25 ต.ค. 2567 | 17:00 น.
หากย้อนกลับไปในอดีต นิยามของพลังหรือการแข่งขันของแต่ละประเทศย่อมหนีไม่พ้นอำนาจทางการทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ หรือแม้แต่ศักยภาพทางเศรษฐกิจ ใช่ว่าในวันนี้ พลังเหล่านั้นจะหมดความสำคัญไป ทว่าครึ่งศตวรรษให้หลังมานี้ โดยเฉพาะตั้งแต่สงครามเย็นก็มีอีกพลังสำคัญกำเนิดขึ้นมา ซึ่งก็คือ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power)
ถือเป็นคำที่ได้ยินบ่อยและถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะไม่กี่ปีให้หลังมานี้กับซอฟต์พาวเวอร์ ที่ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จมากมายจากประเทศต่าง ๆ ในการส่งออกวัฒนธรรมของตน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ โดยเฉพาะผ่านสื่ออย่าง ‘ภาพยนตร์’
แต่ในขณะเดียวกันกับที่มีคนหันมาสนใจเรื่องประเด็นการส่งออกวัฒนธรรมมากขึ้น ก็มีผู้คนอีกไม่น้อยที่มองว่าคำ ๆ นี้ถูกพูดบ่อยจนเกร่อจนไม่ได้มีความหมายอะไร นอกจากนั้น ซอฟต์พาวเวอร์ก็มากับความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะวิธีการส่งออกให้ไม่ดู ‘ยัดเยียด’ มากจนเกินไป
ในบทสัมภาษณ์นี้ The People จะพูดคุยกับ ‘นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี’ หรือ ‘หมอเลี้ยบ’ รองที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีและรองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติมาพูดคุยกันถึงคำ ๆ นี้ ครอบคลุมไปถึงเรื่องราวของภาพยนตร์ ที่ถือเป็นความหวังสำคัญที่จะส่งซอฟต์พาวเวอร์ออกไปได้
The People : คำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) ทุกวันนี้นี้ถูกใช้อยู่บ่อยครั้ง บางครั้งอาจจะกลายเป็นเหมือนคำฮิตที่หลายคนพูดถึง แต่ไม่แน่ใจว่าทุกคนเข้าใจตรงกันหรือไม่ ในมุมมองของคุณ ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : จริงครับ คำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ถูกพูดถึงกันบ่อยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากที่ มิลลิ ขึ้นแสดงบนเวที Coachella พร้อมกับข้าวเหนียวมะม่วง ซึ่งทำให้คนเริ่มพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม คำนี้ถูกนำมาใช้โดย ศาสตราจารย์ ‘โจเซฟ ไน’ (Joseph Nye) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ซึ่งนอกจากเป็นนักวิชาการแล้ว เขายังเป็นนักยุทธศาสตร์ทางการทหารด้วย ในช่วงทศวรรษ 1990 เขาได้ดำรงตำแหน่งในกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ
โจเซฟ ไน เสนอคำว่าซอฟต์พาวเวอร์เพื่อใช้แทนการใช้กำลังหรือ ‘ฮาร์ดพาวเวอร์’ (Hard Power) โดยมองว่าการใช้เสน่ห์ หรือ ‘Attraction’ เป็นวิธีที่จะทำให้ประเทศอื่น ๆ ทำตามได้โดยสมัครใจ แทนที่จะใช้การบังคับหรือการขู่เข็ญ
The People : ซอฟต์พาวเวอร์จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นแบบดั้งเดิม (Traditional) เสมอไปหรือไม่ หรือว่ามันสามารถเป็นสิ่งที่ร่วมสมัย (Comtemporary) ได้?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ผมคิดว่าการสร้างเสน่ห์ให้คนหลงใหลเรานั้นขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน ไม่มีคำตอบที่ตายตัว ตัวอย่างเช่น เรื่องความชอบส่วนตัว บางคนอาจจะชอบคนที่ดูสะอาดเรียบร้อย บางคนอาจชอบคนที่มีลุคแบดบอย ในทำนองเดียวกัน การสร้างเสน่ห์ผ่านซอฟต์พาวเวอร์ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและความชอบของแต่ละประเทศ สิ่งสำคัญคือการเข้าใจว่าประเทศไหนชอบอะไร โดยนำสิ่งที่เรามี เช่น มรดกทางวัฒนธรรมไทย ไม่ว่าจะเป็น อาหารไทย มวยไทย หรือผ้าไทย มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความชื่นชอบของแต่ละประเทศ
