ทำไมคนเกาหลีชอบดูรายการจับคู่เดท แต่ตัวเองไม่อยากแต่งงาน

ทำไมคนเกาหลีชอบดูรายการจับคู่เดท แต่ตัวเองไม่อยากแต่งงาน

“โอน้อยออก ใครโสดตกนรก” เกาะติดขอบจอ แต่ไม่ชอบลงสนาม ทำไมชาวเกาหลีถึงเลือกดูรายการจับคู่เดท (Reality Dating Show) มากกว่าการแต่งงานในชีวิตจริง

KEY

POINTS

  • นอกจากรายการจับคู่เดทยอดฮิตอย่าง Single’s Inferno เกาหลียังมีรายการแนวนี้ รวมกันปีละมากกว่า 20 รายการ แถมคุณภาพยังมาพร้อมปริมาณ เพราะมาพร้อมคอนเซปต์เฉพาะตัวที่ถูกใจผู้ชมทั่วโลก
  • นักจิตวิทยายืนยันว่า “ความรักเป็นพื้นฐานของมนุษย์” ดังนั้น การชอบดูรายการแนวนี้ก็ไม่ต่างกับการชอบ ‘นิยายรัก’ หรือ ‘ละครน้ำเน่า’ สักเรื่อง อีกทั้งรายการยังทำให้ผู้ชมรู้สึกอินกับผู้ร่วมรายการจนเกิดเป็นความสัมพันธ์แบบ ‘พาราโซเซียล’ (Parasocial Relationship) 
  • แม้จะมีรายการมากมาย จนดูเป็นชาติที่คลั่งรัก แต่อัตราการแต่งงานกลับ ‘ลดฮวบ’ อย่างน่าใจหาย กลายเป็นว่ารายการเหล่านี้เป็นเหมือนกระจกสะท้อน ‘วัฒนธรรมใหม่’ ของเกาหลี 
     

หากพูดถึงรายการเรียลลิตี้จับคู่เดท (Reality Dating Show) สัญชาติเกาหลีที่คนทั่วโลกติดตาม และรักมากที่สุด คงไม่พ้น ‘Single’s Inferno’ (2021 - 2025) บนสตรีมมิง ‘Netflix’ เพราะถึงแม้รายการ จะเดินทางมาถึงซีซันที่ 4 แล้ว รายการนี้ก็ยังคงติดอันดับต้น ๆ บนชาร์ตอยู่ดี ในขณะที่ทางฝั่ง ‘Viu’ ก็มี ‘EXchange: Another Beginning’ (2025) ภาค Spin-Off ที่รวมเหล่าผู้ร่วมรายการคนดังจากซีซันก่อน ๆ ตั้งแต่ 1 - 3 มารวมตัวกัน เพื่อชิมลางก่อนที่ ‘Exchange’ (2021 - 2024) รายการที่นำเอา ‘คู่รักเก่า’ ที่ร้างลากันไปให้มาเจอกันใหม่อีกครั้ง ก็กำลังจะกลับมาในซีซันที่ 4 เร็ว ๆ นี้ 

กระแสความนิยมของรายการแนวนี้ในเกาหลี เรียกได้ว่าเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในปี 2022 มีรายการรวมกันกว่าถึง 25 รายการ ซึ่งนับเป็น 3 เท่าจากปี 2021 จากการรายงานของรอยเตอร์ส (Reuters) โดยมีหลากหลายรายการที่น่าจะพอคุ้นตาคนไทยอยู่บ้าง อาทิ ‘Love After Divorce’ (2021 - 2025) ที่นำเอาชายหญิงที่ผ่านการหย่าร้างมาอาศัยอยู่ที่เดียวกัน เพื่อหาความสัมพันธ์ครั้งใหม่ หรือจะเป็น ‘Change Days’ (2021 - 2022) ที่นำเอา ‘คู่รัก’ ที่มีท่าว่าจะเป็น ‘คู่ร้าง’ มา ‘จับมือ’ กันหา ‘รักแท้’ ก็เป็นหนึ่งในรายการที่ติดอันดับสูงสุดของ Netflix ทั้งในเกาหลี ฮ่องกง และไต้หวัน

