11 ต.ค. 2566 | 18:54 น.
- นวนิยายเรื่อง ‘หินที่เปล่งเสียง’ ของฆอซี อับเดล-เกาะดีร ดำเนินเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งในเขตเวสต์แบงก์เพื่อนำเสนอแก่นเรื่องว่าด้วยขันติธรรมระหว่างคนต่างวัฒนธรรมที่เชื่อว่าจะช่วยสลายความขัดแย้ง
- นวนิยายเรื่องนี้ได้รับเสนอชื่อชิงรางวัลวรรณกรรมเยาวชนของเยอรมันในค.ศ.1994 เป็นวรรณกรรมชิ้นหนึ่งที่บอกเล่าปัญหาในมาตุภูมิของผู้ประพันธ์
- ฆอซี อับเดล-เกาะดีร เกิดที่เมืองใกล้ ๆ กับนาซาเรธ (Nazareth) ในดินแดนปาเลสไตน์
บทความเรื่องนี้ศึกษาวรรณกรรมภาษาเยอรมันสำหรับเยาวชนเรื่อง หินที่เปล่งเสียง (Die sprechenden Steine) ของฆอซี อับเดล-เกาะดีร (Ghazi Abdel-Qadir) ผู้ประพันธ์ผูกเรื่องให้ตัวบทดำเนินเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งในเขตเวสต์แบงก์เพื่อนำเสนอแก่นเรื่องว่าด้วยขันติธรรมระหว่างคนต่างวัฒนธรรม
ผู้ประพันธ์เน้นแก่นเรื่องนี้ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นประสบการณ์ของตัวละครเอกที่ชื่อคามัลซึ่งเป็นเด็กชายชาวปาเลสไตน์วัย 11 ปี เพื่อชี้ให้เห็นความซับซ้อนจากความขัดแย้งที่เกิดจากการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนเดียวกันระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล
ขณะเดียวกัน ผู้ประพันธ์วิพากษ์การตอบโต้โดยใช้ความรุนแรงและนำเสนอทางออกที่เป็นไปได้ในการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยการให้ตัวละครเอกตระหนักรู้การอยู่ร่วมกันของคนต่างวัฒนธรรมแทนการแบ่งเขาแบ่งเรา
1. บทนำ: บริบททางสังคมที่เกี่ยวข้องกับนวนิยายเรื่องหินที่เปล่งเสียง
เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said) กล่าวว่ากรณีพิพาทระหว่างปาเลสไตน์เป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ [1] เนื่องจากปัญหาในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนเดียวกัน [2] ชาวปาเลสไตน์เรียกดินแดนนี้ว่าปาเลสไตน์ ขณะที่ชาวอิสราเอลเรียกดินแดนนี้ว่าประเทศอิสราเอล การที่จะเข้าใจความซับซ้อนจากความขัดแย้งดังกล่าวข้างต้นจำเป็นต้องกล่าวถึงภูมิหลังทางด้านตำนานและประวัติศาสตร์ของดินแดนนี้ซึ่งมีชื่อเรียกว่าดินแดนคานาอัน (Canaan) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน อันเป็นความเชื่อโบราณที่ย้อนหลังไปได้สามพันปี
ตามที่กล่าวไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม (The Old Testament) ประวัติศาสตร์ของชนชาติฮีบรู (Hebrews) หรืออิสราเอลไลต์ (Israelites) [3] หรือชาวยิวเริ่มต้นเมื่อสี่พันปีมาแล้วโดยมีบรรพบุรุษชื่ออับราฮัม (Abraham) [4] เป็นผู้นำกลุ่มชนชาติอิสราเอลไลต์สามารถเอาชนะกลุ่มอื่น ๆ เช่น ฟิลิสไตน์ (Philistines) ฮิตไตต์ (Hittites) บาบิโลเนียน (Babylonians) โมอาไบท์ (Moabites) เป็นต้น และสามารถครอบครองดินแดนคานาอันหรือภายหลังเรียกว่าปาเลสไตน์ (Palestine)
กษัตริย์เดวิด (King David) และกษัตริย์โซโลมอน (King Solomon) ได้เอาชนะชนกลุ่มอื่นและสร้างอาณาจักรฮีบรูช่วงประมาณหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาล [5] แต่ชาวฮีบรูสิ้นอำนาจในดินแดนนี้หลังจากที่ปราชัยให้อัสซีเรียในปี 586 ก่อนคริสตกาล [6]
ต่อมา ดินแดนคานาอันอยู่ใต้การปกครองของชนชาติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เชีย กรีก และโรมันตามลำดับ
ตามที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าชาวฮีบรูตั้งอาณาจักรได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งท่ามกลางชนเผ่าอื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ชาวฮีบรูกลับยึดติดกับความเชื่อที่ว่าดินแดนคานาเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน และตั้งความหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งพวกตนคงจะได้กลับมายังแผ่นดินแห่งพันธะสัญญาหรือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงจะมอบดินแดนนี้ให้แก่พวกเขา ดังนั้นดินแดนคานาอันจึงเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์
จิตวิญญาณ ความหวัง ความฝัน และแรงบันดาลใจในการรวบรวมชาวยิวให้เป็นเอกภาพ [7] กอปรกับการที่ชาวยิวต้องประสบกับอคติทางชาติพันธุ์ระหว่างที่ตั้งถิ่นฐานในยุโรป ยิ่งทำให้ความเชื่อดังกล่าวเข้มแข็งมากขึ้น [8] ต่อมาความเชื่อนี้ได้พัฒนาเป็นขบวนการทางการเมืองและอุดมการณ์ที่เรียกว่าไซออนิสม์ (Zionism) ซึ่งเป็นขบวนการสร้างชาติยิวหรือขบวนการเรียกร้องให้ปาเลสไตน์เป็นประเทศของชาวยิว พวกไซออนิสม์พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ชาวยิวซึ่งอาศัยอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ได้กลับไปยังปาเลสไตน์ ขบวนการไซออนนิสม์มีผลให้เกิดการจัดตั้งประเทศอิสราเอล ชาวอิสราเอลนั้นเป็นชาวยิวที่มาจากต่างทิศ แต่สามารถรวมกันเข้าเป็นชนชาติเดียวกันได้ [9]
ในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.1948 มีการประกาศจัดตั้งราชอาณาจักรอิสราเอล [10] โดยได้รับการสนับสนุนจากขบวนการไซออนนิสม์ การก่อตั้งรัฐอิสราเอลส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์เรื่อยมา [11] แม้ว่าสหประชาชาติได้ประกาศจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ในค.ศ. 1988 [12] โดยมีดินแดนระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและแม่น้ำจอร์แดน รวมถึงดินแดนบางส่วนในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา แต่มิอาจแก้ไขกรณีพิพาทระหว่างกลุ่มชนทั้งสองชาติได้
กอปรกับทิศทางความขัดแย้งระหว่างสองประเทศจะเป็นเช่นใดขึ้นอยู่กับอิทธิพลจากภายนอกด้วย ผู้สนับสนุนของฝ่ายอิสราเอลมักจะอ้างว่าความขัดแย้งของทั้งสองชาติเกิดจากการที่ชาวปาเลสไตน์กับชาวอาหรับปฏิเสธที่จะยอมรับว่าดินแดนปาเลสไตน์เป็นมาตุภูมิของชาวยิวในแง่ประวัติศาสตร์ แต่ชาวอาหรับมองว่าความขัดแย้งเกิดจากการที่ชาวอิสราเอลละเมิดอธิปไตยของชาวปาเลสไตน์ในบ้านของตน ผู้วิจัยกล่าวถึงภูมิหลังทางตำนานและประวัติศาสตร์เพื่อนำเสนอที่มาของความขัดแย้งระหว่างชนทั้งสองชาติซึ่งเป็นปัญหาที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องหินที่เปล่งเสียง
2. ฆอซี อับเดล-เกาะดีร กับนวนิยายเรื่องหินที่เปล่งเสียง
