณชายอดัม: ผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับ เป็นคนบ้าอํานาจละกัน คือการมีอํานาจเป็น security อย่างนึงสําหรับคนทั่วไป เป็นเป็นความปลอดภัยชั้นหนึ่งนะ เหมือนกับคุณมีเงินมาก ๆ คุณมีอํานาจในการที่จะเปลี่ยนจิตใจคนได้นี่มันเป็นอะไรที่โอเค มันเอามาใช้วันหลังได้นะ อยากจีบใคร คุณทําหนังให้เค้าดูละกัน คือมันทํางานได้ แล้วเรารู้สึกว่าเราไม่ได้ต้องการทําให้โลกมันดีขึ้น หรือไม่ต้องการทําให้แย่ลง เราไม่รู้หรอกตอนนั้นเราเด็ก ประมาณประถมเอง แต่เรารู้ว่า เฮ้ย มันมีพลังในการทําให้คนเป็นอย่างอื่นได้ แล้วทําให้คนเชื่อเราได้ ถ้าคนเชื่อเราได้ ผมว่าชีวิตเราโอเคนะ เป็น soft power เลย
พาฝัน: เลยอยู่ในวงการหนังและคอนเทนต์ ไม่ไปไหนเลย
คุณชายอดัม: ไม่ได้ไปไหนเลย ไปไหนไม่ถูกเหมือนกันครับ มีอย่างเดียวคือร้านไก่ย่าง ที่บ้านคือครึ่งหนึ่งทำร้านไก่ย่าง ขายอาหารอีสาน ซึ่งเลี้ยงเรามา ส่วนภาพยนตร์นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราเจ็บปวดใจ แล้วก็เป็นสองอย่างที่อยู่ด้วยกัน
พาฝัน: เหมือนเป็นภารกิจของบ้านคุณชาย
คุณชายอดัม: เป็นคำสาป เสด็จปู่ก็ทรงบอกพ่อว่า อย่าทำหนังเลยลูก มันจน พ่อก็บอกผมนะ อย่าทำหนัง มันจน ผมเลยบอกว่า งั้นไม่มีลูกดีกว่า เพราะบอกไปก็รู้ว่าไม่ได้แน่นอน
พาฝัน: คุณชายเคยให้สัมภาษณ์ว่าตลาดไทยเป็นตลาดปราบเซียน ช่วยขยายความหน่อยได้ไหมคะ ทำไมถึงมองอย่างนั้น
คุณชายอดัม: คนไทยชอบของดีที่สุดครับ ชอบเลือกของที่ดีที่สุดในโลกโดยที่ไม่ต้องจ่าย คนไทยต้องการความคุ้มค่าสูงสุด โดยที่ไม่แคร์ว่าจะได้มาด้วยประการใด วิธีการใด
พาฝัน: เพราะเราจนและต้องดิ้นรนเหรอคะ?
คุณชายอดัม: เพราะเราไม่ค่อยมองเห็นคุณค่าของการได้มาซึ่งสิ่งบางอย่าง หรือสร้างมาซึ่งสิ่งบางอย่าง เราเป็นประเทศเสพ ไม่ใช่ประเทศสร้าง เพราะงั้นเราจึงไม่เห็นคุณค่าของการสร้างเท่ากับการเสพ
เลยเหมือนกับว่า โอเคเราอยากเสพ เราเสพของที่ดีที่สุด ไม่ต้องจ่ายได้ไหม เราจะคิดแบบนี้ ตั๋วฟรีได้ไหม โปรโมชั่นได้ไหม ทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าคุณเป็นอันดับสอง ต่อให้คุณให้เราฟรี เราก็ไม่เอา ต่อให้จ่ายเงินให้อีกล้านบาทก็ไม่เอา เพราะมันเป็นอันดับสอง เราเอาหนึ่งอันดับหนึ่งเท่านั้น ไม่เชื่อลองจัดฟรีคอนเสิร์ต เอานักร้องที่คนไม่รู้จักแต่เก่งมาก ๆ เลย เก่งระดับโลกหมดเลย ถ้าไม่ได้ดังในเมืองไทยก็ไม่เกิด ไม่มีใครดู ให้ฟรีก็ไม่ดู ให้เงินด้วยก็ไม่ดู เพราะเสียเวลาชีวิต ชีวิตเรามีค่ามากกว่า กลับไปเลี้ยงลูกดีกว่าอะไรประเภทนี้
