29 ต.ค. 2567 | 16:49 น.
KEY
POINTS
คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า นวนิยายเรื่อง ‘กี่บาด’ ของ ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ เล่าเรื่องของ ‘แม่ญิง’ ช่างทอผ้าแม่แจ่มสามรุ่นที่มีชีวิตผูกพันกับการทอซิ่นตีนจก นำเสนอผ่านโครงเรื่องการต่อสู้และการส่งต่อมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าในบริบทยุคสมัยที่มีความผันแปร โดยใช้กี่ทอผ้าเป็นเสมือนพื้นที่ของผู้หญิง ที่เต็มไปด้วยความหมายอันหลากมิติ ทั้งการต่อรองทางเพศสภาพ การต่อสู้กับอคติของจารีต การเก็บงำความทรงจำทั้งดีและร้าย
ด้านศิลปะการประพันธ์ กี่บาด มีทั้งขนบวรรณศิลป์แบบดั้งเดิมประสานกับการสร้างสรรค์ใหม่ โดยใช้ศิลปะการทอผ้าและลวดลาย สื่อความหมายและดำเนินเรื่องอย่างมีเชิงชั้น เต็มไปด้วยสีสันท้องถิ่น นำพาผู้อ่านสู่อารมณ์สะเทือนใจ เห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของมนุษย์ แม้จะต้องเผชิญประสบการณ์หรือความทรงจำอันปวดร้าวเพียงไร ชีวิตก็ต้องเดินไปข้างหน้า และถักทอเรื่องราวอันเป็นวัฒนธรรมเรื่องเล่าของมนุษยชาติต่อไป
คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้นวนิยายเรื่อง กี่บาด ของประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2567
ประกาศ ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2562
เป็นธรรมเนียมทุกปีสำหรับคำประกาศคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) พลันเมื่อคำตัดสินพร้อมนำเสนอสู่สาธารณชน
ความสนใจของคนวรรณกรรมส่วนหนึ่งจะพุ่งไปยังนักเขียนคนใหม่ รวมทั้งเรื่องราวจากปลายปากกาของเขาและเธอ โดยในปีนี้มีความน่าสนใจที่ว่า นักเขียนซีไรต์คนใหม่เป็น ‘ทันตแพทย์’
เขาผู้นั้นมีนามว่า ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’
นวนิยายเรื่อง ‘กี่บาด’ ของ ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ เริ่มต้นจากการที่เขานั่งทานข้าวกลางวันแล้วเปิดสารคดีช่องไทยพีบีเอส ตอนวิถีชีวิตคนตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
สารคดีพาไปดูวิถีชีวิตคนทอผ้าซิ่นตีนจกอันเป็นเอกลักษณ์ของแม่แจ่ม ‘ประเสริฐศักดิ์’ สะดุดใจคำสัมภาษณ์แม่อุ๊ยท่านหนึ่งซึ่งกำลังทอผ้าอยู่ พิธีกรถามว่า ทอผ้าขายผืนละกี่บาท
ประเสริฐศักดิ์ ได้ยินประโยคสะกิดใจนี้ จึงเงยหน้าขึ้นมาจากจานข้าว พลางคิดถึงคำว่า “กี่บาท” กับ “กี่บาด” หมายถึงกี่ที่ใช้ทอผ้า เป็นคำพ้องเสียงที่มีความหมายหลายนัย คือราคาค่างวดของผ้าทอ กับจำนวนครั้งของความเจ็บปวดที่ถูกกี่บาด และกี่ที่บาดมือคนทอผ้า
จากคำว่า “กี่บาท” และ “กี่บาด” นำมาสู่ 16 บทของนวนิยายรางวัลซีไรต์ในปีนี้ ที่หยิบเอาลายผ้าซิ่นตีนจกจำนวน 16 ลาย แทนค่าด้วยบทตอนต่าง ๆ ของวรรณกรรม