ฆอซี อับเดล-เกาะดีร (Ghazi Abdel-Qadir) นำความขัดแย้งระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวอิสราเอลในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนเดียวกันมาถ่ายทอดเป็นนวนิยายเรื่อง ‘หินที่เปล่งเสียง’ (Die sprechenden Steine) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในค.ศ.1992 นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงรางวัลวรรณกรรมเยาวชนของเยอรมันในค.ศ.1994 เรื่อง ‘หินที่เปล่งเสียง’ เป็นผลงานวรรณกรรมชิ้นหนึ่งที่บอกเล่าปัญหาในมาตุภูมิของผู้ประพันธ์
ฆอซี อับเดล-เกาะดีร เกิดที่เมืองใกล้ ๆ กับนาซาเรธ (Nazareth) ในดินแดนปาเลสไตน์ในค.ศ.1948 เมื่อเขาอายุ 16 ปี เขาต้องยุติการเรียนเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว และเดินทางไปคูเวตเพื่อทำงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กยกกระเป๋าในโรงแรม หรือรับจ้างเป็นคนเขียนจดหมาย หรือเป็นบริกร และอื่น ๆ ต่อมา เขาอพยพไปจอร์แดนและสามารถสอบผ่านวุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายจากที่นั่น
หลังจากนั้น ฆอซี อับเดล-เกาะดีร อพยพไปเยอรมนีช่วงทศวรรษ 1970 เพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทางด้านภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ และอิสลามศึกษาจากมหาวิทยาลัยในเมืองบอนน์ (Bonn) และเมืองซีเกน (Siegen) นับตั้งแต่ค.ศ.1988เป็นต้นมา ฆอซี อับเดล-เกาะดีร ทำงานเป็นนักเขียนอิสระและพำนักอยู่ที่เมืองซีเกน [13]
ผลงานวรรณกรรมภาษาเยอรมันของเขาได้รับการแปลมากกว่า 26 ภาษา และได้รับรางวัลเกี่ยวกับวรรณกรรมเยาวชนต่าง ๆ อาทิ รางวัลสันติภาพกุสตาฟ-ไฮเนอมันน์ และรางวัลวรรณกรรมเยาวชนจากประเทศออสเตรีย
ในการนำเสนอนวนิยายเรื่อง ‘หินที่เปล่งเสียง’ ผู้ประพันธ์นำเสนอตัวละครเอกของเรื่องที่ชื่อคามัล (Kamal) ซึ่งเป็นเด็กชายชาวปาเลสไตน์เป็นผู้เล่าเรื่อง คามัลเล่าว่าครอบครัวของเขาประกอบด้วยพ่อ แม่ ย่า น้องชายของปู่ และพี่สาวกับน้องสาวของเขาอีกสามคน พวกเขาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านวาร์ดะ (Warda) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ (West Bank)
ผู้ประพันธ์ใช้บทสนทนาระหว่างคามัลกับย่าของเขาเพื่อนำเสนอการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์และการประกาศจัดตั้งประเทศอิสราเอลซึ่งส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์บางส่วนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ครูผู้สอนประวัติศาสตร์ซึ่งแอบสอนประวัติศาสตร์ของปาเลสไตน์อันเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในตำราเรียนทำให้ถูกทหารอิสราเอลจับตัวไป
คามัลยังเล่าต่อไปอีกว่า เขาและชาวปาเลสไตน์จำนวนมากต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิตซึ่งเกิดจากสงครามกลางเมืองระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล ในแต่ละวันชาวปาเลสไตน์ต้องประสบกับอันตรายที่เสี่ยงต่อชีวิต ในช่วงประกาศภาวะฉุกเฉิน คามัลกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนต้องหยุดเรียน ในเขตที่อยู่ของชาวปาเลสไตน์ไม่มีโรงพยาบาลทำให้น้องชายของปู่ต้องทุกข์ทรมานจากอาการปวดท้อง การซื้ออาหารและของใช้ต้องข้ามด่านไปซื้อในฝั่งของอิสราเอล นอกจากนี้ เขายังเล่าถึงเหตุการณ์ที่เขากับคนอื่น ๆ ร่วมขว้างปาหินไปที่ทหารของอิสราเอลเพื่อประท้วงรัฐบาลอิสราเอลที่เข้ามายึดครองเขตเวสต์แบงก์
3. คามัลกับการเปลี่ยนผ่านจากความคิดแบ่งแยกเขาแยกเราสู่แนวคิดขันติธรรมระหว่างคนต่างวัฒนธรรม
บทความเรื่องนี้ศึกษาเรื่องหินที่เปล่งเสียง ของฆอซี อับเดล-เกาะดีร ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ โดยเล่าผ่านมุมมองของเด็กชายคามัล
ตัวเอกของเรื่องเป็นเด็กชายชาวปาเลสไตน์วัย 11 ปี การที่ผู้ประพันธ์ผูกเรื่องโดยให้เด็กชายคามัลเป็นตัวเอกของเรื่อง อาจจะเป็นเพราะเด็กช่วงวัยนี้เป็นวัยเด็กตอนกลางที่กำลังเริ่มเรียนรู้การลดทอนอัตตาของตนและขยายความเข้าใจที่มีต่อผู้อื่นและสังคมมากขึ้น [14] คามัลจึงเป็นตัวละครที่เหมาะสมในการตระหนักรู้ขันติธรรมระหว่างคนต่างวัฒนธรรมซึ่งเป็นแก่นเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้ผ่านการรับฟังเรื่องราวของผู้ใหญ่รอบข้าง
ผู้วิจัยเสนอว่าผู้ประพันธ์ใช้ประสบการณ์ของตัวละครเอกที่มาจากการได้ยินเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งที่เป็นชีวประวัติของย่า ตำนานและนิทานจากผู้ใหญ่รอบข้าง รวมถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของตัวเอกเอง เพื่อชี้ให้เห็นความซับซ้อนจากความขัดแย้งที่เกิดจากการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนเดียวกันระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล ขณะเดียวกัน ผู้ประพันธ์วิพากษ์การใช้ความรุนแรงและนำเสนอทางออกที่เป็นไปได้ด้วยการส่งเสริมการไม่ผูกโยงกับชาติพันธุ์และการเน้นมิตรภาพที่ไม่แบ่งเขาแบ่งเราระหว่างคนต่างวัฒนธรรม
3.1 คามัลในฐานะผู้มีความคิดแบ่งแยกเขาแยกเรา
ก่อนที่คามัลจะได้เรียนรู้เรื่องการช่วยเหลือกันและการไม่ผูกโยงตนเองกับชาติพันธุ์นั้น เขามีความคิดแบ่งแยกเขาแยกเราจากการได้ยินเรื่องราวการอพยพของย่ามายังปาเลสไตน์ ย่าของคามัลเล่าให้คามัลฟังว่าเธอเป็นชาวยิวที่อพยพมาจากรัสเซีย:
“…Eigentlich wollten wir nur in ein anderes europäisches Land flüchten. Unser Schiff lief viele europäische Häfen an…Niemand wollte uns haben, weil wir Juden waren. Fast überall auf der Welt waren die Juden verhasst. Doch hier in Palästina konnten wir endlich an Land gehen.” (67)
(“...อันที่จริงแล้ว เราต้องการอพยพไปยุโรป เรือที่เราโดยสารมาจอดเทียบท่าใหลายประเทศ...ไม่มีใครต้องการเราเพราะเราเป็นยิว ชาวยิวเป็นที่เกลียดชังจากผู้คนเกือบทั่วโลก แต่ที่ปาเลสไตน์ยอมให้เราเข้ามา”)
ย่าของคามัล ยังเล่าต่อไปอีกว่า:
“Die Zionisten haben die Menschen verblendet. Sie haben den Juden eingeredet, dass Palästina ihr Land sei. Und dann sind nicht nur Flüchtlinge gekommen, sondern auch Machtgierige und religiöse Fanatiker, die mit Hilfe der Engländer die Palästinenser aus ihrem Land vertrieben haben…” (70)
(“พวกไซออนนิสท์โฆษณาชวนเชื่อให้ชาวยิวเชื่อว่าปาเลสไตน์ควรจะเป็นดินแดนของพวกเขา นอกจากผู้อพยพ พวกบ้าอำนาจและผู้คลั่งศาสนา โดยได้รับความช่วยเหลือจากอังกฤษพากันขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากดินแดนของพวกเขา...”)
จากคำบอกเล่าของย่า ทำให้คามัลรับรู้ว่าชาวปาเลสไตน์เป็นผู้ที่อยู่มาก่อน ส่วนชาวยิวเป็นผู้เร่ร่อนที่ไร้บ้าน ขณะที่ไม่มีใครต้อนรับชาวยิว ยกเว้นชาวปาเลสไตน์ แต่ชาวยิวกลับตอบแทนความเอื้อเฟื้อของชาวปาเลสไตน์ด้วยการแย่งชิงบ้านของพวกเขา สืบเนื่องจากดินแดนปาเลสไตน์ไม่เคยเป็นรัฐเอกราช ทำให้รัฐบาลอิสราเอลสามารถอ้างได้ว่าพวกเขาไม่ได้ยึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ดินแดนปาเลสไตน์เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวอาหรับมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ [15] ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ดินแดนปาเลสไตน์อยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันเป็นเวลาประมาณห้าร้อยปี [16]
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน สหราชอาณาจักรได้เข้ามาปกครองดินแดนปาเลสไตน์ [17] (ค.ศ.1920-ค.ศ.1948) ในสมัยการปกครองของสหราชอาณาจักร ชาวยิวพากันอพยพมายังดินแดนปาเลสไตน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ผู้ประพันธ์ผูกเรื่องให้ย่าของคามัลอพยพมาปาเลสไตน์พร้อมกับพ่อของเธอช่วงเวลานี้ ด้วยเหตุนี้ ในมุมมองของชาวปาเลสไตน์นั้นพวกเขาจึงเห็นว่าชาวยิวเป็นผู้บุกรุกดินแดนปาเลสไตน์
ชาวปาเลสไตน์ต้องประสบกับการถูกขับไล่หลังจากที่ชาวอิสราเอลจัดตั้งประเทศอิสราเอล คามัลรับรู้จากย่าว่า:
“1967 hatten die Israel unser Land – die Westbank und den Gazastreifen- besetz. Und vorher, im Jahr 1948, hatten die Juden uns schon den anderen Teil von Palästina weggenommen und dort den Staat Israel gegründet.” (15)
(“ในค.ศ.1967 อิสราเอลยึดครองดินแดนของเรา เขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา ก่อนหน้านี้ในค.ศ.1948 ชาวยิวแย่งชิงดินแดนบางส่วนของปาเลสไตน์ไปจากเรา และประกาศจัดตั้งประเทศอิสราเอล”)
ย่าของคามัลรื้อฟื้นอดีตที่เป็นประสบการณ์ซึ่งชาวปาเลสไตน์ไม่เพียงแต่สูญเสียอำนาจอธิปไตยในดินแดนที่เคยเป็นบ้านของตน อีกทั้งยังถูกขับไล่ออกจากบ้านและผืนแผ่นดินของพวกเขา [18] ในมุมมองของชาวปาเลสไตน์ ดินแดนนี้เป็นบ้านของชาวปาเลสไตน์ แต่พวกเขากลับถูกชาวอิสราเอลขับไล่ ตามที่ปรากฏในคำบอกเล่าของย่าของคามัล:
“ชาวปาเลสไตน์ถูกขับไล่เป็นเวลา 21 ปีแล้วและยังไม่มีใครได้กลับบ้าน” [Und auch das ist jetzt schon einundzwanzig Jahre her und keiner durfte zurückkehren. (71)]
การบอกเล่าเรื่องราวของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกขับไล่ออกจากบ้านเป็นการเชื่อมคนปาเลสไตน์ด้วยประสบการณ์เดียวกัน และเป็นการนำเสนอคนปาเลสไตน์ต่อนานาชาติ
ขณะเดียวกัน การนำเสนอภาพปาเลสไตน์ในฐานะ ‘เหยื่อ’ จากการจัดตั้งรัฐอิสราเอลอาจจะเป็นการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการก่อตั้งประเทศอิสราเอลที่มักจะกล่าวอ้างว่าเป็นดินแดนว่างเปล่าไร้ผู้อยู่อาศัย หรือน่าจะกล่าวได้อีกว่าเป็นการวิพากษ์โลกตะวันตกที่มักจะอยู่ข้างเดียวกับชาวยิวและเห็นว่าพวกเขาเป็นผู้ที่น่าสงสารจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือเป็นผู้ที่ชาญฉลาด [19] ซึ่งสามารถสร้างบ้านแปงเมืองจากดินแดนทะเลทราย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประพันธ์นำเสนอเหตุการณ์ที่เป็นฝันร้ายของชาวปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นในค.ศ.1948 ด้วยการให้ย่าของคามัลเล่าให้คามัลฟังว่า:
“Sie haben uns große Angst gemacht, indem sie ein ganzes Dorf – das war das Dorf DeirYassin - einfach ausgerottet haben. Männer und Frauen. Alte und Kinder, alle wurden ermordet.” (70)
(“พวกเขาทำให้เรากลัวมาก เพราะหมู่บ้านดออีร ยัสซีนทั้งหมู่บ้านถูกเผา ผู้ชายและผู้หญิงคนแก่และเด็กถูกฆ่าตายหมด”)
ตัวละครย่าเล่าเฉพาะเหตุการณ์การฆ่าล้างหมู่บ้านดออีร ยัสซีนจากน้ำมือของชาวยิว อันที่จริงแล้ว ในค.ศ.1948 ชาวยิวฆ่าล้างชาวปาเลสไตน์ไปกว่า 400 หมู่บ้าน [20] ทำให้ชาวปาเลสไตน์ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้ถูกขับไล่ออกจากดินแดนปาเลสไตน์ประมาณ 800,000 คน [21] ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์โดยชาวยิว [22] ทำให้ชาวยิวไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าตนเป็นผู้กระทำทารุณต่อผู้อื่น หากพิจารณาเหตุการณ์ความรุนแรงในค.ศ.1948 [23] ชาวยิวในอิสราเอลไม่สามารถผลิตซ้ำจินตภาพของตนในฐานะเหยื่อได้อีกต่อไป
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ชาวยิวสูญเสียสถานภาพในการเป็นเหยื่อในสายตาของสังคมโลก การที่ผู้ประพันธ์นำเสนอภาพชาวปาเลสไตน์ในฐานะเหยื่อที่ถูกขับไล่
ขณะที่ชาวยิวในนวนิยายเรื่องนี้ปรากฏในฐานะผู้ย่ำยีหรือกระทำทารุณต่อชาติพันธุ์อื่น เพื่อสลายภาพชาวยิวที่มักจะแสดงตนในฐานะเหยื่อซึ่งปรากฏซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าในหนังสือและสื่อหลากหลายประเภท หรือเพื่อแสดงว่าชาติพันธุ์ที่ถูกกดขี่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะชาวยิวอีกต่อไป
ทุกวันนี้ชาวยิวได้ผันตนมาเป็นผู้ที่กดขี่ผู้อื่น การที่ชาวยิวกดขี่ คุกคาม และขับไล่ชาวปาเลสไตน์อาจจะเป็นผลมาจากการที่ชาวยิวเคยถูกกระทำเช่นนั้นมาก่อนเมื่อครั้งที่ไร้อำนาจ แต่เมื่อมีอำนาจในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ ชาวยิวจึงได้ใช้อำนาจคุกคามผู้อื่นซึ่งน่าจะเป็นการชดเชยการถูกกดขี่ในเชิงจิตวิทยา การที่ชาวปาเลสไตน์ประกาศตนในฐานะเหยื่อ มิใช่เป็นการลดทอนตัวตนของชาวปาเลสไตน์แต่อย่างใด
ทว่าเป็นการใช้กลยุทธ์เดียวกันกับชาวยิว นั่นคือการเลือกใช้เรื่องเล่าแห่งความทุกข์ทรมานหรือเรื่องเล่าที่แสดงถึงการถูกย่ำยีซึ่งเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของชาวปาเลสไตน์ ผ่านการบอกเล่าจากย่าของคามัลสู่หลานชายของเธอ
การที่ย่ารื้อฟื้นอดีตที่ถูกย่ำยีเพื่อให้ชาวปาเลสไตน์รุ่นหลังเฉกเช่นคามัล มีโอกาสรับรู้ว่าครั้งหนึ่งชาวปาเลสไตน์เคยครอบครองดินแดนนี้ และยืนยันการมีตัวตนของชาวปาเลสไตน์ที่ตกอยู่ในสภาวะไร้บ้าน ขณะเดียวกัน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มตนให้สังคมภายนอกได้รับรู้ [24] หรือทำให้เรื่องราวของคนกลุ่มนี้ไม่ถูกลบเลือนหายไป [25]
ผู้ประพันธ์ได้ผูกเรื่องโดยให้ย่าของคามัลซึ่งเป็นชาวยิวผู้อพยพจากรัสเซียที่มาอาศัยอยู่ในดินแดนนี้ทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชาวยิวที่ขับไล่ชาวปาเลสไตน์ ในแง่มุมหนึ่ง การที่ตัวละครย่ามีโอกาสเปล่งเสียงของตนทำให้เธออยู่ในฐานะตัวละครที่มี ‘ตัวตน’ เพราะเธอสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมปาเลสไตน์ได้โดยไม่รู้สึกแปลกแยกหรือสับสน ย่าเป็นตัวละครที่สามารถผสมผสานทางวัฒนธรรมหรือสามารถต่อรองทางอัตลักษณ์ในสังคมของชาวปาเลสไตน์ เนื่องจากเธอไม่ได้ผูกโยงกับอัตลักษณ์ยิว** อันจะนำไปสู่การสร้างความแปลกแยกระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์
ขณะเดียวกัน การให้ตัวละครย่าเป็นผู้รื้อฟื้นประวัติศาสตร์ของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกขับไล่เป็นการใช้เสียงของชาวยิวทวงถามชาวยิวในอิสราเอลถึงความชอบธรรมในการยึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ขณะที่ชาวยิวสามารถจัดตั้งประเทศอิสราเอล ส่วนชาวปาเลสไตน์อ้างว่าตนอยู่มาก่อนแต่ไม่มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนเหล่านี้ ทำให้ไร้ซึ่งความชอบธรรมในการเป็นเจ้าของดินแดนนี้
คามัลไม่เพียงแต่รับรู้การดำรงอยู่ของชาวปาเลสไตน์ในดินแดนนี้ผ่านเรื่องเล่าของย่าเท่านั้น อีกทั้งเขายังรับรู้ความเป็นปาเลสไตน์ผ่านเรื่องเล่าของครู คามัลเล่าว่า:
Unser Geschichtslehrer erzählte uns aber öfter Sachen aus der palästinensischen Geschichte, die im Lehrbuch überhaupt nicht vorkamen. (7)
(แต่ครูสอนประวัติศาสตร์ของเราเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ปาเลสไตน์ที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในตำราเลยให้พวกเราฟังอยู่บ่อย ๆ)
นอกเหนือจากการสูญเสียดินแดนแล้ว ชาวปาเลสไตน์ยังต้องสูญเสียการมีตัวตนผ่านระบบการศึกษา ในแบบเรียนไม่ปรากฏประวัติศาสตร์ของชาวปาเลสไตน์ รัฐบาลอิสราเอลใช้แบบเรียนเป็นเครื่องมือในการปลูกฝังกรอบความคิด ‘หนึ่งชาติ หนึ่งแผ่นดิน’ [26] เป็นการใช้ระบบการศึกษากล่อมเกลาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของชาติอิสราเอลให้กับเด็ก ในขณะที่ละทิ้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชนชาติปาเลสไตน์ นักประวัติศาสตร์และนักการศึกษามีบทบาทโดดเด่นในเรื่องนี้ พวกเขาช่วยกันสร้างและอนุรักษ์เรื่องเล่าที่เกี่ยวกับชาติอิสราเอลด้วยการกำจัดความทรงจำเกี่ยวกับปาเลสไตน์ การกำจัดในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้รุนแรงน้อยไปกว่าการขับไล่หรือการทำลาย
การกระทำดังกล่าวข้างต้นเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ยิวในอิสราเอล [27] แต่ในขณะเดียวกัน เป็นการบ่อนทำลายวัฒนธรรมปาเลสไตน์ การถูกตัดขาดจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมปาเลสไตน์ย่อมส่งผลให้วัฒนธรรมอิสราเอลกลืนกินวัฒนธรรมของปาเลสไตน์ได้โดยง่าย
ในขณะที่อิสราเอลพยายามกำจัดตัวตนของฝ่ายปาเลสไตน์ด้วยการใช้เรื่องเล่าเป็นเครื่องมือ ส่วนทางฝ่ายปาเลสไตน์โต้กลับด้วยการใช้เรื่องเล่าด้วยเช่นเดียวกัน ครูได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าซาลาดิน (Saladin) [28] ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 12 ให้เด็กนักเรียนของตนฟัง การที่ครูเล่าวีรบุรุษในตำนานให้เด็กฟังนั้น เอริค ฮอบส์บอว์ม (Eric Hobsbawm) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า:
…What makes a nation is the past, what justifies one nation against others is the past...
