อานนี แอร์โนซ์ นักเขียนหญิงคนแรกของฝรั่งเศสได้โนเบลวรรณกรรม เล่าชีวิตแสนเรียบง่าย

อานนี แอร์โนซ์ นักเขียนหญิงคนแรกของฝรั่งเศสได้โนเบลวรรณกรรม เล่าชีวิตแสนเรียบง่าย

อานนี แอร์โนซ์ นักเขียนหญิงคนแรกของฝรั่งเศสที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เธอไม่ได้เล่าเรื่องปรัชญาอันซับซ้อน กลับเล่าชีวิตชนชั้นกรรมาชีพแสนเรียบง่าย แต่หลักแหลม

  • อานนี แอร์โนซ์ (Annie Ernaux) นักเขียนหญิงจากฝรั่งเศสคือเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ปี 2022
  •  ผลงานของเธอไม่ได้เล่าถึงปรัชญาที่ซับซ้อนแบบนักเขียนอื่นที่ได้รางวัลก่อนหน้านี้ กลับเล่าแบบเรียบง่าย แต่สะท้อนวิถีชีวิตซึ่งเปิดเผยถึงรากเหง้า ปัญหาทางสังคม และแง่มุมอื่น ๆ

หากพูดถึงนักเขียนฝรั่งเศสที่เคยคว้ารางวัลโนเบล เราอาจจะคุ้นหูชื่อของ ‘อัลแบรต์ กามูส์’ (1957) และ ‘ฌ็อง-ปอล ซาทร์’ (1964) เจ้าของทฤษฎีอัตถิภาวะนิยม (L’Existentialisme) ที่ตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของปัจเจกบุคคลแบบที่สั่นสะเทือนไปทั่วทั้งโลก

ตามด้วย ‘ฌอง มารี กูสตาฟ เลอ เคลซิโอ’ (2008) ผู้นำเสนอประเด็นเรื่องคนชายขอบและความเป็นอื่นได้อย่างละเอียดละออผ่านผลงานแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ของเขา และ ‘แพทริก โมดิอาโน’ (2014) ผู้บอกเล่าเรื่องราวความทรงจำของเขาต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงสงครามโลก

ในปีนี้ รางวัลตกเป็นของนักเขียนฝรั่งเศสอีกครั้ง แต่แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ ตรงที่ครั้งนี้คือ ‘อานนี แอร์โนซ์’ (Annie Ernaux) นักเขียนหญิงผู้ที่ไม่ได้นำเสนอปรัชญายิ่งใหญ่หรือเหตุการณ์ระดับโลกแบบคนก่อน ๆ เพียงแต่บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของตัวเธอ ความสัมพันธ์กับครอบครัว ความเป็นอยู่ของคนชนชั้นกรรมาชีพ และเงื่อนไขการมีชีวิตในฐานะผู้หญิง

ถือเป็นชีวิตที่ดำเนินไปในซอกหลืบเล็ก ๆ ของโลกทั้งใบ แต่กลับปลุกเร้าผู้อ่านและสร้างประสบการณ์ร่วมในฐานะของผู้ถูกกดขี่ ซึ่งเหตุผลเดียวกันนี้เองที่ทำให้คณะกรรมการจากโนเบลเลือกเธอ โดยระบุว่า

“แด่ความกล้า และความหลักแหลมอันเรียบง่ายที่เธอได้เผยถึงรากเหง้า สภาวะความเป็นอื่น และการหน่วงเหนี่ยวของหมู่ผู้คนในความทรงจำส่วนตัว”

แอร์โนซ์ เกิดปี 1940 เธอใช้ชีวิตวัยเด็กที่แคว้นนอร์มังดี เติบโตมาในครอบครัวที่ต้นตระกูลประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ต่อมา พ่อและแม่ของเธอผันตัวมาเป็นลูกจ้างในโรงงาน และกลายเป็นเจ้าของร้านขายของกึ่งบาร์เครื่องดื่มเล็ก ๆ ในช่วงสงครามโลก

แอร์โนซ์ บอกเล่าเรื่องราวในวัยนี้ของเธอไว้ในผลงานชิ้นแรก ‘Les Armoires vides’ (1974) ผ่านตัวละครเอกของเรื่องคือ ‘เดอนิส’ (Denise) เด็กสาวผู้กำลังนั่งอยู่หน้าห้องผ่าตัดเพื่อรอทำแท้ง

