16 พ.ค. 2562 | 18:24 น.
“สิ่งที่ทำให้งานเขียนคุ้มค่าที่จะอ่านคือคุณต้องพูดถึงผู้คน ซึ่งอาจจะมีฉากหลังเป็นอวกาศ เป็นปราสาทกับมังกรด้วยก็ได้ ไม่ก็อาจจะชานเมืองธรรมด๊าธรรมดา ไม่ก็ในนรก จะที่ไหนก็ตามเหอะ มันต้องว่าด้วยเรื่องของมนุษย์ที่พยายามตัดสินใจว่าอะไรถูกอะไรผิด วิธีเอาตัวรอด ไปยันการตั้งคำถามระหว่างความดีและความชั่วร้ายโน่นเลย” ไม่น่าแปลกใจที่เจ้าของวลีนี้จะเป็นชายผู้รังสรรค์มหากาพย์การชิงบัลลังก์เหล็กที่เป็นมากกว่าเรื่องของอำนาจ แต่ยังวิพากษ์การเมือง ความสัมพันธ์และความเชื่อของมนุษย์อย่างดุเดือดในหนังสือชุด A Song of Ice and Fire ซึ่งในเวลาต่อมาถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์ที่เราติดกันงอมแงม และเดินทางมาถึงบทสรุปแล้วอย่าง Game of Thrones แน่แท้ เรากำลังพูดถึงเขา จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน (George R. R. Martin) นักเขียนผู้ทำให้เราหัวเราะสะใจ กราดเกรี้ยวเป็นบ้าเป็นหลัง จนกระทั่งหลั่งน้ำตาเมื่อตัวละครที่รักตายจาก นี่คือตาลุงนักเขียนอันเป็นที่รักที่หลายๆ คนก็ก่นด่าเขาอย่างเผ็ดร้อนโทษฐานสังหารตัวละครโปรดของเราหน้าตาเฉย จนแทบจะกล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลาการดูซีรีส์ Game of Thrones นั้น คนดูต้องเตรียมใจเผื่อเห็นตัวละครโปรดตายแบบเซอร์แตกบนหน้าจอด้วย (แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว การตายของหลาย ๆ ตัวละครก็ยังชวนทึ่งอยู่ดี จนชวนตั้งคำถามว่า… นี่ลุงทำกับตัวละครนี้ลงได้ยังไง๊!) และการที่ซีรีส์ดำเนินมาถึงซีซันที่ 8 เพียบไปด้วยแฟน ๆ มากขึ้นแบบปีต่อปี แถมเรื่องราวในจอยังนำหน้าตัวหนังสือไปหลายก้าว เพราะมาร์ตินกล่าวหน้าตาเฉยว่า “ก็ยังเขียนไม่เสร็จอะ” จนหมดหนทางที่นักอ่านหรือใครต่อใครจะรู้เรื่องราวและชะตากรรมก้าวต่อไปของเหล่าผู้คนในแดนเวสเทอรอส หากแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความยิ่งใหญ่ของ Game of Thrones นั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการเล่าเรื่องอันแยบคาย และมุมมองอันเฉียบคมของผู้เขียนอย่างมาร์ติน "คนเราน่ะอ่านหนังสือแฟนตาซีเพื่อเติมสีสันให้ชีวิต เรื่องพวกนี้แสดงให้เราเห็นถึงความมหัศจรรย์ และนั่นแหละที่แสนจะเติมเต็มหัวใจของมนุษย์เรา" Game of Thrones จึงเป็นวรรณกรรมแฟนตาซีที่มีกลิ่นอายประวัติศาสตร์ด้วยการมีฉากหลังเป็นยุคกลาง เรื่องราวของตระกูลใหญ่ ๆ ที่ห้ำหั่นชิงตำแหน่งผู้นำ นำทัพโดยตระกูล “ทาร์แกเรียน” ที่มีมังกรเป็นข้อได้เปรียบหลัก งัดกันกับ “แลนนิสเตอร์” ผู้ร่ำรวยและครองบัลลังก์อยู่ก่อนแล้ว ฟากทางเหนือก็มีสกุล “สตาร์ค” ผู้ชินชากับความหนาวเหน็บ และสิ่งมีชีวิตนอกเหนือจากกำแพงยักษ์สูงลิ่ว นั่นคือ “ไวท์ วอล์คเกอร์” คนตายที่ฟื้นคืนขึ้นมาสังหารคนเป็น ยากจะเชื่อว่าทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นในหัวของอดีตเด็กเนิร์ด ๆ ที่ชีวิตมีแต่บ้านกับโรงเรียนอย่างเด็กชายมาร์ติน ย้อนกลับไปหลายปีก่อนจะแจ้งเกิดในแวดวงนักเขียน เด็กชายมาร์ตินเป็นเด็กรักสงบ ชั่วชีวิตของเขาปราศจากเรื่องราวโลดโผนและบรรยายอย่างสั้น ๆ ว่า ความทรงจำวัยเยาว์มีแต่เพียงบ้านกับโรงเรียนเท่านั้น "โลกผมเล็กจิ๋ว นานหลายปีเลยที่ผมใช้เวลานั่งในห้องนั่งเล่น จ้องแสงไฟจากเกาะสแตเทน (เกาะใหญ่ในนิว ยอร์ก) สำหรับผมแล้ว แสงไฟพวกนี้เป็นเหมือนแชงกรี-ลา เป็นเหมือนสิงคโปร์ เป็นเหมือนเซี่ยงไฮ้ หรืออะไรต่อมิอะไร" เพื่อเยียวยาตัวเองจากความเบื่อหน่ายของชีวิตประจำวัน มาร์ตินทุ่มเทเวลายามว่างจากการเรียนไปกับการอ่านวรรณกรรมและเรื่องเล่าคลาสสิก โดยเฉพาะของ วิลเลียม เช็คสเปียร์ (ผู้เขียน Romeo and Juliet, Hamlet) และ เจ อาร์. อาร์. โทลคิน (ผู้เขียน The Lord of the Rings, The Hobbit) อันเป็นแรงกระเพื่อมแรกที่ผลักให้เขาลองเขียนงานดูบ้าง อาจจะเพื่อตอบสนองความสนุกสนานที่แสนจำกัด งานเขียนแรก ๆ ของมาร์ตินจึงว่าด้วยสัตว์ประหลาดล้วน ๆ และไปได้สวยทีเดียวเมื่อเขาเอาไปให้เพื่อนร่วมชั้นอ่านจนติดกันงอมแงม เขาจึงหาทางทำเงินด้วยการขายงานเขียนเหล่านี้ให้เพื่อนนักเรียนตลอดจนเพื่อนบ้านอ่านเป็นตอน ๆ ก่อนจะขยับขยายไปเล่าเรื่องราวของอาณาจักรในตำนานที่มีประชากรเป็น... เอ่อ "เต่า” (ซึ่งตอนนั้นเขามีเจ้าเต่าเป็นสัตว์เลี้ยงและรักมันมาก ๆ) และออกลายการเป็นนักฆ่าตัวละครของตัวเองตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อเขาแต่งให้เหล่าประชากรเต่าลงมือสังหารกันเองเพื่อให้เนื้อเรื่องดุเดือดจับใจ! กระทั่งย่างเข้าวัยรุ่น ไม่ต่างจากหลายคนที่ข้ามผ่านศตวรรษที่ 70 ในสหรัฐฯ มาร์ตินอยู่ท่ามกลางข่าวคราวและบรรยากาศของสงครามเวียดนาม แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะไม่ได้เป็นทหาร หรือแม้แต่ไม่ได้มีเพื่อนหรือคนรอบตัวเข้าร่วมสงคราม หากแต่การมองการต่อสู้จากระยะไกลเช่นนี้ก็ทำให้เขาตระหนักได้ว่าเขาเกลียดชังสงครามเวียดนามมากเพียงใด