ทำไมวงการบันเทิงเกาหลีถึงใช้ดาราหญิงรุ่นพี่ มากกว่าดาราหญิงรุ่นน้อง?

ทำไมวงการบันเทิงเกาหลีถึงใช้ดาราหญิงรุ่นพี่ มากกว่าดาราหญิงรุ่นน้อง?

“เมื่ออายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข” ทำไมวงการบันเทิงเกาหลีถึงเลือกใช้งานนักแสดงหญิงรุ่นพี่มากกว่านักแสดงหญิงรุ่นน้อง

KEY

POINTS

  • ช่วง 4 - 5 ปีมานี้ วงการบันเทิงเกาหลีได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ ด้วยการให้นักแสดงหญิงรุ่นพี่มารับบทนำกันมากขึ้น บางครั้งอายุของเธอยังมากกว่าในบทเสียด้วย
  • เชื่อว่าจุดเริ่มต้นนี้ มีที่มาจากพล็อตเรื่องแบบ ‘Noona Romance’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกประเภทหนัง และซีรีส์ที่มีเรื่องราวความรักโรแมนติกระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาวที่มีอายุมากกว่า ซึ่งนิยมตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา
  • นอกจากนี้ ยังพบว่าบุคลากรในอุตสาหกรรมเกาหลีเป็นผู้หญิงมากขึ้น โดยเฉพาะนักเขียนบทที่มีถึง 90% ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างค่านิยมใหม่ ๆ ให้กับวงการ
     

นอกจากเรื่องราวสุดเข้มข้นของ K-Drama อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยมัดใจผู้คนทั่วโลกได้อยู่หมัดนั้น คงต้องยกให้กับการ ‘การแสดง’ อันยอดเยี่ยมของนักแสดงรุ่นใหญ่ โดยเฉพาะ ‘นักแสดงหญิง’ ที่ไม่เพียงแต่คง ‘ความงาม’ ของเธอได้อยู่เหนือกาลเวลาเท่านั้น หากแต่พวกเธอยังได้รับการ ‘ยอมรับ’ จากวงการมากขึ้นอย่างน่าจับตา หรือจะเรียกว่านักแสดงนำหญิงมีอัตราอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้นก็ไม่น่าจะผิดนัก

หนึ่งในตัวชี้วัดความนิยมและความสำเร็จได้ดีนั้น คงไม่พ้น ‘รายได้’ ที่พวกเธอได้รับ ซึ่งนักแสดงหญิงชาวเกาหลีที่ร่ำรวยที่สุดในปี 2024 กลับไม่ใช่ ‘คิมจีวอน’ จาก ‘Queen of Tears’ (2024) ที่กำลังโด่งดังสุด ๆ ในปีนี้ หรือจะเป็น ‘ซนเยจิน’ ที่เคยสร้างตำนานรักจาก ‘Crash Landing on You’ (2019) รวมทั้ง ‘ซองเฮคโย’ ที่กลับมาทวงบัลลังก์คืนอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานจากเรื่อง ‘The Glory’ (2022 - 2023) เพราะท้ายที่สุดสถิตินี้กลับตกเป็นของ ‘ลียองเอ’ นักแสดงสาววัย 53 ปี ที่เราทุกคนต่างรู้จักกันดีในฐานะ ‘แดจังกึม’

ทำไมวงการบันเทิงเกาหลีถึงใช้ดาราหญิงรุ่นพี่ มากกว่าดาราหญิงรุ่นน้อง?

สำนักข่าว AP รายงานว่า ห้วงเวลานี้นับเป็น Golden Hour ของนักแสดงหญิงรุ่นใหญ่ เพราะพวกเธอสามารถก้าวขึ้นมาเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ได้อย่างเต็มตัว ซึ่งผู้ที่สร้างแรงกระเพื่อมสำคัญก็คือ ‘ยุนยอจอง’ นักแสดงอาวุโสวัย 77 ปี ที่สามารถคว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Minari’ (2020) บนเวทีออสการ์ครั้งที่ 93 ได้เป็นผลสำเร็จ 

ทำไมวงการบันเทิงเกาหลีถึงใช้ดาราหญิงรุ่นพี่ มากกว่าดาราหญิงรุ่นน้อง?

