A Real Pain : หลากหลาย ‘ความเจ็บปวด’ ในทริปเชื่อมสัมพันธ์แสนงดงาม

A Real Pain : หลากหลาย ‘ความเจ็บปวด’ ในทริปเชื่อมสัมพันธ์แสนงดงาม

A Real Pain (2024) คือภาพยนตร์ที่เล่าถึงความเจ็บปวดหลากหลายรูปแบบของสองลูกพี่ลูกน้องที่เดินทางไปรำลึกความหลังที่ประเทศโปแลนด์ ทั้งความเจ็บปวดจากความไม่เข้าใจกันและกัน ความเจ็บปวดจากความสูญเสีย และความเจ็บปวดทางประวัติศาสตร์อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

KEY

POINTS

  • A Real Pain ตั้งคำถามถึงวิธีการรำลึกและให้เกียรติโศกนาฏกรรมในอดีต เปรียบเทียบระหว่างการก้าวผ่านความเจ็บปวดเหล่านั้นด้วยการ ‘รับรู้’ และ ‘รู้สึก’ พร้อมให้ผู้ชมเป็นคนตัดสินว่า หากเป็นคุณ จะเลือกใช้วิธีไหน
  • เดวิดและเบนจี้คือภาพสะท้อนของคนสองคนที่ใช้วิธีเยียวยาความเจ็บปวดกันคนละแบบ นำมาสู่ความไม่เข้าใจ แตกสลาย และความเจ็บปวดใหม่เกิดขึ้นมา
  • สุดท้ายแล้ว เราต่างก็เป็นผู้เลือกวิธีก้าวผ่านความเจ็บปวดของตนเอง ไม่ว่าความเจ็บปวดนั้นจะเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเชื่อมโยงกับคนหมู่มาก

/////// บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง A Real Pain (2024) ///////

“มันเป็นการตั้งคำถามว่า ความเจ็บปวดอะไรที่เป็นจริง และอะไรที่มีความหมาย”

คือคำอธิบายแนวคิดในหนังของ ‘เจสซี ไอเซนเบิร์ก’ (Jesse Isenberg) นักแสดงที่หลายคนอาจคุ้นหน้าจากภาพยนตร์เรื่อง Now You See Me ทั้งสองภาค โดยไม่เคยรู้ว่า เขาคือนักเขียนฝีมือดีผู้อยู่เบื้องหลังละครเวทีหลายต่อหลายเรื่อง และในปี 2024 ไอเซนเบิร์กก็ได้แสดงฝีไม้ลายมืออีกครั้งในการเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ดราม่า คอมเมดี้ เรื่อง ‘A Real Pain’ (2024) ซึ่งไปไกลถึงการเข้าชิงรางวัลออสการ์สองสาขา ในส่วนของบทดั้งเดิมและนักแสดงสมทบชาย พร้อมคว้ารางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมในภาพยนตร์ตลกหรือเพลงมาครองได้สำเร็จ

A Real Pain เล่าเรื่องราวของสองลูกพี่ลูกน้อง ‘เดวิด’ (แสดงโดย เจสซี ไอเซนเบิร์ก) และ ‘เบนจี้’ (แสดงโดย คีแรน คัลกิ้น) ผู้หวัง ‘เยียวยาความเจ็บปวด’ จากการสูญเสียคุณย่าผู้เป็นที่รักด้วยการไปทริปสั้น ๆ ที่ประเทศโปแลนด์ อันเป็นบ้านเกิดของคุณย่า พล็อตเพียงแค่นั้นอาจดูธรรมดา พบเห็นได้ตามภาพยนตร์ดราม่าฟีลกู๊ดทั่วไป ทว่า A Real Pain ยกระดับไปอีกขั้นด้วยประเด็นที่ ‘ใหญ่’ และ ‘ร่วมสมัย’

เนื่องจากทั้งเดวิดและเบนจี้ ต่างก็เป็นคนเชื้อสายยิว อีกทั้งโปแลนด์ยังเป็นประเทศที่บอบช้ำด้วยรอยแผลจากเหตุการณ์ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ (The Holocaust) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มากที่สุด มิหนำซ้ำ ทัวร์ดังกล่าวยังเป็นทัวร์สายประวัติศาสตร์ที่มีจุดหมายปลายทางเป็นอดีตค่ายกักกัน (Concentration Camp) ‘ความเจ็บปวด’ ที่ทั้งคู่ต้องรับมือจึงก้าวพ้นความเป็น ‘ส่วนตัว’ (Personal) ไปสู่ความเจ็บปวดในหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งมีเพื่อนร่วมชะตากรรมเป็นผู้คนนับล้าน