(…สิ่งที่ประกอบสร้างชาติ คือ อดีต และสิ่งที่สร้างความชอบธรรมแก่ชาติหนึ่งว่า เหนือกว่าชาติอื่น ๆ ก็คืออดีต…)
ชาติจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากอดีต การใช้อดีตเพื่อสร้างชาติเป็นการนำเสนอเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติโดยดูเหมือนเป็นเรื่องจริงซึ่งจะมีหลักฐานพิสูจน์ได้หรือไม่ได้นั้นไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่เรื่องเล่านั้นต้องสามารถสร้างเอกภาพให้กับชุมชนได้ เรื่องใดที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนจึงมีการเลือกสรรจากเรื่องราวในอดีตและนำมาเสนอในฐานะที่เป็น ‘ข้อเท็จจริง’ ซึ่งอยู่นอกเหนือมิติของเวลาและสถานที่ [30]
ในบริบทที่ชาวปาเลสไตน์ไร้บ้านหรือสูญเสียผืนแผ่นดิน ครูของคามัลได้เลือกเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเจ้าซาลาดินมาปรับใช้เพื่อสร้างจิตสำนึกของการเป็นชาวปาเลสไตน์ผู้ครอบครองดินแดนนี้ ขณะเดียวกัน เป็นการต่อสู้ทางความคิดกับชาวอิสราเอลในการลบเลือนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวปาเลสไตน์
อย่างไรก็ตาม บทเรียนนอกตำราทำให้ครูสอนประวัติศาสตร์ถูกทหารอิสราเอลจับตัวไป ระหว่างที่ทหารมาจับตัวครู เหล่าเด็กนักเรียนรวมทั้งตัวเอกจับมือกันเป็นวงกลมและล้อมตัวครูไว้ เพื่อกันไม่ให้ทหารเข้าถึงตัวครูได้เร็วนัก
ด้วยเหตุนี้ พวกเด็ก ๆ ถูกทหารทุบตีและทหารยังได้ยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มเด็กนักเรียน ในที่สุดทหารอิสราเอลสามารถจับตัวครูไปได้
ฉากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการนำเสนอความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุซึ่งทหารกระทำกับพลเรือนที่ไร้อาวุธเฉกเช่นเด็กนักเรียนกับครู เพื่อตอกย้ำภาพชาวปาเลสไตน์ที่ถูกชาวอิสราเอลกดขี่และทารุณ ขณะเดียวกัน เป็นการนำเสนอความรักและความสามัคคีของเหล่าเด็กนักเรียน เพื่อแสดงความร่วมมือร่วมใจในการต่อต้านทหารอิสราเอล
การที่ครูใช้ตำนานวีรบุรุษเพื่อยืนยันการมีตัวตนของชาวปาเลสไตน์ที่ตกอยู่ในสภาวะไร้รัฐ แต่การรื้อฟื้นอดีตของครูจบลงด้วยความล้มเหลว การที่ผู้ประพันธ์นำเสนอเช่นนี้อาจจะต้องการสื่อสารว่าหนทางในการยืนยันการมีตัวตนของชาวปาเลสไตน์ในดินแดนนี้ด้วยการใช้ตำนานนั้นเป็นการต่อสู้ทางความคิดที่อยู่ในโลกของอุดมคติมากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง ครูเองต้องกลายเป็นนักโทษการเมือง เรียกได้ว่าครูตกเป็นเหยื่อจากอุดมการณ์ทางการเมืองของตนที่เชื่อมั่นในการเผยแพร่ตำนานวีรบุรุษ ทำให้คามัลเรียนรู้ว่าการต่อสู้ในแบบของครูแทบจะไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จ
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การที่คามัลรับรู้ประวัติศาสตร์ที่ถูกขับไล่ของชาวปาเลสไตน์จากย่าของเขาและได้ฟังตำนานวีรบุรุษจากครูสอนประวัติศาสตร์ ทำให้เขามีความคิดแบ่งแยกเขาแยกเราและมองเห็นอิสราเอลเป็นศัตรูผู้แย่งชิงบ้านของเขา ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเข้าร่วมการต่อต้านทหารอิสราเอลด้วยการใช้ ก้อนหินเป็นอาวุธ
Ich nickte, hob ein paar Steine vom Straßenrand und folgte ihnen. Wir mischten uns unter die Kinder und Jugendlichen, die laut riefen: “O ihr Besatzer, o ihr Besatzer, schert euch raus aus unsrem Land!”
Und: “Unsere Seelen und unser Blut opfern wir für dich, o Palästina!” (80)
(ฉันพยักหน้า หยิบก้อนหินไม่กี่ก้อนจากขอบถนนและตามพวกเขาไป พวกเราทั้งเด็กและวัยรุ่นรวมกลุ่มกัน พลางร้องตะโกนออกไปว่า “โอ้ ผู้ยึดครอง โอ้ ผู้ยึดครอง ออกไปให้พ้นจากดินแดนของพวกเรา” และ “จิตวิญญาณและเลือดของพวกเรามอบให้เป็นชาติพลี โอ้ ปาเลสไตน์”)
การที่อิสราเอลเข้ายึดครองเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาทำให้เกิดการตอบโต้จากฝ่ายปาเลสไตน์เป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม ค.ศ.1987 โดยใช้ก้อนหินเป็นอาวุธ (The Intifada หรือ Uprising) การตอบโต้นี้ปรากฏในลักษณะของการขว้างปาก้อนหินไปที่กองทหารอิสราเอลโดยชาวปาเลสไตน์ [31] ผู้กล้าหาญที่ไร้อาวุธ
หากพิจารณาจากชื่อเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้ ‘หินที่เปล่งเสียง’ ก้อนหินอาจจะใช้เป็นความเปรียบเชิงอุปลักษณ์แทนชาวปาเลสไตน์ที่ไร้ตัวตนหรือไม่มีสิทธิมีเสียงในสายตาของสังคมโลก ขณะที่สังคมโลกมักจะรับรู้ข้ออ้างของฝ่ายอิสราเอลถึงความชอบธรรมในการครอบครองดินแดนนี้มากกว่าฝ่ายปาเลสไตน์ ก้อนหินแต่ละก้อนที่ถูกขว้างปาออกไปมีความหมายแทนเสียงแต่ละเสียงของชาวปาเลสไตน์
ดังนั้นการขว้างปาก้อนหินจึงเป็นหนทางในการแสดงออกถึงการมีตัวตนของชาวปาเลสไตน์ให้สังคมโลกรับรู้ หรือเรียกได้ว่าเป็นวิธีการเรียกร้องให้สังคมโลกยอมรับอำนาจอธิปไตยของปาเลสไตน์ [32]
อย่างไรก็ตาม การที่เด็กถูกลากเข้าไปมีส่วนร่วมกับการใช้ก้อนหินเป็นอาวุธเป็นการผลักเด็กให้เผชิญกับความรุนแรง เมื่อผู้นำคนหนึ่งในเหตุการณ์การใช้ก้อนหินเป็นอาวุธได้รับการซักถามจากนักหนังสือพิมพ์ว่าเด็ก ผู้ชาย และผู้หญิงที่ไร้อาวุธตอบโต้กองทหารอิสราเอลได้อย่างไร เขาตอบกลับมาอย่างภูมิใจว่า “ความกลัวตายเป็นสิ่งต้องห้าม” [33]
พวกเขาสามารถเอาชนะความกลัวตายด้วยการให้ภาพการตายเพื่อชาตินั้นเกิดขึ้นในฉับพลัน สง่างามและไร้ซึ่งความเจ็บปวดมากกว่าการนำเสนอความตายให้เป็นสิ่งที่โหดร้ายและเจ็บปวด [34] เพื่อปลุกระดมให้ชาวปาเลสไตน์ที่ไร้อาวุธกล้าที่จะต่อกรกับเหล่ากองทหารของอิสราเอล
ผู้ประพันธ์อาจจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำและความคิดเห็นดังกล่าวจึงได้นำเสนอให้ “คามัลพยายามที่จะไม่แสดงออกว่าเขารู้สึกกลัว” [“Ich bemühte mich, nicht zu zeigen, dass ich doch etwas Angst hatte…” (80)]
ทว่าในเหตุการณ์ต่อมา เขาไม่สามารถปกปิดความรู้สึกกลัวได้อีกต่อไป เมื่อเขาเห็นเพื่อนของเขาถูกทหารอิสราเอลยิงเสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์การขว้างปาก้อนหิน นั่นทำให้ “ผมร้องไห้ราวกับเด็กเล็ก ๆ...ผมรู้สึกว่าตัวเองป่วยหนักมากและรู้สึกช็อค” [“...Ich heulte wie ein kleines Kind…Ich fühlte mich schrecklich krank und zerschlagen…” (82)]
การใช้ก้อนหินเป็นอาวุธนั้นมิใช่การต่อสู้ในอุดมคติ แต่เป็นการต่อสู้ที่มีอันตรายถึงชีวิต การที่ผู้ประพันธ์นำเสนอให้คามัลรู้สึกกลัวตายเพื่อปฏิเสธอุดมคติของการต่อสู้กับกองทหารอิสราเอลด้วยการใช้ก้อนหินเป็นอาวุธ และเพื่อปฏิเสธการใช้ความรุนแรง
