18 ม.ค. 2562 | 18:45 น.
- จังโก ไรน์ฮาร์ดท์ ตำนานนักกีตาร์ยิปซีที่มีลีลาการเล่นเร้าใจและมีเสน่ห์เฉพาะตัว แม้ช่วงหลังของอาชีพจะเหลือนิ้วหลักที่ใช้กดสาย 2 นิ้ว เพราะอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
- วงดนตรีที่เขาร่วมก่อตั้งอย่าง QHCF ผสมผสานสวิงจากฝั่งอเมริกามาปรับใช้กับแนวทางแจ๊สแบบยุโรปก่อนหน้านั้น ซึ่งให้ทั้งความจัดจ้าน ร้อนแรง และเต็มไปด้วยความเร้าใจ จนกลายเป็นแบบฉบับของยุคสมัยสวิงในยุโรป
ประมาณการกันว่า ตลอดช่วงชีวิตสั้นๆ เพียง 43 ปีของ จังโก ไรน์ฮาร์ดท์ (Django Reinhardt 1910-1953) เขามีงานบันทึกเสียงราว ๆ 750 ถึง 1,000 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานในสตูดิโอ ทั้งที่เป็นแทร็คหลักและแทร็คสำรอง แทร็คที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน แทร็คที่ใช้ออกอากาศทางวิทยุ บันทึกการแสดงสด ฯลฯ
เขาเกิดในขบวนคาราวานยิปซี ในค่ำคืนของวันที่ 23 มกราคม 1910 ใกล้เมืองลิเวอร์ชีส์ของเบลเยียม แม่ของเขาซึ่งตั้งท้องโดยไม่ได้แต่งงาน มีชื่อเรียกขานในหมู่ผู้นิยมนางระบำฝีมืออย่างเธอว่า La Belle Laurence
ไม่ว่าเราจะจัด จังโก ให้เป็นยิปซีเบลเยียมตามสถานที่เกิด หรือ ยิปซีฝรั่งเศสตามสถานที่ที่เขาใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ แต่สัญชาติกลับไม่ใช่สิ่งสำคัญเทียบเท่ากับพื้นฐานทางวัฒนธรรมในฐานะที่เขาเติบโตขึ้นมาเป็นยิปซีคนหนึ่ง
เมื่อราว ๆ 2 พันปีก่อน ยิปซี เป็นชนเผ่าหนึ่งในบริเวณลุ่มน้ำสินธุ ซึ่งต่อมาเมื่อถูกชนชาติอื่นรุกราน ยิปซีพวกนี้ได้อพยพโยกย้ายจากชายฝั่งแม่น้ำสินธุของอินเดียมาทางเปอร์เซีย มีหลักฐานว่าชนกลุ่มนี้มีความสามารถจัดเจนในด้านศิลปะการดนตรี จากเปอร์เซีย คาราวานยิปซี เดินทางผ่านตะวันออกกลางมาถึงแอฟริกาเหนือและยุโรป ซึ่งมีผู้เข้าใจผิดคิดว่า ชนกลุ่มนี้มาจากอียิปต์ จึงเรียกขานพวกเขาว่า ยิปซี
เพราะมีลักษณะเป็นชนเผ่าเร่ร่อน ไม่มีบ้านเกิด หรือแผ่นดินที่พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะประทานให้เฉกเช่น ยิว ดังนั้น ยิปซี จึงมีฐานะไม่ต่างจากคนชายขอบเท่าใดนัก ยิปซีต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด พวกเขานำความถนัดด้านการร้องรำทำเพลง, ให้ความบันเทิง, งานฝีมือช่างเหล็กและพ่อค้า ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาแต่ครั้งบรรพกาลไว้เป็นช่องทางในการดำรงชีพ
ชีวิตของยิปซีน้อย จังโก ไรน์ฮาร์ดท์ ก็เช่นกัน เขาเริ่มต้นหัดเล่นไวโอลิน จากนั้น แบนโจ ตามด้วยกีตาร์ อายุเพียง 12 ปี ก็เริ่มเล่นดนตรีหาเลี้ยงชีพ ผ่านงานแสดงมาอย่างโชกโชน ฝีมือของเขาได้รับการยอมรับจากผู้ชม ถึงขนาดที่ ชาร์ลส์ เดอโลเนย์ (Charles Delauney) ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและผู้จัดการของ จังโก เคยกล่าวถึงนักกีตาร์ผู้นี้ว่า
“เหมือนน้ำเป็นของปลา อากาศเป็นของนก และดนตรีเป็นของจังโก”