ความเจ็บปวดหลากรูปแบบที่ผู้ชมได้รับรู้และร่วมแตกสลายไปพร้อมกับตัวละครนี้เอง คือปัจจัยที่ทำให้ A Real Pain ฝากคำถามเอาไว้มากมายหลังดูจบ ภายใต้การดำเนินเรื่องที่ชวนขบคิดว่า วิธีรับมือความเจ็บปวดที่ตัวละครทำเป็นสิ่งเหมาะสม น่ารำคาญ ชวนอิหลักอิเหลื่อ หรือสวยสดงดงามกันแน่

ความเจ็บปวดที่ 1 : เดินยิ้มแย้มเหนือซากประวัติศาสตร์และร่างของเหยื่อบริสุทธิ์

ความเจ็บปวดในหลาย ๆ ช่วงของเบนจี้เกิดจากทริปทัวร์ที่ (ในทัศนะของเขา) ไม่ได้แสดงความเสียใจต่อเหยื่ออย่างเหมาะสม ตั้งแต่การที่ไกด์เลือกให้นักท่องเที่ยวโดยสารรถไฟชั้นหนึ่งไปยังสุสานของชาวยิว ทั้งที่ในอดีต ชาวยิวซึ่งพวกเขากำลังจะไปร่วมรำลึกถึงโศกนาฏกรรมนั้นถูก ‘ต้อนเหมือนฝูงสัตว์’ ไปแออัดอยู่ท้ายขบวนรถไฟ เป็นเหตุให้เบนจี้แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างออกนอกหน้า พูดตอกย้ำความโหดร้ายในอดีตซ้ำ ๆ จนลูกทัวร์ซึ่งมีเชื้อสายยิวรู้สึกกระอักกระอ่วน

“ชีวิตเรามันช่างสุขสบายและมีอภิสิทธิ์ เหมือนเราปิดตาตัวเองไม่ให้เห็นความเจ็บปวดจริง ๆ ที่คนอื่นต้องเผชิญ อย่างการถูกจับต้อนขึ้นรถไฟเหมือนฝูงสัตว์และโดนกระหน่ำฟาดหัว...”

คือประโยคที่เบนจี้ใช้อธิบายสาเหตุที่ตนไม่พอใจ พร้อมเสริมต่อว่า สิ่งที่ทุกคนควรทำคือ ‘ยอมรับ’ (Acknowledge) และพยายาม ‘รู้สึก’ ไปกับโศกนาฏกรรมดังกล่าว ไม่ใช่ปากพูดว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่อึดใจต่อมา กลับถามหาความสุขเริงร่าทั้งที่เท้ายังเหยียบอยู่บนกองเลือด

คำพูดของเบนจี้ก็ชวนให้คิดต่อว่า เราผิดจริงหรือหากจะแค่ ‘รับรู้’ ถึงความโศกสลด และหลีกเลี่ยงที่จะทรมานตัวเองด้วยการ ‘พยายามเจ็บ’ ไปกับแผลซึ่งตกสะเก็ดไปแล้วเมื่อแปดสิบปีก่อน…เราผิดจริงหรือหากจะเรียกร้องความสุขส่วนตัวขณะเดินอยู่บนกองเลือด แต่กองเลือดนั้นแห้งกรังไปเนิ่นนานเสียจนถูกนิยามด้วยคำว่า ‘บาดแผลทางประวัติศาสตร์’ แล้วด้วยซ้ำไป

A Real Pain : หลากหลาย ‘ความเจ็บปวด’ ในทริปเชื่อมสัมพันธ์แสนงดงาม

ก่อนเริ่มแสดงความคิดเห็นอย่างเผ็ดร้อน เบนจี้ได้เอ่ยประโยคว่า “ไม่มีใครรู้สึกว่ามันย้อนแย้งเหรอ” เป็นการเปิดประเด็น แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่ความย้อนแย้งนั้นคือสิ่งที่ยอมรับได้ หากมองตามคำโต้แย้งที่เดวิดท้วงขึ้นก่อนหน้าว่า “มันไม่ได้ทำร้ายใครสักหน่อย”