The People : การส่งออกซอฟต์พาวเวอร์บางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นการยัดเยียดวัฒนธรรมจนดูไม่เป็นธรรมชาติ คุณมองว่าการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์แบบไหนที่เรียกว่าสมดุล?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ผมคิดว่าเรื่องการส่งออกวัฒนธรรมอย่างซอฟต์พาวเวอร์ต้องมีความสมดุล โจเซฟ ไน เองก็เคยพูดถึงองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และการทูตเชิงวัฒนธรรม ซึ่งต่างจากการทูตเชิงบังคับที่ดูแข็งกร้าว การทูตเชิงวัฒนธรรมต้องทำให้ดูเนียนและเป็นธรรมชาติ
ในขณะเดียวกัน บางคนบอกว่าให้ปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่ถ้าเราปล่อยไปจริง ๆ อย่างโครงการ ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’ ที่ทำเมื่อ 20 ปีก่อน ที่ไม่ได้วางแผนอะไรเลย ก็จะไม่ได้ผลที่ชัดเจน
The People : ทุกวันนี้ความนิยมเปลี่ยนไปเร็วมาก วันหนึ่งเราอาจจะชอบสิ่งหนึ่ง แต่ไม่กี่วันถัดมาเราอาจชอบอีกสิ่งหนึ่ง คุณคิดว่าความเร็วของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลต่อการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์หรือไม่?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ทุกวันนี้มีหลายสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ว่าจะเป็นกางเกงช้าง หรือแม้แต่ลิซ่า แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งจะยั่งยืน สิ่งที่เราต้องการทำคือสร้างความยั่งยืนให้กับวัฒนธรรมของเรา ยกตัวอย่างเช่น มวยไทยที่เคยโด่งดังจากภาพยนตร์ ‘องค์บาก’ แต่หลังจากนั้นเรายังไม่ได้จัดระบบหรือวางยุทธศาสตร์ให้แข็งแรงพอ ผมคิดว่านี่เป็นจุดที่เราต้องคิดถึงเรื่องการวางแผนอย่างจริงจัง
The People : รัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์อย่างไร หรือควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติในจุดไหนบ้าง?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : หลักการพื้นฐานคือ รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต้องเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริม รัฐบาลต้องอำนวยความสะดวก แก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ และปล่อยให้ภาคเอกชนได้ใช้ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และความคล่องตัวของตัวเองในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เรามีการแบ่งเป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ต้นน้ำคือคน ถ้าเรามีบุคลากรที่เป็นเชฟอาหารไทยจำนวนมาก มีนักมวยไทย โค้ชมวยไทยมากมาย มีนักออกแบบ หรือนักเจียระไนอัญมณีจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมสร้างสรรค์ได้
กลางน้ำก็คือ การเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ เช่น การสร้างบุคลากรหน้าใหม่ ๆ เข้ามาในวงการ การมีกองทุนสนับสนุนต่าง ๆ
ปลายน้ำคือ การนำวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของเราไปสู่ตลาดโลก เพราะถ้าเราบริโภคกันเองแค่ภายในประเทศ มันก็จะอยู่ได้แค่นั้น แต่ถ้าเราต้องการให้ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปไกลถึงระดับโลก เราต้องมีการวางแผนตั้งแต่การทูตทางวัฒนธรรมและการผลักดันไปต่างประเทศ ผ่านกระทรวงการต่างประเทศหรือกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีทูตพาณิชย์อยู่ในทุกประเทศใหญ่ ๆ เพื่อส่งเสริมให้เอกชนไปสู่ตลาดโลกได้
The People : ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้างครับ?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ซอฟต์พาวเวอร์เป็นคำใหญ่ก็จริง แต่ภายใต้คำนั้น ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ไม่ยากเลยครับ เราสามารถใส่เนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยในทุกๆ ที่ เช่น อาหารไทยที่เป็นที่นิยมอยู่แล้ว หรือเทศกาลสงกรานต์ เราอาจจะทำให้สงกรานต์เป็นเทศกาลน้ำระดับโลกเหมือนกับคาร์นิวัลของบราซิล ภาพยนตร์หรือซีรีส์ก็สามารถช่วยสอดแทรกเรื่องเหล่านี้ได้ ทำให้คนรู้สึกอยากมาเที่ยวไทยมากขึ้น