ทว่า เพียงแค่ 6 ปีที่เขาผาดโผนอยู่ในยุทธจักร โชคร้ายก็เดินทางมาเยือนเขาในวันหนึ่ง ราวๆ ตีหนึ่งของคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน 1928 หลังเสร็จสิ้นจากการเล่นดนตรีที่คลับ แล้วกลับมาพักยังกองคาราวาน เทียนที่ จังโก จุดทิ้งไว้ยามดึกเกิดติดไฟและลุกไหม้ข้าวของ ไม่กี่นาทีไฟก็ไหม้ลามอย่างรวดเร็ว
แม้จะหนีออกจากกองเพลิงได้ แต่ไฟได้ลามไปกว่าครึ่งตัว โดยเฉพาะส่วนขาและนิ้วมือ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าควรจะตัดขาของเขาทิ้ง แต่จังโกปฏิเสธ
ขณะที่มือซ้ายของเขาถูกไฟลวก โดยนิ้วนางและนิ้วก้อยบิดเบี้ยวไปจากเดิม และแทบไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป แต่นิ้วกลางและนิ้วชี้ยังทำงานได้ปกติ ณ เวลานั้น ไม่มีใครคิดว่าเขาจะกลับมาเล่นกีตาร์ได้อีกแล้ว
ระหว่างพักรักษาตัว จังโก กลับมาฝึกฝนกีตาร์ภายใต้เงื่อนไขใหม่ เขาฝึกอย่างช้าๆ ให้หนักแน่นมั่นคง จนในที่สุดสามารถกลับมาเล่นได้อีกครั้ง ทั้งนี้ สเตฟาน กราปเปลลี (Stephane Grappelli) นักไวโอลินคนสนิท เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารเมโลดี เมคเกอร์ ถึงฝีมืออันน่าตื่นตาของนักกีตาร์คนนี้ หลังการเสียชีวิตของ จังโก ว่า
“เขาเล่นได้อย่างคล่องแคล่วจนน่าอัศจรรย์ ด้วยนิ้วสองนิ้วนั้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ใช้นิ้วอื่นด้วยหรอกนะ เขารู้จักที่จะวางนิ้วอื่นลงบนกีตาร์ด้วยนิ้วเล็กๆ ที่สาย E (สายที่ 1) และสาย B (สายที่ 2) ซึ่งนั่นเป็นผลให้เกิดทางเดินคอร์ดขึ้นมา ซึ่งจังโกอาจจะเป็นคนแรกๆ ที่เล่นได้อย่างนั้น”
แม้นิ้วนางและนิ้วก้อยของมือซ้ายต้องมาพิการจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในครั้งนั้น ทว่า จังโก ไรน์ฮาร์ดท์ ก็สามารถเอาชนะอุปสรรคจากชะตากรรมของตนเองได้ หลังจากเขาเก็บตัวฝึกฝนและค้นหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อกลับมาเล่นกีตาร์ด้วย 2 นิ้วหลัก คือนิ้วชี้และนิ้วกลาง โดยมีนิ้วนางและนิ้วก้อยซึ่งแม้บิดงอไม่ได้รูป แต่ก็ทำหน้าที่สนับสนุนในบางครา
หนุ่มนักกีตาร์ยิปซี กลับคืนวงการบันเทิงยามราตรีอีกครั้ง โดยรับงานเล่นดนตรีตามคาเฟ่ในนครปารีส พร้อมกับฟังแผ่นเสียงผลงานของศิลปินแจ๊สอเมริกันยุคนั้น อย่าง หลุยส์ อาร์มสตรอง, ดุ๊ก เอลลิงตัน, โจ เวนูติ และนักกีตาร์รุ่นบุกเบิกชื่อ เอ็ดดี แลงก์ ก่อนพบกับ สเตฟาน กราปเปลลี นักไวโอลิน ซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนคู่ใจ ในปี ค.ศ.1934
ทั้งสองได้ร่วมกันก่อตั้งวงดนตรีที่มีชื่อเสียงในหน้าประวัติศาสตร์วงการแจ๊สยุคสวิงในยุโรปขึ้น ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม Quintette Du Hot Club De France (QHCF) โดยในช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ.1937-39 ไรน์ฮาร์ดท์ และวง QHCF มีการทดลองนำสีสันดนตรีใหม่ๆ ที่เรียกว่า "สวิง" จากทางฝั่งอเมริกามาปรับใช้กับแนวทางการเล่นแจ๊สแบบยุโรปก่อนหน้านั้น ซึ่งให้ทั้งความจัดจ้าน ร้อนแรง และเต็มไปด้วยความเร้าใจ แนวการบรรเลงของ QHCF ได้กลายเป็นแบบฉบับของยุคสมัยสวิงในยุโรปไปในที่สุด