ขณะที่ฝั่งตะวันตกก็คลั่งไคล้รายการแนวนี้ไม่แพ้กัน นำโดยรายการยอดฮิตอย่าง ‘Love Island’ (2015 - 2025) การรวมตัวของหนุ่มสาวโสดบนเกาะสวาทหาดสวรรค์ก็มีแฟรนไชส์ในต่างประเทศถึง 22 เวอร์ชัน ตามมาด้วย ‘Too Hot to Handle’ (2020 - 2025) ที่มีคอนเซปต์ไม่ไกลกันเท่าไหร่ แต่ฮอตปรอทแตกด้วยเรท 18+ และเงินรางวัลที่เพิ่มเข้ามาล่อใจ หรือจะเป็น ‘Love is Blind’ (2020 - 2025) เรียลลิตี้โชว์สุดโรแมนติกที่ผู้ร่วมรายการทำความรู้จักกันโดยไม่เปิดเผยหน้าตาก็ได้รับคำวิจารณ์ด้านบวก แถมยังแตกอีกหลายเวอร์ชัน ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่นด้วย

แม้หลายคนมองว่ารายการแนวนี้เป็นอะไรที่ดูซ้ำซากจำเจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า รายการแนวนี้กำลัง ‘ฮิตติดลมบน’ และชาวเกาหลีเองก็ชื่นชอบมากเสียด้วย จนสามารถสร้าง ‘รูปแบบ’ และ ‘เอกลักษณ์’ เป็นของตัวเอง จนโดนใจคนทั่วโลก

รูปแบบ ‘สูตรสำเร็จ’ กับคอนเซปต์ ‘โดนใจ’

สิ่งหนึ่งที่ทำให้รายการเรียลลิตี้จับคู่เดทของเกาหลีสามารถยืนยาวและเอาชนะรายการต่าง ๆ จากทั่วโลกได้เป็นผลสำเร็จนั้น อย่างแรกน่าจะมาจากกลุ่ม ‘พิธีกร’ ที่จะรวมเอานักแสดง ไอดอล และดาราตลก มาทำหน้าที่วิเคราะห์ และช่วยดึงความสนใจจากผู้ชมให้อิน คล้อยตาม และเอาใจช่วยบรรดาคู่รัก

อย่างที่สองก็น่าจะมาจาก ‘ธีมเรื่อง’ ที่สร้างคาแรกเตอร์ของตัวเองได้อย่างแข็งแกร่งโดยไม่ทับไลน์กัน แม้จะมีมากกว่า 20 รายการในแต่ละปี จึงไม่น่าแปลกที่แฟนรายการจะมีตั้งแต่วัยรุ่น วัยทำงาน เรื่อยไปจนถึงวัยกลางคน แถมยังเนื้อหอมแบบสุด ๆ เพราะอย่างรายการ EXchange ก็ถูกญี่ปุ่นนำไปรีเมค ในชื่อ ‘Love Transit’ (2023) 

หากดูเผิน ๆ Single’s Inferno คงได้แรงบันดาลใจจาก ‘Love Island’ รายการสุดฮิตของทางอังกฤษ อย่างไม่ต้องสงสัย ทว่าเวอร์ชันเกาหลีกลับเพิ่มเสน่ห์ของรายการแนวเอาชีวิตรอด (Survival Shows) ลงไปด้วย ทำให้ผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องเอาชีวิตรอดด้วยการทำอาหารกินเองด้วยส่วนผสมที่มีอยู่อย่างจำกัด ต้องพากันไปตักน้ำเพื่อดื่มจากพื้นที่ห่างไกล รวมไปถึงการลงสนามเล่นเกมประลองกำลังเพื่อรับรางวัลพิเศษ และได้โอกาสในการเลือกคนที่หมายตา ก่อนจะพากันหนีจาก ‘เกาะนรก’ ไปยัง ‘เกาะสวรรค์’