“ในตอนแรกผู้เขียนจะนำเอาแนวความคิดนี้ไปพัฒนาเป็นเรื่องสั้น แต่เมื่อค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ภาพชีวิตของช่างทอก็ค่อย ๆ ผุดขึ้นมาทีละคน แต่ละคนมีเรื่องราวมากมายที่อยากบอกเล่า ผ่านเส้นฝ้ายที่ทอขึ้นมาเป็นผ้าซิ่นตีนจกแต่ละผืน ผ่านบาดแผลต่าง ๆ ทั้งกลั้นใจทนได้และสาหัสสากรรจ์ และผ่านความรักทั้งหลายที่เก็บซ่อนและเปิดเผย ทั้งหมดทั้งมวลทำให้เรื่องราวของ ‘กี่บาด’ ไม่สามารถตัดทอนส่วนหนึ่งส่วนใดให้สามารถบรรจุลงในเรื่องสั้นแค่ไม่กี่หน้าได้” [อ้างอิง: คำนำ นวนิยาย ‘กี่บาด’]
ประเสริฐศักดิ์ คลี่ผ้าทอตีนจกออกมาทีละผืน พาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเรื่องราวของคนทอผ้าแห่งอำเภอแม่แจ่ม ผ่านข้อมูลที่สังเคราะห์จากงานวิจัย YouTube สารคดี และตกผลึกเป็นเรื่องแต่งอันทรงคุณค่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลุย Research ข้อมูลสัมภาษณ์ เอกสารอ้างอิง Focus Group ภาษาถิ่นเพื่อให้การบรรยายมีความสมจริง
“ผู้เขียนพยายามหาสมดุลระหว่างการใช้ภาษาถิ่นเพื่อให้สมจริง กับการเล่าเรื่องให้ผู้คนในวัฒนธรรมอื่นเข้าใจและติดตามเรื่องราวโดยไม่ถูกทิ้งไว้ระหว่างประโยค จึงเล่าเรื่องหลักโดยใช้ภาษาไทยกลางและเปลี่ยนเฉพาะคำนามบางคำให้เป็นภาษาถิ่น โดยไม่ลืมที่จะใส่คำสร้อยต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของภาษาเหนือลงไปด้วย เพื่อเพิ่มสำเนียงและคงรสสัมผัสเฉพาะตัวของภาษาเอาไว้ ส่วนในบทสนทนา ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะให้เข้าปากตัวละครมากที่สุด แต่อาจจะต้องเปลี่ยนบางคำเป็นไทยกลาง เพื่อให้ไม่ยากเกินไปสำหรับผู้ที่ไม่รู้ความหมาย” [อ้างอิง: คำนำ นวนิยาย ‘กี่บาด’]
ประเสริฐศักดิ์ ติดใจ ที่ลายผ้าซิ่นตีนจกของแม่แจ่มมีทั้งหมด 16 ลาย ทั้งหมดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) ที่แสดงว่า ลายผ้านี้ มีเฉพาะที่อำเภอแม่แจ่มเท่านั้น จากนั้น ประเสริฐศักดิ์ ลุยหาข้อมูล ทำการบ้านอย่างหนักเพื่อแปลงเป็นนวนิยาย กี่บาด
“ผ้าซิ่นตีนจก เป็นหัตถกรรมที่มีคุณค่า ผ่านภูมิปัญญา ผ่านห้วงเวลา ที่ทั้งข้นแค้นและบริบูรณ์ ทอขึ้นจากฝ้ายปุยขาวที่ถือกำเนิดจากผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ สายฝนที่ลอยข้ามดอยมาตกใส่ประพรม การดูแลเอาใจใส่ของผู้ปลูก กรรมวิธีหลากหลายที่เปลี่ยนปุยฝ้ายให้เป็นด้ายเส้น สีย้อมต่าง ๆ ที่หาได้จากธรรมชาติรอบกาย ลายผ้าโบราณที่สั่งสอนสืบต่อกันมาจากแม่สู่ลูกสาว รุ่นแล้วรุ่นเล่า จกสลับลวดลายเป็นช้างเป็นม้า หรือแม้แต่ลวดลายชีวิตแสนธรรมดา ของใครสักคนที่นั่งกี่ทอผ้า ด้วยจุดมุ่งหมาย ด้วยอารมณ์ความรู้สึก ด้วยชีวิตเลือดเนื้อ ที่ต่างกันไปในแต่ละคน แต่ละลาย แต่ละผืน” [อ้างอิง: คำนำ นวนิยาย ‘กี่บาด’]