จังโก ไรน์ฮาร์ดท์ รู้สึกประทับใจดนตรีสวิงเป็นการส่วนตัว เขาเชื่อมั่นว่าดนตรีชนิดใหม่นี้มีสาระบางอย่างแฝงอยู่ ดังที่ ชาร์ลส์ เดอโลเนย์ เพื่อนของ ไรน์ฮาร์ดท์ อ้างถึงคำพูดของนักกีตาร์ว่า “แจ๊สดึงดูดความสนใจของผม เพราะว่าในดนตรีชนิดนี้ ผมพบความสมบูรณ์อย่างเป็นแบบแผน และความประณีตงดงามในด้านการบรรเลง เหมือนอย่างที่ผมชื่นชอบจากดนตรีคลาสสิก ซึ่งหาไม่ได้ในดนตรียอดนิยมทั่วไป”
ในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่ปี ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ไรน์ฮาร์ดท์ มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เขาไม่เพียงเล่นดนตรีในฝรั่งเศสเท่านั้น หากยังเดินสายออกแสดงดนตรียังประเทศต่าง ๆ ในแถบยุโรป พร้อมกับร่วมบรรเลงกับศิลปินแจ๊สชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางมาเยือนทวีปยุโรปอีกด้วย
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้นในยุโรป ส่งผลให้สมาชิกหลักของ QHCF ต้องแยกจากกันชั่วคราว จังโก ไรน์ฮาร์ดท์ ปักหลักอยู่ที่ฝรั่งเศส ขณะที่ สเตฟาน กราปเปลลี อาศัยอยู่ในอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ระหว่างช่วงเวลานี้ ไรน์ฮาร์ดท์ ยังมีงานแสดงร่วมกับวงดนตรีอื่นๆ เพื่อหารายได้ประทังชีวิต
ความยากลำบากของชีวิตยามสงครามไม่ได้จำกัดวงเพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น บางครั้ง จังโก ไรน์ฮาร์ดท์ ยังเสี่ยงกับการถูกจับจากฝ่ายเยอรมนีอีกด้วย โชคดีที่นามสกุล “ไรน์ฮาร์ดท์” ที่เขาใช้อยู่นั้น มีรากเหง้ามาจากเยอรมัน ซึ่งช่วยให้แคล้วคลาดในบางคราว
ทว่า มีอยู่หนหนึ่งที่เขาไปแสดงดนตรีริมฝั่งทะเลสาบเจนีวา ซึ่งบางส่วนอยู่ในดินแดนของฝรั่งเศส หลังเสร็จสิ้นจากการแสดงเล่นดนตรี จู่ ๆ จังโก ก็ตัดสินใจจะไปเยี่ยมญาติที่อยู่ฝั่งตรงข้ามทางดินแดนของสวิตเซอร์แลนด์
ระหว่างเดินทางข้ามพรมแดนนั่นเอง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบบัตรสมาชิกสมาคมนักแต่งเพลงอังกฤษของเขา จึงส่งตัวให้ทหารเยอรมันที่ประจำอยู่ในพื้นที่ควบคุมตัว โชคดีที่หัวหน้าหน่วยของทหารเยอรมันเวลานั้นเป็นแฟนเพลงแจ๊สตัวยงคนหนึ่งพอดี แถมยังรู้จัก จังโก ไรน์ฮาร์ดท์ ดีเสียด้วย เขาจึงถูกปล่อยตัวไปอย่างเฉียดฉิวทีเดียว
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีข่าวลือเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนักกีตาร์สายเลือดยิปซีคนนี้ ซึ่งอยู่ในความสนใจของผู้คนมากเป็นพิเศษ ถึงขนาดนิตยสารดนตรีแจ๊ส ดาวน์ บีท ของอเมริกา ยังลงข่าวการเสียชีวิตของเขา ทว่า ไม่นานนัก ทุกคนก็ทราบว่าความจริงเป็นเช่นไร เมื่อได้ยินการบรรเลงดนตรีของเขาผ่านรายการวิทยุในเวลาต่อมา
จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1946 นักกีตาร์ยิปซีผู้นี้จึงได้กลับมาเล่นดนตรีกับ สเตฟาน กราปเปลลี อีกครั้ง จากนั้นเขาวางแผนออกทัวร์แสดงดนตรีในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้บรรเลงร่วมกับวงของ ดุ๊ก เอลลิงตัน สมใจ แต่หลาย ๆ อย่างกลับไม่สะดวกราบรื่นมากนัก