พาฝัน: แล้วเรื่องนี้ส่งผลยังไงกับคนผลิตสื่อในบ้านเรา
คุณชายอดัม: ก็ต้องทําให้เป็นที่หนึ่งให้ได้ แต่ว่ามันก็ข้อเสียคือ เราไม่มีความหลากหลายเลย เราไม่มีทางเลือก แล้วเราก็เกิดการ judge ดูหนังต้องคุ้มค่าตั๋ว แล้วทำไมต้องคุ้มอะ เราจะบอกได้ยังไงว่าระหว่างสีแดงกับสีน้ำเงิน อะไรคุ้มกว่ากัน สีน้ำเงินให้ความเย็น สีแดงให้ความร้อน ความร้อนกับความเย็นมันคนละอย่าง แล้วอะไรจะคุ้มกว่ากัน
พาฝัน: มันเปรียบเทียบไม่ได้
คุณชายอดัม: มันเปรียบเทียบไม่ได้ ศิลปะเปรียบเทียบได้ตามความคิดของเรา คําว่าคุ้มค่าตั๋วเลยไม่ valid มากเลย จริง ๆ แล้วการดูงานศิลปะ การปลูกต้นไม้ในบ้าน ต้องคุ้มไหม? กระถางนี้กับกระถางนั้น ต้นนี้กับต้นนั้นอะไรคุ้มกว่ากัน? เนี่ยเห็นไหมว่าประเทศไทยกําลังมุ่งไปสู่การคุ้ม อะไรก็ตามต้องคุ้มหมดเลย
พาฝัน: ไม่มีใครทันสังเกต แต่ว่ามันเหมือนอยู่ในเลือดเราตั้งแต่เกิด
คุณชายอดัม: ซึ่งนั่นแหละ ผิดหมดเลย เราก็เลยไปได้แค่ทางเดียวไง เน้นทางเดียวมาก ๆ เราก็เลยมีแต่ละครน้ำเน่าที่ฮอต แม่งกี่ปี ๆ ก็เหมือนเดิม ซึ่งไม่ได้แย่ แต่ถามว่ามีอย่างอื่นได้หรือเปล่า ไม่ได้มีแค่นี้ แต่เพราะว่าเราเลือกที่จะเป็นแบบเดียว
ผม enjoy นะ แต่ว่าเราจะดูแค่นั้นจริง ๆ ตลอดกาลหรือเปล่า? เราจะเห็นว่าเด็กยุคใหม่เริ่มเปลี่ยน ถึงเข้ามาสู่จุดระเบิดตู้มเป็นโกโก้ครันซ์ในเวลานี้ เพราะว่าคนเริ่มบอกแล้วว่า คําว่า คุ้ม มันอาจจะไม่คุ้มแล้วก็ได้ อย่างวงการหนังปีก่อนหน้า ก่อนที่จะมาถึงเรื่อง ‘ธี่หยด’ หรือ ‘สัปเหร่อ’ มันเดี้ยงเลยนะครับ แล้วอยู่ดี ๆ มันก็เกิด แล้วหนังที่เกิดขึ้นหลาย ๆ เรื่องก็ไม่ได้เป็นหนังที่เราคิดว่ามันจะเป็นหนังตลาด แล้วมันก็เกิดร้อยล้าน
พาฝัน: เรื่องนี้สะท้อนอะไรคะ
คุณชายอดัม: สะท้อนว่าคนอึดอัด ที่จะต้องเอาความคุ้มค่าเป็นตัวตั้งอย่างเดียว เราไม่ได้คิดทางเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว กลายเป็นการตอบโจทย์ของที่อยู่ข้างในใจเราบ้าง คือเราซื้อของที่ความพึงพอใจ แต่ตอนนั้นความพึงพอใจของเราถูกกําหนดถูกบีบคั้นด้วยสิ่งต่าง ๆ ด้วยทางเลือก ถ้าเป็นการเมืองก็เหมือนทุกอย่างมันเป็นทางเลือกเท่านั้น มันไม่ซ้ายก็ขวา ไม่บนก็ล่าง สินค้าทุกอย่าง ไม่ซ้ายก็ขวา ไม่บนก็ล่าง
