09 ธ.ค. 2564 | 14:18 น.
อีดิธ ปิยัฟ เสียงสวรรค์แห่งปารีส เจ้าของบทเพลง ‘La Vie En Rose’ ที่ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนดั่งชื่อเพลง แม้จะไม่ได้ฟังเพลง ‘La Vie En Rose’ เพลงดังของ ‘อีดิธ ปิยัฟ’ (Édith Piaf) นักร้องเจ้าของฉายา ‘นกกระจอกน้อย’ และ ‘สมบัติแห่งกรุงปารีส’ มานาน แต่เมื่อเนื้อเพลง La Vie En Rose ดังเข้ามาในหู เรื่องราวชีวิตของเธอที่เคยถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ชีวประวัติในชื่อเดียวกับเพลงก็แวบขึ้นมาในความทรงจำด้วย La Vie En Rose หมายถึง ชีวิตสีชมพู แต่หากจะแปลด้วยสำนวนภาษาไทยที่ใกล้เคียงคงจะเป็นชีวิตที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เรื่องน่าเศร้าสำหรับอีดิธ ปิยัฟ ผู้เป็นเจ้าของเพลง คือชีวิตของเธอกลับไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนดั่งชื่อเพลงและชื่อภาพยนตร์
อีดิธ ปิยัฟ เป็นหญิงสาวที่มีพลังเสียงและเนื้อเสียงเป็นเอกลักษณ์จนส่งให้เธอกลายเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในช่วงปลายยุค 1930s เธอคือนักร้องชาวฝรั่งเศสที่ได้เจอแมวมองจากการร้องเพลงแลกเงินอย่างวณิพกริมถนน ซึ่งก่อนหน้านั้น อีดิธถูกแม่ทอดทิ้ง เพราะผู้เป็นแม่ต้องการไปตามหาความฝันในการเป็นศิลปิน เมื่ออีดิธได้เจอพ่อ เธอก็ถูกส่งไปให้หญิงสาวในสถานขายบริการเลี้ยงดู กระทั่งเมื่อเธอเริ่มมีชื่อเสียง ผู้มีพระคุณของเธอก็ถูกฆ่าตาย แถมตอนที่มีความรัก คนรักของเธอก็ดันมีเจ้าของอยู่แล้ว ทั้งยังจากไปก่อนวัยอันควรด้วยเหตุเครื่องบินตก บั้นปลายชีวิตของอีดิธจบลงด้วยความทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็งตับ แต่ความเจ็บปวดที่เธอได้รับถึงขั้นฉีดยาวันละหลายเข็มก็ไม่อาจต้านทานแรงใจที่พยายามฝืนตัวเองร้องเพลงได้ “วันที่ฉันหยุดร้องเพลงคือวันที่ฉันตาย” อีดิธฉบับภาพยนตร์ นำแสดงโดย ‘มารียง กอตียาร์’ (Marion Cotillard) ได้กล่าวไว้ ซึ่งเสียงของเธอก็วิเศษพอจะทำให้ทุกคนรอชม และมันก็วิเศษพอจะได้รับการยกย่องให้เป็น ‘สมบัติของชาติ’ ด้วยเช่นเดียวกัน “ฉันไม่ได้เห็นปารีสมานานหลายปี แต่คืนนี้ที่เธอร้องเพลง เหมือนฉันได้อยู่บนถนน ใต้ท้องฟ้า เสียงของเธอคือจิตวิญญาณของปารีส” ‘มาร์เลเนอ ดีทริช’ (Marlene Dietrich) นักแสดงชาวเยอรมัน-อเมริกัน ที่ในชีวิตจริงเคยเป็นเพื่อนสนิทของอีดิธได้กล่าวไว้ในภาพยนตร์ มาร์เลเนอเป็นสาวผมบลอนด์ผู้มีดวงหน้างดงามจนได้รับฉายาเทพธิดาเดินดิน ซึ่งตัวเธอเองเคยมีข่าวเรื่องความสัมพันธ์ที่พิเศษบางอย่างกับอีดิธด้วย แต่ก่อนจะไปลงลึกถึงเรื่องราวในวัยสาวของอีดิธ ปิยัฟ เรามาดูจุดเริ่มต้นของเจ้านกกระจอกน้อยกันก่อน โดยในบทความชิ้นนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์อัตชีวประวัติ La Vie En Rose (2007) ไปพร้อมกัน เด็กสาวผู้ถูกเลี้ยงดูโดยหญิงขายบริการ