ห้วงเวลานั้นทำให้เธอถามตัวเองว่าชีวิตเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เธอย้อนกลับไปนึกถึงวัยเด็ก สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวในช่วงเปลี่ยนผ่านจากกรรมกร สู่เจ้าของร้านเล็ก ๆ มองเห็นชีวิตของพ่อและแม่ที่ไม่ได้ราบรื่นสวยงาม ราวกับใครสักคนกำหนดว่าที่มาหรือรากเหง้าของพวกเขาไม่อาจผลักดันคุณภาพชีวิตให้อยู่ในระดับที่ดีได้

ฐานะทางการเงินของครอบครัวถือว่าไม่ดีไม่ร้าย มีเพียงพอที่จะรับผิดชอบลูกสาวที่หัวดีและมีโอกาสสอบเข้าไปเรียนในโรงเรียนดี ๆ ได้ แต่โรงเรียนนี่เองกลับเป็นสถานที่ที่เดอนิส ได้บ่มเพาะปมความเจ็บปวดในใจ ที่ได้กลายมาเป็นประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ รวมถึงเล่มถัด ๆ มา

“พอกันทีกับการเป็นเด็กสาวห่าม ๆ ไม่สนโลก เป็นเด็กผู้หญิงเขยอะขยะและทำตัวหยาบกร้านกับพวกเพื่อนผู้หญิงร่วมชั้นเรียนที่บอบบาง ไร้พันธะ ไร้มลทินในชีวิต ฉันก็เลยต้องดูถูกพ่อแม่ตัวเอง บาปมหันตร์และแสนชั่วร้ายยิ่งนัก ไม่มีใครหรอกคิดเลว ๆ กับพ่อหรือแม่ของตัวเองหรอก มีก็แต่ตัวฉันเอง”

นอกจากบทเรียนแล้ว ชีวิตที่โรงเรียนยังทำให้เดอนิส เรียนรู้อะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตระหนักรู้ถึงตำแหน่งแห่งที่ในสังคมของตัวเธอและครอบครัว การใช้ชีวิตอยู่รายล้อมด้วยลูกหลานคนมีเงิน มีต้นทุนชีวิตที่มากกว่าเธอ มาจากจุดเริ่มต้นที่ห่างจากเธอ มีภาพฝันของเส้นชัยแห่งชีวิตที่ยาวไกลกว่าเธอหลายเท่าตัว มีรสนิยมที่ดี มีประสบการณ์ชีวิต มีพื้นฐานความรู้ที่ดี ทั้งหมดล้วนแล้วแต่สร้างความรู้สึกแปลกแยก อับอาย โกรธเคือง เกลียดชัง แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกผิดกับความคิดของตัวเอง

ช่วงปี 1960 แอร์โนซ์ แต่งงานและมีลูกด้วยกัน 2 คน และเลิกราไปหลังจากที่อยู่กินกันได้ราว ๆ 17 ปี

อานนี แอร์โนซ์ นักเขียนหญิงคนแรกของฝรั่งเศสได้โนเบลวรรณกรรม เล่าชีวิตแสนเรียบง่าย

หลังจากสำเร็จการศึกษาในด้านวรรณกรรมสมัยใหม่ที่ ‘มหาวิทยาลัยรูอ็อง’ (L’université de Rouen) ช่วงราว ๆ ปี 1971 เธอสอบเข้าเป็นครูสอนวรรณกรรมในโรงเรียนระดับชั้นมัธยมปลายในจังหวัดโอต-ซาวัว (Haute-Savoie) ก่อนที่จะย้ายไปทำงานที่โรงเรียนสำหรับการเรียนรู้จากระยะไกลของฝรั่งเศส (Centre national d’enseignement à distance)

ในช่วงวัยนี้ แอร์โนซ์ประสบกับจุดผลิกผันหลายเรื่อง แต่เรื่องที่จะกระทบจิตใจเธอมากที่สุดคือการสูญเสียพ่อ เธอบันทึกมันไว้ในหนังสือเล่มที่ 5 ของเธอที่มีชื่อเรื่องว่า ‘La Place’ ผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของเธอ และเคยได้รับรางวัลใหญ่ในฝรั่งเศส Prix Renaudot ประจำปี 1984

‘La Place’ เปิดเรื่องด้วยฉากการเตรียมงานศพของพ่อโดยแม่และบรรดาญาติ ๆ จากนั้นค่อย ๆ ย้อนไปโฟกัสที่ที่มาของพ่อ ตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ในฟาร์ม

ผู้อ่านจะเห็นภาพพ่อของแอร์โนซ์ ชัดเจนมากขึ้นกว่าเล่มก่อน ๆ เธอเล่าถึงเสื้อผ้าเก่า ๆ หรือชุดตัวเก่งที่มีไว้ใส่ออกงานอยู่เพียงชุดเดียว วิถีชีวิตซ้ำเดิม ไร้ความตื่นเต้น แปลกใหม่ ดวงตาอันไม่อาจมองหาความภาคภูมิใจในตัวเองได้ และความโง่เขลาและน้อยเนื้อต่ำใจในสติปัญญาและโอกาสทางการศึกษา

“พ่อถีบจักรยานจากบ้านพาฉันไปยังโรงเรียน ผ่านสองฝั่งแม่น้ำ ผ่านฝน แดด บางทีความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตพ่อ หรือเพียงความชอบธรรมของการมีอยู่ คือฉันได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่หันหลังให้เขา”

นักวิจารณ์วรรณกรรมหลายคนลงความเห็นตรงกันว่า งานเขียนชิ้นนี้ของแอร์โนซ์ เป็นจุดเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในอาชีพของเธอ รวมถึงเป็นปรากฏการณ์ในโลกของวรรณกรรม

กล่าวคือ แอร์โนซ์เลือกที่จะที่ใช้ “ฉัน” เป็นผู้เล่า แตกต่างจากการสร้างตัวละครขึ้นมาเหมือนในเรื่องก่อน ๆ เพื่อบ่งบอกชัด ๆ ว่านี่คือชีวิตของเธอ ไม่มีอะไรให้ต้องปิดบังซ่อนเร้น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เล่าไม่ได้เพียงเล่า แต่เป็นการตั้งข้อสังเกตหรือวิเคราะห์ในเชิงสังคมวิทยา เราจึงอาจเรียกงานของเธอชิ้นนี้ได้ว่าเป็น “สังคม-อัตชีวประวัติ” (auto-socio-biographie) มากกว่าที่จะเป็นงานอัตชีวประวัติแบบทั่ว ๆ ไป

งานเขียนของเธอในงานแถลงข่าว

เรื่องของสไตล์การเขียนก็ฉีกออกไปไม่น้อย แอร์โนซ์ เลือกที่จะบรรยายเรื่องราวด้วยคำศัพท์ที่เรียบง่าย จนถึงขั้นดิบเถื่อน คุณลักษณะทางการเขียนนี้ถูกนิยามว่าเป็น ‘L’écriture plate’ หรือ “การเขียนแบบแบน ๆ ” (ผู้เขียนบทความแปลเอง) เพื่อพยายามนำเสนอโลกที่เธอเคยมีชีวิตอยู่แบบที่มันเป็นไปจริง ๆ ไม่พยายามแต่งแต้มหรือใส่สีตีไข่ เป็นโลกของคนหาเช้ากินค่ำที่ไม่ได้ฉวัดเฉวียน ละเอียดละออ แต่มันทื่อ แข็ง หยาบกระด้าง

อีกทั้ง เธอเลือกที่จะปฏิเสธระดับภาษาของปราชญ์หรือบัณฑิต เพราะเธอเชื่อเหมือน ‘ปิแยร์ บูร์ดิเออ’ (Pierre Bourdieu) นักสังคมวิทยาชื่อดังชาวฝรั่งเศสว่า ภาษาคือความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ (La violence symbolique) มันกำหนดตำแหน่งแห่งของผู้คน สามารถจัดลำดับว่าใครอยู่สูง ใครอยู่ต่ำ ใครอยู่เหนือ ใครอยู่ใต้ ใครมีอำนาจ ใครไร้อำนาจ ใครอยู่ตรงกลาง ใครอยู่ชายขอบ

ซึ่งหากเธอเลือกระดับภาษาสูงมาเล่าชีวิตของชนชั้นกรรมกร ก็เท่ากับว่าเธอยังติดกับดักความรุนแรงแบบซ้ำซ้อน ฉะนั้น ‘L’écriture plate’ จึงถือเสมือนอาวุธของแอร์โนซ์ ที่นำมาใช้คัดง้างกับอำนาจนำในโลกของวรรณกรรม และยังเป็นการเปล่งเสียงของผู้กดขี่ให้ดังก้องในปริมณฑลของผู้มีอำนาจ

