21 ธ.ค. 2563 | 10:40 น.
ก่อนปี 2516 สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม เป็นเมืองอับทางรถยนต์ จะเข้า-ออกกรุงเทพฯ ต้องอาศัยทางรถไฟสายแม่กลอง-วงเวียนใหญ่เป็นหลัก . อีกทางหนึ่ง คนแถวอัมพวา บางนกแขวก จะเลือกใช้บริการเรือโดยสาร ทวนน้ำแม่กลองไปต่อรถ บขส. ที่เมืองราชบุรี หรือไม่ก็นั่งเรือไปตามคลองดำเนินสะดวก ทะลุคลองภาษีเจริญ เข้ากรุงเทพฯ . คนย่านมหาชัย อาจขับรถอ้อมโลกไป อ.กระทุ่มแบน ผ่าน ต.อ้อมน้อย เข้าถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ . ปี 2513 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้อนุมัติสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า ถนนธนบุรี-ปากท่อ มีการเปิดใช้ถนนสายนี้เมื่อปี 2516 . เมื่อต้นทางของถนนธนบุรี-ปากท่อ อยู่ที่ดาวคะนอง จึงทำให้โรงหนังดาวคะนองรามา เป็นแหล่งเที่ยวของคนงานย่านนั้น รวมถึงชาวสมุทรสาคร . ทำไมต้องสาวนาเกลือ . ช่วงปี 2525-2528 เพลง “หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ” โด่งดังราวปาฏิหาริย์ ไม่มีเกจิเพลงลูกทุ่งคนไหนพยากรณ์ได้ว่า เพลงร้องคู่ของสรเพชร ภิญโญ และน้องนุช ดวงชีวัน นักร้องหน้าใหม่ จะได้รับความนิยมอย่างสูง . “(สรเพชร)บ้านของพี่ทำนาทำนา ปลูกข้าวทุกเมื่อ (น้องนุช)น้องก็ทำนาเกลือ ขายเกลือนั้นซื้อข้าวกิน (สรเพชร)บ้านของพี่อยู่ที่กาฬสินธุ์ (น้องนุช)ส่วนตัวยุพินอยู่สมุทรสาคร (สรเพชร)พี่มาเจอะคนงามคนงาม มาเที่ยวดาวคะนอง (น้องนุช)นับว่าเป็นบุญของน้องมาพบ พี่ที่ทักน้องก่อน (น้องนุช)อยากไปอยู่จังที่สมุทรสาคร (หญิง)ที่พี่เว้าวอน พูดมากลัวไม่จริง..” . สำหรับนักร้องฝ่ายชาย สรเพชร ภิญโญ หรือชื่อจริง เสมอ จันดา คลุกคลีอยู่กับวงดนตรีลูกทุ่งมาแต่ปี 2518 โดยนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง สวาท ศรีอุดร ร่วมกับบริษัทขายยาในขอนแก่น ได้ตั้งวงดนตรีดอนเจดีย์ และมอบให้สรเพชร เป็นผู้นำวง . ด้วยเหตุที่ชอบแต่งเพลง และเล่นดนตรี สรเพชรจึงหันมาทำงานเบื้องหลัง สร้างนักร้องหน้าใหม่ป้อนนายห้างแผ่นเสียง-เทปในกรุงเทพฯ อย่างเช่น ห้างสหกวงเฮง . ปี 2523 สรเพชร เจอสาวโรงงานทอผ้าคนหนึ่ง เสียงดีมีแววดัง จึงตั้งชื่อให้ว่า “น้องนุช ดวงชีวัน” เขาเตรียมงานเพลง โดยออกแนวร้องคู่ชายหญิง เพลงสนุก ๆ ผัวเมียหยอกล้อกัน . เบื้องต้น สรเพชรต้องการปั้นนักร้องหญิงหน้าใหม่ “น้องนุช” จึงติดต่อนักร้องชายอย่างยอดรัก สลักใจ มาร้องคู่กับน้องนุช รอแล้วรอเล่า ยอดรักก็ไม่ว่าง สรเพชรตัดสินใจบันทึกเสียงทำเดโมเทป โดยตัวเขาเองร้องไกด์ คู่กับน้องนุช . สมัยโน้น การทำอัลบั้มเพลงชุดหนึ่ง ต้องมี 10 