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประพันธ์วิพากษ์การใช้ก้อนหินเป็นอาวุธว่าเป็นความรุนแรง ด้วยการสื่อสารผ่านหน้าปกของนวนิยายเรื่องนี้ ตอนกลางของปกมีเด็กผู้ชายคนหนึ่งกำลังขว้างหินซึ่งเรียกได้ว่าเด็กคนนี้เป็นตัวแทนของผู้ที่เข้าร่วมกับการต่อต้านทหารของอิสราเอล ขณะที่มุมปกด้านขวามือมีเด็กผู้ชายอีกคนหนึ่งกำลังยืนอยู่ ทำท่ากอดอก พลางมองไปที่เด็กผู้ชายซึ่งกำลังขว้างหิน แม้ว่าเด็กผู้ชายคนที่ยืนกอดอกจะไม่ได้ขว้างหินหรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยตรง แต่เด็กคนนี้อาจจะชาชินกับความรุนแรง
การที่เด็กอยู่กับความรุนแรง ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้กระทำหรือผู้สังเกตการณ์ น่าจะส่งผลให้เด็กตระหนักรู้ว่าการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือเรียนรู้ว่าการใช้กำลังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อันเป็นสิ่งที่ผู้ประพันธ์ไม่เห็นด้วย ทว่าสิ่งที่ผู้ประพันธ์ต้องการนำเสนอ คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวอิสราเอล
3.2 คามัลในฐานะผู้เห็นความสำคัญของแนวคิดขันติธรรมระหว่างคนต่างวัฒนธรรม
การที่ผู้ประพันธ์ผูกเรื่องให้คามัลหวาดกลัวที่จะอยู่กับความรุนแรงเพื่อให้เขาตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ต่อไป หนทางหนึ่งในการดำรงชีวิต คือ การอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างวัฒนธรรมแทนการแบ่งเขาแบ่งเรา
บทเรียนแรกที่คามัลได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างชาติต่างศาสนานั้นเกิดจากการรับรู้ประสบการณ์ชีวิตคู่ของปู่กับย่า ปู่ของคามัลเป็นชาวอาหรับปาเลสไตน์
ขณะที่ย่าของเขาเป็นชาวยิว ทั้งคู่รักกันและแต่งงานสร้างครอบครัวร่วมกันอย่างมีความสุข นอกเหนือจากการรับรู้ความรักและการสร้างครอบครัวระหว่างคนยิวกับคนปาเลสไตน์แล้ว คามัลยังเป็นประจักษ์พยานความรักที่ไม่ตายระหว่างปู่กับย่าของเขา ทั้ง ๆ ที่ปู่เสียชีวิตไปนานแล้ว แต่ย่ายังพูดคุยกับปู่ ทุก ๆ วันพุธซึ่งเป็นวันที่ปู่เสียชีวิตลง ณ ใต้ต้นแอลมอนด์ต้นหนึ่ง ย่าจะมาปิกนิกที่ใต้ต้นไม้ต้นนี้เพื่อเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ปู่ฟัง ผู้ประพันธ์นำเสนอความรักและความผูกพันระหว่างปู่กับย่าของคามัลเพื่อสนับสนุนความรักข้ามพ้นพรมแดนชาติพันธุ์มากกว่าความรักระหว่างชาติพันธุ์เดียวกัน
ขณะเดียวกัน เพื่อปฏิเสธการรักษาความบริสุทธิ์ของชาติพันธุ์หรือสายเลือดบริสุทธิ์ของตน หรืออาจจะกล่าวได้ว่าทั้งคู่ไม่ได้ติดยึดกับการรักษาความบริสุทธิ์ของชาติพันธุ์ยิวหรือปาเลสไตน์แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ผู้ประพันธ์ยังเน้นย้ำการกำจัดความเกลียดชังทางชาติพันธุ์ผ่านบทสนทนาระหว่างย่ากับคามัล:
“...Das ist die Idee! Juden, Muslime und Christen, alle müssten untereinander heiraten. Keiner sollte jemanden der gleichen Religion heiraten dürfen. Und wenn dann jeder jemanden mit einem anderen Glauben in seiner Familie lieb hat, dann würde keiner mehr auf den anderen schießen.”
Da wünsche ich mir, dass ich ein König wäre. Dann würde ich Omas Idee verwirklichen, damit alle sich vermischen und es keine Feinde mehr gibt. (72)
(“…นั่นคือความคิดล่ะ ยิว มุสลิม และคริสต์ศาสนิกชนทุกคนต้องแต่งงานข้ามศาสนากัน ไม่ควรมีใครได้รับอนุญาตให้แต่งงานระหว่างคนในศาสนาเดียวกัน และเมื่อใดที่ผู้นั้นรักผู้ซึ่งมีความเชื่อที่ต่างออกไปจากครอบครัวของเขา จะไม่มีใครอยากยิงใครอีกต่อไป” ผมปรารถนาให้ผมได้เป็นพระราชา แล้วผมจะทำให้ความคิดของย่ากลายเป็นความจริง เพื่อให้ทุกคนแต่งงานข้ามศาสนากัน แล้วจะไม่มีใครเป็นศัตรูกันอีกต่อไป)
การส่งเสริมการแต่งงานระหว่างคนต่างชาติต่างศาสนา แต่ในขณะเดียวกัน ปฏิเสธการแต่งงานระหว่างคนในศาสนาเดียวกัน ทำให้คามัลตระหนักรู้ว่าการรักษาความบริสุทธิ์ของชาติพันธุ์เป็นการคุกคามการอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างชาติต่างศาสนา อันเป็นสิ่งที่ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้สนับสนุน
สิ่งที่ผู้ประพันธ์ส่งเสริม คือการทลายพรมแดนของชาติพันธุ์หรือการกำจัดอคติทางชาติพันธุ์ ด้วยการใช้การแต่งงานซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการเชื่อมโยงระหว่างคนสองคนเข้าไว้ด้วยกัน หากการแต่งงานยังสื่อนัยของการรักษาสันติภาพ ดังนั้น การแต่งงานระหว่างคนต่างศาสนาต่างวัฒนธรรมในที่นี้จึงเท่ากับเป็นหนทางในการแก้ไขความแปลกแยกและความเกลียดชังระหว่างคนต่างศาสนา
คามัลไม่เพียงแต่เรียนรู้การปฏิเสธการรักษาความบริสุทธิ์ของชาติพันธุ์ อีกทั้งเขายังรับรู้ว่า ชาติพันธุ์และพื้นที่ทางสังคมเป็นสิ่งที่เราเลือกที่จะกำหนดเองได้ ผู้ประพันธ์ได้นำเสนอเหตุการณ์ในเช้าวันหนึ่งที่คามัลกับย่าของเขาต้องเข้าไปซื้อของในย่านของคนอิสราเอล รถประจำทางที่ย่ากับหลานและชาวปาเลสไตน์คนอื่น ๆ โดยสารมาต้องหยุดรอที่ด่านเพื่อให้ทหารตรวจความปลอดภัยก่อนข้ามพรมแดน หลังจากที่ทหารอิสราเอลเห็นบัตรประจำตัวประชาชนของย่าของคามัล เขาอนุญาตให้เธอข้ามพรมแดนไปได้โดยไม่ต้องรอการตรวจบัตรประจำตัว แต่เธอปฏิเสธ
…Als er bei Oma ankam, schaute er ihr ins Gesicht, dann wieder in den Ausweis und noch mal ins Gesicht. Schließlich sagte er etwas und wies zur Bustür, so als ob sie aussteigen sollte. Oma aber wollte nicht aussteigen. Der Soldat redete und redete auf sie ein, sie aber schüttelte nur den Kopf. Da wurde der Soldat böse, warf Oma den Ausweis in den Schoß und ging hinaus.…(74-75)
(...เมื่อเขาเดินมาถึงตัวย่า เขามองหน้าของท่าน แล้วมองไปที่บัตรประจำตัวประชาชนและมองหน้าของท่านอีกครั้ง ในที่สุดเขาพูดอะไรบางอย่างและชี้ไปที่ประตูรถประจำทาง คล้ายจะบอกว่าท่านควรจะลงจากรถ แต่ย่าไม่ต้องการลงจากรถ ทหารคนนั้นพูดกับท่าน ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ท่านก็เอาแต่สั่นศีรษะเพียงอย่างเดียว ทหารคนนั้นก็เลยโกรธ โยนบัตรประจำตัวคืนไปที่ตักของย่าและเดินลงรถไป…)
ผู้ประพันธ์ใช้ฉากนี้เพื่อบ่งบอกประสบการณ์ของผู้อพยพที่ไม่ได้ผูกโยงตนเองกับชาติพันธุ์ยิวเฉกเช่นย่าของคามัล เธอเลือกที่จะแสดงตนเป็นพวกเดียวกับชาวปาเลสไตน์ การที่ย่าของคามัลสามารถกำหนดพื้นที่ทางสังคมให้กับตนเองโดยปราศจากความรู้สึกแปลกแยกหรือสามารถปรับตัวเป็นส่วนหนึ่งของสังคมปาเลสไตน์ ทำให้ตัวละครย่าสามารถดำรงอยู่ในสังคมปาเลสไตน์ได้อย่างมี ‘ตัวตน’ นั่นทำให้ “คามัลรู้สึกภาคภูมิใจย่าของเขา” [Ich war mächtig stolz auf sie.(75)]
การที่ย่าไม่ประกาศตนว่าเป็นชาวยิวสอดคล้องกับคำกล่าวของเอ็ดเวิร์ด ซาอิดที่ว่า:
Borders and barriers, which enclose us within the safety of familiar territory, can also become prisons, and are often defended beyond reason or necessity. Exiles cross borders, break barriers of thought and experience. [35]
(...เส้นแบ่งเขตแดนและกำแพงซึ่งโอบล้อมเราไว้ด้วยความปลอดภัยอันเกิดจากอาณาจักรอันคุ้นเคย อาจกลายเป็นคุกกักขัง และบ่อยครั้งที่ถูกปกป้องไว้เหนือเหตุผลและความจำเป็น ผู้ลี้ภัยได้ก้าวข้ามพรมแดน และทำลายกำแพงแห่งความคิดและประสบการณ์)
ย่าของคามัลสามารถดำรงอยู่ที่ใดก็ได้โดยไม่ต้องผูกโยงกับชาติพันธุ์ยิว ในฐานะผู้อพยพเธอสามารถอยู่ที่ใดก็ได้ หรือบ้านของเธออยู่ที่ไหนก็ได้ การที่ย่าไม่ได้ผูกโยงกับชาติพันธุ์ยิวช่วยให้คามัลเรียนรู้ว่าชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่ยืดหยุ่นและเป็นสิ่งที่กำหนดเองได้
นอกจากนี้ คามัลยังได้เรียนรู้การพึ่งพากันหรือการช่วยเหลือกันและกัน หลังจากที่ได้ยินนิทานของลูก้าซึ่งเป็นเพื่อนของย่า ลูก้าเล่าเกี่ยวกับชายโง่เขลาสามคนที่อดอยากขาดน้ำจนแทบจะถึงแก่ชีวิต
“Es waren einmal drei Bauern. Der eine hatte einen Brunnen, der andere einen Eimer und der dritte ein Seil. Sie waren aber verfeindet und keiner wollte mit dem anderen etwas zu tun haben. Für sich, ihre Familien, ihr Vieh und ihr Land brauchten sie jedoch Wasser. Das Wasser war auch da, nur konnten sie es nicht erreichen. Dem Brunnenbesitzer fehlten ein Eimer und ein Seil, dem Eimerbesitzer ein Brunnen und ein Seil und dem Seilbesitzer ein Brunnen und ein Eimer. Dumm wie sie waren, kamen sie gar nicht auf die Idee, sich zusammenzutun. Im Gegenteil, jeder saß da und bewachte eifersüchtig seinen Besitz. Und wenn einer von ihnen nicht aufpasste, wurde er von den anderen bestohlen oder der Brunnen besetzt. So gab es jeden Tag Streit und Kampf bis aufs Blut. Das schürte ihren Hass aufeinander immer mehr. Die Felder vertrockneten, das Vieh war nur noch Haut und Knochen und schließlich waren auch die Bauern und ihre Familien kurz vor dem Verdursten. Da kam ein weiser Fremder auf seinem Pferd herangeritten, der auch Durst hatte und sich und sein Pferd erfrischen wollte. Als er sah, welch schreckliche Zustände bei den drei Bauern herrschten, war er entsetzt und fragte, was los sei. Die Bauern erzählten ihm die Geschichte. Da versprach der Fremde jedem, der ihm seinen Besitz auslieh, einen Eimer Wasser, der sie vor dem Verdursten retten würde. Die Bauern waren sehr glücklich über diesen Vorschlag und jeder gab dem Fremden bereitwillig, was er hatte: das Seil, den Eimer und die Erlaubnis, den Brunnen zu benutzen. Der Fremde schöpfte Wasser, gab den Bauern davon ab und erfrischte sein Pferd und sich selbst. Als die Bauern ihren quälenden Durst gelöscht hatten, betrachteten sie ihr früheres Verhalten plötzlich mit anderen Augen. Sie erkannten ihre große Dummheit und taten sich nun zusammen. Gemeinsam schöpften sie Wasser aus dem Brunnen, versorgten ihre Familien damit, tränkten das Viehund bewässerten das Land. Und seitdem lebten sie glücklich in Frieden und Wohlstand zusammen.” (89-91)
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีชาวนา 3 คน คนหนึ่งเป็นเจ้าของบ่อน้ำ อีกคนหนึ่งมีถัง และคนที่สามมีเชือก พวกเขาเป็นศัตรูกัน และไม่มีใครอยากเกี่ยวข้องกับใคร แต่พวกเขาต่างต้องการน้ำสำหรับตัวเอง สำหรับครอบครัว สำหรับปศุสัตว์และสำหรับที่ดินทำกินของพวกเขา น้ำก็มีอยู่ตรงนั้น เพียงแต่ไม่มีใครเอื้อมถึง เจ้าของบ่อน้ำไม่มีถังน้ำและเชือก และเจ้าของถังน้ำไม่มีบ่อน้ำกับเชือก
ส่วนเจ้าของเชือกไม่มีบ่อน้ำและถังน้ำ พวกเขาโง่เง่าเสียจนไม่มีใครนึกออกว่าพวกเขาน่าจะร่วมมือกัน ตรงกันข้าม ต่างคนได้แต่นั่งคอยเฝ้าระวังสมบัติของตนอย่างหวงแหน พอใครเผลอ ก็จะโดนคนอื่นขโมยของหรือมาจับจองบ่อน้ำ มันก็เลยมีเรื่องให้ต้องทะเลาะเบาะแว้ง สู้กันถึงเลือดตกยางออกทุกวัน ซึ่งนั่นยิ่งเป็นการสุมไฟแห่งความเกลียดชังของพวกเขาให้ลุกโพลงยิ่งขึ้นไปอีก ท้องไร่ แตกระแหง สัตว์เลี้ยงในฟาร์มผอมจนเห็นหนังหุ้มกระดูก และในท้ายที่สุดตัวชาวนาเองและครอบครัวของพวกเขาก็อดอยากขาดน้ำจนแทบจะถึงแก่ชีวิต
วันหนึ่งมีชายแปลกหน้าเจ้าปัญญาขี่ม้าผ่านมา ชายผู้นั้นรู้สึกกระหายน้ำด้วยเหมือนกันและอยากจะได้น้ำดื่มเพื่อเพิ่มความสดชื่นให้แก่ตนเองและม้าของตน เมื่อเขาได้เห็นว่า ชาวนาทั้งสามตกอยู่ในสภาพเลวร้ายอย่างไร เขารู้สึกตกใจมากและซักถามว่าเกิดอะไรขึ้น
เหล่าชาวนาได้เล่าให้เขาฟังถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ชายแปลกหน้าจึงสัญญาว่า เขาจะมอบน้ำหนึ่งถังให้แก่ชาวนาทุกคนที่ยินยอมให้เขายืมสิ่งของที่ชาวนาแต่ละคนถือครองอยู่ ซึ่งน้ำถังนั้นจะช่วยให้พวกเขารอดชีวิตจากการขาดน้ำ
เหล่าชาวนารู้สึกมีความสุขมากกับข้อเสนอดังกล่าว ทุกคนต่างมอบสิ่งที่พวกเขามีให้แก่ชายแปลกหน้าด้วยความเต็มอกเต็มใจ ไม่ว่าจะเป็นเชือก ถังน้ำ และการอนุญาตให้ใช้บ่อน้ำ ชายแปลกหน้าตักน้ำจากบ่อ แจกจ่ายให้เหล่าชาวนา ส่วนม้าของเขาและตัวเขาเองก็ได้ดื่มกินน้ำนั้นจนสดชื่นเช่นกัน
เมื่อชาวนาทั้งสามได้ดับความกระหายอันแสนทรมานลงแล้ว ในฉับพลันนั้นเอง พวกเขามองพฤติกรรมก่อนหน้านี้ของตนเองด้วยสายตาที่แตกต่าง พวกเขาตระหนักว่า พวกเขาโง่มามากและหันมาร่วมมือร่วมใจกันนับจากนั้น พวกเขาวิดน้ำจากบ่อด้วยกัน ให้ครอบครัวของพวกเขาได้ดื่มกินน้ำนั้น ให้น้ำสัตว์เลี้ยง และรดน้ำผืนดินทำกินจนชุ่มฉ่ำ และนับจากนั้นเป็นต้นมา พวกเขาก็มีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขท่ามกลางสันติภาพและสภาพความเป็นอยู่ที่สุขสบาย
นิทานที่ลูก้าเล่าช่วยให้ “คามัลเข้าใจทันทีถึงสิ่งที่ลูก้าต้องการสื่อสารผ่านนิทานเรื่องนี้” [Ich verstand sofort, was der alte Luka mit seiner Geschichte sagen wollte. (91)]
คามัลตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาอาศัยกัน ผู้ประพันธ์ใช้นิทานดังกล่าวเพื่อสอนให้ตัวละครเอกรับรู้ว่าคนเราไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตามลำพัง ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการเพื่อน เช่นเดียวกับที่ปาเลสไตน์ต้องการอิสราเอลเป็นเพื่อน และอิสราเอลต้องการปาเลสไตน์เป็นเพื่อน สอดคล้องกับคำกล่าวของเอ็ดเวิร์ด ซาอิดที่เห็นว่า:
Israelis and Palestinians are two communities that will neither go away nor leave each other alone. [36]