จนมันได้กลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการเมืองและการมองอเมริกาอันเป็นบ้านเกิดของตัวเอง "ผมรับรู้มาตลอดว่าอเมริกาคือคนดี เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยวิธีคิดแบบนี้ กระทั่งเมื่อผมเข้าวิทยาลัย ได้เรียนรู้การเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามเวียดนามของประเทศเรา ยิ่งรู้เยอะ ผมยิ่งรู้สึกว่ามันผิดที่ผิดทางเสียจริง" เพื่อจะระบายความอัดอั้นตันใจเรื่องนี้ เขาจึงเขียนเรื่องสั้นจำนวนมากที่สะท้อนถึงความป่าเถื่อนเลวร้ายของสงคราม "ตอนนั้นพวกเขา (รัฐบาล) จะตั้งคำถามกับคุณว่า 'ถ้าอยู่ในสงครามโลก คุณจะร่วมรบหรือเปล่าล่ะถ้าต้องเผชิญหน้ากับนาซี' แหงสิ ผมก็คงเข้าร่วมสงครามแหละถ้าอีกฝ่ายคือนาซี" มาร์ตินขยายความแนวคิดของเขา "แต่เวียดกง (แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้) ไม่ใช่นาซีนี่หว่า แล้วเอาจริง ๆ ผมไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่อเมริกาจะเข้าไปยุ่งอะไรกับธุระของเวียดนามเขา ผมจึงปฏิเสธสงครามครั้งนี้ "สงครามเวียดนามเปลี่ยนผมไปเลย สำหรับเด็กดีที่เรียนจบชั้นมัธยม เชื่อมั่นในข้อเท็จจริง ความยุติธรรม และหนทางของอเมริกา เรื่องพวกนี้ลดคุณค่าลงไปเรื่อย ๆ กระทั่งเมื่อผมเรียนจบจากวิทยาลัยนั่นแหละ" กว่ามาร์ตินจะได้เป็นนักเขียนอาชีพเต็มเวลาก็หลังจากนั้นอีกหลายปี เขาเป็นคุณครูสอนวิทยาศาสตร์อยู่พักหนึ่งก่อนจะลาออกมาเขียนเรื่องสั้น ไซ-ไฟ ในช่วงอายุราว 20 ปี เรื่องสั้นของเขาได้รับการตีพิมพ์ลงนิตยสารหลายฉบับ ซึ่งช่วยสร้างชื่อให้เขาในแวดวงนักเขียนไม่น้อย และการได้ประกอบอาชีพเป็นนักเขียนเต็มตัวนี่เองที่ทำให้เขาหวนกลับมายังรากจินตนาการที่เคยผลิบานเมื่อสมัยเด็ก นั่นคือวรรณกรรมของโทลคินและนักเขียนใหญ่หลายๆ คน "โทลคินทรงอิทธิพลกับผมมาก แต่หลังจากเขาแล้ววรรณกรรมแฟนตาซีเชิงประวัติศาสตร์ก็ซบเซา เต็มไปด้วยงานที่ลอกแบบของโทลคินซึ่งห่วยแตกชะมัด ผมไม่อยากข้องเกี่ยวกับหนังสือพวกนี้เล้ย สำหรับผมนะ มันก็เป็นแค่งานห่วย ๆ ที่ลอกเลียนโทลคิน และไม่ได้มีอะไรดีเด่เลยสักกะนิด" เขากล่าวอย่างเจ็บแสบ ยุคมืดของงานเขียนแฟนตาซีเชิงประวัติศาสตร์กินเวลายาวนานในความรู้สึกของมาร์ติน เขาหันเหไปเขียนบทซีรีส์ออกฉายทางโทรทัศน์อย่าง The Twilight Zone และ Beauty and the Beast ซึ่งแน่นอนว่าทำเงินให้เขาเป็นกอบเป็นกำกว่าการเป็นนักเขียนมาก (ก็แน่ล่ะสิ) แต่นั่นไม่ได้แปลว่าความรู้สึกอยากเขียนวรรณกรรมมหากาพย์สักเรื่องจะดับสลายลง