หรือการดูหนังในแพลตฟอร์ม ลองไปเปิดดูสิครับ แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ มีหนังอยู่แค่ประมาณ 50 กว่าเรื่องเอง ไม่มีทางเลือกได้มากกว่านั้น เราถูกจํากัดตลอดเวลาเลยอะ มันอึดอัดเนอะ ผมว่าคนไทยอึดอัดมาก แล้วเราก็ไม่มีทางเลือก แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเราจะเลือกทางเลือกใหม่ได้ยังไง เพราะเราไม่ได้เรียนรู้นะ เราไม่เรียนรู้ที่จะมีทางเลือก ไม่เคยเรียนรู้ตั้งแต่ 30 – 40 ปีแล้ว ไม่เคยมีทางทางเลือก เราไม่เคยรู้ว่าเราจะเลือกอะไรได้บ้าง เราไม่เคยรู้ว่าเราจะ enjoy ชีวิตกับอะไรได้บ้าง นอกจากสุดสัปดาห์ขับรถไปไหว้พระที่ดอยสุเทพ แล้วขับรถกลับไปต่อคิวกันอยู่ในถนน อะไรประเภทนี้ มันอึดอัดมาก ผมว่าเป็นประเทศที่อึดอัดดี ทั้งที่เราหลากหลายมากเลย
พาฝัน: หมายความว่าหลังจากนี้ มันมีโอกาสที่อุตสาหกรรมรรมหนังไทยหรือว่าผู้ผลิตสื่อ น่าจะมองเห็นช่องทางดี ๆ มองเห็นโอกาสดี ๆ มากขึ้น หรือเปล่าคะ?
คุณชายอดัม: เค้ามองเห็นนานแล้วครับ แต่เค้าทําไม่ได้ คนก็อยากทําอะไรที่มันแปลกและแตกต่าง พยายามสร้างสิ่งที่แตกต่าง สร้างสิ่งที่แปลกใหม่ ด้วยวิธีการที่จํากัดจําเขี่ยมากในเวลานี้ เพราะตลาดมันยังไม่เกิด มันไม่มีองคาพยพทั้งหลายแหล่ที่จะช่วยคนดู คนลงทุน คนทํางาน มันไม่มีอะไรเลยนะ ไม่มี infrastructure ทั้งที่ประเทศเราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เป็นลำดับต้น ๆ ของโลก เรามีน้ำประปาราคาถูกมากเมื่อเทียบกับออสเตรเลีย หรือเซาท์แอฟริกา เรามี infrastructure อื่น ๆ ที่ดีนะ เรามีความมั่นคงทางอาหาร หลังจากสงครามยูเครนเกิดขึ้นปุ๊บ ยุโรปแทบจะขาดอาหาร ขาดน้ำมัน เรายังมีน้ำมันอยู่ และยังมีอาหาร เรายังเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม แต่ไม่มีโครงสร้างทางวัฒนธรรม
พาฝัน: รุ่มรวยมาก แต่ว่าไม่เป็นระบบ
คุณชายอดัม: รุ่มรวยแต่รุ่มร่าม รุ่งริ่งด้วย
พาฝัน: พูดมาขนาดนี้ เรามาคุยเรื่อง soft power กันดีกว่า คำนี้เป็นคำที่ฮิตมาก ในมุมมองของคุณชาย soft power คืออะไร
คุณชายอดัม: พลังนุ่มนิ่ม (หัวเราะ) คือการที่เรามีอิทธิพลเหนือชาติอื่น พูดง่าย ๆ เลยเราอยากมีอิทธิพลเหนือชาติอื่น เราอยากเป็นมหาอํานาจ โดยที่ไม่ต้องไปยิงเค้า ไม่ต้องไปบุกรุกเค้า ไม่ต้องไปบังคับเค้าบนศาลโลกหรืออะไรก็ตามแต่ ถ้าเราทําแบบนั้นได้ เราจะทําให้คนเชื่อได้ เหมือนที่ครั้งหนึ่งคนไทยดูดบุหรี่มาร์โบโร่จากกระแสหนังคันทรีที่มีคาวบอย มีคนขี่ม้า ในหนังทุกเรื่องต้องมีบุหรี่หมดเลย แล้วคนในประเทศไทยก็เลยดูดบุหรี่ตาม หรือผู้หญิงที่ถือของหรูหราก็เพราะเห็น ‘ออเดรย์ เฮปเบิร์น’ ถือใน ‘Breakfast at Tiffany’s’ ซึ่งทำให้เห็นถึงความเป็น ‘American Dream’ เช่นเดียวกับการที่เรารับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาจากการ์ตูน หรือเพลงร็อคแอนด์โรลล์จากทหารจีไอ แล้วก็มาสู่ยุคเจป็อป และตอนนี้เรากำลังจะไปสู่ ‘ไชนีส ดราม่า’ ของทุกอย่างเป็นของจีนหมด นี่คือพลังมืดที่มองไม่เห็น แต่ทำให้เราซื้อ กิน ใช้ ในสิ่งที่เป็นของที่ถูกกำหนดโดยต่างชาติ