ความสำเร็จของนักแสดงหญิงรุ่นใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้น คงต้องยกประโยชน์ให้กับเส้นเรื่องที่เน้นหนักถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวอย่างที่เห็นกันใน ‘Reply’ (2015) ทำให้วงการบันเทิงเกาหลีจึงมีนักแสดงแทบ ‘ทุกช่วงวัย’ แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้ ‘นักแสดงหญิงรุ่นพี่’ มีบทบาทมากกว่า ‘นักแสดงหญิงรุ่นน้อง’ ว่ากันว่ามาจากพล็อตเรื่องสไตล์ ‘นูน่าโรแมนซ์’ (Noona Romance) ที่เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของซีรีส์เกาหลีตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา

Noona Romance เรื่องรักโรแมนติกของเหล่านูน่า

หากจะบอกว่าพล็อตเรื่องรักโรแมนติกของคนไทย มักจะใช้มุก ‘ความรักต่างชนชั้น’ แล้วล่ะก็ คงต้องบอกว่าเกาหลีก็มีพล็อตแบบนูน่าโรแมนซ์ ด้วยการดึงเอาเรื่องของ ‘อายุ’ มาสร้างเรื่องราว ‘ความรักต้องห้าม’ ที่เขาและเธอต้องฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยความเข้าใจ

‘นูน่า’ (Nuna /Noona (누나)) เป็นคำภาษาเกาหลี แปลว่า ‘พี่สาว’ อันเป็นคำสำหรับผู้ชายใช้เรียกเท่านั้น (ผู้หญิงเรียกใช้ ออนนี่ (언니)) ในปัจจุบันคำนี้ยังสามารถใช้เรียกผู้หญิงที่คุณชื่นชมและเคารพรักได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ นูน่าโรแมนซ์จึงแปลอย่างตรงตัวได้ว่า เรื่องราวความรักโรแมนติกระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาวที่มีอายุมากกว่า ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะพล็อตนี้ถูกนำมาใช้ตลอดระยะเวลา 20 ที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็น ‘My Lovely Sam Soon’ (2005) ซีรีส์เรื่องแรก ๆ ที่คนไทยรู้จัก ก็สร้างกระแสนูน่าโรแมนซ์ด้วยการดึงตัวนักแสดงหญิง ‘คิมซอนอา’ มาเข้าคู่กับ ‘ฮยอนบิน’ ที่เพิ่งได้รับบทนำเป็นครั้งแรก ตามด้วย ‘I Hear Your Voice’ (2013) ที่นำ ‘อีโบยอง’ นักแสดงสาวคนดังในยุคนั้นมาเข้าคู่กับ ‘อีจงซอก’ ร่วมด้วย ‘Witch's Romance’ (2014) ที่เน้นความสัมพันธ์ต่างวัยของสาววัย 39 และหนุ่มอายุ 25 นำแสดงโดย ‘ออมจองฮวา’ นักร้องสาวชื่อดัง และ ‘พัคซอจุน’ ที่เรียกได้ว่าแจ้งเกิดจากเรื่องนี้เลยก็ว่าได้

ทำไมวงการบันเทิงเกาหลีถึงใช้ดาราหญิงรุ่นพี่ มากกว่าดาราหญิงรุ่นน้อง?