The People : ถ้าถามถึงภาพยนตร์ที่คุณชอบมากที่สุดตลอดกาล จะไทยหรือต่างประเทศก็ได้จะเป็นเรื่องไหนครับ?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ถ้าเป็นต่างประเทศ ผมชอบหลายเรื่องครับ เช่น ‘The Matrix’ ภาคแรก เป็นภาพยนตร์ที่ทั้งสนุกและมีปรัชญา หรือถ้าเป็นดราม่า ผมก็ชอบหลายเรื่องเหมือนกัน ล่าสุดที่ได้ดูคือ ‘โต๊ะโตะจัง’ ส่วนภาพยนตร์ไทยก็มีตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เช่น เรื่อง ‘วัยอลวน’ ของคุณเปี๊ยก โปสเตอร์ ที่เป็นแนวความรักใสๆ หรืออย่างเรื่องล่าสุดที่ได้ดู ‘Taklee Genesis’ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ชอบถึงขั้นมาก แต่ก็เห็นความตั้งใจและพยายามของทีมผู้สร้าง ซึ่งถ้ามีเวลามากกว่านี้ น่าจะทำเป็นซีรีส์ได้เลย
The People : เราเห็นได้ว่าภาพยนตร์และซีรีส์จากประเทศอย่างอเมริกา เกาหลีใต้ หรือแอนิเมชั่นจากญี่ปุ่น ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ได้ดี คุณหมอเลี้ยบคิดว่ากุญแจสู่ความสำเร็จของพวกเขาคืออะไรครับ?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ผมคิดว่าคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นส่วนสำคัญ เราต้องการผู้กำกับที่เก่ง นักเขียนบทที่ยอดเยี่ยม หรือช่างภาพที่ถ่ายทอดภาพได้ดี เช่น การถ่ายทำภาพยนตร์ที่ทำให้เราประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นในหนังเรื่อง ‘Inception’ ของ ‘คริสโตเฟอร์ โนแลน’ (Christopher Nolan) ที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องซับซ้อน ผมคิดว่าภาพยนตร์เป็นศิลปะที่ทรงพลัง หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง มันสามารถสร้างแรงบันดาลใจ ความบันเทิง และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ด้วย
The People : ประเทศไทยเองก็มีไอเดียมากมาย แต่โอกาสในการนำเสนอไอเดียอาจจะมีไม่มากขนาดนั้น คุณคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาหรือไม่?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : เป็นปัญหาครับ ผมเชื่อว่าเรามีผู้กำกับที่เก่งมากมาย ตั้งแต่ในอดีต เช่น คุณเชิด ทรงศรี เป็นต้น พวกเขาเติบโตมาโดยบางครั้งรัฐบาลก็มีส่วนช่วยบ้างเป็นช่วง ๆ แต่คำถามคือ เราสามารถส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปได้ไกลกว่านี้ไหม ผมว่าได้ สิ่งแรกคือการสร้างคน การ Upskill-Reskill วันนี้เรามีเวทีหนังสั้นเยอะมาก และหลายคนที่กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงก็เริ่มต้นจากหนังสั้น เราต้องสนับสนุนการฝึกอบรมและสร้างโอกาสให้คนในวงการภาพยนตร์ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นมาสเตอร์คลาสจากผู้กำกับที่เก่ง ๆ หรือการให้คนเขียนบทและคนทำดนตรีประกอบได้เรียนรู้จากมืออาชีพ สิ่งเหล่านี้จะพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเราไปได้มาก
The People : ปีนี้จะมีการจัดงาน Bangkok World Film Festival ครั้งที่ 16 คุณคิดว่าเทศกาลนี้จะช่วยส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์หรือวัฒนธรรมในประเทศได้อย่างไรบ้างครับ?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ผมต้องขอชื่นชมเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพมหานคร (World Film Festival of Bangkok) เพราะนี่เป็นครั้งที่ 16 แล้ว เทศกาลนี้เริ่มต้นตั้งแต่ผมยังทำงานอยู่ในรัฐบาลไทยรักไทย เป็นโอกาสที่ทำให้คนในประเทศได้สัมผัสกับภาพยนตร์จากทั่วทุกมุมโลก ครั้งนี้จะมีภาพยนตร์กว่า 80 เรื่องเข้าฉาย และยังมีผู้กำกับชื่อดังจากต่างประเทศมาร่วมงานด้วย ซึ่งผมคิดว่าจะทำให้เกิดความตื่นตัวในวงการภาพยนตร์ไทยอย่างแน่นอน