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ตัวละครเพศชายเป็นคนทอผ้า เป็นการสร้างความย้อนแย้งในบทบาทหน้าที่และเพศสภาพที่ต่างจากขนบทางสังคม เช่นคำพูดที่บอกว่า แม่หญิงแม่แจ่มทุกคนต้องมีซิ่นตีนจกอย่างน้อยคนละหนึ่งผืน แต่ ประเสริฐศักดิ์ ใช้ตัวละครเพศชายฉายภาพดังกล่าวแทน
“ส่วนที่น่าสนใจระหว่างเขียนนิยายเรื่องนี้ คือบทบาทของผู้หญิงในสมัยก่อน ที่ผูกพันและผูกติดกับการทอผ้าจนยากจะแยกออก คุณค่าของผู้หญิงสมัยนั้นอาจถูกประเมินตั้งแต่รู้ว่าทอผ้าเป็นหรือไม่เป็น ประเภทซิ่นที่นุ่ง แต่ก็ถูกเปรียบเทียบและแบ่งแยกโดยที่ไม่พิจารณาคุณค่าอื่น ตัวละครในนิยายเรื่องนี้ จึงพยายามแสดงให้เห็นชีวิตผู้หญิงในบริบทต่าง ๆ ที่กำลังถูกกดทับ จากค่านิยม วัฒนธรรม สงคราม ศาสนา ผู้ชาย หรือแม้แต่ผู้หญิงด้วยกันเอง” [อ้างอิง: คำนำ นวนิยาย ‘กี่บาด’]
เป็นการขบถกับการกดทับในสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งมีหลายระดับ ทั้งระดับปัจเจก ระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับสังคม มีการใช้นัยของสงคราม คติ ความเชื่อ ค่านิยม แม้แต่ศาสนา เข้ามาขมวดปม ผ่านการเดินเรื่องที่น่าติดตาม
“ความน่าสนใจคือการเปลี่ยนผ่านของสังคมและค่านิยมที่มีต่อผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม จากเดิมนิยมที่ทอไว้นุ่งและเป็นสมบัติล้ำค่าที่ไม่ยอมยกให้ใครง่าย ๆ นอกจากเป็นมรดกให้ลูกหลาน ไปสู่การทอเพื่อขายเป็นสินค้าหรูหราที่นับวันยิ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเหมือนกระเป๋าแบรนด์เนม” [อ้างอิง: คำนำ นวนิยาย ‘กี่บาด’]
ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด เกิดในปีเหม้าที่เหน็บหนาวสุด เติบโตในจังหวัดชายทะเลภาคตะวันออก จบมัธยมหกจึงสอบเข้าไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในมหานคร เป็นคนธรรมดาไม่โดดเด่น แผนชีวิตคร่าว ๆ คือไหลไปตามยถากรรมบนสายพานของตลาดแรงงาน เป็นฟันเพืองตัวเล็ก ๆ รับใช้ทุนนิยมโสภาและโสมม
จนเมื่อเกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ปี 2554 ตุลาคมและพฤศจิกายนปีนั้น ชีวิตในมหาวิทยาลัยปีสุดท้ายถูกสั่งให้หยุดกะทันหัน เลยเอ่ยปากขอเพื่อนสนิทให้กระเตงขึ้นไปเที่ยวหัวเมืองเหนือด้วย กินอย่างประหยัดพักห้องเช่ารูหนู ขึ้นกองล่องกองไปตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งประจวบเหมาะเป็นช่วงที่เชียงใหม่จัดเทศกาลยี่เป็งพอดี
ตั้งแต่นั้นเขาจึงเริ่มหลงใหลวัฒนธรรมประเพณีล้านนา ถึงกับเคยอธิษฐานต่อหน้าอนุสาวรีย์พญาเม็งราย ขอให้ลูกจบออกมาได้ไปทำงานที่ไหนก็ได้ในดินแดนล้านนา แต่บุญวาสนาคงยังไม่ถึง พญานาคท่านเลยมารับไปทำงานในจังหวัดลุ่มน้ำโขงแทน