ช่วงที่เป็นยุคทองของพล็อตนี้จริง ๆ ต้องยกให้ในช่วงปลาย 2010 ที่เต็มไปด้วยซีรีส์เรื่องฮิต ๆ ชูโรงด้วยแสดงหญิงรุ่นพี่ระดับท็อปร่วมตบเท้านำแสดง อาทิ ‘Something in the Rain’ (2018) ที่ได้ ‘ซนเยจิน’ มาประกบกับ ‘จองแฮอิน’ ตามด้วย ‘Encounter’ (2018) นำโดย ‘ซองเฮคโย’ และ ‘พัคโบกอม’ ร่วมด้วย ‘When the Camellia Blooms’ (2019) ที่มี ‘กงฮโยจิน’ ประกบคู่กับ ‘คังฮานึล’ และ ‘Crash Course in Romance’ (2023) ที่เลือก ‘จอนโดยอน’ นักแสดงสาววัย 50 มาเข้าคู่กับพระเอกมากความสามารถอย่าง ‘จองคยองโฮ’ ซึ่งจากตัวอย่างทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นเครื่องการันตีได้ว่า ดาราสาวรุ่นพี่แสดงคู่กับนักแสดงหนุ่มรุ่นน้องนั้น นับเป็นเรื่องปกติที่เห็นกันจนชินตา 

แต่ทว่าสิ่งที่น่าสนใจได้เกิดขึ้นหลังจากนี้ต่างหาก เพราะหลังจากนี้เราได้เห็นนักแสดงหญิงรุ่นพี่อายุปลาย 40 ถึงต้น ๆ 50 ออกมารับบทนำมากขึ้น พร้อมเนื้อเรื่องที่เข้มข้นและหลากหลาย แถมยังสามารถ ‘ลดทอนอายุ’ ในชีวิตจริง เพื่อให้สมบทบาท ซึ่งซีรีส์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคงไม่พ้น ‘The World Of The Married’ (2020) ที่มี ‘คิมฮีแอ’ มารับบทบาทเมียหลวงประกบคู่กับ ‘พัคแฮจุน’ ที่รับบทเป็นสามีจอมลังเล ก็มีอายุต่างจากเธอถึง 10 ปีเลยทีเดียว ทั้งที่ในเรื่องไม่ได้บอกไว้ว่าเธออายุมากกว่าด้วยซ้ำ

ทำไมวงการบันเทิงเกาหลีถึงใช้ดาราหญิงรุ่นพี่ มากกว่าดาราหญิงรุ่นน้อง?

เช่นเดียวกับ ‘Hyena’ (2020) เรื่องราวความสัมพันธ์โรแมนติกแบบ Love - Hate ของทนายคู่กัด นำแสดงโดย นักแสดงหญิงรุ่นใหญ่อย่าง ‘คิมฮเยซู’ และพระเอกชื่อดังอดีตเจ้าชายเย็นชาอย่าง ‘จูจีฮุน’ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้นำพล็อตแบบนูน่าโรแมนซ์มาใช้แต่อย่างใด แต่คู่พระนางกลับมีอายุห่างกันถึง 12 ปี เพราะตอนที่ฮเยซูตอบรับเล่นเรื่องนี้ เธออยู่ในวัย 49 ปีเข้าไปแล้ว ขณะที่จูจีฮุนอายุเพียง 37 ปีเท่านั้น แต่เคมีของทั้งสองกลับคู่กันได้อย่างเหมาะเจาะ 

การรับบทบาทในครั้งนี้ของคิมฮเยซู จึงเหมือนเป็นสัญลักษณ์กลาย ๆ ว่าเธอ “ถูกเลือก” เพราะเข้าถึงกับบทบาทโดย “ไม่เกี่ยงอายุ” และนับว่าเป็นการเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับนักแสดงรุ่นใหญ่อีกด้วย เพราะภายหลังจากเรื่องนี้ คิมฮเยซูก็สร้างชื่อให้กับตัวเองอย่างงดงามจากเรื่อง ‘Under the Queen's Umbrella’ (2022) ซึ่งเธอสามารถรับบทนำ (เป็นนางเอกหนึ่งเดียวของเรื่อง) ด้วยวัย 52 ปี