ตรงกันข้าม มันคุโชนขึ้นอีกครั้งหลังเขาเสนอไอเดียทำหนังสุดอลังการให้สตูดิโอ แต่ฝ่ายหลังบอกว่ามันก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจแต่ "ทำได้ยาก", "ตัวละครเยอะ" และ "คงต้องใช้งบมหาศาล" ซึ่งทำให้มาร์ตินฉุนเฉียวมากเพราะสำหรับเขาแล้ว เรื่องราวยิ่งใหญ่ ตัวละครยั้วเยี้ยในซีรีส์หรือหนังสักเรื่องมันก็ไม่ได้เป็นข้อผิดพลาดอะไรสักหน่อยนี่! และอาจจะด้วยความหัวเสีย เขากลับบ้านและนึกฝันถึงเรื่องราวยิ่งใหญ่ การต่อสู้ของผู้คนในสมรภูมิรบ และที่นั่นเอง มหากาพย์ A Song of Ice and Fire ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น "ตอนแรกก็กะว่าจะเขียนเป็นแค่เรื่องสั้นนะ" เขาเล่า "แต่ไงไม่รู้ มันลงเอยด้วยบทแรก ๆ ที่ว่ากลุ่มคนเจอลูกหมาป่าไดร์วูล์ฟ แล้วนั่นแหละที่ผมงอกไอเดียเกี่ยวกับครอบครัว โลกอีกใบขึ้นในหัวตัวเอง ไม่ได้เขียนลงกระดาษด้วยซ้ำไป ไอเดียของเรื่องนี้มันเลยไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุและผลอะไรหรอก แต่ก็นะ นักเขียนน่ะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลอยู่แล้ว" อาจจะกล่าวได้ว่าความสนใจพื้นฐานของมาร์ตินนั้นงอกเงยมาจากวรรณกรรมแฟนตาซีเชิงประวัติศาสตร์ และตัวประวัติศาสตร์จริง ๆ อย่างสงครามดอกกุหลาบ (Wars of the Roses -การห้ำหั่นชิงราชบัลลังก์อังกฤษของสกุลแลงแคสเตอร์และยอร์ก ซึ่งหนุนหลังให้ราชวงศ์แพลนแทเจเนต เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 15) ที่ได้รับการบันทึกโดย โทมัส บี. คอสเตน ในหนังสือ The Last Plantagenets และกลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของการชิงบัลลังก์เหล็กในงานเขียนของมาร์ติน "ก็ถ้าโทมัส บี. คอนสแตน เขียนเรื่องราวราชวงศ์แพลนแทเจเนตได้ยอดเยี่ยมแค่ไหน ผมก็พยายามทำให้ได้ยอดเยี่ยมเท่านั้นในการเล่าเรื่องราชวงศ์ทาแกเรียน” มาร์ตินหลงใหลในเรื่องราวเก่าแก่ สำหรับเขาแล้วยุคกลางนั้นเปี่ยมมนต์เสน่ห์ และโดยไม่แยแสจะพูดถึงประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมของช่วงเวลานั้น เขามุ่งความสนใจไปยังเรื่องราวของสงคราม การสู้รบ และความสัมพันธ์ของชนชั้นสูง บวกรวมกันกับการฆาตกรรมซ่อนเงื่อนและการหักหลังมากมายประดามีที่เขามองว่ามันเป็นองค์ประกอบที่แสนจะเร้าใจ "ผมหยิบบางสิ่งมาจากสงครามดอกกุหลาบแล้วก็พวกเรื่องแฟนตาซีอื่น ๆ ที่เป็นวุ้นอยู่ในหัว" เขาว่า "แต่จริง ๆ เลยนะ ผมไม่รู้หรอกว่าเรื่องราวทั้งหมดมันเกิดขึ้นได้ยังไง จนมันเกิดขึ้นแล้วนั่นแหละ คือถ้าผมเป็นคนเชื่อในศาสนาก็คงบอกว่ามันมาจากพระเจ้าไปแล้ว แต่เผชิญว่าไม่ใช่ก็เลยพูดแบบนั้นไม่ได้" แม้ A Game of Thrones หนังสือเล่มแรกของชุดนี้จะเต็มไปด้วยกลิ่นอายของยุคกลาง ประวัติศาสตร์และความเหนือจริงสมกับที่มี The Lord of the Rings เป็นนิยายในดวงใจ หากแต่งานเขียนของมาร์ตินก็เต็มไปด้วยความดิบเถื่อน มืดหม่น และสิ่งที่ทำให้มันแตกต่างจากงานเขียนในยุคเดียวกันคือ ตัวละครที่เป็นฮีโรนั้นน้อยยิ่งกว่าน้อย "ผมว่านักเขียนวรรณกรรมแฟนตาซีร่วมสมัยเขียนงานขึ้นมาภายใต้เงาของโทลคินทั้งนั้น แต่มันไม่มีทางเลยที่ผมจะเลียนแบบน้ำเสียงอันแสนเป็นเอกลักษณ์และเฉพาะตัวของเขาได้ เขาแตกต่างไปจากผมอย่างสิ้นเชิง เป็นชายที่อยู่คนละยุคสมัย มีทัศนคติคนละอย่างกับผม และเราทั้งสองจะเขียนเรื่องที่พูดถึงสังคมยุคกลางเหมือน ๆ กัน แต่ผมก็เขียนต่างไปจากเขา ด้วยวิธีคิดที่ว่าด้วยสงครามและเรื่องทางเพศที่ไม่เหมือนกับโทลคินเลยนี่แหละ เพราะงั้นผมว่าผมก็เป็นอีกคนที่เล่าเรื่องราวของตัวเองนะ "สงครามมันเต็มไปด้วยคาวเลือดที่วีรบุรุษสังหารวายร้าย โดยที่ฮีโรพวกนี้ไม่เคยต้องถูกฆ่าเลย ผมว่าถ้าเราอยากจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสงคราม ความรุนแรงแล้วละก็ คุณต้องเขียนให้เห็นถึงสิ่งที่มันแลกมา ความอัปลักษณ์ของมัน เขียนถึงมันทั้งสองด้านด้วย" มาร์ตินสาธยาย "ผมว่าถ้าอยากเขียนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ คุณก็ต้องสะท้อนมันออกมาอย่างซื่อตรงและพูดถึงมันให้ครบทั้งสองด้านนะ" นั่นจึงเป็นสาเหตุหลักที่เรื่องราวในงานเขียนของเขาเต็มไปด้วยเรื่องอันคาดเดาไม่ได้ และแม้ว่าเขาจะได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียนของโทลคินที่ว่าด้วยฮีโรและตัวละครดีงาม หากแต่มาร์ตินก็ได้รังสรรค์แนวทางของตัวเองด้วยการที่เรื่องราวของเขาแทบไม่มีวีรบุรุษอยู่เลย ซึ่งมันเกิดขึ้นจากการฟูมฟักทัศนคติทางการเมืองมาตั้งแต่วัยหนุ่ม เรื่อยมาจนเติบใหญ่ งานเขียนจึงไม่เป็นเพียงสนามพลังในการระเบิดจินตนาการที่เขาโหยหาในวัยเด็ก หากแต่ยังเป็นพื้นที่หลักในการบอกเล่าเรื่องราวสีเทา ๆ ของความเป็นมนุษย์ในสายตาของมาร์ติน และสีเทา ๆ ในงานเขียนของเขาที่ถมทับด้วยคราบเลือดและน้ำตาของตัวละครนี่เอง ที่เป็นเสน่ห์หลัก ๆ ทำให้คนดูอย่างเรา ๆ ติดตามซีรีส์ที่สร้างขึ้นจากงานเขียนของเขามาตลอดอย่างยาวนานเกือบทศวรรษในนามของซีรีส์ Game of Thrones เรื่องโดย: พิมพ์ชนก พุกสุข