เจาะลึกถึงคำถามว่าทำไมละคร ‘อาหลอง’ ต้อง ‘ปิ้งไก่’ กันทุกเรื่อง?

เจาะลึกถึงคำถามว่าทำไมละคร ‘อาหลอง’ ต้อง ‘ปิ้งไก่’ กันทุกเรื่อง?

ว่าด้วยคำถามยอดฮิตว่าทำไมละคร ‘อาหลอง’ ต้อง ‘ปิ้งไก่’ กันทุกเรื่อง? กับเหตุผลสำคัญที่ไม่อาจหยุดอยู่แค่ฉากหลังที่อยู่ในป่า แต่อาจแฝงไปถึงการปลูกฝังชุดระเบียบทางสังคมว่าด้วยการแบ่งหน้าที่ ระบบอุปถัมภ์และระบบอาวุโส

ในความทรงจำร่วมกันของเด็กไทยต่างจังหวัดยุค 2000 ซึ่งกำลังเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทำมาหากินอยู่ในปัจจุบันนี้ ละคร ‘อาหลอง’ หรือละครของผู้กำกับแนวบู๊วัยเก๋า ‘ฉลอง ภักดีวิจิตร’ เจ้าของฉายา ‘ระเบิดภูเขา เผากระท่อม’ ถือหนึ่งในภาพความทรงจำวัยเด็ก ที่นึกขึ้นมาครั้งใดหากไม่อมยิ้มก็อาจเสียน้ำตา เพราะในยุคที่ทุกคนในบ้านล้วนดูโทรทัศน์ร่วมกัน ละคร ‘อาหลอง’ เป็นละครไทยเพียงไม่กี่เรื่องที่พ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย จะอนุญาตให้เด็ก ๆ สามารถนอนดึกได้ถึงสี่ทุ่มครึ่ง และเมื่อเสียงเพลงที่ขับร้องโดย ‘กัญจน์ ภักดีวิจิตร’ ดังขึ้น ก็เป็นสัญญาณเตือนลูกหลานในบ้านว่า เวลานอนมาถึงแล้ว

เมื่อมองย้อนกลับไป ภาพความทรงจำต่อละคร ‘อาหลอง’ จึงไม่ได้มีเพียงแต่ผืนป่า ปืนและเสือร้าย แต่ยังมีภาพของพ่อ แม่ ตา ยาย และบ้านหลังเก่า กับโลกที่บอกเราทุกคนว่า 

คนดีต้องชนะคนร้ายและทุกอย่างจะเรียบร้อยดี

ทำไมละคร ‘อาหลอง’ ต้อง ‘ปิ้งไก่’?

ในโลกของละคร ‘อาหลอง’ หรือที่เรียกกันว่า ‘กฎเหล็กละครอาหลอง’ มีเอกลักษณ์ที่แฟน ๆ ละครไทยคงพอจำกันได้ อาทิ พระเอกหุ่นบึ๊กที่สามารถต่อกรกับเหล่าร้ายนับสิบคนราวกับเป็นเพียงแค่มดง่าม นางร้ายที่ต้องหน้าอกบึ้ม ๆ ฉากกระสุนที่ไม่มีวันหมดซึ่งพร้อมจะถล่มป่ากระถินให้ราบเป็นหน้ากอง รถยนตร์คันเก่า ๆ ที่พร้อมจะระเบิดตลอดเวลา รวมถึง นักแสดงขาประจำอย่าง ‘กรุง ศรีวิไล’ และ ‘ฤทธิ์ ลือชา’ และที่ขาดไม่ได้เลยคือตัวละครพิเศษที่แสดงโดยลูกชายอาหลอง ‘กัญจ์ ภักดีวิจิตร’ 
แต่หากให้เลือกเอกลักษณ์สำคัญของละคร ‘อาหลอง’ เพียงอย่างเดียว ก็คงต้องยกให้ฉาก ‘ปิ้งไก่’

ฉาก ‘ปิ้งไก่’ เป็นสัญลักษณ์ (iconic) ที่แฟน ๆ ละครต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าเป็นละคร ‘อาหลอง’ ยังไงก็ต้องมีฉาก ‘ปิ้งไก่
สาเหตุที่ต้องมีฉาก ‘ปิ้งไก่’ ก็เพราะว่า ละคร ‘อาหลอง’ ส่วนใหญ่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการตามหาสิ่งลี้ลับหรือสมบัติซึ่งอยู่ในป่า เช่น อังกอร์ 1, ทอง 5, อังกอร์ 2, เหล็กไหล, ทอง ๙ ดังนั้น เมื่อกองทัพต้องเดินด้วยท้อง นอกไปจากผักและผลไม้ อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่คณะเดินทางในละคร ‘อาหลอง’ พอจะหากินได้จากในป่าก็เห็นจะมีแค่สัตว์จำพวก งู หนู นก กระต่าย ไก่ป่า หรือหมูป่า

ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็น ‘ไก่’ นั้น อาหลองเคยตอบเรื่องนี้ไว้อย่างชวนหัวเราะว่า 

