11 ต.ค. 2567 | 16:00 น.
KEY
POINTS
ผู้เขียนยอมรับว่าหลังจากได้ยินข่าวว่า ‘ฮัน คัง’ (Han Kang) นักเขียนชาวเกาหลีใต้วัย 53 ปี คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี 2024 ทำเอาหวนนึกถึงภาพยนตร์ Past Lives (2023) เพราะจำได้ขึ้นใจเลยว่า ‘นอร่า’ (รับบทโดย เกรต้า ลี) นางเอกของเรื่อง ยอมโยกย้ายถิ่นฐานไปกับครอบครัว เพื่อไปทำตามฝัน ณ ต่างแดน โดยบอกเหตุผลกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนไปว่า “เธอต้องไป เพราะไม่เคยมีชาวเกาหลีใต้คนไหนได้โนเบลสาขาวรรณกรรม”
แต่นอร่า... วันนี้ มีชาวเกาหลีใต้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมแล้วนะ
เพื่อไม่ให้เป็นเยิ่นเย้อ ผู้เขียนได้หยิบยกช่วงชีวิตหนึ่งของ ฮัน คัง นักเขียนผู้ตีแผ่ความเปราะบางของชีวิตมนุษย์ผ่านงานประพันธ์ ว่าเพราะเหตุใต เธอจึงเหมาะสมกับรางวัลโนเบลของปีนี้เป็นที่สุด
“ตอนอายุ 14 ปี ฉันมีคำถามต่อมนุษยชาติเต็มไปหมด ทำไมมนุษย์ต้องตาย ทำไมมนุษย์เราถึงกระทำเช่นนี้ แล้วความหมายของคำว่ามนุษย์มันคืออะไรกันแน่ การเกิดมาเป็นมนุษย์มันสลักสำคัญเช่นไร...
“ฉันคิดว่าหนังสือมีคำตอบ แต่ที่น่าแปลกก็คือ ฉันเพิ่งตระหนักว่าหนังสือมีแต่คำถาม นักเขียนก็อ่อนแอและเปราะบางเช่นเดียวกับเรา”
‘ฮัน คัง’ นักเขียนชาวเกาหลีใต้ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี 2024 ให้สัมภาษณ์ผ่านทางยูทูปช่อง Louisiana Channel ออกอากาศเมื่อปี 2020 เธอค่อย ๆ บรรยายความรู้สึกภายในออกมาอย่างแช่มช้า ผ่านใบหน้าไร้การแต่งแต้ม และผมที่ปล่อยสยายออกมาอย่างธรรมชาติ ยิ่งเผยให้เห็น ‘หัวใจ’ ที่แหลกสลายของเธอกระจ่างชัด
ชีวิตวัยเด็กของเธอเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนใจมาไม่น้อย แม้ว่าครอบครัวพยายามปกปิด ทำให้เธอออกห่างจากเรื่องเลวร้ายให้ได้มากที่สุด แต่ความจริงก็พุ่งตรงมาหาเธออยู่ดี
“พ่อของฉันเป็นนักเขียนค่ะ ตอนนั้นเรายากจนกันมาก ในบ้านมีเฟอร์นิเจอร์เพียงแค่ไม่กี่ชิ้นเอง
“แต่เรามีสิ่งหนึ่งที่มีอย่างมหาศาล บ้านของเรามีหนังสือเยอะมาก ราวกับว่าเป็นห้องสมุดส่วนตัว ฉันเลยเติบโตมาในบ้านที่เต็มไปด้วยกองหนังสือ หนังสือเลยเป็นเหมือนเกราะกำบังฉันต่อโลกภายนอก และยิ่งนานวันเข้า หนังสือที่บ้านก็เยอะขึ้นเรื่อย ๆ ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน โลกของฉันเปิดกว้างขึ้นเพราะหนังสือ”
ฮัน คัง กับหนังสือคือของคู่กัน ความรักที่เธอมีต่อหนังสือท่วมท้นเสียจนไม่อยากจะวางมือ หรือละสายตาจากหน้ากระดาษไปไหนไกล เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการอ่านหนังสือ เรียกได้ว่ามีหนังสือที่ไหน มี ฮัน คัง ที่นั่นก็ว่าได้
“ตอนเรียนประถมฉันเป็นคนเงียบ ๆ แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากอะไร เพราะว่ามีหนังสือคอยอยู่ข้างฉัน ฉันใช้เวลาตลอดทั้งเดือนจมอยู่กับกองหนังสือ มันเป็นความทรงจำที่ทรงคุณค่ามากค่ะ เหมือนมีวันหนึ่ง ฉันก็นั่งอ่านหนังสือไปเรื่อย ๆ นี่แหละ รู้ตัวอีกที มันก็มืดเสียแล้ว จนต้องเดินไปเปิดไฟ ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันมืดขนาดนี้ตอนไหน” (ยิ้ม)