‘อีดิธ โจวานา กาซียง’ (Édith Giovanna Gassion) ลืมตาดูโลกในปี 1915 ที่เบลเลอวิว (Belleville) ปารีส ท่ามกลางสภาพความเป็นอยู่ที่ขัดสนในชุมชนแออัดที่วุ่นวาย แม่ของอีดิธ ‘แอนเน็ตตา โจวานา ไมยา’ (Annetta Giovanna Maillard) เป็นนักร้องคาเฟ่ ส่วนพ่อของอีดิธ ‘หลุยส์ อัลฟอนส์ กาซียง’ (Louis-Alphonse Gassion) เป็นนักกายกรรมข้างถนน ปี 1918 ตอนที่อีดิธยังเป็นเด็ก แอนเน็ตตาต้องการทำตามความฝันของเธอด้วยการเป็นศิลปิน เธอจึงฝากลูกสาวตัวน้อยไว้ให้ยายเลี้ยงดู กระทั่งหลุยส์กลับบ้านมาจากการเดินทาง เขาพบว่าอีดิธกลายเป็นเด็กขาดสารอาหาร เพราะผู้เป็นยายไร้ความเอาใจใส่ หลุยส์พาอีดิธไปฝากไว้กับแม่ของเขา ซึ่งเป็นเจ้าของสถานบริการหรือซ่องโสเภณี ทำให้อีดิธได้รับการเลี้ยงดูจากหญิงขายบริการที่นั่น ในภาพยนตร์เรื่อง La Vie En Rose อีดิธน้อยมีความสุขในสถานบริการเป็นอย่างมาก เพราะเหล่าพี่สาวต่างพากันรักและเอ็นดูเธอ โดย ‘ตินติน’ หนึ่งในหญิงขายบริการคือผู้ที่สอนอีดิธให้สวดมนต์ ทั้งเธอยังเป็นผู้ที่พาอีดิธเข้าสู่คริสต์ศาสนาหลังจากที่อีดิธต้องเผชิญกับอาการแก้วตาและกระจกตาอักเสบจนมองเห็นไม่ปกติ อีดิธน้อยภาวนาต่อหน้ารูปปั้นพระแม่มารีเพื่อให้เธอกลับมามองเห็นและวิ่งเล่นได้อย่างเด็กทั่วไปอีกครั้ง ราวกับปาฏิหาริย์สำหรับเด็กหญิงที่มีโอกาสตาบอดสนิท อีดิธกลับมามองเห็นได้ปกติ ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุให้อีดิธกลายเป็นคนที่สวดมนต์เป็นประจำ และเธอไม่เคยลืมที่จะพกไม้กางเขนไว้ที่คอเสมอ ถึงขั้นที่หากไม่มีไม้กางเขน เธอจะไม่ยอมขึ้นร้องเพลงเลยทีเดียว (ภาพถ่ายส่วนมากของเธอก็มักจะมีไม้กางเขนสวมอยู่ด้วย) อีดิธเติบโตท่ามกลางความรักจากพี่สาวในสถานบริการ จนกระทั่งพ่อของเธอกลับมาขออีดิธคืน เพื่อให้เธอไปร่วมขบวนคณะละครสัตว์กับเขาในเบลเยียม อีดิธถูกพรากไปจากอ้อมอกของตินติน ซึ่งทั้งสองต่างโหยหากันและกันจนรถม้าที่อีดิธนั่งลับตาไป ณ คณะละครสัตว์ อีดิธได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากซ่องที่เธอจากมาเป็นอย่างมาก หลังจากที่หลุยส์มีปัญหากับสมาชิกคณะ เขาได้ออกเดินทางมาเล่นกายกรรมฉายเดี่ยวข้างถนน แต่นั่นก็ไม่เข้าใกล้ความสำเร็จแม้แต่น้อย จนกระทั่งอีดิธถูกสั่งให้โชว์พลังเสียงต่อหน้าฝูงชนเป็นครั้งแรก ราวกับเพลงที่เทพธิดาขับร้องให้มนุษย์ฟัง ผู้คนต่างปรบมือและมอบเงินให้กับอีดิธเป็นการตอบแทน ซึ่งหลังจากนั้น อีดิธก็ได้ใช้พรสวรรค์ของเธอในการเลี้ยงชีพต่อไป จนได้พบกับแมวมองที่เป็นเจ้าของคลับชื่อดังอย่าง ‘หลุยส์ ลุพลี’ (Louis Leplée) นกกระจอกน้อยเสียงทอง อีดิธ ปิยัฟ เป็นชื่อในวงการของเธอหลังจากที่ได้พบกับหลุยส์ ลุพลี เจ้าของคลับ ‘เลอ เกอนี’ (Le Gerny) แห่งย่าน ‘ฌ็องเซลิเซ่’ (Champs-Élysées) ในปี 1935 หลุยส์พบอีดิธที่ร้องเพลงอยู่ข้างถนนพร้อมกับเพื่อนอีกคน เสียงของเธอมัดใจเขาเอาไว้อยู่หมัด จนเขากล้าเสี่ยงจะนำนักร้องไร้ชื่อเสียงขึ้นเวทีของคลับดัง ซึ่งมีผู้ดีเมืองน้ำหอม รวมถึงคนดังในวงการดนตรีมาฟังกันมากมาย ก่อนจะป่าวประกาศการเปิดตัวนักร้องดาวรุ่งคนใหม่ หลุยส์ได้คิดชื่อในวงการให้กับอีดิธ นั่นก็คือ ‘La Môme Piaf’ หมายถึง นกกระจอกน้อย ซึ่งชื่อนี้ก็เคยถูกนำมาตั้งเป็นชื่อภาพยนตร์ชีวประวัติของเธอคือ ‘La Môme’ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น La Vie En Rose ในภายหลัง ปี 1936 ครั้งแรกที่อีดิธยืนอยู่บนเวที ในภาพยนตร์ ไม่มีใครเชื่อว่าหญิงสาวร่างผอมบาง ท่าทางเก้งก้าง กิริยาเวลาเดินเหินคล้ายอันธพาล จะมาพร้อมพรสวรรค์อันน่าทึ่งที่สะกดคนดูไม่ให้กะพริบตา ซึ่งงานนี้ทำให้เธอได้พบกับ ‘มอริช เชอวาลิเย’ (Maurice Chevalier) นักร้องชาวฝรั่งเศสชื่อดัง และ ‘มาร์การิต มุนนุ’ (Marguerite Monnot) นักแต่งเพลงที่ประพันธ์หลายบทเพลงให้กับอีดิธในอนาคต รวมไปถึง ‘เรย์มอนด์ อัซโซ’ (Raymond Asso) นักแต่งเพลงผู้จะพาอีดิธโผบินอีกครั้งหลังช่วงเวลาอันมืดหม่นมาเยือน ความโด่งดังของนกกระจอกน้อยพุ่งขึ้นถึงขีดสุด ขนาดที่เธอสามารถออก 2 อัลบั้มในปีเดียวกันได้ แต่แล้วโชคชะตากลับพลิกผัน เมื่อหลุยส์ ลุพลี ผู้มีพระคุณของอีดิธถูกฆาตกรรม ซึ่งในภาพยนตร์ได้เล่าว่าเป็นฝีมือของเพื่อนอีดิธ แต่ตัวอีดิธนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะที่ชีวิตจริง เธอก็ต้องเข้าไปพัวพันกับเรื่องดังกล่าวและกลายเป็นผู้ต้องสงสัยไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ [caption id="attachment_39676" align="aligncenter" width="990"] หลุยส์ ลุพลี เจ้าของคลับ ‘เลอ เกอนี’ (Le Gerny)[/caption] ชื่อเสียงของอีดิธตกต่ำด้วยคำครหาจากสังคมว่าเธอฆ่าหลุยส์ อีดิธกลับไปร้องเพลงตามร้านอาหารและคาบาเรต์อีกครั้ง กระทั่งเธอตัดสินใจโทรฯ หาเรย์มอนด์ อัซโซ ซึ่งเคยให้นามบัตรเอาไว้ตั้งแต่ครั้งแรกที่พวกเขาพบกัน เรย์มอนด์ได้ทำสิ่งที่ถือเป็นปาฏิหาริย์ในชีวิตของอีดิธ เพราะเขาไม่สนใจเรื่องราวในอดีตของเธอ ทั้งยังเป็นชายคนแรกที่กล้ายื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วยการต้านกระแสสังคม กระทั่งเขาส่งนกกระจอกโบยบินอีกครั้งในชื่อ อีดิธ ปิยัฟ (Édith Piaf) ซึ่งไม่มีคำว่า La Môme ที่แปลว่าเด็กน้อยอีกแล้ว “ต่อจากนี้จะไม่มีใครเรียกเธอว่า แม่หนูน้อย ชีวิตคาบาเรต์ของเธอจบลงแล้ว” เรย์มอนด์ในหนังฝึกอีดิธให้กลายเป็นนักร้องและนักแสดง เธอได้ลีลาการวาดลวดลายบนเวทีมาจากการสอนของเขา ทั้งยังได้ฝึกบุคลิกให้ดีขึ้น จนในที่สุดความรุ่งโรจน์และชื่อเสียงก็กลับคืนสู่อ้อมอกของอีดิธอีกครั้ หลังจากนั้นเธอก็ได้เดินทางไปทัวร์อเมริกาช่วงปี 1947 ซึ่งขณะนั้นชาวอเมริกันยังไม่ยอมรับนักร้องต่างชาติอย่างอีดิธมากนักด้วยการแต่งตัวที่เป็นสีดำล้วน ประกอบกับท่าทางที่ดูโมโหและเคร่งขรึม แต่ด้วยน้ำเสียงอันไพเราะที่ทำลายกำแพงในใจของชาวอเมริกัน อีดิธได้รับการต้อนรับและคำชื่นชมอย่างล้นหลาม เธอนำพาเพลงฝรั่งเศสโด่งดังไปทั่วโลก และมีโอกาสทัวร์อเมริกาอีกหลายครั้ง อีดิธได้พบกับรักที่หวานซึ้งและร้าวรานที่สุดกับนักชกที่มีชื่อว่า ‘มาร์เซล เซอร์ดัน’ (Marcel Cerdan) ซึ่งเขาคนนี้คือหนึ่งในบุคคลสำคัญที่อยู่บนทางรักสีดำของอีดิธ ปิยัฟ ทางรักสีดำ ชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ “Quand il me prend dans ses bras” / เมื่อเขาโอบฉันไว้ในอ้อมกอด / “Il me parle tout bas” / เขาเอ่ยถ้อยคำกับฉันอย่างอ่อนโยนและแผ่วเบา / “Je vois la vie en rose” / ฉันเห็นโลกทั้งใบเป็นสีชมพู / แม้ La Vie En Rose จะมีเนื้อหาเป็นเช่นนั้น แต่ชีวิตของอีดิธ ปิยัฟ กลับเดินอยู่บนเส้นทางที่อยู่ตรงกันข้าม เธอไม่ประสบความสำเร็จในด้านความรักมากนัก ซึ่งความอื้อฉาวในการมีสัมพันธ์กับชายผู้เป็นเพื่อนร่วมงานหลายคนอาจเกิดจากความเจ็บปวดในวัยเด็กที่เธอถูกทอดทิ้งก็เป็นได้ ในปี 1931 อีดิธพบรักกับ ‘หลุยส์ ดูพอนต์’ (Louis Dupont) และตั้งท้องลูกคนแรกตอนอายุ 17 ปี แต่น่าเสียดายว่าลูกสาวของเธอ ‘มาร์เซล’ (Marcelle) ต้องจากโลกนี้ไปด้วยอายุเพียง 2 ปี เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ [caption id="attachment_39681" align="alignnone" width="984"] อีดิธและ ‘หลุยส์ ดูพอนต์’ (Louis Dupont) ในภาพยนตร์[/caption] ต่อมาเส้นทางรักของเธอก็สูงชันขึ้นเรื่อย ๆ อีดิธพบรักกับนักแสดงชาวฝรั่งเศส ‘พอล เมอริส’ (Paul Meurisse) แต่ทั้งสองคบกันได้เพียง 2 ปีก็มีอันเลิกรา ตามมาด้วยนักแต่งเพลงนามว่า ‘ออนรี คอนเตต’ (Henri Contet) แต่ตำนานรักที่โด่งดังที่สุดของเธอคือนักมวยสากลที่ชื่อว่า มาร์เซล เซอร์ดัน ซึ่งเป็นชายที่อีดิธรักและเสน่หามากที่สุด แต่น่าเสียดายว่า เขามีภรรยาและลูกอยู่แล้ว อีดิธหลงรักมาร์เซลทั้งที่รู้ว่าไม่อาจครอบครอง กระทั่งปี 1949 เขาก็จากเธอไปตลอดกาลด้วยเหตุการณ์เครื่องบินตก อีดิธโศกเศร้าเป็นอย่างมาก ซึ่งหลายคนเชื่อว่าการเสียชีวิตของมาร์เซลคือจุดเริ่มต้นของช่วงชีวิตที่เริ่มตกต่ำลงของอีดิธ ปิยัฟ เธอได้อุทิศ ‘Hymne à l'amour’ หมายถึง บทกวีแห่งความรัก ให้กับมาร์เซลเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาในเวลาต่อมา นอกจากนี้ อีดิธยังเคยมีความสัมพันธ์กับเรย์มอนด์ อัซโซ ชายผู้ช่วยนำเธอกลับสู่แสงสว่างอีกครั้ง และมีจดหมายรักที่เขียนขึ้นช่วงปี 1951-1952 ถึง ‘หลุยส์ การาร์ดิน’ (Louis Gerardin) แชมป์ปั่นจักรยานชาวฝรั่งเศส