หลังกลับคืนสู่ฝรั่งเศส จังโก ไรน์ฮาร์ดท์ หายใจอยู่กับดนตรีโดยตลอด มีเพียงช่วงหนึ่งซึ่งเป็นเวลาราวๆ 6 เดือนที่เขาหันเหความสนใจไปยังงานวาดภาพชั่วคราว และเขาทำได้ดีเสียด้วยจนถึงขั้นเปิดแสดงนิทรรศการศิลปะของตนเองมาแล้วครั้งหนึ่ง
บาบิก ลูกชายของนักกีตาร์ชื่อดัง สะท้อนความทรงจำในช่วงหลังแห่งชีวิตของไรน์ฮาร์ดท์ ว่า “พ่อเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจอย่างมากในเวลานั้น ฟังเพลงทุกอย่างตั้งแต่ เบโธเฟน ยันบีบ็อพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บีบ็อพ สนใจเป็นพิเศษ”
มีบันทึกว่า นักกีตาร์ยิปซีคนนี้ติดตามฟังผลงานของนักประพันธ์ดนตรีตะวันตกหลายยุค ตั้งแต่ บาค แห่งยุคบาโรค เดอบูซ์ซี และ ราแวล แห่งยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ ไปจนถึง สตราวินสกี กับแนวทางเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ และทั้งที่ ไรน์ฮาร์ดท์ ไม่มีความสามารถในการอ่านโน้ตดนตรี ทว่า หูของเขามีความแม่นยำ และสมองของเขามีความจำเป็นเลิศ ดังนักไวโอลินคู่ใจ สเตฟาน กราปเปลลี เล่าถึงเรื่องนี้ว่า
“คุณลองไปฟังบทประพันธ์ซิมโฟนีที่สลับซับซ้อนที่สุดกับจังโก และเขาจะชี้ให้เห็นว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหนบ้างที่เกิดขึ้นระหว่างการบรรเลง”
เช่นเดียวกับนักกีตาร์แจ๊ส ชาร์ลี เบิร์ด (Charlie Byrd) หลังเสร็จสิ้นจากการรับราชการในกองทัพอเมริกัน ประจำฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ.1945 เขามีโอกาสเล่นดนตรีกับไรน์ฮาร์ดท์อยู่ช่วงหนึ่ง เบิร์ด ชื่นชมนักกีตาร์คนนี้ว่า
“ไรน์ฮาร์ดท์ มีหูที่แม่นยำมาก เขามีชื่อเสียงในด้านการสำแดงแนวโซโล่ และการเปล่งประกายของตัวโน้ตเดี่ยวๆ มันต้องใช้เวลาหลายปีทีเดียวสำหรับการมุ่งมั่นศึกษาการเล่นให้ได้อย่างไรน์ฮาร์ดท์ คล้ายๆ กับกรณีของ อาร์ต ทาทั่ม นั่นแหละ”
ในปี ค.ศ.1952 จังโก ไรน์ฮาร์ดท์ พร้อมครอบครัวของเขา เปลี่ยนจากการใช้ชีวิตเดินทางแบบยิปซี มาปักหลักสร้างบ้านหลังเล็กๆ อยู่ที่เมืองซามัวส์ เขาใช้ชีวิตกึ่งๆ เกษียณ รับงานเล่นดนตรีกับวงควินเท็ทของตนเองบ้าง ไม่เล่นบ้าง พร้อมกันนั้นก็มีโอกาสเดินเข้าห้องบันทึกเสียงเป็นระยะๆ ก่อนเสียชีวิตลงด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ.1953 รวมอายุได้ 43 ปี
สเตฟาน กราปเปลลี เพื่อนสนิทให้ข้อสรุปความสามารถทางดนตรีของ จังโก ไรน์ฮาร์ดท์ ไว้ในบทสัมภาษณ์แก่นิตยสารเมโลดี เมคเกอร์ เมื่อปี ค.ศ.1954 ว่า
“เขาฝากผลงานไว้ให้แก่กีตาร์มากยิ่งกว่าใครในวงการแจ๊ส การเล่นกีตาร์ของเขาไม่เหมือนใคร แจ๊สแตกต่างออกไปจากเดิมเพราะเขาแท้ๆ เชียว มันคงมีนักกีตาร์ฝีมือดีอีกมากต่อมาก แต่ไม่อาจมีไรน์ฮาร์ดท์อีกคนหนึ่งได้เลย เรื่องนี้ผมทราบดีแก่ใจ”
เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์