“สิ่งที่ฉันต้องการจะทำลาย คือวรรณกรรมเอง มิฉะนั้น ฉันคงไม่เขียน ฉันต้องการล้างแค้นชาติพันธุ์ของฉัน”

และ

”ฉันใช้ทรัพยากรแนวราบที่มีอยู่แต่ดั้งแต่เดิม แต่เพื่อที่จะให้ตัวฉันเองและคนอ่านจมลงไปในความจริงแห่งความสัมพันธ์เชิงสังคมที่เคยฉันประสบในโลกใบแรกของฉัน ในมุมมอง และในข้อกำจัดของโลกของพ่อฉัน ฉันใช้ศัพท์คำนี้เพื่อแสดงถึงโลกของพวกเขา ซึ่งนั่น มันเกี่ยวข้องกับการเลือกบนฐานของการเมืองแบบหนึ่ง”

ในด้านการเมือง (ในความหมายของการเมืองในสังคม) แอร์โนซ์ถือว่าเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่เผยโฉมหน้าสนับสนุนขบวนขับเคลื่อนสังคมอย่างชัดเจนในหลาย ๆ เรื่อง เช่น Mouvement des Gilets jaunes (2018) [1] BDS mouvement [2] และคัดค้านโครงการแลกเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรมระหว่างฝรั่งเศสและอิสราเอลที่สนับสนุนโดยรัฐบาลของทั้งสองประเทศ (2019) และการส่งข้อความให้กำลังใจสนับสนุนผู้หญิงอิหร่านที่เริ่มจากประเด็นเรื่องกฏหมายเกี่ยวกับฮิญาบ และค่อย ๆ ขยายวงกว้างมาพูดเรื่องเสรีภาพหลังจากที่เธอได้รับรางวัลโนเบล ฯลฯ

จากการก้าวเข้าสู่โลกแห่งวรรณกรรมในฐานะนักเขียนช่วงปี 1974 สู่วัย 82 ปี ในฐานะนักเขียนหญิงคนแรกของฝรั่งเศสผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรรณกรรม เธอกล่าวว่า

“ฉันขออุทิศรางวัลนี้ให้แก่คนทั้งหลายที่ทนทุกข์กับความอยุติธรรม คนคาดหวังในเสรีภาพและความยุติธรรม ฉันคงอุทิศรางวัลนี้ให้แก่พวกคนที่ฉันเคยใช้ชีวิตด้วยในอดีตไม่ได้ เลยต้องคิดถึงอนาคต ฉันอาจจะเขียนจากกลุ่มคนจากกำพืดของตัวเอง ผู้ไม่รู้ว่ารางวัลโนเบลมีอยู่เสียด้วยซ้ำ สู่คนอื่น ๆ ที่ทนทนทุกข์กับอำนาจครอบงำในรูปแบบที่แตกต่างออกไป”

ยังมีผลงานอีกมากมายหลายเรื่องของแอร์โนซ์ที่น่าสนใจ มีการแปลขึ้นแล้วหลายภาษา หลังจากที่ได้รับโนแบล ชีวิตของเธอและผลงานของเธอก็ยิ่งถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น กลายเป็นนักเขียนที่เป็นรู้จักมากขึ้น

 

เรื่อง:  ณัฐ วิไลลักษณ์

เชิงอรรถ:

[1] ผู้ประท้วงพากันส่วมเสื้อกั๊กสะท้อนแสงสีเหลืองออกมาประท้วงที่สาเหตุหลักมาจากการที่รัฐภายใต้การนำของ เอมมานูเอล มารง (ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน) ขึ้นราคาน้ำมันดิบและน้ำมัน ส่งผลให้ข้าวของราคาสูงขึ้น รวมถึงการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจหลายเรื่องที่เอื้อประโยชน์ให้คนมีอันจะกิน และเบียดเบียนคนรากหญ้า

[2] Boycott, Divestment and Sanctions คือขบวนการของนักเคลื่อนไหวปาเลสไตน์ที่ออกประกาศของความร่วมมือนานาชาติให้ร่วมกับคว่ำบาตรอิสราเอล เรียกร้องให้อิสราเอลเคารพหลักกฏหมายสากล และเรียกร้องสิทธิ์ของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ให้สามารถเดินทางกลับถิ่นฐานกำเนิดได้อย่างปลอดภัย