พาฝัน: เราก็อยากจะเป็นแบบนั้นด้วยประโยชน์ของเศรษฐกิจ
คุณชายอดัม: ใช่ ถ้าเราไม่สามารถทําอย่างนั้นได้ ของที่ผลิตในประเทศไทย ทั้งสินค้าและบริการ จะตาย
พาฝัน: ทีนี้เราจะเอาอะไรไปสู้เค้าได้คะ
คุณชายอดัม: มากมายครับ จริง ๆ แล้ว ของทุกอย่างอะครับมันอยู่รอดได้ด้วยกลไกตลาดอยู่แล้ว ถ้ามันห่วยมันต้องตาย แต่ถ้ามันดีแต่มันต้องตาย นั่นแปลว่า เราทําหน้าที่ไม่เหมาะสมในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ดี ดังนั้นพอเรามีของที่เรียกว่า product and service ที่ดีอะ เราจะทํายังไงให้คนรู้จัก เราจะทํายังไงให้คนเข้าใจว่ามีสิ่ง ๆ นี้อยู่ มีบริการชนิดนี้อยู่ มีกรอบความคิดนี้ของคนไทยอยู่ ยกตัวอย่าง ‘ภรรยาไทย’ ซึ่งทั้งรับฟัง ทั้งอดทน มีความเข้าใจ มี service mind รอบรู้ ทำกับข้าวเป็น ทำงานบ้านเป็น มีความ independent ที่จะพูด แต่ขณะเดียวกันก็เข้าใจว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร
การแต่งงานกับคนไทยนี่ถือว่าเป็นสิ่งที่หรูหราและประเสริฐมากของชายชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นชาติใดก็ตาม เค้าจะรู้สึกว่าเค้ามีครอบครัวที่ยอดเยี่ยมในอนาคตที่ดูแลได้ทั้งลูกเค้า หลานเค้า ญาติเค้า พ่อแม่เค้า ดูแลตัวเค้า และสิ่งที่ provide ให้กับประเทศคือ economic
เราไม่ได้มองว่าเค้าเป็น product หรืออะไร แต่นี่คือ soft power คือเรามีอิทธิพลเหนือผู้อื่น เพราะว่าผู้หญิงไทยคือผู้หญิงที่ยอดเยี่ยมบนโลกใบนี้
พาฝัน: การมองหา soft power จำเป็นต้องแหวกแนวมากไหมคะ
คุณชายอดัม: มองว่าไม่ต้องแหวกครับ มองภาพความเป็นจริงครับ มองจากสิ่งที่ตาเห็นครับ
พาฝัน: และยอมรับด้วย
คุณชายอดัม: ต้องยอมรับมัน แล้วก็ drive มันให้ถูกหลักอนามัย แต่ต้องมองให้ถูกต้อง แล้วก็มองชัดเจน ที่เค้าชอบล้อกันว่า soft power เป็นอะไรก็ได้ มันใช่ เพราะมันเป็นอะไรก็ได้ ตราบใดที่เรามีอิทธิพลเหนือคนอื่น
พาฝัน: นอกจาก ภรรยาไทย คุณชายเห็นศักยภาพอะไรอีกที่พอจะเป็น soft power ของไทยได้
คุณชายอดัม: จริง ๆ มันแทบจะทุกอย่างอะครับ มันอยู่ที่ว่าเราสามารถที่จะมองจุดแข็งของมัน มองกลุ่มปลายทาง ประเทศปลายทางต่าง ๆ เราจะเอาอะไรไปชนเค้าอะเราจะเอา product อะไรของเราไปชนเค้า อย่างอเมริกาใต้ตอนนี้เค้าชื่นชอบเรื่อง LGBTQ ของไทยมากเลยครับ
พาฝัน: พอมีสักตัวที่พุ่งแล้ว เราจะต่อยอดได้ยังไงคะ?