[“ชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์เป็นชุมชนสองแห่งซึ่งไม่แยกจากกันหรือ ไม่ทิ้งกันและกันไว้ตามลำพัง”]
การอยู่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างคนต่างชาติต่างศาสนาเป็นแก่นกระพี้ที่ผู้ประพันธ์ให้ความสำคัญ เนื่องจากช่วยลดทอนความแปลกแยกระหว่างคนต่างศาสนา
คามัลไม่เพียงแต่เรียนรู้คุณค่าของการช่วยเหลือกันและกันผ่านการฟังนิทานเท่านั้น อีกทั้งเขายังมีประสบการณ์ตรงจากการได้รับความช่วยเหลือจากชาวยิวถึงสองครั้งในการให้ที่พักค้างคืนกับเขาและย่าของเขา ครั้งหนึ่งในระยะเวลาที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินขณะที่พวกเขาติดอยู่ในฝั่งของอิสราเอล และอีกครั้งในตอนที่พวกเขาไปไม่ทันรถคันสุดท้ายที่จะกลับฝั่งปาเลสไตน์
การที่คามัลได้รับความช่วยเหลือจากชาวยิวผู้เป็นคนแปลกหน้าเพื่อแสดงว่าถึงที่สุดแล้ว ในยามวิกฤติ ความเป็นความตายมนุษย์ย่อมไม่ทอดทิ้งกัน ผู้ประพันธ์นำเสนอฉากที่คนต่างศาสนาช่วยเหลือกันเพื่อใช้เป็นทางเบี่ยงในการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างคนต่างศาสนา
อันที่จริงแล้ว ประชาชนซึ่งนับถือศาสนาที่แตกต่างกันมิได้ต้องการความขัดแย้งหรือสงครามแต่อย่างใด พวกเขาต้องการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ทว่าปัญหาหรืออุปสรรคที่สำคัญเป็น
“เพราะตัวผู้นำของดินแดนนี้งี่เง่า เฉกเช่นชาวนาทั้งสามคน...และที่เลวร้ายที่สุด คือ พวกบ้าคลั่งศาสนา”
[Weil die Anführer der Gruppen dieses Landes so dumm wie die drei Bauern sind…Und am schlimmsten sind die religiösen Fanatiker.” (91)]
การที่ผู้ประพันธ์เอ่ยถึงผู้นำที่โง่เขลาและพวกคลั่งศาสนาอาจจะเพื่อวิพากษ์ความไร้ประโยชน์หรือความไร้สาระในการเอาชนะกันของเหล่าผู้นำเพื่อแย่งชิงดินแดนนี้ ขณะเดียวกัน เป็นการเตือนสติเด็กรุ่นใหม่เฉกเช่นคามัลมิให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่สามารถยุติได้ เนื่องจากแต่ละฝ่ายต่างอ้างว่าดินแดนนี้เป็นบ้านของตน
การต่อสู้เพื่อบ้านของทั้งสองฝ่ายเริ่มต้นมาจากการก่อตั้งประเทศอิสราเอล ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น มุสลิมกับยิวอยู่ร่วมกันในดินแดนนี้ การปักปันเขตแดนและการสร้างรัฐชาติทำให้เกิดความขัดแย้งและสงครามระหว่างชาติพันธุ์ทั้งสองกลุ่มซึ่งเป็นฝีมือของผู้นำทางการเมืองและศาสนา
หากพิจารณาตำนานของอับราฮัม ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมเล่าว่าต้นตอของ ชนชาติฮีบรูได้เริ่มจากอับราฮัม คนเลี้ยงสัตว์และพ่อค้าเร่ร่อนในแถบเมโสโปเตเมีย เมื่อประมาณหนึ่งพันเก้าร้อยปีก่อนคริสตกาล อับราฮัมได้รับคำสั่งจากพระผู้เป็นเจ้าให้รอนแรมไปยังดินแดนคานาอัน เมื่อมาถึงดินแดนนี้พวกยิวต้องอยู่ร่วมกับคนหลายเชื้อชาติ เขามีลูกชายสองคน คนหนึ่งชื่อไอแซกซึ่งมีลูกชายชื่อยาคอบ
ต่อมาเรียกกันว่าอิสราเอล ยาคอบมีลูกชาย 12 คน ลูกชายของยาคอบแต่ละคนกลายเป็นหัวหน้าตระกูลหรือเผ่าพันธุ์ทั้งสิบสองของอิสราเอล [37] ส่วนลูกชายอีกคนหนึ่งของอับราฮัมมีชื่อว่าอิชมาเอลซึ่งเกิดจากสาวใช้ อิชมาเอลมีบุตรชาย 12 คนซึ่งต่อมาเป็นผู้นำเผ่าอาหรับ [38] จากตำนานดังกล่าวข้างต้นบอกเล่าว่าทั้งยิวและอาหรับล้วนแต่สืบสายมาจากรากเหง้าเดียวกัน
แต่เป็นเพราะการผูกโยงกับพรมแดนทางชาติพันธุ์และการปักปันเขตแดนของรัฐชาติ โดยเฉพาะการแย่งชิง ‘บ้าน’ บนแผ่นดินเดียวกัน ทำให้มีการสร้างความเป็นอื่นและความแปลกแยกระหว่างชาวอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงเลือกที่จะลืมเลือนตำนานที่บอกเล่ารากเหง้าเดียวกัน ทว่ากลับเลือกที่จะกล่าวถึงหรือผลิตซ้ำตำนานและประวัติศาสตร์ที่ช่วยให้ต่างฝ่ายต่างสามารถอ้างว่าตนมีสิทธิในการเป็นเจ้าของดินแดนคานาอัน ทั้ง ๆ ที่ข้อโต้แย้งระหว่างชาติพันธุ์ทั้งสองกลุ่มซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนเดียวกันอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีฝ่ายใดมีความชอบธรรมอย่างแท้จริง
4. บทสรุป
ในการนำเสนอเรื่อง ‘หินที่เปล่งเสียง’ ฆอซี อัลเดล-เกาะดีร ใช้งานเขียนของตนนำเสนอทางออกที่เป็นไปได้ของความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล ด้วยการให้เด็กรุ่นใหม่เฉกเช่นคามัลเรียนรู้ผ่านเรื่องเล่าและประสบการณ์ที่เขาได้ยิน ได้ฟังและได้สัมผัสโดยตรง จนนำไปสู่การปฏิเสธการใช้ความรุนแรงและการตระหนักรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างคนปาเลสไตน์กับคนอิสราเอล
แต่เดิม คามัลมองเห็นอิสราเอลเป็นศัตรูผู้มาแย่งชิงบ้านของตน จากการได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับชาวปาเลสไตน์ที่ถูกขับไล่จึงได้เข้าร่วมการต่อต้านทหารอิสราเอลด้วยการใช้ก้อนหินเป็นอาวุธ ทว่าการต่อต้านดังกล่าวทำให้คามัลหวาดกลัวที่จะอยู่กับความรุนแรง และเห็นว่าการใช้ความรุนแรงมิใช่หนทางในการแก้ปัญหา
ผู้ประพันธ์ผูกเรื่องให้คามัลเรียนรู้ความรักระหว่างปู่ซึ่งเป็นคนอาหรับมุสลิมกับย่าซึ่งเป็นชาวยิว ทำให้เห็นว่าการรักษาความบริสุทธิ์ของชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่คุกคามการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัฒนธรรม หากแต่การแต่งงานระหว่างคนต่างศาสนาจะช่วยลดทอนความเกลียดชังทางชาติพันธุ์
ขณะเดียวกัน คามัลยังรับรู้การเลือกทางเดินของย่าที่ไม่ได้ผูกโยงกับชาติพันธุ์ยิวและสามารถผูกสัมพันธ์ได้กับทุกคน นอกจากนี้ คามัลยังได้ฟังนิทานที่สอนให้คนเรารู้จักช่วยเหลือกันและกัน กอปรกับการได้รับความช่วยเหลือจากชาวยิวแปลกหน้าทำให้เขาเรียนรู้ว่าถึงที่สุดแล้วมนุษย์ต้องการเพื่อน มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้ตามลำพัง
การที่ผู้ประพันธ์นำเสนอตัวละครเอกคามัลให้ประสบกับสภาวะเปลี่ยนผ่านจากการมีความคิดแบ่งแยกเขาแยกเรามาสู่การเป็นผู้ตระหนักรู้แนวคิดขันติธรรมระหว่างคนต่างวัฒนธรรมเพื่อสื่อสารว่าการสลายความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ทั้งสองกลุ่มตามที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงความเชื่อมั่นในความฝันที่จะมี ‘สันติภาพ’ เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ในหมู่ผู้อ่าน
ขณะที่ในโลกแห่งความเป็นจริง ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ทั้งสองกลุ่มในการแย่งชิง ‘บ้าน’ บนแผ่นดินเดียวกันเป็นปัญหาซึ่งไม่มีทางออกหรือไม่สามารถหาข้อยุติได้
หมายเหตุ: บทความนี้เขียนโดย รศ. ดร. ศิริพร ศรีวรกานต์ ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ The People
บทความนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (2012): กรกฎาคม - ธันวาคม 2555 หน้า 88-112.
