17 ม.ค. 2568 | 18:00 น.
‘เดวิด ลินช์’ (David Lynch) ไม่ใช่ผู้กำกับภาพยนตร์คนแรกที่นำเอาศิลปะแนวเซอร์เรียล (Surrealism) มากวนรวมกับศาสตร์ของภาพยนตร์
ที่เดินมาก่อนหน้าก็มีตั้งแต่ ‘ลุยส์ บุญเย็น’ (Luis buñuel) ที่ร่วมสร้างผลงานขึ้นหิ้งกับ ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) จนกลายเป็น Un Chien Andalou (1929) ที่มาพร้อมกับฉากพระจันทร์กรีดตา ; ‘เฟเดรีโก เฟลลีนี’ (Federico Fellini) ผู้กำกับอีตาลีกับผลงาน 8½ (1963) ก็ถือเป็นอีกเรี่ยวแรงสำคัญในภาพยนตร์กระแสนี้
ล่วงหน้าเล็กน้อยกว่าเขาเล็กน้อย ‘อเลฮานโดร โจโดโรว์สกี’ (Alejandro Jodorowsky) ก็ได้นำเสนอความพิลึกพิลั่นสุดขอบจินตนาการอย่าง El Topo (1970) และ The Holy Mountain (1973) จน อัลเลน ไคลน์ (Allen Klein) ผู้จัดการวงเดอะบีเทิล์สเป็นผู้ควบคุมการผลิตและสนับสนุนทุนโดย ABKCO Music and Records (ซึ่งหนังเรื่องนี้มีอะไรให้เราพูดถึงกันอีกยาวยืด)
ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 เดวิด ลินช์ ก็ได้ริเริ่มที่จะพาโลกภาพยนตร์ดำดิ่งลึกเข้าไปในจิตใต้สำนึกของผู้คน และถ่ายทอดมันออกมา บ้างก็ผ่านความเซอร์เรียล บ้างก็สยองขวัญ หรือบ้างก็หนังสืบสวนสอบสวนที่ีปริศนาชวนค้นหา จนกลายเป็นเอกลักษณ์ว่าภาพยนตร์ของเขาเหมือนพาผู้ชมจมลึกลงไปในความฝัน ที่ทุกอย่างดูเหมือนจะจริง แต่มันก็แปลกประหลาดจนห่างจากความจริงเหลือเกิน แนวทางของเขาถูกฝังลึกอยู่ในภาพยนตร์หลายเรื่องอย่างแข็งแกร่งจนผู้คนมอบคำนิยามเฉพาะด้วยคำว่า ‘ลินเชียน’ (Lynchian)
ในขณะที่โจโดโรว์สกีเล่าความเหนือจริงที่ว่านี้ผ่านเรื่องราวผ่านนิทาน ตำนาน เรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ ที่ผสมความแฟนตาซีเข้าไป แต่สำหรับ เดวิด ลินช์ ความเหนือจริงที่ว่า ถูกนำมาฉาบเข้ากับความธรรมดาของชีวิตในทุกวัน เป็นความธรรมดาที่ผู้คนต่างก็คุ้นเคย และพอถูกปรุงแต่งองค์ประกอบความประหลาดเข้าไป จึงทำให้ความเหนือจจริงนั้นใกล้ตัวผู้ชมมากขึ้นไปอีก
‘Blue Velvet’ (1986) น่าจะเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ในฐานะภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของปริศนาเมื่อชายคนหนึ่งพบชิ้นส่วนของหูลึกลับตกอยู่ระหว่างทางกลับบ้าน ลินช์ได้เปลี่ยนละแวกบ้านชานเมืองที่แทบจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของชีวิตในอุดมคติแบบ ‘อเมริกันดรีม’ ทว่าเบื้องหลังความสวยหรูนั้นกลับแฝงไปด้วยความพิศวงจนบางทีก็ชวนสยอง ลินช์ได้พาความเหนือจริงมาเคาะประตูบ้านของพวกเราทุกคน