นอกจากนี้ เกาหลียังสามารถสร้างความแตกต่างจากเรียลลิตี้โชว์จับคู่แบบเดิม ๆ ด้วยการนำเสนอ ‘คอนเซปต์ความรัก’ ที่มีความละเอียดอ่อนค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้น ๆ เน้นการ ‘พูดคุย’ ทำความรู้จักเป็นหลัก มากกว่าการ ‘สัมผัส’ ตัวกันโดยไม่จำเป็น และไม่ต้องอาศัยซีนฮอต 18+ ดังเช่นในรายการทางฝั่งตะวันตก 

ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ ชาวเกาหลีเรียกกันว่า ‘ซอม’ (썸) มีที่มาจากภาษาอังกฤษคำว่า ‘Something’ หรือ ‘Ssŏmssing’ (썸씽) มาจากประโยคว่า “There's Something There” คำนี้เป็นคำศัพท์ที่วัยรุ่นเกาหลี เริ่มใช้กันในช่วงปี 2009 เอาไว้ตั้งชื่อความสัมพันธ์ที่มากกว่า ‘เพื่อน’ แต่ยังไม่ใช่ ‘แฟน’ เล็ง ๆ กันเอาไว้ ก่อนการออกเดทอย่างเป็นทางการ หรืออาจเทียบได้กับคำว่า ‘คนคุย’ ของไทยก็ไม่น่าผิด ซึ่งคอนเซปต์นี้ นับเป็นอะไรที่ ‘สดใหม่’ ให้กับฝั่งยุโรปและอเมริกาที่ไม่ยังคุ้น ส่วนชาวเอเชียที่คุ้นเคยอยู่แล้วก็กลายเป็น ‘อิน’ ง่ายเข้าไปอีก

ซีซันแรกของ Single Inferno สามารถสร้างปรากฏการณ์ด้วยการติดอันดับ Top 10 รายการทีวียอดนิยมทั่วโลกของ Netflix เป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน หลังจากเปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคม 2021 และนับเป็นเรียลลิตี้โชว์จากเกาหลี ‘รายการแรก’ ​ที่สามารถทำได้ ส่วนซีซันที่ 2 ซึ่งออกฉายใน 2022 ก็ได้รับกระแสตอบรับดีไม่แพ้ซีซันแรก โดยติดอันดับ Top 10 รายการทีวียอดนิยมของ Netflix ใน 14 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ 

ขณะที่ซีซันที่ 3 ก็เป็นซีซันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด จากการใส่เรื่องราว ‘รักสามเส้า’ ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ควบคู่กับการพุ่งประเด็นไปยังผู้เข้าแข่งขันชายที่ไม่สามารถเลือกคนที่ชอบได้เสียที (จนเกือบจบรายการ) ทำให้มียอดผู้ชมมากกว่า 7 ล้านชั่วโมง มากกว่าซีซันที่ 2 ถึง 1 ล้านชั่วโมงเลยทีเดียว

สำหรับซีซัน 4 ซีซันล่าสุดก็ยังคงได้กระแสตอบรับที่ดีเช่นเคย แถมยังดำเนินรอยตามซีซัน 3 ด้วยการให้ความสนใจไปกับความรักหลายเส้า แต่เปลี่ยนเป็นตัวละครผู้หญิงแทน แถมยัง (แอบ) มีซีนที่ ‘ทำลาย’ ​คอนเซปต์ซอมที่เคยสร้างมาอีกด้วย เช่นเดียวกับเรื่องราวบนเกาะนรกที่ผู้เข้าร่วมรายการ ต้องต่อสู้ฝ่าฟันก็แทบจะไม่มีให้เห็น แต่เน้นไปกับซีนหวานบนเกาะสวรรค์มากกว่า จนทำให้แฟนรายการ ‘บ่นอุบ’ ว่าเสน่ห์ของรายการหดหายไป

แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ทุกคนก็กลับเฝ้ารอตอนใหม่กันทุกสัปดาห์อยู่ดี

“ทำไมถึงติดกันงอมแงม” จิตวิทยาว่าด้วย ‘รายการจับคู่เดท’

“ผู้คนหลงใหลในเรื่องราวความรักมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์”