The People : การนำภาพยนตร์จากทั่วโลกมาฉายที่กรุงเทพฯ คิดว่ามันจะสร้างผลกระทบอย่างไรต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยบ้างครับ?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ผมคิดว่าผลกระทบที่สำคัญที่สุดคือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในประเทศ เช่นเดียวกับการจัดงานศิลปะระดับชาติที่ทำให้คนอยากจะวาดรูปหรือสร้างสรรค์งานศิลปะมากขึ้น เทศกาลภาพยนตร์ก็เช่นกัน ถ้าเรามีโอกาสดูภาพยนตร์ดี ๆ จากต่างประเทศ และได้พบกับผู้กำกับหรือนักทำภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง มันจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจในวงการนี้
The People : คุณเคยพูดถึงการที่อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของภาพยนตร์ คุณคิดว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างถึงจะไปถึงจุดนั้น?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ตอนที่เราจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เราคิดการใหญ่ครับ แต่เสียดายที่เรามีปัญหาเรื่องงบประมาณในปี 2567 แต่ในปี 2568 และ 2569 เราหวังว่าจะได้เห็นความก้าวหน้าในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการ Upskill-Reskill คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หรือการส่งเสริมงบประมาณเพื่อสนับสนุนภาพยนตร์ในหลากหลายด้าน นอกจากนี้ เรายังมีการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติภาพยนตร์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องเผชิญ เพราะกฎหมายฉบับนี้ล้าสมัยไปมากแล้ว
The People : เมื่อพูดถึงการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ผ่านภาพยนตร์ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว คุณคิดว่าเราควรขยายไปในด้านไหนบ้างครับ?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ในอดีตเรายังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์มากนัก ส่วนใหญ่จะเน้นที่การท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งก็ทำให้เรารับประโยชน์จากตรงนี้พอสมควร แต่เราก็ต้องระวังด้วย เพราะภาพยนตร์บางเรื่องอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อการท่องเที่ยวของเราได้
นอกจากการท่องเที่ยว เรายังสามารถใช้ซอฟต์พาวเวอร์ในด้านอื่น ๆ เช่น มวยไทย วันนี้เราเห็นว่ามีการเผยแพร่มวยไทยไปทั่วโลก มีโรงยิมมวยไทยถึง 40,000 แห่งทั่วโลก ผมคิดว่าเราควรสนับสนุนให้มีการเปิดโรงยิมเพิ่มขึ้น และให้โค้ชมวยไทยที่เป็นคนไทยได้ออกไปสอนมวยไทยทั่วโลก รวมถึงอาหารไทย ที่ผ่านมาเราใช้ภาพยนตร์ในการส่งเสริมอาหารไทยน้อยมาก ถ้ามีการสอดแทรกอาหารไทยในภาพยนตร์หรือซีรีส์ มันจะทำให้คนต่างชาติเข้าถึงอาหารไทยมากขึ้น
เทศกาลและวัฒนธรรมของไทย เช่น ผีตาโขน หรือหนังผีของไทยเองก็ได้รับความนิยม แต่เรายังไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์จากเทศกาลเหล่านี้อย่างเต็มที่ ผมคิดว่าเราสามารถทำให้เทศกาลผีตาโขนเป็นที่รู้จักในระดับโลกได้ผ่านสื่อภาพยนตร์
The People : ถ้ามองไปในอนาคต ซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศไทยยังมีความท้าทายอะไรที่รอเราอยู่ และเราพร้อมรับมือกับความท้าทายเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ความท้าทายสำคัญคือ ภาครัฐจะต้องเข้าใจยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของซอฟต์พาวเวอร์ รัฐต้องทำหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวก ไม่ใช่เป็นผู้วางแผนหรือดำเนินการเอง เพราะไม่มีใครรู้เรื่องในแต่ละอุตสาหกรรมได้ดีเท่ากับคนในอุตสาหกรรมนั้นเอง
ในปีที่ผ่านมา เราพยายามทำให้ภาครัฐและเอกชนเข้าใจถึงความสำคัญของการปรับตัว ภาครัฐต้องสนับสนุนในเชิงนโยบาย ส่วนเอกชนก็ต้องเข้าใจว่ารัฐมีข้อจำกัด เช่น การวางแผนงบประมาณที่ต้องทำล่วงหน้ามากกว่าหนึ่งปี ซึ่งทำให้บางเรื่องต้องใช้เวลาในการดำเนินการ