เดวิด ลินช์ จึงกลายเป็นผู้กำกับน้อยคนที่สามารถพาผู้ชมไปสำรวจจิตใจของตัวละครด้วยวิธีที่ไม่เหมือนใคร เราจะได้เห็นทั้งความกลัว ความกังวล บาดแผลทางอารมณ์ หรือความรู้สึกบางอย่างที่ถูกกดทับ ผ่านความเหนือจริงในเรื่อง เสมือนกับความรู้สึกของตัวเราเองที่เก็บไว้ในเบื้องลึก แต่บางมีก็ปริล้นออกมาจนกลายเป็นฝันร้าย
คำสอนหรือปรัชญาจึงไม่ใช่เนื้อหาส่วนสำคัญในความเป็นศิลปินเซอร์เรียลลิสต์แบบลินช์ แต่เป็นจิตใต้สำนึกของผู้คนที่ถูกเก็บซ่อน ลินช์ทำให้เราเห็นว่าจิตใต้สำนึกของคนเราไม่ต่างอะไรจากแอ่งน้ำลึกที่เราไม่มีทางมองเห็นไปถึงก้นบึ้ง และแน่นอนว่าไม่ต้องพูดถึงว่ามีอะไรหลบซ่อนอยู่ในนั้นบ้าง
ภาพยนตร์ของลินช์ หลาย ๆ เรื่อง ไม่ใช่อะไรที่จะย่อยมาได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลำดับเรื่องที่บางทีก็เหมือนถูกแบ่งย่อยจนยากจะตามทัน หรือโดยเฉพาะกับตรรกะในเรื่องราวของภาพยนตร์ที่ชวนเราตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ โดยเฉพาะกับ Lost Highway และ Mulholland Drive ที่งงแล้วงงอีก ที่ทำให้เราเห็นถึงการเล่าเรื่องที่เส้นแบ่งระหว่างความจริงกับความฝันปะปนกันจนยากจะแยกได้
ใน ‘Eraserhead’ (1977) ลินช์ได้เปลี่ยนความทรงจำที่มีต่อฟิลาเดลเฟีย ย่านอุตสาหกรรมที่ตัวของเขาเติบโตขึ้นมาให้กลายเป็นโลกดิสโทเปียอันเป็นเซ็ทติงของเรื่องราวเกี่ยวกับ เฮนรี สเปนเซอร์ ที่ต้องก้าวผ่านอุปสรรคครั้งใหญ่กับการมีลูกคนแรกที่ร้องอย่างไม่หยุด จนนำไปสู่ความสยองขวัญดั่งฝันร้ายในหนังเรื่องนี้
สิ่งที่น่าสนใจในภาพยนตร์เรื่องนี้มีทั้งการดีไซน์ฉากและตัวละครอันเป็นภาพจดจำ อีกทั้งยังเป็นงานชิ้นแรก ๆ (ถ้าไม่นับรวมหนังสั้นอย่าง Alphabet หรือ Six Men Getting Sick) Eraserhead ถือว่าเป็นผลงานที่แสดงจุดเด่นและเอกลักษณ์ของตัวเขาออกมาได้อย่างชัดเจน
รวมไปถึงการออกแบบเสียงที่ได้คว้าผู้คนให้ดำดิ่งลงไปในโลกอุตสาหกรรมสุดหม่นหมอง เหมือนฝันร้ายที่อ้างว้างและน่ากลัว รวมไปถึงการใช้เสียงรูปแบบต่าง ๆ มาผสมผสานและประดิษฐ์ประดอยจนกลายเป็นเสียงต่าง ๆ ที่รังควานตัวเอกตลอดเรื่อง ทั้งลูกของเขาที่ร้องเหมือนลูกแกะ หรือแม้แต่ไก่ย่างที่ร้องและขยับได้
เดวิด ลินช์ แทบจะไม่มีทุนสร้างเลยในตอนที่ทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ในช่วงเวลานั้นน่าจะเป็นช่วงปลาย ๆ ของการเรียนศิลปะของเขาในฟิลาเดลเฟีย โดยกว่าจะสร้างเสร็จใช้เวลากว่า 4-5 ปี แถมตัวของลินช์เองก็ต้องอาศัยเซ็ทถ่ายทำเป็นที่นอนอีกด้วย แต่ผลลัพธ์มันกลับกลายมาเป็นหนี่งในหนัง ‘คัลต์คลาสสิก’ ที่ทรงอิทธิพลที่สุดตลอดกาล