นอกจากนี้ ผู้วิจัยขอขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จินดา ศรีรัตนสมบุญ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถนอมนวล หิรัญเทพ สำหรับคำชี้แนะในการเขียนบทความนี้ ส่วนความช่วยเหลือในการถอดเสียงภาษาอาหรับ ผู้วิจัยขอขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นูรีดา หะยียะโกะ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มานพ อาดัม
เชิงอรรถ:
[1] Edward W. Said, The Politics of Dispossession: The Struggle for Palestinian Self-Determination 1969-1994 (London: Vintage, 1995), p. 46.
[2] Alan Dowty, Israel/Palestine, 2nd ed. (Cambridge: Polity Press, 2008), p. 4.
[3] Ibid., p. 22.
[4] Ibid., p. 21.
[5] Ibid., p. 22.
[6] นันทนา กปิลกาญจน์, ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางในโลกปัจจุบัน (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2541), หน้า 71.
[7] Beverley Milton–Edwards, The Israeli-Palestinian Conflict: A People’s War (London: Routledge, 2009), p.13.
[8] Ibid., p.13.
[9] นันทนา กปิลกาญจน์, ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางในโลกปัจจุบัน, หน้า 73.
[10] Alan Dowty, Israel/Palestine, p. 86.
[11] การประกาศจัดตั้งประเทศอิสราเอลนำไปสู่การเกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลในค.ศ.1948 สงครามจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายอิสราเอล มีการตกลงสงบศึกในค.ศ.1949 และกำหนดให้แบ่งดินแดนออกเป็น 4 ส่วน ให้กับอิสราเอลและชาติอาหรับอีก 3 ชาติ คือ อียิปต์ จอร์แดน และซีเรีย กล่าวได้ว่าอิสราเอลได้ดินแดนไป 78% ของดินแดนปาเลสไตน์ที่เคยอยู่ใต้อาณัติของสหราชอาณาจักร จอร์แดนได้เขตเวสต์แบงก์ กรุงเยรูซาเล็มถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ให้กับอิสราเอลกับจอร์แดน ส่วนอียิปต์ได้ดินแดนฉนวนกาซา เมื่อแบ่งดินแดนกันเรียบร้อย ชาวยิวกับชาวอาหรับได้อพยพเข้าไปอยู่อาศัยในเขตแดนของตน ต่อมาในค.ศ.1967 หลังสงครามหกวันระหว่างอิสราเอลกับอาหรับ อิสราเอลสามารถยึดดินแดนบางส่วนที่อียิปต์กับจอร์แดนได้ครอบครองในค.ศ. 1948 อ้างถึงใน Alan Dowty, Israel/Palestine,p. 87 และ Beverley Milton–Edwards, The Israeli-Palestinian Conflict: A People’s War, pp. 120-121.
[12] Beverley Milton–Edwards, The Israeli-Palestinian Conflict: A People’s War, p.146
[13] Ghazi Abdel-Qadir, Die sprechenden Steine. (Weinheim: Beltz & Gelberg, 1998), p.2.
[14] Spencer Rathus, Childhood and Adolescence: Voyages in Development (M.A.: Thomson Higher Education, 2008), p.443.
[15] Beverley Milton–Edwards, The Israeli-Palestinian Conflict: A People’s War, p.9.
[16] Ibid., p. 9.
[17] Ibid., pp. 22-23.
[18] Edwards W. Said, The Politics of Dispossession: The Struggle for Palestinian Self-Determination 1969-1994 , p.47.
[19] Ibid., p.78.
*ชื่อหมู่บ้าน Deir Yassin สำหรับคำว่าDeir หากพิจารณาจากรูปแล้วไม่ปรากฏในภาษาอาหรับ จากการสืบค้นพบว่าคำนี้อาจจะกร่อนมาจากคำว่า Dhahir หรือ Zahir ทั้งสองคำต่างก็อ่านว่าเซาะฮีร ผู้วิจัยขอขอบคุณอาจารย์ ดร.นูรีดา
หะยียะโกะและอาจารย์ ดร.มานพ อาดัม
[20] Ilan Pappe, “The Homeland in Israel and Palestine, Post-Territorial Dimensions of a Future “ http://muse.jhu.edu (Accessed 5 October 2010)
[21] Stephane Dufoix, Diasporas, trans. William Rodarmor (Berkeley: University of California Press, 2008), p.97.
[22] Ilan Pappe, “The Homeland in Israel and Palestine, Post-Territorial Dimensions of a Future “ http://muse.jhu.edu (Accessed 5 October 2010)
[23] การฆ่าล้างชาวปาเลสไตน์นั้น ทางฝ่ายอิสราเอล นักการศึกษา นักประวัติศาสตร์ ผู้ประพันธ์ ผู้ผลิตสื่อทางวัฒนธรรมล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในการปฏิเสธและปกปิดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในค.ศ.1948 ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เก็บซ่อนเรื่องนี้จากสายตาของสาธารณชนและผู้คนหลายชั่วอายุคน ในปลายค.ศ.2000 มีนักข่าวที่กล้าหาญเพียงคนเดียวในHaaretz (เสียงในความยุ่งเหยิง) ตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ค.ศ.1948 ผ่านบทความว่า “คุณโกหกเราได้อย่างไรในรอบหลายปี” (How could you lie to us for so many years?” คำถามนี้คงมีเพียงคนไม่กี่คนที่จะถามถึง และยิ่งมีคนน้อยลงไปอีกสำหรับการตอบคำถามนี้ อ้างถึงใน Ilan Pappe, “The Homeland in Israel and Palestine, Post-Territorial Dimensions of a Future“ http://muse.jhu.edu (Accessed 5 October 2010)
[24] ชุติมา ประกาศวุฒิสาร, ก่อร่าง สร้างเรื่อง: เรื่องเล่า อัตลักษณ์ และชุมชนในวรรณกรรมสตรีชายขอบ (กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2554), หน้า 104.
[25] เล่มเดียวกัน, หน้า 105.
**ประเด็นเกี่ยวกับย่าที่ไม่ได้ผูกโยงกับอัตลักษณ์ยิวนั้นผู้วิจัยขอกล่าวถึงอีกครั้งในช่วงหลังของบทความฉบับนี้
[26] Umut Özkirimli, Contemporary Debates on Nationalism: A Critical Engagement (New York: Palgrave Macmillan, 2005), p 181.
[27] Ilan Pappe, “The Homeland in Israel and Palestine, Post-Territorial Dimensions of a Future “ http://muse.jhu.edu (Accessed 5 October 2010)
[28] พระเจ้าซาลาดินเป็นวีรบุรุษของชาวอาหรับผู้ซึ่งสามารถเอาชนะกองทัพของคริสต์ศาสนิกชนในสงครามครูเสดและสามารถปลดแอกกรุงเยรูซาเล็มให้เป็นอิสระ
[29] Eric Hobsbawm, “Ethnicity and Nationalism in Europe,” www.jstor.org (Accessed 4 April 2011)
[30] Umut Özkirimli, Contemporary Debates on Nationalism: A Critical Engagement, p. 183.
[31] Beverley Milton–Edwards, The Israeli-Palestinian Conflict: A People’s War, p.142.
[32] Edwards W. Said, The Politics of Dispossession: The Struggle for Palestinian Self-Determination 1969-1994, p. 159.
[33] Ibid., p. 349.
[34] Umut Özkirimli, Contemporary Debates on Nationalism: A Critical Engagement, p. 186.
[35] Edward W. Said, Reflections on exile and other literary and cultural essays (London: Granta Books, 2001), p. 185.
[36] Edwards W. Said, The Politics of Dispossession: The Struggle for Palestinian Self-Determination 1969-1994 , p.49.
บรรณานุกรม
จอร์จ เฟอร์กูสัน. เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในคริสต์ศิลป์. กุลวดี มกราภิรมย์ แปลและเรียบเรียง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2542.
ชุติมา ประกาศวุฒิสาร. ก่อร่าง สร้างเรื่อง: เรื่องเล่า อัตลักษณ์ และชุมชนในวรรณกรรมสตรีชายขอบ. กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2554.
นันทนา กปิลกาญจน์. ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางในโลกปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2541.
Abdel-Qadir, Ghazi. Die sprechenden Steine. Weinheim: Beltz & Gelberg. 1998.
Clifford, James. “Diasporas,” Cultural Anthropology 9 (3), 1994.
Dowty, Alan. Israel/Palestine. 2nd ed. Cambridge: Polity Press, 2008.
Dufoix, Stephane. Diasporas, trans. William Rodarmor. Berkeley: University of California Press, 2008.
Hobsbawm, Eric. “Ethnicity and Nationalism in Europe,” www.jstor.org (Accessed 4 April 2011)
“Ishmael” https://christiananswers.net/dictionary/ishmael.html (Accessed 10 June 2012)
Milton–Edwards, Beverley. The Israeli-Palestinian Conflict: A People’s War. London: Routledge, 2009.
Özkirimli, Umut. Contemporary Debates on Nationalism: A Critical Engagement. New York: Palgrave Macmillan, 2005.
Pappe, Ilan. “The Homeland in Israel and Palestine, Post-Territorial Dimensions of a Future” http://muse.jhu.edu (Accessed 5 October 2010)
Pinsent, Pat. Children’s Literature and the Politics of Equality. New York: Teacher College Press, 1997.
Rathus, Spencer. Childhood and Adolescence: Voyages in Development. M.A.: Thomson Higher Education, 2008
Rudd, David, ed. The Routledge Companion to Children’s Literature. Oxon: Routledge, 2010.
Said, Edward W. The Politics of Dispossession: The Struggle for Palestinian Self-Determination 1969-1994. London: Vintage, 1995.
Said, Edward W. Reflections on exile and other literary and cultural essays. London: Granta Books, 2001.