ด้วยความสนใจใคร่รู้ในวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นทุนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมล้านนา เลยเรียนฟังและพูดกำเมืองจากช่องยูทูบเบอร์ต่าง ๆ ติดตามอินฟลูเอ็นเซอร์เมืองทั้งหลาย ซึมซับเอาภาษา วัฒนธรรม ค่านิยมประเพณี ต่อยอดไปสู่การตกหลุมรักคนเมือง ฟังเพลงศิลปินเมือง ฟังจ้อยฟังซอ ฟังคลิปตุ๊ท่านเทศน์ ศึกษาตัวธรรมล้านนา อ่านวรรณกรรมของนักเขียนล้านนาที่เป็นตำนานและร่วมสมัย
ปัจจุบัน ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด ทำงานกินเงินเดือนในฐานะข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่จังหวัดชายแดนแห่งหนึ่งระหว่างซอกคอของภาคเหนือและอีสาน กินขนมเป็นส่วนใหญ่ ออกกำลังกายและทำงานเขียนเรื่องสั้นบ้างเล็กน้อยแล้วแต่วาระโอกาส ที่ต่างกันออกไป
กี่บาด จึงเป็นนิยายเรื่องแรกที่ได้รับการเผยแพร่ ของนักเขียนตาดำ ๆ คนนี้ [อ้างอิง: “เกี่ยวกับผู้เขียน” ในหนังสือนวนิยาย ‘กี่บาด’]
“จุดเริ่มต้นเป็นนักเขียน คือการเข้าร่วมประกวดในโครงการ Writers That Matter หัวข้อเกี่ยวกับ “ยุติการทรมาน - อุ้มหาย” เรื่องสั้น ‘ไปคุยกับรากมะม่วง’ ที่เขียน ได้รับการคัดเลือกและเผยแพร่จากแอมเนสตี้ ตอนนั้นดีใจมาก ๆ เพราะว่าหลายมุมมองทางสิทธิมนุษยชนก็ของเรามีทิศทางเดียวกับที่นี่หลายเรื่อง ก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสะท้อนอะไรบางอย่างในสังคมนี้ ให้มันถูกรับรู้แล้วก็ถูกสนใจ” [อ้างอิง: https://www.amnesty.or.th/latest/blog/1150]
ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด เริ่มต้นเขียนหนังสือช่วง COVID แพร่ระบาด เมื่อที่ทำงานสั่งห้ามไปปฏิบัติหน้าที่หลายเดือนติดต่อกัน ทำให้เขาคิดนำเอาความรู้ ประสบการณ์ และความเป็นนักอ่าน แปรเป็นงานเขียน
ประเสริฐศักดิ์ เริ่มเขียนเรื่องสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ หรือวรรณกรรมไซ-ไฟ และวรรณกรรมแนวสร้างสรรค์ ส่งประกวดในสนามต่าง ๆ เช่น
เรื่องสั้นเรื่อง ‘ไพลินไม่ชอบกินทุเรียน’ เข้ารอบการประกวดเรื่องสั้นมติชนอวอร์ด นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ประจำปี 2565 (เป็นนักเขียนคนแรกผู้ผ่านเข้ารอบประกวดเรื่องสั้นรางวัลมติชนอวอร์ด 2022)
“เรื่องนี้ตั้งใจใส่สัญลักษณ์หลายอย่าง เพื่อให้ผู้อ่านตีความได้หลากหลาย อย่างเช่น ตอนที่แม่กับไพลินจะปอกทุเรียน แม่ปอกด้วยมือเปล่าอย่างชำนิชำนาญด้วยความเคยชิน ปอกไปทั้งที่มือตัวเอกถูกหนามจนเลือดออก เพราะแม่ปอกมาอย่างนั้นทั้งชีวิต และคิดว่าวิธีนี้คือการปอกที่ถูก การเข้าถึงทุเรียนของแม่ต้องยอมเสียเลือดเนื้อให้ทุเรียน ต้องเจ็บปวด แต่ในขณะที่ไพลินไม่ใช่ ไพลินใส่ถุงมือป้องกันอย่างดี มันอาจเปรียบเป็นการเข้าถึงเรื่องยาก ๆ ของ Gen ต่าง ๆ
“การป้อนทุเรียนเปื้อนเลือดของแม่เข้าปากไพลิน อาจแสดงถึงการยัดเยียดความคิดของคนรุ่นก่อน, ต้นทุเรียนซึ่งไม่ใช่ไม้ผลัดใบ แต่ต้องผลัดใบ เพราะทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ไหว, การแปรรูปทุเรียนที่กินยากให้กินง่ายขึ้น สื่อถึงการปรับตัวตามยุคสมัย, รวมไปถึงการจัดตั้งสหกรณ์กำหนดราคาเองโดยชาวสวน ไม่ก็เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการแก้ปัญหาด้วย ประชาธิปไตยของประชาชน” [อ้างอิง: นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_575506]
เรื่องสั้นเรื่อง ‘ไปคุยกับรากมะม่วง’ (ประเสริฐศักดิ์ ใช้นามปากกา ‘สีพรำ’) เรื่องสั้นที่ได้รับคัดเลือกในโครงการ Writers That Matter 2022
“งานเขียนก่อนที่จะร่วมงานกับแอมเนสตี้ เช่น เรื่องสั้นก็จะมีปัญหาสังคมอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง พูดถึงอยู่ในนั้น บางเรื่องก็พูดถึงปัญหาสังคมสี่ห้าเรื่องเลยก็มี เรารู้สึกว่า อาจเป็นแนวที่เราถนัด พอมาพบกับโครงการ Writers That Matter ยิ่งทำให้เราอยากใช้งานเขียนสะท้อนหรือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคม แอมเนสตี้ ทำให้เห็นพลังของงานเขียน มันเป็นจุดร่วมที่ตรงกับจุดยืนของเรา
“ก่อนใช้นามปากกาว่า ‘สีพรำ’ ประเสริฐศักดิ์ สนใจประเด็นสังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาชอบเล่าเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาผู้คน ด้วยความหวังว่าทุกตัวอักษรที่ถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนในแบบฉบับของเขา จะทำให้ผู้อ่านฉุกคิดและเห็นความสำคัญของปัญหาสังคมในประเทศไทย ที่บางเรื่องผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อมีกระบอกเสียงหรือพลังที่ดังไม่มากพอ จนทำให้การต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้ความยุติธรรมในชีวิต ต้องถูกทำให้เลือนหายไปหรือถูกฝังกลบไว้ให้เป็นความลับจากผู้มีอำนาจ” [อ้างอิง: https://www.amnesty.or.th/latest/blog/1150]
เรื่องสั้นเรื่อง ‘ศุภลักษณ์’ ได้รับรางวัลจากโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ประจำปี 2566
เรื่องสั้นเรื่อง ‘นี่คือเสียงร้องของผู้สาวบ้านอ้าย’ เรื่องสั้นเข้ารอบชิงรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประจำปี 2567
เรื่องสั้นเรื่อง ‘พระธาตุล้ม’ เรื่องสั้นรองชนะเลิศรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2567
เรื่องสั้นเรื่อง ‘ถึงตรมนางทนเอาไว้’ เข้ารอบการประกวดเรื่องสั้นมติชนอวอร์ด นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ประจำปี 2567
เรื่องสั้นเรื่อง ‘ถนอมไว้ในรังนอน’ ตีพิมพ์เผยแพร่ที่ Bangkok Life News เป็นต้น
เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน
ภาพ: สำนักพิมพ์คมบาง