“หนังสือเลยเป็นความปีติเดียวในชีวิตของฉันที่ได้รับมาอย่างบริสุทธิ์”
เมื่ออายุ 9 ขวบเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น พ่อของเธอบอกว่าต้องย้ายบ้านจากเมืองควังจูไปยังย่านซูยูดงในโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ ซึ่งการย้ายครั้งนั้นไม่ได้มีอะไรพิเศษ เหตุผลของพ่อคือ ไหน ๆ ก็ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว และพ่อก็อยากเป็นนักเขียนเต็มตัว ทำไมเราไม่ย้ายไปอยู่ในเมืองหลวงไปเลยล่ะ
“ฉันเกิดที่ควังจู ครอบครัวของฉันย้ายออกมายังเมืองหลวงในปี 1980 สี่เดือนก่อนที่เหตุการณ์สังหารหมู่เกิดขึ้น* ทั้ง ๆ ที่ควังจูในความทรงจำของฉันเป็นแค่เมืองเล็ก ๆ เงียบสงบ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นั้น”
*เหตุการณ์สังหารหมู่ควังจู (Gwangju Uprising) เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1980 ที่เมืองควังจู ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อประชาชนลุกขึ้นต่อต้านเผด็จการทหาร แต่ถูกกองทัพใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเรียกร้องประชาธิปไตยในเกาหลีใต้
แม้ครอบครัวของเธอจะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สังหารหมู่ แต่คนที่เธอเคยรู้จักกลับบาดเจ็บ ล้มตาย บ้างก็สูญหาย ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นคือความจริง พวกเขาคือมนุษย์ที่เคยมีปฏิสัมพันธ์ด้วยกับเธอทั้งสิ้น การกระทำของรัฐบาลทหารจึงไม่ต่างจากฝันร้ายคอยหลอกหลอนเธอทุกหนแห่ง
แต่กว่าเธอจะค้นพบว่าเมืองที่เธอเคยอาศัยมาตั้งแต่เด็ก ถูกชโลมไปด้วยเลือดของผู้บริสุทธิ์ก็ตอนอายุ 12 ปีเข้าไปแล้ว หลังเห็นอัลบั้มภาพถ่ายบนชั้นบนสุดของตู้หนังสือของครอบครัว ซ่อนตัวอย่างเงียบเชียบอยู่บนนั้น เธอไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงนั้นนานเท่าไหร่ แต่ทันทีที่เปิดอัลบั้ม ภาพความสยดสยองตรงหน้าที่เห็นก็ทำให้เธอแทบหมดเรี่ยวแรง
“ฉันจำช่วงเวลาที่จ้องมองไปที่ใบหน้าที่ถูกทำลายของหญิงสาวคนหนึ่งได้ดี ใบหน้าของเธอถูกแทงด้วยดาบปลายปืน มีบางสิ่งที่เคยสวยงามอยู่ภายในตัวฉันแตกสลายลงอย่างเงียบ ๆ มันจางหายไปทั้งแบบนั้น โดยไม่ทันรู้ตัว บางสิ่งที่ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันอยู่ที่นั่น”
ฮัน คัง ไม่เคยรู้สึกโล่งใจที่รอดจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ในทางกลับกัน เธอกลับรู้สึกพะอืดพะอม ขยะแขยงในมนุษย์ คำถามมากมาย ค่อย ๆ พรั่งพรูเข้ามาในหัวของเด็กสาว เธอเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองต่อทุกสิ่งรอบข้างที่หลอมรวมขึ้นมาเป็นมนุษย์ แต่สุดท้ายก็หาคำตอบไม่ได้อยู่ดี
“ตอนอายุ 14 ปี ฉันก็เลยเขียนทุกสิ่งที่สงสัยลงไป เขียนมันไปเรื่อย ๆ และคำถามพวกนั้นมันก็รายล้อมตัวฉันช้า ๆ หลังจากนั้นฉันก็เริ่มเขียนประโยคสั้น ๆ ขึ้นมา อาจจะเรียกว่าเป็นบทกวีก็ได้มั้งคะ ไม่แน่ใจเหมือนกัน แค่เขียนมันลงไป บางครั้งมันก็ไมได้ออกมาดี ออกจะแย่ด้วยซ้ำ แล้วหลังจากนั้น ฉันก็เริ่มเขียนนิยาย จนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ได้เขียนทุกวัน ฉันไม่ได้เริ่มเขียนนวนิยายตั้งแต่แรกนะคะ เริ่มเขียนจากประโยค วลีสั้น ๆ แค่นั้นเอง
“ฉันเริ่มเขียนนวนิยายตอนอายุ 19 ปี เริ่มจากเขียนเรื่องสั้น และเริ่มเขียนเรื่องยาวต่อกันมา ฉันมีความฝันค่ะ คิดมาตลอดว่าอยากจะเขียนนิยายของตัวเอง ปรากฎว่าใช้เวลาเขียนนานถึง 3 ปีเลยกว่าจะเสร็จสมบูรณ์
“แต่เหตุการณ์ที่ควังจูมันเป็นความรู้สึกผิดที่ติดค้างอยู่ในใจครอบครัวเรามาจนถึงทุกวันนี้ มีคนได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นั้น มันฝังอยู่ในตัวฉัน ฉันเลยอยากจะเขียนถึงมัน อยากจะเขียนมันออกไปอย่างตรงไปตรงมา ถึงฝันร้ายที่ฝังลึกอยู่ในตัวฉัน
“ฉันอยากจะหยิบจับบางอย่างในงานเขียนขึ้นมา เพราะสงสัยมาตลอดว่าทำไมกันนะ ทำไมฉันถึงไม่รู้สึกได้รับการโอบรับจากโลกใบนี้เลย และฉันก็อยากจะขุดลึกลงไปในตัวเอง ค้นหาคำตอบของมันให้ได้ แต่สุดท้ายก็ตระหนักได้ว่า ฉันต้องเขียนมันออกไปในรูปแบบของฉันเอง เกี่ยวกับมนุษยชาติ ดังนั้นเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมฉันถึงเขียนถึงความเปราะบางของมนุษย์อยู่เสมอ มันเป็นความพยายามเก็บรวมรวมเศษเสี้ยวความเป็นมนุษย์ขึ้นมาประกอบสร้างออกมาเป็นรูปเป็นร่างให้ได้มากที่สุด”
ฮัน คัง เป็นนักเขียนชาวเกาหลีใต้คนแรกและเป็นผู้หญิงคนที่ 18 ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม งานเขียนของเธอส่วนใหญ่พาไปสำรวจประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับสังคมชายเป็นใหญ่ ความรุนแรง ความเศร้าโศก และมนุษยธรรม นวนิยายเรื่อง The Vegetarian ของเธอซึ่งตีพิมพ์ในปี 2007 (ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 2015 โดย เดโบราห์ สมิธ (Deborah Smith)) ได้รับรางวัล International Booker Prize ในปี 2016 และเป็นจุดเริ่มต้นทำให้นักเขียนต่างชาติรู้จักนักเขียนจากแดนไกลลคนนี้ จนปูทางมาสู่รางวัลอันทรงเกียรติในปี 2024
โดยจุดเริ่มต้นในการก้าวเข้าสู่เส้นทางงานประพันธ์อย่างจริงจังเกิดขึ้นในปี 1993 ฮัน คัง เผยแพร่ผลงานครั้งแรกโดยตีพิมพ์บทกวี 5 ชิ้น ในปีถัดมา เธอชนะการประกวดวรรณกรรมฤดูใบไม้ผลิ Seoul Shinmun จากผลงานเรื่อง Red Anchor จากนั้นในอีกสามปีให้หลังเธอเข้าร่วมโครงการเขียนระดับนานาชาติของมหาวิทยาลัยไอโอวาเป็นเวลา 3 เดือน โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาศิลปะแห่งชาติเกาหลีใต้ (Arts Council Korea)
ปัจจุบัน ฮัน คัง สอนวิชาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ที่สถาบันศิลปะแห่งกรุงโซล พร้อมกับเขียนนวนิยายเรื่องที่หกของตนเองอยู่
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ : Reuters
อ้างอิง
Han Kang: ‘Writing about a massacre was a struggle. I’m a person who feels pain when you throw meat on a fire’. https://www.theguardian.com/books/2016/feb/05/han-kang-interview-writing-massacre
South Korean author Han Kang wins the 2024 Nobel prize in literature. https://www.theguardian.com/books/2024/oct/10/south-korean-author-han-kang-wins-the-2024-nobel-prize-in-literature
Writer Han Kang 한강: "I always move on with the strength of my writing.” | Louisiana Channel. https://www.youtube.com/watch?v=tQTI6bV0waE