เพลง เพลงแรกคือ “ผัวเมียพอ ๆ กัน” เพลงต่อมาก็ “เมียจ๋าลาก่อน” ทีมงานห้องบันทึกเสียง จึงทักท้วงว่า ทำไมจึงมีแต่เพลงผัวเมีย . สรเพชรเลยเปลี่ยนเป็นหนุ่มสาว เริ่มคิดชื่อเพลง จากหนุ่มนาข้าว สาวไร่มัน ,หนุ่มนาข้าว สาวไร่อ้อย หนุ่มนาข้าว สาวไร่ยูคา ฯลฯ แต่ก็ไม่ปิ๊ง พอเปลี่ยนมาเป็น “หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ” ทีมงานห้องอัดต่างเห็นด้วย . ตอนเขียนคำร้องเพลง สรเพชรไม่เคยไปนาเกลือ ไม่รู้จักสมุทรสาคร จึงสอบถามข้อมูลจากทีมงานห้องอัดเสียง นำมาปะติดปะต่อ จนกลายเป็นคำร้องเพลงหนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ โดยตอนเข้าห้องอัดเสียง ได้ใช้ดนตรีเดิมของเพลงเมียจ๋าลาก่อน . มีเรื่องชวนขัน หลังเพลงหนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือโด่งดัง ก็มีคนทักท้วงว่า นาเกลือนั้นอยู่ในสมุทรสงคราม ไม่ใช่สมุทรสาคร สรเพชรเห็นว่า ในแง่ภาษากวี คำว่าสมุทรสาครนั้นลงตัว จึงตอบทีเล่นทีจริงว่า “ขอโทษครับ ลืมบอกไปว่า คนสมุทรสาครไปทำนาเกลือที่สมุทรสงคราม” . เพลงแก้ขัด . เมื่อทำเดโมเทปเสร็จ สรเพชรได้นำไปขายให้นายห้างสหกวงเฮง โดยบอกให้นายห้างหานักร้องชายมาร้องตามที่เขาร้องไกด์ไว้ แต่รออยู่ 2 ปี นายห้างก็ไม่ทำเพลงชุดนี้ สรเพชรจึงขอซื้อเดโมคืน . ขึ้นล่องขอนแก่น-กรุงเทพฯ อยู่หลายเที่ยว สรเพชรตัดสินใจไปอ้อนวอน “เฮียปุ๊ย” สุรชัย วงศ์ดำเนินสะดวก นายห้างบริษัทจระเข้โปรโมชั่น ขอให้รับซื้อเดโมเพลงชุดนี้ เฮียปุ๊ยเห็นใจเลยรับซื้อไว้ แต่ก็ไม่คิดจะให้ใครร้อง หรือนำออกวางจำหน่าย . จังหวะที่บริษัทจระเข้โปรโมชั่น ขาดเทปเพลงชุดใหม่วางจำหน่ายในตลาด จึงงัดเอาเทปเพลงของสรเพชร ภิญโญ และน้องนุช ดวงชีวัน ออกมาขัดตาทัพ . ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพลงหนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ เพลงที่สุดท้ายของอัลบั้ม กลับได้รับความนิยมจากแฟนเพลง เมื่อโฆษกนักจัดรายการวิทยุทดลองเปิดเล่น ๆ แต่มีคนขอฟังจำนวนมาก . สรเพชร-น้องนุช กลายเป็นนักร้องคู่ขวัญที่สร้างประวัติศาสตร์เพลงดัง มียอดขายเทปมากกว่า 2 ล้านตลับ . ที่สำคัญ เพลงหนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ กลายเป็นเพลงประจำงานเลี้ยง งานไหนงานนั้น ต้องมีคนขึ้นไปร้อง รวมถึงมีการทำซ้ำอีกหลายเวอร์ชัน . คำว่า ดังตามธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติของวงการเพลงลูกทุ่ง แต่เพลงหนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ ต้องเรียกว่าบิ๊กเซอร์ไพรส์ของตลาดลูกทุ่งเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว . เรื่อง: ชน บทจร