อ้าว เดินในป่าจะให้ทำอะไร จะให้กินไส้เดือนเหรอ (หัวเราะ) เป็นการผจญภัยนะ ถ้าไม่ปิ้งไก่ ถ้าให้มีอะไรใหม่ ๆ ให้ไปอึ๊บกันบนต้นไม้ไหม (หัวเราะ) กิจกรรมจะมีอะไร มีน้ำตก มีถ้ำ มีอะไรอีกล่ะ

ด้วยเอกลักษณ์ที่ละครอาหลองต้องเดินเข้าป่าตามล่าหาสมบัติกันเป็นหมู่คณะ ‘ไก่’ จึงเป็นอาหารที่ตอบโจทย์ละครและทีมงานผู้จัดมากที่สุด ดังที่อาหลองบอกกับแฟน ๆ ละครรุ่นลูกว่า

แล้วลูกไม่หาไก่กินมาย่าง แล้วลูกจะทำอะไร หากระต่ายก็ไม่ดี ไก่นี่ดีที่สุด (หัวเราะ)

สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ ‘นักปิ๊งไก่ในตำนาน’ กัญจน์ ภักดีวิจิตร ลูกชายอาหลอง ที่บอกถึงเหตุผลในการ ‘ปิ้งไก่’ ของคุณพ่อ ว่า

คุณพ่อเป็นคนคิด ซึ่งฉากที่ถ่ายทำคือซีนเข้าไปในป่า ก็คิดว่าจะไปปิ้งกวางก็จะแพงไป ซื้อหมูก็เปลืองงบ ก็เลยต้องปิ้งไก่มันสะดวกที่สุดในตอนนั้น

สรุปที่ละครอาหลองต้องปิ้งไก่นั้น ก็เพราะว่าเนื้อเรื่องส่วนใหญ่อยู่ในป่า ไก่จึงเป็นอาหารที่หาง่ายและสะดวกที่สุด จะเอาไก่ไปต้ม ไปแกง ไปผัด ก็คงจะหาเครื่องปรุงรสยาก

ไก่ย่าง’ จึงตอบโจทย์มากที่สุด

 

ฉาก ‘ปิ้งไก่’ สำคัญยังไงในโลกละคร ‘อาหลอง’?

อันที่จริง การจะมีฉากปิ้งไก่อยู่ในละครอาหลองหรือไม่นั้น ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ส่งผลต่อเนื้อหาของละครสักเท่าใดนัก เพราะจุดหมายปลายทางก็คือการไล่ล่าตามหาสมบัติ

ทว่า เมื่อมองให้ลึกลงไปถึงทฤษฎีแห่งความบันเทิง จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ฉากปิ้งไก่สำคัญต่อโลกละครอาหลองอย่าง ๆ น้อย ก็ 2 ประการ

ประการแรก ด้วยละครอาหลองเป็นแนวบู๊ระเบิดภูเขาเผากระท่อม ตามหาไล่ล่า ตื่นเต้นเร้าใจ ระเบิดกันตู้มต้าม ยิงกันจนเปลือกไม้และต้นกระถินราบเป็นหน้ากลอง อารมณ์ของละครและผู้ชมจึงสนุกตื่นเต้นหัวใจรัวเป็นกระเดื่องกลองตลอดเวลา 
การ ‘ปิ้งไก่’ จึงไม่เพียงแต่เป็นหยุดพักเติมพลังและระงับความหิว แต่ยังเปรียบเสมือน ‘การได้หยุดพักหายใจทางความรู้สึกและอารมณ์’ ของละครและผู้ชมไปในตัวด้วย

ประการที่สอง หากจะวิเคราะห์กันแบบหลุดโลก หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘บ้า’ การปิ้งไก่แสดงให้เห็นถึงการปลูกฝังชุดระเบียบทางสังคมว่าด้วยการแบ่งหน้าที่ ระบบอุปถัมภ์และระบบอาวุโส เพราะจะสังเกตเห็นว่า ฉาก ‘ปิ้งไก่’ ปรากฏเฉพาะในคณะเดินป่าของกลุ่มพระเอก/นางเอก เท่านั้น

ไก่ย่าง ที่เหลืองหอมอร่อย จะถูกแบ่งเป็นลำดับจากผู้สูงอายุเป็นอันดับแรกแล้วค่อย ๆ ถูกฉีกเนื้อน่องไปสู่มือของคนวัยหนุ่มสาว การกินไก่ย่างจึงแฝงวัฒนธรรมหรือระเบียบวิธีการกินในหมู่คณะของพระเอกที่เน้นระบบอาวุโส เพศสภาพ และความอุปถัมภ์ค้ำจุน

แตกต่างออกไปจากคณะของผู้ร้ายหรือตัวโกง ที่แทบจะไม่ปรากฏฉาก ‘ปิ้งไก่’ เลย เพราะความสัมพันธ์ในกลุ่มมีลักษณะแบบเจ้านาย – ลูกน้อง ไม่มีการจัดเวรเฝ้ายาม ไม่มีการแบ่งกันกิน เนื่องจากหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัย และหน้าที่ ‘หาให้กิน’ นั้น เป็นของ ‘ลูกน้อง

ซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ของทั้งสองคณะจึงแตกต่างกัน ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในชุดระเบียบวิธีที่แยกระหว่างกลุ่ม ‘พระเอก/คนดี’ กับ ‘ตัวร้าย/คนชั่ว’ ในโลกทัศน์ละคร ‘อาหลอง’ หากไม่บ้าประสาทแดกแทนการรับประทาน ‘ไก่ย่าง’ ไปเสียก่อน ฉาก ‘ปิ้งไก่’ จึงมีความสำคัญในโลกละคร ‘อาหลอง’ เพราะ ไก่ เป็นตัวเชื่อมความสามัคคีและระเบียบวิธีทางสังคมของกลุ่มพระเอก ซึ่งความดี ความสามัคคี และระเบียบวิธีทางสังคมดังกล่าว เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มพระเอกเอาชนะกลุ่มตัวร้าย ทุกทีไป

ฉันเป็นหนึ่งเดียวในหัวใจ...เธอรึเปล่า

ปกติ เมื่อกล่าวถึงละครที่ฮิตมากที่สุดของอาหลองก็คงต้องนึกถึง ‘อังกอร์’ และนึกถึงเพลงอังกอร์ ที่ร้องว่า

 

เสมือนท้องฟ้าวิปริตแปรปรวนทันใด เปรี้ยงปร้างสว่างไสวอันตรายไปทุกที่...

 

แต่ยังมีอีกหนึ่งบทเพลง ที่ซ่อนอยู่ในภาพความทรงจำของใครอีกหลายคน เพราะเป็นเพลงที่ส่งเด็กน้อยต่างจังหวัดเข้านอนเมื่อ 20 ปีก่อน คือเพลง ‘หนึ่งเดียวในดวงใจ’ ที่ขับร้องโดย ‘กัญจน์ ภักดีวิจิตร’

 

เธอเป็นนางฟ้าจุติมาหรือไร 
งดงามดลใจฉันที่เคยใฝ่ฝันหา 
แค่เพียงได้พบเธอและได้สบสายตา 
ชัดเจนขึ้นมาว่าคนนี้และใช่เลย...

 

ข้อสังเกต ‘เพลงส่งเด็กเข้านอน’ นี้ มิใช่ของผู้เขียนเพียงคนเดียว แต่ปรากฏอยู่ในความคิดเห็นใต้เพลง ‘หนึ่งเดียวในดวงใจ’ ทาง YouTube เช่น

 

ย้อนกลับไปไม่ได้แล้วเนอะ เวลาที่มีความสุขที่สุด เวลาเวลาที่เพลงนี้ดังต้องเข้าปิดที่วีนอน

ฟังแล้วใจมันแป๊วๆ ยังงัยไม่รู้ พอเพลงนี้ขึ้นคือต้องเข้านอนอะ มันทำให้คิดถึงชีวิตเด็กประถมจริงๆ รักละครเรื่องนี้ที่สุด คิดถึงมาก

ไม่น่าเชื่อว่า จากละครบู๊ระเบิดภูเขาเผากระท่อม เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี ละคร ‘อาหลอง’ จะกลายเป็นละครแห่งความทรงจำที่ใครหลายคนซ่อนภาพพ่อ แม่ ตา ยาย และบ้านหลังเก่าเอาไว้ ดังที่หลายความคิดเห็นใต้เพลง ‘หนึ่งเดียวในดวงใจ’ บันทึกให้เราอ่านในปัจจุบันว่า

ฟังแล้วทำให้คิดถึงเมื่อก่อนมากๆ เสียงเพลงนี้ขึ้นคือถึงเวลาที่เราเข้านอนพร้อมกับคุณยาย

เคยดูกับตายายตอนเด็กๆ ปัจจุบัน 28ปี  ฟังทีไรใจมันดูแผ่วๆ คิดถึงวันเวลาเก่าๆ คิดถึงยายที่คอยปลุกเราตอนเราหลับ เวลาดูหนังเรื่องนี้จะดูกับยายจนดึกตลอด ตอนนี้ยายก็เสียไปได้ 6-7 ปีแล้ว

“ตอนเด็กชอบเพลงนี้มากๆ รอละครจบถึงจะได้ฟัง เพลงนี้ทำให้ซึ้งและรู้สึกเศร้าในเวลาเดียว คิดถึงตอนที่พ่อยังอยู่ คิดถึงละครเรื่องนี้มาก”

ในความขบขันของฉาก ‘ปิ้งไก่’ ณ ปัจจุบัน บางทีลึก ๆ ลงไปแล้วก็คือภาพความทรงจำของผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็ก ภาพที่ละคร ‘อาหลอง’ ไม่ได้มีเพียงแต่ผืนป่า ปืนและเสือร้าย แต่ยังมีภาพของพ่อ แม่ ตา ยาย และบ้านหลังเก่า กับโลกที่บอกเราทุกคนว่า 
คนดีต้องชนะคนร้าย และทุกอย่างจะเรียบร้อยดี