The People : เราพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์และภาพยนตร์ไปแล้ว ผมอยากชวนคุณคุยต่อในเรื่องของความเป็นผู้นำ นิยามของการเป็นผู้นำจากมุมมองของคุณคืออะไร?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ผมคิดว่าคุณสมบัติแรกของผู้นำที่ดีคือต้องมีความเห็นอกเห็นใจหรือ Empathy การเข้าใจผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในภาคธุรกิจหรือการบริหารประเทศ เราต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้าหรือประชาชน และหาทางตอบสนองความต้องการนั้น
อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้นำต้องมีคือ จินตนาการ ผู้นำต้องสามารถคิดการใหญ่ คิดนอกกรอบ หรือเป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะถ้าผู้นำไม่สามารถปรับตัวหรือคิดใหม่ ๆ ได้ เขาก็จะถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงเองในที่สุด นอกจากนี้ ผู้นำต้องเป็นผู้นำทีมที่ดี สามารถสร้างความร่วมมือในทีมและ empower ทีมได้ เพื่อให้ทุกคนร่วมกันทำงานไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
The People : ในฐานะที่คุณเคยได้ร่วมงานกับนายกรัฐมนตรีหลายท่าน คุณมองว่าผู้นำแต่ละท่านมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ผู้นำแต่ละท่านมีบุคลิกแตกต่างกันไปครับ บางท่านมีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก อย่างเช่นคุณทักษิณ ชินวัตร ท่านเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะมาก ตอนที่ผมได้เดินทางไปต่างประเทศกับท่าน ได้อยู่บนเครื่องบินเวลายาวนาน ท่านก็จะอ่านหนังสือตลอดเวลา แม้ผมหลับไปตื่นขึ้นมาท่านก็ยังคงอ่านอยู่ ท่านชอบนำสิ่งที่ได้อ่านมาเล่าให้กับคณะรัฐมนตรีฟังทุกครั้งก่อนการประชุม และมีการแนะนำหนังสือดี ๆ อยู่เสมอ
ในขณะที่คุณแพทองธาร ชินวัตร เป็นคนที่ฟังเก่ง ท่านมีความสามารถในการรับฟังและตกผลึกความคิดจากคนรอบข้าง ท่านจะตั้งใจฟังอย่างจริงจัง เมื่อพูดเสร็จท่านก็จะวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว บุคลิกของผู้นำแต่ละท่านอาจแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่ผมมองว่าทุกคนต้องมีคือการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากคนอื่น เพราะไม่มีใครรู้ทุกเรื่องได้ด้วยตัวเอง
The People : แล้วเวลาที่คุณหเจอกับอุปสรรคหรือปัญหา คุณหจัดการกับปัญหาเหล่านั้นอย่างไร?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ถ้าเป็นอุปสรรคภายในตัวเอง เช่น ความเหนื่อย ความท้อแท้ ผมเป็นคนที่ไม่ยึดติดกับสิ่งเหล่านี้มากนัก ผมสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ เพราะผมไม่ชอบเก็บเรื่องเครียดไปคิดมากจนทำให้นอนไม่หลับ
แต่ถ้าเป็นอุปสรรคภายนอก เช่น ปัญหางานที่ยาก หรือมีปัญหามากมายเข้ามา ผมคิดว่าการถอยออกมามองจากระยะไกลและพิจารณารากของปัญหานั้นสำคัญมาก เราต้องดูว่าปัญหานั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และแก้ไขที่ต้นเหตุ ถ้าเรามองภาพรวมและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
The People : ในยุคปัจจุบันที่มีคนหลายเจเนอเรชั่นทำงานร่วมกัน บางครั้งอาจเกิดความไม่เข้าใจกัน คุณมีคำแนะนำอย่างไรในการบริหารคนที่มาจากหลายเจเนอเรชั่นให้ทำงานร่วมกันได้?
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : บุคลิกของคนในแต่ละเจเนอเรชั่นไม่ว่าจะเป็น Boomers, Gen X, Y, Z หรือ Alpha นั้นถูกหล่อหลอมมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ผมเชื่อว่าพื้นฐานของสมองและจิตใจมนุษย์ไม่แตกต่างกันมากนัก สิ่งที่แตกต่างคือประสบการณ์ การที่ผู้นำสามารถเปิดใจรับฟังความคิดที่แตกต่าง และชวนให้แต่ละคนทำงานร่วมกัน จะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้และพัฒนาความเข้าใจร่วมกัน ผมเชื่อว่าประสบการณ์จะเป็นครูที่ดีให้กับทุกคน และในที่สุดจะนำไปสู่ความสำเร็จได้