คุณชายอดัม: เค้าต้องเชื่อเราก่อน เหมือนที่เค้าเชื่อในยาดมของเรา เพราะเมื่อเค้าเชื่อปุ๊บว่ายาดมนี้มีสรรพคุณบางอย่างที่มันไป refresh man being ทำให้มนุษย์ตื่นเต้นสดชื่นแจ่มใส ทุกคนก็จะเริ่มซื้อยาดมตัวนี้ ขนกันไปเลย นี่คืออำนาจที่เราจะสร้าง แต่อันนี้มันเป็นแค่ product มันยังไม่ได้เป็นภาพรวมนะครับ มันไปได้ไกลกว่านั้นด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่างเช่น ในเมื่อทุกประเทศที่ติดทะเลมีชายหาด ทำไมต้องเป็นหาดเมืองไทย เราต้องตั้งคําถาม เพราะว่าเรามีของที่เหมือนกันนะ แต่วิธีการทําให้ความเชื่อเกิดขึ้น มันแตกต่างกันไง มันผ่านหนังเรื่อง ‘The Beach’ นะ ผ่านหนังเรื่อง ‘Lost in Thailand’ ผ่านหนังเรื่อง ‘Hangover’ คือของเหล่านี้มันสร้างความเชื่อทั้งนั้นเลยครับ มันคือการสร้างความเชื่อโดยที่เราไม่ได้พยายาม force เค้า มันคือการทำให้เค้าเชื่อ แล้วพอเค้าเชื่อปุ๊บ มันมีการบอกต่อสู่ลูกหลานว่า ประเทศไทยเป็นแบบนี้นะ มีหลายอย่างเลยที่เค้าเชื่อในเมืองไทย ทั้งอาหาร การนวด พุทธศาสนา ตอนนี้รัฐบาลควรมีส่วนร่วมในการ shape ความเชื่อนี้มากขึ้น ในหลายทาง
แล้วการที่เราจะสร้างอิทธิพลเหนือคนอื่นได้ยังไง ก็ต้องคิดแล้วมอง มองเขามองเรา adapt ไปเรื่อย ๆ ทำสงครามคุณจะบุกแบบเดิมทุกวันไม่ได้ คุณเอารถถังบุกทุกวันไม่ได้ คุณต้องมีเครื่องบิน คุณต้องมีเรือรบคุ ณต้องมีปืนใหญ่ คุณต้องมี combine force และอื่น ๆ soft power ก็ไม่ได้ต่างกันครับ มันก็ต้องมีหลากหลายปัจจัยหลากหลายวิธีการ แต่เราตั้งใจที่จะชนะสงครามต่างหาก และนี่คือสงครามความเชื่อ
พาฝัน: soft power จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในวงการหนังได้หรือไม่คะ?
คุณชายอดัม: ไม่ได้เปลี่ยนครับ คือเราแค่สร้างถนนเพื่อลากจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แต่เราไม่ได้บอกคนขับรถว่าต้องขับยังไง ถ้าเราบอกเค้าอะ มันแปลว่า รัฐต้องรู้ดีกว่าเค้า รัฐต้องรู้ดีกว่าคนทำหนัง ซึ่งเรารู้ดีกว่าคนทำหนังหรือเปล่า เปล่าเลย เราต้องเชื่อเค้า ต้องเชื่อปรัชญาของคนเล่าเรื่อง เราต้องเชื่อในสิ่งที่เค้าทํา เราต้องไปนั่งฟังเค้าก่อน เราฟังเค้าจริงหรือเปล่า เราฟังคนทําเพลงจริงหรือเปล่า เราฟังหมอนวดจริงหรือเปล่าว่าหมอนวดขาดอะไร หมอนวดขาดทิชชูเปียกไหม ต้องลดราคาทิชชูเปียกหรือเปล่า เพราะเค้าใช้บ่อย เราฟังเค้าจริงหรือยัง ถูกไหม?