ในตอนที่ถ่ายทำ The Shining แสตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ได้เปิดภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เหล่าพลพรรคนักแสดงชมก่อนจะเริ่มแสดง เพื่อให้เห็นภาพว่าอารมณ์ของภาพยนตร์มันควรจะดำเนินไปในแนวทางไหน
“หากใครสักคนหลงลืมไอเดียที่ตัวเองรัก มันคือความสยองขวัญ และมันอาจพาเขาผู้นั้นไปสู่ความปราถนาที่จะปลิดชีพตัวเองก็ได้”
— เดวิด ลินช์
อาจจะดูเป็นการประชดประชันที่ตลกร้ายและชวนหัวเราะ แต่ลึกลงไปแล้ว ลินช์คงไม่ได้พูดเล่น ไม่ใช่ว่าเขาจะเหนี่ยวไกตัวเองหากลืมสักไอเดียไป แต่มันน่าจะเป็นอะไรที่เจ็บปวดสำหรับเขาเป็นอย่างมากถ้าต้อง ‘ลืม’ มันสักอันไป (ซึ่งน่าจะมี 3-4 ไอเดียที่ตัวเขานิยามว่ามันสุดยอดมาก และเขาดันลืมมัน และมันก็คงทำให้เขารู้สึกเหมือนที่เขาอธิบายนั่นแหละ)
ไอเดียก็เหมือนกับ ‘ปลา’ นับล้านที่แหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ และเรา ในฐานะจิตสำนึกก็ต้องดำดิ่งลงไปในท้องทะเลแห่งจิตใต้สำนึกเพื่อควานหาปลาที่เรามุ่งฝันมาครอง แม้จะไม่ได้หลงใหลในผลงานของ เดวิด ลินช์ แต่แนวคิดที่มีต่อการคว้านหาไอเดียของเขา ย่อมเป็นประโยชน์กับทุกคนอย่างแน่นอน
“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการมีเวลา—ซึ่งดูจะยากยิ่งในยุคสมัยนี้—ที่จะฝันกลางวันเสียบ้าง อยู่กับตัวเองและดำดิ่งลงไปในทะเลแห่งความฝัน มันเป็นอะไรที่สำคัญมากนะ ถ้าคุณอยากจะคว้าไอเดียที่ดีมาครอง”
ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2025 ก่อนจะถึงวันเกิดปีที่ 79 ของเขาเพียงสามวัน เดวิด ลินช์ ก็ได้จากโลกนี้ไปด้วยโรคถุงลมโป่งพอง พร้อมกับข้อความที่บอกว่า โลกนี้เหมือนมีหลุมขนาดใหญ่เมื่อเขาไม่ได้อยู่กับเราอีกต่อไป แต่ตามที่ เดวิด ลินช์ เคยกล่าวเอาไว้
“จงมองไปที่โดนัท
อย่ามองแต่รูของมัน”
แน่นอนว่าต่อจากนี้คงไม่มีรายการ David Lynch's Weather Report เป็นแสงและพลังบวกยามเช้าให้เราได้ยิ้มกันอีกแล้ว แต่ถึงกระนั้น ทั้งแรงบันดาลใจ ผลงาน และแนวคิดที่เขาได้ฝากไว้กับโลกใบนี้จะยังคงสะท้อนความงามในความพิกล ในความไม่สมเหตุสมผลของโลกใบนี้ได้ดีขึ้น บ้างก็บอกว่าถ้าแปะคำว่า ‘Directed by David Lynch’ ที่บานหน้าต่างใสของเรา อาจทำให้เราเข้าใจโลกใบนี้มากขึ้น เสมือนว่าตัวเขากำลังกำกับโลกใบนี้ของเราอยู่
มาจนถึงตรงนี้ก็ทำให้นึกถึงสิ่งที่ลินช์ได้เคยบอกกับเราไว้ในตอนหนึ่งของ David Lynch's Weather Report
“สวัสดีตอนเช้าครับทุกคน วันนี้วันที่ 12 ธันวาคม 2022 แล้วคุณเชื่อไหมมมมม! วันนี้เป็นวันศุกร์อีกแล้ว!
“ขอให้ทุกคนมีความสุขนะ!”
ภาพ : Getty Images