ดร. อิซาเบล มอลลีย์ (Isabelle Morley) นักจิตวิยาคลีนิคด้านชีวิตคู่ ให้ความเห็นว่า ความสนใจเรื่อง ‘ความรัก’ เป็นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ดังนั้น การที่คนเราชอบดูรายการแนวนี้ ก็ไม่ต่างกับการที่เราชอบ ‘นิยายรัก’ หรือ ‘ละครน้ำเน่า’ สักเรื่อง อย่างที่เราเคยเสียน้ำตาให้กับโศกนาฏกรรมความรักระหว่าง ‘โรมิโอและจูเลียต’ หรือการที่เราเคยเลือกข้างเป็น ‘ทีมเกล’ และ ‘ทีมพีตา’ ใน ‘The Hunger Games’ มาแล้ว แต่ตอนนี้เราได้เปลี่ยนมาเชียร์และให้กำลังใจคนในเรียลลิตี้โชว์แทน

คงต้องบอกว่ารายการแนวนี้มีส่วนช่วยเติมเต็มความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่อยาก ‘ถูกรัก’ สิ่งที่คนชอบในรายการจริง ๆ อาจจะเป็นโอกาสใน ‘การเลือก(คู่)’ ก็เป็นได้ เพราะว่า ‘การหาคู่ในยุคใหม่’ ค่อนข้างน่าผิดหวัง เนื่องจากโลกหลังโควิด-19 เป็นต้นมา ‘ความเหงา’ ได้กลายเป็น ‘โรคระบาดใหม่’ ที่ทำให้เกิดช่องว่างในใจ เมื่อผู้คนขาดการเชื่อมโยงกัน และนิยมหาคู่เดทผ่านแอพพลิเคชันกันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การได้เห็นคนอื่น “ออกเดทในชีวิตจริง” แม้จะแค่ในจอ ก็เป็นอะไรที่ตอบโจทย์แบบสุด ๆ  

นอกจากนี้ เนื้อหาของรายการยังช่วยเราบรรเทา ‘ความเจ็บปวด’ ที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ‘การบอกรัก’ หรือ ‘การอกหัก’ ล้วนเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากในชีวิตจริง เราแทบจะไม่มีโอกาสได้สัมผัส ‘เบื้องหลัง’ ความสัมพันธ์ของคนอื่นได้เลย แต่รายการแนวนี้ ทำให้เราได้เห็นขั้นตอนของความสัมพันธ์ ขณะที่ผู้ชมตาดำ ๆ กำลังลองเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของตนเอง หรือไม่ก็ศึกษาเอาไว้ก่อนลงสนามรัก ไม่ว่าจะเป็น วิธีการรับมือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ มุมมองในเรื่องเดียวกันของฝ่ายชายและหญิง ไปจนถึงรู้ว่าความสัมพันธ์ที่ดีควรเป็นอย่างไร และที่สำคัญ รายการนี้ก็เหมือนเป็นการพาเราไป “ดราม่าเรื่องของคนอื่น” สักพัก ก่อนจะมาพบกับ ‘ปัญหาจริง ๆ’ ของตัวเอง 

รองศาสตราจารย์ดาเนียล ลินเดมันน์ (Danielle Lindemann) ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา จากมหาวิทยาลัยเลไฮ (Lehigh University) เชื่อว่าสิ่งที่ผู้ชมชื่นชอบในรายการเรียลลิตี้โชว์นั้น มาจากการที่ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้ ‘ปฏิสัมพันธ์’ กับผู้ร่วมรายการจริง ๆ 

บางคนก็เป็นไปในรูปแบบ ‘พาราโซเซียล’ (Parasocial Relationship) ซึ่งหมายถึงผู้ชมจะรู้สึก ‘ชื่นชอบ’ บุคคลในรายการไม่ต่างจาก ‘ดาราและศิลปิน’ แต่ต่างกันตรงที่ผู้ร่วมรายการแนวนี้ มักเต็มใจที่จะเปิดพื้นที่ และสร้างปฏิสัมพันธ์กับแฟนรายการมากกว่าดาราศิลปิน อย่างที่เรามักเห็นกันบ่อย ๆ ว่าพอหลังรายการออนแอร์ ก็จะมีการ ‘แจกวาร์ป’ หรือช่องทางการติดตามทางโซเชียลมีเดียกันแล้ว 