พาฝัน: งั้นปัญหาของรัฐในการขับเคลื่อน soft power หรือเรื่องต่าง ๆ มันน่าจะอยู่ที่การรับฟัง
คุณชายอดัม: ใช่ รัฐเคยฟังหรือเปล่า
พาฝัน: เราจะแก้ปัญหานี้ได้ยังไงคะ
คุณชายอดัม: ก็เราเป็นคนฟังให้ก่อน แล้วไปบอกเค้า ทําไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่าฝั่งนี้เค้าก็ไม่ได้อดทนอยู่แล้ว ฝั่งประชาชน public sector อะ แต่ภาคบริการ ภาคทํางาน ภาคเอกชน เค้าก็ไม่ได้ฟังรัฐบาลอยู่แล้ว รัฐบาลบอกไม่ได้ แล้วเค้าจะบอกว่า เออ ช่วยทําให้หน่อย แล้วก็ไปนั่งอยู่ในนั้นฟรี ไม่ต้องทํางานทําการกัน แล้วไปนั่งแก้ปัญหาประเทศ มันไม่มีใครทําอยู่แล้ว มันไม่มี แต่ว่ารัฐบอกว่ามันไม่ได้ ระเบียบมันเป็นอย่างงี้ ระเบียบมันมีอย่างงี้ อ้าว แล้วเราก็บอกว่า แล้วหน้าที่ของคุณคือการทําให้ประเทศพัฒนาไม่ใช่เหรอ แต่คุณบอกว่าไม่ได้ โอเค ประเทศเจริญไม่ได้ แต่เรามีระเบียบได้ แปลว่า ประเทศเราล่มจมได้ และแปลว่าประเทศเราจีดีพีเท่ากับศูนย์ คนตกงานร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มได้ แล้วคนเลือกตั้งทุกอย่างที่ตรงข้ามกับที่ที่คุณบอกได้ แต่ระเบียบบอกว่าไม่ได้ นั่นแปลว่าประชาธิปไตยผิด ถูกไหม แล้วประเทศไม่ได้เดินหน้า คุณจะแบกรับการไม่เดินหน้าของประเทศแทนได้ไหม นี่คือหน้าที่เราใน soft power committee ก็แค่บอกว่า มันไม่ทําให้ประเทศเดินหน้า public sector ทั้งหมดในภาคเอกชนทั้งหมด มันเดินหน้าแบบนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าคุณทําแบบนี้ มันจะเกิดขึ้น ถ้ามันไม่เกิด เราก็เปลี่ยนไปทาง a b testing ไปเรื่อย ๆ
พาฝัน: คิดว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนค่ะ
คุณชายอดัม: หนึ่งชั่วอายุคน
พาฝัน: เดี๋ยวนี้คนอายุยืนขึ้นนะคะ
คุณชายอดัม: นั่นแหละปัญหาใหญ่ครับ คนควรจะตายตอนอายุ 50 แบบสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พอมันยืดยาวปุ๊บ ไอ้ความยืดยาวของความคิดของเค้า ก็จะยืดยาวตามไปด้วย เมื่อกี้เราคุยกันก่อนเข้ามา ผมยังพูดว่า เรายังติดอยู่ในยุคของคุณชาติชายอยู่เลย เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า คนอื่นเปลี่ยนสนามการค้าไปเป็นสนามความคิดแล้ว แล้วเค้าไปสู่ innovation country หมดแล้ว เรายังเป็น industrial ซึ่ง industrial ซึ่งเราแพ้จีน แค่นิคมของเขานิคมนึงอ่ะ ประชากรแทบจะเท่าประเทศไทยทั้งประเทศแล้ว จะเอาอะไรไปสู้เค้า economy of scale เราสู้ไม่ได้ แล้วเค้ายังผลิตนักวิจัยอีก แค่นักวิจัยอย่างเดียวอาจจะมีมากกว่าเด็กไทยทั้งหมดรวมกันอีก จำนวนเค้าเยอะมาก เค้าฉี่ใส่ประเทศเรา เราจมน้ำตายกันหมดแล้ว
พาฝัน: เห็นภาพมากเลยค่ะ
คุณชายอดัม: เพราะฉะนั้นเราจะสู้ด้วยวิธีการแบบเดิมไม่ได้ ด้วย supply chain แบบเดิมไม่ได้ ไม่ได้ก็ต้องคิดใหม่ทําใหม่ ของที่จีนไม่มีแต่เรามี แล้วของที่เราไม่มี เราจะต้องไปหามาจากไหน คือเราต้องคิดใหม่ทําใหม่ การที่บอกว่าคนอายุยืนขึ้น ชั่วอายุคนมันก็ลําบากขึ้น เพราะว่าเราต้องรอคนตายกันหนึ่งเจเนอเรชันก่อน ผมต้องตายก่อน