The Woman Writer จากปลายปากกาของนักเขียนหญิง

‘เมรี อินสลีย์’ (Mary Ainslie) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม ผู้เขียนบทความเรื่อง ‘ความเป็นชายในวัฒนธรรมเกาหลีและมาเลเซีย : ความเป็นชายของชาวมาเลเซีย และกระแสฮันรยู’ (Korean soft masculinity vs. Malay hegemony: Malaysian masculinity and Hallyu fandom) ชี้ว่า การคัดเลือกนักแสดงหญิงที่มีอายุมากขึ้นอย่างผิดตานั้นมาจากหล่อหลอมของวงการบันเทิงเกาหลีเอง ที่มักเลือกใช้ผู้หญิงเป็นศูนย์กลางของเรื่องราว

แน่นอนว่าในเกาหลีใต้ได้เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่ว่านี้ เมื่อผู้หญิงได้รับการยอมรับในสังคม และมีโอกาสได้รับตำแหน่งใหญ่ ๆ มากขึ้น ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ถูกนำเสนอผ่าน K-Drama ไม่ว่าจะเป็น ภาพลักษณ์หญิงแกร่งที่มีปากมีเสียง กล้าคิดกล้าทำ ในขณะเดียวกันพวกเธอก็เป็นเพียงผู้หญิงก็ยังคงแสวงหาความรักพร้อม ๆ กับการทำงานหนักไปด้วยกันได้ อีกทั้งพวกเธอยังมีอาชีพที่ต่าง ๆ กัน และประสบความสำเร็จในชีวิตตามเส้นทางนั้น ๆ 

ที่สำคัญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลียังพบว่า ‘นักเขียนบท’ ส่วนใหญ่เป็น ‘ผู้หญิง’ และมีมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ทำให้พวกเธอมีส่วนสำคัญในการสร้างค่านิยมใหม่ให้กับวงการ  ขณะที่วงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา หรือฮอลลีวูด อัตราการเพิ่มของนักเขียนหญิงยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า และตอนนี้ยังมีสัดส่วนน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ ‘เทลมา อดัมส์’ (Thelma Adams) นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันแนวเฟมินิสต์ และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังที่ว่า 

“สิ่งนั้นจะเหมาะสม หรือไม่เหมาะสมนั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เล่าเรื่อง” 

ทั้งนี้ อดัมส์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้นักเล่าเรื่องยังคงเป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่ และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมในวงการฮอลลีวูด จึงนิยมวางบรรทัดฐานเรื่องราวเป็นตัวละครผู้ชายอายุมาก และหญิงสาวอายุน้อย จนกลายเป็นเรื่องปกติ (แต่พอเป็นผู้หญิงกลับอายุมากกว่ากลับถูกจับตา) ก่อนที่อดัมส์จะทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้ามีนักเล่าเรื่องเป็นผู้หญิงมากขึ้น จะเกิดการสร้างสมดุลใหม่ และเรื่องราวในภาพยนตร์และซีรีส์ก็จะถูกเล่าออกมาอย่างเป็นกลางมากขึ้น 

เหมือนที่เราได้เห็นในวงการบันเทิงเกาหลีตอนนี้นั่นเอง

The New Era of Age Gap Romance เทรนด์รักฉบับนูน่าที่ถูกตีความใหม่

หากมองในแง่ของผู้ชม การถือกำเนิดของนูน่าโรแมนซ์นั้น มีเบื้องหลังเพื่อเอาใจผู้ชมกลุ่มผู้หญิงโดยเฉพาะ เพราะโดดเด่นด้วยเรื่องราวที่ทำให้ผู้หญิงเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าที่พอจะถูกรัก 

แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ก็คือ ‘อายุของผู้ชม’ โดยเฉลี่ยจะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ และแปรผันไปตามอายุเฉลี่ยของนักแสดง ซึ่งไม่ใช่แค่นักแสดงหญิงอย่างที่เราพูดถึงเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึง ‘นักแสดงชาย’ อีกด้วย เพราะซีรีส์และภาพยนตร์ไม่ใช่สิ่งที่ชาว Gen Z รักเท่ากับเจนก่อนหน้า เมื่อคนรุ่นใหม่ยังคงชื่นชอบและเลือกชมคอนเทนต์สั้น ๆ กันมากกว่า 

ซึ่งวงการซีรีส์เกาหลีเองก็ยังสามารถปรับตัวเร็วได้กว่าใคร เมื่อผลงานที่ผลิตออกมาในช่วงหลัง ๆ ก็เป็นเรื่องราวของผู้คนที่อายุมากขึ้น แถมยังสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน ตอนต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ ก็ดันมีซีรีส์ที่เลือกใช้นักแสดงหญิงและชายอายุ 40 ปลาย ๆ ขึ้นไป ออกอากาศมาพร้อม ๆ กันถึง 3 เรื่อง จาก 3 ช่อง ไม่ว่าจะเป็น ‘Your Honor’ จากช่อง ENA, ‘Perfect Family’ จากช่อง KBS และ ‘Romance in the House’ จากช่อง JTBC ที่เลือกใช้พล็อตนี้จนเป็นงานถนัด แถมยังได้ดึงเอาพระเอกจากเรื่องแดจังกึม อย่าง ‘จีจินฮี’ มารับบทนำให้หายคิดถึงกันอีกด้วย

ในขณะที่ทางฝั่งฮอลลีวูดก็ไม่ได้น้อยหน้า เพราะดูท่าว่า Noona Romance น่าจะกลายเป็นกระแสใหม่ของฮอลลีวูดไปด้วย เพราะเพียงแค่ครึ่งปีแรกของปี 2024 ก็มีภาพยนตร์แนวนี้ถึง 3 เรื่อง ได้แก่ ‘Idea of ​​You’ ที่นำเอา ‘แอนน์ แฮทธาเวย์’ มาจับคู่กับนักแสดงหนุ่มสุดฮอตจาก ‘Red, White & Royal Blue’ (2023) อย่าง ‘นิโคลัส กาลิตซีน’ ฉายทางสตรีมมิ่งของ Prime Video 

สำหรับสตรีมมิงก็มี Netflix ก็มี ‘Mother of the Bride’ ที่สามารถดึงเอานักแสดงสาวใหญ่เซ็กซี่สตาร์ในตำนานอย่าง ‘บรูค ชิลด์ส’ โคจรมาเจอกับ ‘แชด ไมเคิล เมอร์เรย์’ นักแสดงรอมคอมที่หายหน้าไปนาน และล่าสุดกับ ‘A Family Affair’ ที่ใช้บริการของนักแสดงสาวเอลิสต์ระดับตำนานอย่าง ‘นิโคล คิดแมน’ มาเข้าคู่กับนักแสดงรุ่นน้องที่ใครๆ ต่างเคยหลงรักเสียงของเขาใน ‘High School Musical’ (2006) อย่าง ‘แซค แอฟรอน’ ซึ่งนับเป็นการฉีกกฏเกณฑ์แบบเดิม ๆ ของฮอลลิวูดแบบรัว ๆ
.
ราวกับประกาศว่า ต่อไปจะเป็นเวลาของผู้ใหญ่ในวงการบันเทิงอย่างเต็มตัว

 

เรื่อง: รตินันท์ สินธวะรัตน์

อ้างอิง:

Age Gap Relationships in Dramas.

Behind the Noona Romance.

Distribution of first marriages in South Korea in 2023, by age difference

Jan Omega. Why Are ‘Noona Romances’ So Popular In K-Dramas? – Here Are The Reasons Why Fans Love Them.

Joan MacDonald. Why Older Actresses Are Often Cast With Younger Actors In Korean Dramas.

Juwon Park. Older women are the fresh faces of South Korean influencers.

Karishma Shetty. Meet the richest K-drama actress; and it’s not Queen of Tears actress Kim Ji Won, Crash Landing on You star Son Ye Jin or The Glory’s Song Hye Kyo

Pierce Conran. The 10 most famous K-drama actresses of all time ranked, from IU and Song Hye-kyo to Son Ye-jin and Kim Hye-ja.