เพราะท้ายที่สุด ‘ทุกรายการ’ ก็ยังคงถูกผลิตออกมา เพื่อกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม และสร้างเรตติ้งให้มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าเราก็หลงกลติดบ่วงอยู่เรื่อยไป

ถึงจะชอบเรื่องความรัก แต่ ‘การแต่งงาน’ ไม่ใช่ทางออก

แม้จะมีรายการมากมาย จนดูเป็นชาติที่ ‘คลั่งรัก’ แต่เอาเข้าจริงอัตราการแต่งงานในเกาหลีกลับ ‘ลดฮวบ’ สวนทางกับการเติบโตของรายการวาไรตี้

ทั้งนี้ รอยเตอร์สรายงานว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนคู่แต่งงานใหม่ในเกาหลีลดลงถึงร้อยละ 23 พ่วงด้วยสถิติ ‘อัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก’ แม้ปีก่อนทางการเกาหลีจะเผยว่าสถิติคู่แต่งงานในปี 2023 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี แต่ก็ขึ้นเพียง 1% เท่านั้น โดยในปี 2023 มีคู่แต่งงานทั้งสิ้น 193,657 คู่ เพิ่มขึ้นจาก 191,690 คู่ ในปี 2022

อย่างไรก็ดี ตัวเลขของปี 2023 ก็ยังคงต่ำกว่าจำนวนการแต่งงาน 239,159 คู่ ในปี 2019 อย่างมาก ยิ่งเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน ที่มีจำนวนถึง 320,000 คู่ เรียกได้ว่าอัตราลดลงอย่างน่าใจหาย นอกจากนี้ จำนวนคู่แต่งงานที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ก็อาจจะมาจากทางภาครัฐเริ่มการผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 ทำให้คู่แต่งงานที่เคยเลื่อนกำหนดการจากปีก่อน ๆ มาแต่งงานในปีนี้ 

ทางการมองว่าสาเหตุที่ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ไม่แต่งงานนั้น มาจาก ‘ค่าที่อยู่อาศัย’ ที่เป็น ‘อุปสรรค’ ในการแต่งงาน สอดคล้องกับผลสถิติของ Statista ที่พบว่าชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า “ไม่สามารถดูแลค่าใช้จ่ายได้” หากมีครอบครัว ตามมาด้วยคำตอบที่ว่า “ยังไม่เจอคนถูกใจ” และ “ไม่มีเหตุผลต้องแต่งงาน” ตามลำดับ 

เช่นเดียวกับจากการสำรวจผู้คนราว 1,000 คน เมื่อปี 2022 โดยสมาคมประชากร สุขภาพ และสวัสดิการของเกาหลี (Korea Population, Health and Welfare Association) พบว่าคนโสดราว 2 ใน 3 อายุระหว่าง 19 - 34 ปี ตอบว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ในความสัมพันธ์ใดเลย โดยผู้หญิงจำนวน 61% และผู้ชาย 48% บอกว่าพวกเขาไม่มีความปรารถนาที่จะหาแฟนในอนาคต

รายการ ‘Living Together without Marriage’ (2023) เป็นหนึ่งในเรียลลิตี้จับคู่เดท ที่แหวกแนวด้วยการตามติดชีวิตคู่รักที่สะท้อน ‘วัฒนธรรมใหม่’ ของชาวเกาหลี ที่อยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงาน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ก็เป็นอีกรายการที่ได้นำเอา ‘ปัญหา’ ออกมาบอกเล่า ซึ่งคิมจิน (Kim Jin) หัวหน้าโปรดิวเซอร์รายการกล่าวว่า ตัวเองไม่ได้มีเจตนาที่จะสนับสนุน ‘การอยู่กินกัน’ โดยไม่แต่งงาน หรือ ‘ขัดขวางการแต่งงาน’ แต่อย่างใด สิ่งที่ทำเพียงแค่ต้องการ ‘จุดประเด็น’ ให้สังคมได้เห็นถึง ‘วิถีชีวิต’ ของคู่รักเหล่านี้ พร้อมเบื้องหลังใน ‘การตัดสินใจ’ ของพวกเขา 