พาฝัน: ฟังดูเหมือนไม่มีวิธีแก้ปัญหา
คุณชายอดัม: แก้ระหว่างนั้นไง ระหว่างนั้นเรามี progress ไง เราสร้างถนน เราสร้าง infrastructure เราสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เราสร้างระบบที่รัฐจะสามารถ support คนได้ดีขึ้น ไม่แน่ใจว่าจะ support แบบไหน เราต้องเลือกระหว่างสองทางคือ support แบบโลกทุนนิยม กับ support แบบโลกสังคมนิยมหน่อย ๆ ก็คือแบบยุโรป ยุโรปคือภาษีสูง ๆ คุณให้กลับมาที่กองกลางเยอะ แล้วเรา support คุณกลับไปเยอะ ระหว่างที่อีกแบบคือแบบทุนนิยมคือ support ในเชิงโครงสร้าง แต่หยุมหยิมเยอะ แต่มันไม่ได้ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่เอกชนก็ไม่ต้องจ่ายกลับมาเต็ม ไม่ต้องจ่ายกลับมาสู่รัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ต้องเลือกวิธีหน่อยนะ
ซึ่งประเทศไทยอะ ขอรับแบบประเทศสังคมนิยม แต่ขอให้แบบทุนนิยม รับเต็มๆ จ่ายน้อยได้ ขอจ่ายภาษี 2% ได้ไหม แต่ขอรับแบบ 6 ประเทศที่จ่ายภาษี 65 - 70% เพราะเราคิดว่าภาษีมันไม่มีทางกลับมาถึงเราหรอก มันจะไปเข้ากระเป๋าใครบางคน มันก็เลยทำให้คนไม่ค่อยเชื่อไง เราก็ต้องหาวิธีทําให้เขาเชื่อ ต้อง offer ให้ก่อน ให้เห็นว่ามันเกิดได้ ต้องไปต่อรอง หน้าที่เราคือเป็นคนกลางระหว่างสองอย่างนี้
พาฝัน: ตลอดเวลาเวลาที่ทํางานอยู่ในคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างคะ
คุณชายอดัม: เยอะเลย ง่าย ๆ เลย มันเปลี่ยนกฎหมาย เปลี่ยนระบบการทํางาน เราเปลี่ยนโครงสร้างเยอะนะ เรามีงบประมาณสนับสนุนให้กับโครงการเยอะพอสมควร แล้วก็มีงบประมาณการจัดงาน และงบประมาณในการวิจัยสนับสนุน เราพยายามจะตั้งให้คนตั้งสมาคมวิชาชีพขึ้นมา เพื่อจะได้มีโครงสร้างที่ต่อเนื่องกัน นี่คือในช่วงเวลาแค่หนึ่งปี ก็ถือว่าเราก็ประสบความสําเร็จในการที่จะทําให้คนอยู่ร่วมกัน โดยที่ไม่ตีกันและไม่วงแตก
พาฝัน: อยากให้คุณชายเล่าถึงความน่าสนใจของเทศกาลภาพยนตร์ World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 16
คุณชายอดัม: งานนี้เป็นหนึ่งในในยุทธศาสตร์ของการสนับสนุน อยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับชาติอื่น ซึ่ง run มานานแล้ว ปัญหาคือมันถูกจำกัดด้วยงบประมาณมาโดยตลอด คือเรามีชื่อ เรามีภาพยนตร์ที่ถูกคัดสรรในพื้นที่ เป็นงานดี ๆ ที่มาจากsoutheast east Asia และจากทั่วโลก มี curation ที่ดี แต่ว่าเรายังไม่สามารถทําให้งานเกิดเป็นปูซานได้ เพราะมันไม่ได้ขยายตัว มันถูกจํากัดอยู่แค่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