รวมไปถึงเคยมีความสัมพันธ์พิเศษกับนักแสดงสาวแสนสวย เจ้าของฉายาเทพธิดาผมบลอนด์อย่าง ‘มาร์เลเนอ ดีทริช’ (Marlene Dietrich) อีกด้วย เรื่องราวของสองสาวเป็นที่จับตาของนักข่าวมากมาย และเกิดเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบจนถึงปัจจุบันว่าทั้งสองคบกันในสถานะอะไร มาร์เลเนอ ดีทริช นักร้องและนักแสดงชาวเยอรมัน-อเมริกัน เป็นเพื่อนสนิทกับอีดิธ แต่แล้วจู่ ๆ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ห่างหายกันไปหลังจากที่อีดิธเปิดเผยว่า เธอจะแต่งงานกับ ‘ชัค พิลส์’ (Jacques Pills) ต่อหน้ามาร์เลเนอ มีข่าวว่ามาร์เลเนอเป็นไบเซ็กชวล (Bisexual) หรือผู้ที่มีรสนิยมชื่นชอบทั้งเพศหญิงและเพศชาย นั่นทำให้เธอดูมีความรักในตัวอีดิธเป็นอย่างมาก แถมเรื่องราวของทั้งสองยังได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นละครเวทีชื่อว่า ‘Piaf/Dietrich - A Legendary Affair’ (2019) ซึ่งสร้างจากเรื่องจริงของทั้งคู่ อีดิธแต่งงานทั้งหมด 2 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 2 นั้นยืนยาวจนถึงวันที่เธอหมดลมหายใจ เจ้าบ่าวคนแรกของเธอคือนักร้องและนักแสดงนามว่า ‘ชัค พิลส์’ (Jacques Pills) พวกเขาแต่งงานกันในปี 1952 ก่อนจะหย่าในปี 1957 และเธอก็ได้แต่งงานเป็นครั้งที่ 2 ในปี 1962 กับ ‘ธีโอ ซาราโป’ (Théo Sarapo) นักร้อง นักแสดง และอดีตช่างทำผมเชื้อสายกรีกที่เกิดในฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นธีโออายุ 26 ปี ส่วนอีดิธอายุ 46 ปี อีดิธเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับในวัย 47 ปี โดยที่ร่างของเธอถูกฝังไว้ที่สุสาน ‘Père Lachaise Cemetery’ พร้อมกับลูกสาว ก่อนที่ธีโอผู้เป็นสามีจะจากไปในวัย 34 ปี และถูกฝังเอาไว้เคียงข้างกันในสุสานแห่งเดิม แต่ถึงแม้อีดิธจะจากไป เรื่องราวและผลงานของเธอก็ยังคงเป็นสมบัติของชาติ และเป็นตำนานของโลกชั่วนิรันดร์ [caption id="attachment_39684" align="aligncenter" width="600"]
สมบัติของชาติ เสียงสวรรค์แห่งกรุงปารีส
ชีวิตของอีดิธ ปิยัฟ ผ่านมาแล้วทั้งช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์และตกต่ำ ซึ่งทั้งหมดนั้นได้รับการถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ La Vie En Rose อันโด่งดัง โดยบทของอีดิธ นำแสดงโดย ‘มารียง กอตียาร์’ (Marion Cotillard) ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากบทนี้ หากใครเคยชมภาพยนตร์ดังกล่าวจะรู้ดีว่า อีดิธ ปิยัฟนั้นไม่ใช่หญิงสาวที่สมบูรณ์แบบ หากแต่เป็นมนุษย์ผู้เกิดมาพร้อมความสามารถและความพยายาม เธอดิ้นรนเอาชีวิตรอดมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งโตขึ้นจนมีชื่อเสียงโด่งดัง เธอก็ยังคงนิสัยเสียอย่างหนึ่งของเธอเอาไว้ นั่นก็คือความเป็นคนเจ้าอารมณ์และเอาแต่ใจเป็นอย่างมาก (ซึ่งอาจส่งผลมาจากพ่อของเธอที่เป็นคนเจ้าอารมณ์เช่นเดียวกัน) แต่ในบางครั้ง ความเจ้าอารมณ์และเอาแต่ใจของเธอก็ไม่ใช่ข้อเสียไปทุกเวลา เพราะในยามที่โรครุมเร้าจนเธอแทบจะเดินไม่ไหว และร้องเพลงไม่ได้ จิตวิญญาณแห่งศิลปินของอีดิธก็พยายามดิ้นรนจนเธอขึ้นไปร้องบนเวที (และเป็นลม) จนได้ “พาฉันกลับไปบนเวที ถ้าฉันไม่ได้ร้องอีกเพลงหนึ่ง ฉันจะหมดศรัทธาในตัวเอง” นกกระจอกผู้ดื้อรั้นบอกกับทีมงาน ซึ่งก็คือเพื่อน ๆ ที่รักและซื่อสัตย์ต่อเธอด้านหลังเวที อีดิธเริ่มมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่หลังจากที่รักแท้ของชีวิตอย่างมาร์เซลจากโลกไป หลังจากปี 1951 อีดิธยังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ร้ายแรงถึง 3 ครั้ง จนนำมาสู่การเริ่มใช้ยามอร์ฟีนเพื่อระงับความเจ็บปวด จนเธอเข้าข่ายคนติดยา รวมไปถึงติดแอลกอฮอล์อย่างหนัก เธอเริ่มออกอาการของความพิการทางร่างกายมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากโรคข้ออักเสบขั้นรุนแรง กระทั่งเธอค้นพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งตับ ทำให้งานของเธอต้องถูกยกเลิก นับถอยหลังสู่วันที่นกกระจอกเสียงทองจะโบยบินสู่สวรรค์ อีดิธ ปิยัฟ ยังคงทำงานอย่างมืออาชีพจนวาระสุดท้าย เธอแสดงในปารีสบ่อยขึ้นในช่วงบั้นปลายชีวิตหลังปี 1955 ก่อนจะต้องเข้ารับการผ่าตัดแผลในกระเพาะอาหารหลายครั้งในปี 1959 และปรากฏตัวครั้งสุดท้ายทั้งที่แทบจะยืนไม่ไหวที่งาน ‘Paris Olympia’ ปี 1960 ซึ่งเธอได้ขับร้องบทเพลงอมตะอีกหนึ่งเพลงคือ ‘Non, Je Ne Regrette Rien’ แปลว่า ฉันไม่เสียใจเลย ณ ที่แห่งนี้ ส่วนเพลงสุดท้ายที่เธอได้บันทึกเสียงเอาไว้คือ ‘L’homme de Berlin’ ในปี 1963 แต่แท้จริงแล้วเพลงดังของเธอยังมีอีกมากมาย ทั้ง L’Accordéoniste (1940) Hymne à l’amour (1949) Padam, padam... (1951) La Foule (1957) และ Milord (1959) แต่ก่อนหน้าที่เพลงเหล่านี้จะกลายเป็นตำนาน ในปี 1962 สภาพร่างกายของอีดิธย่ำแย่เป็นอย่างมาก น้ำหนักของเธอลดลงจนเหลือราวเพียง 30 กิโลกรัม จนถึงปี 1963 ผลของการดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ยาจำนวนมากเพื่อระงับอาการปวดข้อและอาการนอนไม่หลับ รวมถึงอุบัติเหตุรถยนต์ที่เธอประสบก็บั่นทอนชีวิตของอีดิธจนถึงขีดสุด 10 ตุลาคม 1963 อีดิธ ปิยัฟเสียชีวิตด้วยอาการหลอดเลือดโป่งพองแตกเนื่องจากตับวาย ขณะอายุได้ 47 ปี ถือเป็นการปิดตำนานเสียงสวรรค์ของปารีสอย่างสมบูรณ์ แม้อีดิธ ปิยัฟจะเติบโตขึ้นมาโดยไม่ได้รับความรักอย่างเต็มเปี่ยมจากพ่อแม่ แต่ตลอดชีวิตของเธอ อีดิธกลับได้พบกับมิตรภาพที่แท้จริงมากมาย ซึ่งทั้งหมดนั้นพิสูจน์ได้จากความโศกเศร้าเสียใจและคำสรรเสริญที่พวกเขามีให้เธอจนถึงวันสุดท้าย แม้ตำนานในช่วงที่มีลมหายใจของอีดิธ ปิยัฟ จะแสนสั้น แต่ตำนานเพลงอันยิ่งใหญ่และเสียงอันทรงพลังเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเทียมจะยังคงอยู่คู่โลกใบนี้ตลอดไป ‘Non, rien de rien’ / ไม่ ไม่เลย / ‘Non, je ne regrette rien’ / ไม่ ฉันไม่เสียใจเลยสักนิด / ‘Ni le bien qu'on m'a fait’ / ไม่ทั้งเรื่องดี ๆ ที่เขาทำให้ฉัน / ‘Ni le mal, tout ça m'est bien égal’ / ไม่ทั้งเรื่องร้าย ๆ ฉันไม่สนใจอะไรทั้งนั้น / ‘C’est payé, balayé, oublié’ / มันได้ชดใช้ไปหมดแล้ว ได้กวาดล้างไปหมดแล้ว และลืมไปหมดสิ้นแล้ว / ‘Je m’en fou de passé’ / ฉันมัน ฉันไม่สนใจอดีตอีกต่อไปแล้ว / ประโยคจากบทเพลง Non, Je Ne Regrette Rien เพลงสุดท้ายที่นับว่าโด่งดังและทรงพลังที่ถ่ายทอดชีวิตของอีดิธ ปิยัฟ นกกระจอกเสียงสวรรค์ผู้แข็งแกร่งได้เป็นอย่างดี ***เรื่องราวของอีดิธ ปิยัฟ แล่นเข้ามาในความทรงจำของผู้เขียนในช่วงก่อนจบการแสดงโอเปร่าของดาวเด่นแถวหน้าอย่าง ‘โจเซฟ คาเลญ่า’ (Joseph Calleja) เจ้าของโทนเสียงเทเนอร์อันทรงพลัง และ ‘เซลีน เบิร์น’ (Celine Byrne) เจ้าของเสียงโซปราโนเจ้าบทบาท ในงาน ‘Bangkok’s 23rd International Festival of Dance and Music’ ที่จัดแสดงในเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ซึ่งสองนักโอเปร่าระดับโลกได้ขับร้องบทเพลงอมตะจากประเทศฝรั่งเศสอันคุ้นหูให้ผู้ชมได้ฟัง นั่นก็คือเพลง ‘La Vie En Rose’ ของ ‘อีดิธ ปิยัฟ’ เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: Photo by adoc-photos/Corbis via Getty Images Photo by Keystone/Getty Images อ้างอิง: https://www.biography.com/musician/edith-piaf https://www.imdb.com/name/nm0681191/bio https://www.frenchlyricstranslations.com/la-vie-en-rose-edith-piaf-french-lyrics-and-english-translation/ https://www.frenchlyricstranslations.com/non-je-ne-regrette-rien-edith-piaf-french-lyrics-and-english-translation/ https://www.imdb.com/title/tt0450188/?ref_=nmawd_awd_2 https://www.thefamouspeople.com/profiles/dith-giovanna-gassion-1292.php https://www.liveabout.com/edith-piaf-the-little-sparrow-3552757 http://www.entertainthisthought.com/2019/11/18/piaf-dietrich-a-legendary-affair https://autre.love/journal/2011/04/22/my-blue-love-edith-piafs-love-letters-to-louis-gerardin https://www.whosdatedwho.com/dating/marlene-dietrich-and-edith-piaf https://www.independent.co.uk/news/people/news/many-regrets-of-edith-piaf-revealed-in-her-love-letters-2279807.html https://mitsoumagazine.com/en/culture/the-angel-and-the-sparrow-brings-marlene-dietrich-and-edith-piaf-to-life/