กระนั้น แม้ลูกทัวร์จะแสดงความไม่พอใจกับคำพูดของเบนจี้ แต่หลังกลับไปคิดทบทวน พวกเขาบางคนก็ตระหนักได้ว่า ตนควรให้ความเคารพและ ‘รู้สึก’ ไปกับโศกนาฏกรรมในอดีตมากกว่านี้ ตัดการคิดหาเหตุผลเรื่องที่ว่ามีคนเดือดร้อนหรือไม่ออกไป และมองมันในฐานะการให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

การให้เกียรตินี้เองคือสิ่งที่เบนจี้กลับมาเรียกร้องอีกครั้งตอนที่คณะทัวร์เดินทางมาถึงสุสานชาวโปแลนด์เก่าแก่ ไกด์เริ่มทำหน้าที่ของตนด้วยการสาธยายข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ทว่าเบนจี้กลับทักท้วง ด้วยมองว่า การมาเยือนสุสานผู้วายชนม์ควร ‘รู้สึก’ ไม่ใช่ ‘รับทราบ’ ข้อมูล

“ร่างที่นอนอยู่ใต้พื้นตรงนี้คือคนจริง ๆ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงหรือตำราประวัติศาสตร์ ทัวร์นี้แค่พาเราเดินเที่ยวเรื่อยเปื่อย ไม่ได้เจอ (หรือรู้สึกถึง) คนโปแลนด์จริง ๆ เลย”

แม้การพูดประเด็นนี้กับไกด์โดยตรงจะทำให้เบนจี้ถูกมองเป็นตัวละครน่ารำคาญ ไร้มารยาท แต่เจตนาของเขาเห็นจะบริสุทธิ์ เพราะทันทีที่ไกด์เสนอให้ลูกทัวร์แสดงความเคารพต่อเจ้าของหลุมศพโดยการนำหินมาวางเป็นอนุสรณ์ เบนจี้ก็แสดงท่าทีเห็นด้วยพร้อมกล่าวชื่นชม มองเพื่อนร่วมทริปคนอื่น ๆ แสดงการไว้อาลัยด้วยดวงตารื้นน้ำ ราวกับการได้เห็นภาพนั้นช่วยเยียวยาความเจ็บปวดของเขาได้ชะงัด

การเยียวยาความเจ็บปวดทางประวัติศาสตร์สำหรับเบนจี้จึงอาจไม่ใช่การมูฟออนอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นการรำลึกถึงความโศกเศร้าร่วมกับผู้มีความเจ็บปวดแบบเดียวกันคนอื่น ๆ เป็นการให้เกียรติเจ้าของแอ่งเลือดแห้งกรังที่พวกเขาเดินเหยียบอยู่นี้ ว่าอย่างน้อย คนปัจจุบันก็ยังร่วมเจ็บปวดไปพร้อมกัน และความเจ็บปวดนี้เองคือสิ่งที่จะทำให้ ‘เข้าใจ’ ความรู้สึกที่พวกเขาเคยประสบอย่างแท้จริง

A Real Pain : หลากหลาย ‘ความเจ็บปวด’ ในทริปเชื่อมสัมพันธ์แสนงดงาม

ความเจ็บปวดที่ 2 : รอยร้าวจากความสูญเสียสู่ความสัมพันธ์สั่นคลอนของลูกพี่ลูกน้อง

‘คุณย่าดอรี’ ถูกกล่าวถึงหลายครั้งจากปากของเดวิดกับเบนจี้ เธอคือหญิงชราผู้เข้มแข็ง สามารถเอาชีวิตรอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การเสียชีวิตของเธอคือความเจ็บปวดตั้งต้นที่ทำให้ทั้งคู่เร่งเยียวยา เกิดเป็นทริปของสองพี่น้องซึ่งมีนิสัยต่างกันสุดขั้ว ราวกับเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบ

ความสัมพันธ์ดังกล่าวถูกบอกเล่าตั้งแต่ในฉากเปิด เมื่อเดวิดแสดงอาการกระวนกระวายขณะนั่งแท็กซี่ไปยังสนามบิน พยายามโทรหาเบนจี้ซ้ำ ๆ แต่พอมาถึง เบนจี้กลับปรากฏตัวพร้อมทำท่าหยอกล้อ ไม่ยอมอธิบายสาเหตุที่ไม่รับสาย ชวนตั้งแง่เรื่องนิสัยใจคอตั้งแต่แรกเห็น