คิดว่าถ้าเรานํางบประมาณเข้าไป เราจะพัฒนามันแต่ละปีได้อย่างไรให้มันเกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น แล้วพองานมันมีชื่อมากขึ้น มันทําให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนได้มากขึ้นหรือเปล่า แล้วทําให้คนมี ‘ศิลปวิจักษ์’ ได้หรือไม่ แล้วเราจะมีส่วนร่วมในการคุยกับ คนดูหนัง คนทําหนัง นักแสดงต่างชาติ ได้มากขึ้นแค่ไหน ก็คิดว่าเป็นเรื่องสําคัญมากนะครับ แล้วในประเทศไทยมีเทศกาลที่ run กันจริงจังไม่กี่เทศกาล
พาฝัน: ทำไมคนไทยต้องดูหนังเป็นคะ
คุณชายอดัม: คนไทยต้องดูศิลปะเป็น ไม่ใช่แค่หนัง ต้องมี art appreciation ไม่งั้นเราจะไม่รู้ว่าทําไมเราต้องทาสีบ้านสวย ๆ สมมติว่าทุกบ้านทาสีบ้านคนละสี แล้วสีปี๊ดเลยนะ มันกลายเป็นมูราโน่ที่อิตาลีเลยนะ เพราะคุณเข้าใจไงว่าศิลปะวิจักษ์มันเป็นยังไง คุณเข้าใจว่าศิลปะสามารถดึง value ของสิ่งบางสิ่งขึ้นมาได้ คุณทําของให้มี package สวย คุณจะไม่สามารถสร้าง value หรือสร้างมูลค่าให้กับอะไรได้เลย เพราะของของคุณจะถูกตีมูลค่าด้วย function ของมัน
และหากเรามีความรู้ ความรู้นั้นอาจจะไม่ได้เป็นความรู้ที่ดีที่สุดในโลก แต่ความรู้บวกศิลปะทําให้ value มันพุ่งขึ้นได้ ดังนั้นคนไม่เข้าใจศิลปะก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้มาก ไอน์สไตน์ยังบอกเอง จินตนาการสําคัญกว่าความรู้ เพราะศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าใจใน emotion หรือความเข้าใจในสภาพจิตใจ สภาพสมองของเขา สภาพของจิตวิทยาของเขา แล้วถ้าคุณไม่เข้าใจ emotion คุณไม่เข้าใจการทํางานกับคน ต่อให้คุณเก่งตัวเลขแค่ไหน มันไม่ connect กับคน มันก็อยู่ไม่ได้ อืม เพราะฉะนั้นการการเข้าใจศิลปะที่ง่ายสุดคือ การเสพ เริ่มต้นจากการเสพ แล้วทําความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็เข้าใจกับสภาพของสิ่งที่มันสะท้อนกลับมา ผ่านภาพยนตร์ ผ่านเพลงก็ได้นะครับ ผมไม่ติด ผ่านการเต้นก็ได้ ทําอะไรก็ได้
พาฝัน: แต่คนมักชอบคิดว่า ศิลปะเป็นเรื่องของคนมีเงิน เราจะล้างมายาคตินี้ได้ยังไง
คุณชายอดัม: ทําได้ครับ ที่ประสบความสําเร็จดีมากเลย คืองานกรุงเทพฯกลางแปลง ที่ กทม. เค้าจัดเมื่อปีก่อน เอาหนังมาฉายกลางแปลงให้คนดูฟรี คนมาดูมหาศาล แล้วคนมาดูทําให้เกิดอะไร ทําให้เกิดลูกชิ้น ทําให้เกิดปลาหมึกย่าง ทําให้เกิดการขายน้ำ เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนแต่ละที่ ภาพยนตร์สองชั่วโมงทําให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนหลายพันบาทหลายหมื่นบาทกับคนที่อยู่รอบข้างในทุกพื้นที่ ทําให้เกิดการพบปะของชุมชน มันเกิด economic ได้หมดแหละครับ แต่ว่าเรามองมันจริงหรือเปล่าทุกคนหาโอกาสในทุก ๆ อย่างได้อยู่แล้ว นั่นไม่ใช่เศรษฐีด้วยนะครับ คนขายลูกชิ้นปิ้งไม่ใช่เศรษฐีครับ คนธรรมดานี่แหละ เรากําลังคิดเหมือนกันว่า เราจะทํายังไงที่จะทําให้คนที่อยู่ under property line สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากภาพยนตร์ ทำยังไงให้คนเอื้อมถึงได้
สัมภาษณ์: พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม