Doubt (2024) ซีรีส์อาชญากรรมระทึกขวัญที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัย

Doubt (2024) ซีรีส์อาชญากรรมระทึกขวัญที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัย

Doubt (2024) ซีรีส์อาชญากรรมระทึกขวัญที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัย ฉากหน้าฆาตกรรม ฉากหลังสะท้อนปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว

KEY

POINTS

  • Doubt (2024) ซีรีส์แนวอาญชญากรรมระทึกขวัญที่เปิดเรื่องด้วยคดีฆาตกรรมปริศนา ก่อนจะดึงเอา ‘ความสงสัย’ ของคนมาเป็นประเด็นหลัก ควบคู่ไปกับตั้งคำถามว่า หากสถาบันหลักอย่างสถาบันครอบครัว ถ้าไม่เชื่อใจกันแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น?
  • เสน่ห์ของเรื่องนี้ ต้องยกให้กับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจ โดดเด่นด้วยโทนภาพขมุกขมัว ผสานการดำเนินเรื่องแบบ Slow Burn ที่สุดแสนจะเนิบช้า ชวนทรมาน และน่าสงสัย 
  • แม้เรตติ้งจะไม่ถึงกับเปรี้ยงปร้างตูมตาม แต่เรื่องนี้กลับติดอันดับ 2 ยอดการค้นหาสูงสุดจากผู้ชม อีกทั้งเป็นที่นิยมของผู้ชมในวัย 40 - 50 ปี ซึ่งเชื่อว่ามาจากการนำเสนอประเด็นของครอบครัวได้โดนใจ และกำลังสะท้อนภาพที่แท้จริงในสังคมเกาหลี
     

(บทความนี้อาจมีการเผยแพร่บางส่วนของเนื้อเรื่อง) 

หลังจากคิดว่าปีนี้คงไม่มีซีรีส์แนวอาชญากรรมทางฝั่งเกาหลีให้ดูกันแล้ว ในที่สุดช่อง MBC และ Netflix ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ด้วยการส่ง ‘Doubt’ (2024) ซีรีส์แนวอาญชญากรรมระทึกขวัญมาส่งท้ายปลายปี  อีกทั้งยังสามารถปิดตัวลงได้อย่างสวยงาม ด้วยการทำลายสถิติเรตติ้งสูงสุดของตัวเอง และเป็นอันดับ 3 ของซีรีส์ที่ฉายในช่วงเวลาเดียวกัน 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ซีรีส์แนวอาชญากรรมส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Beyond Evil (2021), Mouse (2021) เรื่อยไปจนถึง Through the Darkness (2022) มักเน้นการสืบสวนสอบสวน ความโหดร้ายของฆาตกร เพื่อสะท้อนความน่ากลัวของสังคมในภาพใหญ่ แต่เรื่องนี้กลับเลือกที่จะแตกต่างด้วยการนำคดีฆาตกรรม มาหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัยในใจผู้ชม ก่อนจะตั้งคำถามขึ้นมาว่า หากสถาบันที่เป็นหน่วยเล็กที่สุด และเป็นพื้นฐานของสังคมอย่าง ‘ครอบครัว’ เกิดความเคลือบแคลงใจกันแล้วล่ะก็ อะไรจะเกิดขึ้น?

Doubt เปิดฉากด้วย ‘คดีฆาตกรรมปริศนา’ ที่มี ‘จางแทซู’ (แสดงโดย ‘ฮันซอกกยู’ (Han Suk-kyu)) ที่รับบทเป็น ‘โปรไฟเลอร์’ (Profiler) หรือนักวิเคราะห์พฤติกรรมอาชญากรระดับท็อปของเกาหลีเข้ามาดูแลคดีนี้ ซึ่งพอจางแทซู ยิ่งสืบหาความจริงไปเท่าไร เขากลับพบว่า ‘ผู้ต้องสงสัย’ ไม่ใช่ใครอื่น แต่กลับเป็น ‘จางฮาบิน’ (แสดงโดย ‘แชวอนบิน’ (Chae Won-bin)) ลูกสาววัยมัธยมปลายของเขาเอง อันนำมาสู่การเปิดเผย ‘โศกนาฏกรรม’ ในครอบครัวที่เกิดขึ้นเพียงเพราะ ‘ความสงสัย’ พร้อมปมที่พลิกไปพลิกมาจนยากจะคาดเดาตลอดทั้ง 10 ตอน
 

เพราะฉัน ‘สงสัย’ ฉันจึงมีอยู่

‘เรอเน เดการ์ต’ (René Descartes : 1596-1650) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส บิดาของปรัชญาสมัยใหม่ กล่าวไว้ว่า “I think, therefore I am” หรือ “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” เป็นการบอกกลาย ๆ ว่าสิ่งที่เราคิด เราเห็น เรารู้สึก เราสงสัย ล้วนทำให้เรามีตัวตน ดังนั้น ‘ความสงสัย’​ คือ พื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

แน่นอนว่า Doubt ได้หยิบยกเอา ‘ความสงสัย’ ตามชื่อเรื่องมาใช้ได้อย่างน่าสนใจ พร้อม ๆ กับตีความ ‘วิธีสงสัย’ (Method of Doubt) ทฤษฎีเอาชนะความสงสัยของเดการ์ตออกมาได้อย่างกว้างขวาง เดการ์ตมองว่า เราควรจะตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่มีอยู่ทั้งหมด เพราะสิ่งที่เคยเห็นเคยเชื่อว่า ‘จริง’ ก็อาจเป็น ‘เท็จ’ ได้ วิธีสงสัยของเดการ์ตแบ่งออกเป็น 3 ขั้น ได้แก่ การรับรู้ผิดพลาดหรือภาพลวงตา (Perceptual Illusions) ความฝัน (The Dream Problem) และคำสอนพระเจ้า (A Deceiving God) ซึ่งส่งผลให้เราเกิดความเชื่อที่ผิดพลาดได้ เดการ์ตจึงบอกว่าเราไม่ควรเชื่อในสิ่งใด จนกว่าสิ่งนั้นจะแจ่มแจ้งและชัดเจน (Clear and Distinct) 

อย่างที่ ฮันบินตั้งคำถามกับพ่อของเธอว่า ที่มาสงสัยว่าเธอเป็นฆาตกรนั้นเป็นเพราะ “เชื่อในสิ่งที่เห็น หรือเห็นในสิ่งที่เชื่อกันแน่” หรือจะเป็นแทซูเอง ที่พูดเตือนสติลูกน้องในทีมไว้ว่า “หากมั่นใจได้ขนาดนี้ ก็ลองสงสัยในความมั่นใจนั้นดูบ้าง” โดยทั้งสองประโยคก็ล้วนเป็นการบอกกลาย ๆ ว่า แม้แต่สิ่งที่เราแน่ใจก็อาจจะผิดได้เช่นกันจากอคติที่เข้ามาบังตา

ดีไม่ดีสิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อาจไม่ใช่สิ่งที่เราเห็น แต่อาจจะเป็นสิ่งที่เราเชื่อต่างหาก

เมื่อความสงสัย ‘ฆ่า’ คนได้

ประเด็นความสงสัยและความไม่วางใจมักเป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้เล่าเรื่องความสัมพันธ์อันเปราะบางของครอบครัวเสมอมา แต่ซีรีส์เรื่องนี้กลับไม่ได้ใช้ประเด็นฮิตอย่าง ‘การนอกใจ’ ที่ใช้กันจนเกร่อ หากแทนที่ด้วยการสร้างบรรยากาศความไม่น่าไว้วางใจ โดดเด่นด้วยโทนภาพสไตล์ฟิล์มนัวร์ดูขมุกขมัว ผสานการดำเนินเรื่องแบบ Slow Burn ที่สุดแสนจะเนิบช้า ชวนทรมาน อึดอัด และน่าสงสัย 

ในขณะเดียวกันโทนสีและองค์ประกอบภาพก็แทบจะเป็นงานมาสเตอร์พีซที่สามารถนำมาวิเคราะห์เชิงสัญลักษณ์ได้แทบทุกจุด โดยเฉพาะ ‘บ้าน’ ที่น่าจะเป็นสถานที่ที่อบอุ่นที่สุด แต่ห้องหับในบ้านกลับถูกจัดสรรให้อยู่ในทางเดินแคบ ๆ โดยมีห้องของฮาบินอยู่สุดปลายทางเสมือนเป็น ‘ทางตัน’ ที่ยังหาทางออกไม่ได้ ไม่ต่างกับ ‘โต๊ะอาหาร’ ของบ้านที่ราวกับเป็น ‘ห้องสอบสวน’ ที่รอว่าฝ่ายใดจะพูดความจริงออกมาก่อนกัน 

นอกจากนี้ เสน่ห์ของเรื่องยังอยู่ที่การเล่าเหตุการณ์สลับไทม์ไลน์กันไปมา ผ่านภาพต่างมุมมองของแต่ละตัวละคร ซึ่งล้วนทำให้เราได้ตระหนักว่า แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เราไม่มีทางเห็น ‘ความจริง’ ครบหมดทุกด้านและเหมือนกันได้เลย ด้วยเหตุนี้ ‘ความสงสัย’ จึงเกิดขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเรื่องที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ เบื้องหลังโศกนาฏกรรมของคนเป็นแม่ ที่บอกกับเราดัง ๆ ว่าความสงสัยฆ่าคนได้จริง ๆ 

เพราะเมื่อเรารู้สึกสงสัยแม้เพียงนิดเดียวก็ยากที่จะทำลายความรู้สึกนั้น ราวกับความสงสัยเป็นเมล็ดพันธุ์ ที่ค่อย ๆ งอกเงยกลายเป็นความไม่เชื่อใจที่หยั่งรากฝังลึกลงในจิตใจ จนนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด ซึ่งการตัดสินใจที่ผิดพลาดนี้เอง ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของโศกนาฏกรรม เมื่อคนเป็นแม่ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรความรู้สึกผิดและสิ้นหวัง จนวาระสุดท้ายของชีวิต

จากบทสรุปที่ว่านี้ ทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทั้ง ๆ ที่คนในครอบครัวมีความรักให้กันมากขนาดนั้น หากพูดคุยและเปิดใจกันมากกว่านี้สักหน่อย เหตุการณ์จะเปลี่ยนไปบ้างหรือไม่

ภาพสะท้อนปัญหาในครอบครัว

แม้เรตติ้งของ Doubt จะไม่ถึงกับเปรี้ยงปร้างตูมตาม แต่ซีรีส์เรื่องนี้กลับมีกระแสที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละตอน แบบปากต่อปาก อีกทั้งยังติดอันดับที่ 2 ในการค้นหาออนไลน์ของกลุ่มผู้ชมในช่วงวัย 40 - 50 ปี แถมยังแซงหน้าละครยอดฮิตทางช่อง tvN อย่าง Jeongnyeon: The Star Is Born (2024) ซึ่งมีเรตติ้งเฉลี่ยสูงกว่าด้วยซ้ำ

จองด็อกฮยอน (Jung Deok-Hyun) นักวิจารณ์ด้านวัฒนธรรมเคป็อบให้ความเห็นว่า สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากผู้ชมในวัยผู้ใหญ่นั้น น่าจะมาจากโครงเรื่อง ที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับความรู้สึกของพวกเขาได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะในทุก ๆ ครอบครัว ย่อมจะเคยเกิดภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และต้องสูญเสียสมาชิกไปในระหว่างทางจากความไม่เข้าใจกัน 

ซึ่งนั่นก็ดูจะสอดคล้องกับข้อมูลสำมะโนประชากรและที่อยู่อาศัย (Population and Housing Census) ในเดือนกรกฎาคมปี 2023 โดยสำนักสถิติเกาหลี (Statistics Korea) ที่เปิดเผยออกมาว่า ขณะนี้จำนวนของครัวเรือนที่มีบุคคลเพียงคนเดียวมีถึงร้อยละ 36 ของครัวเรือนทั้งหมด หรือพูดให้เห็นภาพก็คือ คนเกาหลีส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่ ‘ตัวคนเดียว’ มากกว่าเป็นครอบครัว

ถ้ากลับมาย้อนดูอีกครั้ง คงต้องบอกว่า Doubt เป็นซีรีสน้ำดีที่สะท้อนปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ได้อย่างแนบเนียน จากเนื้อหาที่เน้นย้ำถึงความ ‘เปราะบาง’ ของครอบครัว นอกจากนี้ เราจะเห็นภาพของปัญหา ‘เด็กหนีออกจากบ้าน’ ที่ต้องมากลายเป็น ‘เหยื่อ’ และอยู่ใน ‘เงามืด’ ของความโหดร้ายในสังคม

เช่นเดียวกับภาพของ ‘คุณพ่อ’ ธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่ถึงแม้ภายนอกจะดูสมบูรณ์แบบ แต่ความจริงแล้วตัวเขา ก็เคยหนีปัญหาจากความไม่เชื่อใจ และต้องการโอกาสกลับมาดูแลลูกสาวอีกครั้ง เรื่อยไปจนถึง ความพยายามของ ‘ลูกสาว’ ที่ทำทุกทางเพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด และนั่นทำให้ ‘ฮาบิน’ เป็นตัวละครที่เรารักและเห็นใจมากที่สุด เพราะแม้ว่าเธอจะเติบโตท่ามกลางความเคลือบแคลงใจ ของผู้เป็นพ่อและแม่ แต่เธอก็เติบโตมาอย่างดี 

ที่สำคัญในซีรีส์เองก็ไม่ได้นิยามหรือ stereotype ‘ความไม่ปกติ’ ของฮาบินแต่อย่างใด ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี เพราะนั่นเท่ากับเป็นการย้ำว่า หากครอบครัวแข็งแกร่งแล้ว ไม่ว่าสมาชิกในครอบครัวจะเป็นแบบใด ทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ไข

และคงไม่มีอะไรที่รักษาเราได้ดีไปกว่า ‘เวลา’ ดังเช่นของขวัญที่คุณพ่อมอบให้กับลูกสาวในตอนจบนั่นเอง

 

เรื่อง: รตินันท์ สินธวะรัตน์

อ้างอิง:

Descartes: Starting with Doubt

Drama 'Doubt' gains buzz for powerful chemistry between young actor and Han Suk-kyu

Shaheen Irani. Doubt K-Drama ending explained: Why did Han Suk-kyu's Jang Tae-su gift his daughter a watch?