ในสายตาของเดวิด เบนจี้คือลูกพี่ลูกน้องผู้ ‘ติสท์แตก’ ไม่สนโลก เปี่ยมด้วยความหวังดี แต่กลับแสดงออกผ่านคำพูดขวานผ่าซาก ในฉากที่เบนจี้หักหน้าไกด์หรือเพื่อนร่วมทัวร์ ผู้ชมจะได้เห็นสีหน้าอึดอัด รู้สึกผิดของเดวิด ขณะเดียวกัน ในฉากที่เบนจี้มอบพลังบวกแก่คนอื่น ๆ สีหน้าของเดวิดกลับปรากฏความอิจฉาเล็ก ๆ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน สิ่งที่แววตาคู่นั้นมีเหมือนกันก็คือความเป็นห่วงเบนจี้สุดหัวใจ

ในครึ่งแรกของเรื่อง เราอาจจะยังปะติดปะต่อไม่ได้ว่า ความเจ็บปวดใดกันแน่ที่สร้างกำแพงขวางกั้นลูกพี่ลูกน้องคู่นี้ ก่อนที่มันจะถูกเผยออกมาโดยเดวิดซึ่งระบายความอัดอั้นให้เพื่อนร่วมทัวร์ฟังกลางโต๊ะอาหาร

“ผมรู้สึกเหนื่อยใจมาก ๆ ผมรักเขา เกลียดเขา อยากจะฆ่าเขา และอยากจะเป็นเขา ผมดูกระจอกงอกง่อยไปเลยเวลายืนข้างเขา เพราะเขามันโคตรเจ๋ง แถมยังลอยหน้าลอยตาได้ทุกเรื่อง การมาทริปนี้กับเขาทำให้ผมสับสนไปหมด คุณย่าดอรีเอาชีวิตรอดมาได้ขณะที่ทั้งโลกต้องการจะฆ่าเธอ ผมเลยอยากถามเบนจี้มาก แต่ก็ทำไม่ได้...ผมอยากถามว่า ทำไมเขาที่เป็นหลานแท้ ๆ ของคนที่ได้รับปาฏิหาริย์มากมายขนาดนั้นถึงลงเอยด้วยการกินยานอนหลับเกินขนาด...”

ประโยคดังกล่าวทำให้มุมมองของเดวิดต่อเบนจี้กระจ่างชัดขึ้น...เบนจี้เปรียบเหมือนเสาหลักที่เขาใช้ยึดเกาะ ตัวตนของอีกฝ่ายคือสิ่งที่เขาชื่นชม และใฝ่ฝันอยากเป็นอยู่ลึก ๆ

“ถ้าฉันมีความคิดเหมือนนาย ฉันคงจะเป็นคนที่ดูยิ่งใหญ่มาก ๆ นายรู้มั้ยว่าคนอื่นชอบนายแค่ไหน ฉันยอมแลกทุกอย่างด้วยซ้ำเพื่อให้ได้สัมผัสว่า ความรู้สึกที่ได้ทำตัวสบาย ๆ ตลอดเวลา ได้สนุกตลอดเวลา ได้เป็นแสงสว่างในห้องทุกครั้งที่เดินเข้าไปมันรู้สึกยังไง”

ทว่าการสูญเสียคุณย่ากลับทำให้ตัวตนของเบนจี้สั่นคลอน ชายผู้ร่าเริงและทำตัวสบาย ๆ ตลอดเวลากลับพยายามจบชีวิตตัวเอง เกิดเป็นภาพที่ทิ่มแทงจิตใจของเดวิดจนเจ็บปวดเกินทนไหว ทั้งที่ความจริงแล้ว เบนจี้อาจเลือกทำแบบนั้นเพราะ ‘ความเป็นเบนจี้’ ผู้ปล่อยตัวสบาย ๆ เยียวยาความเจ็บปวดด้วยการซึมซับไปกับความเจ็บปวดนั้น ไม่ใช่พยายามหลีกหนีหรือหาความสุขอื่นใดมาลบล้าง

สำหรับเดวิด ความเจ็บปวดที่แท้จริงคงเป็นความสับสนจากการไม่เข้าใจในตัวเบนจี้ ใจหนึ่งก็หลงรักในตัวตนของเขา แต่อีกใจหนึ่ง พอเห็นว่าตัวตนดังกล่าวกำลังทำร้ายอีกฝ่ายก็พลอยรู้สึกเจ็บปวดซ้ำซ้อน นำมาสู่ความต้องการลามโซ่ รักษาสมดุลให้นิสัยสบาย ๆ ของเบนจี้อยู่แต่ในระดับที่ตนพอใจ

ขณะเดียวกัน สำหรับเบนจี้ การไม่เข้าใจและพยายามลามโซ่ตัวตนของเขาจากลูกพี่ลูกน้องจึงเป็นสิ่งที่เขารู้สึกเจ็บปวดมากที่สุด

A Real Pain : หลากหลาย ‘ความเจ็บปวด’ ในทริปเชื่อมสัมพันธ์แสนงดงาม

“เมื่อก่อนนายไม่เป็นแบบนี้ นายเคยเป็นคนอ่อนไหวมาก ร้องไห้ได้กับทุกเรื่อง”

เขาคงเอ่ยเพื่อย้ำเตือนว่า เดวิดควรซึมซับไปกับความเจ็บปวดมากกว่าอดทนข่มกลั้นมันเอาไว้

“ใช่ ฉันรู้ และมันแย่มาก ใครมันจะอยากร้องไห้กับทุกเรื่องกันล่ะ”

คำตอบของเดวิดคงเหมือนการตอกย้ำว่า ทั้งคู่เดินอยู่บนเส้นขนานแล้วจริง ๆ

แต่ในท้ายที่สุด แม้ทั้งคู่จะยังคงยึดมั่นในวิธีเยียวยาความเจ็บปวดของตนเอง แต่เส้นขนานสองเส้นก็ได้มาบรรจบ ณ บ้านของคุณย่า ซึ่งเป็นเหมือนสะพานเชื่อมความเจ็บปวดที่สองลูกพี่ลูกน้องมีร่วมกัน

ในครั้งนี้ เดวิดเป็นฝ่ายเสนอให้วางก้อนหินเอาไว้หน้าบ้าน ในแบบที่เบนจี้เคยเสนอให้ลูกทัวร์ทำกับสุสานเก่าแก่ของชาวยิว แม้ร่างของคุณย่าจะไม่ได้ถูกฝังอยู่หน้าประตู แต่การได้สร้างอนุสรณ์เป็นเชิงแสดงออกว่า พวกเขาระลึกถึงเธอเสมอก็เป็นสิ่งที่เขาและเบนจี้เห็นพ้องร่วมกัน และแม้ว่าในท้ายที่สุด พวกเขาจะต้องนำก้อนหินออกตามคำสั่งของคนในละแวก เบนจี้ก็ไม่แสดงท่าทางขุ่นเคือง ด้วยมองว่า การได้มายืนรำลึกความหลังอยู่หน้าประตูก็เยียวยาความเจ็บปวดได้เพียงพอแล้ว

เหตุการณ์หน้าบ้านของคุณย่าจึงเป็นครั้งแรกที่สองลูกพาลูกน้องเลือกใช้วิธีเยียวยาความเจ็บปวดแบบเดียวกัน นั่นคือแค่รำลึกแล้วปล่อยวาง เป็นอันสิ้นสุดการเดินทางในครั้งนี้

A Real Pain : หลากหลาย ‘ความเจ็บปวด’ ในทริปเชื่อมสัมพันธ์แสนงดงาม

ในตอนจบของเรื่อง เดวิดและเบนจี้บอกลากันในสนามบิน ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครรั้งกันเอาไว้ ราวกับยอมรับในวิธีเยียวยาความเจ็บปวดของกันและกันแล้วในที่สุด บทสรุปของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เทศนาผู้ชมว่าวิธีใดเหมาะสม วิธีใดควรหลีกเลี่ยง ตรงกันข้าม มันเพียงชวนผู้ชมให้ตั้งคำถาม ตกผลึก ค้นหากันเองหลังดูจบว่าวิธีใดกันแน่ที่เหมาะสมต่อตนเองที่สุด

และถึงแม้ A Real Pain จะสร้างคำถามและความ ‘เข้าใจไม่เต็มร้อย’ จนอาจกล่าวได้ว่า คงไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับการตีความในบทความชิ้นนี้ แต่ตัวหนังก็คล้ายกับเทศนาเราทุกคนให้เห็นด้วยตรงกันในประเด็นหนึ่ง นั่นคือ ‘ความเจ็บปวด’ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่มันก็เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต วิธีเยียวยาหลุดพ้นมีอยู่มากมาย และ A Real Pain ก็ได้เก็บรวบรวมเครื่องมือทั้งหมดใส่กล่อง หยิบยื่นให้คนดูค้นหา เลือกใช้ตามอัธยาศัย โดยมี Case Study เป็นทริปเชื่อมสัมพันธ์ของสองพี่น้องที่ทั้งเจ็บปวด งดงาม และชวนอิ่มอกอิ่มใจในแบบที่ภาพยนตร์น้อยเรื่องนักจะทำได้