จองด็อกฮยอน (Jung Deok-Hyun) นักวิจารณ์ด้านวัฒนธรรมเคป็อบให้ความเห็นว่า การที่รายการเรียลลิตี้โชว์จับคู่เดทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้น น่าจะเป็นผลมาจากอัตรา ‘การว่างงาน’ ที่สูงขึ้น และ ‘เศรษฐกิจที่ซบเซา’ ทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการออกเดท ชาวเกาหลีจึงเลือกรายการเหล่านี้ เพื่อตอบสนองความต้องการ และทดแทนการออกเดทของตนเอง 

ในทางกลับกัน อิมมยองโฮ (Lim Myung-ho) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยดันกุก (Dankook University) กลับเชื่อว่า รายการเรียลลิตี้สามารถ “ส่งเสริมทัศนคติเชิงบวก” ต่อ ‘การหาคู่’ และ ‘การแต่งงาน’ ของชาวเกาหลีให้มากขึ้นได้ และรัฐบาลก็ควรสนับสนุนรายการเหล่านี้ด้วย

เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะ ‘โสด’ ถึงชอบดูรายการ หรือการดูรายการ (อาจจะ) ทำให้ ‘ไม่โสด’ แต่ที่แน่ ๆ  รายการเหล่านี้คือ กระจกสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมใหม่ของเกาหลีได้ดีทีเดียว 

 

เรื่อง: รตินันท์ สินธวะรัตน์

ภาพ: Netflix

อ้างอิง:
From ‘Single’s Inferno’ to ‘Heart Signal’: Korean Reality Dating Shows Explained
https://www.tatlerasia.com/lifestyle/entertainment/korean-reality-dating-shows

Hyung Jung-won. Why are Dating Shows So Popular?
http://evoice.ewha.ac.kr/news/articleView.html?idxno=11140

Jihoon Lee. South Korean Romance Reality Shows Boom, but Marriage No Longer the End Game. https://www.reuters.com/world/asia-pacific/south-korean-romance-reality-shows-boom-marriage-no-longer-end-game-2023-03-05/

Jordana Comiter. Why We Can't Get Enough of Reality Dating Shows
https://www.popsugar.com/love/reality-dating-show-psychology-explained-49383381

Katharina Staehr. Why Dating Shows have Us Hooked—and What They are Doing to Our Relationships.
https://observer.case.edu/why-dating-shows-have-us-hooked-and-what-they-are-doing-to-our-relationships/

Leading reasons for not getting married in South Korea as of March 2024, by gender
https://www.statista.com/statistics/1248707/south-korea-reasons-for-not-getting-married-by-gender/

Lee Yoon-seo. Global Viewers Warm to Korea's 'Slow Paced' Dating Shows https://m.koreaherald.com/article/3283551

Lee Yoon-seo.‘Single’s Inferno 3‘ may be most successful season yet
https://www.koreaherald.com/article/3303887

Naledi Ushe. No Lasting Love, No Problem: Why We Still Can't Stop Watching Reality Dating Shows.
https://www.usatoday.com/story/entertainment/tv/2023/04/13/why-do-we-watch-reality-tv-dating-shows/11599545002/

Not quite dating? You’re in “ssŏm 썸”
https://hanmadistory.wordpress.com/2016/04/09/sseom/

Number of South Korea Marriages Edges up in 2023 After 11 Years of Falls.
https://www.reuters.com/world/asia-pacific/number-south-korea-marriages-edges-up-2023-after-11-years-falls-2024-03-19/

Park Jin-hai. Dating-Themed Reality Shows Evolve, Show Different Paths to Love.
https://www.koreatimes.co.kr/www/art/2025/01/398_377108.html